ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • อีเมล/SMS
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3739/2558
แดง อ.3239/2559

ผู้กล่าวหา
  • นายชาติศิริ โสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • อีเมล/SMS
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3739/2558
แดง อ.3239/2559
ผู้กล่าวหา
  • นายชาติศิริ โสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ความสำคัญของคดี

นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและโปรแกรมเมอร์ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีที่ 2 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความและส่งอีเมลที่มีเนิ้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2551 และ 2553 แต่ถูกนำมาฟ้องคดีภายหลังรัฐประหาร หลังเขาถูกจับกุมในคดีแรก ปิยะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์ข้อความและส่งอีเมลดังกล่าว ทั้งยังไม่ได้เป็นผู้ใช้อีเมลที่ส่งข้อความตามที่โจทก์ฟ้องด้วย

คดีนี้ศาลอาญามีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ล็อกห้องพิจารณาคดี และยึดโทรศัพท์ของทนายจำเลยในระหว่างการสืบพยาน ทั้งยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาคำเบิกความพยาน รวมถึงอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ นอกจากนี้ ปิยะยังไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากถูกขังใน 2 คดีในคราวเดียวกัน ครอบครัวไม่มีฐานะพอที่จะหาหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาประกันตัวได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยส่วนใหญ่ในคดี 112 รวมทั้งถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาจำคุกในอัตราโทษสูงถึงกรรมละ 8 ปี เช่นเดียวกับคดีแรกของเขาซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 9 ปี ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ศาลยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร พิพากษาจำคุกคดี 112 ในอัตราโทษสูงเกือบเท่ากับศาลทหาร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปิยะ ต่อศาลอาญา ถนนรัชดา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า ปิยะทำความผิด รวม 4 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 จำเลยซึ่งใช้ชื่อว่า Vincent Wang (วินเซ็นต์ หวัง) ได้นำข้อความที่เป็นเท็จและมีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

2. ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2551 จำเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามข้อ 1 ไปให้บุคคลผู้มีชื่อ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามข้อ 1

3. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 จำเลยซึ่งใช้ชื่อว่า จุ๊บ (Vincent Wang) ได้นำเข้าข้อความที่เป็นเท็จและมีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

4. ในวันเวลาเดียวกับข้อ 3. จำเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามข้อ 3 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามข้อ 3

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในขณะปิยะถูกขังระหว่างการสอบสวนในคดี มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดีหนึ่ง อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในการสอบปากคำ โดยกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ปิยะให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปิยะ ต่อศาลอาญา ถนนรัชดา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ในคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลระบุว่า ปิยะทำความผิด รวม 4 กรรม

    ในคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในอีกคดีของศาลเดียวกันนี้ คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.747/2558

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนมีเหตุติดขัดไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 7 มีนาคม 2559 โดยฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/29/piya-case-2-112/)
  • อัยการแถลงขอสืบพยาน 23 ปาก และยื่นเอกสารเป็นหลักฐานอีก 14 รายการ ทนายจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อของจำเลย ศาลจึงให้ตัดพยานโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนชื่อจำเลยออกบางปาก เหลือพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบ 9 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 วัน ฝ่ายทนายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ใช้เวลาสืบพยานครึ่งวัน กำหนดวันนัดสืบพยานเป็นวันที่ 27-29 กันยายน 2559

    ทนายจำเลยสอบถามอัยการว่า คดีนี้ฟ้องเป็นความผิดกี่กรรม อัยการอธิบายว่า 4 กรรม จากการส่งอีเมล 2 ฉบับ เนื่องจากเมื่อพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ ก็ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วหนึ่งกรรม และเมื่อกดส่งก็เป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่างหากอีกหนึ่งกรรม

    ทนายจำเลยโต้แย้งว่า การพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ยังไม่ใช่ความผิด เพราะยังไม่มีบุคคลที่สามมาเห็นจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ของมาตรา 112 แต่อัยการยืนยันว่า ความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามมารับรู้ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายแม้เพียงพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ของตัวเองก็เป็นความผิดได้ โดยยกแนวคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนมาชึ้แจงประกอบ

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/th/case/703#progress_of_case)


  • ก่อนการสืบพยานศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ ไม่อนุญาตให้คนนอกรวมทั้งพ่อของจำเลยเข้าฟังการพิจารณา

    พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ท.หญิง พรรณทิพย์ เต็มเจริญ พนักงานสอบสวนอยู่ที่สำนักเทคโนโลยีและสาระสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวนคดีในคดีนี้

    พ.ต.ท.หญิง พรรณทิพย์ เบิกความว่า จากการสืบสวนพบการกระทำความผิดตามที่กล่าวไว้ในคำฟ้องจริง โดยพยานพบช่องทางการส่งข้อความดังกล่าว 3 ช่องทาง คือ ทางเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ, อีเมลของนายชาติศิริ โสภณพณิช และจดหมายลงทะเบียน

    เมื่อพยานตรวจสอบไอพีแอดเดรสของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งไปยังอีเมลของนายชาติศิริ พบว่าเป็นบ้านเลขที่ที่จำเลยเคยพักอาศัยอยู่ แต่พยานจำบ้านเลขที่ไม่ได้แล้ว และเมื่อตรวจสอบกับผู้ให้บริการชื่อทริปเปิ้ลบรอดแบนด์ พบว่าผู้จดทะเบียนคือนายสิทธิศักดิ์ แต่บ้านเลขที่และอีเมลเป็นของจำเลย

    พยานจึงเรียกนายสิทธิศักดิ์ ซึ่งเป็นหลานของจำเลยและอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันมาให้ปากคำ นายสิทธิศักดิ์ให้ปากคำว่าจำเลยนำชื่อของตนไปจดทะเบียน และอีเมลดังกล่าวเป็นของน้าชาย ซึ่งใช้สมัครเกมออนไลน์ให้กับตนด้วย พยานจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ส่งอีเมลอันเป็นความผิด และได้ขอศาลออกหมายจับ ต่อมาในปี 2558 เจ้าหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุมจำเลยไว้ได้ จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพ พยานจึงไปสอบปากคำจำเลย ณ ที่ดังกล่าว จำเลยไม่ขอให้การใด ๆ จะให้การในชั้นศาล

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่สามารถเข้าสู่อีเมลของนายชาติศิริได้เอง และไม่เคยปรินท์อีเมลเกี่ยวกับคดีนี้ออกมาด้วยตนเอง อีกทั้งคนทั่วไปสามารถหาเสิร์ชหาอีเมลของนายชาติศิริได้ใน Google

    โจทก์ไม่ถามติง

    พยานโจทก์ปากที่ 2 นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ พนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฝ่ายเทคโนโลยี ดูแลด้านความปลอดภัยของสารสนเทศ

    นายกิตติเบิกความว่า ธนาคารกรุงเทพจะเปิดเว็บไซต์สาธารณะให้บุคคลติดต่อเข้ามาได้โดยผ่านทาง www.bangkokbank.com ในเว็บไซต์จะมีช่องให้กรอกข้อมูล และข้อความที่จะส่งถึงธนาคาร ข้อความที่มีคนกดส่งจะถูกส่งไปที่พนักงานหน่วย [email protected] และระบบจะตอบกลับไปที่ผู้ส่งอีเมลว่าได้รับข้อความแล้ว

    หลังจากพนักงาน [email protected] ตรวจสอบพบว่ามีการส่งข้อความไม่เหมาะสม ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีที่พยานรับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบ พยานจึงต้องแจ้งไปทางผู้ให้บริการทรีบอร์ดแบนด์ เพื่อให้ตรวจสอบว่าไอพีแอดเดรสมาจากที่ไหน ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้อำนาจของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ)

    ข้อความตามฟ้องที่โพสต์ลงเว็บไซต์ของธนาคารถูกส่งจากอีเมลซึ่งใช้ชื่อของนายชาติศิริ โสภณพานิช แต่ลงชื่อในตอนท้ายว่า “จุ๊บ (vincent wang)” ส่งวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 จากการตรวจสอบพบว่าอีเมลชื่อนายชาติศิริ ไม่ได้ส่งจากไอพีแอดเดรสของนายชาติศิริ แต่เป็นไอพีแอดเดรสของบุคคลภายนอก

    ส่วนข้อความที่ส่งทางเมลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ถูกส่งจากอีเมล joob22 ชื่อ วินเซนต์ หวัง (vincent wang) โดยมีสำเนาถึง [email protected]

    พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ธนาคารจะเก็บไอพีแอดเดรสของบุคคลสาธารณะที่เข้ามาใช้เว็บไซต์ของธนาคารไว้เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งสามารถจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ พยานไม่ได้ตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ส่งอีเมลในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 แต่เป็นการตรวจสอบ IP แอดเดรสของผู้ส่งข้อความในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งคือ วินเซนต์ หวัง นอกจากนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ส่งข้อความที่ส่งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551

    พยานยังตอบทนายจำเลยอีกว่า เว็บไซต์ของธนาคารไม่ได้บังคับผู้ส่งให้ต้องกรอกชื่อผู้ส่งอันเป็นชื่อจริง จะใช้ชื่อใครก็ได้ และไม่ได้บังคับว่า จะต้องระบุอีเมลจริงด้วย จึงไม่สามารถเชื่อมโยงผู้โพสต์กับอีเมลจริงได้ รวมทั้งผู้โพสต์จะลงชื่อใครอย่างไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องลงชื่อตนเอง

    ข้อความที่ถูกส่งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 นั้นถูกส่งต่ออีกครั้งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2551 โดยส่งไปถึงผู้ส่งเองชื่อวินเซนต์ หวัง joob22 ซึ่งไม่ใช่อีเมลชื่อ vincent แต่ข้อความที่กรอกลงในเว็บไซต์ของธนาคารจากกรอกอีเมลอย่างไรก็ได้ เหตุที่พยานไม่ได้ตรวจสอบไอพีแอดเดรสของข้อความที่ส่งมาในปี 2551 นั้น เนื่องจากเรื่องเพิ่งปรากฏในปี 2553 จึงมีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังและพบข้อความที่ไม่เหมาะสมในปี 2551 แต่ธนาคารไม่ได้เก็บไอพีแอดเดรสไว้แล้ว

    ส่วนสาเหตุที่พยานไม่ได้ตรวจสอบ IP แอดเดรสของข้อความไม่เหมาะสมที่โพสต์ลงในเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 นั้น เนื่องจากการโพสต์ลงเว็บไซต์อาจจะโพสต์ผ่านพร็อกซี่ (ตัวแทน) หลายชั้นก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะไม่สามารถตรวจสอบ IP แอดเดรสของผู้โพสต์ข้อความคนแรกได้

    พยานโจทก์ปากที่ 3 นายรัชพร วรอินทร์ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบสวนทางเทคนิค

    พยานตรวจสอบอีเมลชื่อ siam_aid พบว่าอีเมลดังกล่าวใช้จดทะเบียนเว็บไซต์ siam.com ผู้จดทะเบียนคือ vincent wang จากนั้น พยานจึงสืบสวนด้วยส่งอีเมลของพยานไปถึงอีเมล siam_aid แกล้งสอบถามเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ เมื่อได้รับการติดต่อกลับ จึงนำไอพีแอดเดรสของผู้ที่ใช้อีเมล siam_aid ไปให้บริษัททีโอทีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของหมายเลขไอพีแอดเดรสดังกล่าวตรวจสอบ พบว่าผู้ที่ขอจดทะเบียนชื่อนายสิทธิศักดิ์

    นอกจากนี้ พยานยังนำอีเมล siam_aid ไปเสิร์ชใน Google ปรากฎเฟซบุ๊กของวินเซนต์ หวัง (vincent wang) เมื่อพยานเข้าไปดู เฟซบุ๊กดังกล่าวปรากฏใบหน้าของจำเลย และภาพถ่ายจำเลยคู่กับภรรยา ภรรยาจำเลยถูกเรียกมาสอบปากคำด้วยและยืนยันว่าผู้ใช้เฟซบุ๊ก คือจำเลย จึงเชื่อว่าอีเมลดังกล่าวเป็นของจำเลย

    ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    พยานระบุว่า การจดทะเบียนเฟซบุ๊กสามารถทำได้ทางออนไลน์ ผู้จดทะเบียนไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารตัวตนที่แท้จริง การสมัครใช้อีเมลก็เช่นเดียวกัน ผู้ให้บริการจะให้กรอกอีเมลสำรองไว้ด้วย การสมัครใช้อีเมลในการกรอกอีเมลสำรองจะกรอกอีเมลจริงของเราลงไปก็ได้ หรือใช้อีเมลคนอื่นก็ได้ หรือใช้อีเมลสมมุติที่ไม่มีอยู่จริงก็กรอกลงไปได้ในช่องอีเมลสำรอง

    เลาเตอร์ที่ใช้ไอพีแอดเดรสเดียวอาจจะให้การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หลายเครื่องก็ได้ ซึ่งคอมพิวเตอร์หลายเครื่องนั้นจะส่งออกโดยใช้ไอพีแอดเดรสเดียวกัน

    นอกจากศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับแล้ว ยังสั่งล็อกห้องพิจารณาคดี และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทนายในระหว่างการสืบพยาน รวมถึงไม่อนุญาตคัดถ่ายสำเนาคำเบิกความพยาน หลักฐานที่เป็นบันทึกคำให้การที่โจทก์ยื่นเข้ามาระหว่างสืบพยาน ศาลอนุญาตเพียงให้ทนายจำเลยคัดลอกคำเบิกความพยานด้วยลายมือเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 กำหนดให้จำเลยมีสิทธิตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน สำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล สำเนาคำให้การในชั้นสอบสวน และสามารถขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านี้ได้

    (อ้างอิง: บันทึกคำเบิกความพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 ลงวันที่ 27 กันยายน 2559)
  • โจทก์นำ พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าเบิกความ

    พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เบิกความว่า ปี 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดยมอบให้สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศมีหน้าที่สืบสวนสอบสวน พยานเรียกผู้เกี่ยวข้องคือ เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพมาสอบปากคำ ได้ความว่าผู้ที่ใช้ชื่อจุ๊บหรือวินเซนต์ หวัง ส่งอีเมลเข้ามาในเว็บไซต์ของธนาคารเมื่อประมาณปี 2553 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

    พยานเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งคดีนี้ต้องมีการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการด้วย และเริ่มต้นสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยสอบผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้ที่รับมอบอำนาจจากนายชาติศิริ โสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ จากนั้น สอบปากคำนางสาวธนวรรณ อดีตภรรยาจำเลย ได้ความว่า จำเลยมีหลายชื่อ อยู่กินร่วมกับจำเลยมา 8 ปี ระยะแรกจำเลยเป็นคนดี ระยะหลังๆ เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดและนิสัยเปลี่ยนไป

    พยานยังสอบปากคำนายสิทธิศักดิ์ หลานชายของจำเลย ได้ความว่า นายสิทธิศักดิ์เคยพักกับจำเลยที่บ้านหลังเดียวกันกับนางสาวธนวรรณ นายสิทธิศักดิ์จะเรียกจำเลยว่า น้าจุ๊บ นายสิทธิศักดิ์ขอเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตโดยใช้ชื่อของตน ใช้หมายเลขโทรศัพท์เครื่องที่บ้านหลังนั้นนายสิทธิศักดิ์ยืนยันว่า จำเลยใช้อีเมล 2 อีเมล อีเมลแรกชื่อ Vincent อีเมลที่สองชื่อ siam_aid นายสิทธิศักดิ์เคยเล่นเกมออนไลน์ โดยจำเลยใช้อีเมลของจำเลยไปสมัครให้นายสิทธิศักดิ์ จึงยืนยันได้ว่า อีเมลทั้งสองเป็นของจำเลย

    ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่นายสิทธิศักดิ์สมัครคือบริษัททริปเปิลทีอินเทอร์เน็ต

    พยานสอบปากคำมารดาจำเลยซึ่งยืนยันว่า จำเลยชื่อ จุ๊บ นอกจากนี้ พยานยังสอบปากคำบุคคลอีกหลายปากอีก พยานตรวจสอบ IP Address ของผู้ที่ส่งข้อความไม่สมควรชุดที่ 2 ซึ่งส่งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ไม่พบว่าส่งมาจาก IP Address ใด สำหรับข้อความที่ไม่สมควรชุดแรกมีเพียงชื่อผู้ส่งคือ จุ๊บ หรือ วินเซนต์ หวัง แต่ไม่สามารถตรวจสอบ IP Address ได้ว่าส่งมาจากที่ใด เพราะเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากได้รับแจ้งเหตุ ขณะนั้นผู้ส่งใช้อีเมล chatsiri.sop

    แม้ไม่สามารถตรวจสอบ IP Address ที่มาของข้อความที่ไม่สมควรทั้ง 2 ข้อความได้ แต่พยานเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ทำผิด เนื่องจากเนื้อความในข้อความที่ไม่สมควรชุดที่ 2 ระบุถึงภรรยาจำเลย ซึ่งมีชื่อภรรยาของจำเลยชัดแจ้ง

    จากนั้น โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยนำปิยะ เข้าเบิกความเป็นพยานตนเอง

    ปิยะเบิกความว่า พยานมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งปัจจุบันชื่อนายปิยะ ชื่อเล่นจุ๊บ สาเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งเพราะเป็นไปตามความเชื่อของมารดา ส่วนชื่อวินเซนต์ หวัง เป็นชื่อในวงการการเงิน ใช้ในการแนะนำการลงทุนซื้อขายหุ้นรวมถึงใช้ในเว็บไซต์สยามเอ็ดด้วย นักลงทุนจะรู้จักชื่อ วินเซนต์ หวัง และอีเมล siam_aid ของพยานเป็นอย่างดี ส่วนอีเมล joob22 นั้นพยานไม่รู้จัก รวมทั้งไม่รู้จักนายชาติศิริ โสภณพนิช เป็นการส่วนตัว และไม่รู้จักอีเมลของบุคคลดังกล่าว

    ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแก่พยาน ไม่ได้อธิบายถึงการกระทำความผิดในปี 2551 พยานเพิ่งรู้เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของคดีนี้

    ความสัมพันธ์ของพยานกับอดีตภรรยากระท่อนกระแท่น ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้ง ส่วนนายสิทธิศักดิ์ หลานของพยานเคยให้พยานจ่ายเงินซื้อเกมออนไลน์ให้ แต่ภายหลังต้องจ่ายเงินจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน

    พยานไม่เคยส่งอีเมลทั้งสองข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง

    ตอบโจทก์ถามค้าน

    ชื่อ วินเซนต์ หวัง พยานใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แล้วเป็นชื่อที่เพื่อนต่างประเทศตั้งให้ ส่วนอีเมล siam_aid พยานสมัครใช้ประมาณปี 2551 จำช่วงเวลาแน่ไม่ได้ โดยสมัครไว้ให้นายสิทธิศักดิ์ใช้สำหรับเล่นเกม เนื่องจากอีเมลเก่าของนายสิทธิศักดิ์ถูกบล็อก นายสิทธิศักดิ์จึงทราบว่า พยานใช้อีเมลดังกล่าว ทั้งทราบพาสเวิร์ดของอีเมลดังกล่าวด้วย ขณะนั้นนายสิทธิศักดิ์อายุ 22 ปี ปัจจุบันพยานไม่ได้ใช้อีเมล siam_aid แล้ว

    พยานเคยอยู่กินกับอดีตภรรยา ตั้งแต่ปี 2550 พยานเคยเดินทางไปธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เพื่อฝากถอนเงิน แต่ไม่เคยพบกับนายชาติศิริ โสภณพนิช และไม่เคยเอาเอกสารใด ๆ ไปให้ธนาคารกรุงเทพ

    (อ้างอิง: บันทึกคำเบิกความพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559)
  • ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้แจ้งผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยลับ ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกนอกห้องพิจารณาและล็อกประตูห้อง โดยอ้างว่าเป็นคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์

    จากนั้น ศาลอ่านคำพิพากษา มีใจความว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิด 4 กรรม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 คือ ความผิดฐานนำเข้าข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สู่ระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2551 และเผยแพร่หรือส่งต่อเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2551 ให้จำเลยทราบในชั้นสอบสวน สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ทราบข้อกล่าวหานี้ครั้งแรกเมื่อถูกฟ้องที่ศาลนี้ เท่ากับพนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ที่ให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ จึงห้ามโจทก์ยื่นฟ้องข้อหานี้ตาม มาตรา 120 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้

    ส่วนข้อความตามคำฟ้อง 2 ข้อความ ซึ่งมีลักษณะโจมตีมุ่งร้าย ทำให้เสียต่อพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ศาลเห็นว่า ในเนื้อหาบางส่วนพาดพิงไปถึงชีวิตส่วนตัวของจำเลย และลงชื่อ Vincent Wang (วินเซนต์ หวัง) ซึ่งจำเลยยอมรับว่าใช้ชื่อดังกล่าวในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ และ พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวน เคยสอบถามอดีตภรรยาของจำเลยทราบว่าข้อมูลชีวิตส่วนตัวของจำเลยตรงกับที่เขียนลงในข้อความนั้น

    ศาลเห็นว่า ผู้เขียนข้อความทั้งหมดนี้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์จิตที่มีโมหะ และโทสะ ทั้งผู้เขียนใช้ชื่อวินเซนต์ หวัง เช่นเดียวกันทั้งสองครั้ง จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลเดียวกัน และอีกตอนหนึ่งระบุว่า “เพราะผมพยายามเมาเหล้าก่อนที่จะทำตามที่พวกมันบังคับเพื่อแลกกับชีวิตภรรยาผม” ศาลเห็นว่า ปกติคนที่ลุ่มหลงสุรายาเสพติดจนมีอาการมึนเมา มักกระทำการใด ๆ ที่ขาดสติยั้งคิด ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมาภายหน้า จึงเชื่อว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวมีความกล้าพอที่จะใช้นามแฝงของตนจริง ๆ

    นอกจากนี้ สิทธิศักดิ์ หลานของจำเลยได้ให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยเป็นคนมีนิสัยชอบพูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด ด่าบ่นไปเรื่อย สอดคล้องกับที่อดีตภรรยาให้การไว้ว่า ช่วงหลัง จำเลยไม่ได้ทำงาน เริ่มเสพยาเสพติด ดื่มสุรา มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ทั้งเคยทะเลาะทำร้ายตบตีภรรยาถึงขั้นหมดสติไป

    ศาลเห็นว่า เนื้อหาพยานหลักฐานโจทก์สอดรับกันดีมีน้ำหนักมาก เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวพันถึงเรื่องราวส่วนตัวของจำเลย ยากที่บุคคลอื่นจะล่วงรู้ได้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมุ่งใส่ความให้ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามคำฟ้องจริง แต่โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่า ข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.3 ที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 นั้น จำเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อไปให้บุคคลอื่น วันเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความดังกล่าวได้

    ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ อ.157/2559 ซึ่งเป็นคดีแรกของปิยะ

    ทั้งนี้ ในคดีแรก ซึ่งเป็นคดีมาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกัน ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 9 ปี แต่ลดโทษเหลือ 6 ปี โดยในขณะที่คดีที่สองมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น คดีแรกอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

    นอกจากศาลจะอ่านคำพิพากษาในคดีนี้เป็นลับ ศาลยังไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยคัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้คัดลอกด้วยลายมือเพื่อใช้ในการยื่นอุทธรณ์

    แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่มาตรา 182 วรรคสอง ระบุชัดเจนให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี โดยไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นใด ๆ ซึ่งตามหลักแล้วศาลจะต้องพิจารณาและพิพากษาคดีโดยเปิดเผย และเปิดโอกาสให้ให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    นอกจากนี้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้การรับรองเป็นภาคี ข้อ 14 (1) ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม รวมถึงต้องเปิดเผยคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา หมายเลขคดีดำที่ อ.3739/2558 หมายเลขคดีแดงที่ 3239/2559 ลงวันที่ 10 ต.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2375)
  • จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

    1. โจทก์ไม่ได้นำตัวนางธนวรรณและนายสิทธิศักดิ์มาเบิกความต่อศาล คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานทั้งสองเป็นเพียงพยานบอกเล่า มิได้กระทำต่อหน้าศาลและต่อหน้าจำเลย และเป็นคำให้การที่พยานมิได้สาบานหรือปฏิญาณตนตามลัทธิศาสนาต่อหน้าศาล จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่ศาล ทั้งที่นางสาวธนวรรณและนายสิทธิศักดิ์ก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ต่อพนักงานสอบสวน อยู่ในวิสัยที่โจทก์จะตามตัวพยานทั้งสองมาเบิกความต่อศาลได้ แต่โจทก์มิได้ดำเนินการ โดยเมื่อพยานทั้งสองไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ก็แถลงหมดพยานทันที มิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น คำให้การในชั้นสอบสวนของนางสาวธนวรรณ และนายสิทธิศักดิ์จึงถือเป็นพบานบอกเล่าที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ที่ศาลชั้นต้นยกเอาปากคำพยานทั้งสองมารับฟัง ลงโทษจำเลยจึงได้ชอบด้วยกฏหมาย

    2. การตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไม่ปรากฏว่าข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามฟ้องนั้นถูกส่งมาจากต้นทางใด ที่ศาลชั้นต้นอนุมานจากพยานบอกเล่ามาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้เขียนและส่งข้อความเพราะเหตุว่า ข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วนพ้องกับเรื่องราวส่วนตัวของจำเลยนั้น ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลย ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ให้ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด และศาลพึงจะต้องใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ก็พึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3239/2559 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2560)
  • จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3239/2559 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560)
  • เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล คดีจึงถึงที่สุด ศาลอาญาจึงออกหมายขังเมื่อคดีถึงที่สุดและใบสำคัญคดีถึงที่สุด

    (อ้างอิง: หมายขังเมื่อคดีถึงที่สุด ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3239/2559 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และใบสำคัญคดีถึงที่สุด ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3739/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3239/2559 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายปิยะ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายปิยะ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นางธัญวรัตน์ วีรเดชกำแหง
  2. นายปกรณ์ ประเสริฐศักดิ์
  3. นายธวัชชัย เชษฐวงศ์รัตน์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 10-10-2016

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์