สรุปความสำคัญ

นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและโปรแกรมเมอร์ ถูกตำรวจเข้าจับกุมขณะที่เขากำลังออกจากบ้านพัก แล้วส่งตัวไปดำเนินคดีที่ ปอท. ตามหมายจับที่ออกในเดือน มิ.ย. 2557 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ‘พงศธร บันทอน’ โพสต์ภาพและข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2556 โดยมีผู้เข้ากล่าวโทษให้ดำเนินคดีในปี 2556 หลังรัฐประหารซึ่งมีการเร่งรัดดำเนินคดี 112 จึงได้มีการขอออกหมายจับ

ปิยะถูกดำเนินคดีหลังมีการเร่งรัดดำเนินคดี 112 หลังการรัฐประหาร โดยหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีมีเพียงภาพที่บันทึกจากหน้าจอโทรศัพท์เท่านั้น ไม่มีประจักษ์พยานและพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ปิยะเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว และโพสต์ภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหา หลังถูกจับกุม ปิยะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากในคดี 112 ศาลกำหนดหลักทรัพย์ประกันไว้ค่อนข้างสูง ครอบครัวปิยะซึ่งไม่ได้มีฐานะจึงไม่มีหลักทรัพย์พอที่จะยื่นประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี การพิจารณาคดีนี้ในศาลยุติธรรมยังเป็นไปโดยลับ การดำเนินคดีปิยะแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมหลายประการ อาทิเช่น สิทธิในการปรึกษาทนายความในชั้นสอบสวน สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

นอกจากนี้หลังการรัฐประหาร คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการสู้คดี โดยศาลยุติธรรมได้พิพากษาจำคุกในอัตราโทษสูงถึงกรรมละ 9 ปี สูงกว่าปกติซึ่งศาลยุติธรรมมักจะลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี และเกือบเท่ากับอัตราโทษที่ศาลทหารพิพากษา

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายปิยะ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

วันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลาประมาณ 11.00 น. ขณะที่ปิยะกำลังเดินออกจากบ้านพัก บริเวณถนนลาดพร้าว ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจริงแต่ไม่ใช่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาแสดงตัวและถามว่าชื่อปิยะใช่หรือไม่ เมื่อตอบว่าใช่ ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีก รวมประมาณ 30 คน ค่อยๆ แสดงตัวออกมาและเข้าจับกุมเขา โดยแสดงเอกสารให้ดู แต่ไม่ใช่หมายจับ พร้อมทั้งเข้ายึดเครื่องคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊ก และโทรศัพท์

หลังจากนั้นปิยะถูกพาตัวไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพาไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งหากล่าวหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" และสอบปากคำ โดยไม่อนุญาตให้ปิยะได้ติดต่อญาติหรือทนายความ ปิยะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” แต่ยอมรับว่ารูปประจำตัวบนเฟซบุ๊กนั้นเป็นรูปของตนเอง ซึ่งเป็นรูปที่ใช้ในการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก

หลังสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ ปอท.ให้ปิยะเปลี่ยนเสื้อจากเสื้อสีแดงที่ใส่อยู่ เป็นเสื้อสีดำ และพยายามนำตัวปิยะไปแถลงข่าวการจับกุม แต่ปิยะปฏิเสธ จากนั้น ปิยะถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

วันต่อมา (12 ธันวาคม 2557) ปิยะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่บ้านพักอีกครั้ง เพื่อตรวจยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน พร้อมแฟลชไดรฟ์และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลรวม 7 รายการ เพื่อนำไปตรวจสอบ ปิยะถูกนำตัวกลับมาควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง อีกครั้ง ก่อนจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันรุ่งขึ้น

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 06-03-2015
อัยการยื่นฟ้องปิยะ โดยกล่าวหาจำเลยได้ในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน (SIAMAID)” โพสต์ภาพและข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3),(5)
 
วันที่ : 20-01-2016
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ. ศ. 2550 มาตรา 14(3)(5) อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกจำเลย 9 ปี ทั้งนี้ คำให้การชั้นสอบสวน และในทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลย 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี
 
วันที่ : 27-04-2017
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14 (3) (5) ลงโทษจำคุก 9 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 6 ปี

คดีถึงที่สุด หลังโจทก์และจำเลยไม่ยื่นฎีกา

ภูมิหลัง

  • นายปิยะ
    ไม่สนใจเรื่องการเมืองไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองและไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มใดมาก่อน เคยมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมแอพพลิเคชั่น บนโทรศัพท์มือถือสำหรับการซื้อขายบ้านและที่ดิน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์