ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 54ก./2557
แดง 84ก./2557

ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 54ก./2557
แดง 84ก./2557
ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

คฑาวุธ นักจัดรายการวิเคราะห์การเมืองและอดีตทนายความ วัย 59 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 จากกรณีจัดรายการวิเคราะห์การเมืองเผยแพร่ทางเว็บไซต์ "ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 57 คดีนี้ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ทั้งที่การกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนการประกาศให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร โดยศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ และไม่อนุญาตให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา นอกจากนี้ ทั้งศาลอาญา และศาลทหารไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา แม้จะยื่นคำร้องถึง 5 ครั้ง วางเงินประกันสูงถึง 500,000 บาท และอ้างเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดูแลแม่อายุ 90 ปี ซึ่งป่วย จนกระทั่งจำเลยตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด ซึ่งเป็นผลให้คดีถึงที่สุดด้วย เนื่องจากเป็นช่วงการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งการพิจารณาคดีในศาลทหารในช่วงดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์/ฎีกา

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีในศาลทหารส่งผลที่เห็นได้ชัดในคดีนี้คือ คฑาวุธเป็นคดีแรกๆ ที่ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุกถึง 10 ปี ก่อนได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่งจากการที่เขารับสารภาพ ซึ่งปกติในศาลยุติธรรมจะพิพากษาโทษในความผิดตามมาตรา 112 กระทงละ 5 ปี

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 เวลากลางคืน จำเลยซึ่งใช้นามแฝงว่า “คฑาวุธ” กับบุคคลผู้ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” ร่วมกันจัดรายการวิทยุออนไลน์ชื่อรายการ “นายแน่มาก” โดยรูปแบบการจัดรายการเป็นการที่จำเลยกับบุคคลผู้ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” ร่วมกันนำบทสนทนาติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต โปรแกรม skype ซึ่งเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ “ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย” ปรากฏตาม www.konthais.org ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้และมีประชาชนได้ฟังรายการดังกล่าว

โดยเนื้อหาที่จำเลยพูดคุยกับบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏอยู่ตลอดมาในเว็บไซต์ “ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย” หรือ www.konthais.org จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบพบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวครั้งหลังสุดในระบบคอมพิวเตอร์ และจับกุมตัวจำเลยตามหมายจับของศาลอาญา อันเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อได้รับฟังบทสนทนาดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยและบุคคลผู้ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” ต้องการให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างประชาธิปไตย และเอาคนของตนมาเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม ซึ่งได้รับฟังบทสนทนาจากรายการวิทยุออนไลน์ชื่อรายการ “นายแน่มาก” ดังกล่าว

การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งบทสนทนาระหว่างจำเลยและบุคคลผู้ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” ดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557 ลงวันที่ 1 กันยายน 2557)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังคฑาวุธเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน วันที่ 9 มิ.ย. 57 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวคฑาวุธส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 98/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 57 วันต่อมา คฑาวุธถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 คฑาวุธให้การปฏิเสธ ก่อนถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว แต่หลังจากยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินที่เพื่อนช่วยกันระดมมาจำนวน 200,000 บาท เป็นหลักประกัน ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง การกระทำกระทบต่อจิตใจประชาชนจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งเป็นการดำเนินการผ่านเว็บไซต์โดยมีกลุ่มดำเนินการอยู่ที่ สปป.ลาว ซึ่งผู้ต้องหามีธุรกิจก่อสร้างอยู่ ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีออกนอกประเทศ ยากแก่การติดตามตัว

    จากนั้น คฑาวุธถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/674472889269235 และ https://prachatai.com/journal/2014/08/55137)
  • ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท และระบุเหตุผลดังต่อไปนี้

    1.คฑาวุธเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ในระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก คฑาวุธตกลงที่จะละเว้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

    2. คฑาวุธประกอบอาชีพโดยสุจริตมาตลอด ไม่เคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษทางอาญามาก่อน และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน รวมทั้งไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้

    3. คฑาวุธมีหน้าที่จะต้องดูแลมารดาอายุ 90 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมและโรคหัวใจ เนื่องจากบิดาเพิ่งเสียชีวิตในวันที่คฑาวุธเข้ารายงานตัวแล้วถูกควบคุมตัว

    4. สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

    อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557)
  • ทนายความยื่นขอประกันตัวคฑาวุธอีกครั้ง โดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท รวมทั้งระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า การที่คฑาวุธถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงไม่มีเหตุผลว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม ระบุว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอยุติการฝากขัง โดยระบุว่า ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาไว้ระหว่างสอบสวนรวม 7 ครั้ง และจะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ในวันที่ 1 กันยายน 2557 แต่จากการสอบสวนต่อมา พบว่าการกระทำความผิดของผู้ต้องหา เป็นการกระทำตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2558 พนักงานสอบสวนจึงมีความจำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนส่งต่อพนักงานอัยการศาลทหารกรุงเทพ

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 มีกำหนด 11 วัน ตั้งแต่ 22 ส.ค. - 1 ก.ย. 57 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ปาก รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับประกาศ คสช. เพิ่มเติม และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางจากกองพิสูจน์หลักฐาน

    (อ้างอิง: คำร้องขอยุติการฝากขัง ศาลอาญา ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2557 และคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2557)

    หลังศาลทหารกรุงเทพอนุญาตฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวด้วยเงินสด 300,000 บาท ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ศาลนำมาประกอบการพิจารณาด้วย พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแล้วอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องคฑาวุธ ต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย ซึ่งร่วมกันกับบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า “หนุ่มลับแล” จัดรายการการวิทยุออนไลน์ ชื่อรายการ “นายแน่มาก” เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ “ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย” www.konthais.org เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 มีเนื้อหาใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏอยู่ตลอดมาในเว็บไซต์ “ฅนไทพิทักษ์ประชาธิปไตย” จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557

    การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดฐาน ร่วมกับผู้อื่นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ร่วมกันนำเข้านำข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาชน และต่อความมั่นคงของประเทศ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14

    คำฟ้องยังระบุว่า จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2557 ตลอดมา ปัจจุบันอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557 ลงวันที่ 1 กันยายน 2557)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำฟ้อง เนื่องจากตั้งแต่อัยการทหารยื่นฟ้อง จำเลยและทนายจำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำฟ้อง ทำให้ไม่ทราบว่า จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานใดบ้าง และเป็นความผิดกี่กรรม อีกทั้งเพื่อความรวดเร็วในการเตรียมการต่อสู้คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอคัดถ่ายคำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557)
  • ตัวแทนจากสถานทูตของสหภาพยุโรปและสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ แต่ศาลมีคำสั่งให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้เป็นความลับ ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟังการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ตามที่อัยการแถลงขอ โดยให้เหตุผลว่า เป็นคดีที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ประกอบกับมีการพาดพิงสถาบันเบื้องสูง

    จำเลยแถลงว่า ไม่พร้อมให้การในนัดนี้ ขอเลื่อนไปให้การในนัดหน้า ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557

    หลังเสร็จการพิจารณาคดี ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคฑาวุธอีกครั้ง ศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองเรื่อง โดยในส่วนการยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลให้เหตุผลว่า คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องถามโจทก์ก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ โจทก์คัดค้าน เนื่องจากเป็นความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูง จำเลยอาจหลบหนี ประกอบกับโจทก์คัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    (อ้างอิง: รายงานการพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557)
  • นัดสอบคำให้การซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว จำเลยแถลงว่าได้ปรึกษารูปคดีกับทนายแล้วพร้อมให้การวันนี้ ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องและแก้ฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจแล้ว สอบถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อกล่าวหา ไม่ขอต่อสู้คดี แต่โต้แย้งว่า จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557 ตลอดมา โจทก์ไม่คัดค้าน และจำเลยได้ยืนยันคำร้องกับคำแถลงประกอบคำรับสารภาพที่ให้การรับสารภาพและขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษ โจทก์ไม่คัดค้าน และแถลงไม่ขอสืบพยานคดี เป็นอันเสร็จการพิจารณา

    (อ้างอิง: รายงานการพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557)

    วันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานร่วมกันนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษจำเลยลงกึ่งหนึ่ง คงให้จำคุก 5 ปี

    ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก หรือรอการกําหนดโทษนั้น ศาลได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเคารพเทิดทูน จึงเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษ หรือรอการกําหนดโทษได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557, คดีหมายเลขแดงที่ 84 ก./2557 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557)

    การพิจารณาของศาลในนัดนี้ไม่มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกเข้าร่วม เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตลอดการพิจารณาคดี

    คำพิพากษาดังกล่าวมีผลให้คดีสิ้นสุด เพราะการพิจารณาคดีของศาลทหารในขณะประกาศกฎอัยการศึก จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา
  • ศาลทหารกรุงเทพได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด เลขคดีอาญาคดีแดงที่ 84 ก./2557

    (อ้างอิง: ใบสำคัญคดีถึงที่สุด ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 54 ก./2557, คดีหมายเลขแดงที่ 84 ก./2557 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557)
  • คฑาวุธได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

    (อ้างอิง: หนังสือขอรับพระราชทานอภัยโทษ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2558)
  • คฑาวุธได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 เป็นการได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมถูกจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 3 เดือน 5 วัน

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/581)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายคฑาวุธ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายคฑาวุธ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พันเอก พิเศษศักดิ์ ค้ำชู

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 18-11-2014

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์