สรุปความสำคัญ

12 ก.ย. 2558 บัณฑิต นักเขียนและนักแปลอิสระ ถูกตำรวจสืบสวนควบคุมตัวไป สน.ชนะสงคราม หลังแสดงความคิดเห็นในตอนท้ายของงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจพูดคุยและจัดทำ "บันทึกการปรับทัศนคติ" โดยไม่ให้แสดงความเห็นในลักษณะนี้อีก เนื่องจากอาจสร้างความสับสน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน จากนั้นปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่อีกหนึ่งปีให้หลังมีการแจ้งความดำเนินคดีบัณฑิตด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

การที่ตำรวจนำตัวบัณฑิตไปพูดคุยโดยมีทหารเข้าร่วม แม้ไม่ใช่ในค่ายทหาร แต่ทนายความหรือผู้ที่บัณฑิตไว้ใจก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เป็นการละเมิดสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวไม่ต่างไปจากการถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร รวมถึงมีการทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย

หลังรัฐประหาร 2557 บัณฑิตถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการแสดงความเห็นในเวทีเสวนา คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ซึ่งการขอออกหมายจับและจับกุมในคดีนี้ มีขึ้นหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี ในช่วงเวลาหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 โดยที่ก่อนหน้านั้นมีการควบคุมตัวบัณฑิตไปตักเตือนและขู่จะดำเนินคดี หากเขายังโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นอีก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ใช้การดำเนินคดีเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบัณฑิต ซึ่งมีการแสดงออกอยู่เสมอทั้งในงานกิจกรรมต่างๆ และในโลกโซเชียล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

12 ก.ย. 2558 นายบัณฑิตเข้าร่วมงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในตอนท้ายของการเสวนา บัณฑิตได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวถึงสิ่งที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ เน้นให้รัฐธรรมนูญระบุถึงคุณค่าความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และประชาธิปไตย สำคัญกว่าสิ่งอื่น ๆ

เวลา 16.00 น. ภายหลังงานเสวนาเสร็จสิ้น ขณะบัณฑิตกำลังเดินทางกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวเขาขึ้นรถไปยัง สน.ชนะสงคราม และนำตัวเข้าห้องสืบสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาร่วมด้วย แต่ยังไม่อนุญาตให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเดินทางตามไปถึง เข้าไปร่วมในการพูดคุยด้วย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ากำลังสอบถามข้อมูลเบื้องต้นอยู่ และจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาก่อนว่ามีข้อความเข้าข่ายความผิดหรือไม่

ก่อนที่เวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาชี้แจงว่าจะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใด เพียงแต่จะจัดทำบันทึกการปรับทัศนคติไว้เท่านั้น

จนเวลาประมาณ 18.50 น. พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม ได้เชิญทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าไปในห้องปฏิบัติการฝ่ายสืบสวน เพื่อให้ดู “บันทึกการปรับทัศนคติ” โดยบันทึกได้บรรยายข้อความที่นายบัณฑิตได้กล่าวในงานเสวนา และระบุว่าข้อความมีลักษณะหมิ่นเหม่ อาจสร้างความสับสน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ จึงได้เชิญตัวนายบัณฑิตมาปรับทัศนคติ เพื่อไม่ให้แสดงความเห็นในลักษณะนี้อีก นายบัณฑิตได้ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกนี้ โดยมีทนายความร่วมลงชื่อเป็นพยาน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายบัณฑิตออกมาจากห้องสืบสวน เพื่อมาลงบันทึกประจำวันเอาไว้ ก่อนจะปล่อยตัวออกมาในเวลา 19.50 น.

(อ้างอิง: บันทึกการปรับทัศนคติ สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 12 ก.ย. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/12/bandit_aneeya/)

ต่อมา วันที่ 15 พ.ย. 2559 เวลาประมาณ 15.40 น. นายบัณฑิต ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แสดงหมายจับและจับกุมตัวไปจากห้องพักและนำตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อไปถึงตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 12 ก.ย. 2558

ทั้งนี้ บันทึกการจับกุมระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ 80/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2559

ภายหลังแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การแล้ว ซึ่งนายบัณฑิตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวบัณฑิตไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนนำตัวไปศาลทหารในวันรุ่งขึ้น เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างการสอบสวนต่อไป การที่ต้องขออำนาจศาลทหารฝากขังเนื่องจากเหตุการณ์แสดงความคิดเห็นได้เกิดขึ้นก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้ยกเลิกการนำคดีพลเรือนไปพิจารณาในศาลทหาร

การจับกุมดำเนินคดีบัณฑิตด้วยมาตรา 112 ครั้งนี้ นับเป็นคดีที่ 2 ของบัณฑิตที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคดีแรกบัณฑิตถูกฟ้องหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการแสดงความเห็นในวงเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทยเมื่อ 26 พ.ย. 2557

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 15 พ.ย. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2755)

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการจับกุมในครั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 บัณฑิตถูก ‘ล่าแม่มด’ โดยถูกด่าทอและคุกคามเอาชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย จากนั้นไม่กี่วันตำรวจและทหารได้ควบคุมตัวเขาจากห้องพักไปยัง สน.หนองค้างพลู โดยตำรวจระบุว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เพียงตักเตือนและทำข้อตกลงกับบัณฑิตว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก และบัณฑิตได้รับปากเจ้าหน้าที่โดยดี นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุด้วยว่า หากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ให้ถึงที่สุด

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2016/11/68871)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 07-02-2017
อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบัณฑิต กล่าวหาว่า กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 อีกคดีของศาลทหารกรุงเทพด้วย
 
วันที่ : 05-08-2019
ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเสร็จสิ้นไปเพียง 4 ปาก ศาลทหารกรุงเทพได้นัดฟังคำสั่ง โดยแจ้งคู่ความว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่กำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลจึงให้งดการฟังคำพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และส่งสำนวนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยให้สัญญาประกันตัวยังคงมีผลต่อไป
 
วันที่ : 28-01-2020
ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันนัดสำหรับสืบพยาน ซึ่งเดิมทีก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม ศาลทหารได้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ปาก โดยโจทก์ประสงค์จะสืบพยานอีก 5 ปาก จำเลยต้องการจะสืบพยาน 4 ปาก ศาลจึงได้กำหนดนัดสืบพยาน 3 วัน ในวันที่ 19-20 และ 24 พ.ย. 63

ภูมิหลัง

  • สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
    เป็นนามปากกาของนักเขียนและนักแปลอาวุโส ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มาแล้วในปี 2546 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ (ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาว่า บัณฑิตพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จำคุก 4 ปี โดยให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว ไม่เคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน

    บัณฑิตมีโรคประจำตัว ต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะและไตด้านซ้ายออก และปัสสาวะโดยผ่านทางถุงปัสสาวะ ซึ่งจะต้องดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะหายใจไม่ออกหากอาการกำเริบ บัณฑิตมีประวัติการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ไม่ได้ไปหาหมอนานแล้ว

    ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท อดีตอาจารย์ด้านวรรณคดีโบราณและประวัติศาสตร์ที่ University of Berkeley และ Arizona State University ให้ความเห็นต่องานเขียนของบัณฑิตไว้ว่า “งานเขียนของเขาน่าสนใจ คนต่างประเทศอ่านแล้วมักจะชอบ เพราะมีวิธีเล่าเรื่องเสียดสีสังคมในแบบเฉพาะของตัวเอง เห็นความเป็นธรรมได้โดยไม่ต้องเศร้าโศก ส่วนชีวิตของเขาก็น่าสนใจมาก ไม่น่าจะมีใครที่กล้าชำแหละ พูดถึงชีวิตตัวเองตรงไปตรงแบบเขามากนัก” (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/02/51819)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์