สรุปความสำคัญ

นายพงษ์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกทหารและตำรวจหลายนายเข้าจับกุมที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก ขณะกำลังเดินทางไปพบเพื่อนที่รู้จักกันทางเฟซบุ๊กคนหนึ่ง เขาถูกควบคุมตัวไปซักถามที่ค่ายทหารในจังหวัดพิษณุโลก และกรุงเทพฯ รวม 7 วัน ก่อนถูกส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดี นอกจากคดีที่เขาไม่เข้ารายงานตัวคำสั่ง คสช.ที่ 58/2557 พงษ์ศักดิ์ยังถูกพนักงานสอบสวน บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ "Sam Parr" โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ในปี 2556 และ 2557 รวม 6 ครั้ง พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในค่ายทหารจนถึงชั้นศาล เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์รวม 60 ปี แต่พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี ซึ่งนับเป็นโทษจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มากที่สุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว คณะทำงานของสหประชาชาติจึงลงความเห็นว่า การควบคุมตัวพงษ์ศักดิ์เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เพราะนอกจากเขาถูกควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กฎหมายระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองแล้ว พงษ์ศักดิ์ยังไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งการถูกพิจารณาคดีลับ การถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระ การไม่สามารถเข้าถึงทนายความในขั้นสอบสวน ตลอดจนการตัดสินจำคุกที่เกินกว่าเหตุ โดยเขาไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา (เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก)

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายพงษ์ศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายพงษ์ศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

30 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหลายนายสนธิกำลังกันเข้าจับกุม นายพงษ์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก ขณะนายพงษ์ศักดิ์เดินทางมาจาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อไปพบกับเพื่อนที่รู้จักกันทางเฟซบุ๊กคนหนึ่งที่จังหวัดตาก จากนั้น พงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวไปซักถามที่ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก เป็นเวลา 3 คืน

2 มกราคม 2558 ช่วงกลางคืน พงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวโดยการปิดตาและใส่กุญแจมือ เดินทางไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ เพื่อควบคุมตัวและทำการซักถามเพิ่มเติม

พงษ์ศักดิ์ระบุว่า ระหว่างการซักถามในค่ายทหารไม่มีการทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่เพียงแต่ "ขู่" ให้ยอมรับสารภาพว่า เขาใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ "Sam Parr" โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยบอกว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นเรื่องความมั่นคง

หลังพงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารทั้งสองแห่งครบ 7 วัน ตามกฎอัยการศึก พงษ์ศักดิ์ถูกส่งตัวไปให้ตำรวจดำเนินคดีรวม 2 คดี คดีแรก เขาถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 58/2557 ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 ส่วนในคดีนี้ พงษ์ศักดิ์ถูกพนักงานสอบสวน บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ "Sam Parr" โพสต์รูปภาพและข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2556 และเดือนพฤศจิกายน 2557 รวม 6 ครั้ง ทั้งนี้ ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำไม่ได้มีญาติและทนายความอยู่ร่วม ซึ่งพงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในระหว่างนี้เขาถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง ด้วย ก่อนที่วันที่ 7 ธ.ค. 2558 ตำรวจจะนำตัวพงษ์ศักดิ์ไปแถลงข่าวการจับกุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งพงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพขณะแถลงข่าวอีกว่า ยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากได้รับการยุยงจากกลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊ก และเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

จากนั้น พงษ์ศักดิ์จึงถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผัดที่ 1 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนที่พงษ์ศักดิ์จะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และถูกคุมขังเรื่อยมาจนกระทั่งคดีสิ้นสุด โดยครอบครัวไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

(อ้างอิง: สอบข้อเท็จจริง โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://prachatai.com/journal/2015/08/60727 และ https://www.fidh.org/IMG/pdf/36_and_counting_thai.pdf)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 31-03-2015
เมื่อพงษ์ศักดิ์ถูกฝากขังครบ 7 ผัด รวม 84 วัน อัยการศาลทหารจึงยื่นฟ้องนายพงษ์ศักดิ์เป็นจำเลย โดยกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
 
วันที่ : 07-08-2015
นัดสอบคำให้การ ศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามที่อัยการทหารแถลงขอ จากนั้นศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ โดยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพต่อศาลแล้วก่อนหน้านี้

จากนั้น ศาลได้อ่านพิพากษาต่อแทบจะทันทีว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) (3) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก รวม 6 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 60 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 30 ปี

วันเดียวกันนี้ ศาลทหารกรุงเทพออกหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และพงษ์ศักดิ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากโทษสูงเกินกว่า 15 ปี
 
วันที่ : 21-11-2016
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ รับรองความคิดเห็นอันดับที่ 44/2016 โดยคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า พงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่อยู่ภายใต้กรอบการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองโดยข้อ 19 ของ UDHR และ ICCPR ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถอธิบายได้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ICCPR ข้อ 19 (3) ในกรณีพงษ์ศักดิ์นี้เกิดขึ้นภายใต้ความจำเป็นใด และไม่ได้อธิบายให้เห็นว่าได้มีการชั่งน้ำหนักที่เหมาะสมในการจำกัดสิทธิ โดยถ้าหากพงษ์ศักดิ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลใด การจัดการต่อกรณีนี้สามารถอยู่ในขอบเขตเอาผิดโดยการหมิ่นประมาทในทางแพ่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดทางอาญา

คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ากรณีพงษ์ศักดิ์เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ตั้งแต่การถูกพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้คำอธิบายว่าเหตุใดข้อยกเว้นต่างๆ ภายใต้ ICCPR ข้อ 14 (1) (เช่นเรื่องความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์สาธารณะ) จึงจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ในกรณีของพงษ์ศักดิ์นี้ และทำให้ต้องพิจารณาคดีเป็นการลับ

ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าศาลทหารซึ่งถูกใช้พิจารณาคดีของพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้เป็นคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งยังขาดแคลนความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบการบังคับบัญชา การไต่สวนคดีพลเรือนในศาลทหารจึงขัดต่อ ICCPR และกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ยังพบการละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่รุนแรงอีกหลายประการในกรณีของพงษ์ศักดิ์ ได้แก่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่ได้รับทราบรายละเอียดและเหตุผลของการตั้งข้อกล่าวหาในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ในช่วงการสอบสวนหรือระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายทหาร คำรับสารภาพของพงษ์ศักดิ์เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมตัวภายในค่ายทหาร ก่อนจะถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ได้มีญาติและทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งการตัดสินจำคุกของศาลทหารที่เกินกว่าเหตุ โดยพงษ์ศักดิ์ไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงขึ้นไป

คณะทำงานฯ ยืนยันว่า หลักการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการเคารพ แม้ในสภาวะฉุกเฉิน แต่ในกรณีของพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ เห็นว่าเขาไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งระหว่างการประกาศใช้ และหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว คณะทำงานฯ จึงสรุปว่าการควบคุมตัวพงษ์ศักดิ์เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

ในท้ายรายงาน คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพงษ์ศักดิ์โดยทันที พร้อมให้การชดเชยเยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งในกรณีมาตรา 112 และกฎหมายอื่นๆ ที่อนุญาตให้นำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร โดยเรียกร้องให้ปรับให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3587)

ภูมิหลัง

  • นายพงษ์ศักดิ์
    ผู้ใช้เฟซบุ๊ก sam parr เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี เคยทำงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เริ่มมีความสนใจการเมืองอย่างจริงจัง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด เคยไปชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงเพียง 3-4 ครั้ง แต่ไปเพียงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกโซเชียล และนิยามตัวเองเป็น ‘หน่วยอิสระ’ เขาพบเพื่อนแนวคิดใกล้เคียงกันมากมายในโซเชียลมีเดีย โดยไม่รู้จักตัวตนกันจริงๆ

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/08/60727)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายพงษ์ศักดิ์
    เป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระต้องเลี้ยงดูมารดาที่เป็นอัมพาต ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมน้องสาวอีกหนึ่งคน การถูกจับกุมคุมขังและท้ายสุดพิพากษาให้จำคุก ทำให้พงษ์ศักดิ์ไม่สามารถทำหน้าที่นี้และไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตปั้นปลายกับครอบครัวในเร็ววัน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์