สรุปความสำคัญ

ฐนกร (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัท ถูกทหารควบคุมตัวไปจากที่ทำงาน และนำไปควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน โดยปกปิดสถานที่ควบคุมตัวไม่แจ้งแก่ญาติและทนายความ ในระหว่างการควบคุมตัวทหารและตำรวจได้สอบปากคำฐนกร ก่อนเข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า ฐนกรแชร์ผังการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, กดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง

การดำเนินคดีนี้มีการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการตั้งแต่การปกปิดสถานที่ในการควบคุมตัว การออกหมายจับภายหลังการควบคุมตัว การปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงทนายความในชั้นจับกุมและสอบสวน ตลอดจนการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินความเป็นจริง ทั้งยังถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ทั้งหมดนี้เป็นการขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายฐนกร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายฐนกร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 ธ.ค. 2558 เวลา 21.00 น. ทหารได้เข้าควบคุมตัว นายฐนกร (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู มาซักถามหลังจากตรวจสอบพบว่านายฐนกร เป็นผู้โพสต์ภาพแผนผังเครือข่ายการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ในเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ซึ่งเป็นเพจที่สนทนาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและต่อต้านรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวนายฐนกร ซักถามขยายผลเพิ่มเติมในค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดยญาติไม่รู้สถานที่ควบคุมตัว

นางปรารถนา หญิงคนงานวัย 53 ปี มารดาของนายฐนกร ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า ไม่ได้อยู่กับนายฐนกรระหว่างเกิดเหตุ เนื่องจากทำงานอยู่คนละโรงงานกัน แต่วันรุ่งขึ้น (9 ธ.ค.) เธอได้ทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการแจ้งว่า นายฐนกรถูกนำตัวไปขังไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) เธอพร้อมกับสามีจึงเดินทางด้วยแท็กซี่ของน้าชายของนายฐนกรไปที่ มทบ. 11 เพื่อขอเข้าพบ แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบออกมาแจ้งว่าไม่สามารถให้เข้าพบได้ ต้องรอการสอบสวนภายใน 7 วัน หากไม่มีความผิดใดๆ ก็จะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นำตัวไปส่งที่บ้าน นางปรารถนาเป็นห่วงสวัสดิภาพของบุตรชายจากการถูกซ้อมทรมาน และนอกจากนั้นหากเจ้าหน้าที่กักตัวนายฐนกรนานเกินกว่า 3 วัน นายฐนกรจะต้องออกจากงาน เนื่องจากถือว่าทำผิดกฎของโรงงาน

นางปรารถนาเล่าให้ฟังว่า นายฐนกรจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประกอบอาชีพเป็นเพียงลูกจ้างรับค่าแรงรายวันในโรงงานแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีรายได้วันละ 300 กว่าบาท นายฐนกรไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหน ไม่เคยหยุดงาน เลิกงานก็อยู่กับบ้าน แต่เป็นคนที่สนใจสถานการณ์การเมือง ปัจจุบันตนและนายฐนกรเป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากบิดาของฐนกรวัย 58 ปี มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ขณะที่น้องสาวของนายฐนกรยังเรียนอยู่ชั้น ปวช. 1 จึงเป็นภาระให้นางปรารถนาผู้เป็นมารดาและนายฐนกรผู้เป็นพี่ชายต้องหักรายได้จากการทำงานมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ด้านทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามสอบถามไปยังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีซึ่งตั้งอยู่ใน มทบ. 11 แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้แจ้งว่า ไม่มีตัวนายฐนกรอยู่ในความควบคุมและไม่ทราบว่านายฐนกรอยู่ที่ใด ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดนอกเครื่องแบบอีกรายหนึ่งได้แจ้งว่า การควบคุมตัวนายฐนกรเป็นการควบคุมตัวตามอำนาจในมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งไม่สามารถแจ้งได้ว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด

ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค. 2558 ญาตินายฐนกรได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจสมุทรปราการว่า คดีดังกล่าวมีการแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามให้ลองไปสอบถามข้อมูลที่ดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ไปติดตามที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามแต่ไม่พบตัวนายฐนกร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าคดีดังกล่าวได้มีการมาแจ้งความและออกหมายจับแล้ว แต่ยังไม่มีการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นับแต่ที่นายฐนกร ถูกจับและควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ 8 -11 ธ.ค. 2558 ญาติและทนายความพยายามติดตามตัวนายฐนกร แต่ไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลที่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับนายฐนกรได้ และยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายฐนกรไว้ที่ใด และมีชะตากรรมเป็นเช่นไร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหาย เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศตามที่ประกาศไว้ต่อประชาชนและประชาคมโลก โดยยุติการใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และขอให้เปิดเผยสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัวบุคคล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามข้อ 14 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน โดยปกปิดสถานที่ควบคุมตัวนั้นเป็นการละเมิดพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2555 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ดังนั้น นายฐนกรจึงถือเป็นบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2558

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวบุคคลโดยปกปิดสถานที่นั้นอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น การทรมาน หรือการฆ่านอกระบอบกฎหมาย และทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ สิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก สิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว เป็นต้น อันเข้าข่ายการควบคุมตัวโดยพลการหรือโดยอำเภอใจ เป็นการละเมิดพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และขัดกับมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่แล้ว

14 ธ.ค. 2558 หลังฐนกรถูกควบคุมตัวรวม 7 วัน ทหารได้นำตัวฐนกรไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการกดไลค์เพจเฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการโพสต์ผังการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หลังตำรวจทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความหรือผู้ที่ฐนกรไว้วางใจเข้าร่วม ซึ่งฐนกรได้ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้นำฐนกรไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 - 25 ธ.ค. 2558 โดยศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว

ทั้งนี้ หลังฐนกรถูกควบคุมตัวในระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค. 2558 ญาติและทนายความได้ตามหาที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและกองกำกับการ 2 กองปราบฯ แต่ไม่พบตัวนายฐนกรและไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้แนะนำตนต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามไว้ และขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งทนายความเพื่อเข้าร่วมระหว่างการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายฐนกรมาฝากขังต่อศาลทหารและได้นำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

(อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/11/thanakorn-force-to-disappear-statement/, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/14/thanakorn-112-116-1/ และ https://prachatai.com/journal/2015/12/62909)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 04-03-2016
อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องนายฐนกรต่อศาลทหารกรุงเทพ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ม.14
 
วันที่ : 08-03-2016
ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยเรียกหลักทรัพย์ 500,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ การยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 นับจากวันที่ฐนกรถูกจับกุมเมื่อ 8 ธ.ค. 2558 และถูกคุมขังเรื่อยมา โดย 2 ครั้งแรกเป็นการประกันชั้นสอบสวน
 
วันที่ : 03-10-2018
ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนทนายความอานนท์ นำภา กรณีทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดคำเบิกความของ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์ แล้วนำไปลงเผยแพร่เว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

ในการไต่สวนศาลได้ให้ทนายอานนท์ชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งมอบเอกสารให้กับศูนย์ทนายความฯ จากนั้นมีคำสั่งให้ทนายอานนท์แจ้งศูนย์ทนายฯ ให้ลบข้อมูลคำเบิกความและรายงานพิจารณาออกจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามนำคำเบิกความและรายงานพิจารณาในคดีฐนกรไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด มิฉะนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล โดยที่ก่อนการไต่สวนศาลแจ้งเพียงว่า เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ไม่ได้ระบุว่าเป็นการไต่สวนละเมิดอำนาจศาล แต่ภายหลังไต่สวนกลับมีการออกคำสั่งดังกล่าวมา

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาในคดีนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และการเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดีไม่อาจทำให้ความยุติธรรมสูญเสียไป อันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้

นอกจากนี้ การพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งในสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

การรายงานข่าวของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกคดีซึ่งศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาลับและห้ามรายงานการพิจารณา จะใช้การสรุปความจากการเบิกความและการสังเกตการณ์ในคดี เนื้อหาที่นำเสนอมาจากถ้อยคำที่พยานเบิกความต่อศาล ไม่ใช่การนำเอกสารของศาลมาเผยแพร่ และการเผยแพร่ได้รับความยินยอมจากจำเลย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารที่จำเลยได้รับการประกันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่ำกว่าศาลยุติธรรมดังนั้น การเผยแพร่การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี นอกจากจะไม่กระทบกับคดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสง่างามแก่ศาลทหารมากกว่าการพิจารณาโดยลับ หรือห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดีด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคดีพลเรือนในศาลทหาร และนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน เพื่อความโปร่งใสและเป็นหลักประกันสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐถูกทำลายต่อไป

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=9181)
 
วันที่ : 16-11-2018
องค์กรภาคีที่สังเกตการณ์การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders หรือองค์กรภาคีฯ) ออกใบแจ้งข่าว เรื่อง การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อทนายอานนท์ นำภา กรณีศาลทหารเรียกไต่สวนและห้ามเผยแพร่คำเบิกความพยาน คดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

องค์กรภาคีฯ ขอประณามการคุกคามทนายอานนท์ ต่อกรณีศาลทหารเรียกไต่สวนทนายอานนท์ เกี่ยวกับการเผยแพร่คำเบิกความพยานของอัยการศาลทหาร ในคดีที่อานนท์ปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความจำเลย การกระทำดังกล่าวของศาลทหารเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาและแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังคงมีอยู่

องค์กรภาคีฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยหยุดการกระทำที่เป็นการคุกคามทนายอานนท์ทั้งหมด ทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม เพราะการกระทำนี้ดูเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความชอบธรรมของเขาในฐานะนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหยุดการกระทำอันเป็นการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ และรับรองถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=9709)
 
วันที่ : 09-08-2019
ศาลทหารกรุงเทพแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ และให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป
 
วันที่ : 20-01-2020
ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดพร้อมเพื่อกำหนดนัดวันสำหรับสืบพยานต่อ หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพ โดยเหลือพยานโจทก์ที่ยังไม่ได้สืบทั้งหมด 10 ปาก และพยานจำเลยอีก 6 ปาก กำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 24 – 26 มิ.ย. 2563

ทั้งนี้ ก่อนการที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้น ศาลทหารกรุงเทพทำการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 5 ปาก โดยใช้เวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2559

ภูมิหลัง

  • นายฐนกร
    พนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่ง รายได้วันละ 300 กว่าบาท ไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหน แต่เป็นคนที่สนใจสถานการณ์การเมือง ฐนกรและแม่เป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากบิดาของฐนกรวัย 58 ปี มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ และน้องสาวยังเรียนอยู่ชั้น ปวช. 1

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์