สรุปความสำคัญ

13 มี.ค. 2558 เสาร์ (สงวนนามสกุล) ชาวไทยลื้อ เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเขียนคำร้องด้วยลายมือยื่นต่อศาล ขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณ อดีตนายกฯ นอกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ จะไม่รับคำร้องแล้ว ยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ ไปแจ้งความดำเนินคดีเสาร์ โดยระบุว่า คำร้องมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หลังถูกดำเนินคดี เสาร์ถูกส่งตัวไปตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต แพทย์มีความเห็นว่า เสาร์มีความเจ็บป่วยทางจิต ขณะประกอบคดีมีความคิดหลงผิด

หลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดี 112 รวมทั้งใช้ข้อหาดังกล่าวมาดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็นโดยสันติจำนวนมาก และขยายการตีความออกไปอย่างกว้างขวางจนกระทบแม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยทางจิต มีผู้ป่วยทางจิตหลายคนตกเป็นจำเลย ต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง แม้ว่าการกระทำที่ถูกตีความว่าเป็นความผิดนั้น บุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ได้ว่า ไม่เป็นเหตุเป็นผล เลื่อนลอย หรือไม่เป็นจริง และพนักงานสอบสวน รวมถึงอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีได้กรณีที่เห็นว่า ผู้ต้องหาขาดเจตนา หรือการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เสาร์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

13 มี.ค. 2558 เสาร์เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเขียนคำร้องด้วยลายมือลงบนแบบฟอร์มคำร้องของศาลฎีกาฯ ขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณ อดีตนายกฯ ยื่นต่อนิติกรของศาลฯ ซึ่งเสาร์เข้าใจว่าเป็นผู้พิพากษา หลังจากยื่นคำร้องแล้ว เขาก็เดินทางกลับ

เมื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้อง นอกจากจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของเสาร์แล้ว ยังมีคำสั่งให้หัวหน้างานธุรการของศาลฯ ไปกล่าวโทษเสาร์ต่อพนักงานสอบสวน โดยระบุว่า คำร้องมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมา เลขานุการศาลฏีกาฯ จึงมอบอำนาจให้นางลัดดาวัลย์ นิยม หัวหน้าแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้าแจ้งความดำเนินคดีเสาร์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

20 เม.ย. 2558 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องออกหมายเรียกผู้ต้องหา ให้เสาร์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ค. 2558 หมายเรียกส่งไปที่บ้านเสาร์ใน จ.เชียงราย โดยมีญาติเป็นผู้รับและแจ้งให้เขาทราบ เสาร์เข้ารายงานตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในวันที่ 13 พ.ค. 2558 แต่พนักงานสอบสวนเลื่อนการแจ้งข้อกล่าวหาออกไป

28 พ.ค. 2558 พนักงานสอบสวนนัดเสาร์เข้าพบอีกครั้ง หลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยเสาร์ให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นผู้เขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาฯ เอง พนักงานสอบสวนได้นำตัวเสาร์ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง โดยศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง ทำให้เสาร์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีการยื่นประกันตัว

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศ คสช. แต่พนักงานสอบสวนนำตัวเสาร์ไปฝากขังที่ศาลอาญา

(อ้างอิง: คำร้อง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 13 มี.ค. 2558, หนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความกล่าวโทษ ลงวันที่ 16 มี.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 20-04-2015
หลังแพทย์รายงานผลการตรวจต่อพนักงานสอบสวนว่า เสาร์ยังมีความคิดหลงผิดอยู่ แต่สามารถสื่อสารเรื่องคดีได้ จึงวินิจฉัยว่า เสาร์สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว และคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติเห็นควรสั่งฟ้องเสาร์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พนักงานสอบสวนจึงส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ โดยอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้องและยื่นฟ้องเสาร์ต่อศาลทหารกรุงเทพ

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนำสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท ที่ได้จากการระดมทุนช่วยเหลือของกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง มาวางเป็นหลักประกัน เสาร์ถูกพาตัวจากศาลทหารไปปล่อยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลาประมาณ 20.00 น.
 
วันที่ : 19-08-2015
ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ซึ่งตามปกติถ้าอัยการยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาจะต้องถูกนำตัวมาศาลเพื่อรับทราบฟ้อง แต่เสาร์ไม่ได้ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ เนื่องจากเห็นควรให้งดการสอบสวนและส่งผู้ต้องหาเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ โดยเสาร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 20 ส.ค. 2558 และพนักงานสอบสวนเป็นผู้นำส่งเสาร์เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ
 
วันที่ : 05-08-2019
หลังศาลทหารกรุงเทพสืบพยานโจทก์ 6 ปาก เสร็จสิ้น และสืบพยานจำเลยได้ 3 ปาก ศาลได้นัดพร้อมและแจ้งให้คู่ความทราบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 16 ส.ค. 2562 และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ ให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป
 
วันที่ : 17-03-2020
ศาลอาญาได้นัดพร้อมคู่ความ และถามคำให้การของจำเลยอีกครั้ง เสาร์ยืนยันให้การปฏิเสธตามคำให้การเดิมที่ยื่นไว้ต่อศาลทหารกรุงเทพ
อัยการแถลงว่า ไม่มีพยานโจทก์จะสืบเพิ่มเติม ด้านทนายจำเลยแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 3 ปาก คือ ตัวจำเลย ญาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาศึกษา โดยนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 29 ก.ค. 2563

ทั้งนี้ การทำสัญญาประกันใหม่เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ภูมิหลัง

  • เสาร์ (สงวนนามสกุล)
    เสาร์ สัญชาติไทลื้อ ในช่วงวัยรุ่นมีอาชีพเป็นทหารรับจ้าง และเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาเคยพัวพันกับยาเสพติดจนถูกจับต้องโทษจำคุกถึง 2 ครั้ง หลังพ้นโทษครั้งหลัง เสาร์เริ่มมีอาการเหม่อลอย และพูดคนเดียวในเรื่องที่คนอื่นไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม เสาร์ไม่เคยมีประวัติคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น แต่มีอาการที่เรียกว่า ‘พูดไม่รู้เรื่อง’ ก่อนถูกจับกุม เขาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ใน จ.ปทุมธานี

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์