สรุปความสำคัญ

ธารา (สงวนนามสกุล) เป็นอีกหนึ่งใน 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "เครือข่ายบรรพต" เขาถูกทหาร ตำรวจ ล่อซื้อสมุนไพรและเข้าจับกุม ก่อนเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร และสอบปากคำรวม 6 วัน จึงส่งตัวให้ดีเอสไอดำเนินคดี ธาราถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป โดยการโพสต์ลิงค์ในเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ระหว่างวันที่ 6-25 ม.ค. 2558

คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งธาราให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่โพสต์ลิงก์ดังกล่าวเพราะมีเนื้อหาที่เป็นเรื่องสุขภาพและหวังรายได้จากการโฆษณา แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพหลังสืบพยานไปได้เพียง 2 ปาก ในช่วงเวลา 2 ปี โดยที่เขาไม่ได้รับการประกันตัว กรณีนี้จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาความล่าช้าในศาลทหารและการไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวที่เกิดขึ้นในคดีมาตรา 112 เป็นส่วนใหญ่ อันส่งผลเป็นการบีบบังคับให้จำเลยจำยอมรับสารภาพในที่สุด

คดีของธาราถูกแยกดำเนินคดีและแยกฟ้องจากคนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "เครือข่ายบรรพต" เข่นเดียวกับอัญชัญ และถูกฟ้องถึง 6 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว "บรรพต" เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม ทำให้ธาราถูกศาลทหารชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง 18 ปี 24 เดือน โดยไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาได้ เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในช่วงการประกาศใช้กฎอัยการศึก แม้ว่าคำพิพากษาจะขัดต่อหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายธารา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายธารา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

25 ม.ค. 2558 ธารา ซึ่งประกอบอาชีพขายสมุนไพรทางอินเตอร์เน็ต ได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าที่โทรมาสั่งซื้อสมุนไพร และนัดให้เขานำสมุนไพรไปส่งที่อนุสาวรีย์ชัย แต่เมื่อไปถึงสถานที่นัดหมายกลับเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบเกือบ 10 นาย และตำรวจนอกเครื่องแบบจากดีเอสไอราว 5 นาย เข้าปิดล้อมจับกุม

หลังการจับกุม เจ้าหน้าที่นำธาราขึ้นรถไปตรวจค้นบ้าน และทำการตรวจยึดคอมพิวเตอร์ แฟลชไดรฟ์ และโทรศัพท์มือถือ มีการถ่ายรูปรอบๆ บ้าน และถ่ายรูปธาราขณะชี้อุปกรณ์ที่ถูกตรวจยึด จากนั้นจึงนำตัวธาราไปควบคุมที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เพื่อสอบปากคำ ตลอดระยะเวลาที่ธาราถูกควบคุมในค่ายทหาร เขาถูกนำตัวไปสอบปากคำทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่หลายกลุ่ม แต่ไม่มีการทำร้ายร่างกายใดๆ มีเพียงเจ้าหน้าที่บางคนพูดข่มขู่ให้เขากลัว

30 ม.ค. 2558 ธาราถูกนำตัวมาส่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินคดี ตามที่ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาธารา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า ธาราได้เผยแพร่คลิปเสียงของ "บรรพต" ซึ่งมีเนื้อหาอันเป็นเท็จและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ลิงค์ลงในเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งธาราเป็นผู้จดทะเบียน จำนวน 2 คลิป ในวันที่ 6 และ 10 ม.ค. 2558 ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความที่ธาราไว้ใจเข้าร่วม เขาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในวันเดียวกัน โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ธาราจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว

2 ก.พ.2558 โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 6 คน โดยกล่าวว่า ทั้งหกเป็นสมาชิกของ “เครือข่ายบรรพต” มีจุดมุ่งหมายในการใช้สื่อออนไลน์ยุงยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและความเกลียดชังขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการหมิ่นสถาบัน เครือข่ายนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีระดับชั้นของการทำงานและการสั่งการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นผู้นำ เป็นผู้ผลิตแนวคิดในรูปของสื่อซีดี คลิปเสียง และบทความ ระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งรับฟังและช่วยกันเผยแพร่แนวคิดตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป และบล็อก ระดับแนวร่วม มีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยในการแถลงข่าวมีนำเสนอผัง "เครือข่ายบรรพต" ด้วย และธารา ถูกระบุว่า เป็นเจ้าของเว็บ okthai.com และอีกหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิด ทั้งยังหลอกลวงหาเงินกับบุคคลอื่นโดยนำผลิตภัณฑ์ในเครือข่าย โดยเฉพาะจากอัญชัญมาจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่ง ตำรวจระบุว่าสถานภาพของเขาอยู่ในระดับแนวร่วมที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดมากกว่าแนวร่วมคนอื่นๆ

โฆษก สตช. กล่าวด้วยว่า พวกเขามีการพบปะหรือประชุมลับกันอยู่เป็นระยะ และในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะพยายามใช้ข้อมูลจริงเพียงบางส่วนมาผสมกับข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลเท็จที่ตรวจสอบได้ยาก

ในจำนวน 6 ราย ที่โฆษก สตช.แถลงข่าว มีธาราและอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ที่ถูกจับกุมในวันเดียวกัน จากนั้นถูกส่งตัวให้ดีเอสไอดำเนินคดี ส่วนอีก 4 ราย ทยอยถูกจับกุม และหลังการควบคุมตัวของทหารทั้งสี่ถูกส่งตัวให้กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินคดี

19 มี.ค. 58 พนักงานสอบสวนดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาธาราเพิ่มเติมถึงในเรือนจำ โดยกล่าวหาว่า ธาราโพสต์ลิงค์คลิปเสียงของ "บรรพต" ลงในเว็บไซต์ okthai.com รวมทั้งสิ้น 6 คลิป ในระหว่างวันที่ 6-25 ม.ค. 2558

(อ้างอิง: บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 30 ม.ค. และ 19 มี.ค. 2558, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/22/thara/ และ https://prachatai.com/journal/2015/02/57744)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 23-04-2015
อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องธาราต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยกล่าวหาว่า เขานำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' ที่มีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ในเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นของจำเลย อัยการทหารระบุว่า การกระทำของธาราเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
 
วันที่ : 01-12-2016
ทนายจำเลยยื่นขอประกันตัวธาราเป็นครั้งแรก หลังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองจำนวน 400,000 บาท โดยระบุเหตุผลในขอประกันตัวว่า จำเลยไม่สามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ไม่มีสาเหตุที่จะหลบหนี อีกทั้งการพิจารณาคดีของศาลทหารที่ผ่านมากินเวลายาวนาน ทำให้จำเลยขาดเสรีภาพเกินความจำเป็น และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับจำเลยยังเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จำเลยยังเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว มีภาระต้องดูแลมารดาอายุ 89 ปีที่ชราภาพและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และบุตรอีกสองคน แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่า จำเลยจะหลบหนี
 
วันที่ : 03-03-2017
หลังเลือกต่อสู้คดีแต่ผ่านมา 2 ปี ศาลทหารกรุงเทพสืบพยานได้เพียง 2 ปาก ธาราก็ตัดสินใจกลับคำให้การ จากปฏิเสธขอต่อสู้คดีเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ซึ่งพยานโจทก์ที่นัดไว้ก็ไม่มาศาล และศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มิ.ย. 2560
 
วันที่ : 09-08-2017
จำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ศาลจึงรับคำร้องไว้พิจารณา และเนื่องจากศาลมีสำนวนต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก จึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาเป็นวันนี้

ศาลพิพากษาว่า การกระทำของธาราเป็นความผิดหนึ่งกรรมผิดต่อกฎหมายหลายบท ได้แก่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน

เนื่องจากคดีของธาราเป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ธาราไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลทหารชั้นสูงขึ้นไป เพื่อให้ศาลทหารกลางหรือศาลทหารสูงสุดทบทวนคำพิพากษาได้ คดีของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด และด้วยจำนวนโทษที่สูงทำให้ธาราจะถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม

ภูมิหลัง

  • นายธารา
    เป็นนักธุรกิจขายสมุนไพรทางอินเตอร์เน็ต และทำเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อหารายได้จากการคลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ เขาอาศัยการแปะลิงค์คลิปวีดิโอของบรรพต เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาชมที่หน้าเว็บไซต์ โดยธาราจะเลือกเฉพาะคลิปที่มีเนื้อหาบางส่วนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรด้วยเท่านั้น นอกจากนี้ ธารายังไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ ทั้งยังไม่ใช่คนที่สนใจติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์