สรุปความสำคัญ

ภายหลังรัฐประหาร นายคฑาวุธ นักจัดรายการวิเคราะห์การเมือง และอดีตทนายความ วัย 59 ปี ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารรวม 7 วัน คฑาวุธถูกส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากกรณีจัดรายการวิเคราะห์การเมือง "นายแน่มาก" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ "ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 57

คฑาวุธถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลที่ได้ระหว่างการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีความมั่นคงปลอดภัย ไปออกหมายจับ คฑาวุธยังถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอีกหลายประการ ทั้งสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ตลอดจนสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา รวมถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เนื่องจากคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ทั้งที่การกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนการประกาศให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายคฑาวุธ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 มิ.ย. 2557 หลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 และถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน คฑาวุธถูกทหารควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดี ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 98/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2557

10 มิ.ย. 2557 คฑาวุธถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 จากกรณีจัดรายการวิเคราะห์การเมือง "นายแน่มาก" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ "ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2557 คฑาวุธให้การปฏิเสธ ก่อนถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว แต่หลังจากยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินที่เพื่อนช่วยกันระดมมาจำนวน 200,000 บาท เป็นหลักประกัน ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง การกระทำกระทบต่อจิตใจประชาชนจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งเป็นการดำเนินการผ่านเว็บไซต์โดยมีกลุ่มดำเนินการอยู่ที่ สปป.ลาว ซึ่งผู้ต้องหามีธุรกิจก่อสร้างอยู่ ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีออกนอกประเทศ ยากแก่การติดตามตัว

หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกัน คฑาวุธถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

(อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/674472889269235 และ https://prachatai.com/journal/2014/08/55137)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 01-09-2014
อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องคฑาวุธ ต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14
 
วันที่ : 18-11-2014
ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาในวันที่คฑาวุธให้การรับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) (5) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี คดีถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีของศาลทหารในขณะประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา
 
วันที่ : 07-09-2016
คฑาวุธได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 เป็นการได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ หลังถูกจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 3 เดือน 5 วัน

ภูมิหลัง

  • นายคฑาวุธ
    เคยเป็นนายทหารพระธรรมนูญและเคยเป็นทนายความ เป็นดีเจจัดรายการ “นายแน่มาก”ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์การเมือง ความยาวตอนละประมาณหนึ่งชั่วโมง เผยแพร่ทางเว็บไซต์

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายคฑาวุธ
    บิดาของคฑาวุฒิเสียชีวิตในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คฑาวุฒิเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ทำให้คฑาวุฒิไม่มีโอกาสไปร่วมงานศพบิดา และการที่ถูกคุมขังอยู่ทำให้คฑาวุฒิไม่สามารถไปดูแลมารดาซึ่งมีอาการป่วยอยู่ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์