สรุปความสำคัญ

อัญชัญถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 หลังอยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกรวม 6 วัน อัญชัญถูกส่งตัวให้ดีเอสไอดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ต่อมา อัยการทหารยื่นฟ้องอัญชัญรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 57 ถึง 24 ม.ค. 58 อัญชัญให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล

ศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้อัญชัญถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อปลายปี 2561 และต่อมา คดีถูกโอนย้ายมาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม ซึ่งทำให้อัญชันสามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาได้

คดีอัญชัญเป็นตัวอย่างปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร โดยหลังจากยื่นฟ้องจนกระทั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลยุติธรรมเป็นเวลากว่า 4 ปี ศาลทหารสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 7 ปาก น่าสังเกตด้วยว่า อัญชัญเป็นหนึ่งในจำเลย 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "เครือข่ายบรรพต" ที่จัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” แต่อัญชัญถูกฟ้องมากที่สุดถึง 29 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว "บรรพต" เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อัญชัญ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • อื่นๆ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • อัญชัญ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

25 ม.ค. 2558 เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนยาว และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 4-5 นาย เข้าปิดล้อมบ้านและซอยเข้าบ้านอัญชัญในเขตตลิ่งชัน จากนั้น เข้าควบคุมตัวอัญชัญ พร้อมยึดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กครอนิคส์และทรัพย์สินอื่นหลายรายการ

ขณะเข้าควบคุมตัวอัญชัญกำลังสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยมีน้องสาว ลูกน้อง และลูกค้า รวม 7 คน อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย เจ้าหน้าที่ที่เข้าควบคุมตัวไม่แจ้งชื่อและสังกัด และไม่แจ้งว่าจะควบคุมอัญชัญไปที่ไหน อีกทั้งเมื่อน้องสาวจ้างให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ตาม ก็ถูกทหารห้ามไม่ให้ตาม จากนั้น สามีและญาติก็ไม่สามารถติดต่ออัญชัญได้ รวมถึงไม่ได้รับการติดต่อกลับมาว่า อัญชัญถูกควบคุมตัวไปอยู่ที่ใด

ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. 58 ศูนย์ทนายฯ ซึ่งได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากสามีอัญชัญ ได้โทรศัพท์ติดต่อกองพลทหารราบ ที่ 9 (จ.กาญจบุรี) บก.พุทธมณฑล ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ขอให้เช็คสถานะอัญชัญ และแจ้งว่าญาติประสงค์เข้าเยี่ยม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและแจ้งว่าอัญชัญอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎอัยการศึก ปลอดภัยดี แต่ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัว ทั้งไม่ให้ญาติหรือทนายความติดต่อกับผู้ถูกควบคุมตัว

สามีอัญชัญยังให้ข้อมูลด้วยว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอัญชัญไป มีกลุ่มคนแปลกหน้ามาเฝ้าบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งเหลือเขาอาศัยอยู่คนเดียว ทำให้เขาเกิดความวิตกกังวล เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงออกจากบ้านไปพักอยู่ที่อื่น

วันที่ 30 ม.ค. 58 วันที่ 6 ของการควบคุมตัวอัญชัญในค่ายทหาร โดยญาติไม่สามารถติดต่อหรือทราบสถานที่ควบคุมตัว ทหารจึงนำตัวอัญชัญไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินคดี ตามที่ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาอัญชัญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูบ รวม 4 ครั้ง ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม อัญชัญให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในวันเดียวกัน โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว อัญชัญจึงถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีอีกเกือบ 4 ปี ก่อนได้รับการประกันตัว

อัญชัญให้ข้อมูลในภายหลังถึงเหตุการณ์ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหารว่า ช่วง 3 วันแรก เธอถูกนำตัวไปซักถาม มีเจ้าหน้าที่มาซักถาม 2 ชุด ชุดละ 2 ครั้ง โดยเธอไม่รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหนบ้าง เพราะไม่ได้แต่งเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่นั่งล้อมรอบและให้เธอนั่งตรงกลาง การซักถามแต่ละครั้งใช้เวลานาน เจ้าหน้าที่ชุดแรกมีการพูดข่มขู่ด้วย เนื้อหาที่ซักถามส่วนใหญ่ถามถึงบรรพต อัญชัญกล่าวว่า เธอถูกปิดตาตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อถูกนำตัวไปขังในห้อง ซึ่งมีเธอเพียงคนเดียว ห้องมีหน้าต่างแต่ไม่ได้เปิด มีเจ้าหน้าที่หญิงคอยเฝ้า และมีอาหารให้กินวันละ 3 มื้อ

2 ก.พ.2558 โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 6 คน โดยกล่าวว่า ทั้งหกเป็นสมาชิกของ “เครือข่ายบรรพต” มีจุดมุ่งหมายในการใช้สื่อออนไลน์ยุงยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและความเกลียดชังขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการหมิ่นสถาบัน เครือข่ายนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีระดับชั้นของการทำงานและการสั่งการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นผู้นำ เป็นผู้ผลิตแนวคิดในรูปของสื่อซีดี คลิปเสียง และบทความ ระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งรับฟังและช่วยกันเผยแพร่แนวคิดตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป และบล็อก ระดับแนวร่วม มีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยในการแถลงข่าวมีนำเสนอผัง "เครือข่ายบรรพต" ด้วย และอัญชัญถูกระบุว่า เป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Petch Prakery และเป็นผู้ดูแลด้านการเงินของเครือข่ายทั้งที่ได้จากการขายสินค้าต่างๆ และรับการสนับสนุนมาจากบุคคลในเครือข่าย

โฆษก สตช. กล่าวด้วยว่า พวกเขามีการพบปะหรือประชุมลับกันอยู่เป็นระยะ และในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะพยายามใช้ข้อมูลจริงเพียงบางส่วนมาผสมกับข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลเท็จที่ตรวจสอบได้ยาก

ในจำนวน 6 ราย ที่โฆษก สตช.แถลงข่าว มีธาราและอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ที่ถูกจับกุมในวันเดียวกัน จากนั้นถูกส่งตัวให้ดีเอสไอดำเนินคดี ส่วนอีก 4 ราย ทยอยถูกจับกุม และหลังการควบคุมตัวของทหารทั้งสี่ถูกส่งตัวให้กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินคดี

19 มี.ค. 58 พนักงานสอบสวนดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาอัญชัญเพิ่มเติมถึงในทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งไม่มีทนายความที่ไว้ใจเข้าร่วม โดยกล่าวหาว่า อัญชัญอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูบ ในระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 2557- 24 ม.ค. 2558 รวม 26 ครั้ง อัญชัญให้การรับสารภาพ

(อ้างอิง: สอบข้อเท็จจริง โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วันที่ 28 มกราคม 2558, คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 และ https://prachatai.com/journal/2015/02/57744)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 23-04-2015
อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอัญชัญต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาตามคำฟ้องของอัยการทหาร คือ จำเลยได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียง ของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
วันที่ : 02-11-2018
หลังญาติและทนายยื่นประกันตัวอัญชัญหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน เมื่อวาน (1 พ.ย. 2561) ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวอัญชัญอีกครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 500,000 บาท และศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่เนื่องจากติดต่อพี่ชายซึ่งเป็นนายประกันไม่ได้ และดำเนินการอายัดสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารไม่ทัน อัญชัญจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงค่ำวันนี้
 
วันที่ : 19-07-2019
ศาลทหารกรุงเทพแจ้งคู่ความว่า เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยในข้อที่ 2 กำหนดให้การกระทำความผิดตามประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆ ไปยังศาลยุติธรรม ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยสัญญาประกันยังมีผลต่อไป
 
วันที่ : 17-02-2020
ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน เดิมทีก่อนที่จะมีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม ศาลทหารกรุงเทพได้ทำการสืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งหมด 7 ปาก ในนัดนี้ อัยการแถลงว่า จะขอสืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก ด้านจำเลยและทนายจำเลยระบุว่า จะขอสืบพยานจำเลยรวม 2 ปาก ทั้งนี้ โจทก์และจำเลยได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2563 โดยศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับเช่นเดียวกับศาลทหาร โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ภูมิหลัง

  • อัญชัญ (สงวนนามสกุล)
    ข้าราชการวัยใกล้เกษียณขณะถูกจับกุมดำเนินคดี มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน, ความดัน และโรคภูมิแพ้ ต้องกินยาเป็นประจำ ประกอบอาชีพเสริมคือ ทำธุรกิจขายตรงแอมเวย์

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • อัญชัญ (สงวนนามสกุล)
    การถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การประกันตัวนานเกือบ 4 ปี ส่งผลให้อัญชัญต้องแยกทางกับสามี สูญเสียสิทธิประโยชน์จากการเกษียณราชการ ทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์