สรุปความสำคัญ

นายปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรม ฉีกบัตรลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่หน่วยลงคะแนนในวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เพื่อประท้วงการออกเสียงประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม โดยมีนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และนายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ บันทึกวิดีโอขณะนายปิยรัฐฉีกบัตร ปิยรัฐถูกควบคุมตัวไปจากหน่วยลงคะแนนในทันที โดยตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีทั้งสามคนตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ในเวลาต่อมา

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปิยรัฐ จงเทพ
    • ตั้ม (นามสมมติ)
    • นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน

พฤติการณ์การละเมิด

7 ส.ค.59 นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” นักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนายกสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้ต้องขังและญาติในคดีทางการเมือง ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างลงคะแนนเสียงที่หน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อประท้วงการออกเสียงประชามติครั้งนี้ที่ไม่เสรีและเป็นธรรมเพราะมีการปิดกั้นการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และนายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ เพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไม่ได้ใช้สิทธิในหน่วยนี้ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย วิดีโอไว้ตั้งแต่ก่อนที่ปิยรัฐจะฉีกบัตรลงคะแนน นายปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในทันทีและนำตัวไป สน.บางนา โดยมีเพื่อนทั้งสองติดตามไปด้วย

ระหว่างปิยรัฐรอสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดมือถือของทรงธรรม และจิรวัฒน์ ซึ่งรออยู่ด้านนอกห้องสอบสวน อ้างว่าเพื่อนำไปตรวจสอบ

ทั้งนี้ตั้งแต่เที่ยงจนถึง16.00น. ตำรวจยังไม่ได้เริ่มการสอบปากคำปิยรัฐ โดยให้เหตุผลว่ากำลังสอบ กกต. ประจำหน่วยลงคะแนนในฐานะเจ้าทุกข์อยู่ แต่เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการดำเนินคดีในสามข้อหาคือ ทำลายเอกสาร มาตรา 188 และทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย มาตรา 358 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา59 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559

เวลา 17.30 น.ตำรวจแจ้งว่าจะไม่ดำเนินคดีกับทรงธรรมและจิรวัฒน์แล้วพร้อมคืนโทรศัพท์มือถือให้

จนกระทั่งประมาณ 18.00 น. พนักงานสอบสวนจึงเริ่มสอบปากคำปิยรัฐ ซึ่งปิยรัฐได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันทรงธรรมและจิรวัฒน์ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับทรงธรรมและจิรวัฒน์ในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ จากการใช้มือถือถ่ายวิดีโอไว้ตั้งแต่ก่อนที่ปิยรัฐจะฉีกบัตรลงคะแนน

ประมาณ 20.45 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามว่า ร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน จากนั้น เวลา 22.56 น. จึงให้ประกันตัวปิยรัฐ ด้วยเงินประกัน 20,000 บาท ส่วนทรงธรรมและจิรวัฒน์ได้รับการประกันตัว ในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2559 โดยวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท โดยทั้งสามต้องเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ส.ค., 15 ก.ย. และ 29 ก.ย.2559 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือซัมซุงของนายทรงธรรมที่ใช้ถ่ายภาพดังกล่าว (https://www.tlhr2014.com/?p=1550)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 13-12-2016
อัยการศาลจังหวัดพระโขนงมีความเห็นสั่งฟ้องนาย ปิยรัฐ จงเทพ “โตโต้” , ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และจิรวัฒน์ เอกอัคร ในคดีฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในฐานความผิด ร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงฯ, ทำลายบัตรลงคะแนนฯ, ทำลายเอกสารฯ และทำให้เสียทรัพย์

หลังศาลจังหวัดพระโขนงรับฟ้อง ได้ออกหมายขังจำเลยทั้งสามไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี และมีคำสั่งให้ประกันในวันถัดมา (14 ธ.ค. 59) หลังจากนายประกันคือ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นคำร้องพร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท โดยศาลระบุว่า นายบุญเลิศมีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แม้ว่าวานนี้ศาลจะไม่อนุญาตให้บุญเลิศและนักวิชาการอีกคนใช้ตำแหน่งประกันให้โตโต้และเพื่อนด้วยเหตุผลว่า นักวิชาการทั้งไม่ใช่ญาติและนายจ้างของจำเลย จึงไม่ให้ใช้ตำแหน่งราชการมาเป็นหลักทรัพย์ประกันก็ตาม
(อ้างอิง 'ศาลจังหวัดพระโขนงให้ประกันจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติ' https://www.tlhr2014.com/?p=3051)
 
วันที่ : 26-09-2017
ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาลงโทษนายปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยเป็นความผิดเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด กรณีนี้คือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

(อ้างอิง 'คดีฉีกบัตรประชามติ 59 ยกฟ้องข้อหาก่อความวุ่นวายฯ ข้อหาฉีกบัตรให้รอลงอาญา' เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=5303)
 
วันที่ : 15-08-2018
ศาลจังหวัดพระโขนง นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 3 นักกิจกรรมทางการเมือง “ฉีกบัตรประชามติ”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็น จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 วรรค 1 และมาตรา 60 (9) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 60(9) ส่วนจำเลยที่ 2-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
(https://www.tlhr2014.com/?p=8486)

ภูมิหลัง

  • นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์
    นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จบการศึกษาระดับปวช.จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระรามหก อยู่ระหว่างพักการเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) แสดงออกเชิงสัญลักษณ์กินแซนด์วิช ที่หน้าสยามพารากอน เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหน้าหอศิลป์ กทม. และถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายจนต้องเข้าไอซียู เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2558 เป็น 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และถูกจับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. 2558 ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์