ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 120ก./2558 (อ. 3065/2562 )

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม (บก.ปอท.) (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 120ก./2558 (อ. 3065/2562 )
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม (บก.ปอท.)

ความสำคัญของคดี

อัญชัญ ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูบ ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 57 ถึง 24 ม.ค. 58 จำนวน 19 คลิป รวม 29 ครั้ง ในการซักถามในค่ายทหารและชั้นสอบสวน ซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม อัญชัญให้การรับสารภาพ แต่ในชั้นศาลเธอให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี

อัญชัญไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหลายประการ ทั้งการพิจารณาคดีในศาลทหารซึ่งมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระและความล่าช้าในการพิจารณาคดี โดยใช้เวลากว่า 4 ปี สืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 7 ปาก การไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลาเกือบ 4 ปี และการพิจารณาคดีเป็นการลับ แม้เมื่อคดีถูกโอนย้ายมาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องของอัยการศาลทหารกรุงเทพระบุว่า จำเลยเป็นพลเรือนที่กระทำความผิดในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวโดยสรุปดังนี้

เมื่อวันที่ 12, 13, 15, 18, 22, 26 และ 29 พ.ย., วันที่ 2, 6, 9, 13 และ 16 ธ.ค. 2557, วันที่ 3, 6,10, 13, 14, 15, 17 และ 20 ม.ค. 2558 ถึงวันที่ 24 ม.ค. 2558 และเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2558 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน อันเป็นวันเวลาที่อยู่ระหว่างประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยนำไฟล์และคลิปข้อความเสียง ของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' จำนวน 19 คลิป อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ตลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้ฟังคลิปข้อความเสียงดังกล่าวแล้ว ย่อมเข้าใจว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท

การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน และเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวัน 23 เมษายน 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • วันที่ 6 ของการควบคุมตัวอัญชัญในค่ายทหาร ทหารได้นำตัวอัญชัญไปส่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินคดี ตามที่ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาอัญชัญ โดยกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1)(3)(5) จากอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ในยูทูบ 2 บัญชี และเฟซบุ๊ก 1 บัญชี รวม 4 ครั้ง

    ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม อัญชัญให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในวันเดียวกัน โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    ต่อมา ญาติได้ยื่นประกันตัว โดยใช้เงินสดจำนวน 400,000 บาท เป็นหลักประกัน แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า เนื่องจากอยู่ระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก เกรงว่าหากอนุญาตแล้วจำเลยจะไปก่อเหตุที่เป็นความผิดซ้ำอีก อัญชัญจึงถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 30 ม.ค. 2558)
  • พนักงานสอบสวนดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาอัญชัญเพิ่มเติมถึงในทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งไม่มีทนายความที่ไว้ใจเข้าร่วม โดยกล่าวหาว่า อัญชัญอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูบ ในระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 2557- 24 ม.ค. 2558 รวม 26 ครั้ง อัญชัญให้การรับสารภาพ
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอัญชัญต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

    พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาตามคำฟ้องของอัยการทหาร คือ จำเลยได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียง ของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

    เนื่องจากคดีนี้ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. และการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก หากศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษา จำเลยจะไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาได้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวัน 23 เมษายน 2558)
  • อัญชัญถูกควบคุมตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนดำเนินกระบวนพิจารณา อัยการหารแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และข้อหาที่ฟ้อง รวมถึงการนำสืบพยานเป็นข้อเท็จจริงที่หากพิจารณาโดยเปิดเผย อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อพระมหากษัตริย์และความรู้สึกของประชาชน ศาลพิเคราะห์และมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับจนกว่าจะมีคำพิพากษา และให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี คงเหลือเพียงโจทก์ จำเลย ทนายจำเลย เจ้าหน้าที่ควบคุมจำเลย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยสอดส่องไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาฟังการพิจารณาคดีด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ไม่มีญาติพี่น้องของจำเลยมาที่ศาลแต่อย่างใด

    ศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์ทุกข้อความให้จำเลยฟัง และถามคำให้การจำเลย อัญชัญให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทั้งน้ำตา พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุว่าไม่ได้กระทำความผิด และขอต่อสู้คดี

    โจทก์แถลงระบุว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 8 ปาก ด้านทนายจำเลยระบุว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 2 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 29 ต.ค. 58 โดยอัยการยังไม่ระบุว่าพยานบุคคลดังกล่าวคือใคร

    มีข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่วันที่อัยการทหารยื่นฟ้องคดีจนถึงวันที่ศาลเบิกตัวจำเลยมาสอบคำให้การเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ซึ่งโดยปกติในศาลยุติธรรมหากอัยการยื่นฟ้องวันใดศาลจะอ่านฟ้องและถามคำให้การเบื้องต้นในวันเดียวกันหรือวันถัดไปทันที

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 และ https://prachatai.com/journal/2015/07/60574)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พันตำรวจเอกโอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา โจทก์และจำเลยมาศาล แต่ปรากฎว่าพยานโจทก์ไม่มาศาลตามนัด โดยโจทก์แถลงว่าพยานมีราชการสำคัญ เร่งด่วน ไม่อาจมาศาลได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปนัดหน้า ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 3 ธ.ค. 2558 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2558)
  • พันตำรวจเอกโอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นพยานโจทก์ที่จะเข้าเบิกความเป็นปากแรกมาศาล แต่ทนายจำเลยแถลงว่า ยังไม่ได้รับสำเนาคำให้การพยานในชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างส่ง เพื่อนำมาประกอบการถามค้านพยานปากนี้ ทั้งที่ได้ยื่นคำร้องขอไว้นานแล้ว จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปนัดหน้า โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2559 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พันตำรวจเอกโอฬาร สุขเกษม ผกก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ผู้กล่าวหาในคดีนี้ พยานเบิกความตอบอัยการศาลทหารกรุงเทพในประเด็นว่า พยานเป็นผู้กล่าวหาจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. 2557 ถึงเดือน ม.ค. 2558 ทั้งนี้ พยานได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้คอยสอดส่องผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้น ทนายจำเลยได้ถามค้านจนเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากนี้

    นัดสืบพยานปากต่อไป ร.ท.นิพล แก้วกาฬ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2558

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 คือ ร้อยโทนิพล แก้วกาฬ สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกในการค้นบ้านจำเลย พยานเบิกความตอบอัยการทหารถึงการใช้อำนาจตามกฏอัยการศึกเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยและตรวจยึดของกลาง การควบคุมตัวจำเลยไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อทำการซักถาม จากนั้น ทนายจำเลยได้ถามค้านจนเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากนี้

    นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นายพรพร วงศ์ทวีทรัพย์ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2559)
  • นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ คดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล เลื่อนไปสืบพยานปากนี้นัดหน้า ในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และนัดสืบพยานโจทก์เพิ่มวันที่ 20 กันยายน 2559

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ คดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และร่วมจับกุม รวมทั้งสอบสวนจำเลย

    พยานเบิกความตอบคำถามอัยการทหารในประเด็น การติดตามสืบสวนความเป็นอยู่ของจำเลย, การจับกุมจำเลยและตรวจยึดของกลาง, การจัดเก็บและการตรวจพิสูจน์ของกลาง, การเปรียบเทียบสารพันธุกรรม (DNA) ของจำเลยกับวัตถุของกลาง และสุดท้ายประเด็นการจัดการทางการเงินของผู้ใช้นามแฝงว่า บรรพต

    เนื่องจากโจทก์มีคำถามจำนวนมาก ไม่สามารถถามในนัดดนี้ได้หมด จึงแถลงขอเลื่อนสืบพยานปากนี้ต่อในนัดหน้า ทนายความจำเลยไม่คัดค้าน แต่เนื่องจากวันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งศาลนัดไว้ในครั้งก่อน ทนายจำเลยติดนัดคดีอื่นจึงขอยกเลิกนัด ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไปในวันที่ 21 ตุลาคม 2559

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ต่อจากนัดที่แล้ว นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากมีงานราชการสำคัญเร่งด่วน อัยการยังมีความประสงค์นำพยานโจทก์ปากนี้เข้าสืบอยู่ จึงขอเลื่อนการสืบไปในนัดหน้า ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ ซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว พยานมาศาล และเบิกความตอบอัยการทหารต่อในประเด็น ผลการตรวจพิสูจน์ DNA ของจำเลยเปรียบเทียบกับที่วัตถุของกลาง, การติดตามความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กของจำเลย รวมถึงการอัพโหลดคลิปลงในเฟซบุ๊กและยูทูบ, การรับมอบตัวจำเลยจากทหาร และการสอบสวนจำเลย

    พยานตอบคำถามอัยการจนเสร็จสิ้น ส่วนทนายจำเลยขอเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลทหารกรุงเทพโดยวางหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1,000,000 บาท ระบุเหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง จำเลยไม่อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งจำเลยยังมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่เคยถูกกล่าวหาในคดีอาญาใดๆ มาก่อน

    ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์ไม่คัดค้าน คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 5 เมษายน 2560)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ต่อจากนัดที่แล้ว นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยในประเด็นขั้นตอนการสืบสวน, การเข้าตรวจยึดคอมพิวเตอร์, การตรวจพิสูจน์หลักฐาน, การซักถามในค่ายทหาร และการสอบสวนจำเลย

    จากนั้นพยานได้ตอบคำถามติงของอัยการจนเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 22 สิงหาคม 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการของราชบัณฑิตยสภา จำนวน 4 คณะ มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และวัฒนธรรมไทย พยานเบิกความตอบอัยการทหารเกี่ยวกับความเห็นของพยานต่อข้อความในคลิปเสียง ซึ่งพยานเชื่อว่า กล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ 4 พระองค์ โดยผู้จัดทำคลิปเรียกทั้ง 4 พระองค์ด้วยนามแฝง พยานมีความเห็นด้วยว่า รัชทายาทตามความหมายของประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

    นายอนันต์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยถึงบทบาทของจำเลยในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย รวมทั้งผลงานการเขียนบทความเรื่องการแปลและวิเคราะห์ภาษาของนายจักรภพ เพ็ญแข, ขั้นตอนการฟังคลิปเสียงเพื่อให้ความเห็น การใช้ราชาศัพท์ในสังคมไทย และตำแหน่งรัชทายาท

    เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปคือ นายสุรพิชญ์ เสงี่ยมพักตร์ ในวันที่ 13 กันยายน 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560)
  • นายสุรพิชญ์ เสงี่ยมพักตร์ พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล โจทก์แถลงว่า ไม่ทราบผลการส่งหมาย และไม่ทราบเหตุขัดข้อง จึงขอนำพยานปากอื่นมาสืบก่อนในนัดหน้า คือ ธนิสสรา ลิ้นสุวรรณ ในวันที่ 25 มกราคม 2561 และนัดสืบพยานโจทก์เพิ่มอีก 2 นัด คือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 และ 20 มีนาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120ก./2558 ลงวันที่ 13 กันยายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 5 น.ส.ธนิสสรา ลิ้นสุวรรณ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กลุ่มงานวิเคราะห์และตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลาง

    พยานเบิกความตอบอัยการทหารถึงขั้นตอนการตรวจพิสูจน์วัตถุพยาน 2 รายการ คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และแผ่นดีวีดีจำนวน 6 แผ่น และยืนยันว่าการที่จำเลยอัพโหลดคลิปเสียงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

    จากนั้น พยานตอบทนายจำเลยถามค้านในประเด็นการทำสำเนาฮาร์ดดิสก์จากคอมพิวเตอร์ไว้จำนวน 2 ชุด เพื่อเก็บเป็นหลักฐานอ้างอิง 1 ชุด และนำไปตรวจพิสูจน์ 1 ชุด, การเก็บวัตถุพยานที่เป็นหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำตรวจ, คำค้นที่พยานนำมาตรวจค้นเป็นไปตามหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งข้อมูลที่ตรวจพบมีทั้งที่พาดพิงและไม่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

    ทนายจำเลยถามค้านจนถึงเวลา 11.45 น. และแถลงว่ายังมีประเด็นที่จะถามค้านพยานปากนี้อีกมาก จึงขอเลื่อนไปถามค้านพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลพิจารณาแล้วให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 120 ก./2558 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 25 มกราคม 2561)
  • น.ส.ธนิสสรา ลิ้นสุวรรณ พยานโจทก์ปากที่ 5 ผู้ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลาง เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดที่แล้ว โดยตอบคำถามในประเด็นวิธีการตรวจวิเคราะห์วัตถุพยานเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กยี่ห้อ ASUS เพื่อหาการเชื่อมโยงในการกระทำความผิด โดยใช้คำค้นหา และการตรวจสอบการเข้าใช้เฟซบุ๊กและยูทูบในคอมพิวเตอร์ของกลาง ซึ่งข้อมูลที่ได้เป็นเพียงบางส่วน และยังไม่สามารถยืนยันการกระทำความผิดได้ ต้องมีการตรวจสอบในขั้นตอนอื่นเพิ่มเติม รวมทั้งตรวจสอบจากหลักฐานอื่นประกอบด้วย

    จากนั้นพยานตอบโจทก์ถามติงจนเสร็จ ศาลนัดสืบพยานโขทก์ปากต่อไป น.ส.ศิวัชญา ใบยา เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ในวันที่ 20 มีนาคม 2561 ตามที่ศาลกำหนดวันนัดไว้แล้ว

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 6 น.ส.ศิวัชญา ใบยา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กระทรวงไอซีที ผู้ตรวจพิสูจน์ของกลาง พยานเบิกความตอบอัยการเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจพิสูจน์วัตถุพยาน 2 รายการ คือ คอมพิเตอร์โน๊ตบุ๊คยี่ห้อ Hp สีดำ และหน่วยบันทึกข้อมูลภายนอก ยี่ห้อโตชิบา สีแดง

    จากนั้น น.ส.ศิวัชยา ได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยในประเด็นการแก้ไขข้อมูลในคอมพิวเตอร์, ขั้นตอนการตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และผลการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์โดยใช้คำค้น ซึ่งพยานยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ไฟล์ที่พบเป็นไฟล์ที่ใช้กระทำความผิดหรือไม่

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านจนถึงเวลา 11.14 น. ทนายจำเลยแถลงว่ายังมีประเด็นที่จะถามค้านพยานปากนี้อีกเป็นจำนวนมาก จึงขอเลื่อนถามค้านพยานปากนี้ไปในนัดหน้า โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปถามค้านต่อในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 และนัดเพิ่มอีก 2 นัด คือวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 และ 9 สิงหาคม 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2561)
  • ตุลาการยกเลิกนัด เนื่องจากต้องเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ของตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารกรุงเทพ และนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 19 กรกฎคม 2561 ตามที่นัดไว้เดิม

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2561)
  • น.ส.ศิวัชญา ใบยา พยานโจทก์ปากที่ 6 เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดที่แล้ว โดยพยานเบิกความในประเด็นการตรวจสอบการเข้าใช้เฟซบุ๊ก สไกป์ และยูทูบในคอมพิวเตอร์ของกลางยี่ห้อ Hp สีดำ

    จากนั้น พยานตอบคำถามติงของอัยการทหารจนเสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป น.ส.สุจินดา มหาลออสกุล เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ตามที่นัดไว้แล้ว

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2561)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 น.ส.สุจินดา มหาลออสกุล เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ผู้ตรวจพิสูจน์โทรศัพท์มือถือ

    น.ส.สุจินดา ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์วัตถุพยานจำนวน 1 รายการ คือ โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ Apple รุ่น iphone 4 สีขาว เบิกความตอบอัยการทหารถึงวิธีการและขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือดังกล่าว รวมถึงผลการตรวจสอบโดยใช้คำค้น ตรวจสอบประวัติการเข้าใช้งานเว็บไซต์ และค้นหาไฟล์

    หลังจากพยานเบิกความตอบโจทก์เสร็จแล้ว ทนายจำเลยแถลงว่า ต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประกอบการถามค้าน และมีประเด็นที่จะถามค้านพยานปากนี้จำนวนมาก ขอเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงเลื่อนสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 และนัดเพิ่มอีก 2 นัด คือ วันที่ 18 และ 24 ธันวาคม 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 7 น.ส.สุจินดา มหาลออสกุล ต่อจากนัดที่แล้ว แต่พยานติดราชการเร่งด่วน ไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 18 ธันวาคม 2561

    วันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 500,000 บาท ระบุเหตุผลในการขอประกันว่า จำเลยถูกขังระหว่างการต่อสู้คดีมากว่า 3 ปี 9 เดือนแล้ว, การถูกฟ้องคดีในข้อหาร้ายแรงไม่เป็นเหตุให้จำเลยจะหลบหนี และจำเลยเองก็มีที่อยู่แน่นอน, จำเลยได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนการเกษียณราชการ และกระทบต่อสุขภาพของจำเลยเนื่องจากอายุมาก มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุ และการไม่ได้รับการประกันตัวเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า พิจารณาแล้ว แม้โจทก์จะคัดค้าน แต่เมื่อหลักประกันน่าเชื่อถือ และเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว อย่างไรก็ตาม อัญชัญยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เนื่องจากมีปัญหาติดต่อพี่ชายซึ่งเป็นนายประกันไม่ได้ และดำเนินการอายัดสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารไม่ทัน

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=13052)
  • อัญชัญได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงค่ำ หลังญาติดำเนินการอายัดสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาล ก่อนนำเอกสารยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาล และศาลออกหมายปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2018/11/79418)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 น.ส.สุจินดา มหาลออสกุล เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ต่อจากนัดก่อน โดยพยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมและเก็บรักษาพยานหลักฐานข้อมูลดิจิตอล รวมถึงผลการตรวจสอบประวัติการใช้งานเว็บไซต์และไฟล์วีดิโอในโทรศัพท์ ซึ่งไม่พบการอัพโหลดหรือพบไฟล์ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ตรวจสอบ

    น.ส.สุจินดาตอบคำถามทนายจำเลยและคำถามติงของโจทก์จนเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป นายสิริณัฐ ตั้งธรรมจิต ในวันที่ 24 ธันวาคม 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 8 นายสิริณัฐ ตั้งธรรมจิต เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีผู้ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน แต่พยานไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการเร่งด่วน จึงเลื่อนนัดสืบพยานปากนี้ไปวันที่ 24 เมษายน 2562 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2561)
  • พยานโจทก์ปากที่ 8 นายสิริณัฐ ตั้งธรรมจิต เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีผู้ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน ที่อัยการนัดไว้ไม่มาศาล โดยไม่ทราบผลการส่งหมาย พยานปากนี้เป็นพยานปากสำคัญ โจทก์ยังประสงค์จะนำเข้าสืบ ขอเลื่อนไปสืบในนัดหน้า ทนายจำเลยไม่ค้าน แต่ขอให้โจทก์พยายามติดตามพยานมาเบิกความตามนัดด้วย เนื่องจากพยานไม่มาศาลหลายนัดแล้ว ไม่เป็นผลดีและไม่เป็นธรรมต่อจำเลย ศาลให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 24 เมษายน 2562)
  • เดิมศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 8 แต่ศาลแจ้งคู่ความว่า เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยในข้อที่ 2 กำหนดให้การกระทำความผิดตามประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆ ไปยังศาลยุติธรรม

    ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ โดยให้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม ก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวน และเอกสารประกอบคดีต่างๆ ทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 120 ก./2558 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=13052)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความ หลังคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร แต่ศาลแจ้งให้ทนายจำเลยทราบว่า ทางอัยการไม่สะดวกมาศาล จึงเลื่อนนัดพร้อมออกไปเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3065/2562 ลงวันที่ 29 มกราคม 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15893)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ จำเลย ทนายจำเลย และนายประกัน มาศาล

    เดิมทีก่อนที่จะมีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม ศาลทหารกรุงเทพได้ทำการสืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งหมด 7 ปาก ในนัดนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้แถลงว่า จะขอสืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ด้านจำเลยและทนายจำเลยระบุว่า จะขอสืบพยานจำเลยรวม 2 ปาก ใช้เวลาสืบครึ่งนัด ศาลพิเคราะห์แล้ว ให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยติดต่อกันเป็นจำนวน 2 นัด โดยให้โจทก์ออกหมายเรียกพยานโจทก์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ โจทก์และจำเลยได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2563 โดยทั้งสองวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป

    นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับเช่นเดียวกับศาลทหาร โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    ต่อมา นายประกันของอัญชัญได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้ในศาลทหารกรุงเทพเป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 500,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3065/2562 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16032)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อัญชัญ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อัญชัญ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์