ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 8 ก./2557
แดง 21 ก./2558

ผู้กล่าวหา
  • ด.ต.ราชันย์ จันทร์สุข (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ 8 ก./2557
แดง 21 ก./2558
ผู้กล่าวหา
  • ด.ต.ราชันย์ จันทร์สุข

ความสำคัญของคดี

นายสม้คร ผู้ป่วยจิตเภท ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ทำให้เสียทรัพย์ และพาอาวุธไปในที่สาธารณะ จากกรณีที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ถูกกรีดและดึงลงจากซุ้มจนได้รับความเสียหาย สมัครให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน โดยไม่มีทนายเข้าร่วม และถูกคุมขังในเรือนจำตลอดมา เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว

คดีนี้ถูกพิจารณาในศาลทหารตามประกาศ คสช. ในชั้นศาล สมัครรับสารภาพว่าทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่มีเจตนา เป็นเพราะภาวะป่วยของเขา แต่เนื่องจากศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะเหมือนศาลยุติธรรม การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดโดยเหตุผลอื่นเช่นนี้ ทำให้อัยการทหารต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบ และด้วยความล่าช้าของกระบวนการสืบพยานในศาลทหาร ซึ่งผ่านไป 8 เดือน ยังไม่เสร็จ ขณะที่เขาถูกขังอยู่ตลอดเวลา สมัครจึงขอรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว กรณีนี้จึงสะท้อนปัญหาของศาลทหารได้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ ศาลทหารยังมีคำพิพากษาจำคุกสมัครสูงถึง 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี เนื่องจากสมัครรับสารภาพ แต่ศาลไม่ได้นำอาการทางจิตมาพิจารณาในทางละเว้นหรือบรรเทาโทษตามที่จำเลยร้องขอแต่อย่างใด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมัครเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย โดยบรรยายฟ้องว่า

(1) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เวลากลางคืน นายสมัคร (จำเลย) พาอาวุธมีดปลายแหลม ความยาวประมาณ 10 นิ้ว จำนวน 1 เล่ม ติดตัวไปในถนนทางเข้าหมู่บ้านปล้อง หมู่ 10 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อันเป็นทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร

(2) ตามวันและเวลาดังกล่าว จำเลยใช้อาวุธมีดที่พาติดตัวไป กรีดและฉีกดึง พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชินีฯ ซึ่งติดไว้ในซุ้มเฉลิมพระเกียรติทางเข้าหมู่บ้าน ฉีกขาดได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 1,300 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่นายเจตร ทรายคำ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านหมู่บ้านดังกล่าวได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น โดยจำเลยรู้แล้วอยู่แล้วว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นองค์ประมุขของประเทศ และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นองค์พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันอันประกอบเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ ที่จำเลยได้ใช้มีดกรีดและฉีกดึงจนได้รับความเสียหายนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ และเป็นการแสดงออกทางกิริยา ด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้เสียหายในทางใดๆ อันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หรือสิทธิตามกฎหมาย

การกระทำของจำเลยดังกล่าว โจทก์ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 358, 371

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8ก./2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังนายสมัครถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ โดยตำรวจสายตรวจในพื้นที่ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้แจ้งเหตุ และสมัครรับสารภาพในที่เกิดเหตุว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว สมัครถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเทิง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ทำให้เสียทรัพย์ และพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร โดยไม่มีทนายความที่สมัครไว้ใจเข้าร่วม ชั้นสอบสวนสมัครให้การรับสารภาพเช่นกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)
  • พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายสมัครไปยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย มีกำหนด 12 วัน โดยผู้ต้องหาไม่มีหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว จึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำกลางเชียงราย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)
  • สมัครถูกนำตัวมาจากเรือนจำกลางเชียงรายเพื่อไต่สวนคำร้องขอฝากขัง หลัง ร.ต.อ.สงกรานต์ กองอินทร์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเทิง พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาเป็นผัดที่ 5 เป็นเวลาอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. - 7 ก.ย. 2557 โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา

    ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ตุลาการศาลทหารได้กล่าวแนะนำพนักงานสอบสวนว่า สิทธิเสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ แต่กฎหมายก็ยังสามารถบัญญัติออกมาจำกัดสิทธินั้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิทธิเสรีภาพที่เป็นสิทธิเสรีภาพอันเป็นสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายใดหรืออำนาจใดๆ มาจำกัดมันได้ ขอให้พนักงานสอบสวนตรวจดูสำนวนให้ละเอียดว่า ตัวผู้ต้องหามีอาการทางจิตถึงขนาดไม่มีสติสัมปชัญญะ หรือเจตนาที่จะกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็รับว่าจะพิจารณา แล้วส่งความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ฝากขัง เพื่อรอผลตรวจทางจิตของแพทย์ และนัดให้พนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอฝากขังอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย. 2557

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ ฝก.5/2557 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/08/55245)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย มีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 20 กันยายน - 1 ตุลาคม 2557 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยสำนวนการสอบสวนกำลังอยู่ระหว่างเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งการ ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ

    ทนายความผู้ต้องหาขอให้ศาลบันทึกเรื่องการสอบสวนแพทย์ผู้ทำการตรวจซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบสวนไว้ ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา แต่ไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ ฝก.5/2557 ลงวันที่ 19 กันยายน 2557)
  • อัยการศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายยื่นฟ้องนายสมัครเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายในข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ทำให้เสียทรัพย์ และพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 358 และ 371 โดยคำฟ้องสรุปได้ดังนี้

    เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ความยาวประมาณ 10 นิ้ว จำนวน 1 เล่ม ติดตัวไปในถนนทางเข้าหมู่บ้านปล้อง หมู่ 10 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อันเป็นทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยใช้อาวุธมีดที่พาติดตัวไป กรีดและฉีกทิ้ง พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งติดไว้ในซุ้มเฉลิมพระเกียรติหน้าหมู่บ้าน ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 1,300 บาท โดยเจตนาให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะและเป็นการแสดงออกทางกิริยา ด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินีนาถ

    ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8ก./2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557)
  • ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายนัดสอบคำให้การจำเลย ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนวันนัดสอบคำให้การออกไปอีกนัดหนึ่ง เพราะจำเลยยังไม่พร้อม ทนายจำเลยแถลงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสาร ได้แก่ ประวัติการรักษา ความเห็นแพทย์ และเวชระเบียนของจำเลยที่โรงพยาบาลเทิง, โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และสถานพยาบาลเรือนจำกลางเชียงราย มาก่อนวันนัดสอบคำให้การ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดี แต่ยังไม่ได้เอกสารมา ศาลชี้แจงว่า คำร้องยังไม่ได้ระบุสถานที่ตั้งของโรงพยาบาล และหมายเลขประจำตัวของผู้ป่วย ศาลจึงไม่อาจออกหมายเรียกเอกสารให้ได้ จึงขอให้ทนายยื่นคำร้องใหม่ต่อศาลภายใน 7 วัน รวมทั้งแนบสำเนาบัตรประจำตัวผู้ป่วยของจำเลยมาด้วย และเลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลา 8.30 น.

    ภายในค่ายเม็งรายมหาราชวันนี้ ทหารมีการตรวจตราอย่างเข้มงวด โดยไม่ให้คนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปยังศาล และยังมีการให้เซ็นเอกสารแต่งตั้งทนายความในคดีนี้ใหม่อีกครั้งด้วย ขณะที่จำเลยจึงถูกนำตัวมาศาลหลังเที่ยงไปแล้วโดยไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน แต่ก็มีผู้มาติดต่อราชการที่ศาลทหารได้ช่วยแบ่งปันอาหารให้

    (อ้างอิง: คำร้องขอศาลออกหมายเรียกเอกสาร ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/11/56424)
  • ศาลทหารอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่า จำเลยจะให้การอย่างไร นายสมัครตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ระบุว่า จำเลยกระทำผิดไปโดยเหตุที่อยู่ในภาวะป่วยเป็นจิตเภท มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า จำเลยมีสติปัญญาบกพร่อง โดยมีเอกสารความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบ จำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯ การพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่ผู้ป่วยที่บกพร่องทางจิต ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้ศาลยกฟ้อง ให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เพื่อให้โอกาสจำเลยไปทำการรักษาอาการป่วยต่อไป

    อัยการทหารแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าว ระบุว่า จำเลยไม่ได้รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมด จึงจะขอนำพยานหลักฐานเข้าสืบ ศาลชี้แจงทนายจำเลยว่า การรับสารภาพหมายถึงการรับโดยไม่มีเงื่อนไข แต่การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดโดยเหตุผลอื่น คือมีอาการทางจิตเภท ไม่ได้รับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ และชี้แจงด้วยว่า ศาลทหารไม่ได้มีขั้นตอนการสั่งสืบเสาะคดีเหมือนกับศาลพลเรือน เพราะไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ ทำให้ฝ่ายจำเลยต้องนำพยานมาสืบในศาล เพื่อชี้ให้ศาลทหารเห็นประเด็นประกอบการพิจารณา ศาลกำหนดวันสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 12 มกราคม 2558

    ทั้งนี้ โดยปกติในศาลพลเรือน ศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะข้อเท็จจริงในคดี ภูมิหลัง ความประพฤติ และความเป็นอยู่ของจำเลย เพื่อทำเป็นรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการลงโทษที่เหมาะสม หรือการแก้ไขฟื้นฟูที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละราย โดยศาลจะพิจารณารายงานดังกล่าวประกอบดุลพินิจในการพิพากษา แต่พนักงานคุมประพฤติสังกัดกรมคุมประพฤติ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ทำให้ศาลทหาร ซึ่งสังกัดกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ไม่สามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะได้ โดยอัยการทหารให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ได้เคยส่งคดีอื่นๆ ไปให้กรมคุมประพฤติช่วยดำเนินการ แต่กรมคุมประพฤติอ้างว่า กฎหมายเกี่ยวกับคุมประพฤติไม่รวมศาลทหารเอาไว้ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจบังคับให้กรมคุมประพฤติทำงานให้ได้

    (อ้างอิง : คำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)
  • นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์นำดาบตำรวจราชันย์ จันทร์สุข ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาว่านายสมัคร กระทำความผิด เข้าเบิกความเป็นปากแรก โดยคำเบิกความสามารถสรุปได้ดังนี้

    ดาบตำรวจราชันต์เบิกความว่า ตนพร้อมด้วยดาบตำรวจวสุ วุฒิเปียง และนายวรวิทย์ ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ พบนายสมัครกำลังฉีกดึงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งกำลังดึงเอาพานพุ่มที่วางไว้เป็นเครื่องสักการะทุ่มลงกับพื้น ตนจึงสั่งให้นายสมัครหยุดการกระทำดังกล่าว และสอบถามนายสมัครว่า กระทำการดังกล่าวจริงหรือไม่ นายสมัครตอบว่ากระทำจริง จากนั้นตนจึงได้นำเอาตัวนายสมัครไปส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี พร้อมด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ถูกฉีกทำลาย และผ้าริ้วประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ของกลางส่งพนักงานสอบสวน

    ดาบตำรวจราชันต์ยังเบิกความต่ออีกว่า ในขณะที่ตนจับกุม ตนได้ถามนายสมัคร แต่ไม่ระบุว่าถามข้อความใด นายสมัครอยู่ในอาการมึนเมา ส่วนภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่นายสมัครฉีกนั้น ขาดออกเป็น 2 แผ่นนั้น เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระฉายร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นแผ่นเดียวกัน และหลังวันเกิดเหตุในตอนเช้า ตนไปตรวจที่เกิดเหตุพบมีดปลายแหลมปักอยู่ที่พระบรมฉายาลักษณ์ในซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

    ดาบตำรวจราชันต์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุตนได้ให้นายสมัครไปตรวจหาสารเสพติด แต่นายสมัครไม่ยอม ซึ่งตนทราบภายหลังว่านายสมัครเคยติดยาเสพติดมาก่อน แต่ไม่ทราบว่านายสมัครเคยมีอาการทางประสาท และเหตุที่ตนต้องการให้นายสมัครไปตรวจหาสารเสพติด ก็เพราะว่าดูจากสภาพนายสมัครในขณะจับกุมแล้ว เห็นว่ามีลักษณะไม่เหมือนคนปกติทั่วไป

    ส่วนที่ตนเบิกความตอบอัยการโจทก์ว่า นายสมัครมีอาการมึนเมาสุรา เพราะว่าได้กลิ่นสุรานั้น ในบันทึกการจับกุม และในบันทึกคำให้การของตนที่ให้การกับพนักงานสอบสวนไม่ได้มีข้อความระบุว่าจำเลยมีอาการเมาสุรา

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 12 มกราคม 2557)
  • สืบพยานโจทก์จำนวนหนึ่งปาก คือนายวรวิทย์ ศรีคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์การจับกุมตัวนายสมัคร โดยคำเบิกความสรุปได้ดังนี้

    นายวรวิทย์เบิกความว่าตนในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้รับแจ้งว่ามีคนมาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์จึงได้เดินทางไปดู และขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจะควบคุมตัวนายสมัคร ตนเห็นนายสมัครกำลังดึงพระบรมฉายาลักษณ์ ตนจึงได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้มาที่เกิดเหตุ และได้แจ้งให้ญาติพี่น้องของนายสมัครมาดูด้วย แต่ญาติของนายสมัครไม่มีใครมา

    ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนายสมัคร ตนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามนายสมัครฯว่า “มาทำอย่างนี้ทำไม” นายสมัครตอบว่า “ผมไม่ชอบ” จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ใหญ่บ้านจึงได้ควบคุมตัวนายสมัครไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรเทิง บริเวณที่เกิดเหตุเป็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในซุ้มจะประกอบด้วย พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และมีโต๊ะหมู่บูชา พานพุ่ม ผ้าริ้ว ซุ้มนี้ได้สร้างขึ้นมาแล้ว 2 ปี

    นายวรวิทย์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อประมาณปี 2557 ตนทราบว่ามีเหตุการณ์ที่จำเลยเคยเผารถตัวเอง และทราบว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน จำเลยมีอาการเครียดและทุบบ้านตัวเอง

    ในวันเกิดเหตุขณะที่มีการจับกุมนั้น ตนไม่ได้ยินนายสมัครพูดว่า “ในหลวงให้ไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย” ตนได้ยินแต่นายสมัครพูดว่า “ไม่ชอบ” ก่อนจับกุมนายสมัครไม่ได้หลบหนีไปไหน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการพูดจากับจำเลยเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งตนอยู่ด้วยในบริเวณนั้นและได้ยินที่มีการพูดจากันด้วย

    ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการปกติ พูดคุยรู้เรื่อง และซุ้มที่เกิดเหตุ ในช่วง 2 ปี ก่อนเกิดเหตุ ไม่มีเหตุการณ์ทำลายซุ้มดังกล่าวแต่อย่างใด

    นายวรวิทย์เบิกความตอบอัยการถามติงว่า ขณะเกิดเหตุนายสมัครสามารถพูดจาตอบโต้กับตนรู้เรื่อง และเรื่องที่นายสมัครเคยทุบบ้านนั้น ตนทราบสาเหตุแต่เพียงว่านายสมัครมีความเครียด ส่วนที่ตนเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการพูดคุยกับนายสมัคร และตนได้ยินนั้น ตนได้ยินแต่เพียงว่าได้มีการพูดคุยกัน แต่ไม่ทราบว่าคุยเรื่องอะไร เพราะขณะนั้นตนกำลังโทรศัพท์พูดคุยอยู่กับผู้ใหญ่บ้านด้วย

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558)
  • วันนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ แต่พยานคือนายเจตร ทรายคำ ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของนายสมัครไม่มาศาล โดยอ้างว่าติดธุระ ศาลจึงให้เลื่อนการนัดสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 9 เมษายน 2558 เวลา 8.30 น.
  • ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากเดิม คือนายเจตร ทรายคำ แต่นายเจตรยังคงไม่มาศาล อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า ไม่ทราบเหตุขัดข้องของพยาน และไม่ทราบผลตามหมายเรียกพยานที่ส่งไป แต่ยังมีความประสงค์จะสืบพยานปากนี้ เพราะเป็นพยานสำคัญในคดีนี้ จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานปากนี้มาเบิกความซ้ำ และขอให้เรียกพยานลำดับถัดไป คือนางเยาวเรศ ดวงมะโน พยานลำดับที่ 4 ในบัญชีพยาน มาเบิกความในนัดหน้าพร้อมกันด้วย

    ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงสั่งให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 8.30 น.
  • ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปาก นายเจตร ทรายคำ และนางเยาวเรศ ดวงมะโน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านสันป่าสัก แต่พยานทั้งสองปากไม่มาศาล โดยนายเจตรไม่มาศาลเป็นนัดที่ 3 แล้ว อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ส่งหมายเรียก ทำให้พยานไม่ทราบวันนัด แต่โจทก์ยังยืนยันจะนำพยานสองปากนี้เข้าเบิกความ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์สองปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2558 โดยศาลจะออกหมายเรียกพยานทั้งสองซ้ำอีกครั้ง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)
  • ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 2 ปาก ได้แก่ นายเจตร ทรายคำ ผู้ใหญ่บ้านที่เห็นเหตุการณ์ และก่อนหน้านี้ไม่มาศาลเพื่อสืบพยานตามที่ศาลนัดจำนวน 3 ครั้งแล้ว ทำให้คดีของนายสมัครเกิดความล่าช้าเพิ่มมากขึ้น อีกปากคือ นางเยาวเรศ ดวงมะโน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

    นายเจตรเบิกความว่าในวันเกิดเหตุนายวรวิทย์ ศรีคำ ได้โทรศัพท์มาแจ้งตนว่า มีคนร้ายกำลังทำร้ายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตนจึงได้เดินทางไปที่เกิดเหตุแล้วพบนายวรวิทย์ นางเยาวเรศ ดวงมะโน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 คน อยู่ในที่เกิดเหตุ และพบว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชินี มีรอยฉีกขาดกองอยู่กับพื้น และอีกชุดหนึ่งยังติดอยู่กับป้าย และมีผ้าริ้วกองไว้ที่พื้น พานพุ่มล้มระเนระนาดพร้อมกับโต๊ะหมู่บูชา

    ตนจึงสอบถามนายสมัครว่า ทำแบบนั้นเพราะอะไร ซึ่งนายสมัครไม่ตอบ จากนั้นตนจึงได้นำตัวนายสมัครพร้อมหลักฐานต่างๆ ไปที่สถานีตำรวจภูธรเทิง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี นอกจากนี้นายเจตรยังเบิกความต่อไปอีกว่า นายสมัครเคยมีประวัติเกี่ยวกับการป่วยทางสมอง ขณะไปช่วยเพื่อนบ้านหาฟืนในการจัดงานศพที่ต่างหมู่บ้าน และมีการรักษาจนหายดีแล้ว และในวันเกิดเหตุนายสมัครมีอาการเมาสุรา เพราะมีกลิ่นสุราและนั่งนิ่งเงียบ

    นายเจตรเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ตนทราบว่านายสมัครเคยทุบบ้านของตัวเอง และเมื่อช่วงปี 2557 นายสมัครเคยเผารถจักรยานยนต์ของตัวเอง โดยปกติเวลาที่ตนเจอกับนายสมัครจะมีการพูดคุยกัน แต่เวลาดื่มสุรานายสมัครจะพูดไม่รู้เรื่อง

    นางเจตรเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า เวลาที่ตนพบเจอกับนายสมัครและได้พูดคุยกันนั้นก็เพราะนายสมัครยังมีสติสัมปชัญญะ พูดคุยรู้เรื่อง และตัวนายสมัครประกอบอาชีพรับจ้าง หาเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้

    หลังจากนายเจตร ทรายคำ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว นางเยาวเรศ ดวงมะโน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมนายสมัครในวันเกิดเหตุ เข้าเบิกความต่อ

    นางเยาวเรศเบิกความตอบอัยการว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20.00 น. นายวรวิทย์ได้โทรศัพท์มาหาตน ว่ามีเหตุเกิดขึ้นที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ ตนจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุเห็นนายสมัครอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 คน และนายวรวิทย์ ตนได้พูดคุยกับนายสมัครว่า ทำอย่างนี้ทำไม จำเลยตอบว่า "ไม่ชอบพระเจ้าอยู่หัว" ต่อมาตนได้ไปตามน้องชายของนายสมัคร แต่น้องชายตอบว่า “จะทำอะไรก็ทำเถอะ เค้าไม่ไหวแล้ว” และน้องชายก็ไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ

    จากนั้นตนจึงได้กลับมาที่เกิดเหตุ และได้นำตัวนายสมัคร พร้อมของกลางไปที่สถานีตำรวจภูธรเทิง เพื่อไปสอบสวนดำเนินคดี นางเยาวเรศได้เบิกความต่อไปอีกว่า ในขณะเกิดเหตุนายสมัครมีอาการเมาสุรา และมีกลิ่นสุรา นอกจากนั้นแล้วนางเยาวเรศยังบอกอีกว่านายสมัครเป็นคนมีอุปนิสัยเรียบร้อย แต่บางครั้งมีอาการเหม่อลอย ซึ่งมีการเล่าว่า เวลานายสมัครเดินข้ามถนนจะไม่มีการมองแต่อย่างใด และยังเคยทุบบ้านตนเองหมดไปทั้งหลังอีกด้วย พร้อมทั้งทราบด้วยว่าจำลยกินยาและรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล โดยฟังจากคนอื่นที่พูดคุยกัน

    นางเยาวเรศตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนทราบว่านายสมัครมีอาการป่วยทางประสาท โดยเคยมาหาที่หมอโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย มีอาการเหม่อลอยเหมือนไม่มีสติ เช่น การข้ามถนน และคนในหมู่บ้านก็ทราบอาการของนายสมัคร

    ปัจจุบันตนไม่ทราบว่านายสมัครยังไปหาหมออยู่หรือไม่ แต่ตนทราบว่านายสมัครยังดื่มสุราอยู่เป็นประจำ ในวันเกิดเหตุ นายสมัครมีอาการเมาสุรา นั่งนิ่งเงียบ ไม่พูดจากับใคร ไม่ว่าผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตนถามนายสมัครว่าไปทำอย่างนั้นเพราะอะไร นายสมัครบอกว่า “ไม่ชอบพระเจ้าอยู่หัว”

    ในวันเกิดเหตุ ตนได้เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุได้พบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชินี รวมทั้งสิ่งของต่างๆ วางกองอยู่กับพื้นแล้ว

    นางเยาวเรศตอบทนายจำเลยต่ออีกว่า เมื่อ 4-5 ปี ก่อนหน้านี้ ตนทราบว่านายสมัครเคยทุบบ้านตนเอง และทราบด้วยว่านายสมัครเคยเผารถจักรยานยนต์ของตนเอง

    นางเยาวเรศตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า การที่นายสมัครมีอาการเหม่อลอยในเวลาข้ามถนน ทุบบ้านตนเอง และเผารถจักรยานยนต์ของตนเองนั้น นางเยาวเรศไม่ได้เจอเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง แต่ทราบจากการเล่าของคนในหมู่บ้าน

    เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานทั้งสองปาก อัยการทหารแถลงว่า ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานอีกสองปาก คือนายเลิศ สายน้ำเย็น และนางเพ็ญ ชำนาญ มาเบิกความในนัดหน้า ทนายจำเลยสอบถามว่า พยานทั้งสองจะมาเบิกความในประเด็นใด ถ้าเป็นเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ก็สามารถรับข้อเท็จจริงและตัดพยานได้ แต่อัยการยืนยันว่าเป็นพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อให้พยานหลักฐานสมบูรณ์ ทนายจำเลยจึงไม่ค้าน ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558)
  • ก่อนเริ่มการพิจารณา จำเลยได้แจ้งทนายความว่า จะตัดสินใจกลับคำให้การ ยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เหตุเพราะไม่สามารถทนรอสืบพยานอีกต่อไปได้ ต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยมีความรู้สึกเครียดจากการต้องใช้เวลาสืบพยานยาวนาน ต้องคอยคิดตลอดว่าจะไปศาลวันไหนบ้าง

    จากนั้นทางทนายความได้มีการพูดคุยกับอัยการทหาร ทราบว่ายังเหลือพยานโจทก์ที่จะนำมาเบิกความอีก 7 ปาก ทำให้คดีจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น เมื่อพูดคุยกับจำเลย ทนายความจึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการพิจารณาว่าจำเลยจะขอกลับคำให้การเดิมที่เคยต่อสู้คดี เป็นรับสารภาพแทน

    เมื่อขึ้นห้องพิจารณา ทางฝ่ายจำเลยจึงได้แถลงต่อศาล ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลได้สอบถามโจทก์ว่ายังติดใจสืบพยานอีกหรือไม่ โจทก์ตอบว่าไม่ติดใจสืบพยานแล้ว ศาลจึงให้งดการสืบพยานในนัดนี้ และนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 สิงหาคม 58 เวลา 8.30 น. รวมแล้วมีการสืบพยานโจทก์ดำเนินไปได้ทั้งหมด 4 ปาก

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดี โดยขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำคุกเอาไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยไปทำการรักษาอาการ โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีอาการหูแว่ว หวาดระแวง และมีระดับสติปัญญาในระดับต่ำ มีความจำเป็นต้องอยู่กับครอบครัวและบรรยากาศที่อบอุ่นใจ ซึ่งปรากฏตามใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในสำนวนคดีนี้

    คำแถลงระบุด้วยว่า โรคจิตเภทของจำเลยนั้นเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มีการแตกแยกของกระบวนการคิดและการตอบสนองทางอารมณ์ ส่วนใหญ่แสดงอาการเป็นหูแว่ว หวาดระแวง หลงผิดแบบแปลกประหลาด หรือมีการพูดและการคิดที่เสียโครงสร้าง และอาการจิตเภทเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวช อันมีรูปแบบอาการและการรักษาเฉพาะทาง โดยทนายจำเลยได้แนบเอกสารรายละเอียดของโรคจิตเภทท้ายคำแถลงปิดคดี

    คำแถลงระบุอีกว่า คดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มีความละเอียดอ่อน ย่อมต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายของกฎหมายที่ต้องการปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักของประชาชนจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำไปเป็นขบวนการ หรือมีความมุ่งหมายอันมิบังควรอันอื่น แต่หากกระทำไปด้วยระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในทางการแพทย์

    ทนายจำเลยได้อ้างอิงถึงคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้อีกสามคดี ซึ่งศาลได้พิจารณาตามรูปคดีและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นรายๆ ไป ได้แก่ คดีนายโอภาส (สงวนนามสกุล) ซึ่งศาลทหารกรุงเทพพิจารณาพฤติการณ์แล้วให้ลงโทษสถานเบา, คดีนายเฉลียว (สงวนนามสกุล) ซึ่งศาลอาญาได้พิจารณาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกไว้ และคดีของนายบัณฑิต อานียา ซึ่งจำเลยมีอาการจิตเภทเช่นเดียวกับคดีนี้ ศาลฎีกาก็ให้รอการลงโทษจำเลย เพื่อให้ไปทำการรักษา โดยได้แนบคำพิพากษาในคดีทั้งสามประกอบการพิจารณาของศาล

    ขณะเดียวกัน ยังได้แนบหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยจากผู้ใหญ่บ้าน ว่าจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติดี ประกอบอาชีพสุจริต และไม่เคยต้องโทษทางอาญามาก่อน ท้ายคำแถลงให้ศาลพิจารณาอีกด้วย

    (อ้างอิง: แถลงการณ์ปิดคดี ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558)
  • ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    จำเลยให้การรับสารภาพ แต่อ้างว่าได้กระทำไปเนื่องจากมีอาการป่วยทางจิต แต่เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบได้ 4 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อหา

    คดีคงได้ความตามฟ้องโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี, ฐานทำให้เสียทรัพย์ และฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะ หรือในหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควรจริง

    จึงพร้อมกันพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด 2 กระทง กระทงแรก ฐานพกพาอาวุธไปในทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษปรับ 100 บาท กระทงที่ 2 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 358 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี ปรับ 50 บาท ริบอาวุธมีดของกลาง

    ทั้งนี้ คำพิพากษาไม่ได้นำเหตุผลเรื่องอาการจิตเภทของจำเลย รวมถึงเหตุผลแวดล้อมอื่นๆ ที่ทนายจำเลยอ้างในคำแถลงปิดคดีมาพิจารณาเพื่อลงโทษสถานเบาหรือให้รอการลงโทษตามที่ทนายจำเลยร้องขอ

    หลังศาลทหารอ่านคำพิพากษา คดีเป็นอันสิ้นสุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และคดีเกิดขึ้นในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งโจทก์และจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์

    นับตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงวันอ่านพิพากษา สมัครถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลาทั้งหมด 396 วัน ความเครียดจากการถูกจองจำในเรือนจำ และความยากจนที่ทำให้เขาไม่มีเงินยื่นขอประกันตัว ประกอบกับในคดีมาตรา 112 เองมีความยากลำบากในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่งผลถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในกระบวนการยุติธรรม ปัจจัยทั้งหมดกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจยอมรับสารภาพของจำเลย โดยไม่ต่อสู้คดีอีก

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีดำที่ 8 ก./2557 คดีแดงที่ 21 ก./2558 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/05/samak_112/)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมัคร

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมัคร

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พันเอกธนา เลาหวนิช
  2. พันตรีพรศักดิ์ วีระธรรม
  3. พันตรีสิงห์คำ จิตตางกูร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 06-08-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์