สรุปความสำคัญ

ชญาภา (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมที่บ้านพักขณะจะขับรถออกไปทำงาน เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่ มทบ.11 โดยไม่มีหมายจับ รวม 5 วัน ก่อนส่งให้ ปอท.ดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ออกในช่วงที่ชญาภาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร โดยกล่าวหาว่า ชญาภาเป็นผู้โพสต์ข่าวลือเรื่องรัฐประหารซ้อน และโพสต์ข้อความที่ตีความได้ว่าพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ รวม 5 ครั้ง ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ชญาภาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ในชั้นศาลซึ่งถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ชญาภาถูกเบิกตัวไปศาลทหารเพื่อสอบคำให้การ โดยศาลไม่ได้ส่งหมายนัดให้ทนายจำเลยและชญาภาเองก็ไม่ได้รับหมายนัดก่อนวันนัด แต่ศาลก็ได้สอบคำให้การจำเลยและมีคำพิพากษาโดยไม่มีทนายความร่วมในกระบวนการ

คดีนี้จำเลยเพียงแค่โพสต์ข้อความแสดงความเห็นวิเคราะห์และวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง อันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ การถูกตั้งข้อหาที่รุนแรงทั้งมาตรา 112 และ 116 สะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และการพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 7 ปี 30 เดือน จึงขัดต่อหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษ และหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชญาภา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชญาภา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 มิ.ย. 2558 ขณะชญาภาจะขับรถออกจากบ้านไปทำงาน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสอบถามว่า ใช่ชญาภาหรือไม่ เมื่อเธอตอบว่าใช่ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจึงบอกให้เธอดับเครื่องยนต์ จากนั้นมีทหารและตำรวจเข้ามาควบคุมตัว โดยไม่มีการแสดงหมายจับใดๆ จากนั้นนำตัวไปควบคุมและสอบปากคำในค่ายทหาร โดยชญาภาไม่ทราบว่าเป็นที่ใด

24 มิ.ย. 2558 รอง ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ ปอท. และทหาร ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมชญาภา โดยระบุว่า ชญาภาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ 2/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่จับกุมได้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ที่บ้านพักในเขตปริมณฑล พร้อมของกลาง ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต กล้องถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์มือถือ

โฆษก สตช. กล่าวว่า จากกรณีมีผู้โพสต์ข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.จึงได้สั่งการให้ บก.ปอท.เร่งหาต้นตอและสืบสวนหาตัวผู้ที่กระทำผิด

จากการตรวจสอบหลักฐานทางเทคนิค พบว่าเฟซบุ๊กชื่อว่า “ Chanisa B…” ได้โพสต์เรื่องดังกล่าวเป็นคนแรกทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งแนบภาพถ่ายการเคลื่อนย้ายรถถัง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 58 เวลา 12 .00 น.ด้วย เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจึงได้ตรวจสอบหาเจ้าของเฟซบุ๊กในทันที และพบว่า ชญาภาเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักของชญาภา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2558 พร้อมยึดของกลาง และนำตัวมาสอบสวนที่ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ตามอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 เบื้องต้นจากการซักถามชญาภา ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้นำภาพการเคลื่อนย้ายรถถังที่เผยแพร่ในกลุ่มไลน์คนเสื้อแดงซึ่งตนป็นสมาชิกอยู่ มาอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนแล้วตกแต่งข้อความว่าจะมีการปฏิวัติซ้อน

ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวว่า จากการสืบสวนยังพบว่า ชญาภามีการใช้เฟซบุ๊กชื่อดังกล่าวไปโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงขอหมายจับศาลทหารกรุงเทพ จับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งให้กับตำรวจเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ในชั้นสอบสวน ชญาภา รับสารภาพว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความจริง

เจ้าหน้าที่ยังแถลงด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดได้ทราบว่า ชญาภาได้มีการติดต่อกับนายแจ็ค ซึ่งขณะนี้อยู่ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นคนรู้จักกับ นายมนูญ หรือ เอนก ชัยชนะ ผู้ต้องหาในคดีระเบิดศาลอาญา ถนนรัชดา และ น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ ซึ่งถูก ปอท.ออกหมายจับแล้วทั้งหมด และอยู่ระหว่างการประสานทุกช่องทางที่จะนำตัวผู้ต้องหาเหล่านี้กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย เพราะผู้ต้องหาเหล่านี้มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้ผลิตความคิดมีอิทธิพลทางความคิดต่อเครือข่าย และแนวร่วม

ภายหลังการแถลงข่าว ชญาภา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทีท่าทีอิดโรย ถึงกับเป็นลม เนื่องจากมีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เจ้าหน้าที่ต้องส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนพนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอฝากขังชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ชญาภาจึงถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา

(อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/15/chayapha/, https://www.posttoday.com/social/general/372529 และ https://www.dailynews.co.th/crime/330314)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 16-09-2015
หลังฝากขังชญาภาครบ 7 ผัดในวันนี้ อัยการศาลทหารกรุงเทพได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่า ชญาภากระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ด้วยการโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กของจำเลยในวันที่ 10-12 มิ.ย. 2558 รวม 5 ครั้ง วิจารณ์การเคลื่อนย้ายรถถังและรถหุ้มเกราะ และข่าวลือเรื่องปฏิวัติซ้อน โดยมีข้อความบางตอนตีความได้ว่า กล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
วันที่ : 15-12-2015
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การชญาภา โดยไม่ได้ส่งหมายนัดให้ทนายจำเลย และจำเลยไม่ได้รับหมายนัดล่วงหน้า ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนาย จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้ว พร้อมที่จะให้การในวันนี้ ศาลจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจดีแล้ว สอบถามคำให้การ จำเลยให้การว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อหา ไม่ขอต่อสู้คดี โจทก์แถลงไม่สืบพยาน ศาลอ่านคำพิพากษาในเวลา 10.45 น. พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด 5 กระทง ลงโทษจำคุก 5 กระทงรวม 7 ปี 30 เดือน แบ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง รวมโทษจำคุก 2 กระทง มีกำหนด 4 ปี 12 เดือน

อีก 3 กระทง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกระทงละกึ่งหนึ่ง รวมโทษจำคุก 3 กระทง มีกำหนด 3 ปี 18 เดือน

บ่ายวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยขาดโอกาสปรึกษาทนายความในการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล หรือเพื่อบรรเทาโทษของจำเลย จำเลยจึงต้องจำยอมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา แต่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
 
วันที่ : 11-03-2016
จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลทหารกลางคัดค้านคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 โดยขอให้ศาลทหารกลางพิพากษายกคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ และพิพากษาให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินกระบวนพิจารณาสอบคำให้การจำเลยโดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือยกฟ้อง หรือแก้คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพโดยลงโทษจำเลยสถานเบา
 
วันที่ : 25-11-2016
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกลางขอถอนอุทธรณ์ที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารกลาง โดยระบุว่า เนื่องจากจำเลยไม่ประสงค์จะต่อสู้คดีอีกต่อไป จึงขอถอนอุทธรณ์คดีนี้ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป
 
วันที่ : 23-12-2016
ศาลทหารกรุงเทพนัดอ่านคำสั่งศาลทหารกลาง ซึ่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลทหารกลาง และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ

ภูมิหลัง

  • ชญาภา (สงวนนามสกุล)
    พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง, ข้อเข่าเสื่อม และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์