ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 121ก./2558
แดง 25ก./2560

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม (บก.ปอท.) (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 121ก./2558
แดง 25ก./2560
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม (บก.ปอท.)

ความสำคัญของคดี

ธาราถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็น "เครือข่ายบรรพต" เผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ด้วยการโพสต์ลิงค์ในเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ระหว่างวันที่ 6-25 ม.ค. 2558 ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความที่เขาไว้ใจเข้าร่วม ธาราให้การรับสารภาพ แต่ในชั้นพิจารณาของศาลทหาร ธาราให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่โพสต์ลิงก์ดังกล่าวเพราะมีเนื้อหาเรื่องสุขภาพและหวังรายได้จากการโฆษณา ต่อมา หลังสืบพยานไปได้เพียง 2 ปาก ในช่วงเวลา 2 ปี โดยที่เขาไม่ได้รับการประกันตัว ธาราจึงเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ กรณีนี้จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาความล่าช้าในศาลทหารและการไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวที่เกิดขึ้นในคดีมาตรา 112 เป็นส่วนใหญ่

เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในช่วงการประกาศใช้กฎอัยการศึก คดีนี้จึงไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาของศาลทหารชั้นตั้นซึ่งพิพากษาจำคุกถึง 18 ปี 24 เดือน ได้ แม้ว่าคำพิพากษาจะขัดต่อหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องอัยการทหารระบุว่า จำเลยเป็นพลเรือนที่กระทำความผิดในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ดังต่อไปนี้

1. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 393" ลงในเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเป็นของจำเลยเอง
2. เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 394" ลงในเว็บไซต์ okthai.com
3. เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 395" ลงในเว็บไซต์ okthai.com
4. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 396" ลงในเว็บไซต์ okthai.com
5. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 397" ลงในเว็บไซต์ okthai.com
6. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียง ชื่อแฟ้มข้อมูล "Uncle 398" ลงในเว็บไซต์ okthai.com

ทั้งนี้ คลิปทั้งหมดเชื่อมต่อไปสู่เว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' ได้ โดยคลิปข้อความเสียงดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นเท็จ อันเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ okthai.com ของจำเลยตลอดมาจนถึงวันที่ 25 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์

เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามรับฟังข้อความดังกล่าว ย่อมเข้าใจผิด การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์และประชาชน โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 121ก./2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกควบคุมตัวและสอบปากคำใน มทบ. 11 รวม 6 วัน ธาราถูกนำตัวมาส่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินคดี ตามที่ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาธารา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า ธาราได้เผยแพร่คลิปเสียงของ "บรรพต" ซึ่งมีเนื้อหาอันเป็นเท็จและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ลิงค์ลงในเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งธาราเป็นผู้จดทะเบียน จำนวน 2 คลิป ในวันที่ 6 และ 10 ม.ค. 2558

    ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความที่ธาราไว้ใจเข้าร่วม เขาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 10 ก.พ. 2558 โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ธาราจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว

    (อ้างอิง: บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 30 ม.ค. 2558, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/22/thara/)
  • พนักงานสอบสวนดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาธาราเพิ่มเติมถึงในเรือนจำ โดยกล่าวหาว่า ธาราโพสต์ลิงค์คลิปเสียงของ "บรรพต" ลงในเว็บไซต์ okthai.com รวมทั้งสิ้น 6 คลิป ในระหว่างวันที่ 6-25 ม.ค. 2558

    (อ้างอิง: บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 19 มี.ค. 2558)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ต่อศาลทหารกรุงเทพ มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 23 เม.ย. 2558 โดยระบุเหตุผลว่า การพิจารณาสำนวนการสอบสวนเพื่อสั่งคดียังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2558 ประกอบกับคดีมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้ต้องหาให้ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งคัดค้านการให้ประกันตัวมาในท้ายคำร้องด้วย

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และธารายังคงไม่ได้ยื่นประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 10 เม.ย. 2558)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องธาราต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยกล่าวหาว่า เขานำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' ที่มีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ในเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นของจำเลย อัยการทหารระบุว่า การกระทำของธาราเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

    ทั้งนี้ ธาราไม่ได้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล และยังไม่ได้รับคำฟ้องจากอัยการทหาร

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 121ก./2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/06/thara_and_pongsak/)

  • จำเลยแถลงต่อศาลว่าขอเลื่อนให้การต่อศาลออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับคำฟ้องจากทนายซึ่งส่งผ่านมาทางเรือนจำ และเพิ่งเจอทนายเป็นครั้งแรก ขอปรึกษาแนวทางคดีกับทนายก่อน ศาลจึงให้เลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 7 ส.ค. 2558

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/06/thara_and_pongsak/)
  • ประมาณ 10.00 น. ตุลาการพระธรรมนูญ ได้แก่ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์, พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ และ น.ท.หญิงพจนา แก้วนิมิตร ออกนั่งพิจารณาคดี โดยมีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และสันติอาสา ร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย

    อัยการทหารขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับ เนื่องจากเนื้อหาในคำฟ้องมีข้อความไม่เหมาะสม แต่ทนายจำเลยคัดค้านว่า การพิจารณาครั้งนี้เป็นนัดสอบคำให้การ ยังไม่ลงรายละเอียดเนื้อหาในคดี จึงไม่น่าจะเกิดความเสียหายใดๆ ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาเป็นการลับ ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย

    จากนั้น ศาลอ่านคำฟ้องโดยย่อ และสอบถามคำให้การจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ทุกประการและขอต่อสู้คดี แต่โต้แย้งวันควบคุมตัวว่า ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25-30 ม.ค. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่วันที่ 30 ม.ค. 2558 ตามฟ้องโจทก์ โจทก์คัดค้านว่า การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นมาตรการทางปกครอง ไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทนายจำเลยโต้แย้งอีกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการสอบสวนจำเลยทุกวัน จึงถือได้ว่าเป็นการคุมขังไว้เพื่อการสอบสวนดำเนินคดีอาญา

    ศาลรับฟังทั้งฝ่ายอัยการและทนายจำเลยแล้ว เสนอให้สืบเรื่องวันควบคุมตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณา พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 ต.ค. 58 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำเลขที่ 121ก./2558 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/07/pongsak_and_thara/)
  • องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ น.ท.หญิง อรพร จินดาเวช และ น.ท.หญิง พจนา แก้วนิมิตร ออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. หลังตรวจดูบัญชีพยานหลักฐานแล้ว อัยการศาลทหารแถลงขอสืบพยาน 11 ปาก และพยานเอกสารลำดับที่ 12-29 โดยใช้เวลาไม่เกิน 11 นัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 3 ปาก และพยานเอกสารลำดับที่ 4-5 ใช้เวลาไม่เกิน 3 นัด

    พยานโจทก์จำนวน 11 ปาก ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 2) ทหารผู้ควบคุมตัวจำเลยและส่งมอบจำเลยให้พนักงานสอบสวน 3) ผู้สอบสวน ฟังคลิปเสียง และถอดความจากคลิปเสียงที่มีเนื้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง 4) อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ฟังและอ่านข้อความที่ถอดจากคลิปเสียง 5) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อ่านข้อความที่ถอดจากคลิปเสียง และให้ความเห็นจากข้อความที่ได้อ่าน 6) พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกยึด 7) พยานผู้ยืนยันว่าจำเลยได้เปิดเว็บไซต์จริง 8) พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิด 9) พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจสอบสารพันธุกรรมจากคอมพิวเตอร์ที่ถูกยึด 10) ผู้อำนวยการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผอ.ปอท.) ผู้รับรองเอกสารการตรวจของพยานลำดับที่ 6 และ 11) พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐานและเห็นควรสั่งฟ้อง

    ด้านพยานจำเลยจำนวน 3 ปาก จำเลยขอเบิกตนเองเป็นพยาน ส่วนพยานปากที่ 2 และ 3 เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์

    ทั้งนี้ โจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงพยานเอกสารของจำเลย ในทางกลับกัน ทนายจำเลยก็แถลงไม่รับข้อเท็จจริงของอัยการโจทก์ เมื่อคู่ความตกลงกันแล้ว ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 21 ธ.ค. 2558 เวลา 08.30 น. โดยพยานที่จะขึ้นเบิกความเป็นปากแรก คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/22/thara/)
  • พยานโจทก์ปากแรก คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ไม่มาศาล ศาลทหารกรุงเทพจึงให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 25 มี.ค. 2559

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/01/05/case_updated_dec15/)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยาน อัยการทหารแถลงขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ศาลจึงมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณาคดี

    พ.ต.อ.โอฬาร จากกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เบิกความว่า คดีนี้เกี่ยวกับเผยแพร่คลิปเสียงของผู้ที่ใช้ชื่อว่า 'บรรพต' ต่อมาทราบว่าชื่อจริง คือ หัสดิน ซึ่งคลิปผลิตออกมาเป็นตอนๆ เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Youtube, 4shared และเว็บไซต์ okthai.com เหตในคดีนี้เป็นการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ okthai.com กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ และมอบหมายให้พยานทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวโทษ

    พยานเบิกความอีกว่า คลิปเสียงของบรรพตทำออกมาเป็นตอนๆ บางตอนพูดเรื่องประวัติศาสตร์และสมุนไพร บางตอนกล่าวใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และรัชทายาทว่า อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิด ต่อมา ได้รับแจ้งจากทหารว่า จับกุมธาราได้จากบ้านพัก โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และนำตัวไปที่ มทบ.11 พร้อมสิ่งของที่ยึดได้ พยานพร้อมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงเดินทางไปที่ มทบ.11 ในวันที่ 26 ม.ค. 2558 เพื่อจัดทำบันทึกตรวจยึดสิ่งของ และสอบปากคำธารา ธารายอมรับว่า ชอบคลิปบรรพต และเชื่อตามที่คลิปบอก จึงนำมาไว้บนเว็บไซต์ okthai.com เพราะต้องการให้คนอื่นเชื่อตาม และเพื่อหวังผลตอบแทนจากการโฆษณา

    พ.ต.อ.โอฬาร เบิกความต่อไปว่า คลิปบรรพตที่จำเลยเอามาขึ้นบนเว็บไซต์จะระบุว่าเป็นตอนที่เท่าไร ซึ่งบรรพตมีคลิปออกมาเกือบ 400 คลิป ก่อนหน้านี้ พยานเคยฟังเกือบทั้งหมดในตอนที่พูดถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นั้นเป็นการใส่ร้ายในเรื่องที่เป็นความเท็จ ว่า พระองค์มีพฤติกรรมไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนทั่วไปฟังแล้วอาจรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังได้ จึงกล่าวโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

    จากนั้น พ.ต.อ.โอฬาร ตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามค้านว่า ไม่เคยเปิดเข้าไปตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ okthai.com ด้วยตัวเอง จึงไม่ทราบว่ามีลิงก์ไปยังคลิปเสียงของบรรพตหรือไม่ ทราบว่ามีเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตที่เปิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาโดยเฉพาะ แต่ไม่ทราบการทำงานของ Google AdSense เรื่องเกี่ยวกับการฝังลิงก์ก็ไม่ทราบเพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค

    พ.ต.อ.โอฬาร ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นคดีเครือข่ายบรรพตว่า เจ้าของคลิปบรรพตตัวจริงชื่อ หัสดิน ซึ่งถูกจับกุมถูกดำเนินคดีและรับสารภาพไปแล้ว จากคลิปหนึ่งคลิป และยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีเพิ่ม คลิปบรรพตมีผู้ติดตามฟังและค้นหาจำนวนมาก บางตอนพูดเรื่องการเมืองอย่างเดียว บางตอนพูดเรื่องสุขภาพอย่างเดียว บางตอนไม่ได้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ความยาวแต่ละตอนประมาณหนึ่งชั่วโมง เวลาพูดเรื่องการเมืองส่วนใหญ่จะไม่เอ่ยพระนามตรงๆ แต่ใช้ชื่อแฝง ซึ่งวิญญูชนทั่วไปเมื่อฟังประกอบบริบทก็จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงเรื่องอะไร ตัวหัสดินและคนที่อัพโหลดคลิปขึ้น YouTube ไม่เปิดเผยชื่อจริงเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม

    ทนายจำเลยถามว่า คลิปที่หัสดินถูกลงโทษเป็นคลิปที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬาร ตอบว่าไม่ทราบ เมื่อทนายถามว่า หัสดินกับจำเลยในคดีนี้ไม่รู้จักกันมาก่อนใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬาร ตอบว่า ไม่ได้ถามเรื่องนี้กับหัสดิน

    พ.ต.อ.โอฬาร ตอบทนายจำเลยต่อว่า การสอบปากคำจำเลย ขณะจำเลยถูกจับอยู่ใน มทบ.11 นั้น มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมคุย และทำบันทึกหลังการพูดคุยให้จำเลยลงชื่อไว้ด้วย ขณะนั้นไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ได้แจ้งสิทธิ และไม่มีทนายความร่วมด้วย เพราะเป็นกระบวนการตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกเรียกรายงานตัวจะได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะจำเลยคดีนี้

    หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 8 ก.ค. 2559

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/th/case/654#progress_of_case)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก ร.อ.กณัฐพงศ์ โพธิ์สุข กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ควบคุมจำเลยและตรวจค้น พยานเบิกความว่า ขณะควบคุมตัวจำเลยนั้นไม่ได้ใช้อำนาจในการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญา เพราะอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก จึงใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยไม่จำเป็นต้องแสดงหมายค้นและหมายจับจากศาลแต่อย่างใด

    พยานฝ่ายโจทก์กล่าวต่อไปว่า ไม่เคยเปิดดูเว็บไซต์ที่เป็นช่องทางในการเผยแพร่คลิปที่เป็นมูลเหตุในคดีนี้ แต่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ขายสูตรสมุนไพร ในการเข้าควบคุมตัวและตรวจค้นนั้นได้รับการประสานมาจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ แล้วมีเจ้าหน้าที่ทหารในชุดฝึกลายพราง 5 นาย และเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอในชุดนอกเครื่องแบบจำนวน 7 นาย โดยที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอโทรให้จำเลยมาเจอที่ห้างเซนจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อทำทีขอซื้อสมุนไพรจากจำเลย เมื่อไปถึงจุดนัดพบเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นายก็ควบคุมตัว และพาตัวขึ้นรถฮัมวี่ไปที่ห้องเช่าของจำเลย พบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงยึดไว้โดยไม่มีหมายค้นแต่อย่างใด ต่อมาจึงนำจำเลยไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยไม่ได้เป็นผู้ซักถามข้อเท็จจริง

    ร.อ.กณัฐพงศ์ ตอบคำถามทนายจำเลยว่า บันทึกการตรวจค้นทำที่ มทบ.11 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นผู้จัดทำ โดยช่วงเวลาตั้งแต่การจับกุมจนถึงพาตัวจำเลยไปคุมขังไว้ที่ มทบ.11 นั้น จำเลยไม่ได้ติดต่อญาติและทนายความตามสิทธิที่ต้องได้รับแม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงก็ตาม

    นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 27 ตุลาคม 2559

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=1015)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นายนพพร วงศ์ทวีทรัพย์ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ฟังคลิปเสียงแล้วถอดข้อความ อัยการทหารแถลงว่า พยานติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ จึงขอให้เลื่อนการสืบพยาน ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจกท์ปากดังกล่าวไปเป็นวันที่ 3 มีนาคม 2560

    คดีดังกล่าวอัยการศาลทหารขอสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 11 ปาก นับตั้งแต่การนัดสืบพยานโจทก์ลำดับแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 10 เดือน สืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วเพียง 2 ลำดับเท่านั้น ทำให้ธาราถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาเกือบ 2 ปีแล้ว และไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้

    ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่ากระบวนการสืบพยานของศาลทหารล่าช้ากว่าศาลยุติธรรม เนื่องจากการสืบพยานในศาลยุติธรรมนั้นจะนัดพิจารณาต่อเนื่องโดยศาลจะกำหนดวันสืบพยานไว้ทุกลำดับล่วงหน้าทำให้มีกำหนดระยะเวลาแน่ชัด ในขณะที่ศาลทหารนั้นจะลงตารางนัดสืบพยานครั้งต่อครั้งไป และมีการเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้งเนื่องจากพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอ้างเหตุติดราชการ

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2599)
  • ทนายจำเลยและลูกชายของธารา เดินทางไปที่ศาลทหารเพื่อยื่นขอประกันตัวธาราเป็นครั้งแรก หลังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองจำนวน 400,000 บาท โดยระบุเหตุผลในขอประกันตัวว่า จำเลยเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หลักฐานในคดีนี้อยู่ที่อัยการทหารหมดแล้ว การปล่อยตัวจำเลยจะไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาล

    นอกจากนี้ แม้คดีนี้มีอัตราโทษสูง แต่พฤติการณ์ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้มีความร้ายแรง จำเลยทำไปเพียงเพราะผลประโยชน์ในการทำมาค้าขายของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด และจำเลยมีภาระทางครอบครัวต้องดูแล จึงไม่มีสาเหตุที่จะหลบหนี

    อีกทั้งการพิจารณาคดีของศาลทหารที่ผ่านมากินเวลายาวนาน ระยะเวลาปีกว่าตั้งแต่อัยการสั่งฟ้อง เพิ่งสืบพยานได้เพียง 2 ปากเท่านั้น ทำให้จำเลยขาดเสรีภาพเกินความจำเป็น และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    จำเลยยังเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หากศาลใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดียิ่งกับประเทศไทย

    ในคำร้องยังระบุด้วยว่า ก่อนถูกจับ จำเลยทำมาหากินโดยสุจริตมาโดยตลอด และเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว มีภาระต้องดูแลมารดาอายุ 89 ปีที่ชราภาพและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งยังไม่รู้ว่ามารดาของจำเลยจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงเมื่อไร นอกจากนี้ยังมีบุตรอีกสองคนซึ่งจำเลยเคยส่งเสียค่าเล่าเรียน จนปัจจุบันต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย หากจำเลยได้รับการประกันตัวก็จะสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อได้

    เวลาประมาณ 14.40 น. ศาลมีคำสั่งว่า สอบโจทก์แล้วคัดค้านว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 121ก./2558 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/654#progress_of_case)
  • จำเลยถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาที่ศาลทหารกรุงเทพ ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีจำเลยได้ปรึกษากับทนายจำเลย และตัดสินใจจะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากการสืบพยานใช้เวลานาน ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองไม่มีทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ทนายจำเลยจึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศาลว่า จำเลยประสงค์จะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ขณะเดียวกัน พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่อัยการนัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากติดภารกิจที่วัดธรรมกาย ศาลจึงให้เลื่อนนัดพิจารณาคดีไปเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2560 โดยจะอ่านคำพิพากษาในวันนัดดังกล่าวเลย

    ทั้งนี้ ตลอดกระบวนการในวันนี้ อัยการทหาร และตุลาการไม่ได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีเลย

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/th/case/654#progress_of_case)
  • 10.05 น. องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พ.อ.นเรศ ชีโรท, พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ และ พ.ท.นรเศรษฐ์ ศรีธรรม ออกพิจารณาคดี ก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยระบุว่า ที่จำเลยแปะลิ้งก์คลิปเสียงบรรพตเพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรและได้รับความนิยมมาก จึงนำมาแปะในเว็บไซต์เพื่อหวังให้คนเข้ามาดูที่หน้าเว็บไซต์ และมีรายได้จากโฆษณา

    ธาราระบุในคำร้องประกอบคำรับสารภาพอีกว่า ขณะถูกจับกุม เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี ไม่ได้ขัดขวางหรือต่อสู้ ทั้งยังนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นและยึดทรัพย์สินอันเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน

    จำเลยชี้แจงว่า ครั้งนี้เป็นการกระทำผิดครั้งแรก เขาประกอบอาชีพทำมาหากินสุจริต เป็นเสาหลักเพียงคนเดียวของครอบครัว ต้องดูแลแม่ที่ชราภาพ ดูแลตนเองไม่ได้ และบุตรอีกสองคน จึงขอให้ศาลลงโทษในสถานเบา เพื่อให้โอกาสได้แก้ไขความประพฤติกลับตัวเป็นพลเมืองดี

    อย่างไรก็ตาม อัยการทหารได้คัดค้านคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย เนื่องจากเห็นว่า ในส่วนที่อธิบายว่าแปะลิ้งก์คลิปเสียงบรรพตนั้นเป็นการต่อสู้ว่า กระทำไปโดยไม่เจตนา แต่ศาลเห็นว่าจำเลยระบุชัดอยู่แล้วว่า รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงรับคำร้องไว้พิจารณา แต่ขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 9 สิงหาคม 2560 เนื่องจากศาลมีสำนวนต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 121ก./2558 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=4510)
  • เวลา 09.50 น. ตุลาการเต็มคณะประกอบด้วย พล.ต.ศุภชัย อินทรารุณ, พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ และ พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์ ออกนั่งอ่านคำพิพากษา

    เนื่องจากธารามีข้อโต้แย้งเรื่องวันควบคุมตัว ซึ่งตามฟ้องระบุว่า เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 30 ม.ค. 2558 ตลอดมา แต่ตามคำเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นนายทหารผู้จับกุม และนายตำรวจผู้กล่าวหาในคดี ให้การสอดคล้องกันว่า ธาราถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2558 ไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า แม้ไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นการควบคุมตัวที่เกี่ยวข้องกับคดี ทำให้จำเลยสูญเสียอิสรภาพ จึงควรให้นับวันควบคุมตัวในส่วนนี้เพื่อหักออกจากโทษจำคุก

    เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่า การกระทำของธาราเป็นความผิดหนึ่งกรรมผิดต่อกฎหมายหลายบท ได้แก่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน

    ทั้งนี้ การนับเวลาจำคุกในทางกฎหมาย เวลา 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน เวลา 24 เดือน จึงเท่ากับ 720 วัน แต่หากนับเป็นปี 1 ปี จะเท่ากับ 365 วัน 2 ปี เท่ากับ 730 วัน ซึ่งมากกว่าเวลา 24 เดือนอยู่ 10 วัน โทษจำคุก 18 ปี 24 เดือนจึงน้อยกว่าโทษจำคุก 20 ปี

    ส่วนคำร้องประกอบคำรับสารภาพของธารา ที่ระบุว่า เขาเผยแพร่ลิ้งก์คลิปเสียงบรรพตเพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรและได้รับความนิยมมาก จึงนำมาแปะในเว็บไซต์เพื่อหวังให้คนเข้ามาดูที่หน้าเว็บไซต์ และมีรายได้จากโฆษณา ขณะถูกจับกุม เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน อีกทั้ง ครั้งนี้เป็นการกระทำผิดครั้งแรก และธารามีภาระต้องดูแลครอบครัว จึงขอให้ศาลลงโทษในสถานเบา เพื่อให้โอกาสได้แก้ไขความประพฤติกลับตัวเป็นพลเมืองดีนั้น ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว

    เนื่องจากคดีของธาราเป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ธาราไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลทหารชั้นสูงขึ้นไป เพื่อให้ศาลทหารกลางหรือศาลทหารสูงสุดทบทวนคำพิพากษาได้ คดีของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด และด้วยจำนวนโทษที่สูงทำให้ธาราจะถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรมต่อไป

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 121ก./2558 คดีแดงที่ 25ก./2560 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=4865)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายธารา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายธารา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พล.ต.ศุภชัย อินทรารุณ
  2. พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ
  3. พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 09-08-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์