สรุปความสำคัญ

นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและโปรแกรมเมอร์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีที่ 2 โดยดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะปิยะถูกขังระหว่างการสอบสวนในคดีแรกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในการสอบปากคำ ปิยะให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความและส่งอีเมลที่มีเนิ้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2551 และ 2553 แต่ถูกนำมาฟ้องคดีภายหลังรัฐประหาร ซึ่งมีการเร่งรัดคดี 112

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายปิยะ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
    • เอกชน

พฤติการณ์การละเมิด

28 ม.ค. 58 ขณะปิยะถูกขังระหว่างการสอบสวนในคดี มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีกคดี โดยกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ปิยะให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 11-11-2015
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปิยะ ต่อศาลอาญา ถนนรัชดา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ในคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลระบุว่า ปิยะทำความผิด รวม 4 กรรม
 
วันที่ : 10-10-2016
ศาลอ่านคำพิพากษาโดยลับ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ อ.157/2559 ซึ่งเป็นคดีแรกของปิยะ รวมเป็นโทษจำคุก 14 ปี
 
วันที่ : 11-05-2017
ศาลออกหมายคดีถึงที่สุด เนื่องจากทั้งโจทก์และจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล
 
ปิยะเปิดเผยกับทนายความที่เข้าเยี่ยมภายในเรือนจำว่า เขาไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากติดหมายอายัดตัวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในคดีมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้ดำเนินการถอนหมายอายัดตัว ทำให้เรือนจำไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา แม้เขามีคุณสมบัติอื่น ๆ เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักการลงโทษแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ปิยะได้รับการลดหย่อนโทษจาก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการลดโทษเหลือโทษจำคุก 7 ปี และจนถึงปัจจุบัน เขาถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน เหลือโทษจำคุกอีกราว 2 ปี 3 เดือน น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ ทำให้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ แต่เรือนจำระบุว่าเขายังมีหมายอายัดตัว ตั้งแต่ปี 2557 ในคดีของดีเอสไอค้างอยู่

ทั้งนี้ การอายัดตัวผู้ต้องขัง หมายถึง กรณีที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้เรือนจำทราบว่า ผู้ต้องขังที่จะปล่อยตัวพ้นโทษนั้น เป็นผู้ต้องหาในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องการตัวไปดำเนินการต่อตามกฎหมายภายหลังปล่อยตัวพ้นโทษ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาไว้ในข้อหนึ่งว่า “ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาอายัด หลังจากส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหมั่นติดตามผลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกอายัดต่อศาล และเรือนจำได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลนั้นแล้ว หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาอายัดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือขอถอนอายัดผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุด”

เห็นได้ว่า กรณีของปิยะนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ปิยะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ทนายความได้ติดต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ได้รับแจ้งว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งยังหาสำนวนคดีไม่เจอ ซึ่งทางทนายหรือญาติของผู้ต้องขังต้องไปดำเนินการคัดถ่ายสำเนาของหมายอายัดตัวดังกล่าวมายื่นต่อดีเอสไอ เพื่อที่ดีเอสไอจะได้ดำเนินการต่อไป

แต่เมื่อทนายความของปิยะได้ติดต่อแจ้งเรื่องนี้กับเรือนจำ ทางเรือนจำระบุว่า ไม่สามารถให้คัดถ่ายหมายอายัดได้ ให้ได้แต่เพียงเลขที่ของหมายและชื่อของพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ออกหมาย การขอคัดถ่ายหมายต้องติดต่อไปยังดีเอสไอเอง

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปิยะยังได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ถอนหมายอายัดตัวเขา ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทำให้จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการถอนหมายอายัดของปิยะได้ และทำให้เรือนจำยังไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา

ทั้งนี้ การพักการลงโทษ คือการที่ทางราชทัณฑ์อนุญาตให้ปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษมาแล้วในสัดส่วนอัตราโทษตามที่ทางราชทัณฑ์กำหนดสำหรับนักโทษแต่ละชั้นความประพฤติ

นอกจากสิทธิประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดในเรื่องการพักโทษดังกล่าวแล้ว หากยังไม่สามารถถอนหมายอายัดดังกล่าวได้ ปิยะกล่าวว่า เขาก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น การลดวันต้องโทษจำคุก การออกไปทำงานสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เขาต้องถูกจำคุกจนครบ 7 ปีเต็ม

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=13651)

ภูมิหลัง

  • นายปิยะ
    ไม่สนใจเรื่องการเมืองไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองและไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มใดมาก่อน เคยมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมแอพพลิเคชั่น บนโทรศัพท์มือถือสำหรับการซื้อขายบ้านและที่ดิน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์