ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 99ก./2558
แดง 197ก./2558

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 99ก./2558
แดง 197ก./2558
ผู้กล่าวหา
  • 2

ความสำคัญของคดี

นายพงษ์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ถูก ปอท. ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ "Sam Parr" โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ในปี 2556 และ 2557 รวม 6 ครั้ง พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในค่ายทหารจนถึงชั้นศาล เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์รวม 60 ปี แต่พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี ซึ่งนับเป็นโทษจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มากที่สุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่พงษ์ศักดิ์ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งการถูกพิจารณาคดีลับ การถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระ การไม่สามารถเข้าถึงทนายความในขั้นสอบสวน ตลอดจนการตัดสินจำคุกที่เกินกว่าเหตุ โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่า จำเลยเป็นพลเรือนที่กระทำความผิดในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 4, 10, 17, 18 ก.ย. 2556 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน และวันที่ 25 และ 29 พ.ย. 2557 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันและเป็นวันเวลาที่อยู่ระหว่างประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้นำรูปภาพ, พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์, พระราชินี รวมทั้งพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมกับพิมพ์ข้อความประกอบ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ Facebook ชื่อบัญชี "Sam Parr" ซึ่งเป็นของจำเลย ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ และคงปรากฏอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบข้อมูลดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์

ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามได้เห็นภาพและข้อความดังกล่าว ย่อมเข้าใจไปในทางที่ไม่ดีต่อพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ อันเป็นความเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์, พระราชินี และองค์รัชทายาท และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 99ก./2558 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังพงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารทั้งสองแห่งครบ 7 วัน ตามกฎอัยการศึก พงษ์ศักดิ์ถูกส่งตัวให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินคดี พนักงานสอบสวน บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาพงษ์ศักดิ์ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ "Sam Parr" โพสต์รูปภาพและข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2556 และเดือนพฤศจิกายน 2557 รวม 6 ครั้ง ในระหว่างนี้เขาถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง ด้วย

    ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำซึ่งไม่มีญาติและทนายความอยู่ร่วมด้วย พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น ตำรวจได้นำตัวพงษ์ศักดิ์ไปแถลงข่าวการจับกุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งพงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพขณะแถลงข่าวอีกว่า ยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากได้รับการยุยงจากกลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊ก และเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

    หลังจากนั้น พงษ์ศักดิ์ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง พงษ์ศักดิ์จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

    (อ้างอิง: สอบข้อเท็จจริง โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://prachatai.com/journal/2015/08/60727 และ https://www.fidh.org/IMG/pdf/36_and_counting_thai.pdf)
  • เมื่อพงษ์ศักดิ์ถูกฝากขังครบ 7 ผัด รวม 84 วัน ในวันนี้ อัยการศาลทหารจึงยื่นฟ้องนายพงษ์ศักดิ์เป็นจำเลย โดยกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

    คำฟ้องอัยการทหารระบุว่า จำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยได้นำรูปภาพ, พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์, พระราชินี รวมทั้งพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมกับพิมพ์ข้อความประกอบ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี "Sam Parr" รวม 6 ครั้ง ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นการนำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 99ก./2558 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2558)
  • จำเลยอ้างเหตุว่า เพิ่งเจอทนายเป็นครั้งแรก ขอปรึกษากับทนายก่อน ศาลจึงเลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที 7 ส.ค. 58

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 99ก./2558 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2558)
  • เจ้าหน้าที่ศาลทหารห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณาคดีโดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับแล้ว ก่อนที่เวลาประมาณ 10.45 น. ตุลาการพระธรรมนูญ ได้แก่ น.อ.วีรยุทธ์ โรจรุจิพงษ์, น.อ.ประเทือง ศรีหรั่งไพโรจน์ และ พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู ได้ออกพิจารณาคดี อัยการทหารแถลงขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากถ้อยคำในคำฟ้องไม่ควรให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ รวมถึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทนายจำเลยแถลงคัดค้านว่า จำเลยทราบคำฟ้องดีอยู่แล้ว ศาลสามารถอ่านคำฟ้องโดยย่อได้ อย่างไรก็ตาม ศาลใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ อนุญาตเฉพาะคู่ความ เจ้าหน้าที่ศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในห้องพิจารณาคดี

    จากนั้นศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์ แต่ข้ามเนื้อความส่วนที่เป็นความผิดของจำเลย ทนายความจำเลยจึงโต้แย้งว่า หากศาลจะข้ามข้อความที่มีความละเอียดอ่อน ก็ควรอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีด้วย ศาลจึงอ่านคำฟ้องทุกถ้อยคำ และถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ โดยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพต่อศาลแล้วก่อนหน้านี้

    อัยการทหารคัดค้านคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย อ้างว่า ไม่รับรองว่า พระราชดำรัสวันที่ 4 ธ.ค. 48 ถูกต้องหรือไม่ ศาลชี้แจงว่า จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายที่บังคับใช้เท่านั้น กฎหมายที่ยกเลิกแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศ หรือแม้แต่พระราชดำรัสที่จำเลยยกขึ้นมาอ้าง ศาลจะไม่นำมาพิจารณา ซึ่งทนายความแย้งว่าคำร้องประกอบคำรับสารภาพเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อขอบรรเทาโทษเท่านั้น

    จากนั้น ศาลได้อ่านพิพากษาต่อแทบจะทันทีว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (2) (3) (5) แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก รวม 6 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 60 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 30 ปี ตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเคารพเทิดทูน จึงเป็นการกระทบความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงเกิน 3 ปี จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ได้

    สำหรับคำร้องประกอบคำรับสารภาพที่จำเลยได้ยื่นต่อศาลนั้นได้อ้างเหตุเรื่องภาระในการดูแลครอบครัว เหตุผลด้านสุขภาพซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ป่วย มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายของไทยให้มีโทษจำคุกที่สูงมากขึ้น และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัติร์ย์ในต่างประเทศ แต่คำร้องประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวตุลาการศาลทหารไม่ได้นำมาพิจารณาแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 99ก./2558 คดีหมายเลขแดงที่ 197ก./2558 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/07/pongsak_and_thara/)

    วันเดียวกันนี้ ศาลทหารกรุงเทพออกหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และพงษ์ศักดิ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากโทษสูงเกินกว่า 15 ปี

    คดีนี้ถูกฟ้องต่อศาลทหารและการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ทำให้คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงทำให้คดีถึงที่สุด

    (อ้างอิง: หนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ที่ กห 0202.1.3/2001 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2558)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพงษ์ศักดิ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพงษ์ศักดิ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. น.อ.วีรยุทธ์ โรจรุจิพงษ์
  2. น.อ.ประเทือง ศรีหรั่งไพโรจ
  3. พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 07-08-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์