สรุปความสำคัญ

26 พ.ย. 2557 บัณฑิต นักเขียนและนักแปลอาวุโส นำหนังสือไปขายที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นเสนอต่อสภาปฏิรูปประเทศ และร่วมแสดงความเห็น แต่เขายังพูดไม่ทันจบประโยค ก็ถูกผู้ร่วมประชุมห้ามไม่ให้พูดต่อ เนื่องจากมีคำว่า "ระบอบกษัตริย์" จากนั้น บัณฑิตก็ถูกทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมไป สน.สุทธิสาร โดยยังไม่แน่ใจว่าข้อความที่บัณฑิตพูดไม่จบทั้งสองประโยคเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่แล้วบัณฑิตก็ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และข้อความไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

คดีนี้ถูกพิจารณาโดยเปิดเผยในศาลทหาร ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ปี นับจากบัณฑิตถูกจับกุม กว่าที่ศาลทหารกรุงเทพจะสืบพยานจนเสร็จสิ้น แต่ได้งดการอ่านคำพิพากษาไว้เพื่อโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 และศาลยุติธรรมต้องรับหน้าที่ในการทำคำพิพากษาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ดำเนินการสืบพยานเอง ซึ่งอาจทำให้ศาลยุติธรรมไม่อาจอำนวยความยุติธรรมให้แก่จำเลยได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การโอนคดีมาศาลยุติธรรมทำให้คดีนี้ซึ่งเกิดในช่วงกฎอัยการศึก สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ตามกระบวนการปกติของศาลยุติธรรม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

26 พฤศจิกายน 2557 เวลาประมาณ 13.00 น. นายบัณฑิตนำหนังสือไปขายที่งานเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรมไทย ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียน งานเสวนาจัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นไปทำเป็นข้อเสนอเสนอต่อสภาปฏิรูปประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น กกต., ที่มา ส.ส., สถาบันกษัตริย์ โดยเมื่อถึงหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ บัณฑิตได้แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้คนไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ยังไม่ทันพูดจบประโยคก็ถูกห้ามไม่ให้พูดต่อ หลังจากนั้นเขาพยายามตั้งคำถามถึงการเลือกระบอบการปกครอง แต่ยังไม่ทันจบคำถาม ผู้ร่วมประชุมก็แสดงความไม่พอใจและลุกออกไปจากห้องประชุม จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบที่เข้าสังเกตการณ์และบันทึกวีดิโองานเสวนาดังกล่าวก็เข้าควบคุมตัวบัณฑิตไปที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร หลังจากทำบันทึกจับกุมในเวลาประมาณ 22.00 น. ตำรวจได้ควบคุมตัวบัณฑิตไว้ในห้องขัง

27 พฤศจิกายน 2557 บัณฑิตถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประกอบการปฏิรูปประเทศ และพูดถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนรวมถึงแนวคิดสถาบันกษัตริย์นิยมด้วย

ต่อมาในช่วงบ่าย ตำรวจและทหารได้คุมตัวบัณฑิตไปค้นบ้านเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และได้ตรวจยึดเอกสาร รวม 10 รายการ ซึ่งมีทั้งงานเขียนของบัณฑิตเอง, คำพิพากษาคดี 112 ในคดีที่บัณฑิตเป็นจำเลยก่อนหน้านี้ รวมทั้งเอกสารและหนังสืออื่นๆ

วันต่อมา บัณฑิตถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง ก่อนศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ 400,000 บาท

วาด รวี นักเขียน ซึ่งเป็นนายประกัน ให้สัมภาษณ์ว่า มาเป็นนายประกันเนื่องจากเป็นนักเขียนด้วยกันและพอจะช่วยเหลือกันได้ เห็นผลงานของบัณฑิตมานานและคุ้ยเคยจากการพบเจอในงานวรรณกรรมและเสวนาทางการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 วาด รวี ให้ความเห็นว่า ข้อความของบัณฑิตที่แสดงความเห็นนั้นเป็นเรื่องการปฏิรูป ในสถานการณ์ปกติไม่น่าจะโดนคดีด้วยซ้ำ "แต่ตอนนี้สังคมพารานอยด์ (Paranoid) เจ้าหน้าที่ก็พารานอยด์ คำพูดแกพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และไม่พาดพิงตัวบุคคลเลย"

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.สุทธิสาร ลงวันที่ 26 พ.ย. 2557, บันทึกการตรวจค้น/ตรวจยึด สน.สุทธิสาร ลงวันที่ 27 พ.ย. 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/11/56739)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 19-02-2015
อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบัณฑิตเป็นจำเลย โดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือถ้อยคำ 2 ประโยคของจำเลยที่แสดงความเห็นในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557

หลังศาลรับฟ้องของโจทก์ จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี โดยใช้นายประกันและหลักทรัพย์เดิม ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว
 
วันที่ : 09-10-2015
ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งต่อคำร้องของทนายจำเลยที่ขอให้ส่งตัวบัณฑิตไปเข้ารับการตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยเข้ารับการตรวจตามคำร้องดังกล่าว และระหว่างรอผลการตรวจให้ระงับการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว
 
วันที่ : 11-02-2016
นายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาณ์ฯ เข้าเบิกความประกอบรายงานการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีที่แพทย์ได้ยื่นส่งต่อศาลเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 58 ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า บัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บป่วย ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป
 
วันที่ : 05-08-2019
เดิมศาลนัดฟังคำพิพากษา แต่ศาลแจ้งคู่ความว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่กำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลจึงให้งดการฟังคำพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และส่งสำนวนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยให้สัญญาประกันตัวยังคงมีผลต่อไป

ภูมิหลัง

  • สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
    เป็นนามปากกาของนักเขียนและนักแปลอาวุโส ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มาแล้วในปี 2546 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ (ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาว่า บัณฑิตพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จำคุก 4 ปี โดยให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว ไม่เคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน

    บัณฑิตมีโรคประจำตัว ต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะและไตด้านซ้ายออก และปัสสาวะโดยผ่านทางถุงปัสสาวะ ซึ่งจะต้องดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะหายใจไม่ออกหากอาการกำเริบ บัณฑิตมีประวัติการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ไม่ได้ไปหาหมอนานแล้ว

    ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท อดีตอาจารย์ด้านวรรณคดีโบราณและประวัติศาสตร์ที่ University of Berkeley และ Arizona State University ให้ความเห็นต่องานเขียนของบัณฑิตไว้ว่า “งานเขียนของเขาน่าสนใจ คนต่างประเทศอ่านแล้วมักจะชอบ เพราะมีวิธีเล่าเรื่องเสียดสีสังคมในแบบเฉพาะของตัวเอง เห็นความเป็นธรรมได้โดยไม่ต้องเศร้าโศก ส่วนชีวิตของเขาก็น่าสนใจมาก ไม่น่าจะมีใครที่กล้าชำแหละ พูดถึงชีวิตตัวเองตรงไปตรงแบบเขามากนัก” (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/02/51819)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์