สรุปความสำคัญ

บุปผา (นามสมมติ) ถูกทหารและตำรวจพร้อมอาวุธ เข้าจับกุมโดยไม่แสดงหมายจับ จากร้านขายอาหารเสริมที่เธอทำงานอยู่ใน จ.ชลบุรี พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือ และควบคุมตัวไปที่ สภ.สัตหีบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊ก จำนวน 13 โพสต์ ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยที่บุปผามีอาการของโรคจิตเภท คือ หลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์

หลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช. ใช้ข้อหา ม.112 มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจำนวนมาก จนกระทบแม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยทางจิต ซึ่งหลายคนตกเป็นจำเลย ต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง กรณีของบุปผา ข้อความที่โพสต์บุคคลทั่วไปก็พิจารณาได้ว่า ผู้โพสต์น่าจะมีอาการทางจิต นอกจากนี้ หลายข้อความยังกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่ ม.112 ให้ความคุ้มครอง ซึ่งพนักงานสอบสวน รวมถึงอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีก็ได้ หากเห็นว่าผู้ต้องหาขาดเจตนา และการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบของ ม.112

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • บุปผา (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

27 พ.ค. 2559 ทหารและตำรวจในเครื่องแบบพร้อมอาวุธ ประมาณ 20 นาย เข้าจับกุมบุปผาโดยไม่มีการแสดงหมายจับ จากร้านขายอาหารเสริมที่เธอทำงานอยู่ใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือ และควบคุมตัวไปที่ สภ.สัตหีบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนตำรวจจะนำตัวไปขออำนาจศาล มทบ.14 เพื่อฝากขัง จากนั้นบุปผาถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี โดยไม่ได้ยื่นประกันตัว

บุปผาถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยที่บุปผามีอาการของโรคจิตเภท คือ หลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสายลับ และต้องรักษากฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้ บุปผาถูกขังอยู่ในทัณฑสถาน รวมทั้งถูกส่งตัวไปรักษาอาการจิตเภท แต่ยังอยู่ในความควบคุมของทัณฑสถาน เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ก่อนได้ประกันตัว

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=8212)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 19-08-2016
อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ยื่นฟ้องบุปผา ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
 
วันที่ : 23-11-2016
นัดถามคำให้การ ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลส่งตัวบุปผาไปตรวจรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณราชนครินทร์ ศาลอนุญาตและให้เลื่อนถามคำให้การไปก่อน เพื่อรอผลตรวจและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีจากแพทย์
 
วันที่ : 14-03-2017
รักษาตัวแบบผู้ป่วยในที่สถาบันกัลยาณราชนครินทร์ หลังแพทย์มีความเห็นว่า ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อ 8 ก.พ. 2560 แต่ถูกราชทัณฑ์จำกัดการเยี่ยม โดยให้ญาติต้องไปแจ้งชื่อที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และออกใบอนุญาตให้เยี่ยมในวันที่ราชทัณฑ์กำหนด
 
วันที่ : 21-05-2018
ศาลทหารชลบุรี​ นัดไต่สวนแพทย์​ หมอให้การว่าอาการหลงผิดฝังแน่น​ แต่สามารถโต้ตอบได้ดีขึ้น​ ต่อสู้คดีได้​ ศาลทหารจึงมีคำสั่งให้นำคดีนี้กลับมาพิจารณา โดยนัดถามคำให้การในวันที่​ 13​ ก.ค. 61 จากนั้นทนายได้ยื่นประกันตัว ด้วยเงินสดจำนวน 400,000 บาท ศาลอนุญาตประกันตัว
 
วันที่ : 02-08-2019
ศาลทหารชลบุรี นัดฟังคำสั่ง โดยให้งดพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว, จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดพัทยา) อันเป็นผลจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562

ภูมิหลัง

  • บุปผา (นามสมมติ)
    ประกอบอาชีพขายอาหารเสริม หย่าร้างกับอดีตสามีมาประมาณ 10 ปี ไม่มีบุตรด้วยกัน ญาติคาดว่าอาการป่วยจิตเภทน่าจะเริ่มในช่วงที่หย่าร้างกับสามี

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์