ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560

ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา (ฝ่ายปกครอง)
  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560

ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา (ฝ่ายปกครอง)
  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560

ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560
ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

หมายเลขคดี

ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560
ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

หมายเลขคดี

ดำ 5952/2559
แดง 3789/2560
ผู้กล่าวหา
  • น.ส.จารุวรรณ ศรีทอง ประธานคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา

ความสำคัญของคดี

นายปิยรัฐ จงเทพ และเพื่อนนักกิจกรรมอีก 2 คน ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ พ.ศ.2559 จากการฉีกบัตรลงคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งบันทึกวีดิโอ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับการลงประชามติที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากมีการใช้อำนาจเผด็จการในการบิดเบือนกฎหมายและการจับกุมคุมขังประชาชนที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เวลากลางวันในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการอันใดที่เป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง โดยจำเลยที่ 1 (นายปิยรัฐ จงเทพ) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้มาใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่บริเวณสำนักเขตบางนา กรุงเทพฯ ระหว่างนั้น จำเลยที่ 2 (นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์) และที่ 3 (นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์) ซึ่งไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเดินเข้าไปในหน่วยออกเสียง และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายรูปและบันทึกภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 เข้าไปใช้สิทธิ อันเป็นการรบกวนและก่อความวุ่นวายและเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียงในที่ออกเสียง เมื่อ ผอ.และคณะกรรมการประจำที่ออกเสียง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าห้าม จำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ยอมเชื่อฟัง ช่วงเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 เมื่อรับบัตรออกเสียงประชามติแล้วได้ตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" แล้วฉีกทำลายบัตร จากนั้นจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำวิดีโอเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงไปเผยแพร่ต่อสาธารณะในเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 และ 3 เพื่อก่อความวุ่นวายและโดยไม่มีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย

ความคืบหน้าของคดี

  • นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างลงคะแนนเสียงที่หน่วยออกเสียงประชามติในสำนักงานเขตบางนา พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และนายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ เพื่อนที่ไปด้วยกันใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอไว้ นายปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในทันทีและนำตัวไป สน.บางนา โดยมีเพื่อนทั้งสองติดตามไปด้วย

    จนกระทั่งประมาณ 18.00 น. พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหานายปิยรัฐรวม 3 ข้อหา คือ ทำลายเอกสาร มาตรา 188 และทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย มาตรา 358 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 59 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันทรงธรรมและจิรวัฒน์ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับทรงธรรมและจิรวัฒน์ในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ จากการใช้มือถือถ่ายวิดีโอไว้ตั้งแต่ก่อนที่ปิยรัฐจะฉีกบัตรลงคะแนน

    ประมาณ 20.45 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐเพิ่มเติม พร้อมทั้งแจ้งข้อหาทรงธรรมและจิรวัฒน์ ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากนั้น เวลา 22.56 น. จึงให้ประกันตัวปิยรัฐ ด้วยเงินประกัน 20,000 บาท ส่วนทรงธรรมและจิรวัฒน์ได้รับการประกันตัว ในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2559 โดยวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท (อ้างอิง https://www.tlhr2014.com/?p=1550)

  • วันที่ 10 ส.ค. 2559 พ.ต.ท.สายชล หงส์สุวรรณ์ รองผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนา ได้มีหนังสือเรียกให้นายปิยรัฐและเพื่อนเข้าพบในวันที่ 11 ส.ค. เวลา 12.00 น. เพื่อให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน หรือยื่นส่งพยานหลักฐานตามที่ผู้ต้องหาระบุไว้ จากเดิมที่มีการนัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนไว้ในวันที่ 22 ส.ค.59 โดยหนังสือระบุว่าแม้ผู้ต้องหาทั้งสามจะไม่ขอให้ปากคำในชั้นสอบสวน โดยจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมาภายใน 15 วัน แต่ด้วยคดีนี้เป็น “คดีเกี่ยวกับความมั่นคง” เป็นที่สนใจของประชาชน และผู้บังคับบัญชามีนโยบายให้สอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งยังระบุว่าหากผู้ต้องหาไม่ประสงค์ให้การเพิ่มเติมหรือยื่นเอกสารประกอบในชั้นสอบสวน สามารถยื่นเพิ่มเติมในชั้นของพนักงานอัยการได้ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า ต้องเร่งทำสำนวนส่งให้อัยการภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม นายปิยรัฐได้ทำหนังสือขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากได้รับหนังสือเรียกดังกล่าวกระชั้นชิด และมีภารกิจในเรื่องการงาน พนักงานสอบสวนจึงได้อนุญาตให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 17 ส.ค. 2559 (https://www.tlhr2014.com/?p=1570)
  • ปิยรัฐ จิรวัฒน์ และทรงธรรม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน. บางนา พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และนำตัวผู้ต้องหาทั้งสามพร้อมสำนวนคดีส่งให้อัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 ต่อมา พนักงานสอบสวนแจ้งว่า สำนวนคดียังไม่เรียบร้อย จะเลื่อนนัดส่งตัวให้อัยการออกไปก่อน ภายใน 15 วัน แต่ปิยรัฐแจ้งว่า ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ เนื่องจากต้องทำงาน

  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 มีความเห็นสั่งฟ้องปิยรัฐในข้อหาความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 59 มาตรา 60 (9) และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และมาตรา 358 ขณะที่จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 60 (9) อย่างไรก็ตาม ทนายความขอเลื่อนการส่งฟ้องต่อศาลออกไปก่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่า ต้องใช้เงินประกันตัวคนละ 200,000 บาท แต่ผู้ต้องหายังเตรียมเงินประกันมาไม่ครบ โดยปิยรัฐเตรียมเงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 20,000 บาท ส่วนผู้ต้องหาอีกสองคนเตรียมหลักทรัพย์มาคนละ 10,000 บาทเท่านั้น พนักงานอัยการจึงนัดผู้ต้องหามารายงานตัวเพื่อส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนงในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 (https://www.tlhr2014.com/?p=2874)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 ยื่นฟ้องนายปิยรัฐ นายจิรวัฒน์ และนายทรงธรรม ต่อศาลจังหวัดพระโขนงในฐานความผิด ร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียงในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง, ทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย, ทำให้เสียหาย ทำลายเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และทำให้เสียทรัพย์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59, 60 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 358

    ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยก่อนหน้านี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์อีก 1 คนใช้ตำแหน่งยื่นประกันด้วยแต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเอกสารไม่ครบและตำแหน่งอาจารย์เพียง 2 คนก็ครอบคลุมวงเงินที่ต้องใช้ประกันทั้ง 3 คนแล้ว ต่อมาในช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 3 คนโดยให้เหตุผลว่า อาจารย์ไม่ใช่ญาติพี่น้องและไม่ใช่นายจ้างของผู้ต้องหา จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ทั้ง 3 คนถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น

    (อ้างอิง '‘โตโต้’ และเพื่อนนอนคุกคดีฉีกบัตรประชามติ วืดประกันหลัง 2 อาจารย์ใช้ตำแหน่งยื่น' เว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท https://prachatai.com/journal/2016/12/69230)
  • ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งให้ประกัน ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ และเพื่อนอีก 2 คน คือ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ จากคดีฉีกบัตรประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนายประกันคือ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นคำร้องพร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท โดยศาลระบุว่า นายบุญเลิศมีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    (อ้างอิง 'ศาลจังหวัดพระโขนงให้ประกันจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติ' https://www.tlhr2014.com/?p=3051)
  • ศาลอ่านฟ้องให้จำเลยฟังและถามคำให้การ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยปิยรัฐ จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่า จำเลยฉีกบัตรออกเสียงจริงแต่ในสำนวนคดีมีข้อความบางส่วนที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงจึงประสงค์จะสู้คดี และจำเลยเห็นว่าการฉีกบัตรลงคะแนนไม่เป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการเพราะเป็นบัตรของตัวเอง และการตะโกนประโยค "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง
  • นายปิยรัฐได้ให้การใหม่ว่า ได้ฉีกบัตรจริง ซึ่งเป็นการให้การภาคเสธในข้อหาทำลายบัตรลงคะแนนเพียงข้อหาเดียว จากนั้นโจทก์และทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยาน ฝ่ายโจทก์แถลงว่า จะนำพยานเข้าสืบจำนวน 14 ปาก เป็นพยานเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียง ตำรวจผู้จับกุม ส่วนทนายจำเลยแถลงว่า พยานจำเลยที่จะนำเข้าสืบ ได้แก่ จำเลยทั้ง 3 คน นักวิชาการ และ กกต.

    ศาลนัดสืบพยานวันที่ 13 - 16 มิถุนายน 2560 แบ่งเป็นพยานโจทก์ 2 นัด พยานจำเลย 2 นัด

    (อ้างอิง 'ศาลนัดสืบพยานคดีฉีกบัตรประชามติมิถุนายนนี้ ‘โตโต้’ ให้การภาคเสธข้อหาฉีกบัตร' เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=3636)
  • พยานโจทก์ปากที่ 1 น.ส.จารุวัน ประธานกรรมการประจำหน่วยออกเสียงหน่วยที่3 เขตบางนาง เข้าเบิกความ โดยเบิกความว่า วันที่ 7 ส.ค. 59 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง พยานมีหน้าที่นั่งอยู่ตรงหีบใส่บัตรออกเสียง ซึ่งมีหีบเดียวในที่ออกเสียงหน่วยที่3 พยานไปถึงหน่วยออกเสียงเวลาประมาณ 6.00น. หน่วยออกเสียงเป็นทางเดินรถหรือลานจอดรถ มีการนำเต๊นท์มาตั้งเพื่อจัดเป็นหน่วยออกเสียง โดยใช้เส้นกั้นเขตผูกไว้กับเสาเต๊น แต่ละหน่วยมีบอร์ดกั้นแยกออกจากกัน

    พยานเบิกความว่า หากไม่ใช่ผู้ลงคะแนนประชามติไม่สามารถเดินเข้าไปในหน่วยออกเสียงได้ เพราะบุคคลที่มีสิทธิ ต้องตรวจรายชื่อก่อนเข้าไปในเขตออกเสียงได้ หากมีญาติหรือผู้ติดตามมาด้วย ก็จะให้รออยู่ด้านนอกเขตออกเสียง โดยตั้งแต่เปิดหน่วยออกเสียงที่3 ไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้น จนถึงเวลาประมาณ12.00น. พยานเห็นชายคนหนึ่งเดินเข้ามาภายในหน่วยไปทำการตรวจบัญชีรายชื่อ เนื่องจากพยานไปยืนอยู่ข้างหีบจึงเห็น โดยมีชาย2คนเดินตามเข้ามาและชายคนหนึ่งใช้มือถือจะถ่ายรูป พยานจำไม่ได้ว่าคนใด ซึ่งผ่านเข้ามาในเขตออกเสียงประชามติหน่วย3 พยานจึงบอกว่าถ่ายรูปในหน่วยออกเสียงไม่ได้ ชายคนดังกล่าวตอบว่า จะมาถ่ายรูปเพื่อน พยานเห็นว่าขณะนั้นจำเลยที่1 กำลังทำการตรวจบัตรประชาชนเพื่อรับบัตรออกเสียง พยานจึงได้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ดูแลหน่วยออกเสียง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการกันชาย2คนออกไปจนเลยบริเวณบอร์ดแต่ห่างไม่มาก เมื่อกันชาย 2 คน ออกไปแล้ว พยานยืนอยู่ห่างจากหีบใส่บัตรลงคะแนนประมาณ1เมตร พยานจึงเดินไปที่บอร์ดและหันกลับไปดูที่หีบ พยานเห็นจำเลยที่1 เดินออกมาจากคูหา แต่ไม่หย่อนบัตรลงในหีบ จำเลยที่1 อยู่เลยหีบประมาณ 1 เมตร จำเลยที่1ได้ชูบัตรออกเสียงขึ้นประมาณหัว แล้วพูดว่า ”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วฉีกบัตรออกเสียง

    พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปจับตัวจำเลยที่ 1 แล้วพาออกไปจากหน่วยออกเสียง พยานไม่เห็นชาย 2 คน ที่ถูกกันออกไปตอนแรกว่ายืนอยู่ที่ใด หลังจากนั้น พยานได้เดินทางไปที่ สน.บางนา เพื่อให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พยานจำไม่ได้ว่าได้ให้การว่าอย่างไรบ้าง (อัยการให้พยานอ่านคำให้การในชั้นสอบสวน แม้ทนายจำเลยคัดค้าน)

    พยานให้การว่ามีบางส่วนในคำให้การ ตำรวจเป็นผู้บอกพยาน และในคำให้การเพิ่มเติมของพยาน พยานระบุว่าบางส่วนตำรวจเป็นผู้พิมพ์ไว้แล้ว พยานไม่ได้ให้การ นอกจากนี้ พยานไม่เคยเห็นเฟสบุ๊กหรือวิดีโอภาพเหตุการณ์ ทราบเพียงจากคำบอกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ทนายความขอให้ศาลบันทึกว่า พยานเบิกความหลายครั้งว่า คำให้การบางส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บอกพยาน) อัยการให้พยานอ่านทบทวนคำให้การชั้นสอบสวน แล้วถามว่าถูกต้องหรือไม่ พยานระบุว่าไม่มั่นใจ อัยการจึงให้พยานดูลายมือชื่อที่พยานลงไว้และระบุว่าหากไม่จริงพยานมีความผิดฐานให้การเท็จได้ พยานจึงยืนยันตามเอกสาร

    พยานเบิกความว่าในคำให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 7 ก.ย.59 ตำรวจเป็นผู้ถือแผนผังระหว่างเกิดเหตุมาให้พยานดูและให้พยานให้การเรื่องแผนผังในหน่วยออกเสียง แต่แผนผังที่ตำรวจนำมามีเพียง 2 แบบ พยานจึงระบุว่าแผนผังแบบที่ 2 เป็นแบบที่ใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุที่สุด แต่ก็ยังไม่ถูกต้องนัก โดยพยานได้แจ้งตำรวจว่า คำให้การบางส่วนไม่ถูกต้อง แต่ก็ยอมลงลอยมือชื่อในคำให้การดังกล่าว

    พยานเบิกความอีกว่า ไม่เห็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดเหตุ แต่ในคำให้การที่มีพยานลงลายมือชื่อไว้ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ อัยการถามพยานว่า ทำไมพยานจึงลงลายมือชื่อ พยานเบิกความว่า ตำรวจบอกให้พยานเซ็นเอกสาร พยานจึงเซ็น แต่ไม่ทราบรายละเอียดภายในเอกสาร

    พยานตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หน่วยออกเสียงที่ 3 เป็นหน่วยออกเสียงเฉพาะผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขต ซึ่งจะต้องทำการลงทะเบียนไว้จึงมาใช้สิทธิได้ จำเลยที่3 ก็เป็นบุคคลที่ได้ลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตที่เขตบางนา แต่ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยที่ 3 หรือไม่

    ทนายให้พยานดูวิดีโอในวันเกิดเหตุ พยานยอมรับว่า คนถ่ายวิดีโอนี้และชายที่ปรากฎในมุมซ้ายของวิดีโอ อยู่นอกเขตออกเสียง แต่ไม่แน่ใจว่า จะเป็นจำเลยที่ 3 หรือไม่ ทั้งยังรับว่า ขณะเกิดเหตุ การออกเสียงยังคงดำเนินไปตามปกติ และก่อนหน้าจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร พยานเห็นจำเลยที่ 2-3 อยู่หลังบอร์ดรายชื่อด้านนอกหน่วยออกเสียง โดยจากการประชุมพยานทราบเพียงในหน่วยไม่สามารถถ่ายรูปได้ แต่พยานไม่ทราบว่า ถ่ายรูปจากภายนอกได้หรือไม่ ในฐานะประธานกรรมการการออกเสียง หากมีผู้ถ่ายภาพจากนอกหน่วย พยานก็จะไม่ห้าม

    พยานยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า พยานได้ให้การกับตำรวจ โดยไม่มีข้อความระบุถึงจำเลยที่ 2-3 ส่วนข้อความที่ระบุว่าต่อมามีการเผยแพร่คลิปจากโซเชี่ยลมีเดีย พยานไม่ได้เห็นเอง แต่ทราบจากตำรวจและพยานคนอื่น พยานไม่ได้แจ้งให้ตำรวจจับขณะที่จำเลย 2-3 ทำการถ่ายวิดีโอ เนื่องจากไม่เห็น

    พยานโจทก์ปากที่2 นางอมรินทร์ นนทโคตร อายุ 37 ปี อาชีพ รับราชการครู ขณะเกิดเหตุเป็นผู้อำนวยการประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด หน่วยที่ 3 เข้าเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ12.00 น. พยานอยู่ในหน่วยออกเสียงที่ 3 เดินดูรอบๆหน่วย โดยมีบอร์ดรายชื่อผู้มาใช้สิทธิอยู่ด้านหน้าทางเข้าหน่วยออกเสียงมีคณะกรรมการนั่งอยู่ทางขวามือ โดยคูหาหันหน้าออกและหีบออกเสียงอยู่ด้านหน้าคูหา ขั้นตอนคือผู้มีสิทธิ จะเดินเข้ามาในหน่วยออกเสียง ลงทะเบียน ตรวจบัตรประชาชน พิมพ์นิ้วมือ รับบัตร เดินเข้าคูหา ลงคะแนนแล้วนำมาหย่อนลงหีบ ในหน่วยออกเสียงจะมีเส้นพลาสติกสีเหลืองกั้นเป็นแนว ด้านข้างและด้านหลัง

    ขณะเกิดเหตุพยานอยู่ใกล้ๆ นส.นุชนภาที่ส่งบัตรให้ผู้มีสิทธิออกเสียง (ตอนแรกเบิกความว่าพิมพ์นิ้วมือและฉีกบัตรต่อมาแก้ไข) พยานเห็นชาย 2 คนเดินเข้ามาภายในหน่วยออกเสียงแล้วยกมือถือขึ้นมา เหมือนจะถ่ายรูปหรือวิดีโอ แต่ไม่ทราบว่าถ่ายหรือไม่ พยานจึงเดินไปห้าม ชายทั้ง 2 ขอถ่ายรูปเพื่อนขณะใช้สิทธิ นส.จารุวรรณ จึงเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พาชาย 2 คน ออกไปจากหน่วย ตำรวจดันชาย 2 คน ไปอยู่ข้างบอร์ด พยานจึงได้หันหน้าเข้าหาหน่วยออกเสียง ระหว่างนั้นพยานไม่ทราบว่าจะมีการถ่ายภาพหรือวิดีโอหรือไม่

    พยานเห็นชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในคูหา แต่ไม่ได้กาบัตรออกเสียงเพียงแต่เดินอ้อมมาด้านหน้าหีบ (พยานชี้จำเลย1ในห้องพิจารณา) ชูบัตรออกเสียงขึ้น แล้วพูดว่า ”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วฉีกบัตรออกเสียงขยำทิ้งลงพื้น พยานจำไม่ได้ชัดว่า จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรก่อนหรือตะโกนก่อน จากนั้นตำรวจในเครื่องแบบจึงได้เข้าไปจับตัวจำเลยที่ 1 และเก็บบัตรออกเสียงที่ถูกฉีก แล้วนำเก้าอี้มาให้จำเลยที่ 1 นั่งใกล้ๆจุดที่ฉีกบัตรภายในหน่วยออกเสียง ช่วงที่มีการฉีกบัตรจำเลย 2-3 ยังอยู่ที่บอร์ดโดยใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพหรือวิดีโอ โดยที่ตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสอง จากนั้น เจ้าหน้าที่จากเขตจึงได้บอก นส.จารุวรรณ ประธานคณะกรรมการการออกเสียง ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานไม่ได้สังเกตจำเลยที่ 2-3 อีกต่อไป โดยประชาชนยังคงใช้สิทธิได้ตามปกติ ต่อมาพยานเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายคนมารับตัวจำเลยที่ 1ไป ส่วนจำเลย 2-3นั้น ไม่พยานไม่ทราบ เหตุการณ์ทั้งหมด เกิดขึ้นโดยใช้เวลาไม่นาน

    พยานเบิกความตอบอัยการด้วยว่า ผู้ที่จะสามารถเข้ามาในคูหาได้มีเพียงคณะกรรมการการออกเสียงและผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้น หากมีผู้ติดตามหรือญาติมาด้วยให้รออยู่บริเวณด้านนอก และห้ามไม่ให้ถ่ายภาพหรือบันทึกภาพ พยานให้ความเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลย มีลักษณะผิดระเบียบ กกต.และก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงประชามติ

    อัยการให้พยานดูแผนผังที่เกิดเหตุและจุดที่จำเลยอยู่ พยานยืนยันว่า ใช่ พยานเบิกความอีกว่า หลังจากที่ปิดหีบและนับคะแนน คณะกรรมการทุกคนได้ไปให้ปากคำกับตำรวจที่ สน.บางนา นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้นัดให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จำลองลำดับเหตุการณ์และทำการถ่ายภาพ หลังจากวันเกิดเหตุหลายวัน

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานได้ให้ปากคำไว้กับพนักงานสอบสวนตรงกับที่เบิกความต่อศาล พยานตอบด้วยว่า มีกฎหมายและระเบียบตามที่ประชุมคณะกรรมการการออกเสียง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประชามติ ที่ห้ามถ่ายภาพ แต่เมื่อพยานอ่าน พ.ร.บ.ประชามติ ที่ทนายนำมาให้ดู แล้วรับว่าไม่มีการห้ามถ่ายรูปในหน่วยออกเสียง และไม่มีข้อห้ามให้ผู้ไม่มีสิทธิออกเสียง เข้าไปในหน่วยออกเสียง

    พยานดูวิดีโอวันเกิดเหตุที่ทนายจำเลยให้ดูแล้วรับว่าเป็นเหตุการณ์วันเกิดเหตุจริง โดยในวีดิโอพยานยืนหน้าบอร์ดรายชื่อและมองไปยังจำเลยที่ 1 ขณะที่ผู้มีสิทธิออกเสียงคนอื่นๆ ยังทำการออกเสียงตามปกติ ส่วนจำเลยที่ 3 ยืนอยู่หลังบอร์ดรายชื่อ จากนั้นจำเลยที่ 2-3 ได้ถ่ายวีดิโอ โดยไม่มีการตะโกนโวยวายหรือพูดจาใดๆ เป็นการถ่ายรูปนอกเขตออกเสียง ไม่ถือว่าผิด นอกจากนี้ เมื่อทนายนำภาพเหตุการณ์จำลองที่เป็นหลักฐานในคดีให้พยานดู พยานยืนยันว่า ภาพดังกล่าวตรงตามความเป็นจริง โดยจำเลยที่ 2-3 ยืนถ่ายภาพนอกเขตออกเสียง

    พยานยังรับด้วยว่า ขณะที่เกิดเหตุฉีกบัตร พยานไม่เห็นจำเลยที่ 2-3 ที่พยานให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยที่ 2-3 ถ่ายวิดีโอ พยานเพียงแต่ได้รับฟังมาจากคณะกรรมการการออกเสียงของหน่วยอื่น แต่พยานก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยที่ 2-3 กระทำความผิดโดยถ่ายภาพหรือวิดีโอในหน่วย รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้แจ้งให้ นส.จารุวรรณ ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2-3 และในช่วงแรกที่จำเลยที่ 2-3 เข้าไปจะถ่ายภาพ พยานไปห้ามและตำรวจไปกันออก จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้ขัดขืนแต่จะมีการถ่ายภาพหรือวิดีโอในช่วงนั้นหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    หลังเกิดเหตุพยานไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน 1 ครั้ง ในวันเกิดเหตุ จากนั้นตำรวจนำเอกสารมาให้พยานเซ็นหลายครั้ง พยานไม่ได้ว่ากี่ครั้ง แต่พนักงานสอบสวนไม่เคยให้พยานดูภาพหรือวิดีโอ รวมทั้งไม่เคยให้พยานเซ็นรับรองภาพจากโซเชี่ยลมีเดีย

    ต่อมา เมื่ออัยการถามติง พยานเบิกความตอบว่า ที่พยานตอบทนายจำเลยว่า เหตุการณ์ฉีกบัตรเกิดขึ้นเร็วมาก และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายนั้น ที่จริงพยานเห็นว่า การเข้าไปในหน่วยออกเสียงก็ถือเป็นการรบกวนแล้ว ส่วนการห้ามถ่ายรูปนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนด เป็นเพียงแนวปฏิบัติเพื่อไม่ให้รบกวนการลงคะแนน นอกจากนี้ ขณะมีการฉีกบัตรพยานไม่ทราบ ว่าจำเลยที่ 2-3 ได้ล้ำเข้ามาในหน่วยออกเสียงหรือไม่ ซึ่งหากมีส่วนใดล้ำเข้ามาก็จะถือว่ากระทำความผิด

  • พยานโจทก์ปากที่ 3 นส.สุภัทตราพันธ์ สุวรรณศรี รับราชการครู วันเกิดเหตุเป็นคณะกรรมการการออกเสียงประชามติ ในหน่วยออกเสียงเขตบางนา หน่วยที่ 3 เบิกความตอบอัยการว่า ก่อนวันที่ 7 ส.ค.59 มีการประชุมคณะกรรมการหน่วยออกเสียงในเขตบางนา เพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมของหน่วยออกเสียง โดยในการประชุมระบุขั้นตอนการออกเสียงและวิธีการออกเสียง มีข้อห้ามไม่ให้ถ่ายภาพในหน่วยออกเสียง เพื่อความปลอดภัยและความเรียบร้อย แต่ไม่มีการติดประกาศข้อห้ามดังกล่าวในหน่วยออกเสียง

    พยานรับผิดชอบดูแลบอร์ดรายชื่อเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง มีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมาก ตามปกติ
    จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น. พยานเปลี่ยนตำแหน่งไปแทนนางสมรักษ์ ซึ่งไปเข้าห้องน้ำ จำเลยที่ 1 ได้เข้ามาตรวจรายชื่อแล้วพยานให้ลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ระหว่างนั้นพยานได้ยินเสียงพูดว่า ห้ามถ่ายภาพๆ จึงหันไปมอง เห็นชาย 2 คน กำลังยกกล้องขึ้นมา (พยานชี้ตัวจำเลย1-3) นางอมรินทร์และ นส.จารุวรรณ ได้ดันจำเลยที่ 2-3 ออกไปจนถึงขอบเต๊นท์ บริเวณบอร์ดรายชื่อ จากนั้นพยานไม่ได้ดูเหตุการณ์ต่อ เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง

    พยานเห็นเหตุการณ์อีกครั้ง เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรและตะโกนคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จากนั้นเกิดความชุลมุนขึ้นในหน่วยออกเสียง พยานเห็นจำเลยที่ 2-3 ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมา แต่ไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 2-3 อยู่นอกหรือในเขตออกเสียง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ออกไป ขณะนั้นพยานเห็นว่าประชาชนยังคงมาใช้สิทธิ และพยานยังคงทำหน้าที่ต่อ จนปิดหีบออกเสียง โดยมี นส.จารุวรรณ ไป สน.บางนา และกลับมาก่อนเวลาปิดหีบประมาณ 16.00 น. ส่วนพยานได้ดูวิดีโอเหตุการณ์ซึ่งมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จากกรรมการหน่วยอื่นที่ส่งให้ทางไลน์ ก่อนที่จะไปให้ปากคำกับตำรวจในตอนค่ำ พร้อมกับคณะกรรมการหน่วย 3

    วันต่อมา ตำรวจได้จำลองเหตุการณ์ขึ้นในที่เกิดเหตุและถ่ายภาพ พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกตั้งข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และทราบว่าจำเลยที่ 2-3 กระทำผิดเพราะมีการถ่ายภาพ เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวาย

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานเคยเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งมาก่อน 1 ครั้งในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขต (สข.)
    ในการอบรมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่มีข้อห้ามถ่ายภาพในหน่วยออกเสียง เมื่อทนายจำเลยนำภาพถ่ายดาราและคนมีชื่อเสียงในวันลงประชามติจากสื่อต่างๆ ให้พยานดู แล้วถามว่าทำได้หรือไม่ พยานตอบวว่า ไม่ทราบว่าเป็นการออกเสียงชนิดใด และที่ใด

    พยานรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วย3 แต่พยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิออกเสียงในหน่วยนี้หรือไม่ โดยบอร์ดติดรายชื่อที่พยานดูแลมีบัญชีรายชื่อติดอยู่ด้านใน พยานไม่เห็นจำเลยที่ 2-3 ไปยืนตรวจรายชื่อ และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2-3 ได้เข้าไปถามเจ้าหน้าที่หรือไม่ว่า ถ่ายรูปได้หรือไม่

    พยานดูวิดีโอเหตุการณ์ แล้วรับว่า ชายในภาพสุดท้ายคือจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่นอกหน่วยออกเสียง อย่างไรก็ตาม พยานเบิกความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งตกลงว่า ห้ามถ่ายภาพใดๆ เลย ทั้งในและนอกเขตออกเสียง

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร การออกเสียงยังดำเนินไปตามปกติ ไม่ได้เกิดความวุ่นวาย แต่มีเสียงดัง ซึ่งเป็นเสียงเจ้าหน้าที่ ที่มาควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ในการอบรมคณะกรรมการออกเสียง พยานไม่ทราบว่ามี กกต.มาร่วมหรือไม่ และไม่มีเอกสารประกอบการอบรม หลังเหตุการณ์พยานได้ไปให้การกับตำรวจ 1 ครั้ง หลังจากนั้น ตำรวจมาหาพยานอีกหลายครั้ง โดยมีการนำเอกสารที่ทำเสร็จแล้วมาให้พยานเซ็น

    พยานโจทก์ปากที่ 4 น.ส.สุกานดา ขนุนทอง อาชีพ รับราชการครู กรรมการการเลือกตั้งหน่วยที่ 3 ทำหน้าที่ในวันที่ 7 ส.ค. 59 เบิกความตอบอัยการว่า พยานรับหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือและฉีกบัตรออกเสียงออกจากกัน และส่งให้ นส.นุชนภา ก่อนการมาพิมพ์ลายนิ้วมือ ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องไปตรวจรายชื่อที่บอร์ด ตรวจบัตรประชาชน พิมพ์ลายนิ้วมือ รับบัตรออกเสียง จากนั้นไปออกเสียงและหย่อนบัตรออกเสียงลงหีบ วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. มีผู้มาลงประชามติคนหนึ่ง เดินมาตามขั้นตอน โดยขณะนั้นมีการสลับหน้าที่กันระหว่าง น.ส.สุภัตราพันธ์ กับนางสมรักษ์ ส่วนพยานอยู่ที่จุดเดิม ระหว่างนั้น พยานได้ยินเสียงบอกว่า “ไม่ให้ถ่าย” พยานจึงชำเลืองดู เห็นชาย 2 คน ถือกล้อง แล้วเห็นว่ามีการกันตัวจำเลยที่ 2-3 ออกไปจนถึงบริเวณบอร์ด พยานจึงทำหน้าที่ต่อไป จนได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 พูดขึ้นมาว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วฉีกบัตรออกเสียง ขณะนั้นพยานทำหน้าที่ไปด้วยและมองไปด้วยตามเสียง

    หลังจากจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร พยานมองไปที่บอร์ดรายชื่อ เห็นจำเลยที่ 2-3 ชูกล้องขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่ห้ามไว้ และเห็นจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวให้นั่งอยู่ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน

    พยานเบิกความตอบอัยการอีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงเป็นการทำผิดกฎหมายประชามติ ส่วนการถ่ายภาพหรือวิดีโอ เป็นการละเมิดกฎหมาย โดยก่อให้เกิดความวุ่นวาย เป็นอุปสรรคต่อประชาชนที่จะเข้ามาลงประชามติ

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลย หลังดูวิดีโอที่ดาราไปลงประชามติว่า การจัดหน่วยออกเสียงมีลักษณะเหมือนกัน การลงประชามติของดาราก็เป็นไปตามขั้นตอนเหมือนกัน โดยวีดิโอดังกล่าวเป็นการถ่ายจากหลายจุดในหน่วยออกเสียง อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันว่า ในการอบรมคณะกรรมการการเลือกตั้งเฉพาะเขตบางนาที่พยานเข้าร่วมระบุว่า ห้ามการถ่ายภาพใดๆ ในหน่วยเลือกตั้ง ในทุกเวลา แต่ถ้าอยู่นอกหน่วยออกเสียงสามารถถ่ายภาพหรือวิดีโอได้ โดยพยานไม่ทราบว่า เป็นข้อตกลงเฉพาะเขตบางนาหรือไม่ และไม่ทราบว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เคยพูดไว้ว่า สามารถถ่ายรูปในหน่วยได้ แต่ห้ามถ่ายรูปบัตรออกเสียง

    ทนายจำเลยเปิดวิดีโอเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้พยานดู พยานตอบคำถามว่า ขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร ผู้ที่มาใช้สิทธิยังออกเสียงได้ตามขั้นตอนเป็นปกติ โดยพยานก็ทำหน้าที่อยู่ตามเดิมไม่มีใครมามุงดู ขณะที่จำเลยที่ 2-3 ถูกกันออกไป ทั้งสองก็เดินออกไปโดยไม่ได้ขัดขืน

    พยานโจทก์ปากที่ 5 น.ส.นุชนภา บุญชัยภูมิ อาชีพ รับราชการครู เป็นคณะกรรมการการออกเสียงประชามติ ในหน่วยออกเสียงเขตบางนา หน่วยที่ 3 เบิกความว่า ในการประชุมคณะกรรมการหน่วยออกเสียงในเขตบางนา มีข้อตกลงร่วมห้ามไม่ให้ถ่ายภาพในหน่วยออกเสียง เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย พยานรับหน้าที่พับบัตรออกเสียงส่งให้ผู้มาใช้สิทธิ วันเกิดเหตุ เวลา 12.00 น. จำเลยที่ 1 มาตรวจชื่อ พิมพ์ลายนิ้วมือและรับบัตรออกเสียง พยานได้ยินเสียงมีคนพูดว่า “ไม่ให้ถ่าย” พยานจึงหันไปมอง เห็นชาย 2 คน เหมือนเข้ามาขอถ่ายภาพ และมีลักษณะจับโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายภาพ โดยพยานยังทำหน้าที่และมีผู้มาใช้สิทธิตามปกติ ช่วงที่จำเลยที่ 1 รับบัตรออกเสียง พยานเห็นจำเลยที่ 2-3 ถูกดันออกไป ต่อมาพยานเห็นจำเลยที่ 1 เดินไปในคูหา แล้วออกมาหยุดอยู่หน้าหีบแล้วพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วทำการฉีกบัตรออกเสียง โดยพยานอยู่ทางด้านหลังจำเลยที่ 1 เห็นว่ามีการชุลมุนเกิดขึ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพาจำเลยที่ 1 ไปนั่ง และเก็บบัตรที่ถูกฉีกไป ระหว่างนั้นตำรวจจากหน่วยออกเสียงที่ 4 ก็มาดันจำเลยที่ 2-3

    พยานเบิกความอีกว่า มีเพียงคณะกรรมการกับผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้นที่เข้าไปในหน่วยออกเสียงประชามติได้ ส่วนคนติดตามมีเก้าอี้สีแดงให้นั่งรอ พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2-3 จะเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วย 3 หรือไม่ หลังเกิดเหตุ พยานปฏิบัติหน้าที่ต่อจนปิดหีบ และนับคะแนน ระหว่างนั้นพยานได้เห็นวิดีโอเหตุการณ์จาก YouTube จากนั้น คณะกรรมการและพยานได้ถูกเชิญไปให้ปากคำในช่วงมืดแล้ว หลังจากเกิดเหตุ จำไม่ได้ว่ากี่วัน ตำรวจได้จัดทำภาพจำลองเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และพยานได้ลงลายมือชื่อไว้

    พยานโจทก์ปากที่ 5 ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานเป็นเจ้าหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งทำในนามของ กกต. โดยพยานเคยรู้จัก กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ตามวิดีโอที่จำเลยเปิดสมชัย พูดว่า หน่วยออกเสียงประชามติจะมีเส้นเหลืองกั้นอยู่ หากในเส้นคือในหน่วยออกเสียง นอกเส้นคือนอกหน่วยออกเสียง สามารถถ่ายรูปได้ และตามภาพจำลอง จำเลยที่ 2-3 ยืนถ่ายภาพนอกเส้นเหลือง

    ขณะที่จำเลยที่ 1อยู่ที่จุดตรวจบัตรประชาชน พยานได้ยินเสียงชายคนหนึ่งถามว่า “ถ่ายภาพเพื่อนได้ไหม?” จากนั้นพยานเห็นตำรวจดันจำเลยที่ 2-3 ออกไป พยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 2,3 มีการขัดขืนหรือไม่ และเมื่อจำเลยที่ 1 รับบัตรออกเสียง พยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 2-3 ยืนอยู่นอกเขตหรือไม่ พยานยอมรับว่า ตามเอกสาร กกต.ที่ทนายจำเลยให้พยานดู จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนอกเขต ที่เขตบางนา บัญชีรายชื่อที่ให้ผู้มีสิทธิตรวจดูรายชื่อติดอยู่ด้านในหน่วย ผู้ที่จะเข้ามาตรวจดูสามารถเข้ามาดูได้ทุกคน รวมทั้งจำเลยที่ 3 และตามวีดิโอเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาห้ามจำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพหรือวิดีโอ รวมทั้งการออกเสียงยังคงดำเนินไปต่อโดยปกติ

    พยานตอบอัยการถามติงว่า ตามวีดิโอที่นายสมชัยให้สัมภาษณ์ พยานไม่เคยดูวิดีโอนี้ และไม่ทราบว่านายสมชัยพูดตอนไหน ที่ใด ก่อนหรือหลังประชามติ อีกทั้งในการอบรมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่มีการอบรมแบบที่สมชัยพูด มีเพียงการห้ามถ่ายรูปในเขตออกเสียงประชามติ บริเวณบอร์ดรายชื่อเป็นต้นมา รวมทั้งเอกสาร กกต. ที่ทนายจำเลยให้ดูว่ามีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง พยานไม่ทราบว่า เป็นหน่วยออกเสียงที่พยานทำหน้าที่อยู่หรือไม่
    (อัยการไม่ได้นำส่งบันทึกการให้ปากคำของพยานโจทก์หลายปากเข้ามาในคดี โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ทางทนายความกล่าวว่าอาจจะมีการออกหมายเรียกเข้ามาในคดี )

    นายศรัณย์ ปรีชา ผู้ชำนาญการฝ่ายกฎหมายของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากที่ 6 โดยเบิกความว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ใช้บริการของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือดังกล่าวอยู่ พยานปากนี้ได้เบิกความถึงการตรวจสอบการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม พร้อมกับเอกสารการตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหนังสือเรียกพยานหลักฐานส่งไปยังบริษัท เพื่อยืนยันในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสามคนได้มีการรู้จัก และติดต่อกันมาโดยตลอด เป็นพฤติการณ์ที่ทำร่วมกัน

    ผู้ชำนาญการฝ่ายกฎหมายของเอไอเอสได้เบิกความว่า ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์ทั้งหมด 3 หมายเลขจากพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พยานจึงได้ทำการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ทั้งสาม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นหมายเลขที่จดทะเบียนการใช้งานในชื่อของนายปิยรัฐ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1, นายจิรวัฒน์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม ซึ่งเป็นจำเลยที่3 ตามลำดับ จากนั้นจึงได้รวบรวมการใช้งานโทรศัพท์ทั้ง 3 หมายเลข ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถึงวันที่ 18 ส.ค. 59 ตามหนังสือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมา จัดทำเป็นเอกสาร แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

    จากเอกสารที่พยานโจทก์ปากดังกล่าว ได้ส่งเข้ามาปรากฏว่าเป็นการตรวจสอบการใช้งานโทรเข้า-ออกระหว่างหมายเลขโทรศัพท์ทั้ง 3 จากหมายเลขใดไปสู่หมายเลขใด มีการใช้พูดคุยสายแต่ละครั้งเป็นเวลากี่วินาที และตัวเลขการยืนยันว่ามีการรับสายการติดต่อเป็นเวลาเท่าใด ซึ่งตรงกันระหว่างหมายเลข ทั้งยังมีข้อมูลการรับ-ส่งข้อความ SMS รายการธุรกรรมการเงินที่หมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทำไว้กับ mobile bank และรายการระบุพิกัดตำแหน่งของหมายเลขทั้ง 3 จากเสาสัญญาณของผู้ให้บริการ ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งใดอย่างละเอียด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ส.ค. ถึงวันที่ 18 ส.ค.59 โดยพยานยังได้เบิกความอธิบายความหมายของตัวเลขและข้อความที่ปรากฎในเอกสารดังกล่าวความยาวกว่า 10 หน้า เพื่อให้ศาลเข้าใจความหมาย

    จากนั้น ทนายจำเลยจึงได้ทำการถามค้านพยานปากนี้ว่าพยานทราบหรือไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนตัว และมีกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้ พยานระบุว่าทราบดี เพราะพยานก็จบกฎหมาย รวมทั้งทำงานในฝ่ายกฎหมาย ทนายความจำเลยจึงสอบถามอีกว่าการจะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจกระทำได้เป็นการเฉพาะ ไม่สามารถให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทุกรายใช่หรือไม่ พยานโจทก์ได้ตอบว่าเข้าใจ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหนังสือให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปให้มีอำนาจ จึงได้ปฏิบัติตาม ทนายความจึงถามเพิ่มเติมว่าการจะกระทำดังกล่าวจะต้องมีการขอออกหมายศาลด้วยใช่หรือไม่ พยานโจทก์ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนในคดีมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    ทั้งนี้ คดีนี้เดิมมีนัดหมายการสืบพยานแบ่งออกเป็นสืบพยานโจทก์ 2 นัด และสืบพยานจำเลย 2 นัด แต่เนื่องจากการสืบพยานโจทก์ใช้ระยะเวลานาน และพยานโจทก์มีจำนวนมาก จึงใช้เวลาในการสืบพยานโจทก์ไปทั้ง 4 วัน ศาลจึงให้เลื่อนนัดหมายสืบพยานจำเลยออกไปเป็นวันที่ 13 ก.ค.60 ต่อไป

    (อ้างอิง 'เปิดปากคำ “จนท.AIS” ในคดีฉีกบัตรประชามติ หลังนำข้อมูลผู้ใช้บริการมาเปิดเผยโดยไม่มีหมายศาล' เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=4417)
  • พยานโจทก์ปากที่ 7 ดาบตำรวจ สมพร พักษ์วงทอง รับราชการตำรวจ สน.บางนา ผู้บังคับหมู่ จราจร ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการออกเสียงให้มารักษาความสงบเรียบร้อยในวันออกเสียงประชามติ 7 ส.ค.59 เบิกความว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุไม่ได้ไปที่หน่วยออกเสียงประชามติเลย รวมทั้งไม่ได้เข้ารับการอบรมใดๆ และไม่รู้จักคณะกรรมการหน่วย 3 มาก่อน วันเกิดเหตุ พยานนั่งห่างหีบบัตรออกเสียงประมาณ 1 เมตร โดยช่วงเช้าไม่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น จนเวลาประมาณ 12.00น. มีชายคนหนึ่งมาใช้สิทธิ ทราบภายหลังคือจำเลยที่ 1 (พยานชี้ตัวจำเลย1 ในห้องพิจารณา) ขณะจำเลยที่ 1 ตรวจบัตรประชาชนที่โต๊ะคณะกรรมการ พยานเห็นจำเลยที่ 2-3 นั่งอยู่ด้านหน้าหน่วยบริเวณที่นั่ง (พยานชี้ตัวจำเลย2-3 ในห้องพิจารณา) ขณะนั้นพยานยืนอยู่ระหว่างหน่วยที่ 3 กับ4 ข้างบอร์ดกั้นเขตในหน่วย 3 ยืนอยู่กับด.ต. วิรัตน์ชัย อุ่นสมัย สน.บางนา ผู้ดูแลหน่วย 4

    พยานเบิกความต่อว่า ขณะยืนคุยกับ ด.ต.วิรัตน์ชัย พยานได้รับแจ้งว่ามีผู้ถ่ายรูปให้ไปกันออกมา พยานเห็นจำเลยที่ 2-3 เดินเข้ามาในหน่วย 3 ประมาณ 2-3 เมตร ลักษณะถือโทรศัพท์มือถืออยู่ พร้อมกับได้ยินจำเลย 3 พูดว่า “ขอถ่ายรูปเพื่อนออกเสียงหน่อยครับ” ด.ต.วิรัตน์ชัย จึงเดินเข้าไปห้ามจำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพ และกันออกไปจนถึงบอร์ด จากนั้น พยานหันกลับมาดูภายในหน่วยออกเสียง เห็นจำเลยที่ 1 เดินออกมาจากคูหา แล้วมาหยุดที่หีบบัตรออกเสียง แล้วชูบัตรออกเสียงขึ้นฉีกและตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พยานจึงเดินไปจับมือจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้พูดว่า มาตรา 59 มีโทษ 1 ปี ประมาณนี้ พยานจำไม่ได้ชัด พยานได้จับมือจำเลยที่ 1 ดึงมาอีกด้านหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 ได้กำบัตรออกเสียงทิ้งลงพื้น จากนั้น พยานได้ขอบัตรประชาชนของจำเลยที่ 1 และนำเก้าอี้มาให้นั่ง แล้วโทรศัพท์แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา และแจ้งผ่านวิทยุให้นำชุดเคลื่อนที่เร็วมารับจำเลยที่ 1

    จำเลยที่ 1 อยู่ในหน่วยออกเสียงประมาณ 5 นาที ระหว่างนั้นพยานพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์กับประธานคณะกรรมการเพื่อแจ้งผู้บังคับบัญชา จากนั้น พยานพาจำเลยที่ 1 ไปนอกหน่วยออกเสียงและทำการถ่ายรูป แจ้งข้อกล่าวหา และแจ้งสิทธิ พร้อมกับพูดคุยกับจำเลย3 ที่เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง เมื่อชุดเคลื่อนที่เร็วจึงมาถึงได้นำตัวจำเลยที่ 1 ไป พยานแจ้งชุดเคลื่อนที่เร็วว่า เห็นจำเลยที่ 2-3 พยายามจะถ่ายภาพหรือวิดีโอ น่าจะเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 ชุดเคลื่อนที่เร็วจึงนำตัวจำเลยที่ 2-3 ไปด้วย จากนั้น พยานกลับไปทำหน้าที่รักษาความเรียบร้อยต่อจนถึงปิดหีบ ระหว่างนั้นได้รับคำสั่งให้ไปให้ปากคำที่ สน.บางนา โดยมีตำรวจอีกคนมาเปลี่ยนกับพยาน พยานจึงได้ไปให้ปากคำและลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกคำให้การ วันต่อมา พยานได้เข้าร่วมทำแผนจำลองเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และลงชื่อรับรองภาพเหตุการณ์จำลองไว้ด้วย

    พยานเบิกความตอบอัยการอีกว่า เห็นวิดีโอที่เกิดเหตุการณ์ในตอนเย็นวันเกิดเหตุ โดยเพื่อนตำรวจส่งมาให้ดู ส่วนบัตรลงคะแนนที่จำเลยที่ 1 ฉีกและทิ้งลงพื้น พยานเห็นดาบตำรวจวิรัตน์ชัยเก็บไป โดยนำไปใส่ถุงพลาสติก พร้อมบัตรประชาชนและส่งให้ชุดเคลื่อนที่เร็ว ขณะพยานไปที่ สน.บางนา พยานพบจำเลยที่ 2-3 ที่ห้องสืบสวนของ สน.บางนา พยานได้ร่วมเซ็นชื่อในบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่ง ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์ไว้แล้ว แต่จำไม่ได้ว่า มีผู้อื่นเซ็นก่อนหน้าพยานหรือไม่ แต่ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เพราะไม่ยอมลงชื่อ จากนั้นมีมีผู้นำบันทึกจับกุมจำเลยที่ 2-3 มาให้ และให้พยานอ่านให้จำเลยที่ 2-3 ฟัง เมื่ออ่านเสร็จ พยานได้ลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจำเลยที่ 2-3 ปฏิเสธและไม่ยอมลงลายมือชื่อ ตำรวจจึงทำการบันทึกไว้ หลังจากทำบันทึกการจับกุม พยานได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน

    ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนหน้าการออกเสียงประชามติ พยานเคยทำหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งมาก่อน โดยปกติบอร์ดรายชื่อจะหันรายชื่อออกข้างนอกเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปดูได้ ทางเดินในหน่วย 3 กว้างประมาณ 1.5 เมตร ถือว่าแคบแต่ประชาชนทั่วไปเดินเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ พยานดูวิดีโอเหตุการณ์ซึ่งทนายจำเลยเปิดแล้วตอบคำถามว่า ขณะเกิดเหตุประชาชนยังใช้สิทธิออกเสียงได้ตามปกติ พยานไม่ทราบและจำไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้พูดอย่างอื่นนอกจากที่ปรากฏในวิดีโอหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนขณะพยานเข้าจับมือ และขณะดันจำเลยที่ 2-3 ออกจากหน่วยไม่มีเหตุวุ่นวาย พยานจำไม่ได้ว่า มีการพูดว่า “จุดไหนถ่ายภาพได้บ้าง” หรือไม่ จากนั้น จำเลยที่ 3 อยู่ด้านหลังบอร์ด ซึ่งอยู่นอกหน่วยออกเสียง พยานไม่ได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 2-3

    พยานเคยเห็นการถ่ายรูปในการเลือกตั้งบ้าง แต่มีน้อย จากการอบรมได้รับแจ้งว่าห้ามถ่ายภาพหรือวิดีโอในหน่วยออกเสียง แต่นอกหน่วยถ่ายได้ ซึ่งพยานไม่ทราบว่า เป็นไปตามระเบียบ กกต.หรือไม่ และไม่เคยทราบว่า ระเบียบ กกต.ซึ่งพิมพ์แจกจ่าย 6 สัปดาห์ก่อนประชามติ ไม่มีการห้ามถ่ายรูป

    พยานรับว่า พนักงานสอบสวนได้พิมพ์บันทึกจับกุมจำเลยที่ 2-3 ไว้แล้ว พยานได้อ่านและตรวจสอบพบข้อความว่า “พยานเข้าจับกุมจำเลย2-3และแจ้งข้อกล่าวหา” ซึ่งไม่ตรงกับความจริง แต่พยานได้ลงลายมือชื่อ ส่วนเอกสารจำลองเหตุการณ์พยานไม่ได้อ่าน และไม่ได้เซ็นรับรองเอกสาร นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ตามเอกสาร กกต. หากเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในหน่วยออกเสียง ให้ทำการปิดหน่วย (ทนายจำเลยยืนยันให้ศาลบันทึกเรื่อง การงดการออกเสียง เพื่อยืนยันว่าไม่ได้เกิดความวุ่นวาย)

    พยานตอบคำถามติงของอัยการว่า ที่พยานตอบทนายจำเลยเรื่องการอบรมกฎหมายต่างๆ พยานไม่ทราบว่า มีคณะกรรมการประจำหน่วยคนอื่นๆ เข้าร่วมด้วยหรือไม่ และพยานได้รับการอบรมเรื่องการดูแลความปลอดภัยเท่านั้น มีวิทยากรประมาณ 4-5คน ไม่ทราบใครบ้าง พยานไม่ได้รับการอบรมเรื่องอื่นๆ และไม่สามารถสลับเปลี่ยนหน้าที่กับคณะกรรมการได้

    พยานโจทก์ปากที่ 8 ด.ต.วิรัตน์ชัย ... รับราชการตำรวจ สน.บางนา เป็นผู้บังคับหมู่จราจร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยในหน่วยออกเสียงที่ 4 ในวันที่ 7 ส.ค. 59 เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ช่วงเช้าเหตุการณ์เป็นไปตามปกติ จนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. ขณะพยานยืนคุยกับ ด.ต.สมพร ผอ.คณะกรรมการการออกเสียงเดินมาบอกว่ามีการถ่ายรูป ซึ่งมีข้อห้ามถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียง พยานเห็นชาย 2 คน ยกโทรศัพท์มือถือลักษณะคล้ายถ่ายภาพหรือวิดีโอ ตรงทางเดินเข้าหน่วย หลังบอร์ดมาแล้ว จึงเดินไปบอกว่า “น้องครับ ห้ามถ่ายภาพ” โดยพยานยกมือขึ้นบังไม่ให้ทำการถ่ายภาพ ชายคนหนึ่งตอบว่า “ถ่ายข้างนอกได้ไหม?” พยานตอบว่า ออกไปข้างนอกก่อน ขณะนั้นชายทั้ง2 ยังยกโทรศัพท์มือถือลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโออยู่ พยานจึงหันหลังกลับมาดูโทรศัพท์มือถือตนเองเพื่อดูข้อกฎหมายที่ห้ามถ่ายรูป จากนั้น พยานได้ยินเสียง “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พยานจึงหันไปมอง เห็นจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง และ ด.ต.สมพร เข้าไปคว้ามือขวาของจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 ทิ้งบัตรออกเสียงลงกับพื้น พยานจึงเดินไปหยิบบัตรออกเสียงที่ถูกขยำมาถือไว้ ขณะนั้น พยานเห็น ด.ต.สมพร เรียกวิทยุและโทรศัพท์ จากนั้นเอาโต๊ะมาให้จำเลยที่ 1 นั่ง ต่อมาผู้อำนวยการเขตออกเสียงได้เดินมาถ่ายรูป พยานจำไม่ได้แน่ว่าได้มอบบัตรที่เก็บไว้ให้ผู้อำนวยการ หรือ ด.ต.สมพร

    พยานเบิกความต่อว่า ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสามเป็นใคร ทราบภายหลังเพียงว่าเป็นเพื่อนกัน จุดที่จำเลยที่ 2-3 ถูกดันออกไป ตามที่พยานอบรมมายังเป็นพื้นที่ในหน่วยออกเสียง ขณะเกิดเหตุ มีผู้ใช้สิทธิอยู่ประมาณ 2-3 คน

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่แน่ใจว่า หน่วยออกเสียง 3 หรือ 4 มีคำเตือนห้ามถ่ายภาพหรือห้ามเข้าหรือไม่ แต่จากระเบียบ กกต. ให้ปิดประกาศแจ้งถึงการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรออกเสียง และที่พยานตรวจสอบข้อกฎหมายจากโทรศัพท์มือถือ เพราะพยานไม่แน่ใจว่า การถ่ายภาพทำได้หรือไม่ ขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2-3 อยู่นอกหน่วยหรือไม่ และที่พยานเบิกความว่าจำเลยที่ 1-3 ไม่ได้มาด้วยกัน แต่กลับตอบอัยการว่าจำเลยที่ 1-3 มาด้วยกัน เนื่องจากพยานทราบภายหลังจากการสืบสวนว่าจำเลยที่ 1-3 มาด้วยกัน

    ต่อมา พยานตอบคำถามติงของอัยการว่า พยานไม่ได้อ่านระเบียบ กกต.ทั้งหมดที่ทนายจำเลยให้ดู และพยานไม่ได้เห็นการจับจำเลยที่ 2-3 หลังห้ามจำเลยที่ 2-3 ในหน่วยแล้วพยานก็กลับไปที่หน่วย 4

    พยานโจทก์ปากที่ 9 ส.ต.ต.มนตรี ศรีกรมราช ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานปราบปราม สน.บางนา เบิกความว่า วันที่ 7 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 18.00 น. พ.ต.อ. อุดม อุระงาน ผู้กำกับ สน.บางนา ได้สั่งการให้พยานตรวจสอบวิดีโอเหตุการณ์ฉีกบัตรที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตว่ามีจริงหรือไม่ พยานจึงใช้โทรศัพท์มือถือของผู้กำกับเข้าเฟสบุ๊กชื่อ ทรงธรรม ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และพบวิดีโอเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตร พยานจึงใช้โทรศัพท์ของ ผกก.เปิดวิดีโอดังกล่าวเพื่อใช้โทรศัพท์ของพยานบันทึกวิดีโอไว้ จากนั้น พยานค้นเฟสบุ๊กชื่อ จิรวัฒน์ เจอเฟสบุ๊กชื่อ ตั๊ม จิรวัฒน์ มีรูปคล้ายจำเลยที่ 2 พยานจึงเปิดดูข้อมูล ปรากฎวิดีโอเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตร พยานจึงใช้โทรศัพท์มือถือของผู้กำกับบันทึกวิดีโอจากโทรศัพท์ของพยาน จากนั้น พยานนำไฟล์วิดีโอจากโทรศัพท์มือถือบันทึกลงคอมพิวเตอร์ เพื่อบันทึกลง CD ส่งให้พนักงานสอบสวน เหตุที่พยานจัดทำวิดีโอ ก็เพื่อยืนยันว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร และจำเลยที่ 2-3 เป็นผู้ถ่ายวิดีโอแล้วนำไปเผยแพร่

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานทราบว่า เฟสบุ๊กสามารถใช้ชื่อใครก็ได้ แต่เฟซบุ๊คที่พยานเข้าไปดูมีรูปตรงกับจำเลย พยานทำหน้าที่ตรวจสอบค้นหาเฟสบุ๊กเพียงคนเดียว และพบเห็นวิดีโอเพียง 2 ชิ้นที่อ้างส่งต่อศาล พยานไม่ได้มีหน้าที่ตรวจโทรศัพท์มือถือของจำเลยด้วย วิดีโอที่พยานบันทึกเป็นเหตุการณ์ขณะที่มีการฉีกบัตร ไม่มีภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมากันหรือดันจำเลยที่ 2-3 ออกนอกหน่วย วิธีการบันทึกวิดีโอของพยาน ไม่ได้แสดง URL ที่มาของวีดิโอในวิดีโอของพยาน

    พยานตอบอัยการถามติงว่า พยานเข้าดูวีดิโอทางแอพในมือถือ ไม่ได้ผ่าน URL พยานไม่ทราบว่า การดูผ่านแอพจะสามารถดู URL ได้หรือไม่ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พยานโจทก์ปากที่ 10 ร.ต.อ.คำสอน ไมสุวรรณ รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.บางนา เบิกความว่า พยานได้รับแต่งตั้งเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ โดยการแจ้งเหตุผ่านศูนย์วิทยุของเขตบางนา วันที่ 7 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 12.00 น. ศูนย์วิทยุบางนาได้แจ้งมายังพยานว่า มีการฉีกบัตรออกเสียงที่หน่วย 3 เขตบางนา พยานจึงได้พาลูกน้องไปยังที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึง พยานเห็น ด.ต.สมพร ควบคุมจำเลยที่ 1 ในข้อหาฉีกบัตรประชามติ เจ้าหน้าที่ในหน่วยได้แจ้งพยานว่า จำเลยที่ 1 ฉีกบัตร และจำเลยที่ 2-3 ทำท่าเหมือนใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพหรือวิดีโอเข้าไปในหน่วยออกเสียง ซึ่งทำความวุ่นวายและเป็นอุปสรรคในการออกเสียง ให้พยานควบคุมตัวจำเลยที่ 2-3 ไปยัง สน.บางนา ด้วย พยานจึงเข้าไปแจ้งข้อหาและสิทธิแก่จำเลยที่ 2-3 โดยไม่ได้จับจำเลยที่ 1 ขณะพยานจะนำตัวจำเลยที่ 2-3 ไป สน.บางนา จำเลยที่ 2 บอกว่าเขาเอารถมา ขอเอารถไปด้วย พยานจึงนั่งในรถจำเลยที่ 2 และมีจำเลยที่ 3 พร้อมลูกน้องพยานนั่งไปด้วย ส่วนตำรวจคนอื่นที่เหลือไปกับรถอีกคัน โดยจำเลยที่ 1 แยกไปกับชุดสอบสวนอีกชุดหนึ่ง

    พยานเบิกความต่อว่า เมื่อไปถึง สน.บางนา พยานมอบตัวจำเลยที่ 2-3 ให้ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ พนักงานสอบสวน แต่ที่ไม่มีชื่อพยานในบันทึกจับกุมเนื่องจากพยานต้องไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ ต่อมา พยานได้ไปให้ปากคำและลงชื่อในบันทึกปากคำโดยมีข้อความว่า จำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพหรือวิดีโอ โดยไม่ยอมออกจากพื้นที่

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 12.00 น. พยานไม่ทราบว่า ด.ต.สมพร ควบคุมจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว (ศาลให้ทนายความเร่งรัดการถาม จำเลยที่ 3 จึงขออนุญาตให้ทนายจำเลยถามความให้ครบถ้วน เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับจำเลย ซึ่งอาจต้องรับโทษหากผลคดีออกมา) พยานเป็นผู้แจ้งสิทธิแก่จำเลยที่ 2,3 และควบคุมตัวไป สน.บางนา ไม่ใช่การขอติดรถจำเลยไป

    อัยการไม่ถามติง

    พยานโจทก์ปากที่ 11 ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ รองสารวัตรสืบสวน สน.บางนา เป็นชุดรักษาความสงบเพื่อสนับสนุนชุดเคลื่อนที่เร็ว หากมีการกระทำผิดในการลงประชามติ พื้นที่บางนา เบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. ได้รับการแจ้งเหตุการฉีกบัตรออกเสียง ผ่านศูนย์วิทยุ ในหน่วยออกเสียงที่ 3 สำนักงานเขตบางนา พยานกับ ด.ต.รุ่งเรือง ร.ต.อ.พิทักษ์ และ ร.ต.อ.เนวัน รัตนาชัย ชุดของพยาน ได้ไปถึงที่เกิดเหตุก่อนชุดเคลื่อนที่เร็ว เมื่อไปถึง พบ ด.ต.สมพร ซึ่งอยู่ประจำหน่วย แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง โดยมอบถุงพลาสติกบรรจุบัตรออกเสียงที่ถูกฉีกให้พยาน แล้วเล่าเหตุการณ์ด้วยว่า มีจำเลยที่ 2-3 บันทึกภาพขณะฉีกบัตร ซึ่งคณะกรรมการได้มีการห้าม พยานสอบถามเจ้าหน้าที่ในหน่วยออกเสียง เจ้าหน้าที่ยืนยันให้จับและดำเนินคดีจำเลยทั้งสาม

    พยานเห็นจำเลยที่ 1-3 ยืนรวมกันอยู่หน้าหน่วยออกเสียง พยานจึงเข้าไปสอบถามจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับ พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหา ทำลายบัตรออกเสียง ทำให้เสียของหรือทำลายทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ และแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2-3 ว่าร่วมกันก่อความวุ่นวายในบริเวณหน่วยออกเสียง เมื่อชุดเคลื่อนที่เร็ว ร.ต.ท. คำสอน มาถึง พยานได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้ง 3 และให้สามารถติดต่อญาติหรือทนายได้ (พยานนำรูปที่พยานพูดคุยกับจำเลยทั้ง 3 ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือให้อัยการดู แต่พยานจำไม่ได้ว่า พยานถ่ายเองหรือเซฟจาก Line)

    จากนั้น พยานควบคุมจำเลยที่ 1 ไป สน.บางนา ส่วนจำเลยที่ 2-3 ไปโดยรถส่วนตัวโดยมี ร.ต.ท.คำสอน นั่งไปด้วย เมื่อถึง สน.บางนา พยานได้จัดทำบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 จากการสอบถาม ด.ต.สมพร ที่ตามมาถึง พยานสอบถามตามข้อหา จำเลยที่ 1 รับว่าฉีกบัตรออกเสียงแต่ไม่ลงลายมือชื่อ พยานจึงให้ทนายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมไว้ โดย ด.ต.สมพร และ น.ส.จารุวรรณ ร่วมลงลายมือชื่อด้วย จากนั้น ชุดเคลื่อนที่เร็วนำตัวจำเลยที่ 2-3 ตามเข้ามา พยานรับฟังเหตุการณ์จาก ด.ต.สมพรมาตั้งแต่ต้น จึงได้จัดทำบันทึกจับกุมจำเลยที่ 2-3 ว่าร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ด.ต.สมพรและพยานได้อ่านบันทึกจับกุมให้จำเลยที่ 2-3 ฟัง โดยจำเลยที่ 2-3 ไม่ยอมลงชื่อ พยานไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสามมาด้วยกันหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบเฟสบุ๊กของจำเลยทั้งสามพบว่า มีการแชร์ข่าวการเมืองร่วมกัน จึงน่าเชื่อว่าน่าจะรู้จักกันมาก่อน

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 13.00 น. ก่อน ร.ต.อ.คำสอน ขณะมีการควบคุมตัวจำเลยทั้งสามแล้ว โดย ด.ต.สมพร เป็นผู้จับกุมจำเลยทั้งสาม และพยานกับ ร.ต.อ.คำสอน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 3 คน ตามบันทึกการจับกุม ประธานคณะกรรมการการออกเสียง แจ้งจับจำเลยทั้งสาม การที่จำเลยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมเป็นสิทธิของจำเลย ส่วนจำเลยจะเห็นด้วยหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พยานตอบอัยการถามติงว่า รูปในโทรศัพท์มือถือของพยานระบุเวลา 12.26 น. วันที่ 7 ส.ค. 59
  • พยานโจทก์ปากที่ 12 ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ ทารักษ์ พนักงานสอบสวน รองสารวัตร (สส.) สน.บางนา เบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้ง 3 โดยมีเบอร์โทรศัพท์และหมายเลข Emi จากการตรวจสอบจากบริษัท AIS พบว่า
    หมายเลข ที่ลงท้ายด้วย 4100 จดทะเบียนในชื่อจำเลยที่ 1, หมายเลข ที่ลงท้ายด้วย 2558 จดทะเบียนในชื่อจำเลยที่ 2, หมายเลข ที่ลงท้ายด้วย 2944 จดทะเบียนในชื่อจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุมีการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 จำนวน 4 ครั้ง โดยหมายเลขของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเคลื่อนที่เข้าหาที่เกิดเหตุหน่วยออกเสียงที่ 3 เขตบางนา จาก ต..... อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ส่วนของจำเลยที่ 2 มีการติดต่อจำเลยที่ 1 เช่นกัน โดยเคลื่อนจาก..... มุ่งมายังหน่วยออกเสียงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 3 เคลื่อนที่จาก.... เขตบางนา กรุงเทพฯ มายังหน่วยออกเสียงที่ 3 พยานสรุปว่า จำเลยทั้งสามมีความเชื่อมโยงกัน ก่อนเกิดเหตุอยู่คนละที่และมารวมกันที่หน่วยออกเสียงที่ 3 สถานที่เกิดเหตุ จึงเชื่อว่ามีการนัดหมายกัน

    เจ้าหน้าที่ได้นำข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถึงวันที่ 18 ส.ค. 59 ของจำเลยทั้ง 3 เข้าตรวจสอบโดยโปรแกรม I-tool พบว่าจำเลยทั้ง 3 ติดต่อกันตลอด โดยจำเลยที่ 1 ได้โทรติดต่อจำเลยที่ 3 ทั้งหมด 13 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้โทรติดต่อจำเลยที่ 1 ทั้งหมด 15 ครั้ง จำเลยที่ 1ได้โทรติดต่อจำเลยที่ 2 ทั้งหมด 14 ครั้ง และจำเลยที่ 2 ได้โทรติดต่อจำเลยที่ 1 ทั้งหมด 7 ครั้ง

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เคยสืบสวนโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มาก่อนหลายครั้ง พยานเคยเห็นจำเลยทั้งสามในวันเกิดเหตุที่ห้องสืบสวน สน.บางนา พยานได้เลขหมายรวมทั้งประวัติการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้ง3 จากการตรวจสอบจากเอกสารของ AIS โดยไม่ได้ตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ สาเหตุที่ตรวจการใช้งานหมายเลขเฉพาะของจำเลยที่ 1-3 เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งมา พยานยอมรับว่า ข้อมูลจาก AIS แสดงตำแหน่งของเสาโทรศัพท์ที่ใกล้ที่สุด ไม่ใช่ตำแหน่งมือถือโดยตรง และมีการใช้โทรศัพท์ใกล้เสาโทรศัพท์ของบริษัทอื่น ต้องมีการส่งต่อสัญญานมายังเสาของ AIS ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลจาก AIS ไม่สามารถระบุที่อยู่ที่แท้จริงของจำเลยทั้ง 3 แค่ระบุตำแหน่งที่ใกล้เคียงที่สุด และพยานตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุว่ามีการใช้ถึง 32 ครั้ง แต่ไม่ได้ตรวจสอบการใช้ของจำเลยที่ 2-3 ว่าใช้กี่ครั้ง รวมทั้งตรวจสอบการติดต่อกันของจำเลย1-3 ในช่วงวันที่ 1-18 ส.ค.59 แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า จำเลยทั้งสามมีการติดต่อกับบุคคลอื่นมากกว่าติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1-3 หรือไม่ โดยทั้งหมดพยานทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

    พยานตอบอัยการถามติงว่า ที่พยานไม่ได้ตรวจสอบมือถือจำเลยที่ 1-3 เพราะได้ตรวจสอบจากข้อมูลที่ได้รับแล้ว พยานไม่ทราบว่าเสาสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมพื้นที่กว้างเท่าใด แต่หากไกลกันจะทำให้การระบุตำแหน่งผู้ใช้โทรศัพท์คลาดเคลื่อนได้

    พยานโจทก์ปากที่ 13 พ.ต.ต.อภิโชค กนกดี สารวัตรสืบสวน สน.บางนา เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 1-3 เนื่องจากมีวิดีโอขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงเผยแพร่ไปในเฟสบุ๊กชื่อ ตั๊ม จิรวัฒน์ ซึ่งแท็คเชื่อมโยงไปยังเฟสบุ๊กชื่อ Piyarat และทรงธรรม เมื่อพยานตรวจสอบ พบเรื่องราวการเมืองและการแสดงออกความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ และในวันเกิดเหตุพบภาพจำเลยที่ 2-3 พร้อมข้อความว่า “มารอทำข่าวเพื่อนประชามติ” พยานตีความว่า จำเลยที่ 2,3 ไปรอทำข่าวเพื่อน ที่เขตบางนา อีกทั้งเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปประมาณ 5 เดือน พบว่าเฟสบุ๊กทั้งสามมีการแสดงออกทางการเมืองร่วมกันโดยตลอด ส่วนมากเป็นเฟสบุ๊กของ ตั๊ม และแท็คอีก 2 เฟสบุ๊ก

    พยานเบิกความต่อว่า การตรวจสอบของพยานเริ่มจากตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ที่ได้มาตอนจับกุม พบว่าเชื่อมต่อกับเฟสบุ๊กชื่อ ตั๊ม จิรวัฒน์ ส่วนเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 1, 3 เคยมีการแพร่ภาพสด (Live) ปรากฎภาพจำเลยที่ 1 และ 3 โดยพยานไม่เคยเห็นจำเลยทั้ง 3 มาก่อน เห็นครั้งแรกในวันเกิดเหตุที่ สน.บางนา และทั้งสามมีรูปปรากฏอยู่ในเฟสบุ๊กของตัวเอง หลังการตรวจสอบพยานได้ทำรายงานการสืบสวนและลงลายมือชื่อไว้ ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวน

    พยานเบิกความย้อนไปถึงการตรวจสอบการโพสต์เฟสบุ๊คในวันเกิดเหตุว่า เวลาประมาณ 12.00 น. เฟสบุ๊กตั๊ม จิรวัฒน์ ได้โพสวิดีโอเหตุการณ์ฉีกบัตรออกเสียงของจำเลยที่ 1 และมีการเผยแพร่ไปที่เว็บข่าวมติชน พยานเข้าใจว่ามติชนได้แชร์ไป รวมทั้งเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 3 ก็แชร์วิดีโอดังกล่าวด้วย แต่ภายหลังมีการลบออกไป นอกจากนี้ เฟสบุ๊กตั๊ม จิรวัฒน์ ก็มีการแชร์แถลงการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวกับการฉีกบัตร มีข้อความลักษณะเป็นความคิดเห็นทางการเมือง แต่หลังจากจำเลยทั้งสามถูกจับได้มีการลบภาพดังกล่าว อีกทั้งในวันเกิดเหตุ เฟสบุ๊กของจำเลยทั้งสามยังคงเคลื่อนไหวเป็นระยะ ส่วนมากเป็นเฟสบุ๊คของจำเลยที่ 2-3 โดยพยานได้รวบรวมภาพจากเฟสบุ๊กทั้ง 3 มาส่งเป็นเอกสาร พยานมีความเห็นว่า จำเลยทั้งสามเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและรู้จักกันมาก่อน

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนพยานจะได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา พยานไม่เคยติดตามเฟสบุ๊กของจำเลยทั้งสาม และไม่ได้เป็นเพื่อนกันทางเฟสบุ๊ก แต่หากเฟสบุ๊กเปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่ว ๆ ไปก็สามารถเข้าไปดูได้ พยานจำไม่ได้ว่าได้ตรวจสอบเพื่อนในเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 2 หรือไม่ แต่ได้ตรวจการแท็คแล้วไม่พบว่ามีการแท็ค รูปต่างๆ ที่พยานรวบรวมส่งเป็นหลักฐาน เป็นการเปิดดูหลังวันที่ 7 ส.ค. 59 โดยวันที่และเวลาที่ปรากฎในเอกสารเป็นวันที่และเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความ แต่พยานไม่ทราบว่าเฟสบุ๊ก ตั๊ม จิรวัฒน์ โพสต์แถลงการณ์เวลาใด ส่วนเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 2-3 ได้โพสต์ว่า ถูกจับ เมื่อเวลาประมาณ 19.45-21.07น. วันที่ 7 ส.ค.59

    พยานไม่ทราบว่า รูปที่พยานได้มาจากการตรวจสอบเฟสบุ๊กของจำเลยทั้งสามเป็นรูปเหตุการณ์ที่เกิดในวันเดียวหรือไม่ แต่พยานทราบว่า จำเลยทั้งสามมีการร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกันมากกว่า 1 ครั้ง และมีการแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาล พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าจำเลยทั้งสามเคยถูกลงโทษหรือถูกจับจากการทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ หรือไม่ รวมทั้งพยานไม่ทราบว่า จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนค้าขายสินค้าพลาสติกด้วยกัน และมีการขายสินค้าทางเฟสบุ๊ก ตลอดจนนัดพบลูกค้าในวันที่ 7 ส.ค. 59 เนื่องจากพยานตรวจสอบไม่พบ โดยพยานรับว่า หากจำเลยไม่ได้เปิดเฟสบุ๊กสาธารณะ พยานก็จะตรวจสอบไม่พบ และพยานไม่ทราบว่าเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 1 และ 2 มีเพื่อนกี่คน

    ต่อมา พยานตอบคำถามติงของอัยการว่า การที่จะทราบว่าเฟสบุ๊กใดเปิดเป็นสาธารณะต้องดูที่สัญลักษณ์ซึ่งจะเป็นรูปโลก พยานได้รับมอบหมายให้ทำเอกสารหลังวันเกิดเหตุ โดยพยานตรวจสอบและเก็บมาเรื่อย ๆ และที่พยานระบุว่า เฟสบุ๊คของจำเลยทั้งสามมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากบางภาพจำเลยมีการแท็คหรือแชร์ระหว่างกัน

    พยานโจทก์ปากที่ 14 พ.ต.ท.ศักดิ์ภัทร ศิริธานิน พนักงานสอบสวน สน.บางนา เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนเวรในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. พยานได้ยินเสียงวิทยุแจ้งว่ามีการฉีกบัตรออกเสียง แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป สักครู่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวจำเลยที่ 1 มาที่ สน.บางนา พร้อมบันทึกการจับกุม ตามบันทึกการจับกุมฝ่ายสืบสวนเป็นผู้จับกุม โดยจับกุมจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำลายบัตรออกเสียง ทำลายเอกสารของผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ จากนั้น พยานได้แจ้งสิทธิ สอบปากคำ และพิมพ์ลายนิ้วมือจำเลยไว้ แต่ไม่มีเอกสารการพิมพ์ลายนิ้วมือ พยานได้สอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ส่งตัวจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การ ต่อมา มีการจับจำเลยที่ 2-3 พยานจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมว่าร่วมกันก่อความวุ่นวายหรือเป็นอุปสรรคในที่ออกเสียงประชามติ ต่อมา เมื่อได้รับตัวจำเลยที่ 2-3 จากพนักงานสืบสวน พร้อมบันทึกจับกุมตาม พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าก่อความวุ่นหรือเป็นอุปสรรคในที่ออกเสียงประชามติ แจ้งสิทธิ และสอบปากคำ จำเลยที่ 2-3 ให้การปฏิเสธและได้ลงลายมือชื่อไว้

    พยานเบิกความต่อว่า ตามบันทึกจับกุมจำเลยที่ 2-3 มีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องเป็นของกลาง แต่ไม่มีส่งมาพร้อมตัวจำเลย พยานจึงสอบถามจำเลยที่ 3 และได้ยึดโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 มา จากนั้น จำเลยทั้งสามได้ประกันตัว ต่อมา วันที่ 9 ส.ค. 59 พยานได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 นำมือถือมาให้ และสอบปากคำเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 ไว้

    พยานทราบเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขต ที่เขตบางนา ได้เข้าไปใช้สิทธิที่สำนักงานเขตบางนา เมื่อรับบัตรแล้วไม่ลงคะแนนแต่มายืนหน้าหีบแล้วทำการฉีกบัตร โดยมีจำเลยที่ 2-3 ถ่ายวีดิโอไว้และเผยแพร่ทางโซเชี่ยล พยานรับตัวจำเลยที่ 1 ในช่วงงบ่าย จากนั้นใช้เวลาพอสมควร จึงรับตัวจำเลยที่ 2-3 ขณะนั้นคณะกรรมการออกเสียงหน่วย 3 ยังอยู่ที่หน่วย เมื่อปิดหีบจึงประสานให้มาให้ปากคำในช่วงเย็น และเนื่องจากเป็นคดีสำคัญ ทางตำรวจจึงตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวน

    พยานเบิกความต่อไปว่า เมื่อ น.ส.จารุวรรณ มาให้ปากคำได้นำประกาศ กกต. เรื่องการออกเสียงและคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการออกเสียงมาให้พยานด้วย โดยพยานได้สอบปากคำ น.ส.จารุวรรณ หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้สอบ น.ส.จารุวรรณเพิ่มเติม พยานได้จึงทำการสอบอีกหลายครั้ง คือ ในวันเกิดเหตุ วันที่15 ส.ค. และ 7 ก.ย.59 โดย น.ส.จารุวรรณได้นำแผนผังหน่วยออกเสียงมาให้พยานและได้อธิบายให้ฟัง แต่แผนผังไม่ตรงกับสถานที่เกิดเหตุ เนื่องจากมีการปรับตามสภาพความเป็นจริง พยานจึงให้ น.ส.จารุวรรณ ชี้จุดระบุตำแหน่งที่จำเลยทั้งสามยืนในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุพยานยังได้รับมอบบัตรออกเสียงที่ถูกฉีกจากผู้จับกุม จึงจัดทำบัญชีของกลางในคดีอาญาและบัญชีทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายไว้ และเมื่อจำเลยที่ 2 นำโทรศัพท์มามอบให้ พยานจึงจัดทำบัญชีของกลางเพิ่มเติม

    พยานยังได้สอบปากคำพยานอีกหลายคน ได้แก่ ผู้จับกุม, ประธานคณะกรรมการการออกเสียง, คณะกรรมการการออกเสียง, ร.ต.ท.คำสอน, ร.ต.ท.ณัฐวัฒน์ และ ด.ต.สมพร โดยสอบปากคำ ด.ต.สมพร ในช่วงค่ำของวันเกิดเหตุ ด.ต.สมพร ได้นำบันทึกจับกุมจำเลยมามอบให้ด้วย พยานได้รับมอบบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 ก่อน หลังจากนั้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงได้รับบันทึกจับกุมจำเลยที่ 2-3 โดยบันทึกการจับกุมและคำให้การของ ด.ต.สมพร ใกล้เคียงกัน

    หลังวันเกิดเหตุ พยานจึงได้ไปจำลองเหตุการณ์ ณ ที่เกิดเหตุ ตามที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง โดยมีตำรวจกับคณะกรรมการการออกเสียง มาร่วมจำลองเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มจนถึงการฉีกบัตร และพยานเป็นผู้ถ่ายภาพ จากนั้น พยานได้ให้ผู้กล่าวหาและพยานคนต่างๆ ลงลายมือชื่อรับรอง และพยานลงลายมือชื่อในฐานะพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ พยานยังได้จัดทำแผนที่สังเขปของสถานที่เกิดเหตุ จำนวน 2 แผ่น ต่อมา พยานได้รับ CD บันทึกภาพเหตุการณ์ จากคณะกรรมการสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย จึงปรินท์ภาพเหตุการณ์จาก CD ดังกล่าว

    พยานยังได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รวบรวมเอกสารหลักฐาน เนื่องจากเป็นการตั้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำความผิด จึงต้องรวบรวมเอกสารที่สื่อถึงว่ามีการร่วมกันก่อน ระหว่างและหลังเกิดเหตุ พยานจึงทำหนังสือเรียกเอกสารไปยังบริษัท AIS และ AIS ได้ส่งรายงานการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามมาให้ จากนั้น พยานได้เรียกนายศรัน ปรีชา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ AIS มาให้ปากคำเรื่องความเชื่อมโยงและรหัสการใช้งานตามเอกสารที่ส่งมา ส่วนฝ่ายสืบสวนได้สร้างแผนภาพความเชื่อมโยงขึ้นมาจากข้อมูลดังกล่าว

    พยานยังเป็นผู้จัดทำแผนที่การตรวจสถานที่เกิดเหตุ พยานตรวจสอบเพื่อให้เห็นชัดว่า พื้นที่ตรงนั้นมีหน่วยออกเสียงหลายหน่วยและมีกล้องวงจรปิด แต่กล้องวงจรปิดหันไปนอกเขตออกเสียงไม่เห็นภาพเหตุการณ์ และจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในเขตออกเสียงประชามติ ส่วนจำเลยที่ 1 สั่งฟ้องในข้อหาทำลายบัตรออกเสียง , ทำลายเอกสารของผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์อีกด้วย

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในคดีนี้มีพยานเป็นพนักงานสอบสวน แต่มีคณะทำงานภายใต้การควบคุมของพยาน พยานเป็นผู้สอบปากคำพยานโจทก์ที่มาเบิกความทุกปาก พยานรับตัวจำเลยที่ 1 เวลาใดไม่แน่ใจ แต่ไม่เกิน 14.00 น. ก่อนรับตัวจำเลยที่ 2-3 นานหลายชั่วโมง ซึ่งตามบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 2-3 ระบุเวลา 20.00 น. ที่จำเลยที่ 2-3 มาช้าน่าจะเป็นเพราะจำเลยแยกกลับบ้านแล้วกลับมาเยี่ยมจำเลยที่ 1 ที่ สน.บางนาจึงถูกจับกุม แต่ขณะรับตัวจำเลยพยานไม่ได้รับโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2-3 เมื่อได้รับมาภายหลัง พยานได้ส่งตรวจแต่พบว่ามือถือของจำเลยที่ 2-3 ไม่มีซิมการ์ด

    พยานตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ตามบันทึกคำให้การ น.ส.จารุวรรณ ไม่ได้ให้การว่าจำเลยที่ 2-3 ได้ร่วมก่อความวุ่นวาย แต่ต่อมาได้มาให้การเพิ่มเติมว่าเห็นจำเลยที่ 2-3 เข้ามาถ่ายภาพหรือวิดีโอในหน่วยออกเสียง ส่วนนางอมรินทร์ ได้ให้การว่าไม่ได้เห็นจำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพหรือไม่ พยานจำไม่ได้ พยานรับว่า ถ้าดูจากวิดีโอเหตุการณ์ ตำแหน่งที่จำเลยที่ 2-3 ยืนถ่ายวิดีโอในแผนผังนั้นไม่ถูกต้อง และขณะเกิดเหตุไม่ได้มีความวุ่นวาย และจากการสอบปากคำ ด.ต.สมพร พบว่าไม่มีการขัดขืนในขณะจับกุม

    ในการจำลองเหตุการณ์ พยานระบุว่า เป็นการทำตามการบอกของ ด.ต.สมพร โดย ด.ต.สมพรเป็นผู้ชี้ว่า เป็นการเชิญจำเลยทั้งสามออกนอกหน่วยออกเสียง ไม่ใช่การจับกุม ที่พิมพ์ข้อความในภาพจำลองเหตุการณ์ว่าเป็นการจับกุม เป็นความผิดพลาด ส่วนในการตรวจการใช้โทรศัพท์มือถือ พยานสั่งให้ตรวจเฉพาะจำเลยที่ 1-3 เท่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น และจากการตรวจสอบจำเลยทั้งสามใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเป็นปกติ พยานไม่ทราบว่า จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกัน เนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2-3 ถูกจับเวลาใดแต่พยานรับตัวจำเลยที่ 2-3 เวลาประมาณ 20.00 น. ตามวิดีโอเหตุการณ์ หากจำเลยที่ 2-3 อยู่หลังบอร์ด แปลว่าอยู่นอกหน่วยออกเสียง

    พยานตอบทนายจำเลยต่อไปว่า พยานไม่ได้สอบสวน กกต.ส่วนกลาง และไม่ได้ทำหนังสือสอบถาม กกต.ส่วนกลางว่า การถ่ายภาพหรือวิดีโอทำได้หรือไม่ พยานเองก็ไม่แน่ใจว่าการถ่ายภาพผิดหรือไม่ แต่ประธานคณะกรรมการการออกเสียงของหน่วยยืนยันว่าทำไม่ได้ และยืนยันให้ดำเนินคดี เมื่อทนายจำเลย ให้พยานดูรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะกำลังออกเสียงประชามติ ซึ่งถ่ายจากด้านนอกหน่วยออกเสียง แล้วถามว่าถ่ายจากข้างนอกไม่ผิดใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบคำถาม

    จากการสอบสวนประธานคณะกรรมการการออกเสียง พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยที่ 3 แต่ไม่ทราบว่า จำเลยที่ 2-3 มีสิทธิในหน่วยที่ 1-4 หรือไม่ และพยานไม่ได้สอบสวนเรื่องนี้เพิ่มเติม แต่หลังจากดูเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู พยานรับว่าเป็นเอกสารราชการ และมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตบางนา

    ต่อมา พยานตอบอัยการถามติงว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเมื่อรับบัตรแล้วต้องไปใช้สิทธิ โดยจะถ่ายรูปในหน่วยไม่ได้ แต่พยานไม่ขอตอบเกี่ยวกับรูป พล.อ.ประยุทธ์ไปใช้สิทธิ ในการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสามว่า สร้างความวุ่นวายนั้น พยานพิจารณาจากวิดีโอและหลักฐานอย่างอื่นประกอบกัน ที่พยานไม่ทำหนังสือสอบถาม กกต.ส่วนกลาง เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการออกเสียง ผ่านการอบรมมาแล้ว ต้องทราบระเบียบและกฎหมาย

    (อัยการขอส่งเอกสารเพิ่มเติม เนื่องจากลืมส่งในตอนแรก ทนายจำเลยคัดค้าน ศาลขอดูเอกสารเพื่อพิจารณา แล้วมีคำสั่งอนุญาต และโดยให้ทนายถามค้านเพิ่มเติม )

    พยานเบิกความตอบอัยการเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่รับตัวจำเลยที่ 1 น.ส.จารุวรรณได้เข้าแจ้งความ จากนั้น มีการจับจำเลยที่ 2-3 เวลาประมาณ 20.00 น. และมีการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยพยานได้ลงบันทึกประจำวัน ระบุวันเวลาที่จับจำเลยทั้งสามไว้
    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยอีกว่า บันทึกประจำวันด้านบนมีการขีดฆ่าข้อความว่า มีการจับจำเลยทั้งสาม เวลา 12.00 น. โดยพยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ขีดฆ่าข้อความดังกล่าว บันทึกประจำวันยังระบุด้วยว่า พยานรับแจ้งความจำเลยที่ 1 เวลา 17.30 น. และรับแจ้งความจำเลยที่ 2-3 เวลา 20.00 น.
  • นายปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

    นายปิยรัฐเบิกความตอบคำถามทนายว่าตนรู้จักกับจำเลยอีก 2 คนก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ โดยเช้าวันเกิดเหตุวันที่ 7 ส.ค.2559 นายปิยรัฐตั้งใจไปใช้สิทธิของตนที่หน่วยออกเสียงประชามติที่สำนักงานเขตบางนาเพราะตนมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธ์ แต่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมีพื้นที่ทำงานอยู่ในเขตบางนาจึงต้องใช้สิทธิออกเสียงนอกเขต นายปิยรัฐยังเบิกความอีกว่า วันนั้นตนได้นัดจำเลยที่ 2 และ 3 มาพบเพื่อคุยงานเพราะเห็นว่าหลังไปใช้สิทธิแล้วจะมีเวลาว่าง

    นายปิยรัฐเดินทางไปถึงที่สำนักงานเขตในเวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อไปถึงได้พบจำเลยที่ 2 อยู่ที่ลานจอดรถจึงเข้าไปพบปะพูดคุยก่อนที่ตนจะแยกไปที่เต๊นท์อำนวยการของหน่วยออกเสียงไปดูรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหน้าสำนักงานเขต หลังจากนายปิยรัฐตรวจสอบชื่อแล้วจึงเดินผ่านเต๊นท์หน่วยออกเสียงที่ 1 และ2 ไปที่หน่วยที่ 3

    เมื่อเดินไปถึงหน่วยที่ 3 แล้วเห็นจำเลยที่ 3 กำลังตรวจสอบรายชื่อของตนที่บอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหน้าหน่วย นายปิยรัฐก็ทักทายกันตามปกติ ก่อนไปรับบัตรออกเสียง เมื่อได้รับบัตรแล้วตนจึงเดินไปที่หีบใส่บัตรออกเสียงแล้วทำการฉีกบัตรพร้อมกับพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ในตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 และ 3 อยู่ตรงไหน แต่เห็นครั้งสุดท้ายอยู่ที่หลังบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง

    หลังจากฉีกแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยก็ทำการจับกุมและถามว่ารู้หรือไม่ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย นายปิยรัฐบอกว่ารู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ประชามติฯ เพราะอ่านมาเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้มาบ้างและนายสมชาย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กว่าการฉีกบัตรเป็นความผิด

    เมื่อตำรวจทำการจับกุมแล้วได้นำเก้าอี้มาให้นั่งรอในหน่วย แต่นายปิยรัฐบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอออกไปนั่งข้างนอกหน่วยเพราะกลัวว่าจะกีดขวางคนอื่น ตำรวจจึงพานายปิยรัฐออกไปข้างนอกหน่วยออกเสียง หลังจากฉีกบัตรแล้วประชาชนคนอื่นๆ ก็ยังคงไปใช้สิทธิได้ตามปกติ

    เมื่อนายปิยรัฐถูกนำตัวออกไปข้างนอกหน่วยก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมตัว โดยจำเลยที่ 2 และ 3 เข้ามาถ่ายภาพตอนที่ถูกจับกุม ขณะนั้นมีแค่นายปิยรัฐที่ถูกควบคุมตัวเพียงคนเดียว ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวเขาไป สน.บางนา โดยเขาเข้าใจว่าตำรวจให้จำเลยที่ 2 และ 3 ไปเป็นพยาน

    นายปิยรัฐถูกนำตัวขึ้นรถกระบะของตำรวจไปที่สน.บางนา เพื่อพบพนักงานสอบสวน เขาถูกพาไปยังห้องประชุมที่มีกล้องวิดีโอ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะให้การอย่างไรหรืออยากพูดอะไรก็พูดได้เลยจะถ่ายทอดสดให้ คสช. ดู

    ในตอนบ่ายพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ประชามติฯ พ.ศ.2559 เพียงข้อหาเดียว

    ต่อมา เวลาประมาณ 18.00 น.พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการและทำให้เสียทรัพย์เพิ่ม และเวลา 19.00 น.ยังแจ้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง ตามมาตรา 60 พ.ร.บ.ประชามติฯ เพิ่มร่วมกับจำเลยที่ 2 และ 3 อีก 1 ข้อหา

    นายปิยรัฐให้เหตุผลที่ตนฉีกบัตรว่าเพราะสถานการณ์ในช่วงก่อนวันออกเสียงประชามติมีการละเมิดสิทธิของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกว่าไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งประกาศใช้ ทั้งมีการจับกุมเข้าค่ายทหาร ดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว แต่บุคคลที่ออกมาสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้

    นายปิยรัฐยังเบิกความด้วยว่าตนทราบว่าการกระทำของเขาเป็นความผิดตามมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ และยังเป็นกฎหมายเฉพาะ อีกทั้งนายสมชาย ศรีสุทธิยากร ประธาน กกต. ยังกล่าวด้วยว่าเป็นความผิดตามมาตรา 59 เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายทั่วไปเนื่องจากไม่ได้มีเจตนา

    ช่วงอัยการถามค้าน นายปิยรัฐเบิกความตอบว่า ตอนที่เขากำลังเข้าไปในที่ออกเสียงเขาไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 และ 3 อยู่ตรงไหน แต่ได้ยินจำเลยที่ 2 บอกว่าขอถ่ายภาพเพื่อน แล้วได้ยินเสียงผู้ชายพูดว่าตรงนี้ถ่ายภาพไม่ได้ ส่วนตนเองก็เดินไปที่หน้าหีบใส่บัตรแล้วทำการฉีกบัตร ในตอนนี้เขาเห็นเพื่อนทั้ง 2 คน อยู่ที่หลังบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนตัวเขายืนอยู่หน้าหีบใส่บัตรและอยู่ข้างหน้าป้ายบอกหมายเลขของที่ออกเสียงซึ่งอยู่นอกแนวเส้นเหลืองของที่ออกเสียง หลังตำรวจจับกุมเขาแล้วเอาเก้าอี้ให้นั่งเขาก็นั่งอยู่นอกแนวเส้นเหลือง เหตุที่เขาออกไปยืนฉีกบัตรหน้าป้ายก็เพราะว่าหากยืนอยู่หลังป้ายก็เป็นทางแคบจะขวางทางคนอื่น ซึ่งนายสมชายเคยชี้แจงทางรายการโทรทัศน์ว่าจุดที่เป็นของที่ออกเสียงคือบริเวณในที่มีเส้นเหลืองกั้นเอาไว้เท่านั้น หน่วยที่ตนไปออกเสียงมีการกั้นเส้นเหลืองเป็นรูปตัว U

    นายปิยรัฐเบิกความตอบอัยการถึงเหตุการณ์ช่วงที่อยู่ สน.บางนาว่า ตนได้ให้การปฏิเสธโดยตลอดตั้งแต่ถูกแจ้งข้อหาแรก และในส่วนที่ตนถูกพาไปห้องประชุม เจ้าหน้าที่มีการตั้งกล้องวิดีโอเอาไว้ แต่เป็นการสื่อสารทางเดียวและเขาทราบจากเจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นทหารแต่อยู่ในชุดนอกเครื่องแบบว่ามีการถ่ายทอดสดถึง คสช.

    ส่วนนายจิรวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม จำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานให้ตัวเองคล้ายกันว่า พวกตนเดินทางไปที่สำนักงานเขตบางนาเนื่องจากมีการนัดพูดคุยธุรกิจกับนายปิยรัฐต่อในตอนบ่ายจึงนัดเจอกันที่หน่วยออกเสีย งนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมไปถึงที่สำนักงานเขตบางนาก่อนจำเลยที่ 1

    นายจิรวัฒน์เบิกความว่าเมื่อตนไปถึงสำนักงานเขตบางนาก็ได้เจอกับจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ก็แยกไปใช้สิทธิ ตนจึงเดินไปรอจำเลยที่ 1 บริเวณลานจอดรถ จนจำเลยที่ 1 เดินทางมาถึงสำนักงานเขตและทักทายกันแล้ว จำเลยที่ 1ก็แยกออกไปตรวจรายชื่อของตนที่เต๊นท์อำนวยการ จากนั้นนายจิรวัฒน์จึงเดินไปหานายทรงธรรมที่หน่วยออกเสียงที่ 3 ตรงบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิ เมื่อไปถึงนายจิรวัฒน์ได้ถามกับคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงว่าสามารถถ่ายภาพตรงไหนได้บ้าง แต่ถูกบอกให้ไปถามกับตำรวจ เขาได้ถามกับตำรวจ ตำรวจชี้บอกให้ไปที่ด้านนอกเต๊นท์ซึ่งก็เป็นจุดที่เขายืนถ่ายวิดีโออยู่ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังฉีกบัตร ซึ่งเป็นด้านหลังของบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็น่าจะกำลังเดินมาที่หน่วยออกเสียงที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เดินมาถึงแล้วก็ทำการฉีกบัตร จากนั้นตำรวจก็เอาเก้าอี้ให้จำเลยที่ 1 นั่ง สักครู่ตำรวจก็นำตัวจำเลยที่ 1 ออกไปด้านข้างอาคารสำนักงานเขต เขาจึงเดินตามไปถ่ายภาพ ก็มีตำรวจเข้ามาถามประวัติของจำเลยที่ 1 กับเขา เมื่อตำรวจรู้ว่านายจิรวัฒน์ถ่ายวิดีโอไว้จึงขอเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อขอไฟล์

    นายจิรวัฒน์เบิกความต่อว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ถูกตำรวจนำตัวไปแล้ว และเขากำลังกลับไปที่รถก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาแสดงตัวว่าเป็นตำรวจถามเขาว่ากำลังจะไปที่ไหน พอนายจิรวัฒน์ตอบว่ากำลังจะตามจำเลยที่ 1 ไป สน.บางนา ตำรวจทั้ง 2 นายก็ขอติดตามขึ้นรถมาด้วยโดยตำรวจให้เหตุผลว่ารถกระบะของตำรวจเต็มแล้ว เมื่อเดินทางไป สน.บางนาแล้ว ตำรวจทั้ง 2 นายก็หายไป นายจิรวัฒน์กับนายทรงธรรมก็ไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด พวกเขารอจำเลยที่ 1 อยู่จนกระทั่งถึงตอนเย็น จึงมีตำรวจเดินมาบอกว่า ข้างนอกมีสื่อกับคนมาเยอะแล้วจึงเชิญไปที่ห้องรับรอง ในตอนนั้นพวกเขายังเดินออกไปไหนมาไหน ไปเข้าห้องน้ำได้อยู่

    จนกระทั่ง 2 ทุ่ม ขณะที่นายจิรวัฒน์กำลังจะกลับไปที่รถของตนก็มีตำรวจ 2 นาย เดินเข้ามาแจ้งว่า ตนกับนายทรงธรรมถูกตั้งข้อหา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อหาอะไรและพาตัวพวกเขาไปที่ชั้น 2 ของสถานี

    นายจิรวัฒน์เบิกความว่าที่ตนถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเนื่องจากปกติเป็นคนชอบเล่นโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เวลามีกิจกรรมอะไรก็ถ่ายลงโซเชียลมีเดีย ในวันนั้นตนเพียงแค่รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะมาขีดฆ่าชื่อของตัวเองออก เพราะก่อนหน้านั้นในวันออกเสียงมีคนเคยทำมาแล้ว แต่ตนไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะฉีกบัตรออกเสียง

    หลังจากที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรแล้วก็ยังมีประชาชนมาใช้สิทธิตามปกติ

    นายจิรวัฒน์เบิกความตอบคำถามค้านของอัยการว่า ที่มีพยานโจทก์เบิกความว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยออกเสียงได้ผลักดันเขาออกไปนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะที่ตนกำลังยืนถ่ายอยู่ไม่ได้ถูกดันออก เขาได้ขออนุญาตก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ก็บอกให้ไปถามกับตำรวจแล้วตำรวจก็บอกว่าให้เขาไปถ่ายภาพข้างนอก แล้วเขาเองก็ไม่ได้เดินตามถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ด้วย

    นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ จำเลยที่ 3 เบิกความว่าตนได้ทำเรื่องขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตเอาไว้ที่สำนักงานเขตบางนา เมื่อตนเดินทางมาถึงสำนักงานเขตแล้วจึงไปที่หน่วยออกเสียงเพื่อหาชื่อของตน ตอนแรกหาชื่อตัวเองไม่เจอเพราะมีคนมาใช้สิทธิเยอะ จึงออกมาจากหน่วยออกเสียงไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับมาอีกครั้งตอนเวลาประมาณ 09.00 น. ได้พบกับนายจิรวัฒน์จำเลยที่ 2 เมื่อทักทายกันแล้วก็ได้แยกตัวไปตรวจสอบรายชื่อของตนอีกครั้ง

    จนเวลาประมาณเที่ยงนายทรงธรรมได้พบกับจำเลยที่ 1 ขณะอยู่ที่หน่วยออกเสียงที่ 3 นั่งอยู่ตรงม้านั่งกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 เดินมาถึงก็ทักทายกันตามปกติแล้วก็เอากระเป๋ามาฝากเอาไว้ก่อนเดินเข้าไปใช้สิทธิ นายทรงธรรมก็เลยจะถ่ายภาพเอาไว้ นายทรงธรรมจึงเดินจากด้านหลังบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิไปถามเจ้าหน้าที่ว่าถ่ายภาพได้หรือไม่ ในตอนที่ถ่ายจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเขาอยู่ที่ด้านหลังบอร์ดรายชื่อ แต่ตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1จะทำการฉีกบัตร

    นายทรงธรรมเบิกความอีกว่า ขณะเกิดเหตุการณ์สถานการณ์ก็ยังเป็นปกติยังมีประชาชนคนอื่นๆ มาใช้สิทธิ เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเสร็จแล้วก็ไม่ได้มีตำรวจเข้ามาควบคุมตัวนายทรงธรรม ตำรวจได้เอาเก้าอี้ให้จำเลยที่ 1 นั่ง จากนั้นสักครู่ก็พาจำเลยที่ 1 ไปด้านหลังอาคารสำนักงานเขต นายทรงธรรมจึงเดินตามไปถ่ายภาพเอาไว้ ตำรวจก็ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้เพียงแต่มีการถามข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และขอเบอร์โทรศัพท์ของนายทรงธรรมไป และตำรวจได้ส่งโทรศัพท์ของตัวเองให้กับนายทรงธรรมเพื่อคุยกับผู้บังคับบัญชาด้วย โดยเขาถูกถามข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1

    ในตอนที่จำเลยที่ 1 ถูกตำรวจนำตัวไปขึ้นรถ นายทรงธรรมได้ติดตามไปถ่ายภาพด้วย ในตอนนั้นเขาก็ยังไม่ได้ถูกควบคุมตัว และตำรวจก็ยังไม่ได้แจ้งข้อหาอะไรกับเขา

    นายทรงธรรมเบิกความต่อว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกนำตัวไปแล้ว เขาก็แยกไปห้องน้ำแล้วเดินกลับมาจึงเห็นว่ามีชาย 2 คน เดินตามจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังเดินไปที่รถ เขาจึงเดินตามไปห่างๆ เพราะกังวลว่าในช่วงหลังการรัฐประหารมีคนที่ถูกอุ้มไปโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อทั้ง 2 คนขึ้นไปบนรถของจำเลยที่ 2 แล้ว เขาจึงเปิดประตูขึ้นไปบนรถด้วยโดยไม่ได้บอกจำเลยที่ 2 ก่อน ต่อมาเขาทราบในภายหลังว่าชาย 2 คน เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาหรือแจ้งสิทธิใดๆ กับพวกเขาทั้ง 2 คน

    เมื่อนายทรงธรรมเดินทางไปถึง สน.บางนา ประมาณบ่ายโมง ก็ไปตามหาจำเลยที่ 1 เพราะได้รับการติดต่อจากทนายความว่าให้แจ้งกับจำเลยที่ 1 ว่าอย่าเพิ่งให้การใดๆ จนกว่าจะได้พบทนายความ เขาได้เดินตามหาจนขึ้นไปบนชั้น 2 ของสถานี จึงพบจำเลยที่ 1อยู่ในห้องประชุมแต่เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบกันเอาไว้ไม่ให้เข้าไปในห้อง เขาจึงพยายามดันเข้าไปเพื่อแจ้งให้จำเลยที่ 1 ว่าอย่าเพิ่งให้การใดๆ นอกจากนั้นในห้องยังมี พล.ต.ต.สมประสง ไม่ทราบนามสกุล อยู่ในห้องด้วย เขาได้พยายามจะใช้โทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพไว้ทำให้นายตำรวจคนดังกล่าวโกรธ และให้ผู้ใต้บังคับบัญชามายึดโทรศัพท์ของตนไป นายทรงธรรมก็รออยู่หน้าห้องเกือบ 10 นาที ตำรวจได้นำโทรศัพท์มาคืน และแจ้งว่าได้ลบภาพออกไปแล้ว ทั้งนี้เขายังไม่ได้ทันได้ถ่ายภาพก็ถูกยึดโทรศัพท์ไปก่อน

    เมื่อนายทรงธรรมได้โทรศัพท์คืนแล้วจึงเดินกลับลงมาหาจำเลยที่ 2 แล้วรออยู่จนเกือบ 2 ทุ่ม จนเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ของจำเลยที่ 1 ใกล้จะเสร็จแล้วจึงเตรียมจะกลับ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขวางและแจ้งว่าพวกตนถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงด้วยการถ่ายภาพ เขาได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

    นายทรงธรรมตอบในช่วงอัยการโจทก์ถามค้านว่า เหตุที่เขาไปใช้สิทธิที่สำนักงานเขตบางนาเพราะเห็นว่าจะได้สะดวกในการคุยเรื่องธุรกิจกับจำเลยที่ 1 และ 2 และที่เดินทางไปแต่เช้าก็เพื่อว่า เมื่อใช้สิทธิออกเสียงเสร็จแล้วจะไปคุยกันต่อได้ แต่เมื่อไปถึงแล้วไม่ได้ใช้สิทธิทันทีเพราะว่ามีคนมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก และก็เลยไม่ได้ใช้สิทธิ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จำเลยที่ 1 ถูกจับ เขาก็ติดตามจำเลยที่ 1 ไปเพราะเป็นห่วง

    อัยการได้นำภาพจำลองเหตุการณ์ของพนักงานสอบสวนมาถามนายทรงธรรมว่า ที่มีการผลักดันกันขณะเกิดเหตุนี้ นายทรงธรรมได้รู้จักใครในภาพหรือไม่ นายทรงธรรมตอบอัยการว่าตนไม่เคยรู้จักกับคนในภาพถ่ายจำลองเหตุการณ์มาก่อน อัยการจึงได้ถามว่าในเมื่อไม่รู้จักเหตุใดคนเหล่านี้จะต้องมาให้การปรักปรำแก่ตน นายทรงธรรมตอบว่าเพราะบุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการและตนเองก็มีการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คสช. จึงอาจจะถูกกดดันให้ต้องกระทำตามที่พนักงานสอบสวนต้องการ

    นายทรงธรรมเบิกความตอบคำถามของอัยการที่ว่า ทราบหรือไม่ว่าการร่วมกันแบ่งหน้าที่กัน มีการฉีกบัตร มีการถ่ายวิดีโอไปโพสต์นั้นเป็นความผิด นายทรงธรรมตอบว่าเขามั่นใจว่าการกระทำของพวกเขาไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย

    ภายหลังการสืบพยานทั้ง 3ปาก ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค.2560

    (อ้างอิง 'ศาลสืบจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติ โตโต้ยันฉีกเพราะไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิคนค้านร่าง รธน.' เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=4676 และดูสรุปการสืบพยานคดีนี้ที่ "จาก ‘โตโต้กับเพื่อน’ ถึง ‘ไชยันต์ ไชยพร’: ย้อนทบทวนกรณีฉีกบัตรก่อนศาลนัดพิพากษาพรุ่งนี้" https://www.tlhr2014.com/?p=5272)
  • ทนายจำเลยแถลงต่อศาล ขอตัดพยานที่นัดว่าจะนำเข้าสืบในวันนี้ทั้ง 2 ปาก ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ และนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยฝ่ายจำเลยไม่ติดใจจะสืบพยานทั้งสองปากนี้แล้ว และหมดพยานที่จะนำเข้าสืบ

    จากนั้น ทนายจำเลยแถลงอีกว่า ขอทำคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน ศาลเห็นว่านานเกินไปจึงขอให้ส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 15 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ก.ย. 60 โดยให้เหตุผลที่ใช้เวลานานในการนัดฟังคำพิพากษาว่า เนื่องจากต้องรอจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีและต้องส่งร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีภาคหนึ่งตรวจ

    จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่า ในวันที่ 18 ก.ย. 60 เขาติดธุระไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 19 ก.ย. 60
  • ศาลอ่านคำพิพากษา โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าได้ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ การกระทำของจำเลยจะถือว่าผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ฐานทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ฐานทำลายเอกสารราชการ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ทั้งสามข้อหาหรือไม่

    ศาลเห็นว่า สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ถือว่าทำผิดข้อหานี้จริง สำหรับข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เมื่อการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้วก็ย่อมเป็นความผิดฐานนี้ด้วย ส่วนข้อหาทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ศาลเห็นว่าบัตรลงคะแนนประชามติยังไม่ถูกกา จึงเป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ ยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ

    ส่วนข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 ที่จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนขณะถูกจับกุมและการออกเสียงประชามติก็ยังดำเนินไปได้ตามปกติ อีกทั้งการฉีกบัตรของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ และโดยสันติ ยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 60 พ.ร.บ.ประชามติฯ

    ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นผู้บันทึกภาพขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามไม่ให้ถ่ายรูป และจำเลยไม่ได้แสดงอาการโหวกเหวกโวยวาย การกระทำของจำเลยทั้งสองใช้เวลาสั้น ๆ และเป็นไปโดยสันติ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางให้ถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียงประชามติ จำเลยทั้งสองก็ยอมออกไปถ่ายนอกหน่วยออกเสียงประชามติแต่โดยดี อีกทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ใช่การกระทำภายในหน่วยออกเสียงประชามติ และไม่ส่งผลต่อการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการก่อความวุ่นวายภายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60

    ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาลงโทษนายปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยเป็นความผิดเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด กรณีนี้คือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง 'คดีฉีกบัตรประชามติ 59 ยกฟ้องข้อหาก่อความวุ่นวายฯ ข้อหาฉีกบัตรให้รอลงอาญา' เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=5303)
  • จำเลยยื่นอุทธรณ์ใน 6 ประเด็น
    1. จำเลยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นในส่วนที่พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลายเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 188 และฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวน หรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 60 (9)

    2. จำเลยที่ 1 ไม่เห็นพ้องในคำวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 358 และมีความผิดฐานทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง หรือจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นกฏหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 90

    โดยกรณีที่ความผิดมีทั้งบทเฉพาะกาลและบททั่วไป หากเป็นความผิดในบทเฉพาะแล้วจะต้องปรับบทลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น แม้โทษในบทเฉพาะจะเบากว่าบททั่วไป โดยถือว่าความผิดบทเฉพาะเกลื่อนกลืนบททั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องปรับบททั่วไปอีก
    การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฏหมายทั่วไปอีก

    3.จำเลยที่ 1 ขออุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นปรับฐานความผิดและบทลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ผิดฐานความผิด ตามอุทธรณ์ในข้อที่ 2
    ดังกล่าวแล้วนั้น จำเลยที่ 1 จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น และรอการกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจาก

    3.1 ภายหลังจากฉีกบัตรเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งยังคงกระทำการได้อย่างปกติ จนเสร็จสิ้น และจำเลยได้ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแต่โดยดี มิได้ขัดขืน

    3.2 ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในระยะเวลาเพียงสั้นๆ และโดยสันติ

    3.3 จำเลยที่ 1 กระทำการฉีกบัตรเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ด้วยเพราะความยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เนื่องจากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการทำประชามติในครั้งนี้จัดทำขึ้นภายในสถานการณ์ที่ไม่ปกติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

    3.4 บัตรออกเสียงประชามติ มีราคาเพียง 0.45 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาน้อยมาก อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าได้เกิดความเสียหายอย่างใดๆขึ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

    3.5 โทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 59 นั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเบากว่าโทษตามประมวลกฏหมายอาญา 358 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ผิดฐานความผิดตามอุทธรณ์ในข้อที่ 2 แล้ว โดยลงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงรอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี แต่จำเลยเห็นว่ายังเป็นโทษที่ยังไม่ถูกต้องและยังสูงเกินไป แม้จะรอการลงโทษจำคุกก็ตาม จำเลยที่ 1 จึงขอให้มีการพิพากษาใช้วิธีการรอกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 1 ด้วย

    (อ้างอิง : อุทธรณ์ ศาลจังหวัดพระโขนง คดีหมายเลขดำที่ อ.5952/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3789/2560 ลงวันที่18 ธันวาคม 2560)
  • คำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์

    สำหรับคำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า บัตรออกเสียงประชามติระบุข้อความชัดว่า “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” มีความหมายที่เข้าใจสำหรับผู้เข้าไปลงประชามติ จึงถือว่าบัตรออกเสียงดังกล่าวเป็นเอกสารแล้ว ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7)

    ประเด็นต่อมาคือการที่จำเลยเข้าไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติแล้วหยุดที่หน้าหีบลงคะแนนเสียง ตะโกนคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วทำการฉีกบัตรออกเสียง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี

    คำอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลย

    ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของปิยรัฐ โดยเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติมีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น รวมถึงขออุทธรณ์โทษจำคุกเป็นรอการกำหนดโทษไว้ก่อน

    นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังแก้อุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

    คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

    ประเด็นแรก การที่จำเลยได้ทำการฉีกบัตรออกเสียงลงประชามติ 1 แผ่น ออกเป็น 2 ท่อน เป็นการทำลายบัตรที่มีไว้ออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลเห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก ได้กระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาที่จะทำลายบัตรออกเสียงประชามติเท่านั้น แม้การกระทำดังกล่าวอาจต้องด้วยองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 188 แล 358 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติความผิดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เท่านั้น ไม่ต้องลงโทษตามบทกฎหมายทั่วไป คือตามประมวลกฎหมายอาญาอีก

    ประเด็นต่อมาที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเจ้าพนักงานออกเสียงเข้าห้ามจำเลยที่ 2-3 และไม่ยอมเชื่อฟัง ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1 รับบัตรแล้วไม่ใช้สิทธิลงคะแนน แต่ฉีกบัตรออกเสียงและตะโกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันนำวีดีโอที่จำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรไปโพสต์ในเฟสบุ๊คของจำเลยที่ 2-3 ต่อสาธารณะเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นร่วมกันก่อความวุ่นวาย ในที่ออกเสียงหรือรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง

    ทางพิจารณามีนางจารุวรรณ ศรีทองชัย ประธานประจำหน่วยเลือกตั้ง นางอัมรินทร์ นนทะโคตร ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียง และดาบตำรวจสมพร ภักวงษ์ทอง และพยานผู้ตรวจเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสาม ได้เบิกความว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงความเห็นทางการเมืองร่วมกันมาโดยตลอดก่อนก่อเหตุ ทั้งในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เดินมายกโทรศัพท์มือถือ มีลักษณะถ่ายรูปหรือวีดีโอขณะที่จำเลยที่ 1 พูดว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ พร้อมกับฉีกบัตรเลือกตั้ง ก่อนที่จำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพหรือวีดีโอ ทั้งยังนำไปโพสต์ในเฟสบุ๊คของจำเลยที่ 2-3

    การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันตระเตรียมการมาเพื่อประสงค์ต่อผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรลงประชามติ อันเป็นผลจากการกระทำในเจตนาร่วมกัน การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ศาลเห็นว่าอุทธรณ์ในส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

    การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

    ในประเด็นนี้ ศาลเห็นว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และมาตรา 5 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวต้องทำภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เป็นธรรม ดังนั้น การใช้สิทธิใด ๆ แม้จะเป็นการต่อต้านก็ต้องกระทำโดยสันติวิธีเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย การที่จำเลยที่ 1 จงใจฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ซึ่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวาย

    อย่างไรก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ฉีกบัตรลงประชามติ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรค 1 เป็นผลให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ อันเป็นความผิดตามมาตรา 60 (9) ซึ่งเป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมที่ผิดต่อกฎหมายหลายบท อันต้องลงโทษตามมาตรา 60(9) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    ในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ให้รอการกำหนดโทษ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การจะใช้สิทธิต่อต้านใด ๆ นั้น ต้องกระทำโดยสันติวิธี จะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมุ่งหวังผลเพื่อเผยแพร่การกระทำของพวกตนที่ล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ชักจูงให้ว่าเป็นสิ่งชอบธรรมที่จะกระทำได้ ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม จึงไม่มีเหตุให้รอการกำหนดโทษตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง

    ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 วรรค 1 และมาตรา 60 (9) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 60(9) ส่วนจำเลยที่ 2-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

    (อ้างอิงตาม 'เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติฐานก่อความวุ่นวาย' https://www.tlhr2014.com/?p=8486)
  • จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื้อของฎีกาสรุปได้ ดังนี้
    1. สภาพของบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ต้องมีการกาเครื่องหมายลงในบัตรออกเสียงเสียก่อน เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้บุคคลใดกระทำด้วยประการใดแก่บัตรออกเสียงที่ผู้ออกเสียงได้ใช้สิทธิลงคะแนนแล้ว อันจะทำให้กระทบกระเทือนถึงผลของการนับคะแนนหรือผลของการลงประชามติ เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติในขณะที่ยังมิได้กาเครื่องหมาย แบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่าเป็นบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารตามบทนิยามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย

    2. พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง ดังต่อไปนี้… (9) ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวน หรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียงนั้น…” ดังนั้น การกระทำใด ๆ ก็ตามจะต้องมีผลขึ้นถึงขนาดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยจึงจะเป็นความผิด แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ฉีกแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ เกิดขึ้นด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ในระยะเวลาอันสั้น ขณะนั้นการออกเสียงประชามติก็ดำเนินการไปได้ตามปกติ ไม่ถึงขนาดจะมีผลเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง จึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว อีกทั้งจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาร่วมกันกระทำการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติเพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารของ คสช. และจัดขึ้นในสถานการณ์ไม่ปกติ มีการกวาดล้างจับกุมผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกระบวนการออกเสียงประชามติที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและไม่เป็นธรรมเท่านั้น และกระทำในระยะเวลาอันสั้น ด้วยความสงบ ไม่ได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ดูแลการออกเสียงประชามติหรือไปห้ามบุคคลอื่นไม่ให้ออกเสียงประชามติ เมื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสร็จ ก็ไม่ได้ขัดขืนหรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่เข้ามาจับกุม

    นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ตระเตรียมร่วมมือกับจำเลยที่ 1 ในการฉีกบัตรออกเสียงประชามติหรือกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง เห็นได้จาก ขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน หรือห้ามปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 อีกทั้ง จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยืนบันทึกภาพและวีดีโออยู่ด้านหลังบอร์ดรายชื่ออันเป็นสถานที่นอกหน่วยออกเสียงเลือกตั้ง พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการประจำหน่วยออกเสียงก็ได้เบิกความไว้ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ถ่ายรูปในหน่วยออกเสียงและไม่มีข้อห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้าไปในหน่วยออกเสียง ส่วนการนำคลิปวีดีโอไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กก็เกิดขึ้นเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องที่พบเจอเท่านั้น หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ตระเตรียมร่วมมือร่วมใจกันกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่แรกเพื่อกระทำความผิดตามฟ้องจริง ก็คงทำการไลฟ์สดให้คนทั่วไปได้รับชมเหตุการณ์ทันที พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมตระเตรียมการกันมาเพื่อประสงค์ต่อผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1

    3. ประเด็นปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ใช้สิทธิต่อต้านโดยสงบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ เนื่องจากการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจัดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร กระบวนการจัดทำประชามติก็ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. มีการใช้กฎหมายโดยบิดเบือนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมา ตลอดจนจับกุม คุมขัง และตั้งข้อหาฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก ทำได้แต่เฉพาะฝ่ายผู้สนับสนุนรับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น จำเลยที่ 1 มีความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย จึงได้ตัดสินใจแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญโดยการปฏิบัติการอารยะขัดขืนต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ อันเป็นการกระทำที่สงบ ปราศจากอาวุธ ภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใด เป็นการใช้วิธีการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ถึงเห็นการไม่เห็นด้วยและหยุดยั้งกับกระบวนการทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมนี้แล้ว

    4. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม หนักเกินไป ไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มีมูลเหตุจูงใจเพียงเพื่อจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกระบวนการประชามติที่ไม่ชอบธรรมไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้นแล้วหากศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาลงโทษ เพื่อมิให้จำเลยทั้งสามต้องมีประวัติการต้องโทษจำคุกติดตัว ก็ขอศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จากรอการลงโทษ ให้เป็นรอการกำหนดโทษด้วย

    (อ้างอิง: ฎีกาของจำเลยทั้งสาม ศาลจังหวัดพระโขนง คดีหมายเลขดำที่ อ.5952/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3789/2560 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2561)
  • เดิมศาลอาญาพระโขนงมีหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ศาลจึงให้ยกเลิกวันนัดเดิม และเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 21 ก.ค. 2563 เวลา 08.30 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปิยรัฐ จงเทพ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ตั้ม (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปิยรัฐ จงเทพ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายสุริยะ รุ่งรัตนวนิชย์
  2. นายชุมพล ชีวินไกรสร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-09-2017
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ตั้ม (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายสุริยะ รุ่งรัตนวนิชย์
  2. นายชุมพล ชีวินไกรสร

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-09-2017
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายสุริยะ รุ่งรัตนวนิชย์
  2. นายชุมพล ชีวินไกรสร

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-09-2017

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปิยรัฐ จงเทพ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายจักรี พงษธา
  2. นายเจษฎาวิทย์ ไทยสยาม
  3. นายประทีป เหมือนเตย

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 07-06-2018
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ตั้ม (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายจักรี พงษธา
  2. นายเจษฎาวิทย์ ไทยสยาม
  3. นายประทีป เหมือนเตย

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 07-06-2018
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายจักรี พงษธา
  2. นายเจษฎาวิทย์ ไทยสยาม
  3. นายประทีป เหมือนเตย

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 07-06-2018

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์