ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 19ก./2559 (อ. 3038/2562)
แดง อ. 2442/2563

ผู้กล่าวหา
  • ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมอบอำนาจให้ น.ส.ลัดดาวัลย์ นิยม (ไม่ทราบสังกัด)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 19ก./2559 (อ. 3038/2562)
แดง อ. 2442/2563
ผู้กล่าวหา
  • ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมอบอำนาจให้ น.ส.ลัดดาวัลย์ นิยม

ความสำคัญของคดี

เสาร์ ชาวไทยลื้อ ถูกเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หลังเขายื่นคำร้องที่เขียนด้วยลายมือต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอเป็นคู่ความกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดียึดทรัพย์ เพื่อขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณที่เขาเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ หลังถูกดำเนินคดี เสาร์ถูกส่งตัวไปตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต แพทย์มีความเห็นว่า เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่ไม่เคยได้รับการรักษา

หลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดี 112 รวมทั้งใช้ข้อหาดังกล่าวมาดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็นโดยสันติจำนวนมาก และขยายการตีความออกไปอย่างกว้างขวางจนกระทบแม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยทางจิต เสาร์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม นอกจากการถูกดำเนินคดีอย่างไม่สมเหตุผล ต้องถูกคุมขัง ทั้งมีภาระในการต่อสู้คดี ในชั้นสอบสวนเขายังถูกขังเกินกว่า 84 วันตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องคดีเสาร์ จำเลยที่มีอาการทางจิต ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 จำเลยได้เขียนข้อความลงในใบคำร้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 14/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลย โดยมีเนื้อหาทำนองว่าสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านสื่อได้ พระองค์ท่านทรงจัดสรรเงินและทรงมอบเงินนี้ให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านทางบัญชีของทักษิณ ชินวัตร และต่อมาพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งให้ทักษิณนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปสร้างบ้านและทำโครงการปราบปรามยาเสพติดและช่วยเหลือเด็ก ซึ่งเสาร์ได้ยื่นใบคำร้องนี้ให้แก่นิติกรชำนาญการประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อความในคำร้องดังกล่าวเป็นไปในทางมิบังควร โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ หมายเลขคดีดำที่ 19ก./2559 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2559)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังจากเสาร์ได้รับแจ้งจากญาติที่อยู่ใน จ.เชียงราย ว่ามีเอกสารเรียกตัว ซึ่งคือหมายเรียกผู้ต้องหา และเขาเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ในวันที่ 13 พ.ค. 2558 ก่อนวันนัดตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนได้เลื่อนนัดให้เสาร์มารายงานตัวอีกครั้งในวันนี้ และแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม จากนั้นพนักงานสอบสวนนำตัวเสาร์ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. - 8 มิ.ย. 2558 โดยคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาระบุว่า เนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น รวมทั้งการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานอีก 4 ปาก รอผลตรวจของกลางและผลตรวจพิมพ์มือผู้ต้องหา

    ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง ทำให้เสาร์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีการยื่นประกันตัว

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศ คสช. แต่พนักงานสอบสวนนำตัวเสาร์ไปฝากขังที่ศาลอาญา

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 28 พ.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)
  • ทนายความยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ขอให้การเพิ่มเติมและขอให้ส่งตัวเสาร์ไปตรวจอาการทางจิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนไว้ในกรณีที่มีเหตุควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ต่อมา ทราบจากเจ้าหน้าที่เรือนจำว่า เสาร์ถูกนำตัวไปตรวจกับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558

    (อ้างอิง: หนังสือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ TLHR.021/2558 ลงวันที่ 15 ก.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)
  • ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ซึ่งตามปกติถ้าอัยการยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาจะต้องถูกนำตัวมาศาลเพื่อรับทราบฟ้อง แต่เมื่อทนายความติดต่อขอเข้าเยี่ยมเสาร์ที่ห้องคุมขังของศาลอาญา กลับไม่พบชื่อของเสาร์ในเอกสารรายชื่อผู้ต้องขังซึ่งถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดี และเมื่อตรวจสอบการส่งฟ้องของพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าพนักงานอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้อง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง มีหนังสือถึงศาลแจ้งว่า จะส่งตัวเสาร์เข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

    เมื่อทนายความสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนจึงทราบว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ เนื่องจากเห็นควรให้งดการสอบสวนและส่งผู้ต้องหาเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ โดยผู้ต้องหาจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 20 ส.ค. 2558 เวลาประมาณ 12.00 น. และพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้นำส่งเสาร์ เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)
  • เสาร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้นำตัวเสาร์ไปเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทั้งนี้ สน.ทุ่งสองห้องได้ทำหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องหาถึง ผกก.สน.ศาลาแดง ซึ่งดูแลรับผิดชอบในท้องที่ดังกล่าว โดยขอให้แจ้งให้ สน.ทุ่งสองห้อง ทราบ หากเสาร์ได้รับการปล่อยตัว

    (อ้างอิง: บันทึกข้อความ สน.ทุ่งสองห้อง ลงวันที่ 20 ส.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/20/sao/)
  • ทนายความได้ทำหนังสือถึงสถาบันกัลยาณ์ฯ ขอทราบผลการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชของเสาร์ อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันไม่ได้มีหนังสือแจ้งการตรวจตอบกลับมาแต่อย่างใด จนกระทั่งเดือน ธ.ค. 2558 ทนายความจึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถาบันกัลยาณ์ฯ เพียงว่า เสาร์เป็นผู้วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้

    ทั้งนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ส่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยโรคและการประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของเสาร์ให้แก่พนักงานสอบสวนรวม 2 ครั้ง

    ครั้งแรกในวันที่ 5 ต.ค. 58 โดยแพทย์มีความเห็นว่า เสาร์มีความเจ็บป่วยทางจิต ขณะประกอบคดีมีความคิดหลงผิด ปัจจุบันยังมีอาการทางจิด ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

    ครั้งที่สองในวันที่ 30 พ.ย. 58 แพทย์รายงานผลการตรวจว่า เสาร์ยังมีความคิดหลงผิดอยู่ แต่สามารถสื่อสารเรื่องคดีได้ จึงวินิจฉัยว่า เสาร์สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว และให้พนักงานสอบสวนมารับตัวกลับไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

    (อ้างอิง: หนังสือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ 21/2558 ลงวันที่ 28 ก.ย. 58, หนังสือสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ลงวันที่ 5 ต.ค. 58 และ 30 พ.ย. 58 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/04/sao_prosecution/)
  • ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีเสาร์ ส่งไปยังหัวหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน รวมทั้งอัยการศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากเสาร์ป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการความคิดหลงผิด เชื่อว่าตนมีความสามารถเกินจริง สามารถสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ โทรทัศน์พูดถึงตนเอง และมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญซึ่งไม่ตรงกับความจริง

    นอกจากนี้ เสาร์ยังไม่รู้สำนึกในการกระทำของตน เพราะเชื่ออย่างสนิทใจในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นความจริง และไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่า การยื่นคำร้องที่มีข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนา ซึ่งการถูกดำเนินคดีอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอาการทางจิต ที่ควรได้รับการรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่เสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ

    (อ้างอิง: หนังสือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ 1/2559 ลงวันที่ 18 ม.ค. 59)
  • ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงหัวหน้าอัยการศาลทหารกรุงเทพ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีเสาร์ เนื่องจากเสาร์ป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการความคิดหลงผิด เชื่อว่าตนมีความสามารถเกินจริง สามารถสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ โทรทัศน์พูดถึงตนเอง และมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญซึ่งไม่ตรงกับความจริง

    นอกจากนี้ เสาร์ยังไม่รู้สำนึกในการกระทำของตน เพราะเชื่ออย่างสนิทใจในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นความจริง และไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่า การยื่นคำร้องที่มีข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนา ซึ่งการถูกดำเนินคดีอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอาการทางจิต ที่ควรได้รับการรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่เสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ

    (อ้างอิง: หนังสือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ 5/2559 ลงวันที่ 26 ม.ค. 59 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/04/sao_prosecution/)
  • หลังจากคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติเห็นควรสั่งฟ้องเสาร์ตามข้อกล่าวหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จึงนำตัวเสาร์จากสถาบันกัลยาณ์ฯ พร้อมสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการศาลทหารกรุงเทพเพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี แต่เนื่องจากอัยการทหารต้องใช้เวลาพิจารณาสำนวนคดี จึงนัดเสาร์มาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. 2559

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/04/sao_prosecution/)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องและยื่นฟ้องเสาร์ จำเลยที่มีอาการทางจิต ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

    คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 เสาร์ได้เขียนข้อความลงในใบคำร้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 14/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลย โดยมีเนื้อหาทำนองว่าสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านสื่อได้ ซึ่งเสาร์ได้ยื่นใบคำร้องนี้ให้แก่นิติกรชำนาญการประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนำสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท ที่ได้จากการระดมทุนช่วยเหลือของกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง มาวางเป็นหลักประกัน เสาร์ถูกพาตัวจากศาลทหารไปปล่อยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลาประมาณ 20.00 น.

    ทนายความให้เหตุผลในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า เสาร์ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิตในระดับวิกลจริตเป็นเวลานาน และไม่เคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตมาก่อน กระทั่งถูกควบคุมตัวจากความผิดในคดีนี้ และพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวเสาร์เข้ารับการรักษา และประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ซึ่งรายงานผลการตรวจระบุว่า จำเลยมีอาการวิกลจริตจริง

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า เสาร์มีอาการป่วยทางจิตมาอย่างต่อเนื่องจนมีลักษณะเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในสถานพยาบาลที่มีความเหมาะสมและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถูกต้องตามมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยทางจิต ซึ่งสภาพเรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่เอื้อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ

    นอกจากนี้ เสาร์ยังต้องได้รับการดูแลจากครอบครัว โดยก่อนหน้าที่จะถูกจับกุม เขาประกอบอาชีพสุจริต แต่มีรายได้ไม่แน่นอน มีฐานะยากจน และอาศัยอยู่กับน้องชาย ทนายความจึงได้ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ดุลยพินิจกำหนดวงเงินประกันโดยพิจารณาถึงสถานะบุคคล สุขภาพ รายได้ และพฤติการณ์แห่งคดี กรณีที่จำเลยมีอาการวิกลจริต และภาระของน้องชายที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาเป็นหลักประกันด้วย

    ก่อนหน้านี้ ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีเสาร์ต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ แต่อัยการเห็นว่า ยังไม่อาจฟังได้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นไปโดยขาดเจตนา ส่วนการกระทำความผิดจะเป็นไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะจิตบกพร่องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในชั้นพิจารณาของศาล

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกระทำความผิดในคดีนี้อยู่ในขณะที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึก เสาร์จึงอาจถูกพิจารณาคดีในศาลทหารแค่ชั้นเดียว การพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพในชั้นนี้จะถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาในศาลชั้นที่สูงกว่าได้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ หมายเลขคดีดำที่ 19ก./2559 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2539)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง จากนั้นจึงถามคำให้การจำเลย เสาร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาลด้วย ระบุว่า เนื่องจากจำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดจิตเภท มีอาการหลงผิดและเป็นผู้วิกลจริต พร้อมกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน เนื่องจากคดีมีเอกสารเกี่ยวกับรักษาพยาบาลอาการทางจิต และเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีจำนวนมาก ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ก.ย. 59

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย และคำร้องขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลทหารกรุงเทพ หมายเลขคดีดำที่ 19ก./2559 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2559)
  • ก่อนตรวจพยานหลักฐาน ศาลแจ้งว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เนื่องจากได้ตรวจสอบพบว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้จำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง มีกำหนด 3 ปี ผู้ต้องหาได้กระทำผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษฐานกระทำผิดอีก ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 92

    ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดียังไม่ได้สืบพยาน จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ จึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง จากนั้น ศาลได้สอบถามคำให้การจำเลยใหม่ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตามที่โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องทุกประการ ขอต่อสู้คดี

    ในการตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารแถลงว่า เอกสารที่จำเลยให้ตรวจไม่ตรงกับบัญชีระบุพยาน ด้านทนายจำเลยแถลงว่า ไม่สามารถส่งพยานหลักฐานเวชระเบียน ซึ่งเป็นประวัติการรักษาตัวของจำเลยจากโรงพยาบาลแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่รับหมาย ขอให้ศาลส่งหมายให้ นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่ได้นำบันทึกคำให้การพยานโจทก์มาให้ตรวจ โดยอัยการทหารแถลงว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ไม่จำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การพยานให้ฝ่ายจำเลยตรวจในชั้นตรวจพยานหลักฐาน

    ศาลจึงให้เลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 25 พ.ย. 2559 โดยจะสั่งในเรื่องที่ทนายจำเลยคัดค้านในนัดหน้า

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559)
  • ศาลแจ้งว่า ตามที่โจทก์ไม่ส่งบันทึกคำให้การพยานโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยตรวจก่อน โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173/2 นั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาต ทนายจำเลยค้านว่า มาตรา 173/2 เป็นเพียงข้อยกเว้นของศาล ศาลโต้แย้งว่า เป็นดุลพินิจศาล ทนายจำเลยจึงขอให้บันทึกคำคัดค้านไว้ในสำนวน

    อัยการทหารแถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่ในเหตุการณ์, ผู้ดูแลกล้องวงจรปิด, ผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือของจำเลยในคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ และพนักงานสอบสวน เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง

    ด้านทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยมีอาการทางจิต โดยจะนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทั้งหมด 7 ปาก ได้แก่ จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน, ญาติพี่น้องของจำเลย 2 คน, แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการทางจิตของจำเลย, อาสาสมัครที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต และนักวิชาการด้านกฎหมาย

    ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ ผู้กล่าวหาเสาร์ต่อพนักงานสอบสวน ในวันที่ 9 ก.พ. 2560 โดยโจทก์แถลงต่อศาลว่าพยานปากนี้เป็นเพียงผู้ได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความ แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เสาร์ยื่นคำร้อง จึงไม่ต้องสืบพยานแบบคู่ร่วมกับพยานที่เป็นผู้รับคำร้องของเสาร์

    การกระทำของเสาร์ที่ถูกฟ้องในคดีนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ คสช. ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้คดีของเสาร์จะถูกพิจารณาในศาลทหารชั้นเดียว ไม่สามารถขออุทธรณ์ หรือฎีกาได้

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2901)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก มี พ.อ.อมรินทร์ บุณยะวิโรจ, พ.อ.ญ.ศรีสุดา ทัศน์เอี่ยม และ พ.อ.วรพล นิยมเสน เป็นองค์คณะตุลาการ พร้อมด้วยอัยการศาลทหาร ทนายจำเลย และเสาร์ จำเลยในคดีนี้ซี่งได้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

    พยานโจทก์ปากแรก ลัดดาวัลย์ นิยม เจ้าพนักงานยุติธรรมชำนาญการพิเศษ ประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้รับมอบอำนาจจากเลขานุการศาลฎีกาฯ ให้แจ้งความกล่าวโทษ

    ลัดดาวัลย์เบิกความต่อศาลว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเสาร์ได้มายื่นคำร้องขอเข้าร่วมในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จุลเดช ละเอียด นิติกรชำนาญการของศาลฎีกาฯ เป็นผู้รับคำร้อง และนำไปเสนอต่อประธานและองค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 3 คน ได้แก่ ธนฤกษ์ นิติเศรณี, พิศิฏฐ์ สุดลาภา และสุภัทร์ สุทธิมนัส องค์คณะพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้องยื่นคำร้อง องค์คณะยังเห็นว่า คำร้องมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าธุรการ ซึ่งขณะนั้นคือ อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล เลขานุการศาลฎีกาไปแจ้งความ อำพันธ์ได้มอบอำนาจให้พยานดำเนินการแทน พยานจึงไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อกล่าวโทษเสาร์ พยานเองเมื่อได้อ่านข้อความในคำร้องแล้วเห็นว่า เป็นข้อความที่พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ หากมีผู้อ่านจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ต่อมา พยานตอบคำถามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการ รับราชการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2554 มีหน้าที่ดูแลด้านธุรการในแผนกธุรการของศาลฎีกาฯ สำหรับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งอยู่ที่ชั้น 7 ของอาคารของศาลฎีกา ซึ่งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ บุคคลภายนอกถ้าจะไปติดต่อราชการจะต้องแลกบัตรกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งอยู่ที่ชั้น 1 ก่อน และต้องแจ้งว่า จะมาติดต่อกับส่วนราชการใด ในวันเกิดเหตุพยานไม่เห็นจำเลยขณะยื่นคำร้อง แต่ทราบจากจุลเดช ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มีผู้มายื่นคำร้องในลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่ในวันเกิดเหตุยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี ต่อมา เมื่อพยานได้รับมอบอำนาจจากอำพันธ์ ซึ่งกระทำการในฐานะผู้แทนของศาลฎีกาฯ ให้เข้าแจ้งความ พยานไม่ได้พูดคุยกับอำพันธ์ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยว่า มีถ้อยคำใดเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่ที่พยานรู้สึกว่า เป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีถ้อยคำเขียนถึงพระมหากษัตริย์หลายถ้อยคำ ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกของพยานเอง ส่วนข้อความในคำร้องจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ พยานไม่ทราบ และไม่เชื่อว่าเป็นความจริง

    ลัดดาวัลย์ตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า มีเพียงอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. เท่านั้นที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และผู้ที่จะถูกฟ้องจะต้องเป็นนักการเมืองและข้าราชการที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า พยานเคยพบคำร้องในลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่มีจำนวนไม่มาก ซึ่งจะเป็นลักษณะที่ไม่รับคำร้อง แล้วยกคำร้องไป

    หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ลำดับถัดไปคือ จุลเดช ละเอียด ผู้รับคำร้องของจำเลย และ เปรม กาลสุข เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในวันที่จำเลยยื่นคำร้อง ในวันที่ 25 พ.ค. 2560

    ทั้งนี้ เสาร์ เคยเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ส่งรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคและการประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของเสาร์ให้แก่พนักงานสอบสวน ซึ่งทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถาบันกัลยาณ์เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เพียงว่า เสาร์เป็นผู้วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=3451)
  • นัดนี้สืบประจักษ์พยานเสร็จสิ้น 2 ปาก ได้แก่ จุลเดช ละเอียด นิติกรประจำศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเปรม กาลสุข เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ศาลฎีกา โดยทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านกรณีอัยการทหารไม่นำบันทึกคำให้การที่พยานทั้งสองให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนมานำสืบให้ทนายจำเลยได้ถามค้าน อัยการทหารรับว่า จะนำบันทึกคำให้การดังกล่าวมายืนยันในนัดสืบพยานปากพนักงานสอบสวน ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไปวันที่ 7 ส.ค. 2560

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 จุลเดช ละเอียด นิติกรประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจรับคำร้อง สรุปคำร้อง คำฟ้อง และสนับสนุนเอกสารต่าง ๆ ในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา เบิกความว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชั้น 7 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากนายเปรม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ไปรับคำร้องที่ชั้น 1 เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องแต่งกายไม่เรียบร้อยจึงไม่อนุญาตให้ขึ้นไปที่ชั้น 7 เมื่อพยานลงมาที่ชั้น 1 ได้พบจำเลยใส่เสื้อยืด กางเกงขายาว รองเท้าแตะ พยานรับคำร้องที่จำเลยเป็นผู้ยื่น ตรวจสอบแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ของศาลฎีกาฯ จำเลยเขียนคำร้องด้วยลายมือ โดยใช้แบบพิมพ์ของศาลฎีกาฯ และลงชื่อไว้ พยานได้สอบถามจำเลย และแจ้งจำเลยด้วยวาจาว่า ไม่สามารถจะยื่นคำร้องได้ ถ้าประสงค์ที่ยื่นคำร้องจะต้องให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณา ได้ผลอย่างไร จะแจ้งเป็นหนังสืออีกครั้ง จำเลยจึงเดินทางกลับ ในการพูดคุยกับจำเลยพยานเห็นว่า จำเลยสามารถพูดและโต้ตอบได้ปกติ

    พยานเบิกความต่อว่า เมื่อได้อ่านคำร้องสรุปได้ว่า จำเลยประสงค์จะขอรับเงินที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเห็นว่า ข้อความบางตอนในคำร้องอาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันเบื้องสูง โดยมีถ้อยคำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมอบเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มอบให้กับจำเลย พยานได้นำคำร้องดังกล่าวไปให้เลขานุการศาลฎีกาฯ จากนั้น เลขานุการศาลฎีกาฯ ได้มอบอำนาจให้นางลัดดาวัลย์ ดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษจำเลย

    ต่อมา ฝ่ายอาคารสถานที่ได้บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดขณะจำเลยมายื่นคำร้อง พยานได้ลงลายมือชื่อไว้ พยานเคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง คล้ายคลึงกับที่เบิกความในวันนี้

    จุลเดชตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จบการปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ และจบเนติบัณฑิตไทย ทำงานในตำแหน่งนี้มา 15 ปี มีความเชี่ยวชาญในงานของแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พยานมีหน้าที่ตรวจรับคำคู่ความ คำร้อง ให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยให้คำปรึกษากับประชาชนทั่วไป

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า การยื่นคำร้องของจำเลยเป็นลักษณะการยื่นคำร้องขอขัดทรัพย์ ข้อความว่า "ขอคัดทรัพย์ที่เป็นของกระผมกลับคืน" นั้น ถ้าพิจารณาตามตัวอักษรมีความหมายว่า ขอคัดบัญชีทรัพย์ พยานพูดคุยกับจำเลยประมาณ 20 นาที ได้อธิบายว่า ผู้มีสิทธิที่จะยื่นคำร้อง คือ อัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช. ถ้าจำเลยยังประสงค์ที่ยื่นคำร้องจะต้องให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณา

    พยานยังตอบคำถามค้านต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้ไม่มีสิทธิในการยื่นคำร้อง แต่รับว่า แบบฟอร์มคำร้องเป็นแบบฟอร์มที่เผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไป เนื้อหาโดยสรุปของคำร้องที่พยานตรวจดูสรุปได้ว่า จำเลยต้องการได้เงิน 7 พันล้านบาทคืน ส่วนจำเลยจะเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือว่า จะมีเงิน 7 พันล้าน หรือไม่ พยานไม่มีความเห็น พยานมีความสงสัยและคาดคะเนได้ว่า คำร้องดังกล่าวอาจถูกยกคำร้องได้ จึงได้อธิบายและสอบถามจำเลยว่า ยังยืนยันจะยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่

    พยานระบุว่า เหตุที่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากจำเลยได้ทำคำร้องถูกต้องตามแบบของศาล แต่พยานไม่ได้แนะนำให้จำเลยนำเอกสารมาเพิ่มเติมประกอบคำร้อง พยานเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ไม่รู้กฎหมาย และไม่มีความรู้ โดยพิจารณาจากลักษณะการเขียนคำร้อง ทั้งนี้ องค์คณะที่พิจารณาคำร้องไม่ได้พบกับจำเลย ในวันเกิดเหตุ จำเลยสวมร้องเท้าแตะ ตามระเบียบถือว่าไม่สุภาพจึงไม่สามารถอนุญาตให้ไปติดต่อราชการที่ชั้น 7 ได้ แต่พยานไม่ได้แนะนำให้จำเลยกลับไปแต่งกายให้ถูกระเบียบเพื่อมายื่นคำร้องใหม่

    พยานเบิกความอีกว่า พยานไม่มีความรู้เกี่ยวกับจิตเวช จากการพูดคุยกับจำเลยพยานเห็นว่าจำเลยดูเป็นคนซื่อ ไม่ได้ปิดบังอำพรางตัวเอง และไม่มีลักษณะของผู้ที่จะทำผิดอาญา

    ในส่วนของข้อความในคำร้อง พยานให้ความเห็นว่า ข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทอดทิ้งกระผม" มีความหมายในแง่ดี เป็นการยกย่อง เชิดชู และรู้คุณในหลวง ส่วนที่จำเลยเขียนว่า เป็นคนสั่งให้มีการปฏิวัติยึดอำนาจทักษิณ และให้ยุบพรรคไทยรักไทย พยานอ่านแล้วไม่เข้าใจ และไม่น่าจะเป็นความจริงได้ ข้อความที่พยานเห็นว่ากระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นตรงกับข้อความตามคำฟ้องของโจทก์ แต่ก็เป็นเพียงข้อความที่ไม่บังควรเท่านั้น ไม่ใช่ข้อความที่มีความหมายในแง่ไม่ดีโดยตรง พยานยังรับด้วยว่า เหตุการณ์ตามเนื้อความในคำร้องนั้นไม่เคยปรากฏเป็นข่าว และเท่าที่พยานทราบไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่น่าจะใช่เรื่องจริง

    พยานตอบทนายจำเลยด้วยว่า หลังจากไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวน พยานไม่เคยติดตามผลในคดีนี้อีก พยานไม่ทราบว่า จำเลยมีข้อต่อสู้ว่า มีความเจ็บป่วยทางจิต ทั้งยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และการดำเนินคดีผู้ป่วยทางจิตเวช จึงไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของจำเลย

    ต่อมา พยานตอบอัยการที่ถามในประเด็นนี้ว่า ที่ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของจำเลย เนื่องจากขณะที่พยานพบจำเลยนั้น จำเลยมีลักษณะปกติดี

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 เปรม กาลสุข เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลฎีกาฯ มีหน้าที่แลกบัตรผู้มาติดต่อราชการและรักษาความปลอดภัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

    พยานเบิกความว่า วันที่ 13 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 9.00 น. ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บริเวณชั้น 1 ของศาลฎีกา จำเลยมาติดต่อแจ้งว่าจะมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พยานแนะนำให้จำเลยแลกบัตรและรอให้เจ้าหน้าที่มารับเรื่อง แต่พยานไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าทำไมต้องให้รอเจ้าหน้าที่มารับเรื่อง จากนั้น พยานได้แจ้งจุลเดช ละเอียด นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้มารับคำร้อง แต่พยานไม่เห็นขณะที่จุลเดชรับคำร้อง เนื่องจากพยานไปอยู่ด้านหน้าศาลฎีกาบริเวณที่จอดรถ รวมทั้งไม่ทราบว่า จำเลยมายื่นคำร้องเรื่องใดและถูกดำเนินคดีในเรื่องใด

    จากนั้น พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในการปฏิบัติหน้าที่พยานจะเข้าเวรเป็นกะ ๆ ละ 12 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นกะกลางวันและกลางคืน ใน 1 สัปดาห์ พยานจะเข้าเวรในกะกลางวัน 6 วัน หยุดวันเสาร์ รับคำสั่งจากแผนกอาคารสถานที่ของศาลฎีกา พยานทราบว่า การยื่นหนังสือต่อศาลต้องยื่นที่ชั้น 7 ในวันเกิดเหตุ พยานเห็นจำเลยสวมหมวกแก็ป ซึ่งเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพ แต่จำไม่ได้ว่าแต่งตัวอย่างไร สวมรองเท้าแตะหรือไม่ พยานพูดคุยกับจำเลยประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศาลที่ชั้น 7 ลงมารับเอกสาร เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะยื่นเอกสารได้หรือไม่ ตามที่พยานทราบคือ ผู้ที่จะมายื่นเรื่องกับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ จะต้องเป็นอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. พยานจำไม่ได้ว่าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่คนไหน และไม่แน่ใจว่าจำเลยได้คุยโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่หรือไม่

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยต่อไปว่า เห็นจุลเดชลงมาจากชั้น 7 จากนั้นจุลเดชกับจำเลยได้พูดคุยกันในห้องเป็นเวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง ส่วนพยานเดินไปมาระหว่างในห้องกับลานจอดรถ จึงไม่ทราบว่าทั้งสองคนคุยกันเรื่องอะไร ระหว่างการพูดคุยจำเลยนั่งอยู่ที่โซฟา ส่วนจุลเดชลุกเดินไปมา มีบางช่วงที่มีการโต้เถียงกันเสียงดัง พยานพบจำเลยในวันเกิดเหตุเท่านั้น แต่จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนอื่นได้พบจำเลยอีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ ขณะเกิดเหตุมีผู้มาติดต่อราชการเนื่องจากเป็นวันเวลาราชการ

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากธิติศักดิ์ ทองบุญรอด พนักงานคอมพิวเตอร์ ศาลฎีกา ผู้ควบคุมกล้องวงจรปิด จนเสร็จ นัดสืบพยานโจทก์ปากพันตำรวจเอกพิษณุ ฟูปลื้ม ผู้ตรวจลายมือ ในวันที่ 1 พ.ย. 2560

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 ธิติศักดิ์ ทองบุญรอด พนักงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคนิคสารสนเทศประจำศาลฎีกา มีหน้าที่ดูแลแม่ข่ายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของศาลฎีกา

    พยานเบิกความต่อศาลว่า วันที่ 13 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 11.00 น. ณัฐวัฒน์ แก้วขาว เจ้าหน้าที่ดูแลอาคารและสถานที่ของศาลฎีกาได้แจ้งขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ในช่วงเวลา 8.00-9.00 น. ของวันนั้น ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรในช่วงเวลาดังกล่าว พยานจึงได้นำข้อมูลจากกล้องวงจรปิดบริเวณชั้นที่ 1 ทางเข้าด้านข้างของศาลฎีกาในช่วงเวลาดังกล่าวออกมา บันทึกเป็นไฟล์ภาพเคลื่อนไหวลงในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงโดยวิธีการคัดลอกภาพ โดยไม่ได้เปิดดูภาพเคลื่อนไหวในไฟล์ดังกล่าว ณัฐวัฒน์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลยังให้พยานปรินท์ภาพจากภาพเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย พยานจึงได้ดูภาพเฉพาะช่วงเวลานั้น จากนั้น พยานจึงมอบแผ่นซีดีและภาพดังกล่าวให้ณัฐวัฒน์ โดยไม่ได้มีการตัดต่อเพิ่มเติม โจทก์เปิดแผ่นซีดีและนำภาพให้พยานดู พยานยืนยันว่าเป็นภาพและภาพเคลื่อนไหวที่พยานคัดลอกจากกล้องวงจรปิดของศาลฎีกาจริง ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าบุคคลที่อยู่ในภาพดังกล่าวเป็นใคร

    ต่อมา ทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความตอบว่า พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตามภาพและภาพเคลื่อนไหว และไม่ได้เป็นคนบันทึกไฟล์ภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดี แต่พยานบันทึกลงในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพา โดยจำจำนวนและขนาดไฟล์ไม่ได้ พยานได้มอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้ณัฐวัฒน์ ซึ่งข้อมูลในแผ่นซีดีเป็นข้อมูลที่นำมาจากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพาดังกล่าว

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ภายในอาคารศาลฎีกามีกล้องวงจรปิดประมาณ 150 ตัว แต่พยานตรวจสอบและนำข้อมูลออกมาจากกล้องวงจรปิดเพียงตัวเดียว คือกล้องตัวที่ 20 ของชั้นที่ 1 โดยณัฐวัฒน์ไม่ได้ให้พยานดึงข้อมูลจากกล้องวงจรปิดตัวอื่นอีก ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานจำไม่ได้ว่า มีการขอให้พยานตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิดหรือไม่ และจะมีภาพจำเลยปรากฏในกล้องวงปิดภายในอาคารศาลฎีกาหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พยานยังระบุด้วยว่า เปรม กาลสุข เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ตรวจดูภาพจากกล้องวงจรปิดทั้งอาคารของศาลฎีกาจากจอมอนิเตอร์ภายในห้องเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นายเปรมจะตรวจดูตลอดเวลาหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่นายเปรมสามารถตรวจดูย้อนหลังได้ ทั้งนี้ รายละเอียดในคดีนี้ นายเปรมและนายณัฐวัฒน์ไม่ได้บอกให้พยานรู้

    พยานตอบอัยการทหารที่ถามติงว่า ข้อมูลที่พยานดึงจากกล้องวงจรปิดและบันทึกไว้ในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพา ตรงกันกับภาพถ่ายและแผ่นซีดีที่เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ เป็นภาพบริเวณเคาน์เตอร์ด้านหน้าในชั้น 1 ของอาคารศาลฎีกา ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้มาติดต่อราชการต้องทำการแลกบัตร

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 7 ส.ค. 2560)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากพันตำรวจเอกพิษณุ ฟูปลื้ม ผู้ตรวจลายมือในคำร้อง พยานไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการอบรมดูงานที่สหราชอาณาจักร และปัจจุบันพยานรับราชการที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จ.ยะลา จึงขอให้สืบพยานที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร

    ทนายจำเลยแถลงว่า ไม่สะดวกในการที่จะให้ศาลส่งประเด็นไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 เพราะมีระยะทางไกล ขอศาลได้ออกหมายเรียกพยานโจทก์ปากนี้มาเบิกความที่ศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ไม่ค้าน เนื่องจากมีประเด็นสำคัญในการซักถามพยานปากนี้เอง

    ศาลจึงให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าวไปเป็นวันที่ 12 ก.พ. 2561 โดยให้ออกหมายเรียกพยานไปตามที่โจทก์แถลง

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2560)

  • โจทก์นำพยานปาก พล.ต.ต.พิษณุ ฟูปลื้ม ผู้ตรวจลายมือของจำเลย เข้าเบิกความจนเสร็จ นัดต่อไปสืบพยานโจทก์ปาก ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ชูประยูร พนักงานสอบสวน ในวันที่ 25 พ.ค. 2561

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 5 พล.ต.ต.พิษณุ ฟูปลื้ม ขณะเกิดเหตุรับราชการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์เอกสารเกี่ยวกับลายมือชื่อ โดยทำการตรวจพิสูจน์ลายมือมาประมาณ 30 ปี เกี่ยวกับคดีนี้พยานเบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ส่งเอกสารของกลางมาให้ตรวจ เป็นคำร้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 2 แผ่น ตัวอย่างลายมือชื่อและลายมือเขียนข้อความของเสาร์จำนวน 14 แผ่น โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้ทราบว่าลายมือและลายมือชื่อในคำร้องเอกสารของกลางกับตัวอย่างลายมือของเสาร์ที่เขียนต่อหน้าพนักงานสอบสวนจะเป็นของบุคคลเดียวกันหรือไม่ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่า มีรูปลักษณะตัวอักษรแบบเดียวกัน แต่เนื่องจากตัวอย่างลายมือของเสาร์เขียนหวัดกว่าในเอกสารของกลาง และไม่มีตัวอย่างลายมือของเสาร์ที่เขียนไว้ในเวลาใกล้เคียงกับเอกสารของกลาง จึงลงความเห็นตามหลักวิชาการว่า น่าจะเป็นลายมือของบุคคลเดียวกัน

    พยานเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานตรวจพิสูจน์ลายมือเขียนมาไม่ต่ำกว่า 1,000 คดี โดยลายมือเขียนและลายมือชื่อ หรือลายมือที่ใช้ลงนามในเอกสาร เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล สามารถนำมาตรวจสอบพิสูจน์ ในทางวิชาการของไทยจะแยกการตรวจ แต่ในต่างประเทศจะใช้การตรวจพิสูจน์เหมือนกัน

    พยานระบุด้วยว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งตัวอย่างลายมือชื่อของเสาร์มาด้วย แต่ในเอกสารตัวอย่างลายมือมีลายมือชื่อของเสาร์ในช่องเจ้าของลายมือชื่อ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับลายมือชื่อในเอกสารของกลาง แต่สั้นกว่า พยานรับว่า ในการส่งลายมือชื่อและลายมือเขียนมาให้ตรวจพิสูจน์ พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวอย่างชัดเจนและระบุวัตถุประสงค์ว่าจะให้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อและลายมือเขียนใด พยานจะทำการตรวจพิสูจน์นอกเหนือจากที่พนักงานสอบสวนส่งตัวอย่างมาไม่ได้

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 12 ก.พ. 2561)

  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ปาก ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ชูประยูร พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เข้าสืบจนเสร็จสิ้น โจทก์แถลงหมดพยานในคดีนี้ ทนายจำเลยแถลงนัดต่อไปขอนำพยานจำเลย สมยศ บุญธรรม ญาติจำเลย เข้าสืบ ในวันที่ 7 ส.ค. 2561

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 6 ร.ต.อ.วิศรุตภูมิ ชูประยูร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ พยานเบิกความตอบอัยการทหารว่า คดีนี้มีนางลัดดาวัลย์ นิยม รับมอบอำนาจจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้กล่าวหาเสาร์ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พยานทราบเหตุในคดีนี้จากผู้กล่าวหาว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ขอเป็นคู่ความในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า รัชกาลที่ 9 ทรงมอบเงินให้กับจำเลย ลักษณะข้อความเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ผู้กล่าวหาได้มอบคำร้องของจำเลยและหนังสือมอบอำนาจของศาลฎีกาให้แจ้งความกล่าวโทษจำเลย ให้พยานไว้ โดยพยานได้ส่งคำร้องดังกล่าวและตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สตช. ผลการตรวจพิสูจน์ยืนยันว่าเป็นลายมือของบุคคลเดียวกัน

    พยานเบิกความอีกว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นผู้เขียนคำร้องเอกสารของกลางเอง ขณะทำการสอบสวน พยานสังเกตเห็นว่าจำเลยพูดคุยไม่รู้เรื่อง จิตไม่ปกติ พยานจึงดำเนินการส่งตัวไปบำบัดที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยและให้ความเห็นว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากมีพยานหลักฐานเพียงพอว่า จำเลยกระทำผิดจริง ประกอบกับไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าขณะกระทำผิด จำเลยมีอาการผิดปกติ พยานจึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย และส่งความเห็นให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มีความเห็นสั่งฟ้องเช่นเดียวกัน

    ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นางลัดดาวัลย์ได้รับมอบอำนาจจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่พยานไม่ได้สอบสวนประธานศาลฎีกา เนื่องจากพยานเคยขอเข้าพบแต่ประธานศาลฎีกาไม่สะดวกให้พยานเข้าพบ รวมทั้งไม่ได้สอบสวนผู้พิพากษาที่มอบอำนาจให้นางลัดดาวัลย์เข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลย พยานยืนยันว่า ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีเพื่อยืนยันการกระทำความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลยตามอำนาจหน้าที่

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ได้มีหมายเรียกจำเลยให้มาพบเพื่อทำการสอบสวนในวันที่ 15 พ.ค. 58 พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยมารายงานตัวก่อนวันนัดหรือไม่ แต่วันนั้นพยานไม่ได้ควบคุมตัวจำเลย ต่อมา วันที่ 28 พ.ค. 58 พยานได้เรียกจำเลยมาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยมาเพียงลำพัง ไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจมาด้วย และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อพยานนำจำเลยไปฝากขังที่ศาลอาญา พยานไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย แต่ที่จำเลยไม่ได้ประกันตัวเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ จากการสอบสวนทราบว่า จำเลยเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เชื้อชาติไทยลื้อ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง พยานได้รับหนังสือขอให้การเพิ่มเติมและขอให้ส่งจำเลยไปตรวจสุขภาพจิต จึงได้สอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 2 ปาก คือ สมยศ และเพชร และส่งจำเลยไปตรวจสุขภาพจิตประมาณเดือนสิงหาคม 2558 จากนั้น พยานได้มีหนังสือของ สน.ทุ่งสองห้อง ขออายัดตัวผู้ต้องหาไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวมทั้งประสาน สน.ศาลาแดง ว่าหากมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ทำการอายัดตัวไว้ โดยพยานจำไม่ได้ว่า จำเลยถูกควบคุมตัวมาแล้วกี่วันก่อนนำตัวส่งไปตรวจสุภาพจิต พยานรับว่าจำเลยถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด โดยระยะเวลาที่เกินไป เป็นไปตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551

    พนักงานสอบสวนในคดีเบิกความต่อว่า สถาบันกัลยาณ์ฯ มีความเห็นตามรายงานฉบับวันที่ 30 พ.ย. 58 ว่าจำเลยมีความเจ็บป่วยทางจิต แต่สามารถต่อสู้คดีได้ และฉบับวันที่ 5 ต.ค. 58 ว่า จำเลยมีความเจ็บป่วยทางจิต ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งพยานไม่ได้พบแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยจำเลย และไม่ได้สอบปากคำไว้ เนื่องจากได้ส่งรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ และคณะกรรมการไม่ได้สั่งให้สอบแพทย์ผู้ทำการตรวจ ทั้งนี้ พยานรับว่า ในหนังสือของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งมีมติสั่งฟ้องจำเลย ไม่ปรากฏความเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางจิตของจำเลย โดยหากได้มีการสอบปากคำแพทย์ผู้ทำการตรวจจำเลยก็จะเป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่งในการพิจารณาคดี พยานยังเบิกความด้วยว่า คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ไม่มีอำนาจส่งผู้ต้องหาเข้าทำการตรวจทางจิต ผบ.ตร.ก็ไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งจำเลยไปตรวจทางจิต หนังสือของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งมีมติสั่งฟ้องจำเลย ระบุมติที่ประชุมครั้งที่ 12/2558 ให้งดการสอบสวนไว้ แต่ไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยหายวิกลจริต

    ร.ต.อ. วิศรุตภูมิตอบทนายจำเลยอีกว่า ตามความเห็นพยาน บุคคลทั่วไปคงไม่เขียนคำร้องอย่างที่จำเลยกระทำ และสงสัยว่าจำเลยมีอาการไม่ปกติ พยานเห็นอีกว่า ข้อความในคำร้องโดยรวมเป็นข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่รับว่าเป็นข้อความเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ ข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทอดทิ้งกระผม พระองค์ท่านทรงติดต่อเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ทรงให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คอยดูแลเอาใจใส่กระผมตลอดมา" ก็เป็นทำนองชื่นชม ไม่ได้หมิ่นฯ ส่วนข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องพยานไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง จำเลยมีฐานะยากจนเคยได้รับผลกระทบจากการใช้ยาเสพติดและไม่เคยได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งเหตุการณ์ตามคำร้องทั้งหมดไม่เคยปรากฏตามสื่อมวลชนแต่อย่างใด พยานจึงไม่เชื่อว่า จำเลยมีการติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 และเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จำเลยคิดไปเอง

    ต่อมา พยานตอบคำถามติงของอัยการว่า รายงานการตรวจวินิจฉัย ฉบับลงวันที่ 30 พ.ย. 2558 ระบุว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ เข้าใจและยอมรับกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีความคิดหลงผิด ส่วนฉบับลงวันที่ 5 ต.ค. 2558 ซึ่งประเมินว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์น้องชายจำเลยและตัวจำเลย

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2561)
  • สืบพยานจำเลยปากแรก สมยศ พี่ชายของจำเลย เข้าเบิกความและตอบคำถามค้านของอัยการทหารจนเสร็จ

    สมยศเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2558 พยานได้รับเสาร์ไปอยู่ด้วย ขณะที่อยู่กับพยานเสาร์มีพฤติกรรมไม่ปกติ เช่น มีอาการเหม่อลอย บางครั้งฉุนเฉียว พูดจาจำความไม่ได้ แต่ไม่เคยทำร้ายใคร และเสาร์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะมีอาการเฉื่อยชา

    สมยศเบิกความต่อว่า เสาร์เคยพูดกับพยานในลักษณะเดียวกับข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้ด้วย โดยเสาร์บอกทำนองว่าจะไปรื้อฟื้นคดีเพื่อขอเงินของเขาคืน เสาร์พูดกับพยานด้วยว่าสามารถพูดคุยกับโทรทัศน์ได้ พยานไม่เชื่อที่เสาร์พูดเพราะเป็นไปไม่ได้ที่เสาร์จะสามารถสื่อสารทางโทรทัศน์ พยานเคยกำชับเสาร์ว่าอย่าไปคุยกับคนอื่น แต่เมื่อเสาร์พบคนอื่นก็จะเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง โดยเสาร์มีพฤติกรรมอย่างนี้มานานแล้ว เมื่อสมยศจะพาไปรักษาเสาร์ก็ไม่ยอมไป

    น้องชายของเสาร์ระบุว่า เขาทราบว่าเสาร์ถูกดำเนินคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2558 และได้ไปให้ปากคำตำรวจเกี่ยวกับอาการผิดปกติของเสาร์ที่ สน.ทุ่งสองห้อง พยานเดินทางไปด้วยในวันที่ตำรวจนำตัวเสาร์ไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์โดยใช้เวลารักษา 45 วัน แต่อาการก็ไม่บรรเทา หากไม่ได้ทานยาเสาร์จะมีอาการเหม่อลอย ถ้าได้ทานยาอาการก็จะดีขึ้น พยานเบิกความอีกว่า เสาร์เคยมีประวัติการจำคุกมาก่อนถึงสองครั้งในคดียาเสพติด ก่อนที่เสาร์จะถูกจำคุกครั้งแรก เสาร์เคยประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ และมีประวัติการใช้ยาเสพติดมาก่อน

    สมยศเบิกความเสริมด้วยว่า เสาร์ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่รู้จักกับนักการเมืองคนใดมาก่อน

    พยานตอบอัยการทหารถามค้านว่า หลังพ้นโทษจำคุกเสาร์สามารถพูดคุยสื่อสารได้ แต่บางครั้งก็มีอาการเหม่อลอยอยู่ เหตุที่ญาติเพิ่งพาเสาร์ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาหลังมีการดำเนินคดี เนื่องจากเสาร์ไม่ยอมไป พยานไม่ทราบว่าคำร้องที่เสาร์ยื่นต่อศาลฎีกามีข้อความว่าอย่างไร

    สมยศตอบทนายจำเลยถามติงว่า พยานทราบว่า เสาร์คุยเรื่องที่เขาสื่อสารกับโทรทัศน์ได้กับเพื่อนบางคนแต่ไม่ทราบว่าคนไหน ส่วนเรื่องการไปยื่นคำร้องพยานทราบว่าเสาร์คุยกับญาติห่าง ๆ ชื่อสวานซึ่งทำงานกรมป่าไม้ แต่ใครพาเสาร์ไปส่งในวันที่ไปยื่นคำร้องพยานไม่ทราบ

    ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากต่อไป นายแพทย์อภิชาติ แสงสิน แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ในวันที่ 16 ต.ค. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 7 ส.ค. 2561)
  • สืบพยานจำเลยปากที่ 2 นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจำเลย ประจำอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยจิตเวชทางคดี

    พยานเบิกความว่า สำหรับผู้ป่วยจิตเวชทางคดีจะมีกลุ่มสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อวินิจฉัยและลงความเห็นเกี่ยวกับผู้ป่วย โดยเสาร์ได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากกลุ่มสหวิชาชีพว่าเป็นโรคจิตเภท มีลักษณะหูแว่ว มีความคิดบิดเบือนจากความจริง เชื่อในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง สาเหตุของโรคมาจากการทำงานผิดปกติของสมอง เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ถ้าขาดยาอาการทางจิตจะกำเริบ สำหรับผู้ป่วยจิตเภท ในช่วงอาการเจ็บป่วยกำเริบผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาต่อเนื่องและอาการดีขึ้นจะสามารถต่อสู้คดีได้

    พยานเบิกความต่อว่า รับคดีจำเลยมาจาก สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 58 จากนั้นตรวจรักษาจำเลยและติดตามการรักษาจนถึงปัจจุบัน หลังจากรับตัวจำเลยได้ทำความเห็นส่งไปที่ตำรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 ต.ค. 58 ให้ความเห็นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเภท คิดว่าร่ำรวยและเป็นเชื้อพระวงศ์ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้รักษาตัวต่ออีกระยะ ครั้งที่สองวันที่ 30 พ.ย. 58 มีความเห็นว่าจำเลยเข้าใจและยอมรับกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีอาการหลงผิด ก่อนหน้าที่จำเลยเข้ามารักษาก็มีอาการป่วยทางจิตชัดเจน แต่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน เป็นอาการป่วยทางจิตที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง ซึ่งคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีความคิดหลงผิดค่อนข้างมาก

    นพ.อภิชาติเบิกความตอบอัยการทหารถามค้านว่า ทราบภายหลังว่าทนายจำเลยร้องขอให้ตำรวจส่งตัวจำเลยตรวจวินิจฉัยว่าเป็นจิตเภท ซึ่งได้รับจำเลยมารักษาหลังจากก่อเหตุประมาณ 5 เดือน

    หลังสืบพยานโจทก์ปากนี้เสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปาก ผศ.สาวตรี สุขศรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา ในวันที่ 6 มี.ค. 2562

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2561)
  • สืบพยานจำเลยปากที่ 3 ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานเบิกความว่า เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายอาญามากว่า 20 ปี ได้ศึกษาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และได้เขียนบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ในประเด็นนี้ด้วย พยานได้อ่านข้อความของจำเลยที่ถูกนำไปฟ้องแล้วเห็นว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 65 แต่พยานมีความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะการกระทำที่จะผิดมาตรา 112 มีสามประเภท คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งเนื้อหาของข้อความไม่ใช่การดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย ส่วนหมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ร้ายให้เกิดความเสียหาย แต่เมื่ออ่านข้อความรู้สึกว่า มีความเหนือจริง ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าพระองค์มีความเมตตามากกว่า นอกจากนี้ เมื่ออ่านถ้อยคำและพิจารณาสถานภาพจำเลย พยานเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนที่มีสติสัมปชัญญะ ดังนั้น ตามมาตรา 65 ถ้าจำเลยกระทำไปโดยไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ ก็อาจได้รับการยกเว้นโทษ

    ผศ.สาวตรีตอบอัยการทหารถามค้านว่า สิ่งที่วิเคราะห์ไปเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกันคำสั่งของผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้ดำเนินคดีกับจำเลยก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว เพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ต่อไปว่าจำเลยผิดจริงหรือไม่ พยานเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะและอยู่เหนือการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะล่วงละเมิดมิใด คือ ห้ามฟ้องร้องไม่ว่าคดีประเภทใดก็ตาม ส่วนเจตนารมณ์ของมาตรา 112 มีขึ้นเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์จาก 3 การกระทำดังที่พยานกล่าวไปแล้ว

    ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากต่อไปวันที่ 6 มิ.ย. 2562

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 6 มี.ค. 2562)
  • พยานจำเลยติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงให้เลื่อนนัดสืบพยานจำเลยปากนี้ไปเป็นวันที่ 16 ส.ค. 2562

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2562)
  • ศาลทหารกรุงเทพแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 โดยในข้อที่ 2 กำหนดให้การกระทำความผิดตามประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆ ไปยังศาลยุติธรรม

    ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 16 ส.ค. 2562 และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ โดยให้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม ก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวน และเอกสารประกอบคดีต่างๆ ทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 9ก./2559 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2562)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหาร แต่เนื่องจากต้องทำสัญญาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยใหม่ โดยใช้หลักประกันเดิมที่ได้วางไว้ในศาลทหาร ทนายจำเลยแถลงว่า ตัวแทนของกองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นนายประกันไม่ได้มาศาล จึงยังทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในนัดนี้ไม่ได้ ขอเวลาเพื่อประสานกับทางกองทุนยุติธรรม ศาลเห็นควรก่อนจะสั่งนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15711)
  • นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว ทนายจำเลยแถลงว่า ได้ติดต่อกองทุนยุติธรรม เพื่อทำสัญญาประกัน และมีตัวแทนจากกองทุนฯ มาศาลแล้ว แต่ได้รับแจ้งว่า ยังขาดเอกสาร คือ หนังสือมอบอำนาจ และใบเสร็จจากศาลทหาร จึงยังไม่อาจทำสัญญาประกันตัวได้ โดยตัวแทนกองทุนฯ แจ้งว่าจะใช้เวลาเตรียมเอกสารประมาณ 3 สัปดาห์ ในชั้นนี้จึงขอเลื่อนคดีออกไป โจทก์ไม่ค้าน ศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ประกอบกับโจทก์ไม่ค้าน จึงเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 17 มี.ค. 63 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2563)
  • ศาลอาญาได้นัดพร้อมคู่ความในคดีของ “เสาร์” ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องการทำสัญญาประกันตัว ซึ่งต้องทำใหม่หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหาร โดยทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563

    จากนั้นศาลได้ถามคำให้การของจำเลยอีกครั้ง เสาร์ยืนยันให้การปฏิเสธตามคำให้การเดิมที่ยื่นไว้ต่อศาลทหารกรุงเทพ ฉบับลงวันที่ 20 มิ.ย. 2559 ศาลยังถามคำให้การจำเลยเพิ่มเติมในส่วนที่อัยการศาลทหารเคยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง เนื่องจากได้ตรวจสอบพบว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลเชียงใหม่ให้จำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษฐานกระทำผิดอีก ซึ่งเสาร์ให้การปฏิเสธเช่นกัน

    ส่วนในการกำหนดวันนัดสืบพยานต่อจากศาลทหาร อัยการระบุว่า ไม่มีพยานโจทก์จะสืบเพิ่มเติม ด้านทนายจำเลยแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 3 ปาก คือ ตัวจำเลย ญาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาศึกษา โดยนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 29 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ การทำสัญญาประกันใหม่เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16576)
  • การสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายมีขึ้นในศาลอาญา พยานจำเลยคือ เสาร์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จำเลยไม่สามารถตอบคำถามได้ ทั้งอัยการและทนายจำเลยต้องถามหลายครั้ง โดยที่จำเลยไม่สามารถพูดประโยคได้อย่างชัดเจน ตอบได้เพียงเป็นถ้อยคำสั้นๆ หลายครั้งไม่ปะติดต่อ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องเจตนาในการกระทำได้ และคล้ายจะลืมเรื่องมูลเหตุในคดีไปแล้วส่วนใหญ่

    ถึงแม้จะเป็นพยานปากสำคัญ แต่ในห้องพิจารณากลับยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือจากถ้อยคำไม่ปะติดปะต่อ ความชัดเจนอย่างเดียวตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ นั่นก็คือความบิดเบี้ยวที่เผยร่างออกมาผ่านกระบวนการยุติธรรม และภาพของจำเลยที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชที่นั่งงองุ้มอยู่ในคอกพยานในฐานะเหยื่ออีกรายที่ถูกกระทำโดยอำนาจของเผด็จการ

    หลังเสร็จการสืบพยานในนัดนี้ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 4 พ.ย. 2563

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 ลงวันที่ 29 ก.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/22766)
  • สุเทพ ภักดิกมล และสุทรรศน์ น้อยแก้ว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษามีเนื้อความโดยย่อดังนี้

    คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกคือ จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่

    ในวันเกิดเหตุ นิติกรฯ คือ จุลเดช ละเอียด ยืนยันว่า เสาร์ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจริงและได้ทำการยื่นเรื่องจริง เนื่องจากพยานถูกโทรเรียกโดย รปภ. ศาล เปรม กาลสุข ว่ามีชายผู้หนึ่งเดินทางมาขอยื่นคำร้องที่ศาลฯ แต่มีลักษณะแต่งกายไม่สุภาพ ทางนิติกรฯ ได้เสนอคำร้องต่อประธานและองค์คณะผู้พิพากษาฯ ซึ่งองค์คณะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีตัวกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยยื่นคำร้องในลักษณะนี้ และข้อความในคำร้องเองก็มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เลขานุการศาลฎีกาฯ จึงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ ลัดดาวัลย์ นิยม เข้าแจ้งความ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รายนี้เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวมีการพาดพิงพระมหากษัตริย์ อาจทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ในการสืบสวนยังมีการให้ พล.ต.ต.พิษณุ ฟูปลื้ม เป็นผู้ตรวจสอบลายมือของจำเลยว่าเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นเองหรือไม่ พบว่าสอดคล้องกัน เนื่องจากจำเลยเองก็ยอมรับว่าตนเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นด้วยตัวเอง

    ในแง่ของการพิจารณาว่าถ้อยคำของจำเลยมีลักษณะเข้าข่ายการหมิ่นประมาทฯ หรือไม่ การที่พยานจำเลยมาเบิกความในเรื่องคำนิยามของการหมิ่นประมาทฯ เมื่อพิจารณาจากข้อความประกอบกับที่จำเลยนำสืบ ศาลเห็นว่าเป็นการต่อสู้ลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก เมื่อพิจารณาข้อความเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์จริง อาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นความผิด

    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สอง คือ จำเลยทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่? สามารถบังคับตนเองได้หรือไม่?

    ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ นิติกรเบิกความว่า จำเลยได้ไปยื่นคำร้องด้วยตนเอง ภายหลังเกิดเหตุที่จำเลยถูกควบคุมตัวและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง คือ ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ชูประยูร เห็นว่า จำเลยพูดไม่รู้เรื่อง จิตไม่ปกติ จึงได้ส่งตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ เพราะมีอาการป่วยทางจิตจึงได้ไปยื่นคำร้อง นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นการกระทำที่น่าจะทำไปเพราะอาการทางโรคจิตเภท ซึ่งในข้อนี้ได้ความเสริมจาก นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจำเลยว่า ขณะที่เสาร์เข้ายื่นคำร้องนั้นน่าจะอยู่ในระยะขั้นกลางของโรค ยังสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้

    ศาลให้เหตุผลในการรับฟังว่า แพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานคนกลาง ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับจำเลย มีน้ำหนักน่าเชื่อ และในส่วนของนิติกรที่รับคำร้องยังได้พูดคุยสอบถามจำเลยประมาณ 20 นาที เห็นว่า ขณะกระทำการจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบ มาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยเคยถูกจำคุกในคดียาเสพติด ศาลพิจารณาเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน อย่างไรก็ตาม คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้จำคุก 2 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา

    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เสาร์ถูกคุมขังในชั้นฝากขัง ตั้งแต่ 28 พ.ค. -19 ส.ค. 2558 รวม 84 วัน ถือว่าจำคุกมาเกินกว่าโทษตามคำพิพากษา ทำให้ในวันนี้เสาร์จึงไม่ถูกนำตัวไปขังอีก

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 คดีหมายเลขแดง อ. 2442/2563 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/22786)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษายกฟ้อง มีเนื้อความโดยสรุปในประเด็นต่างๆ ดังนี้

    1. ข้อความตามคำร้องของจำเลย เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวว่า รัชกาลที่ 9 ประสงค์มอบเงินให้จำเลยเป็นคนดูแลรับผิดชอบและนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศเป็นหลัก โดยพยานโจทก์เบิกความว่า ข้อความของจำเลยเป็นความหมายแง่ที่ดี ยกย่อง เชิดชู มีความรู้คุณ แม้มีบางข้อความที่ไม่บังควร แต่ไม่ได้มีความหมายที่ไม่ดีโดยตรง อีกทั้งพยานโจทก์อีก 2 ปาก ยังเบิกความว่าไม่เชื่อว่าข้อความของจำเลยเป็นความจริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การ “กล่าวร้ายใส่ความ” รัชกาลที่ 9

    2. ศาลชั้นต้นเองได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำของจำเลยยังไม่บังเกิดผล เพราะไม่มีใครเชื่อถ้อยคำของจำเลย แต่ที่ศาลระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึงเคารพสักการะอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้นั้น ไม่สามารถนำมาบังคับเอากับผู้วิกลจริตเช่นจำเลยได้ เพราะผู้ป่วยทางจิตไม่สามารถจะมีสำนึกเช่นเดียวกับคนปกติ คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักความยุติธรรม และกระทบสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ป่วยทางจิตหรือผู้วิกลจริต

    3. ที่ศาลพิพากษาว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง จำเลยจึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลยและพนักงานสอบสวนเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยมีความคิดหลงผิด คิดว่าตนเองร่ำรวย เป็นเชื้อพระวงศ์ และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่จำเลยเขียนตามคำร้องเป็นเรื่องจริง และจำเลยพูดคุยไม่รู้เรื่อง มีอาการทางจิต จึงน่าเชื่อว่า การที่จำเลยไปยื่นคำร้องนั้น กระทำไปเพราะความเป็นโรคจิตเภท มีความหลงผิด จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    4. พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 9) เนื่องจากไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันว่าถ้อยคำตามคำร้องของจำเลยเป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 9

    5. จำเลยมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กล่าวคือ จำเลยสามารถนำสืบจนพยานโจทก์ปากหนึ่งยอมรับว่า ข้อความของจำเลยไม่ได้มีข้อความที่เป็นความหมายไม่ดี พยานโจทก์อีกปากยอมรับว่า ที่พยานเบิกความว่า ข้อความของจำเลยเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น เป็นความรู้สึกส่วนตัวของพยาน เนื่องจากมีการเขียนถึงพระมหากษัตริย์หลายถ้อยคำเท่านั้น

    และพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนก็ยอมรับว่า ข้อความของจำเลยเป็นเพียงข้อความเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงในทางนำสืบจำเลย และไม่รับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญของจำเลยที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือซึ่งเบิกความยืนยันว่า ข้อความของจำเลยไม่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เนื่องจากไม่เป็นข้อเท็จจริง โดยที่ศาลชั้นต้นไม่แสดงเหตุผลในการตัดสิน ซึ่งเป็นข้อที่ต้องมีในคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186

    6. แม้ศาลชั้นต้นจะรับฟังว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ เพราะมีอาการเจ็บป่วยทางจิต แต่การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยไปยื่นคำร้องดังกล่าวด้วยตนเอง และพูดคุยโต้ตอบเป็นปกติได้ 20 นาทีนั้น เป็นการที่จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างนั้น คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง เนื่องจากนายแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยได้ให้การต่อศาลไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยมีอาการเจ็บป่วยทางจิต ขณะประกอบคดีมีความคิดหลงผิด คิดว่าตนเองร่ำรวยเป็นเชื้อพระวงศ์ ทั้งยังเบิกความว่า ยังมีคนไข้ที่เริ่มมีอาการผิดปกติทางจิตยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นผู้ป่วย นอกจากทำการตรวจ ซึ่งหมายความว่าในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ป่วยจิตเภทหรือไม่ จำเป็นต้องให้จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจเท่านั้น

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 คดีหมายเลขแดง อ. 2442/2563 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2564 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/4828210377228778)
  • ที่ห้องพิจารณา 811 เวลา 10.00 น. เสาร์ ทนายจำเลย ผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

    ก่อนศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ถามเสาร์ว่า ‘จำเลยได้รับโทษครบแล้วหรือไม่’ อีกทั้งถามว่า ’จำเลยฟังที่ศาลพูดเข้าใจหรือไม่’ โดยเสาร์ได้พยักหน้าแล้วตอบว่ารับโทษครบแล้ว และเข้าใจข้อความที่ศาลพูด

    ศาลได้อ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม มาตรา 112 เนื่องจากข้อความที่อยู่ในคำร้องถือเป็นการหมิ่นประมาท พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่พึงเคารพสักการะและอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้

    อย่างไรก็ตาม จำเลยได้กระทำความผิดในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนได้ เพราะจิตฟั่นเฟือน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 1

    ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะที่รู้ผิดชอบ และสามารถบังคับตนเองได้นั้น ศาลอุทธรณไม่เห็นพ้องด้วย จึงให้ยกฟ้อง

    ++กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และภาพ “ผู้ป่วยจิตเวช” ในสายตาของศาล++

    หลังเผชิญความอยุติธรรมมายาวนานเกือบ 7 ปี เสาร์ได้เดินออกจากห้องพิจารณาพร้อมรอยยิ้ม ก่อนขอบคุณทนายความที่ช่วยเหลือคดีและสวมกอดผู้ที่มาให้กำลังใจ พร้อมทั้งกล่าวว่า ตนรู้สึกโล่งใจหลังจากได้ยินคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่สั่งยกฟ้องในคดีดังกล่าว

    นอกจากนี้ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความของเสาร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องบรรทัดฐานการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงปัญหาการตีความเรื่องอาการจิตเวชที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลผู้ตัดสิน มากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่วินิฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช

    “ตอนสืบพยานในศาลชั้นต้น ทางเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชร่วมเป็นพยาน และพยานคนนี้ก็เป็นคนรักษาอาการของเสาร์มาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นศาลรับฟังพยานปากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นคนรับหนังสือคำร้องจากเสาร์ที่เบิกความว่า ขณะที่เสาร์ยื่นคำร้องยังสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้เป็นระยะเวลา 20 นาที คือการที่เสาร์ไปยื่นคำร้องได้ เขียนเอกสารด้วยตนเองได้แบบนั้น ศาลจึงมีความเห็นว่า เขายังรู้ผิดชอบ รู้ตัว หรือรับรู้ในสิ่งที่ทำลงไป ทั้ง ๆ ที่แพทย์เบิกความว่า เสาร์กระทำในขณะเจ็บป่วยทางจิต ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ และหลงผิดขั้นรุนแรง ซึ่งเรื่องแบบนี้ ศาลควรฟังพยานปากผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์”

    “โรคทางจิตเวชนี่มันมีหลากหลายรูปแบบ อาการของแต่ละโรคก็ไม่เหมือนกัน และความเป็นไปของโรคก็ไม่เหมือนกัน บางโรครักษาก็หาย หรือบางโรคอาจจะไม่หาย และมีอาการป่วยคงอยู่ตลอดไป ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่คนชอบบอกว่า ‘หากศาลไม่ป่วยเอง หรือไม่มีคนป่วยจิตเวชที่บ้าน ศาลไม่เข้าใจหรอก’ ดังนั้นแล้ว เรื่องนี้จึงต้องรับฟังพยานที่เป็นแพทย์เป็นสำคัญ”

    “กรณีที่มีผู้ชายปาขวดแก้วในห้างจนเป็นข่าว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแถลงยืนยันว่า ‘เขาเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเราจะต้องปฎิบัติกับเขาเช่นผู้ป่วย’ นั่นเป็นสิ่งที่เสาร์ควรไ้ด้รับเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มันเป็นสิทธิของเสาร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำแบบนั้นกับเสาร์ มันเป็นสิทธิที่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาทางคดีอาญาต้องได้รับ”

    “ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน เมื่อมีดุลพินิจว่าเขาป่วย ก็ต้องให้เขาเข้าสู่การรักษา และก็ต้องมีความเห็นทางคดีไม่สั่งฟ้องเขาตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีมาตรา 112 และอัยการก็ต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเขา เพราะเขาเป็นคนป่วย ซึ่งอาการมันชัด ขนาดพนักงานสอบสวนเห็นแล้วยังส่งเขาไปตรวจเลย”

    “จิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน สามคำนี้บัญญัติอยู่ในมาตรา 65 แต่สำหรับโรคหลงผิด (Delusion) เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับศาลเมื่อปี 2558 และไม่มีโรคหลงผิดในทางกฎหมาย ตอนเราสืบพยานจึงต้องให้แพทย์เบิกความอย่างเจาะจงว่า ที่เสาร์เป็นเนี่ยเข้าข่ายอันไหน เพราะว่าศาลมีภาพคนบ้าแบบเดียว ซึ่งจะเป็นแบบสภาพรกรุงรัง ชอบเก็บข้าวของ และเนื้อตัวเลอะเทอะ ศาลไม่มีภาพคนป่วยแบบ ‘ลุงบัณฑิต’ หรือแบบ ‘เสาร์’ ดังนั้นแล้ว การตีความโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจึงเป็นปัญหา”

    สำหรับคดีนี้ เสาร์ถูกนำตัวขึ้นดำเนินคดีในศาลทหารตั้งแต่ปี 2558 โดยช่วงเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นระหว่างที่มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารบังคับใช้อยู่ ต่อมาในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งให้โอนย้ายคดีพลเรือนในศาลทหารกลับไปให้ศาลพลเรือนพิจารณาตามปกติ คดีของเสาร์จึงถูกโอนมาศาลยุติธรรม โดยเสาร์ใช้เวลาต่อสู้คดีทั้ง 2 ศาลเกือบ 6 ปี และอีกราว 1 ปี ในการอุทธรณ์คดี กระทั่งรับรู้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในวันนี้ รวมเวลาเกือบ 7 ปี กว่าที่เสาร์จะได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมาบางส่วน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40757)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เสาร์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เสาร์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 04-11-2020

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เสาร์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์