ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 25 ก./2559
ผู้กล่าวหา
- กิจจา ปรางทัมทิม (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
หมายเลขคดี
ดำ 25 ก./2559
ผู้กล่าวหา
- กิจจา ปรางทัมทิม
ความสำคัญของคดี
"บุปผา" ผู้ป่วยจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิด คิดว่าตนเองมีความสัมพันธ์และติดต่อกับพระบรมวงศานุวงศ์ได้ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์จำนวน 13 ข้อความ ในช่วงปี 58-59 ทำให้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ก่อนที่จะถูกโอนย้ายมาที่ศาลยุติธรรม เมื่อประกาศ คสช.ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารถูกยกเลิกไป โดยบุปผาในสภาพที่มีอาการป่วยทางจิตยังถูกคุมขังในทัณฑสถานและส่งไปตรวจรักษาอาการทางจิตเวชอยู่นานเกือบ 2 ปี กว่าที่ศาลทหารจะอนุญาตให้ประกันตัว
บุปผาเป็นอีกหนึ่งในผู้ป่วยทางจิตที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 112 ในช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งขยายการตีความออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ป่วยทางจิตต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง กรณีบุปผานอกจากจะได้รับสิทธิในการประกันตัวอย่างล่าช้า คดียังถูกพิจารณาลับทั้งในศาลทหาร และในศาลยุติธรรม กระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
บุปผาเป็นอีกหนึ่งในผู้ป่วยทางจิตที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 112 ในช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งขยายการตีความออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ป่วยทางจิตต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง กรณีบุปผานอกจากจะได้รับสิทธิในการประกันตัวอย่างล่าช้า คดียังถูกพิจารณาลับทั้งในศาลทหาร และในศาลยุติธรรม กระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
จำเลยได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศขณะนั้น), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี,ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลในราชวงศ์ดังกล่าวเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นไปโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาชน และต่อความมั่นคงของประเทศ
การกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้น โจทก์ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และโจทก์ขอให้ศาลริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 คดีหมายเลขดำที่ 25 ก./2559 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559)
การกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้น โจทก์ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และโจทก์ขอให้ศาลริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 คดีหมายเลขดำที่ 25 ก./2559 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 27-05-2016นัด: แจ้งข้อกล่าวหาหลังทหารและตำรวจเข้าจับกุมบุปผาจากร้านขายอาหารเสริม ได้ควบคุมตัวบุปผาส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.สัตหีบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากนั้นตำรวจได้นำตัวไปบุปผาไปขออำนาจศาล มทบ.14 ฝากขัง และนำไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี โดยญาติไม่ได้ยื่นประกันตัว
-
วันที่: 19-08-2016นัด: ยื่นฟ้องอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ยื่นฟ้องบุปผา ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
ทั้งนี้ จำเลยโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ โดยมี 4 ข้อความที่โพสต์ขณะ คสช. ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์-ฎีกา ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 คดีหมายเลขดำที่ 25 ก./2559 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=8212) -
วันที่: 22-09-2016นัด: ถามคำให้การก่อนเริ่มพิจารณา จำเลยแถลงว่ายังไม่มีทนาย และต้องการทนายเพื่อสู้คดี โดยขอให้ศาลตั้งทนายให้ และขอปรึกษารูปคดีกับทนายก่อน ยังไม่พร้อมให้การในวันนี้ ศาลจึงเลื่อนถามคำให้การจำเลยไปเป็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 โดยศาลจะตั้งทนายให้
(อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 คดีหมายเลขดำที่ 25 ก./2559 ลงวันที่ 22 กันยายน 2559) -
วันที่: 23-11-2016นัด: ถามคำให้การศาลแจ้งว่า ได้ตั้งทนายความจากสภาทนายความ จ.ชลบุรี เป็นทนายจำเลยตามที่จำเลยขอแล้ว ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยมีอาการทางสมอง ขอให้ศาลส่งจำเลยไปตรวจเพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคอะไร สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ศาลจึงให้เลื่อนถามคำให้การ และส่งจำเลยไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อรอผลตรวจและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีจากแพทย์
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจ ตุลาการทหารนายหนึ่งในชุดเครื่องแบบปกติได้สอบถามชื่อและอายุของจำเลย เมื่อจำเลยตอบได้ครบถ้วนถูกต้องก็ลงความเห็นว่า จำเลยตอบได้ ไม่น่าจะป่วย แต่ตุลาการพระธรรมนูญวินิจฉัยให้ส่งตัวบุปผาไปตรวจตามที่ทนายจำเลยแถลง
(อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 คดีหมายเลขดำที่ 25 ก./2559 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=8212) -
วันที่: 20-02-2017นัด: แพทย์ส่งผลการตรวจรักษาแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ส่งผลตรวจรักษาและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีมายังศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ว่า บุปผาป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เห็นควรได้รับการรักษาอาการทางจิตต่อเนื่องอีกสักระยะ ให้รักษาต่อแบบผู้ป่วยในที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=8212) -
วันที่: 12-10-2017นัด: ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘บุปผา’ ให้มาอยู่ในความดูแลของพี่สาว เนื่องจากน่าจะเป็นผลดีต่อการรักษาอาการจิตเวชของเธอมากกว่า ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องไว้ก่อน เพื่อรอรายงานผลการตรวจรักษาและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีฉบับล่าสุดจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ก่อน หากได้รับรายงานแล้วจะนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งในการปล่อยชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=8212)
ก่อนหน้านี้ แพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ฯ เคยส่งรายงานผลการตรวจรักษา ฉบับลงวันที่ 20 ก.พ. 2560 ให้ศาล มทบ.14 แล้ว แต่เวลาผ่านไปเกือบ 8 เดือน หลังศาลได้รับผลการวินิจฉัยจากแพทย์ ก็ไม่ได้เรียกแพทย์มาไต่สวน -
วันที่: 07-03-2018นัด: ไต่สวนแพทย์ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี นัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาและฟังคำสั่งต่อคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย แต่เนื่องจากจำเลยถูกส่งไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และอยู่ในความควบคุมของทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ศาลทหารชลบุรี ไม่มีเขตอำนาจที่จะออกหมายไปยังเรือนจำในกรุงเทพ จึงไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลในวันนี้ได้ ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า การไต่สวนแพทย์เป็นกระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ไม่จำเป็นต้องทำต่อหน้าจำเลย หากไม่สามารถเบิกตัวจำเลยมาศาลได้ ก็ขอให้ไต่สวนลับหลังจำเลยได้ โดยอัยการทหารไม่ได้คัดค้าน อย่างไรก็ตาม ศาลให้เลื่อนนัดไต่สวนแพทย์และฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 21 พ.ค. 2561
-
วันที่: 21-05-2018นัด: ไต่สวนแพทย์ในการไต่สวนแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาบุปผา แพทย์เบิกความว่า บุปผาอาการหลงผิดฝังแน่น แต่สามารถโต้ตอบได้ดีขึ้น รับรู้และเข้าใจข้อกล่าวหาได้ เข้าใจกระบวนการพิจารณาคดีได้ จึงวินิจฉัยว่า สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว รวมทั้งตอบคำถามทนายจำเลยว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษา ศาลทหารจึงมีคำสั่งให้นำคดีนี้กลับมาพิจารณา โดยนัดถามคำให้การในวันที่ 13 ก.ค. 2561 และอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวบุปผา โดยกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองวางเงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันจำนวน 400,000 บาท (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=8212)
-
วันที่: 13-07-2018นัด: ถามคำให้การองค์คณะตุลาการประกอบด้วยตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย และตุลาการทหารในชุดเครื่องแบบปกติกากีแกมเขียวคอแบะออกนั่งพิจารณาคดี หลังอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ศาลถามจำเลยว่าเข้าใจฟ้องของโจทก์หรือไม่ และจะให้การอย่างไร จำเลยตอบว่าเข้าใจและขอให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 5 ก.ย. 2561 (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=8212)
-
วันที่: 05-09-2018นัด: ตรวจพยานหลักฐานศาลทหารชลบุรีนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงขอสืบพยาน 11 ปาก เป็นประจักษ์พยาน 4 ปาก ผู้แปลข้อความ 2 ปาก ผู้จับกุม 1 ปาก ผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้เฟซบุ๊ก เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลในโทรศัพท์รวม 3 ปาก พนักงานสอบสวน 1 ปาก รับพยานเอกสารของจำเลยทุกรายการ ยกเว้นความเห็นกฤษฎีกาเกี่ยวกับความหมายของ "รัชทายาท"
จำเลยแถลงสืบพยาน 6 ปาก โดยอ้างตนเองเป็นพยาน 1 ปาก พยานเกี่ยวกับอาการป่วย 4 ปาก พยานผู้เชี่ยวชาญ 1 ปาก ศาลนัดสืบพยานวันที่ 20 และ 27 พ.ย. 2561 ส่วนคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นในประเด็นเกี่ยวกับความหมายของ "รัชทายาท" และบุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง ที่ทนายจำเลยยื่นต่อศาล ศาลจะพิจารณาในคราวเดียวกับคำพิพากษา -
วันที่: 20-11-2018นัด: สืบพยานโจทก์ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาล มทบ.14 มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งคดี อนุญาตเพียงจำเลยและทนายจำเลยอยู่ในห้องพิจารณา ส่วนเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มาสังเกตการณ์และญาติของจำเลย ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดี พยานโจทก์ปากแรกที่อัยการทหารนำเข้าเบิกความในนัดนี้ คือ ประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดี การสืบพยานโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้น เลื่อนไปสืบต่อในวันที่ 27 พ.ย. 2561
-
วันที่: 27-11-2018นัด: สืบพยานโจทก์นัดสืบพยานโจทก์ผู้เห็นเหตุการณ์ต่อจากนัดที่แล้ว แต่ทนายจำเลยยังถามค้านยังไม่เสร็จ เลื่อนไปสืบต่อในวันที่ 13 ก.พ. 2562
-
วันที่: 13-02-2019นัด: สืบพยานโจทก์นัดสืบพยานโจทก์ผู้เห็นเหตุการณ์ต่อจากนัดที่แล้ว นัดนี้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อจนเสร็จสิ้น นัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 3 พ.ค. 2562
-
วันที่: 03-05-2019นัด: สืบพยานโจทก์อัยการทหารนำพยานโจทก์ที่นัดไว้เข้าเบิกความจนเสร็จสิ้น นัดสืบพยานปากต่อไป 9 ก.ค. 2562 โดยในวันนี้ศาลได้อนุญาตจำเลยเปลี่ยนนายประกันจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นเงินจากการรับบริจาค เป็นกองทุนยุติธรรม ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดี ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรม
-
วันที่: 09-07-2019นัด: สืบพยานโจทก์พยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาซึ่งอัยการทหารนัดไว้ไม่มาศาล โดยโจทก์ไม่อาจติดตามพยานมาศาลได้ แต่ยังมีความประสงค์ที่จะสืบพยานปากนี้ จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกซ้ำพยานปากนี้มาในวันที่ 6 กันยายน 2562 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงสั่งให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ไปในวันดังกล่าว
-
วันที่: 02-08-2019นัด: พร้อมศาล มทบ.14 นัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่ง โดยศาลแจ้งว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช. ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ซึ่งข้อ 2 กำหนดในข้อที่ 2 ให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่กำหนดให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร และให้บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้น ๆ ไปยังศาลยุติธรรม ศาล มทบ.14 จึงมีคำสั่งให้งดพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดพัทยา) (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=13182)
-
วันที่: 11-11-2019นัด: พร้อมศาลจังหวัดพัทยาได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยานต่อจากศาลทหาร โดยฝ่ายโจทก์แถลงว่ายังมีพยานโจทก์จะนำสืบอีก 10 ปาก ฝ่ายจำเลยมีพยานอีก 4 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดให้ฝ่ายโจทก์ 2 นัด และฝ่ายจำเลย 1 นัด คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9-10 มิถุนายน 2563 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 11 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ ศาลจังหวัดพัทยาได้สั่งให้สัญญาประกันที่จำเลยเคยทำไว้ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 เป็นสัญญาประกันที่ศาลนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องยื่นขอประกันตัวใหม่
(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=14452) -
วันที่: 09-06-2020นัด: สืบพยาน9-11 มิ.ย. 63 ศาลจังหวัดพัทยานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย โดยศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ นอกจากทนายและคู่ความ ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณา
โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบ 6 ปาก ซึ่งเดิมสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหาร 2 ปาก และแถลงหมดพยาน โดยตัดปากพยานผู้แปลข้อความ จำเลยนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก และแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น.
-
วันที่: 18-08-2020นัด: ฟังคำพิพากษาศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษายกฟ้องข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษ ‘บุปผา’ ในความผิดตามคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจําเลยโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพ ในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก จําเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค. 2559 - 26 เม.ย. 2560 รวม 131 วัน แพทย์วินิจฉัยว่าจําเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง หรือ Paranoid Schizophrenia continuous อาการโดยทั่วไปจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
++คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ หรือไม่
คดีนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักที่ปวงชนชาวไทยต่างรู้ด้วยจิตสํานึกว่าหาอาจมีบุคคลใดจะล่วงละเมิดมิได้ ความเป็นสถาบันนอกจากหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีแล้ว ยังหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย หากมีการล่วงละเมิดต่อสถาบันเฉพาะต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชนินี หรือ รัชทายาท ย่อมเป็นการกระทําผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายมหาชนที่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ภายใต้หลักนิติธรรม และความเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศทําให้ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจใดๆ ตามนิติธรรมประเพณีอันมีสภาพบังคับเช่นเดียวกับกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรองรับการดํารงไว้แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มิให้มีการล่วงละเมิดด้วยถ้อยคําใดๆ ทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
และเห็นว่าคําว่า “รัชทายาท” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึงผู้จะมาสืบราชสมบัติ มิได้ระบุกล่าวถึงคําว่า “สิทธิ” (Right) แต่อย่างใด เมื่อประมวลประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อการตีความแล้วย่อมต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกับคําว่า “พระมหากษัตริย์” และ “พระราชินี” ที่บัญญัติไว้ก่อนหน้าคําว่า “รัชทายาท” ดังนี้ คําว่า “รัชทายาท” แห่งบทบัญญัติมาตรา 112 จึงหาใช่ หมายความเพียงลําพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งไม่
ดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาที่เรียงลําดับความสําคัญของบุคคลผู้ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทไว้เป็นหมวดแยกจากกันโดยแจ้งชัด เริ่มตั้งแต่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทประชาชนบุคคลธรรมดา บัญญัติไว้ในมาตรา 393 และมาตรา 326 ส่วนการกระทําที่เป็นดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี จะบัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 136 และ 198 ตามลําดับ นอกจากนี้ในมาตรา 134 ยังได้กล่าวถึงการกระทําที่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้แทนรัฐต่างประเทศไว้ด้วย
ดังนั้น มาตรา 112 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา ได้จัดลําดับไว้ในภาค 2 ว่าด้วยเรื่องความผิด ลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และที่สําคัญกล่าวคือเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างหากจากความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลหรือตําแหน่งอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างชัดเจนแล้ว และเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้
จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
แต่มิได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคําว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด และเห็นว่าการแปลกฎหมายที่มีการกระทําความผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี โดยนําความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในบทมาตราอื่นมาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิอาจกระทําได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างยิ่ง การตีความดังกล่าวเป็นอํานาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย โดยคํานึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์หรือหลักการทางกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง
++ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปคือจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท และมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา ดังนี้ จําเลยจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาความผิดตามฟ้องก็ต่อเมื่อโดยเจตนาเท่านั้น
เมื่อพิจารณารูปภาพที่จําเลยนํามาโพสต์ในแอปพริเคชันเฟซบุ๊กของจําเลยตามเอกสาร ปรากฏว่า ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 ถึงวันที่ 19 พ.ค. 2559 ซึ่งจําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดคดีนี้ จําเลยนํารูปภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งเป็นรูปประจําตัว (โปรไฟล์) ในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชั่นไลน์ของจําเลยหลายครั้ง ทั้งแชร์รูปภาพของพระบรมวงศานุวงศ์จากเพจอื่น พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความจงรักภักดีของจําเลยที่ยังคงรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
ส่วนข้อความที่จําเลยโพสต์จะเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจําเลยโพสต์ในเชิงตําหนิการประกอบพระราชกรณีกิจ พระราชจริยวัตรหรือพระจริยวัตรของแต่ละพระองค์ในทํานองไม่เหมาะสม ซึ่งความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปที่ได้เห็นหรือได้อ่านข้อความ ย่อมไม่เชื่อว่าเป็นดังที่จําเลยโพสต์เพราะเป็นที่เห็นประจักษ์เสมอมาว่า พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ และพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ทรงประกอบกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทย โดยปราศจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และทรงพระราชจริยวัตรหรือพระจริยวัตรที่งดงาม เป็นมิ่งขวัญที่เคารพสักการะยิ่งของปวงชนชาวไทย ทั้งทรงเป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคีของประชาชนชาวไทยทั้งมวลตลอดมา
จากการประเมินลักษณะอาการของจําเลยเชื่อว่าจําเลยมีอาการป่วยทางจิตตั้งแต่ต้นปี 2557 และเริ่มแสดงอาการรุนแรงเมื่อต้นปี 2559 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะอาการป่วยทางจิตของจําเลยที่หลงคิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงโพสต์ข้อความเชิงตําหนิด้วยความประสงค์ดี เพราะไม่ต้องการให้บุคคลใดมองสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ดี เพียงแต่จําเลยใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น
เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจําเลยที่ปรากฏในสํานวนประกอบทางนําสืบโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท ดังนี้ การกระทําของจําเลยย่อมขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท
++จําเลยกระทําความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม
ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่าจําเลยเป็นผู้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพในเชิงตําหนิและหลงคิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ดังที่วินิจฉัยข้างต้น แสดงว่าจําเลยไม่ทราบว่าข้อมูลที่นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นข้อมูลเท็จ ทั้งประชาชนชาวไทยที่ได้เห็นหรือได้อ่านข้อความดังกล่าวย่อมไม่เชื่อว่าเป็นดังที่จําเลยโพสต์ ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และประการที่สําคัญ กล่าวคือเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
การกระทําของจําเลยที่โพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง จึงเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ได้ความจากพยานจําเลยปากนายแพทย์พูนพัฒน์ที่เบิกความเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยจิตเภทว่าผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและสามารถควบคุมคนเองในเรื่องทั่วๆ ไปได้ แต่หากเป็นเรื่องที่หลงผิด เช่น กรณีของจําเลย หลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ก็อาจไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความ
การที่จําเลยหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ คิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น นับว่าจําเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้แล้วแสดงอาการด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพเชิงตําหนิสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกระทําไปเพราะความเป็นโรคจิตเภท แต่การที่จําเลยยังควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แสดงว่าจําเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ดังนั้น จําเลยจึงต้องรับผิดสําหรับการกระทํานั้นซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณา จะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 และให้ใช้ความใหม่แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 13 กระทง เป็นคุก 78 เดือน
ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี ให้จําเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กําหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดพัทยา คดีหมายเลขดำที่ อ.1032/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อ.568/2563 ลงวันที่ 18 ส.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/40823) -
วันที่: 15-01-2021นัด: ยื่นอุทธรณ์ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ระบุว่า จําเลยยังไม่เห็นพ้องกับคําพิพากษาของศาลจังหวัดพัทยา เนื่องจากยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ จึงขออุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคําพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
1. ตามที่ศาลวินิจฉัยไว้ว่า สมาชิกของราชวงศ์อันได้แก่ สมเด็จพระเทพฯ, เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ, พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ, พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ และพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” จึงได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จําเลยขออุทธรณ์ว่า หลักกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจน แน่นอน และต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายขอบเขตเพื่อลงโทษจำเลยได้
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดํารงตําแหน่งในองค์กรทางรัฐธรรมนูญ 4 ตําแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ โดยตําแหน่งรัชทายาทต้องกําหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 20 และมาตรา 21 ซึ่งระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และต้องมีคุณสมบัติและเงื่อน ไขตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้ ตามกฎมณเฑียรบาล รัชทายาทมีได้เพียงบุคคลเดียว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่ 281/232
ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีเพียงบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ไม่ได้คุ้มครองเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ตามที่ศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ หากเกิดกรณีการหมิ่นประมาทฯ เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ก็ต้องพิจารณาเอาผิดในฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นสําคัญที่ศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง มาตรา 112 แต่ได้พิพากษาลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) โดยลงโทษทุกกรรม รวม 13 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 78 เดือน ซึ่งเป็นความผิดสืบเนื่องจากการวินิจฉัยว่า สมาชิกราชวงศ์ที่จำเลยพาดพิงทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” และถูกคุ้มครองตาม มาตรา 112
2. บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามคําฟ้องมีเพียงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพ โดยหลงคิดว่ามีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ จึงโพสต์ข้อความเชิงตําหนิด้วยความประสงค์ดี เพียงแต่จําเลยใช้ถ้อยคําไม่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นข้อความที่เข้าข่ายการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามกฎหมายแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ข้อความ 4 ข้อความที่ระบุถึงบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครองทั้งสององค์ จำเลยยังชื่นชมรัชกาลที่ 9 เสียด้วยซ้ำ
ส่วนข้อความอื่นบางข้อความก็สะกดผิด ไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์ ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ดังนั้น บุคคลที่สามที่เห็นข้อความย่อมย่อมเข้าใจได้ว่า จําเลยผู้โพสต์มีอาการไม่ปกติ ทั้งยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
3. ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อศาลยกฟ้องในฐานความผิดดังกล่าวแล้ว จะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไม่ได้ เนื่องจากการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต้องเป็นการนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาเสียก่อนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่จำเลยโพสต์ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ความผิดตามมาตรา 14(3) จึงย่อมมีไม่ได้เช่นกัน
อีกทั้งเป็นเรื่องย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปเองแล้วว่า จําเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท หลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ คิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ขาดเจตนาหมิ่นประมาท และไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่กลับถูกศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ว่า จําเลยยังรู้รับผิดชอบและมีเจตนานําเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จนต้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่า เมื่อมูลฐานความผิดตามมาตรา 112 ถูกยกฟ้องแล้ว การที่จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4. พยานหลักฐานปรากฏชัด โดยศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพเพราะมีอาการป่วยทางจิต แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยยังคุมตัวเองได้ในเรื่องทั่ว ๆ ไป จึงยังต้องรับผิดนั้น ถือว่ามีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากพยานปากแพทย์ที่ให้การดูแลจำเลยได้ให้การว่า “ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีความหลงผิด” และชี้แจงว่า “ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คนไข้สามารถควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แต่หากเป็นเรื่องที่หลงผิด เช่น กรณีจำเลยซึ่งหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ก็อาจจะไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความ” สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนซึ่งระบุว่า “จำเลยไม่เหมือนคนปกติทั่วไป คล้ายกับคนจิตไม่ปกติ” จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าขณะโพสต์จำเลยป่วยมีอาการทางจิต ไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความได้ จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
(อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดพัทยา คดีหมายเลขดำที่ อ.1032/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อ.568/2563 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40823) -
วันที่: 01-03-2022นัด: ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก่อนการอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาที่ 14 ของศาลจังหวัดพัทยา ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดป้ายกระดาษที่หน้าห้องพิจารณาว่า “พิจารณาคดีแบบลับ” เมื่อผู้สังเกตการณ์เข้าไปในห้องพร้อมกับจำเลยและญาติที่ไว้วางใจ ผู้พิพากษาที่ออกพิจารณาได้กล่าวว่า การอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะกระทำเป็นการลับ ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องและญาติออกจากห้องพิจารณา
ผู้สังเกตการณ์อีกรายได้ชี้แจงว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อการพิจารณาคดีสิ้นสุด การอ่านคำพิพากษาซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีจะต้องทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้พิพากษาท่านดังกล่าวยังยืนยันคำสั่งห้าม ให้เหตุผลว่า “หากพิจารณาโดยเปิดเผยจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน จึงให้พิจารณาเป็นการลับ อนุญาตให้ โจทก์ จำเลย และผู้รับมอบฉันทะทนาย และเจ้าหน้าที่ศาลที่เกี่ยวข้องอยู่ในห้องพิจารณา” ผู้สังเกตการณ์ทั้งสองจึงต้องออกมารอที่หน้าห้องพิจารณาจนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทั้งนี้ คำสั่งให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการลับนี้ ภูชิชย์ จิตรบุญ ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษา ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาด้วย
ในส่วนของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จําเลยได้นําเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊ก จําเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวม 131 วัน แพทย์วินิจฉัยว่าจําเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภทชนิดหวาดระแวง หรือ Paranoid Schizophrenia continuous อาการโดยทั่วไปของจําเลยจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะจําเลยขาดเจตนาในการกระทําความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เนื่องจากจําเลยป่วยมีอาการทางจิต โจทก์และจําเลยไม่อุทธรณ์โต้แย้งคําพิพากษาของศาลชั้นต้นในฐานความผิดดังกล่าว ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไป ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยว่า จําเลยมีความผิดฐานนําเข้าสู่ ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจําเลยอุทธรณ์ทํานองว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยขาดเจตนา และพิพากษายกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดมูลฐานแล้ว จําเลยย่อมขาดเจตนาในการกระทําความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (เดิม) เฉกเช่นทํานองเดียวกันด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (เดิม) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยจะเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท และการกระทําของจําเลยจะไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะขาดเจตนา จึงไม่อาจลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (เดิม) ได้ดังที่จําเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการป้องกันประเทศและรักษาเอกราชของชาติ นับตั้งแต่อดีตพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะจอมทัพ เป็นผู้นําในการทําสงครามเพื่อป้องกันประเทศ ดังเช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าและทําสงครามเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ
หรือแม้แต่ในสมัยที่ประเทศไทยต้องเผชิญภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเป็นผู้นําในการดําเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อรักษาเอกราชของชาติ โดยใช้นโยบายทางการทูต เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับราชสํานักต่างชาติเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งกับชาติตะวันตก ในด้านการทะนุบํารุง บําบัดทุกข์ บํารุงสุขเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญแก่สังคม ได้ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ทําให้เกิดการพัฒนาขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทรงเป็นผู้นําในด้านการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนและหน่วยราชการนําไปปฏิบัติก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการพัฒนาชาติยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่อยู่ในหัวใจของประชาชนไทยและเป็นสถาบันที่เคารพสักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทยทุก ๆ คน ผู้ใดหรือใครจะมาล่วงเกินหรือล่วงละเมิดในทางหนึ่งทางใดมิได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 2, มาตรา 6 และมาตรา 50
ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์พาดพิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีสถานะพระบรมวงศ์อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดํารงอยู่ ประกอบความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว แสดงให้เห็นว่าจําเลยรู้สํานึกในการกระทําของตน จึงสามารถพิมพ์ข้อความและนําภาพดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เช่นนั้นได้ โดยจําเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าภาพและข้อความที่จําเลยพิมพ์ หรือโพสต์ดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือนําลงข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนชาวไทยที่ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล
การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยเจตนาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) นั้น เป็นการปรับบทมาตราที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ส่วนที่จําเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายทํานองว่า พระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ นอกจากพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่อยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” และไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว รูปคดีจึงไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยในปัญหาดังกล่าวเพราะไม่ทําให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจําเลยที่ขอให้ยกฟ้องสําหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) ด้วยนั้นฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจําเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทําของจําเลยคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (เดิม) ประกอบกับการกระทําความผิดของจําเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความเจ็บป่วย และมีความจําเป็นต้องได้รับการรักษา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจําคุกและคุมความประพฤติจําเลย รวมทั้งให้จําเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ทํานองว่า ศาลน่าจะลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง ด้วย เพราะจําเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง โดยศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจําเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะขาดเจตนาในการกระทําความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดดังกล่าวและโจทก์ไม่อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับว่า จําเลยไม่ได้เป็นผู้กระทําความผิดฐานดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจําเลย ในฐานความผิดดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ วรวิทย์ ฤทธิทิศ, ธันว์ บุณยะตุลานนท์ และประดิษฐ์พงศ์ ชิตวงศ์
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีหมายเลขดำที่ 1138/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 131/2565 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40904)
-
วันที่: 28-08-2024นัด: ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเวลา 09.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ทนายความแถลงว่า จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล โดยทนายสามารถติดต่อพี่สาวจำเลยได้เมื่ออาทิตย์ก่อน ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันจำเลยอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกับพี่สาว และต้องดูแลพ่อที่แก่ชรา ไม่สามารถเดินทางมาศาลในวันนี้ได้ และขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลส่งหมายนัดให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยรับทราบแต่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อศาลออกหมายจับเกิน 1 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวได้ เห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลย
ก่อนอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้สั่งให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความออกไปจากห้องพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้
คดีนี้โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิต แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภท ชนิดหวาดระแวง อาการโดยทั่วไปจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
ประการแรก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ชอบหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายอุทธรณ์ของโจทก์ไว้แล้วว่า ศาลน่าที่จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 ตามฟ้องด้วย เพราะจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ ย่อมถือว่าโจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำอันเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบในประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์กลับรับฟังได้เจือสมกับทางนำสืบจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเวชและมีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์
พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำอันเป็นความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ชอบหรือไม่
จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นปรับบทคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งมิใช่การลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่ทราบว่าข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลเท็จ จึงลงโทษเฉพาะความผิดตามมาตรา 14 (3) จึงเท่ากับว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 14 (1) เมื่อโจทก์อุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 และขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 14 (1) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทั้งการยกฟ้องในข้อหาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนโดยคลาดเคลื่อน จึงมิใช่การปรับบทกฎหมายคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยแต่อย่างใด
ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 เท่านั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องรวมไปด้วยว่าจำเลยนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่ามีข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และรัชทายาทในทางที่ไม่ดี อันเป็นการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงสมฟ้องแล้ว
แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทก็ตาม ก็มิใช่ว่าต้องฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดในข้อหานี้ด้วย เพราะองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน การพิจารณาถึงเจตนาจึงแตกต่างกันไปด้วย เมื่อในกรณีนี้จำเลยนำข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยรับรู้และเข้าใจถึงการกระทำจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ลงโทษตามฟ้องข้ออื่นมาด้วยไม่ชอบ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ประการที่สาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นโรคจิตเภท มีความเชื่อบิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ โดยบอกว่าจำเลยเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่ 5 จากการประเมินเชื่อว่า จำเลยเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่ต้นปี 2556 และแสดงอาการรุนแรงต้นปี 2559 สองคล้องกับหนังสือแจ้งประวัติการรักษา จึงเชื่อว่า จำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต
อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยสามารถพิพม์ข้อความและนำรูปภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ และสามารถใช้ข้อความที่สื่อถึงความรู้สึกนึกคิดของจำเลยได้ด้วย แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้โอกาสจำเลยได้รับการบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก การรอการลงโทษ การคุมความประพฤติ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล, วินิตย์ ศรีภิญโญ และ ปิยนุช มนูรังสรรค์
ทั้งนี้ โพสต์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นความผิดรวม 4 โพสต์นั้น เป็นข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชทายาท ณ ขณะเกิดเหตุ ส่วนอีก 9 โพสต์ที่เหลือเป็นโพสต์เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์องค์อื่น ๆ
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 466/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69460)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุปผา (นามสมมติ)
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุปผา (นามสมมติ)
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- เฟื่องฟ้า คงเกลี้ยง
- ศิริพร ขันทอง
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
18-08-2020
ศาลอุทธรณ์
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุปผา (นามสมมติ)
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- วรวิทย์ ฤทธิทิศ
- ธันว์ บุณยะตุลานนท์
- ประดิษฐ์พงศ์ ชิตวงศ์
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ :
04-02-2022
ศาลฎีกา
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุปผา (นามสมมติ)
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล
- วินิตย์ ศรีภิญโญ
- ปิยนุช มนูรังสรรค์
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ :
28-08-2024
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์