ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 30/2560 (อ. 3049/2562)
แดง 163/2562

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท. สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.(สืบสวน) สน.ชนะสงคราม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 30/2560 (อ. 3049/2562)
แดง 163/2562
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท. สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.(สืบสวน) สน.ชนะสงคราม

ความสำคัญของคดี

บัณฑิต นักเขียนและนักแปลอิสระ ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 หลังการรัฐประหาร 2557 จากการแสดงความเห็นในงานเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การขอออกหมายจับและจับกุมซึ่งมีขึ้นหลังเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 1 ปี ในช่วงเวลาหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 โดยก่อนหน้านั้นมีการควบคุมตัวบัณฑิตไปตักเตือนและขู่จะดำเนินคดี หากเขายังโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นอีก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ใช้การดำเนินคดีเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบัณฑิต ซึ่งมีการแสดงออกอยู่เสมอทั้งในงานกิจกรรมต่างๆ และในโลกโซเชียล

คดีนี้ถูกพิจารณาโดยเปิดเผยในศาลทหาร การสืบพยานผ่านไปกว่า 1 ปี เพิ่งเสร็จสิ้นเพียง 4 ปาก มีการเลื่อนการสืบพยานหลายครั้งติดต่อกัน ซึ่งเป็นปัญหาความล่าช้าของศาลทหาร จนกระทั่งมีการโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบัณฑิต กล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 เวลากลางวัน ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ?" โดยกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีผู้เข้าร่วมเสวนาหลายคน รวมทั้งจำเลย และมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน โดยมี พันตำรวจโท สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีนครบาลชนะสงคราม เฝ้าสังเกตการณ์เสวนาด้วย ขณะที่ผู้จัดเสวนาเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น จำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่า ฝุ่นละออง...” โดยถ้อยคําที่จําเลยกล่าวมาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ซึ่งเป็นคําราชาศัพท์ที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ทําให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังข้อความดังกล่าวเข้าใจโดยทันทีว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ด้อยค่าหรือต่ำต้อยกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทําของจําเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560)

ความคืบหน้าของคดี

  • นายบัณฑิต ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แสดงหมายจับและจับกุมตัวไปจากห้องพัก นำตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อไปถึงตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 จากเหตุร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 12 ก.ย. 2558

    ทั้งนี้ บันทึกการจับกุมระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ 80/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2559

    ภายหลังแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ ซึ่งนายบัณฑิตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวไว้ที่สน.ชนะสงคราม ก่อนนำตัวไปศาลทหารในวันรุ่งขึ้น เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างการสอบสวนต่อไป

    เหตุการณ์แสดงความคิดเห็นได้เกิดขึ้นในปี 2558 ก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 ที่ให้ยกเลิกการนำคดีพลเรือนไปพิจารณาในศาลทหาร คดีนี้จึงต้องพิจาณาในศาลทหาร

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 15 พ.ย. 2559 และ https://tlhr2014.com/archives/2755)
  • พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นำตัวบัณฑิตไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผัดที่ 1 ระหว่างวันที่ 16-27 พ.ย. 2559

    คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 บัณฑิตได้เข้าร่วมเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ?” ที่จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่ง สน.ชนะสงคราม ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสืบสวนหาข่าวและเฝ้าฟังการเสวนาด้วย

    ในช่วงที่ผู้จัดเสวนาให้เสนอคำถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ บัณฑิตได้เสนอความเห็น 5 ข้อ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ปกครองในการทุจริตและเข่นฆ่าประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และประชาธิปไตยให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบัณฑิต

    พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วขออำนาจศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 และแสดงหมายจับเพื่อจับกุมตัวบัณฑิตที่ห้องพักเมื่อ 15 พ.ย. 2559 เวลาประมาณ 15.40 น. ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    คำร้องขอฝากขังยังระบุว่า พนักงานสอบสวนคัดค้านการประตัว เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

    14.00 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ขังนายบัณฑิตไว้ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 16-27 พ.ย. 2559 ก่อนทนายความของบัณฑิตจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเงินสด 300,000 บาท

    เหตุผลประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า บัณฑิตไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังเป็นนักเขียนอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน และมีอายุมาก ไม่สามารถหลบหนีหรือพึ่งพาตนเองได้ บัณฑิตยังมีโรคประจำตัวหลายโรค แพทย์ได้ตัดกระเพาะปัสสาวะทำให้ต้องใช้ถุงปัสสาวะแทนตลอดเวลา เสี่ยงต่อการติดเชื้ออันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ทั้งยังเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้

    นอกจากนี้ บัณฑิตยังเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เคยอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันฉัตรมงคล พ.ศ. 2548 จัดโดยสมาคมพ่อตัวอย่าง และเป็นกรรมการในคณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์การอุปสมบทหมู่ดังกล่าวด้วย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    อย่างไรก็ตาม เวลา 15.30 น. น.อ.หญิง วิภาวี คุปต์กาญจนากุล ตุลาการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของบัณฑิต เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และหลักทรัพย์ที่ยื่นเข้ามาไม่เพียงพอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 16 พ.ย. 2559 และ https://tlhr2014.com/archives/2789)
  • ทนายความยื่นคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวบัณฑิตอีกครั้ง โดยนายประกันได้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท ซึ่งเป็นเงินบริจาคที่มีการระดมมาและบางส่วนเป็นการหยิบยืม

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล, ห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดหรือเป็นหนังสือ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/2807)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบัณฑิต กล่าวหาว่า กระทำผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ทั้งนี้ ในคำฟ้องอัยการยังระบุด้วยว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีกำหนดโทษจำคุก 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยได้มากระทำผิดคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลฎีการอการลงโทษไว้ จึงขอให้ศาลนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ พร้อมกันนั้น ท้ายฟ้องอัยการยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกคดีดำที่ 45 ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพอีกด้วย

    หลังศาลรับฟ้องของโจทก์ จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี โดยใช้นายประกันและหลักทรัพย์เดิม ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยทำการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560)
  • ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกประการ ขอต่อสู้คดี และแถลงว่าได้แต่งทนายมาสู้คดีเองแล้ว จำเลยรับว่า ขณะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีนี้ จำเลยอยู่ในระหว่างรอการลงโทษจำคุกในคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2556 ให้จำคุกฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีกำหนดโทษ 4 ปี โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยยังรับว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีดำที่ 45 ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพ

    อัยการทหารแถลงขอสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลพิจารณาแล้วให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ธันวาคม 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560)
  • คู่ความมาศาล ศาลได้ให้คู่ความแต่ละฝ่ายตรวจดูเอกสารของคู่ความอีกฝ่าย โดยสอบถามถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี และความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายอ้างอิงจนเสร็จ

    โจทก์แถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาลว่า มีพยานโจทก์ ดังนี้
    ลำดับที่ 1 พันตำรวจโท สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ พยานผู้กล่าวหาและประจักษ์พยาน
    ลำดับที่ 2 ร้อยตำรวจเอก สิทธิชัย เคียงสูงเนิน เป็นประจักษ์พยาน
    ลำดับที่ 3 ร้อยตำรวจโท พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ เป็นพยานผู้ถอดเทปคำพูดของจำเลย
    ลำดับที่ 4 ดาบตำรวจ พงศ์ไท ทองรอด เป็นผู้จับกุม
    ลำดับที่ 5 พันตำรวจโท นิติ ทองมีสุข พยานผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางในคดี
    ลำดับที่ 6 นายสุนันต์ ทองมีสุข เป็นพยานผู้อธิบายคำราชาศัพท์
    ลำดับที่ 7 นางปิยะพร หาดทราย เป็นพยานผู้ให้ความเห็นในคดี
    ลำดับที่ 8 นายพล จงเกียรติกุล เป็นพยานในฐานะนักกฎหมาย
    ลำดับที่ 9 พันตำรวจตรีหญิง ชมพูนุช อนันตญากุล เป็นพนักงานสอบสวน

    ทนายจำเลยแถลงว่ามีพยานบุคคล คือ
    ลำดับที่ 1 จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน
    ลำดับที่ 2 ดอกเตอร์ อิสระ ชูศรี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา
    ลำดับที่ 3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี เป็นพยานในฐานะนักกฎหมาย
    ลำดับที่ 4 แพทย์หญิง ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ เป็นพยานในฐานะแพทย์ผู้รักษาจำเลย

    โจทก์ขอนำพยานโจทก์ปาก พันตำรวจโท สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เข้าสืบในนัดแรก และร้อยตำรวจเอก สิทธิชัย เคียงสูงเนิน เข้าสืบในนัดต่อไป และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานทั้งสองปากในนัดถัดไป เนื่องจากพยานทั้งสองเป็นพยานคู่ คือเป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน ศาลจึงให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 และให้เพิ่มวันนัดในวันที่ 9 และ 12 มีนาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากแรก โจทก์นำ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กํากับการสืบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้กล่าวหาและประจักษ์พยาน

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความว่า เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นหัวหน้ากลุ่ม จัดกิจกรรมในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช...” มีการเชิญนักการเมืองและนักวิชาการเข้าร่วม มีบุคคลเข้าร่วมเสวนาประมาณ 50 คน พยาน, ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน และ ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ เข้าไปร่วมในการเสวนาด้วย โดยพยานได้บันทึกภาพนิ่งและเสียงในการเสวนาไว้ด้วย

    การเสวนาเป็นเรื่องข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมา หลังจากเสร็จการเสวนา ผู้จัดได้ให้ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น มีประชาชนแสดงความคิดเห็นหลายคน รวมทั้งจําเลยซึ่งได้แสดงความคิดเห็นหลายข้อซึ่งกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีข้อความว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งประเทศจะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละออง...” ผู้ที่อยู่ในห้องเสวนาเห็นว่าจําเลยพูดหมิ่นพระมหากษัตริย์จึงให้ผู้จัดบอกให้จําเลยหยุดพูด แต่จําเลยไม่ยอมหยุดพูด

    เมื่อเลิกการเสวนา พยานได้เชิญจําเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม ถ่ายรูปและทําประวัติจําเลยไว้ และให้ ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ ถอดคําพูดจากแผ่นบันทึกภาพและเสียง จากนั้นให้จําเลยอ่าน จําเลยยอมรับว่าเป็นข้อความที่ถูกต้อง และได้ลงลายมือชื่อไว้ พยานยังได้จัดทําบันทึกปรับทัศนคติ และแจ้งให้จําเลยทราบว่า การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําที่หมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วให้จําเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน โดยมีทนายความเข้าร่วมด้วย

    หลังจากนั้นพยานได้รายงานผู้บังคับบัญชา และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เสนอคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เป็นคําพูดที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ และได้มอบหมายให้พยานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานได้ฟังถ้อยคําของจําเลย คิดว่าจำเลยสื่อความหมายว่า “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนไทยอยู่ใต้ฝุ่นละออง...” ซึ่งมาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ใช้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น พยานตรวจสอบประวัติของจําเลยพบว่า จําเลยเคยกระทําความผิดที่ สน.ปทุมวัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิพากษาว่าจําเลยกระทําความผิดตามข้อหาดังกล่าว แต่เนื่องจากจําเลยมีสภาพผิดปกติทางจิตจึงให้จําเลยไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ต่อมาจําเลยได้กระทําความผิดเดียวกันอีกที่ สน.สุทธิสาร และยังไม่ทราบผลคดี

    พยานเบิกความตอบอัยการทหารจนเสร็จ ทนายจําเลยแถลงว่า เนื่องจากพยานปากนี้เป็นพยานคู่กับพยานปาก ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน จึงขอเลื่อนถามค้านพยานปากนี้ เพื่อที่จะถามค้านพยานพร้อมกันทั้งสองปากในวันที่ 12 มี.ค. 2561 โจทก์ไม่ค้านและจะนํา ร.ต.อ.สิทธิชัย เข้าเบิกความตอบโจทก์ในวันที่ 9 มี.ค. 2561 ศาลอนุญาต

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561)
  • จำเลยป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนการนำ ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน เข้าเบิกความตอบโจทก์ไปเป็นวันที่ 12 มีนาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ปากที่สอง ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน ปัจจุบันเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรี เข้าเบิกความตอบอัยการ ในฐานะประจักษ์พยาน

    พ.ต.ต.สิทธิชัย เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม ในวันเกิดเหตุได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปติดตามสืบสวนการกระทําความผิดในการเสวนาของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” พยานจึงเดินทางไปกับผู้บังคับบัญชาคือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 2 นาย

    หลังการเสวนาเป็นช่วงเวลาที่ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น จําเลยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยกล่าวว่า “ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนจะต้องอยู่ใต้ฝุ่นละออง...” โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจในชุดของพยานได้บันทึกภาพและเสียงการเสวนาไว้ พิธีกรได้ทําการปิดเสียงไมโครโฟน และมีเสียงผู้ร่วมดังอื้ออึง พยานได้รับคําสั่งจาก พ.ต.ท.สมยศ ให้ติดตามตัวจําเลยตั้งแต่เริ่มแสดงความคิดเห็นจนเสร็จการเสวนาจึงได้ควบคุมตัวจําเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม

    พยานได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.สมยศ ให้ตรวจสอบประวัติจําเลย พยานจึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดําเนินการตรวจสอบ จากนั้น พ.ต.ท.สมยศ ได้ปรับทัศนคติจําเลย โดยมี พ.ต.ท.กิตติ เพชรรุ่ง, ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์, พยาน และนายอานนท์ นําภา เข้าร่วม มีการทําบันทึกการปรับทัศนคติไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งพยานได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย พ.ต.ท.สมยศ ยังได้สั่งให้ ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ ถอดเสียงจำเลยออกมาเป็นตัวอักษร

    พยานเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยที่ว่า “ฝุ่นละออง...” เป็นคําที่มาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ซึ่งใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมพระเกียรติ และเป็นการนําเอาศักดิ์ศรีของคนไทยไปอยู่ใต้ฝ่าเท้าของพระมหากษัตริย์ พยานทราบว่า พ.ต.ท.สมยศ ได้แจ้งความดําเนินคดีจําเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    เมื่อ พ.ต.ต.สิทธิชัย เบิกความเสร็จ เดิมทนายจำเลยจะถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 และที่ 2 พร้อมกันคราวเดียวในนัดนี้ เนื่องจากทั้งสองเป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่ประชุมวันเกิดเหตุ แต่ พ.ต.ท.สมยศ ติดราชการจำเป็นเร่งด่วนไม่สามารถมาเบิกความได้ ทนายจำเลยจึงแถลงขอเลื่อนถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากไปในนัดหน้า โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 และเพิ่มนัดพิจารณาวันที่ 26 มิถุนายน และ 12 กรกฎาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2561)
  • พยานโจทก์ที่นัดไว้ คือ พ.ต.ท.สมยศ และ พ.ต.ต.สิทธิชัย มาศาลทั้งสองปาก โจทก์นําพยานปาก พ.ต.ท.สมยศ (เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอก) เข้าเบิกความตอบทนายจําเลยถามค้าน ซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว

    พ.ต.อ.สมยศเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนของ สน.ชนะสงคราม มีผู้ร่วมในชุดสืบสวนจํานวน 5 นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบทั้งหมด มีหน้าที่ปะปนอยู่ในมวลชนภายในห้องเสวนา โดยมีดาบตํารวจมนตรี อู่รอด เป็นผู้ตั้งกล้องบันทึกวีดิโอ พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตํารวจสันติบาลอยู่ในห้องเสวนาดังกล่าวด้วย โดยปกติจะมีทหารชุดการข่าวเข้าร่วม แต่พยานไม่ทราบว่ามีจํานวนกี่นาย

    ขณะที่จําเลยพูดแสดงความคิดเห็น พยานอยู่ภายในห้องเสวนานั้นด้วย เมื่อฟังที่จําเลยพูดแล้วเห็นว่าข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ว่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ ภายหลังจบงานเสวนา พยานจึงเชิญตัวจําเลยมาพูดคุยที่ สน.ชนะสงคราม

    มีการบันทึกภาพวีดีโอตั้งแต่เริ่มเสวนาจนจบ แต่พยานตัดคําพูดเฉพาะช่วงที่จําเลยพูดบันทึกไว้ในซีดีวัตถุพยาน ทนายจําเลยขออนุญาตศาลเปิดซีดี ปรากฏภาพที่มวลชนในห้องปรบมือเมื่อจําเลยพูดจบ พยานเบิกความว่า เป็นการปรบมือเพื่อให้จําเลยหยุดแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพูดว่า จําเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์ อีกทั้งหลังการเสวนาไม่มีประชาชนคนใดไปแจ้งความว่า จําเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์

    พยานได้ให้เจ้าหน้าที่สืบสวนในชุดเชิญตัวจําเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม แต่จะเป็นใครเชิญไป พยานจําไม่ได้ เจ้าหน้าที่ได้นําตัวจําเลยไปอยู่ในห้องชุดสืบสวนประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อปรับทัศนคติ ทําประวัติอาชญากรรม และถอดเทปข้อความที่จําเลยพูด พยานจําไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ด้วยหรือไม่ แต่มีทนายความ คือ นายอานนท์ นําภา อยู่ด้วย

    จากข้อความที่ถอดเทปคําพูดของจําเลย “...ในปี 2540 ผมเสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้..." พยานไม่ทราบว่า จําเลยมีการเสนอให้บัญญัติข้อเสนอของจำเลยไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ ในตอนปรับทัศนคติจําเลยก็ไม่ได้ชี้แจง แต่จําเลยได้ยืนยันข้อความที่ถอดเทปมาว่าตรงกับคําพูดของจำเลยในห้องเสวนา ในบันทึกการปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่ตํารวจเห็นว่า คำพูดของจำเลยหมิ่นเหม่ อาจสร้างความสับสน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ แต่ยังไม่ถือว่าจําเลยกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    จากการตรวจสอบประวัติจําเลย พยานจึงทราบว่าจําเลยเคยต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ สน.สุทธิสาร

    พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจได้จัดทําบันทึกคําให้การไว้เป็นหลักฐาน ตามบันทึกคำให้การดังกล่าว พยานให้การว่า ข้อความ “ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละออง...” ไม่ใช่คําราชาศัพท์ และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด เมื่อพิจารณาในข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าถ้อยคําดังกล่าวยังไม่เป็นการกระทําความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

    วันที่ 14 กรกฎาคม 2559 พยานได้ไปให้การเพิ่มเติมว่า พยานรู้สึกว่าคําพูดของจําเลยหมิ่นเหม่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคำว่า “หมิ่นเหม่” หมายถึง ใกล้ เกือบ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 พยานได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนคดีหมิ่นฯ มีความเห็นว่าถ้อยคําที่จําเลยพูดเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

    พยานได้ไปให้การเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 อีกว่าได้ตรวจสอบประวัติของจําเลย พบว่าจําเลยเคยต้องหาคดีที่ สน.ปทุมวัน และศาลได้มีคําพิพากษาให้รอการลงโทษจําคุกจําเลย คุมประพฤติและบําบัดอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

    ทนายจําเลยแถลงว่า เนื่องจากมีประเด็นที่จะซักถามพยานโจทก์ปากนี้อีกเป็นจํานวนมาก จึงขอเลื่อนถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากไปในนัดหน้า โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปถามค้าน พ.ต.อ.สมยศ และ พ.ต.ต.สิทธิชัย ต่อในวันที่ 26 มิถุนายน 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2561)
  • อัยการทหารนำ พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เข้าเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดที่แล้ว

    พ.ต.อ.สมยศ ตอบคำถามทนายจำเลยโดยรับว่า จากเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ให้ความเห็นว่ากรณีนี้เข้าข่ายการทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน พยานจึงไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยตามมาตรา 112 โดยที่เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุให้พยานเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ สน.ชนะสงคราม ได้ทำการสอบสวนพยานบุคคลจนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว มีความเห็นว่า เข้าข่ายมาตรา 112 พยานจึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

    พ.ต.อ.สมยศ ยังรับว่า ไม่ได้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามที่คำสั่งของกองบังคับการนครบาล 1 แต่พนักงานสอบสวนให้พยานมาร้องทุกข์กล่าวโทษและพยานก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 แต่ก่อนหน้านั้นพยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 และ 14 กรกฎาคม 2559 ว่า ข้อความดังกล่าวไม่ผิดมาตรา 112 เพียงแต่เป็นการกระทำหมิ่นเหม่

    ต่อมา พ.ต.อ.สมยศ ตอบอัยการทหารถามติง โดยยืนยันคำให้การที่ให้ไว้ในวันที่ 16 กันยายน 2558 ว่า จำเลยยังไม่ได้กระทำความผิด แต่การพิจารณาให้ความเห็นทำคนเดียวไม่ได้ หลังจากที่บุคคลหลายฝ่ายให้ความเห็นแล้ว ยืนยันว่ามีความผิด พยานจึงไปกล่าวโทษในวันที่ 20 ตุลาคม 2559

    หลังจาก พ.ต.อ.สมยศ เบิกความเสร็จ อัยการทหารนำ พ.ต.ต.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน ประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุร่วมกับ พ.ต.อ.สมยศ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลย

    พ.ต.ต.สิทธิชัย ตอบทนายจำเลยว่า พยานรับราชการมา 32 ปี ไม่เคยเป็นพนักงานสอบสวนแต่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดี ในวันเกิดเหตุพยานควบคุมกล้องบันทึกวิดีโออยู่ภายในห้องเสวนา ส่วน พ.ต.อ.สมยศ เดินเข้าเดินออกระหว่างในห้องเสวนากับบริเวณหน้าห้อง พยานไม่ทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมฟังอยู่ในห้องเสวนาด้วยหรือไม่ ในวันเกิดเหตุพยานยังไม่ทราบว่าจําเลยกระทําความผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ จําเลยยินยอมไปที่สถานีตํารวจนครบาลชนะสงครามกับพยาน

    พยานได้นําตัวจําเลยนั่งรถสามล้อเครื่องไปที่ สน.ชนะสงคราม ส่งมอบให้กับ พ.ต.อ.สมยศ ในห้องสืบสวนสอบสวนเพื่อปรับทัศนคติ โดยในห้องสืบสวนสอบสวนมีตํารวจ 2 นาย พยานไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ว่ามีทหารร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ ห้องดังกล่าวเปิดโล่งสามารถเดินเข้าเดินออกได้ตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พยาน, พ.ต.ท.สมยศ และตํารวจอีกหลายนายมีความเห็นว่า เป็นการหมิ่นเหม่ แต่ไม่ใช่การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และได้ให้จําเลยกลับบ้านไป

    ในส่วนที่จำเลยพูดว่า “ขอบคุณมากครับ ในปี 2540 ผมเสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้” พยานเข้าใจว่าจําเลยอ้างว่า มีการเสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540

    ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 พยานได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่า คําพูดของจําเลยไม่ใช่คําราชาศัพท์และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด พิจารณาข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ยังไม่เป็นการกระทําความผิดตามมาตรา 112

    วันที่ 14 ก.ค. 2559 พยานได้ให้การเพิ่มเติม โดยยืนยันตามคําให้การเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 และให้การเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ฟังคําพูดของจําเลยแล้ว รู้สึกว่าหมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาพยานมาทราบภายหลังว่าผู้บังคับบัญชาได้ให้ พ.ต.อ.สมยศ แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อจําเลย พยานจึงเข้าให้การเป็นพยานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ว่า การกระทําของจําเลยเป็นการพูดให้เสื่อมเสียพระเกียรติของ ร.9 ที่พยานให้การเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากความเห็นของผู้บังคับบัญชา

    หลังเสร็จการสืบพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ ในวันที่ 12 ก.ค. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561)
  • สืบพยานโจทก์ ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ (เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอก) ตำรวจผู้ถอดเทปคำพูดของนายบัณฑิตในวันเกิดเหตุ

    พยานรับราชการที่ สน.ชนะสงคราม ตําแหน่งงานสืบสวน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน พยานเป็นผู้ถอดเทปคําพูดของจําเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ตามคําสั่งของ พ.ต.ท. สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ซึ่งจําเลยมีการแสดงความคิดเห็นพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    การถอดเทปคําพูดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบข้อมูล และส่งให้คณะกรรมการได้ตรวจสอบว่า คำพูดแสดงความเห็นของจำเลยเข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ ในการถอดเทปดังกล่าว พยานได้จัดทําเป็นเอกสารและแผ่นซีดี จําเลยรับทราบในตอนที่เจ้าหน้าที่ตํารวจเชิญตัวจําเลยมาปรับทัศนคติที่ สน.ชนะสงคราม ในบันทึกการปรับทัศนคติจําเลยลงลายมือชื่อไว้ โดยพยานได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ถอดเทปไว้ด้วย

    พยานได้ให้การเป็นพยานไว้ในชั้นพนักงานสอบสวนตามบันทึกคําให้การลงวันที่ 16 กันยายน 2558 และบันทึกคําให้การเพิ่มเติมลงวันที่ 20 ตุลาคม 2559

    ต่อมา ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ตอบคำถามค้านของทนายจําเลยว่า ตามเอกสารคำถอดเทป ข้อความที่ว่า “ขอบคุณมากครับ ในปี 2540 ผมเสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ” เมื่อพยานอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเข้าใจได้ว่า เมื่อปี 2540 จําเลยเคยเสนอข้อเสนอทั้ง 5 ข้อมาก่อน
    ตามบันทึกการปรับทัศนคติ คําว่า “หมิ่นเหม่” ในความเห็นของพยานหมายความถึง ใกล้ เกือบ พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้สั่งให้พิมพ์คําว่า “หมิ่นเหม่” ในเอกสารดังกล่าว

    พยานอยู่ในห้องปรับทัศนคติ ซึ่งภายในห้องมีเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอยู่ หลังจากปรับทัศนคติเสร็จได้ปล่อยตัวจําเลยกลับบ้าน ต่อมาภายหลังพยานจึงทราบว่ามีคําสั่งให้ดําเนินคดีกับจําเลย

    ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ตอบถามติงของอัยการทหารว่า พยานมีหน้าที่ถอดเทปคําพูดของจําเลย ไม่มีส่วนในการวินิจฉัยคําพูดของจําเลยว่ามีความผิดหรือไม่

    เสร็จการสืบพยานโจทก์ปาก ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปาก ด.ต.พงศ์ไท ทองรอด ในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และเพิ่มวันนัดสืบพยานอีก 2 นัด คือ วันที่ 7 พฤศจิกายน และ 20 ธันวาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561)
  • โจทก์นำพยานปาก ด.ต.พงศ์ไท ทองรอด ผู้จับกุมจำเลย เข้าเบิกความ

    ด.ต.พงศ์ไท เบิกความว่า พยานได้ร่วมจับกุมจำเลยในข้อหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ จากการสืบสวนทราบว่าจําเลยหลบหนีไปพักอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าในเขตหนองแขม กรุงเทพฯ พยานจึงได้ไปที่ห้องพักดังกล่าวพบจําเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ หลังจากสอบถามชื่อและนามสกุลพร้อมกับนําหมายจับให้จําเลยดู จําเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ และไม่เคยถูกจับตามหมายจับดังกล่าว พยานได้นําตัวจําเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม และได้แจ้งสิทธิพร้อมข้อกล่าวหาและได้ทําบันทึกจับกุมไว้ โดยพยานลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้จับกุม จากนั้นได้นําตัวจําเลยพร้อมบันทึกจับกุมส่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อดําเนินคดีต่อไป

    ด.ต.พงศ์ไท เบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ขณะที่พยานเข้าจับกุมจําเลยที่ห้องเช่า จําเลยไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด และให้ความร่วมมือในการจับกุมด้วยดี หลังจากพยานแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งคดี จําเลยได้ให้การปฏิเสธ

    นัดต่อไปโจทก์จะนำนายสุนันต์ ทองมีสุข พยานผู้เชี่ยวชาญจากสำนักราชเลขาธิการฯ เข้าเบิกความให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ ใน​วันที่​ 7​ พฤศจิกายน 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2561)
  • โจทก์แถลงว่า นายสุนันต์ ทองมีสุข พยานโจทก์ที่นัดไว้มาศาล แต่เนื่องจากจำเลยป่วยกะทันหันไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 20 ธันวาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 7​ พฤศจิกายน 2561)
  • พยานโจทก์ปากผู้เชี่ยวชาญจากสำนักราชเลขาธิการฯ ที่อัยการทหารนัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากพยานติดราชการจำเป็นเร่งด่วน โจทก์ยังประสงค์จะนำพยานปากนี้เข้าสืบ เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ แต่ขอเลื่อนการนำเข้าสืบออกไปก่อน โดยนัดหน้าขอนำนางปิยะพร หาดทราย เข้าเบิกความก่อน ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ปากนางปิยะพรในวันที่ 25 มีนาคม 2562

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561)
  • อัยการทหารแถลงว่า นางปิยะพร หาดทราย พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการจำเป็นเร่งด่วน โจทก์ยังประสงค์จะนำพยานปากนี้เข้าสืบ เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2562

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2562)
  • อัยการแถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ คือ นางปิยะพร หาดทราย ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการจำเป็นเร่งด่วน โจทก์ยังประสงค์จะนำพยานปากนี้เข้าสืบ เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากเดิมนี้ไปเป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2562

    นับเป็นการเลื่อนการสืบพยานโจทก์โดยไม่มีการสืบต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยเป็นเหตุเนื่องจากจำเลยป่วย 1 ครั้ง และพยานติดราชการเร่งด่วน 3 ครั้ง

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2562)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่ง โดยศาลแจ้งคู่ความว่า เนื่องจากคำสั่งคณะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ซึ่งข้อ 2 กำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้น ๆ ไปยังศาลยุติธรรม

    ศาลจึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานและให้งดพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และส่งสำนวนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยให้สัญญาประกันตัวยังคงมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 30/2560 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และ https://tlhr2014.com/archives/13201)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันนัดสำหรับสืบพยาน ซึ่งเดิมทีก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม ศาลทหารได้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ปาก โดยโจทก์ประสงค์จะสืบพยานอีก 5 ปาก จำเลยต้องการจะสืบพยาน 4 ปาก ศาลจึงได้กำหนดนัดสืบพยาน 3 วัน ในวันที่ 19-20 และ 24 พ.ย. 63

    บัณฑิตต้องทำสัญญาประกันตัวใหม่หลังคดีโอนย้ายมาจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรม แต่กองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นนายประกันไม่มา กองทุนยุติธรรมจึงต้องมาดำเนินเรื่องประกันตัวอีกครั้งในภายหลัง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3049/2562 ลงวันที่ 28 ม.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/15732)
  • กองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นนายประกันดำเนินการทำสัญญาประกันตัวบัณฑิตใหม่หลังคดีโอนย้ายมาจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรม ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกประเทศ

  • ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง เกี่ยวกับการนับโทษจําคุกและการเพิ่มโทษจําคุกของจําเลย จําเลยและทนายจําเลยไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง

    โจทก์แถลงว่า ติดใจสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.นิติ อินทุลักษณ์ แต่หากจําเลยและทนายจําเลยแถลงรับว่า บุคคลดังกล่าวได้ทําการตรวจซีดี ซึ่งเป็นพยานวัตถุ และทําบันทึกข้อความแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ ทนายจําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว

    สืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก คือ ปิยะพร หาดทราย รับราชการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พยานบุคคลผู้ให้ความเห็น

    ปิยะพรเบิกความว่า เมื่อปี 2559 ไม่แน่ใจว่าวันที่เท่าไหร่ ที่ สน.ชนะสงคราม พยานได้อ่านเอกสารบันทึกถอดเทปจากพนักงานสอบสวน โดยพยานไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวได้มาอย่างไร อ่านแล้วทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในงานเสวนาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ที่ห้องโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังอ่านข้อความในข้อที่ 3 แล้ว พยานคิดว่าหมายถึง กษัตริย์ เพราะคำพูดที่ว่า “ฝุ่นละออง...” พยานเข้าใจว่าเป็นคำเฉพาะใช้กับกษัตริย์เท่านั้น มาจากคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” พออ่านรวมๆ ความหมายของคำพูดมีลักษณะดูหมิ่นกษัตริย์ คนพูดต้องการให้คนมองสถาบันกษัตริย์ในด้านเสื่อมเสีย พยานเคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนแล้ว

    ปิยะพรตอบคำถามของทนายจำเลยว่า จบปริญญาตรี ด้านการบริหารธุรกิจ ทำงานที่ สพฐ. ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันอยู่แผนกธุรการ ติดต่อประสานงานเอกสาร พิมพ์หนังสือราชการต่างๆ พยานทราบคำราชาศัพท์ โดยคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 2 คนส่วนใหญ่ไม่รู้คำราชาศัพท์ทั้งหมด แต่น่าจะรู้ว่า สรรพนามบุรุษที่ 1 และ 2 ต่างกันอย่างไร

    พยานรับว่า คำว่า "ฝุ่นละออง" เป็นคำทั่วไป หมายถึงของแข็งขนาดเล็กลอยในอากาศ ความหมายไม่เหมือนกับ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” และไม่ใช่คำราชาศัพท์ จำเลยพูดคำว่า "ฝุ่นละออง" ไม่ได้พูดคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” พยานยอมรับด้วยว่า จำเลยไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์ และไม่ได้ใช้คำหยาบคาย คำพูดถึงฝุ่นละอองของจำเลยเป็นคำที่ต้องอาศัยการตีความ ซึ่งจะต้องดูบริบทประกอบด้วย และแต่ละคนอาจจะตีความต่างได้ พยานไม่รู้ว่าจำเลยต้องการสื่อสารเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า จำไม่ได้ว่าหลังจากที่จำเลยแสดงความคิดเห็นมีความวุ่นวายเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ แต่คำพูดของจำเลยไม่ได้ทำให้พยานรู้สึกดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

    หลังสืบพยานโจทก์ปากนี้เสร็จแล้ว โจทก์แถลงว่า ติดใจสืบพยานปากนายสุนันต์ ทองมีสุข เจ้าหน้าที่สํานักราชเลขาธิการ แต่หากจําเลยและทนายจําเลยแถลงรับว่า บุคคลดังกล่าวได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่สํานักงานราชเลขาธิการแจ้งมาว่า มีนโยบายไม่ให้ข้าราชการในพระองค์มาเบิกความในคดี ทนายจําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว

    โจทก์แถลงว่า ส่งหมายให้พยานโจทก์ปากนายพล จงเกียรติกุล ไม่ได้ เนื่องจากมีการย้ายที่อยู่ โดยพนักงานสอบสวนแถลงยืนยันว่าส่งหมายไม่ได้ และติดต่อไม่ได้จริง โจทก์ขอให้พนักงานสอบสวนไปติดตามพยานปากนี้มาเบิกความในนัดหน้า และเนื่องจากในวันพรุ่งนี้ตามที่นัดไว้เดิมเกรงว่าจะส่งหมายให้แก่พยานไม่ทัน จึงขอยกเลิกนัดในวันพรุ่งนี้ โดยประสงค์จะสืบพยานปากพนักงานสอบสวน ซึ่งขณะนี้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดภูเก็ตเป็นปากสุดท้าย ด้วยเหตุนี้จึงขอเลื่อนคดี ทนายจําเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยในวันที่ 24 พ.ย. 2563 ตามที่นัดไว้เดิม และยกเลิกนัดในวันพรุ่งนี้

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3049/2562 ลงวันที่ 19 พ.ย. 2563)
  • สืบพยานเสร็จ 2 ปาก เป็นพยานโจทก์ 1 ปาก ได้แก่ พนักงานสอบสวน ส่วนพล จงเกียรติกุล พนักงานสอบสวนติดตามให้มาเบิกความไม่ได้ อีกปากเป็นพยานจำเลย ซึ่งบัณฑิตอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความ จากนั้นโจทก์และจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลให้จำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 20 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ม.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

    พ.ต.ต.หญิง ชมพูนุช อนันตญากุล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กล่าวหาและประจักษ์พยานว่า ในช่วงเวลาราว 13.00 – 16.00 น. กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้จัดงานเสวนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย?" นอกจาก พ.ต.ท.สมยศ ในงานเสวนาดังกล่าวยังมี ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน ด้วย

    เวลาราว 14.50 น. จำเลยได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความตามฟ้องของโจทก์ และยังได้พูดอีกว่า ตนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มาแล้ว 2 – 3 คดี อีกทั้งยังบอกผู้ร่วมเสวนาว่า ตนพร้อมรับผิดชอบต่อการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ต่อมา เจ้าหน้าที่ทั้งสองได้นำตัวจำเลยไปยัง สน. ชนะสงคราม เนื่องจากเห็นว่าคำพูดดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ได้ทำการปรับทัศนคดิจำเลย มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยลงชื่อ ต่อมาพยานได้เก็บรูปถ่ายของจำเลยขณะที่พูดในงาน รวมไปถึงไฟล์เสียง

    พยานเบิกความอีกว่า ได้สอบปากคำ พ.ต.ท.สมยศ, ร.ต.อ.สิทธิชัย, ร.ต.อ.พิเชษฐ์ โดย พ.ต.ท.สมยศ และ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ให้การว่า คำว่า ฝุ่น ที่จำเลยพูด น่าจะเปรียบเปรยถึง ร.9 เนื่องจากคำนี้น่าจะมาจากคำราชาศัพท์ที่ใช้กับกษัตริย์เท่านั้น พยานได้ส่งคลิปเหตุการณ์ไปที่กองพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจสอบว่ามีการตัดต่อหรือไม่ จากนั้นพยานได้สอบปากคำสุนันต์ ทองมีสุข จากสำนักราชเลขาธิการ ในประเด็นเรื่องการใช้คำราชาศัพท์ นายสุนันต์ให้การโดยอ้างอิงจากงานสารบัญ พ.ศ.2526 และระเบียบของสำนักนายกฯ เรื่องการใช้คำขึ้นต้นและลงท้ายด้วยคำว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ซึ่งใช้กับกษัตริย์เท่านั้น สุนันต์ยังได้มอบสำเนาคำราชาศัพท์และระเบียบสำนักนายกฯ ไว้ด้วย

    พยานปากพนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ได้สอบปากคำปิยะพร หาดทราย และพล จงเกียรติกุล ว่าคำที่จำเลยพูดนั้นเข้าข่ายผิดมาตรา 112 หรือไม่ ปิยะพรให้ความเห็นว่า คำว่า “ฝุ่นละออง...” ถือเป็นคำเปรียบเปรยถึงคำราชาศัพท์ "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม" ใช้กับกษัตริย์เท่านั้น พยานทั้งสองเห็นว่า ผู้พูดต้องการให้กษัตริย์เสียเกียรติ

    พยานยังได้ตรวจสอบประวัติของจำเลยพบว่า จำเลยเคยถูกดำเนินคดี 112 มาแล้ว 3 ครั้ง และได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลทหารออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 ในความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาวันที่ 15 พ.ย. 2559 ด.ต.พงศ์ไท ทองรอด จึงได้เข้าจับกุมจำเลยตามขั้นตอน พยานได้สอบสวนจำเลยต่อหน้าทนายความ จากพยานหลักฐานทั้งหมดพยานมีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง พยานคิดว่าจำเลยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ เห็นได้จากเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์มาก่อน ข้อความที่พูดจึงน่าจะหมายถึงสถาบันกษัตริย์

    พ.ต.ต.หญิง ชมพูนุช ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุ หลังจบงานเสวนา เจ้าหน้าที่ได้พาจำเลยไปปรับทัศนคติที่ สน.ชนะสงคราม โดยพยานไม่ได้อยู่ร่วมด้วย ในบันทึกการปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่มองว่าจำเลยใช้คำพูดที่หมิ่นเหม่ จึงเชิญมาปรับทัศนคติ หลังเสร็จกระบวนการเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวจำเลยไป พ.ต.ท.สมยศ ไม่ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลย

    พยานรับว่าได้สอบปากคำ พ.ต.ท.สมยศ รวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 พ.ต.ท.สมยศ ให้การว่า ถ้อยคำของจำเลยยังไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพราะไม่ใช่ราชาศัพท์ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2559 พ.ต.ท.สมยศ ให้การว่า คำพูดของจำเลยหมิ่นเหม่ แต่ยังไม่ผิดกฎหมาย และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 ซึ่ง พ.ต.ท.สมยศ ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย พยานยังได้สอบปากคำ ร.ต.อ.สิทธิชัย รวม 3 ครั้ง เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง บช.น. จะตั้งคณะกรรมการพิจารณา และส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ของ สตช. รวมทั้ง ผบ.ตร.พิจารณา

    พนักงานสอบสวนตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ราชบัณฑิตยสถาน คือ กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร ในฐานะนักวิชาการ กุลสิรินทร์ให้ความหมายของคำแต่ละคำ ไม่ได้ดูทั้งประโยค ซึ่งไม่อาจตีความได้ รวมทั้งสอบปากคำปิยะพร หาดทรายและพล จงเกียรติกุล ด้วย โดยสอบถามความรู้สึกหลังจากได้อ่านถ้อยคำของจำเลย โดยพยานไม่ทราบว่า นายพลเป็นทนายของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ทึ่ดูแลคดี 112 โดยตรง ตามเอกสารที่ทนายจำเลยนำให้พยานดู

    ส่วนสาเหตุที่เชิญสุนันต์ ทองมีสุข เจ้าหน้าที่สํานักราชเลขาธิการ มาให้ปากคำ พ.ต.ต.หญิง ชมพูนุช ตอบว่า เนื่องจากคณะพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า การใช้ถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยยังไม่เข้าขั้นเป็นการหมิ่นฯ แต่ต่อมาเมื่อส่งสำนวนไปให้นครบาล ทางนครบาลได้ส่งกลับมาให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม โดยสุนันต์ให้ปากคำว่า คำว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” นั้นใช้ในโอกาสใด แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดี พยานรับว่า ปกติประชาชนจะไม่ใช้คำราชาศัพท์ ไม่แน่ใจด้วยว่าในโรงเรียนมีการสอนเรื่องนี้หรือไม่ ในวันเกิดเหตุจำเลยก็ไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ ไม่ได้เอ่ยชื่อกษัตริย์ คนที่ฟังต้องตีความ คนทั่วไปน่าจะเข้าใจว่า คำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” นั้นหมายถึงตัวของประชาชนเอง ไม่ใช่กษัตริย์

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า พยานไม่ทราบว่า ในงานเสวนาดังกล่าวจำเลยพูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อเสนอเป็นหลักการที่ต้องบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พยานยอมรับว่า การตีความคำพูดต้องดูบริบทด้วยเพื่อจะให้รู้ว่าผู้พูดต้องการจะสื่ออะไร

    หลังอัยการแถลงหมดพยานโจทก์ ทนายจำเลยได้นำบัณฑิตเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลย

    บัณฑิตเบิกความว่า ตนเกิดที่เมืองจีน ย้ายมาอยู่ไทยในปี 2490 ตอนอายุ 6 ขวบ แต่ใบต่างด้าวระบุว่า อพยพเข้ามาขณะอายุได้ 2 ขวบ พยานจึงมีอายุตามจริงมากกว่าเอกสารราชการ 4 ปี ปัจจุบันเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เอาไตออกข้างหนึ่งแล้ว และต้องพกถุงฉี่ แต่ยังมีสติสัมปชัญญะปกติดี

    พยานเคยถูกฟ้องคดี 112 คำพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า พยานเป็นผู้ป่วยจิตเภท เคยถูกส่งไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่พยานคิดว่า ตนเองปกติดีจึงไม่กินยาที่หมอให้ วันเกิดเหตุพยานก็ปกติดี เมื่อถูกดำเนินคดีในคดีนี้ ศาลทหารส่งตัวพยานไปสถาบันกัลยาณ์ฯ แต่พยานไม่กินยา

    วันเกิดเหตุพยานเดินทางไปที่งานเสวนาและพูดสิ่งเดียวกับที่เคยพูดเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ยืนยันถึงสิ่งที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ ที่ถูกจับก็เพราะข้อ 3 สื่อว่า คุณค่าของคนจะต้องอยู่เหนือกว่าฝุ่นละออง ที่พยานพูดเช่นนั้น เนื่องจากพยานเคยอ่านหนังสือของ ดร. เดือน บุนนาค ซึ่งกล่าวว่า คนจีนมีนิสัยเห็นแก่ตัว ชอบเรียกคนไทยว่า ใต้เท้า เวลาต้องการเอาประโยชน์จากคนไทย ที่พยานพูดว่า ฝุ่นละออง จึงไม่ได้หมายถึงกษัตริย์

    หลังจากพูดที่งานเสวนาเสร็จ ขณะพยานกำลังจะกลับถูกนำตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม พาเข้าห้องสอบสวน มีเจ้าหน้าที่อยู่ในห้อง 2 – 3 คน ไม่แน่ใจว่ามีทหารไหม ตำรวจค้นของและสอบสวนพยานราว 3 – 4 ชม. จากนั้นจึงปล่อยตัวกลับบ้าน พยานเชื่อว่าสิ่งที่พูดเป็นคุณค่าที่พูดได้

    พยานเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 4 คดี รวมคดีนี้ด้วย แต่สามารถชี้แจงได้หมด คดีที่ 1 เมื่อปี 2518 ทำหนังสือดาวแดงขาย ตำรวจเอาผิดไม่ได้ เลยส่งไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หมอลงความเห็นว่าป่วย จึงปล่อยตัว คดีที่ 2 เมื่อปี 2546 ถูกดำเนินคดีเพราะไปแสดงความเห็นในงานเสวนางานหนึ่ง คดีที่ 3 ที่ สน. สุทธิสาร ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง

    ต่อมา บัณฑิตตอบคำถามอัยการว่า ในงานเสวนาดังกล่าวที่พยานพูดข้อเสนอ 5 ข้อ อาจจะไปอยู่ในหมวดเฉพาะกาลหรือถาวรของรัฐธรรมนูญก็ได้ พยานยังอธิบายความหมายของประโยคที่โจทก์นำมาฟ้อง คำว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคน” หมายความว่า การเป็นคนต้องมีสัจจะ, “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน” หมายถึง คนไทยทุกคนควรมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน, “อยู่สูงกว่าฝุ่นละออง” พยานไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปเรียกใครว่า ใต้เท้า, “คนบางคน” หมายถึง คนที่มีอำนาจโดยทั่วไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ต้องระบุกว้างๆ ไว้

    บัณฑิตตอบอัยการต่อไปว่า ที่ตนมีข้อเสนอข้อนี้ เนื่องจากฟังคำพูดของ ดร.เดือน บุนนาค ที่พูดไว้เมื่อปี 2502 ว่า เวลาคนจีนจะเอาประโยชน์จากคนไทยก็เรียกว่า ใต้เท้า แล้วรู้สึกไม่พอใจ พยานเชื่อว่าสิ่งที่พูดไม่ได้ผิดกฎหมายจึงพูดออกไป พยานประกอบอาชีพอยู่ที่ไทยตลอด รักคนไทยมากเกินไปจึงถูกดำเนินคดี พยานไม่ทราบคำราชาศัพท์และไม่ได้สนใจ ไม่ทราบด้วยว่า คำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” หมายถึงใคร และไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินหรือไม่

    ข้อเสนอว่า “ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน” พยานหมายความว่า ความเป็นธรรมคือสิ่งที่ทำให้สังคมเป็นสุข ส่วนคำว่า “ชนชั้นปกครอง” “เผด็จการ” “ทรราช” “สถาบัน” พยานก็ไม่หมายถึงคนคนเดียวกัน เนื่องจากเผด็จการมีหลายคน

    บัณฑิตเบิกความตอบอัยการอีกว่า ตนเองอ่านและแปลภาษาอังกฤษได้ แต่บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้อ่านเอง เจ้าหน้าที่อ่านให้ฟัง จากนั้นจำเลยถึงเซ็นรับทราบ โดยมีทนายความร่วมอยู่ด้วย พยานให้การปฏิเสธ แต่ไม่ได้ให้การในรายละเอียดกับพนักงานสอบสวนตามที่เบิกความในวันนี้

    ส่วนที่พยานพูดในงานเสวนาว่า ยินดีติดคุก หมายความว่า หากถูกดำเนินคดีอีก และศาลตัดสินว่าตนมีความผิดก็ยินดีรับโทษ ทั้งนี้ พยานไม่ได้รับเชิญไปพูดในงานเสวนาดังกล่าว แต่พยานไปร่วมงานเองเพราะต้องการไปขายหนังสือ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3049/2562 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2563)

  • จำเลยได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีขอให้พิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังต่อไปนี้

    1. คำพูดของจำเลยเป็นข้อความหรือประโยคที่ต้องอาศัยการตีความ เป็นถ้อยคำที่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะกฎหมายอาญานั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายขอบเขตเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพยานโจทก์ทุกปากล้วนเบิกความว่า คำพูดจำเลยเป็นข้อความที่ต้องอาศัยการตีความ จำเลยไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด

    ตามบันทึกปรับทัศนคติ ได้สรุปความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า "เห็นว่ามีการหมิ่นเหม่ อาจสร้างความสับสนและสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ และยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" และผู้กล่าวหา พ.ต.อ.สมยศ อดุมรักษาทรัพย์ ก็ได้เบิกความยืนยันว่า ได้เคยให้การกับพนักงานสอบสวนในครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 ว่า "คำพูดของจำเลยหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระทำความผิด ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.ต.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งพยานทั้งสองปากนี้ ได้มีความเห็นภายในวันเกิดเหตุและอยู่ด้วยในการทำบันทึกปรับทัศนคติ จึงได้ปล่อยตัวจำเลยไป

    อีกทั้งพยานทั้งสองปากนี้ก็ได้เบิกความในทำนองเดียวกันต่อไปอีกว่า "คำพูดของจำเลยนั้นไม่ใช่คำราชาศัพท์และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด" ซึ่งคำราชาศัพท์ก็มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจได้ เช่นเดียวกับพยานปากอื่นๆ ซึ่งต่างก็เห็นตรงกันว่า "คำพูดของจำเลยนั้นต้องอาศัยการตีความ" และถ้อยคำตามฟ้องของจำเลยไม่ใช่คำราชาศัพท์ การนำคำดังกล่าวไปเทียบเคียงกับคำราชาศัพท์ อันเป็นศัพท์เฉพาะนั้น เป็นการตีความขยายขอบเขตเพื่อเอาผิดจำเลย

    อีกทั้งบุคคลทั่วไปอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" ตามคำเบิกความของพนักงานสอบสวน เข้าใจว่าเป็นคำแทนตัวซึ่งหมายถึงประชาชนพูดเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ และคำเบิกความของพยานความเห็นก็ออกมาในทิศทางที่แตกต่างกัน ซึ่งองค์ประกอบความผิดของการหมิ่นประมาทนั้น การใส่ความจะต้องระบุตัวบุคคลแน่นอนว่าเป็นใคร หรือต้องได้ความหมายถึงบุคคลใดบุลคลหนึ่งโดยเฉพาะ อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1513/2551 และการเปรียบเทียบเลื่อนลอยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงก็ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 426-427/2520 และ 10189/2546 ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเข้าองค์ประกอบความผิดฐาน หมิ่นประมาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    2. การแสดงความคิดเห็นของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ กระทำโดยสุจริต เป็นการใช้เสรีภาพทางความคิด อันมิใช่ความผิดต่อกฎหมาย แต่เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ตามหลักการสากล ประกอบกับจำเลยเองกระทำไปด้วยเชื่อว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นมิใช่ความผิด และกล่าวถึงบุคคลอื่น มิใช่หมายถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ ในวันประชุมเสวนาดังกล่าว ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ มีสื่อมวลชนเข้าทำข่าว และบันทึกวีดีโอ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสังเกตการณ์ หลังจากจำเลยพูดจบ ก็ไม่ได้มีการเข้ามาจับกุมจำเลยแต่อย่างใด จำเลยเองไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

    พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 คนเองก็ได้เบิกความว่า เมื่อได้เชิญตัวจำเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม ได้ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังมีข้อสงสัยในการกระทำของจำเลย ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้มีการทำบันทึกปรับทัศนคติแล้วปล่อยจำเลยไป จำเลยยังได้ให้การว่า “คำว่าฝุ่นใต้ตีนนั้น ข้าฯเอามาจากหนังสือที่เรียกคนไทยว่า นายเท้า ใต้เท้าฯ” อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19

    ดังนั้นตามหลักกฎหมายอาญา การกระทำความผิดทางอาญานั้นต้องอาศัยเจตนา ซึ่งจำเลยต้องรู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วย เมื่อจำเลยกระทำไปโดยขาดเจตนา จึงไม่มีความผิด คำฟ้องของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

    (อ้างอิง: แถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3049/2562 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2563)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์