สรุปความสำคัญ

ประจักษ์ชัย (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมขณะเขียนและยื่นคำร้องถึงนายกฯ ที่ศูนย์บริการประชาชนใน กพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เขาถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากข้อความเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดที่เขียนในคำร้องดังกล่าว ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ทนายความได้ยื่นหนังสือขอให้พนักงานสอบสวนส่งตัวประจักษ์ชัยเข้ารับการตรวจความผิดปกติทางจิต ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 14 เนื่องจากพบข้อเท็จจริงว่า เขามีอาการทางจิตที่ไม่ปกติ แต่พนักงานสอบสวนก็อ้างว่า ไม่มีอำนาจ และยังยื่นฟ้องประจักษ์ชัยต่อศาลทหาร

ในชั้นศาล แม้ศาลทหารจะส่งประจักษ์ชัยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต และแพทย์วินิจฉัยว่า เขาเป็นโรคจิตเภท มีอาการหลงผิด ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทำให้ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว พร้อมทั้งให้ประกันตัวประจักษ์ชัย แต่เพียง 5 เดือนต่อมา หลังแพทย์มีความเห็นว่า ประจักษ์ชัยมีอาการดีขึ้น แม้ยังมีอาการหลงผิด แต่สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ศาลทหารจึงให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อ โดยใช้เวลากว่า 3 ปี สืบพยานได้เพียง 8 ปาก ยังไม่เริ่มสืบพยานจำเลย ประจักษ์ชัยก็เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 เนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหาร

กรณีนี้จึงไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีประชาชนอย่างกว้างขวางหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนที่มีอาการผิดปกติทางจิต แต่ยังสะท้อนให้เห็นความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งทำให้ผู้ตกเป็นจำเลยได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพและจิตใจเป็นเวลานาน ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายประจักษ์ชัย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 10.00 น. นายประจักษ์ชัยเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยติดต่อตำรวจที่ป้อมยามหน้าประตูทำเนียบ ตำรวจให้เขาข้ามถนนไปร้องเรียนที่ศูนย์บริการประชาชนในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ทหารที่อยู่หน้าทางเข้าได้ยื่นกระดาษให้ 1 แผ่นพร้อมปากกา เขาได้เขียนข้อความร้องเรียนของเขาลงไปในกระดาษแผ่นนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้อ่านข้อความ ตำรวจ 10 กว่านายก็กรูเข้าล้อมตัวเขาและนำตัวไป สน.ดุสิต

จากคำบอกเล่าของประจักษ์ชัย เมื่อถึง สน.ดุสิต เขาถูกนำตัวไปที่ “ห้องสายสืบ” ราว 20 นาที ก่อนได้รับการปล่อยตัว จากนั้นเขาได้ไปเที่ยวงานตรุษจีนที่ลาดพร้าวต่อแล้วจึงเดินทางไปทำงานที่โรงขัดอลูมิเนียมแถววัดหัวกระบือในเวลาประมาณ 20.00 น. แต่ในขณะเดินทางด้วยรถสองแถวก็มีตำรวจมาดักรอ เรียกให้ลงจากรถ แล้วควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) แถวพญาไท เขาถูกถ่ายภาพ ทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ และสอบปากคำ จนเวลาประมาณ 23.00 น. จึงถูกส่งตัวไปขังที่ สน.ดุสิต

จนกระทั่งวันที่ 22 ก.พ. 2558 พนักงานสอบสวนจึงได้นำตัวประจักษ์ชัยไปขออำนาจฝากขังที่ศาลทหาร และส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยครอบครัวที่มารอพบไม่มีหลักประกันที่จะยื่นประกันตัว

ในชั้นจับกุมและสอบสวนที่ไม่มีทนายความเข้าร่วม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาประจักษ์ชัยว่า กระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยประจักษ์ชัยรับว่า เป็นผู้เขียนข้อความในคำร้องเรียนจริง ประจักษ์ชัยเล่าด้วยว่า ในการสอบปากคำ สารวัตรสอบสวนยศพันตำรวจตรี พูดว่า “ไม่เกิน 2 เดือนยกฟ้อง” และตำรวจได้ถามเขาว่า “ได้ความคิดนี้มาจากไหน” ซึ่งเขาตอบเพียงว่า “เพราะกระดาษแผ่นเดียว”

ทั้งนี้ จากเอกสารหลักฐานในการควบคุมตัวประจักษ์ชัย พบว่า ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 - 22 ก.พ. 2558 นั้น เป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกด้วย โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้พื้นที่ของ สน.ดุสิต ในการซักถามและกักตัว

ประจักษ์ชัยเล่าว่า เคยมาร้องเรียนแบบนี้ตั้งแต่ปี 2537 รวมแล้วน่าจะเกิน 10 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะร้องเรียนปากเปล่าไม่เคยเขียนลงกระดาษ มีครั้งนี้ที่เขียน ที่ผ่านมาไม่เคยถูกจับดำเนินคดี ที่ทำแบบนี้เพราะอยากพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรม เขาเห็นว่า “สมบัติทุกอย่างเป็นของประชาชน” เขาไม่เคยทำความผิดอาญา และไม่มีสีทั้งเหลืองทั้งแดง

ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้เรียกคนในครอบครัวของประจักษ์ชัยมาให้ปากคำถึงประเด็นอาการทางจิตของประจักษ์ชัยด้วย

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ดุสิต ลงวันที่ 19 ก.พ. 2558, บันทึกการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ลงวันที่ 19 ก.พ. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 15-05-2015
อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องประจักษ์ชัยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยกล่าวหาว่า ประจักษ์ชัยล่วงละเมิดและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการใช้ปากกาเขียนข้อความลงในกระดาษบันทึกข้อร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558
 
วันที่ : 15-10-2015
ศาลนัดไต่สวนจิตแพทย์ ผู้ตรวจอาการของนายประจักษ์ชัย แพทย์ยืนยันว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้งดพิจารณาคดีและให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ให้จำเลยรักษาตัวในความดูแลของแพทย์ต่อไป เมื่อจำเลยหายวิกลจริตหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ขอให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รายงานศาลทหารกรุงเทพทราบโดยเร็ว รวมทั้งมีคำสั่งให้ประกันในวันต่อมา โดยเรียกหลักประกัน 100,000 บาท หลังทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยให้ผู้เต็มใจรับเป็นผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
 
วันที่ : 25-02-2016
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) มีหนังสือลำดับที่ THA 9/2015 (ลงวันที่ 25 ก.พ.59) ในเรื่องการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ทั้งหมด 26 คน อาทิเช่น กรณีโอภาส, กรณีเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด”, กรณีพงษ์ศักดิ์, กรณีศศิวิมล, กรณีสมัคร, กรณีจารุวรรณ, ผู้ต้องหาหลายคนในกรณีแชร์คลิปบรรพต, กรณีเอกชัย, กรณียศวริศ หรือ “เจ๋ง ดอกจิก”, กรณีเฉลียว รวมทั้งกรณีประจักษ์ชัย โดยผู้รายงานพิเศษระบุว่า พวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและในที่สาธารณะ รวมทั้งในสื่อออนไลน์เท่านั้น ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งในจำนวนนี้ มี 15 คน รวมถึงประจักษ์ชัย ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งกระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมด้วย

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=4717)
 
วันที่ : 29-03-2016
ศาลทหารนัดไต่สวนรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของประจักษ์ชัย แพทย์เบิกความว่า จากการตรวจอาการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 จำเลยมีอาการโดยทั่วไปดีขึ้น แต่ยังคงมีอาการหลงผิด เชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะหายเมื่อไหร่ แต่สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อ
 
วันที่ : 19-07-2019
นัดสืบพยานจำเลย ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอให้ศาลจําหน่ายคดี พร้อมแถลงประกอบคําร้องว่า ได้รับแจ้งจากญาติจําเลยว่าจําเลยเสียชีวิต เนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหาร เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 และแนบสําเนามรณบัตรมาด้วย แต่ศาลแจ้งว่า ได้มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป จึงให้โอนคดีไปศาลยุติธรรม กับจําหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้
 
วันที่ : 17-12-2019
ศาลอาญา รัชดา นัดอัยการและทนายจำเลยมาสอบถามเรื่องการเสียชีวิตของจำเลย อัยการแถลงว่า ได้รับการยืนยันจากพนักงานสอบสวนในคดีว่า จำเลยได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 จริง จากเหตุเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยมีใบมรณบัตรเป็นเอกสารยืนยัน ศาลจึงได้สั่งจำหน่ายคดีของประจักษ์ชัยออกจากสารบบความ

ภูมิหลัง

  • นายประจักษ์ชัย
    พื้นเพเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ มาทำงานโรงงานอลูมิเนียมในจังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่ปี 2537 ครอบครัวระบุว่า ประจักษ์ชัยเริ่มปรากฏอาการทางจิตมาตั้งแต่วัยย่างเข้าวัยรุ่น โดยมักจะตะโกนเสียงดังด้วยคำที่ไม่มีความหมาย หัวเราะหรือพูดคนเดียว เมื่อเขาหันไปเสพยาเสพติดระยะหนึ่ง ทำให้อาการของโรคหนักขึ้น แม่จึงส่งตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัด แต่ประจักษ์ชัยกินยาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โดยปกติประจักษ์ชัยไม่เคยทำร้ายใคร ยังสามารถทำงานได้ และคำนวนเลขได้เพราะเคยเรียนจนถึงชั้นประถมปีที่ 6

    นอกจากอาการทางจิตแล้ว ก่อนถูกจับกุมประจักษ์ชัยยังเป็นโรคตับมาราว 3 ปีแล้ว จากการดื่มสุรามาเป็นเวลานาน โดยหากอาการกำเริบจะมีอาการท้องบวม แน่นท้อง หายใจไม่ออก และเหนื่อยหอบ

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายประจักษ์ชัย
    ในชั้นสอบสวนซึ่งประจักษ์ชัยถูกปฏิเสธการส่งตัวเขาไปพบแพทย์ เพื่อให้มีการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิต ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อแก่การรักษาพยาบาลอาการป่วยทั้งทางจิตและทางกายของเขา ทำให้ระหว่างนั้นอาการโรคตับของเขากำเริบ และต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

    นอกจากนี้ การถูกคุมขังเกือบ 8 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่ต้องเข้ารับการรักษาทั้งโรคทางจิตและทางกาย ยังทำให้ประจักษ์ชัยไม่สามารถกลับไปทำงานได้ และไม่มีรายได้ ครอบครัวต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนค่าเดินทางมาศาล ในเวลา 3 ปีกว่า รวม 16 ครั้ง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 เนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยที่การสืบพยานในคดียังไม่เสร็จสิ้น

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์