ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.747/2558
แดง อ.157/2559

ผู้กล่าวหา
  • นางสาวยศสินี กิตติบวร, นายพิชชา ตั้งเที่ยงธรรม และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.747/2558
แดง อ.157/2559
ผู้กล่าวหา
  • นางสาวยศสินี กิตติบวร, นายพิชชา ตั้งเที่ยงธรรม และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์

ความสำคัญของคดี

นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและโปรแกรมเมอร์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ‘พงศธร บันทอน’ โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเผยแพร่ข้อความทำนองหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.ค. 2556 – 28 พ.ย. 2556 โดยมีผู้เข้ากล่าวโทษให้ดำเนินคดีในปี 2556 หลังรัฐประหารซึ่งมีการเร่งรัดดำเนินคดี 112 จึงได้มีการขอออกหมายจับ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปิยะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว และไม่ได้โพสต์ข้อความและภาพตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่ารูปที่ใช้เป็นรูปประจำตัวของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือรูปของเขาจริง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของปิยะ ไม่ปรากฏร่องรอยที่เชื่อมโยงได้ว่าจำเลยโพสต์ หรือเข้าถึงโพสต์ที่เป็นความผิดจริง คดีนี้ ศาลอาญามีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ และตั้งแต่ถูกจับกุมปิยะไม่เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากครอบครัวไม่มีฐานะพอที่จะหาหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาประกันตัวได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับจำเลยส่วนใหญ่ในคดี 112

ศาลยุติธรรมในช่วงก่อนรัฐประหาร ลงโทษในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในอัตราโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่หลังจากรัฐประหาร คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการสู้คดี ศาลได้พิพากษาจำคุกในอัตราโทษสูงถึงกรรมละ 9 ปี ซึ่งสูงเกือบเท่ากับศาลทหารในคดีที่จำเลยรับสารภาพ แสดงให้เห็นว่าหลังการรัฐประหาร การสู้คดีในความผิดตามมาตรา 112 อาจทำให้จำเลยได้รับโทษหนักไม่ต่างจากการถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ส่งผลให้ความหวังในการสู้คดีของจำเลยลดลง ทั้งศาลยังนำข้อสงสัยในตัวจำเลยมีการเปลี่ยนแปลงชื่อหลายครั้งมาเป็นเหตุผลประกอบในการพิจารณาพิพากษาลงโทษ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ระบุว่า

“ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ระหว่างวันที่ 27 กรกฏาคม 2556 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการโพสต์ข้อความ 2 ข้อความอยู่ด้านบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จำนวน 2 ภาพ อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แล้วจำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ใช้ชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน (SIAMAID)” เพื่อเผยแพร่และส่งไปยังบุคคลทั่วไปด้วย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันมีเนื้อหาสาระที่เป็นการหมิ่นประมาท ใส่ความ จาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อบุคคลที่สามผู้อ่านข้อความ ด้วยการแสดงข้อความหยาบคายอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนทั่วไปที่รับทราบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกจับกุม ปิยะถูกพาตัวไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งหากล่าวหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" และสอบปากคำ โดยไม่อนุญาตให้ปิยะได้ติดต่อญาติหรือทนายความ ปิยะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่ารูปที่ใช้เป็นรูปประจำตัวของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือรูปของเขาจริง

    หลังสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ ปอท.ให้ปิยะเปลี่ยนเสื้อจากเสื้อสีแดงที่ใส่อยู่ เป็นเสื้อสีดำ และพยายามนำตัวปิยะไปแถลงข่าวการจับกุม แต่ปิยะปฏิเสธ จากนั้น ปิยะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

    วันต่อมา ปิยะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่บ้านพัก เพื่อยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน พร้อมแฟลชไดรฟ์และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลรวม 7 รายการ เพื่อนำไปตรวจสอบ และนำตัวกลับมาควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้องอีกครั้ง
  • ปิยะถูกพาตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังผัดที่ 1 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-24 ธันวาคม 2557 โดยพนักงานสอบสวนระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จ เนื่องจากต้องรอผลตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และลายพิมพ์มือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร คำร้องฝากขังยังระบุว่า พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง ครอบครัวไม่ได้ยื่นประกัน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์พอ ปิยะจึงถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2557)
  • หลังฝากขังปิยะในชั้นสอบสวนครบ 7 ผัด รวม 84 วัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 4 จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องปิยะ โดยคำฟ้องระบุว่า ช่วงระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ถึง 28 พฤศจิกายน 2556 จำเลยได้ในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน (SIAMAID)” โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ภาพ และเผยแพร่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 2 ข้อความ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3),(5)

    วันเดียวกัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเช่นเดียวกับการพิจารณาคดีโดยทั่วไปเป็นการกระทำที่ไม่บังควรและไม่เหมาะสม เพราะอาจกระทบกระเทือนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้

    (อ้างอิง: คำฟ้องและคำร้องขอพิจารณาคดีเป็นการลับ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2558)
  • ปิยะถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาที่ศาลอาญา หลังอัยการยื่นฟ้อง เบื้องต้นปิยะให้การปฏิเสธพร้อมแถลงต่อศาลว่า อัยการฟ้องผิดตัวเนื่องจากในคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องระบุถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ พงศธร บันทอน แต่ตัวเขาชื่อปิยะ ไม่ได้ชื่อพงศธร
  • ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ 6 มี.ค. 58 จากนั้นศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การปฏิเสธทุกประการ

    โจทก์แถลงประสงค์สืบพยานโจทก์ 10 ปาก ทนายจำเลยประสงค์สืบพยาน 1 ปาก ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่อง โดยกำหนดวันสืบพยานโจทก์ 4 นัด และวันสืบพยานจำเลยครึ่งนัด ในวันที่ 17-20 และ 24 พฤศจิกายน 2558

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำให้การจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2558)
  • คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงว่ามีความพร้อมที่จะนำพยานมาสืบตามกำหนดนัด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำให้การจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2558)
  • นัดสืบพยานนัดแรก พยานที่โจทก์นำเข้าสืบในนัดนี้ประกอบได้ด้วย นางสาวยศสินี กิตติบวร, นายวันลพ แก้วกสิกรรม, นายพิชชา ตั้งเที่ยงธรรม, นางสาวอภิญญา ตันตระกูล และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ซึ่งบุคคลที่เป็นพยานโจทก์ทั้ง 5 คนดังกล่าวล้วนแต่บุคคลที่อ้างว่าเห็นข้อความซึ่งเป็นถ้อยคำหยาบคายที่อยู่ติดกับรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่จำเลยโพสต์และเป็นบุคคลที่แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย โดยในระหว่างการสืบพยานทั้งห้าปากดังกล่าว โจทก์ได้อ้างส่งเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ โดยในลำดับต่อไปจะเป็นการสรุปสาระสำคัญในการสืบพยานแต่ละปากข้างต้น

    พยานโจทก์ปากแรก นางสาวยศสินี กิตติบวร

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นางสาวยศสินี เบิกความว่า เมื่อประมาณ 28 พฤศจิกายน 2556 เวลาประมาณ 12.00 น. นางสาวยศสินีได้เล่นเฟซบุ๊กของตนผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่และได้เห็นว่ามีบุคคลโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และมีการเขียนถ้อยคำหยาบคายอยู่ติดพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวมีคนส่งต่อมาให้นางสาวยศสินีในลักษณะแชร์ต่อกันมา มีการระบุชื่อผู้โพสต์แต่นางสาวยศสินีไม่ทราบว่าเป็นใคร จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าบุคคลที่โพสต์เป็นใคร โดยเมื่อนางสาวยศสินีได้เห็นข้อความดังกล่าวก็ได้ถ่ายภาพจากหน้าจอไว้ (แคปเจอร์) แล้วนำไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครปฐม พร้อมกับนำภาพดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 นางสาวยศสินีไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับภาพที่ใช้เป็นภาพประจำตัวของเฟซบุ๊กบัญชีที่ทำการโพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: นางสาวยศสินีเบิกความว่า เฟซบุ๊กของตนเองมีเพื่อนประมาณ 200 คน แต่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า “นายพงศธร” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยนางสาวยศสินีไม่แน่ใจว่า เห็นข้อความลักษณะหมิ่นประมาทดังกล่าวจากการที่เพื่อนแชร์มาให้ดูหรือไม่ นางสาวยศสินีให้ความเห็นส่วนตัวด้วยว่า บุคคลสามารถนำรูปบุคคลอื่นมาเป็นรูปที่ใช้ในการเล่นเฟซบุ๊กได้และสามารถตั้งชื่อเฟซบุ๊กเป็นชื่ออื่นซึ่งไม่ใช่ชื่อตนเองได้

    ประเด็นที่โจทก์ถามติง: นางสาวยศสินีได้เบิกความว่าได้เข้าไปในยังหน้าเฟซบุ๊กของนายพงศธรซึ่งเป็นเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว และได้กดเข้าไปดูภาพโปรไพล์ของผู้โพสต์

    พยานปากที่สอง นายวันลพ แก้วกสิกรรม

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นายวันลพ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ได้พบเห็นว่ามีเฟซบุ๊กของบุคคลคนหนึ่งโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความหยาบคายมาก โดยจำไม่ได้ว่าพบเห็นข้อความนั้นโดยวิธีการใด พร้อมกับจำไม่ได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กใดที่โพสต์หรือแชร์ข้อความดังกล่าว

    จากนั้นนายวันลพก็ได้พิมพ์ข้อความใน inbox ไปให้นายพิชชา ตั้งเที่ยงธรรม ซึ่งป็นเพื่อนของนายวันลพเพื่อให้มาดูข้อความดังกล่าว เมื่อนายพิชชาได้เห็นข้อความดังกล่าวแล้วนายพิชชาจึงได้ปรินท์ภาพและข้อความดังกล่าวไปแจ้งความที่ สภ.เมืองน่าน ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 หลังจากนั้นตำรวจก็ได้เรียกนายวันลพไปให้ปากคำและให้ยืนยันว่าภาพที่นายพิชชาปรินท์มาตรงกับภาพที่นายวันลพเห็นหรือไม่

    ช่วงท้ายของการเบิกความ นายวันลพได้เบิกความแย้งที่เบิกความไปในตอนต้นว่าผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวชื่อว่า นายพงศธร บันทอน แต่นายวันลพไม่รู้จักบุคคลดังกล่าวและนายวันลพได้เห็นข้อความดังกล่าวเนื่องจากมีคนแชร์มา โดยชื่อบัญชีผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว ชื่อว่า Tui fishing โดยคำให้การต่างๆ เหล่านี้นายวันลพได้ให้การไว้กับตำรวจ สภ.เมืองน่านแล้ว

    ประเด็นที่ทนายความจำเลยถามค้านพยาน: นายวันลพ เบิกความว่า ชื่อบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถเอาชื่อหรือรูปภาพของใครก็ได้มาใช้เป็นชื่อบัญชีและภาพโปรไฟล์ และในส่วนข้อความดังกล่าวนายวันลพไม่ได้สนใจว่าใครเป็นผู้โพสต์ รวมถึงเฟซบุ๊กของนายวันลพไม่ได้เป็นเพื่อนกับ tui fishing และ koh za

    โจทก์ไม่ถามติง

    พยานโจทก์ปากที่สาม นายพิชชา ตั้งเที่ยงธรรม

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นายพิชชาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ประมาณ 12.00 น. นายวันลพได้แจ้งให้นายพิชชาเข้าไปดูเฟซบุ๊กของคนที่ชื่อว่า Tui Fishing หลังนายพิชชาเข้าเฟซบุ๊กดังกล่าวผ่านคอมพิวเตอร์ของตัวเองก็ได้เห็นข้อความโพสต์ว่า ให้ช่วยกันด่าบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2 ข้อความ นายพิชชาจึงได้ปรินท์ภาพและข้อความดังกล่าวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองน่าน นายพิชชายังเบิกความด้วยว่า ไม่เคยรู้จักและไม่ได้เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Tui fishing และนายพงศธร บันทอน

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: นายพิชชาได้ตอบคำถามทนายจำเลยว่า หน้า feed ของเฟซบุ๊กจะมีข้อความต่าง ๆ ของเฟซบุ๊กที่เป็นเพื่อนกันและมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อย ๆ เท่านั้น

    โจทก์ไม่ถามติง

    พยานโจทก์ปากที่สี่ นางสาวอภิญญา ตันกระกูล

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นางสาวอภิญญาได้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 นายพิชชาซึ่งเป็นคนรักของนางสาวอภิญญา เล่าให้ฟังว่ามีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่นางสาวอภิญญาไม่ได้เห็นข้อความดังกล่าวด้วยตัวเองและไม่รู้จักคนที่โพสต์และแชร์ข้อความดังกล่าว นอกจากนี้นายพิชชาแจ้งว่าจะไปแจ้งความดำเนินคดี แต่นางสาวอภิญญาไม่ได้เดินทางไปแจ้งความด้วย

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: นางสาวอภิญญาได้ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ภาพที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูมี ภาพชายสวมเสื้อสีแดง สวมแว่น ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้อความมหมิ่นประมาท

    โจทก์ไม่ถามติง

    พยานโจทก์ปากที่ห้า นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นายอัจฉริยะเบิกความว่า เป็นวิศกรโยธาและเป็นประธานชมรมช่วยเหลืออาชญากรรมซึ่งเป็นชมรมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยปราบปรามผู้กระทำความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อประมาณกลางปี 2556 นายติ่ง ทัพย์เวศ เพื่อนของนายอัจฉริยะโทรศัพท์มาแจ้งว่ามีผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผู้ที่ใช้ชื่อว่าของดีไทอีสาน ชื่อผู้โพสต์คือ นายพงศธร บันทอน

    เมื่อได้เห็นข้อความดังกล่าว นายอัจฉริยะได้ปรินท์ภาพดังกล่าวออกมาและเข้าไปประสานงานกับหน่วยปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กระทรวงยุติธรรมซึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่าผู้โพสต์ได้โพสต์จากสถานที่ใด และพบว่าโพสต์อยู่ในเขตดอนเมือง สามารถตรวจสอบว่าอยู่คนโพสต์อยู่ในบ้านหลังใด เลขที่ใด เมื่อทราบสถานที่ดังกล่าวแล้วแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปอท) โดยนำข้อความและภาพบ้านหลังดังกล่าวไปมอบให้พนักงานสอบสวนด้วยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556

    ทางนายอัจฉริยะยืนยันว่า เมื่อเข้าไปดูเฟซบุ๊กชื่อว่าของดีไทอีสาน เห็นภาพของพงศธร และเชื่อว่านายพงศธรเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทด้วยตนเอง ไม่ใช่การแชร์ โดยหลังจากเห็นการโพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว นายอัจฉริยะได้เดินทางไปที่บ้านของนายพงศธรเพื่อจะไปทำร้ายร่างกายนายพงศธร นอกจากนี้นายอัจฉริยะยังให้ผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ของชมรมสืบค้นประวัติของนายพงศธร บันทอน จนทราบถึงสถานที่ทำงาน ประวัติการศึกษาและสถานที่พักอาศัย รวมถึงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: นายอัจฉริยะตอบคำถามทนายความว่า นายอัจฉริยะเพิ่งมีเฟซบุ๊กหลังเกิดเหตุคดีนี้ เฟซบุ๊กของชมรมชื่อว่า ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจสืบสวนตามกฎหมาย โดยชมรมนี้เน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กระทรวงยุติธรรม โดยผู้บัญชาการหน่วยดังกล่าวขณะเกิดเหตุ คือ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุมิ ส่วนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เข้าร่วมในการปฏิบัติงานครั้งนี้ เปิดเผยชื่อไม่ได้เนื่องจากเป็นความลับ พยานยืนยันว่าการสมัครเฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานใดในการสมัคร ดังนั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กจึงสามารถใช้ชื่อและภาพโปรไฟล์อะไรก็ได้ การรู้ข้อมูลทางโทรศัพท์และสถานที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทได้มาจากฝ่ายเทคนิคของชมรม

    อัยการไม่ถามติง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558)
  • สืบพยานโจทก์นัดที่สอง โจทก์นำพยานเข้าสืบ 2 ปาก ได้แก่ ร้อยตำรวจเอกพงศธร รักษาทิพย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานที่ทำหน้าตรวจพิสูจน์ข้อมูลทางดิจิตอลบรรดาคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ถูกยึด และ พ.ต.ท.จาตุรนต์ สุขทวี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการจับกุมนายพงศธร บันทอน

    พยานโจทก์ปากที่หก ร้อยตำรวจเอกพงศธร รักษาทิพย์

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ส่งข้อกลางจำนวน 5 ชิ้น ได้แก่ 1) คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง 2) คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ยี่ห้อแอปเปิ้ล รุ่นแม็กบุ๊คแอร์ 3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุง จำนวน 1 เครื่อง 4) หน่วยความจำ USB จำนวน 2 ชิ้น และ 5) หน่วยความจำไมโคร SD จำนวน 1 ชิ้น มาให้ร้อยตำรวจเอกพงศธรตรวจ โดยจุดประสงค์ในการตรวจแตกต่างกันในแต่ละอุปกรณ์ดังนี้
    อันดับแรก คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ส่งมาตรวจเพื่อหาข้อมูลการเข้าถึงเฟซบุ๊กของบัญชีผู้ใช้ชื่อ นายพงศธร บันทอน ว่าบันทึกอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือไม่ และมีแฟ้มข้อมูลข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ดังกล่าวอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่ รวมถึงต้องการทราบการเข้าถึงอีเมล [email protected] ว่าบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์หรือไม่ รวมถึงเป็นอีเมลที่ใช้สมัครเฟซบุ๊กหรือไม่ แต่ผลการตรวจ ไม่พบข้อมูลใด ๆ ตามที่ให้ตรวจ
    อันดับที่สอง โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุง จุดประสงค์ในการตรวจเช่นเดียวกับอันดับแรก ผลการตรวจ พบการเข้าถึงอีเมลดังกล่าวจำนวน 1 รายการเท่านั้น
    อันดับที่สาม หน่วยความจำ USB ตรวจหาแฟ้มข้อมูลข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ดังกล่าวว่าอยู่ในหน่วยความจำดังกล่าวหรือไม่ ผลการตรวจ ไม่พบข้อมูลใดๆ
    อันดับที่สี่ หน่วยความจำไมโคร SD ตรวจหาแฟ้มข้อมูลข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ดังกล่าวว่าอยู่ในหน่วยความจำดังกล่าวหรือไม่ ผลการตรวจ เนื่องจากหน่วยความจำดังกล่าวชำรุดจึงไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันใด ๆ ได้

    ประเด็นที่ทนายความจำเลยถามค้านพยาน: ร้อยตำรวจเอกพงศธรอธิบายถึงขั้นตอนในการตรวจข้อมูลดิจิตอลว่ามีวิธีการเช่นไร การที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลอาจเป็นไปได้ว่าคอมพิวเตอร์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือผู้ใช้มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาก

    ประเด็นที่โจทก์ถามติง: เหตุปัจจัยที่จะทำให้ข้อมูลหายไป อาจเกิดจากเครื่องคอมพิวเตอร์มีพื้นที่เก็บข้อมูลไม่มาก ทำให้ข้อมูลก็มีโอกาสที่จะถูกบันทึกทับได้ ซึ่งของกลางในคดีนี้มีพื้นที่เก็บข้อมูลน้อย

    พยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท.จาตุรนต์ สุขทวี

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: เมื่อเดือนตุลาคม 2557 พ.ต.ท.จาตุรนต์ ได้รับมอบหมายให้ติดตามนายนายพงศธร บันทอน จนสืบทราบว่านายพงศธรมีตัวตนจริงและปรากฎตัวอยู่ที่บริเวณซอยลาดพร้าว 107 ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 จึงได้จัดชุดตำรวจไปเฝ้าบริเวณนั้นไว้ ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลา 11.30 น. พบตัวนายพงศธรเดินออกจากบ้านเลขที่ 372 ซอยลาดพร้าว 107 แยก 26 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.จาตุรนต์และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบทั้งหมดจึงได้แสดงตัวและเข้าจับกุมนายพงศธร โดยนายพงศธรได้รับสารภาพว่าเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: พ.ต.ท.จาตุรนต์ตอบคำถามทนายความจำเลยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีข้อมูลเกี่ยวนายพงศธรเฉพาะเท่าที่ระบุไว้ตามหมายจับเท่านั้น โดยในระหว่างการจับกุม นายพงศธรให้ความร่วมมือในการจับกุมอย่างดี

    อัยการไม่ถามติง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558)
  • สืบพยานโจทก์นัดที่สาม โจทก์นำพยานเข้าสืบได้จำนวน 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ พันสิ้ว เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลางที่ตรวจลายนิ้วและประวัติอาชญากรรมของจำเลยในคดีนี้, นายธนิต ประภาตนันท์ ผู้ตรวจสอบข้อมูลเฟซบุ๊ก และ ร.ต.ท.กง ไม่เศร้า พนักงานสอบสวนในคดีนี้

    พยานโจทก์ปากที่แปด พ.ต.ท หญิง สุภวรรณ พันสิ้ว

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ ได้เบิกความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจลายนิ้วมือ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ ได้รับหน้งสือจากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยหนังสือดังกล่าวได้สั่งให้ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของนายปิยะว่า มีลักษณะตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือที่ปรากฎในคำขอมีบัตร บัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนที่เขตดอนเมือง ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 หรือไม่ ผลการตรวจปรากฎว่า ลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสองมีลักษณะพิเศษของลายเส้นตรงกัน จึงลงความเห็นว่าเป็นลายนิ้วมือของบุคคลเดียวกัน

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ ตอบคำถามทนายจำเลยว่า แม้ว่าในเอกสารลายพิมพ์นิ้วมือของนายพงศธรจะมีความซีดจางอยู่บ้างก็ยังสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงลักษณะเด่นของลายนิ้วมือไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของบุคคล นอกจากนี้ตลอดการทำงานมาพบว่าบุคคลแต่ละคนมีลายพิมพ์นิ้วมือไม่ซ้ำกันแต่อย่างใด โดยในการตรวจสอบใช้ทั้งสายตา กล้องขยายและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

    ประเด็นที่โจทก์ถามติง: พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ ตอบคำถามโจทก์ว่า ในการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือสามารถใช้ทั้งกล้องขยายและแว่นขยายร่วมในการตรวจสอบได้

    พยานโจทก์ปากที่เก้า นายธนิต ประภาตนันท์

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: นายธนิตเบิกความว่า เป็นข้าราชการสังกัดสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับหนังสือจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบว่า ผู้ใดเป็นลงทะเบียนใช้เฟซบุ๊กชื่อว่านายพงศธร บันทอน และ Tui fishing มีการแจ้งใช้งานอยู่ที่ใด และปัจจุบันมีการใช้งานอยู่หรือไม่ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้ง 2 รายการ ผลการตรวจปรากฎว่า ไม่สามารถตรวจหาข้อมูลใด ๆ ได้เลย

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน: นายธนิตตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในการสมัครเฟซบุ๊กนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ชื่อตนเองก็ได้ ภาพโปรไฟล์ก็สามารถใช้ของบุคคลอื่นได้ โดยประสบการณ์การทำงานมาได้พบเจอการปลอมเฟซบุ๊กที่สร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของภาพและผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ถูกปลอม นอกจากนี้ พยานยังตอบทนายจำเลยในประเด็นการตรวจสอบไอพีแอดเดรสและการแฮ็คเฟซบุ๊ก

    ประเด็นที่โจทก์ถามติง: นายธนิตตอบคำถามโจทก์เกี่ยวกับการตรวจสอบและการลบไอพีแอดเดรส

    พยานโจทก์ปากที่สิบ ร.ต.ท.กง ไม่เศร้า

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบโจทก์: ร.ต.ท.กง เบิกความว่า ได้รับแจ้งความของนายอัจฉริยะเกี่ยวกับการพบเห็นบุคคลโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และได้สอบปากคำนายอัจฉริยะไว้ ต่อมาจึงได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน ผลการตรวจสอบ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เนื่องจากเว็บไซต์เฟซบุ๊กอยู่ต่างประเทศ ร.ต.ท.กง ยังได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าวเองและไม่พบข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าว เนื่องจากถูกลบไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบว่า นายพงศธร บันทอนมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ผลการตรวจสอบปรากฎว่า นายพงศธรเคยมีชื่ออยู่ที่เขตดอนเมืองแต่ถูกจำหน่ายชื่อออกตั้งแต่ปี 2547 เมื่อตรวจสอบหาเจ้าของบ้าน กลับพบว่าเจ้าของบ้านปัจจุบันไม่รู้จักนายพงศธร เพราะซื้อบ้านมาหลังจากที่จำหน่ายชื่อออกแล้ว

    ต่อมา ร.ต.ท.กง จึงไปขออนุมัติออกหมายจับต่อศาลโดยระบุหมายจับว่า บุคคลที่ใช้ชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” และได้ดำเนินการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของนายพงศธร บันทอน พบว่ามีการยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรโดยเปลี่ยนชื่อ จากนั้นก็ได้ส่งลายนิ้วมือดังกล่าวไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อตรวจว่ามีตรงข้อมูลในสารบบหรือไม่ ปรากฎว่าไม่พบ

    ต่อมา ในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการสันติบาลสามารถจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับได้และนำมามอบตัวกับ ร.ต.ท.กง จากนั้นก็ได้เริ่มสอบคำให้การจำเลย และจำเลยให้การภาคเสธ โดยยอมรับว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธ บันทอน แต่ไม่ได้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ก็เคยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในลักษณะนี้หลายครั้งมาแล้ว จำเลยยังระบุว่าใช้อีเมลชื่อ [email protected] แต่ไม่มีหลักฐานใดระบุได้ว่าจำเลยคือนายพงศธร มีเพียงแต่บัตรประจำตัวนักศึกษา ชื่อว่า นายปิยะ แต่ตรวจพบว่าจำเลยมีการเปลี่ยนชื่ออยู่หลายครั้ง หลังจากนั้น ร.ต.ท.กงได้รวบรวมพยานหลักฐานว่านายปิยะ กับนายพงศธร เป็นบุคคลคนเดียวกัน

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยาน : ตลอดประสบการณ์การทำงาน เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มักจะไม่ใช่ชื่อจริงและภาพจริง ๆ ของบุคคลนั้น และเนื่องจากเฟซบุ๊กมีสำนักงานอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้

    ประเด็นที่โจทก์ถามติง: tui fishing ซึ่งแชร์ข้อความดังกล่าวก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นกัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา และคำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 )
  • พยานจำเลยมีเพียงตัวจำเลยเอง ซึ่งเบิกความต่อศาลมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    ประเด็นที่พยานเบิกความตอบทนายจำเลย: เดิมจำเลยชื่อนายปิยะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายพิศลย์ ปัจจุบันชื่อนายวิวรรธน์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเพื่อเสริมดวงชะตา ต่อมาประสบปัญหาทางธุรกิจจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนายทองจันทร์ บันทอนและนายพงศธร บันทอน โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยทำงานเกี่ยวกับการประสานงานและเขียนโปรแกรมเบื้องต้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่แอนดรอยด์

    โดยในช่วงปี 2553-2554 จำเลยใช้เฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธร บันทอน (siamid) ซึ่งคนละเฟซบุ๊กกับบัญชืชื่อ นายพงศธร บันทอน ต่อมาได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "piya ......" และเหตุที่ยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กบัญชี [email protected] เนื่องจากเป็นภาพโปรไฟล์ของเฟซบุ๊ก นายพงศธร บันทอน (siamid)

    ราวปี 2557 คนรักของจำเลยได้เสิร์ชหาภาพของจำเลยทาง search engine จึงพบภาพดังกล่าว จำเลยจึงได้ส่งอีเมลแจ้งให้กูเกิ้ลช่วยลบภาพดังกล่าว จำเลยเคยสืบทราบว่ามีบุคคลอื่นเคยแอบแฮ็คเฟซบุ๊กของจำเลย แต่ไม่ได้สนใจและไม่เปลี่ยนรหัสผ่าน รวมทั้งไม่ได้แจ้งความแต่อย่างใดเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าเป็นใคร

    จำเลยไม่เคยใช้ชื่อนายพงศธร บันทอน แจ้งในระบบทะเบียนราษฎร์ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกรณีสวมใช้ชื่อนายทองจันทร์ บันทอนและนายพงศธร บันทอน ทำบัตรประชาชน

    การที่สารภาพในชั้นจับกุม เนื่องจากตำรวจสันติบาลได้นำหมายจับมาแสดงแต่ไม่ได้นำข้อความและภาพตามฟ้องมาให้จำเลยดู จึงรับกับตำรวจเพียงว่า เป็นบุคคลตามหมายจับ จำเลยไม่เคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่า เคยโพสต์ข้อความจาบจ้วงหมิ่นพระมหากษัตริย์เมื่อประมาณปี 2551 โดยให้การเพียงแต่ว่าเคยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความดังกล่าวในปีเดียวกันเท่านั้น และยืนยันว่าจำเลยไม่เคยโพสต์ข้อความดังกล่าว

    ประเด็นที่โจทก์ถามค้านพยาน: จำเลยเพิ่งทราบว่าชื่อที่จำเลยสวมชื่อนั้นถูกจำหน่ายเนื่องเสียชีวิต เมื่อถูกดำเนินคดีในคดีนี้ จำเลยเป็นผู้ขอบัตรประชาชนในนามนายทองจันทร์ บันทอน ขอครั้งแรกที่อำเภอบุณฑริก ต่อบัตรประชาชนดังกล่าวหายเนื่องจากจำเลยถูกล้วงกระเป๋า และพอบัตรหมดอายุ จำเลยก็ไม่ได้ไปแจ้งความว่าบัตรหาย จำเลยจึงใช้บัตรนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แสดงตัวแทน

    เฟซบุ๊กที่จำเลยใช้ในบัญชีชื่อว่า นายพงศธร บันทอน (siamid) ใช้อีเมล [email protected] เป็นอีเมลแอดเดรส โดยตั้งแต่ใช้เฟซบุ๊กมาจำเลยมี 2 บัญชีด้วยกันคือ นายพงศธร บันทอน (siamid) และ piya ......

    หลังพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่ได้อ่านรายละเอียดการสอบปากคำให้จำเลยฟังเลย เนื่องจากรีบส่งจำเลยไปฝากขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

    ประเด็นที่ทนายจำเลยถามติง: พนักงานสอบสวนเริ่มสอบปากคำจำเลยหลังเวลา 17.00 น. และสอบเสร็จเวลา 20.00 น. ก่อนจำเลยจะถูกนำไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลในเช้าของวันที่ 13 ธันวาคม 2557

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องแถลงการณ์ปิดคดีความว่า

    1. พยานโจทก์ทุกปาก ไม่มีผู้ใดเคยเข้าถึงโพสต์ภาพของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “นายพงศธร บันทอน(Siamaid)” โดยตรงเลย พบเห็นเพียงภาพที่ถูกตัดต่อแล้วจากบัญชีเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นและโพสต์โดยคนอื่นเท่านั้น พยานเหล่านั้นจึงไม่ใช่ประจักษ์พยาน เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่น่าเชื่อถือ และไม่มีน้ำหนักพอ
    2. บัญชีเฟซบุ๊กสามารถทำปลอมขึ้นได้ทั้งการนำภาพมาใช้เป็นภาพประจำตัวและการใช้ชื่อบุคคลอื่นก็สามารถทำได้
    3. โจทก์ไม่มีหมายเลข ไอพีแอดเดรส อันเป็นหลักฐานสำคัญในการระบุตัวผู้กระทำผิด และไม่มี URL ของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน(Siamaid)” อันจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีอยู่จริง ผลการพิสูจน์ของกลางไม่พบข้อมูลการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ไม่พบแฟ้มข้อมูลที่มีพระบรมฉายาลักษณ์หรือข้อความตามฟ้อง รวมทั้งไม่มีข้อมูลการเข้าถึงอีเมล "[email protected]" ที่บันทึกการเข้าถึงเพื่อสมัครเฟซบุ๊ก ซึ่งล้วนแต่เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย

    จากเหตุผลดังกล่าว เห็นได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องของโจทก์ ขอศาลพิจารณายกฟ้อง

    (อ้างอิง: คำร้องแถลงการณ์ปิดคดี ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558)
  • ศาลแจ้งว่า จะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 20 มกราคม 2559 เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ จึงอยู่ระหว่างการปรึกษากับอธิบดีศาลอาญา

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2558)
  • ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า ศาลรับฟังพยานโจทก์ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาขญากรรม ผู้แจ้งความร้องทุกข์ที่อ้างว่าตนเป็นประจักษ์พยาน นำข้อความจากเฟซบุ๊ก "พงศธร บันทอน" มาแจ้งความ ไม่ใช่ภาพที่แชร์ต่อกันมา ศาลยังรับฟังพยานโจทก์ ร.ต.ท.กง ไม่เศร้า พนักงานสอบสวน ที่เบิกความว่า จำเลยมีการจำหน่ายชื่อ ปลอมแปลงชื่อ สวมบัตร ส่อเจตนาว่าประสงค์จะปกปิดตัวตน โดยไม่เชื่อที่จำเลยอ้างว่า ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "พงศธร บันทอน" เพียงแค่ปีเดียว

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักพอจะหักล้างพยานโจทก์ได้ และเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ. ศ. 2550 มาตรา 14(3)(5) อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุกจำเลย 9 ปี ทั้งนี้ คำให้การชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลย 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี

    ทนายความผู้รับผิดชอบสำนวนมีความเห็นว่า พยานปากนายอัจฉริยะเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ให้การกลับไปกลับมา คำให้การบางส่วนขัดแย้งกันเอง และไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

    ทนายความยังให้ความเห็นอีกว่า ในคดีนี้มีการยึดของกลาง คือ คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย แต่ไม่ปรากฏ IP Address หรือร่องรอยที่เชื่อมโยงได้ว่าจำเลยโพสต์ หรือเข้าถึงโพสต์ที่เป็นความผิดจริง หลักฐานชิ้นเดียวที่ปรากฏว่ามีการโพสต์ข้อความที่เป็นความผิดบนเฟซบุ๊ก "พงศธร บันทอน" คือ ภาพบันทึกหน้าจอที่ผ่านการตัดต่อเพื่อรวมเป็นภาพเดียว ไม่ใช่ภาพต้นฉบับแต่อย่างใด ซึ่งคยมีผู้แสดงความเห็นว่าภาพบันทึกหน้าจอไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากทุกคนสามารถเปิดและแก้ไขตกแต่งเพิ่มเติมภาพนั้นได้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.157/2559 ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/01/20/piya_judgement/)
  • จำเลยยื่นอุทธรณ์ใน 5 ประเด็น

    1. พยานโจทก์ไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้ว่า บัญชีเฟซบุ๊ก "นายพงศธร บันทอน (siamaid)" มีอยู่จริงและไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่ามีการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "นายพงศธร บันทอน (siamaid)"

    2. พยานหลักฐานโจทก์ไม่มียูอาร์แอล ( URL) บ่งชี้ต้นทางของโพสต์ข้อความที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในบัญชีเฟซบุ๊ก "นายพงศธร บันทอน(siamaid)" มาแสดงให้ประจักษ์ชัดต่อศาลชั้นต้นว่าข้อความนั้นมีอยู่จริงในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และไม่มีหมายเลข ไอพีแอดเดรส อันเป็นหลักฐานวำคัญในการระบุตัวว่าข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์จึงไม่สามารถบ่งชี้ยืนยันได้ว่าข้อความตามฟ้องมีอยู่จริงในบัญชีเฟซบุ๊ก "นายพงศธร บันทอน (siamaid)" และไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อความตามฟ้องดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลย

    3. กรณีไม่ทราบหมายเลข ไอพีแอดเดรส ร่องรอยการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ย่อมเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี แต่จากการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีนี้พบว่าในเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และหน่วยความจำชนิด USB ของจำเลย ไม่มีร่องรอยการใช้งานการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้ชื่อ "นายพงศธร บันทอน (siamaid)" หรือแฟ้มข้อมูลที่มีพระบรมฉายาลักษณ์หรือข้อความตามฟ้อง อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด

    4. บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถทำปลอมขึ้นได้ ทั้งการนำภาพมาใช้เป็นรูปประจำตัวและการใช้บุคคลอื่นบุคคลทั่วไปย่อมสามารถกระทำปลอมขึ้นได้

    5. ภาพที่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นภาพที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นเพียงภาพที่เกิดจากการถ่ายภาพจากหน้าจอโทรศัพท์และผ่านการตัดต่อนำมาเรียงกันเป็นจำนวนสี่ภาพเท่านั้น มิได้แสดงระบบบันทึกการสร้างข้อมูลภาพ การเก็บรักษาข้อมูล และการเรียกข้อมูลภาพดังกล่าว จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีความน่าเชื่อถือและสามารถทำปลอมขึ้นได้โดยทั่วไป

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำ อ.747/2558 คดีหมายเลขแดง อ.157/2559 วันที่ 21 กรกฏาคม 2559)
  • อัยการยื่นแก้อุทธรณ์โจทก์ดังนี้

    1. โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ให้การยอมรับเองว่า จำเลยใช้ชื่อในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี นายพงศธร บันทอน (siamaid) ในปี พ.ศ.2553 ถึงปี 2554 ใช้ภาพถ่ายของจำเลยเป็นรูปโปรไฟล์และปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่และก็ยังใช้งานอยู่เป็นประจำ (ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย) จำเลยไม่เคยปฏิเสธเลยว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมิได้มีอยู่จริง นอกจากนี้โจทก์ยังมี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อว่า ของดีไทอีสาน พบว่ามีภาพของ นายพงศธร บันทอน เป็นคนโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ โดยพยานได้ยืนยันว่าเป็นผู้พบเห็นโดยตรง เพราะเหตุนั้นพยานจึงขอเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับเฟซบุ๊กผู้ใช้ชื่อ นายพงศธร บันทอน เพื่อสืบหาตัวเจ้าของเฟซบุ๊ก และพยานยังได้ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ นายพงศธร บันทอน จนสามารถตรวจสอบได้ว่า จำเลยมีเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้ชื่อ Vincent Wang ด้วย ซึ่งจำเลยก็ได้รับว่า เป็นชื่อเฟซบุ๊กของจำเลยอีกบัญชีหนึ่งเช่นกัน

    2. โจทก์ขอเรียนว่า แม้โจทก์ไม่สามารถหายูอาร์แอล (URL) บ่งชี้ต้นทางของโพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กนายพงศธร บันทอน (siamaid) มาแสดงต่อศาล และไ่ม่มีหมายเลขไอพี แอดเดรส แต่โจทก์มีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์เป็นประจักษ์พยานให้การยืนยันกับพนักงานสอบสวนว่า พยานเห็นข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเฟซบุ๊กของ นายพงศธร บันทอน โดยตรง ซึ่งเฟซบุ๊กดังกล่าวก็มีภาพถ่ายตัวจริงของจำเลยปรากฏอยู่ด้วย พยานไม่รู้จักกับจำเลย แต่เฟซบุ๊กดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถขอไอพีแอดเดรสได้ พยานได้ทำการตรวจสอบโดยพิมพ์ภาพและข้อความไปให้หน่วยปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ทำการตรวจสอบจนรู้ว่า บ้านพักอศัยอยู่ในเขตดอนเมือง จนนำมาถึงการตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธร บันทอน ซึ่งชื่อดังกล่าวไม่ใช่ชื่อแท้จริงของจำเลยแต่เป็นชื่อของผู้อื่นที่สำนักงานเขตได้จำหน่ายชื่อออกไปแล้ว จำเลยใช้ชื่อบุคคลอื่นในเฟซบุ๊กของตนแสดงถึงการต้องการปกปิดความผิด หากจำเลยโพสต์ข้อความอันเป็นความผิด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าอาจมีผู้กลั่นแกล้งจำเลยนั้น เห็นว่าจำเลยมิได้บอกว่าเป็นผู้ใดและหากผู้ใดจะกลั่นแกล้งใช้เฟซบุ๊กของจำเลยแล้ว ผู้นั้นต้องรู้อีเมลและรหัสผ่านเข้าใช้เฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งจำเลยเองมิได้บอกว่ามีใครสามารถรู้รหัสผ่านเข้าใช้เฟซบุ๊กของจำเลยได้บ้างและโดยวิธีใด จำเลยมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ จำเลยย่อมทราบดีถึงระบบรักษาความปลอดภัยของการใช้เฟซบุ๊กของตน จึงเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะมีบุคคลสามารถล่วงรู้และเข้าเฟซบุ๊กของจำเลยและโพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยได้ การที่จำเลยแจ้งต่อกูเกิ้ลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 หลังจากเกิดเหตุเกือบ 1 ปี ทั้งที่การโพสต์ข้อความเป็นความผิดแต่กลับไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์จึงเป็นการผิดปกติวิสัย

    3. จำเลยประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมประเภทแอนดรอยด์ย่อมสามารถมีความรู้ความเข้าใจการใช้และการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่กระทำความผิดถึงระยะเวลาที่จำเลยถูกจับกุม จำเลยย่อมมีระยะเวลาในการลบร่องรอยการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่พิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ได้ และการลบข้อมูลที่โพสต์นั้นทำให้มีพิรุธว่า อาจมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้วจึงต้องลบ

    4.จำเลยมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ หากมีผู้ปลอมเฟซบุ๊กของจำเลยจริง จำเลยย่อมทราบและทำการแก้ไขหรือแจ้งต่อทางเฟซบุ๊กต้นสังกัดไว้เป็นหลักฐาน จำเลยย่อมสามารถนำหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเฟซบุ๊กของจำเลยมีผู้ปลอมหรือมีผู้นำข้อความหรือรูปภาพมาโพสต์ลง มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย แต่กรณีนี้จำเลยกล่าวอ้างแต่เพียงลอย ๆ ทั้งนี้ เฟซบุ๊กนี้เป็นของจำเลย มีรูปภาพจำเลยปรากฏอยู่ ซึ่งผิดปกติวิสัยที่จำเลยจะปล่อยให้มีบุคคลอื่นเข้ามากระทำผิดโดยอาศัยเฟซบุ๊กของจำเลย

    5. แม้ภาพหลักฐานที่นำมาเรียงต่อกันเป็นภาพที่ถ่ายจากหน้าจอ และต่อมาเฟซบุ๊ก นายพงศธร บันทอน (siamaid) ได้มีการลบบัญชีดังกล่าวออกจากโปรแกรมเฟซบุ๊กแล้ว หากไม่ทำการบันทึกไว้ย่อมยากที่จะดำเนินคดีกับจำเลย อีกทั้งพยานทั้งสามปาก มีที่อยู่คนละแห่ง คนละจังหวัด และไม่รู้จักกัน แต่ได้พบการกระทำผิดของจำเลยเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานนี้จึงน่าเชื่อถือและพิสูจน์การกระทำความผิดลงโทษจำเลยได้

    (อ้างอิง: คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.157/2559 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)
  • เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เร็วกว่าที่กำหนดนัดที่แจ้งไว้ 10.00 น. ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยคำพิพากษามีใจความว่า ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามคนต่างเปิดเฟซบุ๊ก พบภาพตามเอกสารท้ายฟ้อง เป็นลักษณะ 4 ภาพ ย่อยมาประกอบเป็นภาพเดียว

    พยานโจทก์ดังกล่าว ต่างพบเห็นภาพในคดีนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กบัญชีผู้ใช้ของบุคคลอื่น มิใช่เฟซบุ๊กของจำเลย แม้โจทก์จะมีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เบิกความว่า ได้เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีนายพงศธร บันทอน และพบเห็นภาพในคดีนี้โดยถ่ายภาพหน้าจอไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพเต็มหน้าจอ กับไม่มี URL ให้สืบค้นแหล่งที่มา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ภาพถ่ายหน้าจอดังกล่าวมาจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์

    อีกทั้ง พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ภาพดังกล่าวเป็นลักษณะ 4 ภาพ นำมาเรียงเป็นภาพเดียว ด้านบน 2 ภาพ และด้านล่าง 2 ภาพ มิได้มีลักษณะเรียงเป็นแนวดิ่ง ซึ่งเป็นการโพสต์โดยปกติ แสดงว่าภาพในคดีนี้ไม่ได้แชร์ต่อกันจากผู้โพสต์คนแรกโดยตรง แต่มีผู้รวบรวมขึ้นภายหลัง อย่างไก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพที่ถูกโพสต์ในคดีนี้ ส่วนที่เป็นใบหน้าของจำเลยตรงกับภาพที่ปรากฏในหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยเอง ตามที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้กับพนักงานสอบสวน

    เมื่อเดือนมีนาคม 2544 จำเลยใช้ชื่อทองจันทร์ บันทอน ขอออกบัตรประชาชนใหม่ แล้วขอเปลี่ยนชื่อเป็นพงศธร ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของจำเลย อันเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยมิได้ปรากฏเหตุผล หรือความจำเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะปกปิดตนเอง เพื่อกระทำการบางอย่างโดยมิชอบ

    คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยยอมรับว่า ประกอบอาชีพเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ จำเลยทราบว่ามีผู้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กของจำเลย แต่ไม่สนใจและไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่าน รวมถึงไม่ได้ไปแจ้งต่อตำรวจ เพียงแต่แจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลเพื่อให้ตรวจดูภาพที่ไม่เหมาะสมและลบออก

    ต่อมา กูเกิลลบภาพและข้อความบางส่วน ยังคงเหลือภาพและข้อความในคดีนี้ โดยจำเลยยังคงใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นประจำและจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างคำให้การในส่วนนี้ จึงเชื่อว่าจำเลยให้การตามความเป็นจริง

    พิจารณาถึงอาชีพของจำเลยที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊กเป็นอย่างดี จำเลยยอมรับว่าใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอนมาตลอด และพบเห็นภาพในคดีนี้ แต่อ้างว่ามีผู้อื่นเข้ามาใช้เฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอย ๆ และง่ายต่อการกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ และใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวตลอดมา และไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้ที่มาใช้เฟซบุ๊กของจำเลยทั้งที่เป็นเรื่องร้ายแรงเป็นที่ผิดปกติวิสัย

    ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า เหตุที่ไม่ได้แจ้งต่อพนักงานตำรวจ เพราะจำเลยเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแอบอ้างใช้ชื่อนายพงศธร บันทอนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบได้อย่างไรว่ามีการดำเนินคดีกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งความร้ายแรงของความผิดก็ต่างกัน ไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างได้ ตามที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เคยแจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออก แต่ยังเหลือข้อความในคดีนี้ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลว่าเหตุใดจึงลบออกไม่ได้ อีกทั้งการแจ้งกูเกิลให้ลบออกยังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2557 หลังการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า เพิ่งทราบว่ามีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความไม่เหมาะสมเมื่อปี 2557 โดยคนรักของจำเลยมาบอก จำเลยก็ไม่ได้นำคนรักของจำเลยมาเบิกความยืนยัน อีกทั้งไม่เคยให้การเช่นนั้นต่อพนักงานสอบสวน

    ส่วนการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่ยึดมาจากจำเลย ไม่พบประวัติการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กนายพงศธร บันทอน และภาพพระบรมฉายาลักษณ์นี้ ก็เพราะการตรวจยึดเกิดขึ้นหลังเวลาเกิดเหตุถึงหนึ่งปีเศษ ซึ่งจำเลยได้แจ้งลบข้อความต่อกูเกิลไปก่อนถูกจับแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีว่ามีการติดตามการกระทำของจำเลย และย่อมไม่เก็บพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้กับตัว ดังนั้น แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่วินิจฉัยมามีน้ำหนักเพียงพอชี้ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความตามฟ้องโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธร บันทอน

    การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

    คดีถึงที่สุด หลังโจทก์และจำเลยไม่ยื่นฎีกา

    (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=4141 และหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.157/2559 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายปิยะ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายปิยะ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายเกษม เวชศิลป์
  2. นางสาวอักษราภัค สารธรรม

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 20-01-2016

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายปิยะ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ธัญวรัตน์ วีรเดชกำแหง
  2. ปกรณ์ ประเสริฐศักดิ์
  3. ธวัชชัย เชษฐวงศ์รัตน์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 27-04-2017

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์