สรุปความสำคัญ

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลัง กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. กล่าวหาว่า พริษฐ์โพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ให้ประกันเขาและเพื่อนนักกิจกรรม รวมทั้งศาลอาญาถอนประกันเขาและ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีข้อความพาดพิงรัชกาลที่ 10

คดีนี้สะท้อนถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

27 ก.ย. 2565 ที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 พริษฐ์ได้โพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ให้ประกัน 9 นักกิจกรรม ที่ถูกจับกุมจากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1 ขณะที่ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันพริษฐ์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยไม่ได้มีการไต่สวน โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหากล่าวถึงการใช้อำนาจตุลาการที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ และยืนยันการต่อสู้ต่อไป

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยพริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56350)

ภูมิหลัง

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์