ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 148ก./2558 (อ 3057/2562)

ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท สุภัค วงษ์สวัสดิ์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 148ก./2558 (อ 3057/2562)
ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท สุภัค วงษ์สวัสดิ์

ความสำคัญของคดี

ประจักษ์ชัย (สงวนนามสกุล) ตกเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 จากการเขียนและยื่นคำร้องที่ศูนย์บริการประชาชน ถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 ในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความ เขาให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้เขียนข้อความจริง แต่ไม่รู้ว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์ ประจักษ์ชัยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน เนื่องจากครอบครัวไม่มีหลักทรัพย์ที่จะยื่นประกัน รวมทั้งไม่ถูกส่งตัวไปตรวจอาการทางจิต แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจส่งผู้ต้องหาไปตรวจ และใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องได้ เมื่อพบว่าผู้ต้องหากระทำความผิดด้วยอาการทางจิต

ในชั้นพิจารณาคดีของศาลทหาร ประจักษ์ชัยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา เนื่องจากป่วยเป็นโรคจิตเภทตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ มีอาการหลงผิด
ซึ่งก่อนหน้านั้นจิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาได้ยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน และมีความเห็นว่า ประจักษ์ชัยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทำให้ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว พร้อมทั้งให้ประกันตัวประจักษ์ชัย แต่เพียง 5 เดือนต่อมา ศาลทหารก็ให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อ และใช้เวลากว่า 3 ปี ประจักษ์ชัยต้องเดินทางมาศาล 16 ครั้ง แต่สืบพยานไปได้เพียง 8 ปาก ประจักษ์ชัยก็เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 เนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหาร

กรณีนี้จึงไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีประชาชนอย่างกว้างขวางหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนที่มีอาการผิดปกติทางจิต แต่ยังสะท้อนให้เห็นความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งทำให้ผู้ตกเป็นจำเลยได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพและจิตใจเป็นเวลานาน ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องประจักษ์ชัย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยบรรยายฟ้องว่า

จำเลยเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 เวลากลางวัน อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฏอัยการศึก จำเลยใช้ปากกาเขียนข้อความลงในกระดาษบันทึกข้อร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ให้ปลดพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการล่วงละเมิดและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกระดาษและปากกาที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหาร คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกจับกุมโดยตำรวจกว่า 10 นาย ที่ศูนย์บริการประชาชนในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ขณะเขียนและยื่นคำร้องถึงนายกฯ ประจักษ์ชัยก็ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ดุสิต เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุม โดยระบุว่า ประจักษ์ชัยถูกจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการเขียนบันทึกข้อร้องเรียนถึงนายกฯ

    ประจักษ์ชัยเล่าว่า เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ดุสิต ราว 20 นาที ก่อนได้รับการปล่อยตัว และถูกจับกุมอีกครั้งในช่วงค่ำ ขณะเดินทางด้วยรถสองแถวไปทำงานย่านบางขุนเทียน เขาถูกนำตัวไปทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ และสอบปากคำ ที่ บก.น.1 ก่อนถูกส่งตัวไปขังที่ สน.ดุสิต

    ในการสอบปากคำที่ไม่มีทนายความเข้าร่วม พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาประจักษ์ชัยว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประจักษ์ชัยรับว่า เป็นผู้เขียนข้อความในคำร้องเรียนจริง แต่เขาไม่รู้กฎหมาย และไม่รู้ว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
  • พนักงานสอบสวนควบคุมตัวประจักษ์ชัยไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. - 5 มี.ค. 2558 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ครอบครัวมารอพบประจักษ์ชัยแต่ไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกัน ประจักษ์ชัยจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 ต่อศาลทหารกรุงเทพ มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. - 10 เม.ย. 2558 ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพนักงานสอบสวนและเบิกตัวผู้ต้องหามาให้ถ้อยคำต่อหน้าศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4

    คำร้องคัดค้านการขอฝากขังระบุเหตุผลเกี่ยวกับอาการป่วยของประจักษ์ชัยซึ่งมีทั้งโรคตับที่อาการของโรคปรากฎให้เห็น ทั้งท้องบวม และมีเนื้องอกขนาดกำปั้นที่สะดือ ตัวเหลืองตาเหลือง โดยอาการดังกล่าวส่งผลให้เขาอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และภูมิคุ้มกันลดต่ำลง หากถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำต่อไป จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้อาการทรุดหนักลงได้ง่าย

    นอกจากนั้นยังมีอาการทางจิต ซึ่งจำเป็นต้องตรวจรักษาประจักษ์ชัย หากยังควบคุมตัวต่อจะกระทบสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอาการป่วยทางกายและทางจิตของประจักษ์ชัยได้

    ศาลมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านการขอฝากขังของผู้ต้องหา และอนุญาตให้ฝากขังต่อไปอีก 12 วัน ครอบครัวของประจักษ์ชัยเองก็ไม่สามารถจะยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวเขาออกมาได้เนื่องจากมีฐานะยากจน

    (อ้างอิง: คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 27 มี.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)
  • ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตของผู้ต้องหามาประกอบสำนวนการสอบสวนด้วย และขอให้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจอาการผู้ต้องหา และหากแพทย์พบว่ามีอาการทางจิต ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวนไว้ ยุติการฝากขัง และส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่อไป

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนอ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจ ให้ทนายความดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล

    อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ระบุว่า ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด

    ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

    (อ้างอิง: หนังสือขอให้มีการส่งตัวผู้ต้องหาไปพบแพทย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิสนุษยชน ลงวันที่ 2 เม.ย. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)
  • ทนายความยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพขอให้ส่งตัวประจักษ์ชัยไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนัครินทร์เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ตรวจรักษาอาการทางจิตโดยเร็ว แต่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพแจ้งว่า ไม่มีอำนาจในการส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจรักษา

    (อ้างอิง: หนังสือขอให้ตรวจสอบอาการทางจิดของนายประจักษ์ชัย ขุมคำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิสนุษยชน ลงวันที่ 10 เม.ย. 2558)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องประจักษ์ชัยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยกล่าวหาว่า ประจักษ์ชัยล่วงละเมิดและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการใช้ปากกาเขียนข้อความลงในกระดาษบันทึกข้อร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2558)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า หลังจากได้เข้าพบจำเลยและได้ข้อเท็จจริงจากญาติแล้วพบว่า จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิต ปรากฏอาการภายนอกที่พบได้คือ ดวงตาเหม่อลอย พูดคนเดียวเป็นครั้งคราว และตอบคำถามไม่รู้เรื่อง ประกอบกับญาติของจำเลยได้แจ้งว่า อาการทางจิตบกพร่องมาตั้งแต่อายุ 16-17 ปี เนื่องจากมีปัญหาในการเข้าสังคม มีโลกส่วนตัวสูงและเคยมีอาการคลุ้มคลั่ง โวยวายไม่ได้สติ แต่จำเลยไม่เคยได้เข้ารับการรักษาอาการทางจิต เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน และจำเลยไม่ยอมรับว่าตนเองมีอาการผิดปกติทางจิตและปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษามาโดยตลอด

    และจากการยื่นหนังสือถึงเจ้าพนักงานสอบสวน เจ้าของสำนวน และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงานแจ้งว่าไม่มีอำนาจในการส่งตัวผู้ต้องหาไปรักษาได้ เพราะเป็นอำนาจของศาล

    ทั้งนี้ จากพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เป็นพฤติการณ์ที่คนไทยซึ่งมีสติสัมปชัญญะสมประกอบ มีความรู้ผิดชอบชั่วดีไม่พึงกระทำกัน ผู้ร้องเห็นว่า จำเลยกระทำไปเนื่องจากมีอาการทางจิตไม่ปกติ ดังนั้น ก่อนที่ศาลจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงขอให้ศาลสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจอาการทางจิตจำเลย พร้อมทั้งให้แพทย์ผู้นั้นให้การด้วยว่าได้ผลประการใด ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และมีคำสั่งที่เหมาะสมต่อไป

    ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ส่งตัวประจักษ์ชัยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ฯ

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาอาการทางจิต ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 29 พ.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)
  • ศาลทหารได้เรียกแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งเป็นแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มาให้รายละเอียดในรายงานผลการตรวจอาการทางจิตของประจักษ์ชัย ฉบับลงวันที่ 20 ส.ค. 2558 แพทย์ยืนยันว่า ประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตจริง และทราบจากการสอบประวัติว่าเป็นมานานถึง 16-17 ปีแล้ว เมื่อแพทย์ได้รับตัวประจักษ์ชัยมาตรวจ เพียงการตรวจเบื้องต้นก็สามารถวินิจฉัยได้ว่า มีอาการทางจิต แต่ทางสถาบันกัลยาณ์ฯ ก็ได้มีการตรวจตามกระบวนการ

    ในกระบวนการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะมีคณะกรรมการวินิจฉัย 5 ฝ่าย คือ จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์ จะมีตรวจอาการและสัมภาษณ์ประวัติกับญาติ ซึ่งสรุปเป็นรายงานที่ส่งถึงศาล ส่วนการรักษาจะต้องใช้เวลานานเป็นหลายเดือนหรือมากกว่า 1 ปี เนื่องจากไม่ได้รับการรักษามาเป็นเวลานาน และจากการรักษาที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้นพอจะขึ้นให้การในศาลได้

    นอกจากนี้ ทางสถาบันกัลยาณ์ฯ ได้ประสานให้ประจักษ์ชัยรับการรักษาโรคตับแข็ง เนื่องจากทางสถาบันกัลยาณ์ฯ ไม่สามารถรักษาอาการทางกายได้ โดยประจักษ์ชัยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งในการรักษาโรคจิตเภทของประจักษ์ชัยมีความลำบาก เนื่องจากยารักษาจิตเภทบางชนิดเป็นยาที่ต้องขับออกทางตับ ทำให้ยากในการจ่ายยารักษา

    ภายหลังการไต่สวนศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลเห็นว่า ประจักษ์ชัยวิกลจริตอยู่ และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงให้งดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 45 ให้จำเลยรักษาตัวในความดูแลของจิตแพทย์ เมื่อจำเลยหายหรือสู้คดีได้ขอให้สถาบันกัลยาณ์ฯ รายงานให้ศาลกรุงเทพทราบโดยเร็ว

    ซึ่งผลจากคำสั่งศาลทำให้ประจักษ์ชัยยังต้องถูกควบคุมตัวระหว่างการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ทนายจำเลยจึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายปล่อยตัวประจักษ์ชัยเพื่อให้กลับมาอยู่ในความดูแลและพักฟื้นกับครอบครัวระหว่างการรักษาและจำหน่ายคดีชั่วคราวนี้

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)
  • ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอออกหมายปล่อย และมีคำสั่งยกคำร้อง โดยศาลอ้างว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ไม่ใช่การจำหน่ายคดีเด็ดขาด จึงยังอยู่ในอำนาจของศาลและอยู่ระหว่างการพิจารณา หากจำเลยหายป่วยแล้วศาลสามารถยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อได้ ศาลมีอำนาจให้ควบคุมตัวจำเลยไว้ก่อนจึงจะไม่มีคำสั่งให้ปล่อยตัว

    อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยให้ผู้เต็มใจรับเป็นผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ศาลได้ถามแม่และน้องสาวของประจักษ์ชัยว่า พร้อมและยินดีรับดูแลจำเลยหรือไม่ ทั้งสองไม่ปฏิเสธ ศาลจึงให้น้องสาวซึ่งมีบ้านพักอยู่ที่สมุทรปราการเป็นผู้ดูแล แต่ต้องยื่นหลักประกันต่อศาล เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง โดยศาลเรียกหลักประกันที่ 100,000 บาท ครอบครัวจึงได้ใช้สลากออมสินที่กู้ยืมมาเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว พร้อมกับวางเงินสดด้วย 1,000 บาท

    หลังศาลมีคำสั่งให้ประกัน ครอบครัวของประจักษ์ชัยจึงเดินทางจากศาลทหารไปที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเพื่อรอรับตัว แต่ประจักษ์ชัยกลับไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากหมายปล่อยตัวถูกส่งจากศาลทหารไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงต้องรอการประสานงานกลับมาที่เรือนจำพิเศษธนบุรีในวันรุ่งขึ้น ประจักษ์ชัยจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษธนบุรีในเช้าของวันที่ 17 ต.ค. 2558

    หลังจากที่ประจักษ์ชัยได้รับการปล่อยตัวแล้วระหว่างนี้เขายังต้องอยู่ในการดูแลของญาติให้ได้รับการรักษาอาการทางจิตไปพร้อมโรคตับแข็ง และแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะต้องรายงานผลทุก 180 วัน ต่อศาล ตั้งแต่วันที่รับตัวรักษาจนกว่าประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตดีขึ้นจนสามารถต่อสู้คดีได้ ศาลทหารจึงนำคดีกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการพิจารณาคดีอีกครั้งเมื่อไหร่

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา, คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และคำร้องขอให้ส่งตัวจำเลยให้ผู้เต็มใจรับเป็นผู้ดูแล ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)
  • ศาลนัดรายงานผลการตรวจรักษา น้องสาวของประจักษ์ชัย ซึ่งรับเป็นผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 แจ้งต่อศาลว่า จำเลยมีอาการแน่นท้องหายใจไม่สะดวก เนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางร่างกายด้วยโรคตับแข็งจนมีอาการท้องโต จำเลยจึงต้องเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยดังกล่าวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการเอาน้ำออกจากท้อง และรักษาไวรัสตับอักเสบ โดยได้เข้ารับการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรักษาทางเลือกด้วยการควบคุมการกินและการพักผ่อนอย่างเหมาะสม และจำเลยยังได้เข้ารับการตรวจรักษาอาการป่วยทางจิต ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 จริง

    ศาลรับรายงานการตรวจรักษาและให้รายงานผลการตรวจรักษา ครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 ก.พ. 2559 ต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอรายงานผลการตรวจรักษาพยาบาลของจำเลย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2558)
  • น้องสาวของประจักษ์ชัยแจ้งต่อศาลว่า มารดาของจำเลยได้พาจำเลยกลับไปรักษาตัวด้วยการรักษาพยาบาลทางเลือก เพื่อให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมและอากาศที่ดี ที่บ้านที่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่าอาการแน่นท้อง ท้องโต หายใจไม่สะดวกของจำเลยได้ทุเลาลง โดยแพทย์ไม่ต้องรักษาจำเลยด้วยการเจาะน้ำออกจากท้องอีก แต่จำเลยยังคงต้องรับประทานยารักษาโรคตับอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ และอาการป่วยจิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จำเลยยังต้องได้รับการตรวจรักษาก้อนเนื้อที่ปูดบวมที่หน้าท้องว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ซึ่งผู้ร้องและมารดาจะพาจำเลยไปตรวจรักษาต่อไป และจำเลยยังได้เข้ารับการตรวจรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์จริง

    ศาลรับรายงานการตรวจรักษาและให้รายงานผลการตรวจรักษา ครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 พ.ค. 2559 ต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอรายงานผลการตรวจรักษาพยาบาลของจำเลย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2559)
  • ศาลทหารนัดไต่สวนรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของประจักษ์ชัย โดยได้เรียกแพทย์หญิงวนัทดา ถมค้าพาณิชย์ จิตแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งเป็นแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มาเบิกความถึงรายละเอียดในรายงานตรวจวินิจฉัยฯ ลงวันที่ 4 ก.พ. 2559 ซึ่งเป็นการตรวจอาการทางจิตของประจักษ์ชัยครั้งล่าสุด

    แพทย์ได้เบิกความตอบคำถามศาลว่า ศาลทหารได้ส่งตัวนายประจักษ์ชัยให้ทำการตรวจรักษาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2558 และได้ทำการตรวจรักษาในฐานะผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 22-28 ก.ค. 2558 และหลังจากนั้นยังได้ทำการตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอกอีกหลายครั้ง กระบวนการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะมีคณะกรรมการวินิจฉัย 5 ฝ่าย คือจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์ แต่ได้ทำการตรวจประเมินอาการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2558

    แพทย์เบิกความถึงการตรวจอาการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 ว่า อาการโดยทั่วไปดีขึ้น ไม่มีอาการหูแว่ว ไม่มีอาการภาพหลอน และอาการหวาดระแวง แต่ยังคงมีอาการหลงผิด โดยอาการหลงผิดนี้คือ การที่ผู้ป่วยมีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้ว่าจะมีบุคคลอื่นหรือหลักฐานมาแสดง

    นายประจักษ์ชัยขณะนี้ได้รับยาต้านโรคจิตอยู่ และสามารถรักษาหายได้โดยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะหายเมื่อไหร่ สามารถใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานเองได้ สามารถรับรู้ขั้นตอนคดี เล่าเรื่องเกี่ยวกับคดี และรับรู้ผลที่เกิดขึ้นจากคดีได้ แพทย์หญิงวนัทดา ลงความเห็นว่า ประจักษ์ชัยสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว

    ศาลได้อนุญาตให้ทนายจำเลยถามพยานเพิ่มเติม แพทย์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังการตรวจอาการเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 แล้วไม่ได้ทำการตรวจอีกจนกระทั่งถึงวันนี้ จึงไม่ทราบว่าขณะนี้อาการของนายประจักษ์ชัยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าสู้คดีได้หรือไม่ ตามที่ได้ประเมินไว้เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559

    ทนายจำเลยได้ถามพยานว่า คนที่มีอาการหลงผิดต้องหลงผิดในทุกเรื่องหรือไม่ แพทย์ตอบว่า อาการหลงผิดนั้นไม่ต้องเป็นกับทุกเรื่อง แต่เมื่อหลงผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อ ส่วนอาการหลงผิดของประจักษ์ชัย เขายังคงมีความเชื่ออยู่เหมือนเดิมตามที่ได้ทำการประเมินอาการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2558 ซึ่งตามรายงานผลการตรวจวินิจฉัยในครั้งนั้นคือ ผู้ป่วยมีอาการทางจิตเรื้อรัง มีอาการหลงผิด โดยผู้เป็นโรคจิตเภทนี้เข้าข่ายเป็นผู้วิกลจริต

    ภายหลังการไต่สวนศาลได้เรียกโจทก์และจำเลยขึ้นถาม โจทก์แถลงว่า ขอให้ศาลยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อ แต่ทางจำเลยได้มีคำร้องให้ขอเลื่อนการฟังคำสั่งต่อรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการสู้คดีออกไป เนื่องจากเห็นว่าผลการตรวจอาการทางจิตของนายประจักษ์ชัยนั้นไม่ได้เป็นปัจจุบันและจำเลยยังป่วยด้วยโรคตับแข็งอีกด้วย จึงขอโอกาสได้เรียบเรียงข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยละเอียดเป็นแถลงการณ์ประกอบดุลยพินิจในการทำคำสั่ง

    ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์นั้นมีเป็นเอกสารราชการยืนยัน อีกทั้งจำเลยยังได้รับการประกันตัวจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อและได้นัดจำเลยสอบคำให้การในวันที่ 30 พ.ค. 2559

    ทนายความของนายประจักษ์ชัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในบันทึกคำเบิกความของศาลไม่ได้บันทึกประเด็นสำคัญเอาไว้คือ แพทย์ได้เบิกความตอบศาลด้วยว่า อาการของโรคจิตเภทนั้นเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/03/29/prajakchai-112/)
  • ศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 ที่ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ประจักษ์ชัย จำเลยในคดีนี้ ได้เขียนข้อความบันทึกข้อร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยศาลได้อ่านข้ามในส่วนของข้อความซึ่งเป็นพฤติการณ์ในคดีนี้

    ศาลถามคำให้การประจักษ์ชัย ทนายจำเลยจึงขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากก่อนมาศาลจำเลยได้กินยารักษาอาการของโรคจิตเภท คำให้การบรรยายว่าจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนถึงขณะนี้จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหลงผิด อีกทั้งยังมีเชาว์ปัญญา(IQ) 74 ซึ่งเป็นระดับปัญญาทึบมาก ตามผลการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในชั้นพิจารณาและขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน

    อัยการไม่คัดค้านคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรของจำเลย แต่ได้คัดค้านคำร้องขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานโดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากมีพยานในคดีน้อย ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากเห็นว่ายังมีพยานและเอกสารที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของจำเลยและยังมีเอกสารการรักษาอาการทางจิตทั้งก่อนก่อเหตุจนกระทั่งถึงหลังก่อเหตุอีก ที่ยังต้องขอให้ศาลมีหมายเรียกมาใช้ในการประกอบการพิจารณาคดี ศาลได้อนุญาตให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ส.ค. 2559

    ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาเพราะเห็นว่าศาลไม่ได้จดคำให้การของประจักษ์ชัยที่ได้ยื่นเป็นลายลักษณ์ รวมทั้งเหตุผลเกี่ยวกับอาการทางจิตด้วยโรคจิตเภท และระดับเชาว์ปัญญาของจำเลย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 ประกอบกับ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ม.45 จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ศาลได้จดบันทึกประเด็นดังกล่าวด้วยปากกาเพิ่มเติมเข้าไปในรายงานกระบวนพิจารณา

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา, คำให้การจำเลย และคำร้องคัดค้านรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2062)
  • ประจักษ์ชัยพร้อมพี่สาวและทนายความเดินทางมาศาลทหารตามนัดตรวจพยานหลักฐาน การพิจารณาคดีเริ่มในเวลา 9.45 น. ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยได้แถลงว่า เอกสารการรักษาโรคของประจักษ์ชัยที่ได้ส่งหมายขอไปทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ยังไม่ได้ส่งมา เนื่องจากทางสถาบันฯ กำลังรวบรวมอยู่ จึงไม่สามารถนำมาในนัดนี้ได้ ซึ่งตุลาการศาลทหารเห็นว่า เอกสารดังกล่าวสามารถนำมาสืบในการสืบพยานได้อยู่แล้วจึงไม่เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป

    จากนั้นอัยการศาลทหารกรุงเทพซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคล 10 ปาก ได้แก่ นายทหารผู้กล่าวหา, นายทหารผู้จับกุม, นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์, นายทหารผู้นำตัวประจักษ์ชัยไปซักถามในชั้นกฎอัยการศึก พยานลำดับที่ 5-8 เป็นผู้ที่ออกความเห็นจากการอ่านข้อความของประจักษ์ชัย, พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา และพนักงานสอบสวนในคดี นอกจากนั้นยังมีพยานเอกสารอีก 13 ลำดับ

    ทางฝ่ายจำเลย ทนายความได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคลจำนวน 9 ปาก ได้แก่ ตัวประจักษ์ชัยเอง, น้องสาวและแม่ของประจักษ์ชัย ซึ่งจะเบิกความถึงช่วงที่ได้ดูแลรักษาประจักษ์ชัยตั้งแต่เด็กและช่วงหลังเกิดเหตุ, จิตแพทย์ที่ทำการรักษา, พยานที่จะเบิกความเรื่องโรคและสิทธิในการรักษาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท, พยานที่จะเบิกความถึงสิทธิของผู้ป่วยโรคจิตเภทก่อนถูกนำเข้าสู่การดำเนินคดี, นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่จะเบิกความในประเด็นของการพิจารณาคดีและเจตนารมณ์ของมาตรา 112, พี่สาวของประจักษ์ชัย และพยานปากสุดท้ายเป็นอดีตนายจ้างของประจักษ์ชัยที่จะเบิกความถึงช่วงที่ได้รับประจักษ์ชัยเข้าทำงานในโรงขัดเหล็ก

    ตุลาการศาลทหารให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบพยาน โดยพักการพิจารณาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาในการดูพยานหลักฐานของอีกฝ่าย จากนั้นภายหลังคู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานเสร็จสิ้นได้แถลงไม่รับพยานหลักฐานของอีกฝ่าย

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านการตรวจพยานหลักฐาน เนื่องจากฝ่ายโจทก์ไม่นำพยานเอกสารลำดับที่ 22-23 ซึ่งเป็นคำให้การพยานในชั้นสอบสวนมาแสดงต่อศาลในนัดนี้จึงไม่สามารถตรวจได้

    ภายหลังการตรวจพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก นายตำรวจผู้กล่าวหาในคดีนี้มาเบิกความต่อศาลในวันที่ 1 ธ.ค. 2559

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=1771)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พันตำรวจโทสุภัค วงษ์สวัสดิ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ผู้ร่วมจับกุมและกล่าวหาจำเลย พยานเบิกความว่า ได้จับกุมนายประจักษ์ชัยในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 เวลา 11.20 น. พยานได้รับแจ้งจากพนักงานตำรวจประจำศูนย์บริการประชาชนว่า มีผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. มีผู้มาเขียนคำร้องถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการปลดพระมหากษัตริย์ โดยใช้ปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินเขียนข้อความดังกล่าว พยานเห็นและอ่านข้อความแล้ว มีความเห็นว่า นายประจักษ์ชัยไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ก่อนจับกุมพยานได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิให้จำเลยทราบ และได้ทำบันทึกการจับกุมไว้เป็นหลักฐาน

    พ.ต.ท.สุภัค ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุแม้อยู่ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ตำรวจของสถานีตำรวจนครบาลดุสิตยังมีหน้าที่รับผิดชอบ และสถานที่สำคัญรัฐบาลยังได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่ด้วย

    ในวันเกิดเหตุ เมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุเห็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ทหารนั่งอยู่กับจำเลย และจำเลยไม่มีพฤติการณ์ขัดขืนหรือคิดจะหลบหนีแต่อย่างใด พยานได้พูดคุยกับจำเลย เบื้องต้นจำเลยพูดคุยแบบปกติ แต่ถ้าพูดถึงพระเจ้าอยู่หัว จะพูดในทำนองเกลียดชัง เช่น พูดเกี่ยวกับธนบัตรว่า ทำไมต้องมีรูปพระเจ้าอยู่หัวในธนบัตรด้วย และในฐานะคณะทำงานชุดสืบสวนคดีนี้ พยานให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยพูดในลักษณะวกวนไม่มีเหตุมีผล

    ตามบันทึกร้องเรียน ไม่ปรากฏข้อความต่อว่ารัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด แต่ตามความเข้าใจของพยาน คำว่า ปลดพระเจ้าอยู่หัว หมายถึงปลดรัชกาลที่ 9 และตามบันทึกการจับกุม ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมจับกุมเลย

    เสร็จการสืบพยานโจทก์ปากแรก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 17 และ 20 มี.ค. 2560 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา และคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2559)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ปากที่ 2 ร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์ มาชัยภูมิ และปากที่ 3 ร้อยตรีไกรสร ศรีสุวรรณ เข้าเบิกความ

    ร.ต.อ.ประสิทธิ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและบริการประชาชนที่มาร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีภายในศูนย์บริการประชาชนอันเป็นสถานที่เกิดเหตุ หลังจากที่จำเลยได้เขียนข้อความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบดูความประสงค์ของผู้ร้องทุกข์ จึงได้เห็นข้อความดังกล่าวและได้มาแจ้งให้พยานทราบ พยานตรวจสอบและอ่านดูพบว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงสอบถามจำเลยว่าเป็นผู้เขียนข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ จำเลยตอบว่า จริง พยานจึงได้ร่วมกับพ.ต.ท. สุภัค วงษ์สวัสดิ์ และผู้บังคับบัญชาของพยาน จับกุมนายประจักษ์ชัยในข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์

    ร.ต.อ.ประสิทธิ์ยังเบิกความว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์บริการประชาชนได้ โดยดำเนินการดังนี้ แลกบัตรประจำตัวประชาชน, ตรวจค้นอาวุธ, รับใบคำร้อง, เขียนข้อความ และยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่เพื่อลงทะเบียนรับเข้าระบบ จากนั้นจะให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่จะเสนอเรื่องต่อไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเห็นจำเลยครั้งแรกเมื่อจำเลยได้มาถึงจุดที่รับแลกบัตรแล้ว ตอนนั้นพยานอยู่ห่างจากจำเลย 10 เมตร พยานเห็นขณะจำเลยเขียนคำร้องด้วยตนเอง แต่ไม่ทราบว่าเขียนข้อความอะไร ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาช่วยจำเลยเขียน พยานอยู่ห่างไป 3 เมตร มาทราบข้อความหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมาแจ้งกับพยาน หลังจากนั้นพยานจึงได้แจ้งไปยัง สน.ดุสิต ใช้เวลาไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาถึง โดยพยานได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ แต่ตามบันทึกการจับกุม ได้บันทึกไว้ว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปตรวจสอบที่บริเวณดังกล่าว เมื่อไปถึงพบผู้ต้องหากำลังเขียนข้อความดังกล่าวอยู่"

    จากนั้น ร.ต. ไกรสร ศรีสุวรรณ เข้าเบิกความว่า พยานรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกระสุน กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ พยานได้พบกับนายประจักษ์ชัยในที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 10.30 น. โดยนายประจักษ์ชัยได้มาเขียนข้อความร้องทุกข์ พยานเป็นผู้ยื่นแบบฟอร์มให้จำเลย จำเลยไม่ได้พูดอะไร และพยานมาทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จำเลยเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2560)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พันตรีจำเนียร สุพิมล ทหารผู้ซักถามในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แต่พยานไม่มาศาลเนื่องจากป่วยเป็นไข้ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อนและนัดสืบพยานปากพันตรีชัยเดช เกิดศิริ และสิบตำรวจตรียืนยง อนันตะ ในวันที่ 23 มิ.ย. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2560)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ชัยเดช เกิดศิริ นายทหารพระธรรมนูญ กรมการพลังงานทหาร ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี เข้าเบิกความ

    พ.ต.ชัยเดช เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 ได้รับการติตต่อจาก พ.ต.ท.อัคนีรักษ์ พนักงานสอบสวนในคดี ให้มาดูเอกสารที่เขียนโดยประจักษ์ชัย ข้อความที่ดูอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน เพราะการเรียกร้องให้ปลดโดยใช้กำลังทหารนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง

    พ.ต.ชัยเดช ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้จบการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีนี้ และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย อีกทั้งไม่ทราบว่ากฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตอย่างไร และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะมีขั้นตอนอย่างไรพยานก็จำไม่ได้ เนื่องจากไม่ค่อยเจอผู้ต้องหาที่ป่วยทางจิต

    พ.ต.ชัยเดช ยังเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า เอกสารที่จำเลยเขียนไม่มีคำว่ารัชกาลที่ 9 แต่เข้าใจได้ เพราะขณะนั้นมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว สิ่งที่จำเลยเรียกร้องไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ถ้าเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพอ่านแล้วก็จะไม่ทำตาม แต่เห็นว่า การเขียนแบบนี้ไม่เหมาะสม

    ทนายจำเลยถาม พ.ต.ชัยเดช ว่า เมื่อเห็นข้อความแล้วสงสัยบ้างหรือไม่ว่า คนปกติไม่น่าจะเขียนเช่นนี้ พยานตอบว่า คิดว่าคนเขียนไม่น่าจะมีความรู้ถึงระดับปริญญาตรี แต่ไม่รู้ว่าสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ ตอนลงชื่อมีวงเล็บด้วย น่าจะเป็นชื่อเล่น ซึ่งคนทั่วไปจะไม่เขียนชื่อเล่นในหนังสือราชการ

    จากนั้น อัยการนำพยานโจทก์ปากที่ 5 ส.ต.ท.ยืนยง อนันตะ ตำรวจ สน.ดุสิต ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี เข้าเบิกความ

    ส.ต.ท.ยืนยง อนันตะ เบิกความว่า พยานเป็นผู้บังคับหมู่ป้องกันและปราบปราม สน.ดุสิต และเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.ต.อัคนีรักษ์ พนักงานสอบสวนคดีนี้ ให้มาอ่านข้อความที่จำเลยเขียนลงบนกระดาษ เมื่ออ่านแล้วรู้สึกได้ว่า มีเนื้อหาดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพนับถือ

    ส.ต.ท.ยืนยงตอบคำถามทนายจำเลยว่า ไม่ได้จบนิติศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสองด้านนี้ พนักงานสอบสวนให้พยานอ่านเอกสารเพียงฉบับเดียว พยานไม่เคยได้รับมอบหมายให้สืบสวนหรือเกี่ยวข้องกับคดี ไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อมูลการต่อสู้ในคดีนี้ ทนายจำเลยถามว่า ข้อความที่จำเลยเขียนเป็นการร้องเรียนให้แก้ปัญหาใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นการขอความร่วมมือ

    ส.ต.ท.ยืนยง ตอบทนายจำเลยโดยยอมรับว่า ปกติคำร้องทางราชการจะไม่เขียนชื่อเล่นไว้ และข้อความที่จำเลยเขียนไม่มีทางเป็นจริงได้ในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังที่จำเลยเขียน นอกจากนี้ คนที่เขียนข้อความเช่นนี้ไปยื่นต่อหน้าทหารตำรวจน่าจะมีจิตไม่สมประกอบ

    เสร็จการสืบพยานทั้งสองปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 3 ส.ค. 2560 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2560)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.จำเนียร สุพิมล ทหารผู้ซักถามในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก อัยการทหารแจ้งว่า พยานป่วย ไม่สามารถมาศาลได้ แต่เป็นพยานปากสำคัญ อัยการโจทก์แถลงขอเลื่อน ทนายจำเลยไม่ค้าน นัดสืบพยานปากนางนงนุช เส็งคิศิริ อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในวันที่ 3 พ.ย. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2560)
  • พยานโจทก์ปากที่ 6 นางสาวนงนุช เส็งคิศิริ ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี เข้าเบิกความ

    นงนุชเบิกความว่า ทำอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ตรงข้าม สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2558 ได้รับการติตต่อจากพนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ให้มาอ่านข้อความในเอกสารที่เขียนโดยประจักษ์ชัย หลังจากอ่านแล้วรู้สึกโกรธผู้เขียนข้อความดังกล่าว เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่รักและนับถือบูชา ประชาชนเคารพสักการะพระองค์ท่าน บุคคลทั่วไปเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวก็จะเข้าใจว่ากล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พยานเห็นว่า ผู้เขียนข้อความดังกล่าว กระทำมิบังควร ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

    นงนุชตอบคำถามทนายจำเลยว่า ไม่ได้จบจากทางด้านภาษาศาสตร์ และไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านภาษา ทั้งไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ทราบรายละเอียดในคดีนี้ เอกสารที่พนักงานสอบสวนเอามาให้อ่านเป็นหนังสือร้องเรียนตามแบบฟอร์มที่สำนักนายกฯ กำหนดขึ้น ไม่ปรากฏว่าผู้นำเหล่าทัพได้ดำเนินการตามที่จำเลยขอ และพยานเห็นว่า ผู้นำเหล่าทัพไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ พยานรับด้วยว่า คนที่เขียนข้อความเช่นนี้ไปยื่นต่อหน้าเจ้าหน้าที่น่าจะมีจิตไม่ปกติ

    ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไป วันที่ 22 พ.ย. 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2560)
  • พยานโจทก์ปากที่ 7 กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เข้าเบิกความ โดยประจักษ์ชัยเดินทางจากบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษมาศาลเพียงลำพัง

    กุลศิรินทร์เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งนักวรรณศิลป์ชำนาญการ ราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่รวบรวมความรู้จากการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน พยานได้รับมอบหมายจากเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาให้ไปให้ความเห็นหลังได้รับการติดต่อจาก สน.ดุสิต โดยพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้จึงมาพบพยานเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 เพื่อสอบปากคำในคดีนี้ พยานระบุว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภาไม่มีอำนาจในการตีความถ้อยคำ เพราะการตีความต้องอาศัยบริบทที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมของทั้งผู้เสียหายและผู้กล่าวหา รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนด้วย ซึ่งก็มีนานาทัศนะ ไม่อาจให้ความหมายในภาพรวมได้ สามารถทำได้เพียงอ้างอิงความหมายของคำตามที่ปรากฏในพจนานุกรม

    กุลศิรินทร์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่เคยพบตัวหรือพูดคุยกับจำเลยมาก่อน ไม่ทราบข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติจิตเวช กฎหมาย และภาษาศาสตร์ ซึ่งต่างกับด้านวรรณศิลป์ ในการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน พยานก็เปิดพจนานุกรมและให้การไปตามนั้น ไม่มีการอ้างอิงนิยามของคำจากแหล่งอื่นอีก และพยานไม่ขอตีความหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อประโยคที่จำเลยเขียน

    กุลศิรินทร์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชำระพจนานุกรม และพยานไม่ได้เห็นเอกสารฉบับจริงที่เป็นลายมือของจำเลย เห็นเพียงข้อความที่พนักงานสอบสวนพิมพ์ไว้แล้ว พยานเพิ่งทราบในวันนี้ว่า จำเลยเขียนไม้ยมกหลังคำว่า "ขอขอบคุณ" ด้วย พยานรับด้วยว่า ให้ความหมายของคำบางคำต่อพนักงานสอบสวน ไม่ได้ให้ความหมายของประโยคทั้งหมด

    หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ อัยการทหารแถลงว่า โจทก์ยังเหลือพยานที่จะสืบอีก 3 ปาก ทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานกันเป็นวันที่ 14 ก.พ., 5 และ 23 มี.ค. 2561

    ทั้งนี้ ระหว่างการถามค้าน ศาลได้เตือนทนายจำเลยว่า ให้ถามคำถามเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็น และห้ามผู้ที่มาสังเกตการณ์ทุกคนไม่ให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี ทนายจำเลยขออนุญาตให้เสมียนทนายความที่มาช่วยจดบันทึก แต่ศาลก็ไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2560 และ https://freedom.ilaw.or.th/case/666#progress_of_case)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากนางสาวมิตรา ใจยงค์ นักศึกษา ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี อัยการทหารแถลงว่า พยานไม่มาศาล โดยส่งหมายนัดไม่ได้ เนื่องจากไม่มีผู้อาศัยอยู่ที่บ้าน แต่เป็นพยานปากสำคัญ โจทก์ยังติดใจจะสืบพยานปากนี้อยู่ จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน ส่วนนัดหน้าโจทก์ขอนำพันตรีจำเนียร สุพิมล เข้าเบิกความก่อน ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 5 มี.ค. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก พันตรีจำเนียร สุพิมล พยานผู้ซักถามขณะประจักษ์ชัยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แต่พยานป่วย ไม่มาศาล อัยการโจทก์แถลงขอเลื่อน เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป พันตำรวจตรีอัคนิรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน ในวันที่ 23 มี.ค. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2561)
  • พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวนในคดี เข้าเบิกความ

    พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เบิกความว่า ในวันที่ 19 ก.พ. 2558 พ.ต.ท.สุภัค ได้ควบคุมตัวจำเลยจากศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลซึ่งอยู่บริเวณใต้ถุนตึก กพร. มาส่งเพื่อให้เขาดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แจ้งว่า จำเลยเขียนข้อความร้องทุกข์ในลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จึงทำการจับกุม โดยนำแบบฟอร์มร้องทุกข์และปากกา 1 แท่ง ซึ่งเป็นของกลางมามอบให้ด้วย

    พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เบิกความต่อว่า จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร คือ พ.ต.จำเนียร มารับตัวจำเลยไปซักถามด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก เป็นเวลา 3 วัน โดยใช้พื้นที่ของ สน.ดุสิต เป็นที่ซักถาม และนำตัวจำเลยกลับมาส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 22 ก.พ. 2558 พร้อมนำเอกสารบันทึกคำซักถามมามอบให้ด้วย

    พนักงานสอบสวนในคดีเบิกความอีกว่า ได้ทำการสอบสวนพยานหลายปาก รวมทั้งจำเลย พ่อ แม่ พี่สาวของจำเลย และ น.ส.มินตรา ใจยงค์ นักศึกษาที่มาติดต่อราชการ ซึ่งให้ความเห็นว่า ข้อความที่จำเลยเขียนเข้าข่ายดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ไม่สามารถติดต่อ น.ส.มินตรา ให้มาเบิกความต่อศาลได้ จึงขอส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนมาเป็นหลักฐาน

    พยานเบิกความต่อว่า หลังจากสรุปสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้คณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรสั่งฟ้อง

    หลังจาก พ.ต.อ.อัคนีรักษ์เบิกความตอบโจทก์เสร็จ ก่อนที่ทนายจำเลยจะถามค้านได้แถลงต่อศาลว่า ทนายจำเลยมีประเด็นถามค้านพยานปากนี้จำนวนมาก อีกทั้งพยานปากนี้ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำและจัดทำบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานที่โจทก์นำมาเบิกความต่อศาล แต่โจทก์ไม่ได้ส่งบันทึกคำให้การดังกล่าวเข้ามาในสำนวนคดีด้วย ทนายจำเลยจึงประสงค์จะยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายเรียกคำให้การพยานชั้นสอบสวนจากอัยการ เพื่อประกอบการถามค้านพยานปากนี้ ศาลจึงให้เลื่อนการถามค้านพยานปากนี้ไปนัดต่อไปในวันที่ 25 มิ.ย. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน เพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน ประจักษ์ชัยและทนายจำเลยมาศาล แต่พยานไม่มา เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน อัยการแถลงขอเลื่อน ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปสืบพยานปากดังกล่าวต่อในวันที่ 3 ก.ย. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2561)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน เข้าเบิกความให้ทนายจำเลยถามค้าน

    พ.ต.อ.อัคนีรักษ์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ประจักษ์ชัยไม่มีพฤติกรรมหลบหนี พยานทราบอาการป่วยทางจิตของจำเลยจากคำให้การของผู้กล่าวหา ซึ่งให้ปากคำว่า ผู้ต้องหาพูดจาวกวน ไม่สามารถให้การในสาเหตุกระทำผิดของตนได้ พยานจำไม่ได้ว่าสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกี่ปาก แต่น่าจะมากกว่า 6 ปาก พยานทราบว่า ผู้จับกุมจำเลย คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ตามหนังสือของกรมทหารปืนใหญ่ ที่ 1 รักษาพระองค์ บันทึกไว้ว่าพันตรี จำเนียร สุพิมล เป็นผู้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย เพื่อเสนอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม

    พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ตอบคำถามค้านต่อว่า ได้สอบปากคำจำเลย ซึ่งจำเลยคิดเองว่า วังของพระเจ้าอยู่หัวคือสมบัติของจำเลย จึงขอปลดพระเจ้าอยู่หัว จำเลยตอบพยานว่า ไม่เคยเข้าร่วมเดินขบวนกับกลุ่มหรือแนวร่วมทางการเมืองใด พยานรับว่า ขณะสอบปากคำไม่มีทนายความหรือบุคคลซึ่งจำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟัง โดยจำเลยยืนยันว่า ไม่ขออ้างผู้ใดเป็นพยาน เนื่องจากเขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิด ซึ่งพยานก็ไม่แน่ใจว่าเป็นคำรับสารภาพหรือไม่

    ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากมีประเด็นถามค้านจำนวนมาก จึงขอเลื่อนนัดไปถามค้านพยานปากนี้ต่อในนัดต่อไป ศาลจึงนัดหมายคดีเพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ต่อในวันที่ 11 ธ.ค. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน เพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน แต่พยานไม่มาศาล เนื่องจากป่วย อัยการแถลงขอเลื่อน ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 8 มี.ค. 2562

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน โดยทนายจำเลยถามค้านต่อจากนัดครั้งก่อนจนเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานปากต่อไปซึ่งเป็นพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 19 ก.ค. 2562

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2562)
  • ประมาณ 09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพออกนั่งพิจารณาคดี พยานจําเลยที่นัดไว้ในวันนี้ไม่มาศาล ทนายจําเลยได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลจําหน่ายคดี พร้อมแถลงประกอบคําร้องว่า ได้รับแจ้งจากญาติจําเลยว่า จําเลยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 เนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหาร และแนบสําเนามรณบัตรมาด้วย

    ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 ได้มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจําเป็น กําหนดให้คดีที่อยู่ในอํานาจของศาลทหาร ตามประกาศและคําสั่งดังกล่าว ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจําเลยในวันนี้ และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้โอนคดีไปศาลยุติธรรม กับจําหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปยังสํานักงานศาลยุติธรรม และให้ทนายจําเลยยื่นสําเนามรณบัตรที่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องต่อศาลใหม่โดยเร็ว เพื่อรวบรวมส่งศาลยุติธรรม ก่อนส่งสํานวนให้จ่าศาลถ่ายสําเนาสํานวนและเอกสารต่างๆ ทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 148ก./2558 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=13070)
  • ศาลอาญา รัชดา นัดพร้อมเพื่อประชุมคดีภายหลังจากการโอนย้ายคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว และสอบถามอัยการว่า คัดค้านหรือไม่ โจทก์แถลงว่า ยังรอการแจ้งการตายของจำเลยจากพนักงานสอบสวน ซึ่งได้ประสานไว้ก่อนแล้ว แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับแจ้งผล และติดต่อพนักงานสอบสวนไม่ได้ ศาลเห็นว่ามีเหตุควรเลื่อนคดีไปเพื่อรอให้อัยการได้รับแจ้งยืนยันการเสียชีวิตของจำเลยจากพนักงานสอบสวนในคดีเสียก่อน และนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 17 ธ.ค. 2562 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานการพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3057/2562 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15012)
  • ศาลอาญา รัชดา นัดอัยการและทนายจำเลยมาสอบถามเรื่องการเสียชีวิตของจำเลย อัยการแถลงว่า ได้รับการยืนยันจากพนักงานสอบสวนในคดีว่า จำเลยได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 จริง จากเหตุเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยมีใบมรณบัตรเป็นเอกสารยืนยัน ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของประจักษ์ชัยออกจากสารบบความ

    (อ้างอิง: รายงานการพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3057/2562 ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15112)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายประจักษ์ชัย

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายประจักษ์ชัย

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์