ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ 154/2558
แดง 196/2558

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ 154/2558
แดง 196/2558
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

ชญาภา ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข่าวลือเรื่องรัฐประหารซ้อน รวมทั้งโพสต์ข้อความที่ตีความได้ว่าพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ รวม 5 ครั้ง ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ชญาภาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ในชั้นศาลซึ่งถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ และสอบคำให้การจำเลย รวมทั้งมีคำพิพากษาโดยไม่มีทนายความร่วมในกระบวนการ เนื่องจากศาลไม่ได้ส่งหมายนัดให้ทนายจำเลยและจำเลยก็ไม่ได้รับหมายนัดก่อนวันนัด แม้ฝ่ายจำเลยจะคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลทหารสูงสุดก็ยกคำร้อง นับเป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในการอำนวยความยุติธรรมของศาลทหาร ซึ่งผลเสียทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน

นอกจากนี้ คดีนี้จำเลยเพียงแค่โพสต์ข้อความแสดงความเห็นวิเคราะห์และวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง อันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ แต่กลับถูกตั้งข้อหาที่รุนแรงทั้งมาตรา 112 และ 116 ซึ่งสะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และการพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 7 ปี 30 เดือน จึงขัดต่อหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษ และหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่า ชญาภามีกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยจำเลยได้ทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้นำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยการเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของจำเลย ชื่อบัญชี "Chanisa Boonyajinda (นินจา รักสีแดง)" และปรากฏอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบ

1.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 เวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ภาพรถถังและรถหุ้มเกราะกับมีข้อความวิจารณ์การเคลื่อนย้ายรถดังกล่าว ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

2.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558 เวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความซึ่งมีเนื้อหาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองว่า คสช.จะยึดอำนาจอยู่ต่อยาว และมีบางตอนของข้อความที่ตีความได้ว่า กล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

3.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558 เวลากลางคืน จำเลยได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป โดยโพสต์ภาพรถถังและรถหุ้มเกราะกับมีข้อความว่า "สายสัตหีบ...กะลังเคลื่อนเข้ากรุง อยากรู้มึงเข้าๆออกๆ พ่องมึงรวยกันรึงัยพวกนรกแดกภาษีประชาชน" ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิด และน่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประชาชน และความมั่นคงของประเทศเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

4.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2558 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป โดยโพสต์ข้อความว่า "งามไส้ ด่วนลือสะพัด... พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เตรียมใช้ ม. 44 ปลดพลเอกอุดมเดช สีตะบุตร
ผบ.ทบ. เนื่องจากมีรายงานลับ ผบ.ทบ.ถูกสายขั้วอำนาจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กดดันให้ทำการปฏิวัติซ้อน โดยพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ยอมรับมีการเคลื่อนอาวุธใน กทม.จริง แต่กลับมีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธในทัพภาค 2 ทั้งหมด...เช็คข่าว??" ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้เห็นอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิด และน่าจะทำให้ พล.อ.เปรม, พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อุดมเดช, ประชาชน และความมั่นคงของประเทศเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

5.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2558 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป โดยโพสต์ภาพรถหุ้มเกราะกับมีข้อความว่า "เมื่อ รถหุ้มเกราะ มุ่งหน้าจากบางนาไปแถว นวมิน ประมาณ 30 กว่าคัน มึงขนไปทำอะไรวะ!!!" ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิด และน่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์, ประชาชน และความมั่นคงของประเทศเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ รัชทายาท และโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชน เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งยังเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 วันที่ 16 ก.ย. 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมตัว โดยไม่มีการแสดงหมายจับใดๆ นำตัวไปควบคุมและสอบปากคำในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 รวม 5 วัน ทหารได้นำตัวชญาภามาส่งให้พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ในช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนได้รับตัวไว้ทำการสอบสวนตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ 2/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2558 จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาชญาภาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, นำเข้าและเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116(2) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1),(2),(3),(5) โดยกล่าวหาว่า ชญาภาใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Chanisa Boonyajinda (นินจา รักสีแดง)” โพสต์ข่าวลือว่าจะเกิดการปฏิวัติซ้อน และโพสต์รูปรถถังพร้อมข้อความ ซึ่งมีข้อความบางตอนเจ้าหน้าที่ตีความว่ากล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ชญาภา ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2558)

  • พ.ต.ท.เมธี เลาหะเมธี พนักงานสอบสวน บก.ปอท. นำตัวชญาภาไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังครั้งแรก มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. – 6 ก.ค. 2558 ระบุเหตุผลในการขอฝากขังว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จ ต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์และข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือ โดยท้ายคำร้องขอฝากขัง พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัว อ้างว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้นญาติได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2558)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-30 ก.ค. 2558 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ต่อมา ญาติได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 400,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ประกันตามที่ศาลกำหนด โดยระบุเหตุผลประกอบว่า ผู้ต้องหามีโรคประจำตัว ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาและพบแพทย์เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนการฝากขังครั้งที่ 1 ผู้ต้องหาก็เกิดอาการแน่นหน้าอก และหน้ามืดกะทันหัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน หากผู้ต้องหาต้องขังอยู่ในเรือนจำซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย อาจทำให้อาการรุนแรงหรือกำเริบขึ้นอีกได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25(1) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

    นอกจากนี้ ผู้ต้องหามีภาระหน้าที่ที่ต้องจัดการในฐานะของผู้จัดการมรดก ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ต้องหายังจัดการกองมรดกไม่เสร็จสิ้น

    อีกทั้งผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ที่ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุผลที่เบ็ดเสร็จเพียงพอว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” หากศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งกับประเทศไทย

    ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกัน

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 17 ก.ค. 2558)
  • หลังฝากขังชญาภาครบ 7 ผัดในวันนี้ อัยการศาลทหารกรุงเทพได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่า ชญาภากระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยได้ทำความผิดรวม 5 กรรม ด้วยการโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กของจำเลย ชื่อบัญชี "Chanisa Boonyajinda (นินจา รักสีแดง)" ในวันที่ 10-12 มิ.ย. 2558 รวม 5 ครั้ง วิจารณ์การเคลื่อนย้ายรถถังและรถหุ้มเกราะ และข่าวลือเรื่องปฏิวัติซ้อน โดยมีบางตอนของข้อความที่ตีความได้ว่า กล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจผิด และน่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง รวมทั้ง พล.อ.เปรม, พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อุดมเดช, ประชาชน และความมั่นคงของประเทศเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 วันที่ 16 ก.ย. 2558)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การชญาภา โดยไม่ได้ส่งหมายนัดให้ทนายจำเลย และจำเลยไม่ได้รับหมายนัดล่วงหน้า

    เวลา 10.30 น. องค์คณะตุลาการ ได้แก่ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น., น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ ออกนั่งพิจารณาคดี โจทก์แถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เนื่องจากจะต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริง และพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลย หากพิจารณาคดีโดยเปิดเผย อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

    จากนั้น ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนาย จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้ว พร้อมที่จะให้การในวันนี้ ศาลจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจดีแล้ว สอบถามคำให้การ จำเลยให้การว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อหา ไม่ขอต่อสู้คดี โจทก์แถลงไม่สืบพยาน คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา

    กระบวนพิจารณาคดีใช้เวลาเพียง 15 นาที ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาจำนวน 11 หน้า ในเวลา 10.45 น. โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด 5 กระทง ดังนี้

    1. ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) รวม 2 ฐาน ฐานละ 2 กระทง แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษทุกกระทงเป็นโทษจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เป็นโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน

    2. ฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) รวม 2 ฐาน ฐานละ 3 กระทง แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมโทษทุกกระทงเป็นโทษจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เป็นโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน

    รวมโทษ 5 กระทง คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 7 ปี 30 เดือน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้ริบ

    อย่างไรก็ตาม บ่ายวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลว่า ชญาภา จำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นคดีที่มีโทษจำคุก จำเลยต้องการทนายความ และได้แต่งทนายความเข้ามาเพื่อแก้ต่างในคดีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2558 กระบวนพิจารณาของศาลวันนี้จึงต้องมีทนายความของจำเลย

    การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ที่ระบุว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้

    นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะต้องเดินทางมาศาลในคืนวันที่ 14 ธ.ค. 2558 จำเลยซึ่งถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ จึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือทนายความได้ทัน

    ขณะเดียวกัน ทนายจำเลยยังไม่ได้รับหมายนัด หรือได้รับแจ้งนัดสอบคำให้การจากศาลทหารกรุงเทพ ทั้งที่ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ทนายจำเลยได้เดินทางมาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านคำร้องขอฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ ฝพ.38/2558 ปรากฏหลักฐานตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว และได้ขอรับหมายนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบแล้วได้แจ้งทนายความว่าคดีของชญาภายังไม่กำหนดวันนัด หากมีจะโทรแจ้งทนายความให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลแต่อย่างใดแม้แต่ในวันนี้ แต่กลับทราบจากจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตและให้ยืมโทรศัพท์แจ้งทนายความว่าต้องการความช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว

    การที่ศาลไม่แจ้งให้จำเลยและทนายจำเลยทราบวันนัดล่วงหน้า ทำให้จำเลยไม่มีทนายความเข้ามาแก้ต่างในคดีที่มีโทษจำคุกและมีอัตราโทษสูง ทั้งที่จำเลยต้องการทนายความ และมีทนายความอยู่แล้ว เป็นเหตุให้จำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจบทกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีในศาล ขาดโอกาสมีทนายความและปรึกษาทนายความในการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล หรือเพื่อบรรเทาโทษของจำเลย

    จำเลยจึงต้องจำยอมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีโอกาสและไม่ได้รับสิทธิที่จะมีทนายความดังกล่าว กระบวนการพิจารณาคดีของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    คำร้องคัดค้านระบุในตอนท้ายว่า โดยหลักการแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติต่อจำเลยจึงต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จำเลยมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ และมีสิทธิที่จะพบญาติ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งรัฐไทยได้ให้การรับรอง รวมถึงระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

    ต่อมา วันที่ 16 ธ.ค. 2558 พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ ตุลาการพระธรรมนูญ มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลว่า คดีนี้ก่อนเริ่มพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายแล้ว จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้ว พร้อมที่จะให้การ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่ถึง 5 ปี ศาลจึงพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 56 (2) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 45 บัญญัติเรื่องการพิจารณาคดี นัดถามคำให้การเพียงว่า เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว ศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาได้แล้ว ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย

    จากการเข้าเยี่ยมชญาภาที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายจำเลยได้ทราบข้อเท็จจริงจากชญาภาว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งให้เธอทราบว่าต้องมาศาลวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นคืนก่อนวันที่ศาลนัดสอบคำให้การ โดยเจ้าหน้าที่ที่รับหมายนัดจากศาลทหารลืมส่งเอกสารให้เธอ จนกระทั่งภายหลังศาลมีคำพิพากษาและชญาภากลับเข้าเรือนจำแล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่งนำหมายนัดของศาล ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2558 พร้อมทั้งคำฟ้องมาให้เธอเซ็นรับ

    นอกจากนี้ ชญาภายังระบุว่า ก่อนศาลสอบคำให้การ ได้ถามเธอว่า ต้องการทนายความหรือไม่ ซึ่งเธอตอบว่าไม่ต้องการ เพราะเข้าใจว่า ตนเองมีทนายความอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้ศาลหาทนายให้ เนื่องจากไม่ไว้ใจ โดยศาลถามย้ำประมาณ 3 รอบ และที่เธอให้การรับสารภาพ เพราะไม่รู้ว่าตนเองให้การปฎิเสธได้ และไม่รู้ว่าศาลจะมีขั้นตอนอะไรต่อไป

    ทนายจำเลยยังพบว่า ในนัดสอบคำให้การ จำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารด้วย ซึ่งปกติทนายจำเลยจะเป็นผู้จัดทำให้จำเลย โดยเนื้อหาคำให้การซึ่งระบุว่า จำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ดีแล้ว ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อกล่าวหา ไม่ขอต่อสู้คดีนั้นใช้วิธีการพิมพ์ แต่ข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยใช้วิธีเขียนกรอกเพิ่มในภายหลัง

    ก่อนหน้านี้ ทนายจำเลยยังเคยพบปัญหาไม่ได้รับคำฟ้อง แม้จะยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 แต่ศาลไม่อนุญาต โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องให้จำเลยอยู่แล้ว ก่อนจะได้รับคำฟ้องเมื่อขอคัดถ่ายซ้ำอีกครั้งในวันที่ 8 ต.ค. 2558 และได้ติดตามการนัดหมายคดีมาโดยตลอด ล่าสุด คือ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่แจ้งวันนัด รวมถึงไม่ได้รับหมายนัดให้จำเลยและทนายความ ทั้งที่มีการแต่งทนายความเข้ามาในคดีแล้ว

    อีกทั้ง ศาลทหารยังมีกระบวนการพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลยุติธรรมที่ต้องนำตัวจำเลยมาในวันที่มีการฟ้องคดี แต่ในกรณีของศาลทหาร หากจำเลยอยู่ในการควบคุมตัว ศาลทหารจะเพียงส่งคำฟ้องไปที่เรือนจำซึ่งมักไปไม่ถึงจำเลย จำเลยจะทราบคำฟ้องจากทนายความ หรือบางรายอาจทราบคำฟ้องครั้งแรกจากการที่ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังในนัดสอบคำให้การ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา รายงานพิจารณา และคำร้องคัดค้านกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2558, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/15/chayapha/ และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/16/chayapha-2/)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการพิจารณาของศาลเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ได้กระทำไปโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งเอกสาร กล่าวคือ

    1.ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดสอบคำให้การให้กับจำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลย ทำให้จำเลยไม่ได้รับหมายนัดสอบคำให้การ จึงเป็นการส่งเอกสารอื่นใดในคดีโดยมิชอบด้วยกฏหมายอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์นำตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางมายังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อมาสอบคำให้การในเวลา 09.00 น. โดยที่จำเลยไม่เคยได้รับหมายนัดจากศาลมาก่อนว่า จำเลยต้องมาให้การในวันและเวลาดังกล่าว แต่กลับเพิ่งจะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ว่าต้องมาให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2558 เวลากลางคืน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่มีโอกาสแจ้งให้ญาติและทนายความของจำเลยที่แต่งเข้ามาเป็นทนายความในคดีแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2558 ได้ทราบวันนัด จนทำให้จำเลยไม่มีโอกาสได้ปรึกษาทนายความของตนเอง ในการต่อสู้คดี

    ในระหว่างการพิจารณาคดีนั้นจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่า เหตุใดจำเลยไม่ได้รับหมายนัดสอบคำให้การจำเลย เพิ่งได้ทราบตอนศาลมีคำพิพากษาว่า เหตุที่จำเลยไม่ได้รับหมายนัดนั้น เนื่องจากศาลไม่ได้ส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาของจำเลย แต่กลับส่งหมายนัดไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง

    2.ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดให้กับทนายความจำเลยทั้ง 2 คน ที่จำเลยได้แต่งเข้ามาสู้คดี อันเป็นกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

    นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาของศาลในวันดังกล่าวยังได้กระทำโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการพิจารณาคดี เนื่องจากคดีนี้จำเลยถูกฟ้องกล่าวหาในบทมาตรากฏหมายที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยจึงต้องการทนายความเข้ามาช่วยในเรื่องการต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ และจำเลยแถลงต่อศาลว่ามีทนายความ และในสำนวนศาลก็ปรากฏด้วยว่าจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีแล้ว ในการสอบคำให้การวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จึงต้องมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบคำให้การด้วย การที่ศาลสอบคำให้การจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้มีความรู้ทางกฏหมาย เป็นกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในการพิจารณาคดีและผลแห่งคำพิพากษา

    ต่อมา วันที่ 24 ธ.ค. 2558 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุเพิกถอนกระบวนพิจารณา และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จึงให้ยกคำร้อง

    ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติว่า ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2558)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฏหมายของศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 45 กล่าวคือ คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฏหมายที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เป็น "คำแถลง" ที่ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบว่า จำเลยและทนายจำเลยทั้งสองไม่ได้รับหมายนัด และไม่ได้รับแจ้งให้ทราบนัดสอบคำให้การล่วงหน้า จึงไม่ใช่คำร้องเพื่อขอให้ศาลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และศาลมีหน้าที่ต้องรับคำแถลงซึ่งทำเป็นคำร้องตามรูปแบบที่กฏหมายกำหนดไว้ในสำนวน

    คำร้องอุทธรณ์ดังกล่าวขอให้ศาลทหารกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งรับคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฏหมายของจำเลย ฉบับลงวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ไว้ในสำนวนคดี เพื่อให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลสูงต่อไป

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลทหารกรุงเทพในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้รับไว้ ส่งศาลทหารสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฏหมาย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2558)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ของศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558 โดยขอให้ศาลทหารกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว

    ทั้งนี้ คำร้องอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า คําสั่งของศาลทหารกรุงเทพที่ไม่รับคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีและไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา” นั้นคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจาก

    1. ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดสอบคำให้การวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลย แต่ส่งไปยังทัณฑสถานหญิงกลางซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลย โดยที่จำเลยเป็นเพียงผู้ที่ถูกขังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล มีภูมิลำเนาแน่นอน ไม่ใช่ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล การที่ศาลส่งหมายนัดสอบคำให้การของจำเลยไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง จึงเป็นการส่งคำคู่ความที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 และเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27

    2. ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดสอบคำให้การให้กับทนายจำเลยทั้งสองคน ซึ่งจำเลยได้แต่งเข้ามาแก้ต่างในคดีแล้ว ทนายจำเลยจึงเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(1) การที่ศาลทหารกรุงเทพไม่ได้ส่งหมายนัดสอบคำให้การจำเลยให้แก่ทนายจำเลยทั้งสองคนจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 และเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27

    3. การที่ศาลสอบคำให้การจำเลย โดยไม่มีทนายความให้คำปรึกษาหรือแนะนำก่อน ซึ่งทำให้จำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่เข้าใจฟ้อง และไม่ได้ให้การที่เป็นประโยชน์และบรรเทาโทษของตนเองประกอบการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ชั้นต้น จึงเป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 173 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นบทมาตราที่คุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย เพื่อเป็นการประกันสิทธิของจำเลยในการมีทนายความที่จะเข้ามาแก้ต่างให้ในคดีอาญา ให้คำปรึกษาหรือแนะนำก่อนที่จะให้การต่อศาล และเป็นบทมาตราที่ให้บังคับใช้โดยเคร่งครัด ก่อนไปสู่ขั้นตอนการสอบถามคำให้การจำเลย เนื่องจากกฎหมายอาญามีบทลงโทษจำคุกที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน บทมาตราที่กำหนดสิทธิของจำเลยจึงต้องบังคับใช้โดยเคร่งครัด

    นอกจากนี้ การที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งว่า “ไม่มีเหตุเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีและไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา” เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีเหตุแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริงใดๆ มาสนับสนุน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามบทมาตรา 141 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 45

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลทหารกรุงเทพในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้รับไว้ ส่งศาลทหารสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2559)
  • จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลทหารกลางคัดค้านคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 โดยระบุเหตุผลดังต่อไปนี้

    1. คดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 45 เนื่องจาก

    1.1 ศาลทหารกรุงเทพไม่ได้ส่งหมายนัดสอบคำให้การไปยังภูมิลำเนาของจำเลยดังที่ปรากฏอยู่ในสำนวน อีกทั้งไม่ได้ส่งให้ทนายจำเลย ซึ่งถือเป็นคู่ความด้วย จำเลยจึงให้การต่อศาลในวันนัดสอบคำให้การโดยไม่มีทนายความให้คำปรึกษา จึงเป็นการให้การโดยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมด

    1.2 คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในบทมาตรากฎหมายที่มีอัตราโทษจำคุกสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งมาตรา 56 (1) แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ ซึ่งเป็นบทมาตราที่คุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย และเป็นบทมาตราที่ให้บังคับใช้โดยเคร่งครัด กำหนดว่า ก่อนเริ่มการพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ซึ่งคดีนี้จำเลยแถลงต่อศาลว่ามีทนายความ แต่ศาลได้สอบคำให้การจำเลยโดยไม่มีทนายความให้คำปรึกษา

    2. คำให้การจำเลยตามเอกสารในสำนวนคดีจำเลยไม่ได้ทำเอง และศาลไม่ได้เป็นผู้บันทึกแล้วอ่านให้คู่ความฟังตามกฏหมาย แต่เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของศาลได้จัดทำขึ้นไว้ก่อนแล้วโดยได้เว้นช่องว่างไว้ และได้นำมาให้จำเลยลงลายมือชื่อ โดยจำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งขัดต่อประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 180 และมาตรา 48 ประกอบ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 45

    ทั้งนี้ จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไว้แล้ว และด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายดังกล่าวข้างต้น คำให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของจำเลยที่เกิดจากกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ยันกับจำเลยได้ตลอดข้อหา

    3. การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ เนื่องจากข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคำด่าคู่สนทนา ซึ่งใช้กันเป็นที่แพร่หลายในสังคมของคนทุกกลุ่ม ไม่ได้มีคำใดที่หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งยังเป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่ทำให้พระองค์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

    นอกจากนี้ ภาพและข้อความตามฟ้องโจทก์ยังไม่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เนื่องจากตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรา 14(1) ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" หมายถึง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่แท้จริงหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม
    ที่ถูกทำขึ้นโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจตามกฏหมายที่จะทำข้อมูลนั้นขึ้นมาได้ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แท้จริง แต่ต่อมาถูกผู้กระทำผิดแก้ไข เปลี่ยนแปลง เช่น การทำเว็บไซต์ปลอม หรือเชื่อมต่อให้คนทั่วไปเข้าถึงเว็บไซต์ปลอม เพื่อให้คนหลงเชื่อแล้วให้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้หมายถึงข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ตาม ที่อาจทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นองค์ประกอบความผิดทำนองเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

    ทั้งนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้

    4. ศาลลงโทษหนักเกินไป และไม่ได้สัดส่วนของพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรง จำเลยเป็นเพียงผู้นำภาพและข้อความมาเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้คิดข้อความ ถ่ายภาพ หรือตกแต่งเพิ่มข้อความในภาพเอง ทั้งจำเลยเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล ไม่อาจชักจูงโน้มน้าวจิตใจประชาชนได้ ภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนจนถึงขนาดก่อความไม่สงบได้

    นอกจากนี้ จำเลยยังมีอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง
    อีกทั้งจำเลยอายุ 50 ปี ถือว่าอายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว

    จำเลยจึงขอให้ศาลทหารกลางพิจารณาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ และพิพากษาให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินกระบวนพิจารณาสอบคำให้การจำเลยโดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือยกฟ้อง หรือแก้คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพโดยลงโทษจำเลยสถานเบา

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2559)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดอ่านคำสั่งศาลทหารสูงสุด ลงวันที่ 29 มี.ค. 2559 กรณีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งสั่งเมื่อวันที่ 16 และ 24 ธ.ค. 2558 ให้ยกคำร้องของจำเลยที่คัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎหมาย ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2558 และขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2558 โดยศาลทหารสูงสุดมีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลทหารกรุงเทพของจำเลยทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

    คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลทหารกรุงเทพดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏคือ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพได้ส่งหมายเรียกจำเลย สำเนาฟ้อง และหมายเบิกถึงผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางกำหนดนัดพิจารณาคดีนี้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ซึ่งจำเลยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลางว่า จะต้องไปศาลก่อนวันนัดถามคำให้การแล้ว ในวันนัดถามคำให้การ ก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนาย จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้วพร้อมที่จะให้การในวันนี้ ศาลจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจดีแล้วสอบถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ ไม่ขอต่อสู้คดี โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานพิจารณาและคำให้การของจำเลย ซึ่งเป็นการแสดงการรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาล

    อีกทั้งข้อหาความผิดตามฟ้องไม่ใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษที่สถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลทหารกรุงเทพสอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลทหารกรุงเทพย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ เห็นว่าศาลทหารกรุงเทพได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว

    ศาลทหารสูงสุดยังวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลทหารกรุงเทพไม่ได้ส่งหมายนัดให้ทนายจำเลยทั้งสองว่า คำจำกัดความของคำว่า “คู่ความ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (15) หมายถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยฝ่ายหนึ่ง ทนายจำเลยจึงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความ การที่ศาลทหารกรุงเทพไม่ได้แจ้งวันนัดถามคำให้การจำเลยให้ทนายจำเลยทราบ จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับคำปรึกษากับทนายจำเลยในการให้การของจำเลยหรือไม่ อย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพในวันนัดพิจารณาสอบคำให้การจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายกับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    ที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านว่า การที่ศาลส่งหมายนัดสอบคำให้การของจำเลยไปยังทัณฑสถานหญิงกลางซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลย จึงเป็นการส่งคำคู่ความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้รับหมายนัดจนได้รับความเสียหาย เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยแต่งทนายเข้ามาในคดี 2 คน หลังถูกฟ้องดำเนินคดี ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอตรวจสำนวนและขอคัดถ่ายเอกสาร ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้พบและปรึกษาเรื่องคดีกับทนายก่อนแล้ว และเมื่อทนายจำเลยได้ตรวจเอกสารในสำนวนแล้วเห็นว่าสิ่งใดไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะคัดค้าน และขอให้แก้ไขก่อนถามคำให้การจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้คัดค้านแต่อย่างใด

    อีกทั้งในวันสอบคำให้การจำเลย ซึ่งก่อนเริ่มพิจารณาได้สอบถามจำเลยเรื่องทนาย หากจำเลยประสงค์ที่จะให้ทนายจำเลยมาอยู่ด้วยในวันนัดพิจารณาดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิแถลงต่อศาลว่ายังไม่พร้อมที่จะให้การ ขอเลื่อนไปสักนัดหนึ่งก็ย่อมทำได้ ทั้งวุฒิภาวะ และอายุของจำเลย จำเลยย่อมทราบถึงผลของคำให้การ ที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลทหารสูงสุดเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    (อ้างอิง: คำสั่งที่ 7/2559 ศาลทหารสูงสุด ลงวันที่ 29 มี.ค. 2559)
  • จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกลางขอถอนอุทธรณ์ที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารกลาง โดยระบุว่า เนื่องจากจำเลยไม่ประสงค์จะต่อสู้คดีอีกต่อไป จึงขอถอนอุทธรณ์คดีนี้ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป จำเลยจึงขอให้ศาลทหารกลางอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ และมีคำสั่งออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดต่อไป

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลทหารกลางพิจารณา

    (อ้างอิง: คำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2559)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดอ่านคำสั่งศาลทหารกลาง กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ โดยศาลทหารกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลทหารกลาง และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ

    ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพออกหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ระบุโทษจำคุกรวม 7 ปี 30 เดือน โดยให้นับวันคุมขังตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์

    (อ้างอิง: คำสั่งที่ 34/2559 ศาลทหารกลาง คดีดำที่ 71/2559 คดีแดงที่ 227/2559 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2559 และหมายแจ้งโทษเด็ดขาดที่ 231/2559 ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 154/2558 คดีแดงที่ 196/2558 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2559)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชญาภา (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชญาภา (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น.
  2. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น.
  3. พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 15-12-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์