ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 13/2559
แดง 45/2560

ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 13/2559
แดง 45/2560

ความสำคัญของคดี

รุ่งเรือง (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเภทจากการใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2559 ในขณะที่เขาเข้ารับการตรวจรักษาอาการป่วยทางจิด รุ่งเรืองถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมาตั้งแต่ถูกจับกุมโดยไม่เคยได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากญาติไม่มีหลักทรัพย์ และให้การรับสารภาพ ก่อนศาลทหารชั้นต้นและศาลทหารกลางพิพากษาจำคุกในที่สุด

คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร รุ่งเรืองถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง จากการใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจำนวนมากหลังการรัฐประหาร ทั้งนี้ การดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษจำคุก โดยยกคำขอให้รอการลงโทษจำคุกเนื่องจากรุ่งเรืองมีอาการเจ็บป่วยทางจิต เพราะการกระทำของรุ่งเรืองเป็นการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพเทิดทูนและเป็นผู้ทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และศาลลงโทษสถานเบาแล้วนั้น อาจไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองด้านความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำผิดที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่า จำเลยเป็นพลเรือนที่กระทำความผิดในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยจำเลยได้กระทำผิด ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2559 เวลากลางคืน จำเลยนำข้อความที่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิด หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ โดยวิธีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีหมายเลขดำที่ 13/2559 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559)

ความคืบหน้าของคดี

  • เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนายรุ่งเรือง นำตัวไปแจ้งข้อหากล่าวหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ฝากขัง รุ่งเรืองจึงถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดสระบุรีเรื่อยมา โดยญาติไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์
  • อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ยื่นฟ้องนายรุ่งเรืองต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า นายรุ่งเรืองโพสต์ข้อความพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีหมายเลขดำที่ 13/2559 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ขอให้ส่งตัวนายรุ่งเรืองไปตรวจรักษาอาการทางจิต

    คำร้องระบุว่า เนื่องจากทนายความได้เข้าเยี่ยมนายรุ่งเรืองพบว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิต ปรากฏอาการภายนอกที่พบได้คือ ดวงตาเหม่อลอย พูดคนเดียวเป็นครั้งคราว หวาดระแวง ไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ตนเองถูกกล่าวหา และตอบคำถามไม่รู้เรื่อง ทั้งยังทราบข้อมูลจากญาติว่า นายรุ่งเรืองเคยเสพยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและเคยมีอาการหวาดระแวง หลงผิดคิดว่ามีคนจะมาทำร้าย แต่ไม่เคยได้รับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน อีกทั้งจำเลยไม่ยอมรับและปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษา จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2559 จำเลยเพิ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิต ชนิดจิตเภท โดยทนายจำเลยได้แนบสำเนาใบแสดงความเห็นแพทย์ โรงพยาบาลพระพุทธบาท และบัตรนัดแพทย์มาพร้อมคำร้อง

    ศาลพิจารณาแล้วว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงให้เลื่อนถามคำให้การจำเลยออกไปก่อน และให้ส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์จิตเวช โรงพยาบาลพระพุทธบาท โดยมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอกำหนดวันเวลานัดตรวจ แล้วศาลจะหมายเบิกจำเลยจากเรือนจำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปรับการตรวจตามวันเวลานัด เมื่อได้รับผลแล้วศาลจะพิจารณาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาอาการทางจิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีหมายเลขดำที่ 13/2559 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559)
  • ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 นัดพร้อมเพื่อฟังรายงานความเห็นแพทย์ แพทย์โรงพยาบาลพระพุทธบาทเบิกความตามรายงานผลการตรวจรักษา ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ได้ยื่นต่อศาลก่อนหน้านี้ว่า นายรุ่งเรืองมาตรวจรักษาเมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2559 และมกราคม 2560 และรับยาครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทและต้องรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอาการเป็นปกติ มีสติสัมปชัญญะดีแล้ว แม้ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถให้การในชั้นศาลได้ สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงนัดสอบคำให้การในวันที่ 18 สิงหาคม 2560

    (อ้างอิง: รายงานผลการตรวจรักษาจำเลย โรงพยาบาลพระพุทธบาท ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2560)
  • นัดสอบคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำให้การและคำร้องประกอบคำรับสารภาพมาก่อนหน้านี้แล้วในวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ศาลจึงมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน โดยพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี เพิ่มโทษที่ศาลจังหวัดสระบุรีรอการลงโทษไว้ในคดีอื่น มีกำหนดโทษจำคุก 6 เดือน คงให้จำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน

    ตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ พร้อมแนบประวัติการรักษาอาการป่วยของจำเลยมาด้วยนั้น ศาลได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยได้กระทำไปแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพเทิดทูน จึงเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง ประกอบกับศาลได้ลงโทษจำเลยสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนที่ขอให้รอการลงโทษ พร้อมทั้งให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

    ทั้งนี้ คำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยระบุว่า จำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องหารายได้ ดูแลแม่และน้องสาวที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช และตัวจำเลยเองก็ป่วยเป็นโรคที่ต้องรับยาต้านเชื้อโรคเฉพาะนั้นตรงเวลาทุกวัน การใช้ชีวิตในเรือนจำจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่นๆ จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบาที่สุด และรอการลงโทษไว้ก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัว และได้ดูแลครอบครัว

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลยและคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีดำที่ 13/2559 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 และคำพิพากษา ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีหมายเลขดำที่ 13/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 45/2560 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2560)
  • ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลทหารกลาง คัดค้านคำพิพากษาของศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ที่ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน โดยสรุปประเด็นอุทธรณ์ได้ดังนี้

    1. คำพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือนของศาลเป็นโทษจำคุกที่สูง จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานเบา และบรรเทาโทษจำเลยโดยการรอการลงโทษ ด้วยเหตุผลว่าจำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องดูแลแม่และน้องสาวที่ป่วยจิตเวช หากแม่และน้องสาวต้องขาดเสาหลักทางเศรษฐกิจและสภาวะจิตใจ อาจทำให้บุคคลทั้งสองต้องตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ไปกว่าเดิม

    2. แม้จำเลยจะเคยเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ขณะนั้นจำเลยอายุเพียง 16-17 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ลาออกจากการเป็นนักเรียนมาทำงานในไร่ ด้วยอายุน้อย ขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ และความโง่เขลา ทำให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนทำให้ถูกดำเนินคดียาเสพติดและป่วยเป็นโรคจิต ชนิดจิตเภท แต่ปัจจุบันจำเลยไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิดอีก จำเลยได้กตัญญูต่อบิดามารดา ดูแลน้องสาว หมั่นทำความดีเสมอ มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ฯ โดยในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จำเลยได้ไปจุดเทียนชัยถวายพระพรทุกปีไม่ได้ขาด

    3. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จนปัจจุบัน จำเลยป่วยเป็นโรคจิต มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ไม่เคยเข้ารับการรักษาจนกระทั่งต้นปี 2559 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเฉียบพลัน และเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2559 จำเลยเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตจากแอลกอฮอล์ ต้องรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จำเลยยังป่วยเป็นโรคที่ต้องรับยาต้านเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าจำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำ จะไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่นๆ

    4. จำเลยเป็นเพียงพลเรือนธรรมดาที่มีฐานะยากจน ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองใดๆ และเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยความความเจ็บป่วย ทำให้จำเลยได้กระทำสิ่งมิบังควร แต่จำเลยไม่ได้มีจิตใจชั่วร้าย และการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมจนถึงขั้นต้องแยกจากสังคมโดยการจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งจำเลยสำนึกผิดและจะจดจำเป็นบทเรียนตลอดชีวิต เพราะจากการถูกดำเนินคดีนี้ ครอบครัวของจำเลยได้รับความเดือดร้อน

    5. การที่ศาลพิจารณาว่า ลงโทษจำเลยสถานเบาอยู่แล้ว และพฤติการณ์ของจำเลยก็กระทบความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง นั้น ไม่ใช่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลจะหยิบยกมาพิจารณาเป็นเหตุไม่รอการลงโทษจำเลย

    จึงขอให้ศาลทหารกลางพิจารณาพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลมณฑลทหารบกที่ 18 โดยพิจารณาลงโทษสถานเบาและบรรเทาโทษโดยการรอการลงโทษ

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีหมายเลขดำที่ 13/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 45/2560 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2560)
  • ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 นัดอ่านคำพิพากษาศาลทหารกลางตามที่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ คำพิพากษาศาลทหารกลางมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    ศาลทหารกลางตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรก ว่าสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี เห็นว่าที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 ใช้ดุลยพินิจวางโทษจำคุกจำเลย 8 ปี ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น นับว่าเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลทหารจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้าย ว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก ศรัทธา และเทิดทูนอย่างยิ่งของประชาชน กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนโดยส่วนรวม กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลทหารกลาง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

    พิพากษายืน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกลาง เลขคดีดำ 92/2560 เลขคดีแดง 182/2560 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560)
  • โจทก์ จำเลย ไม่ยื่นฎีกา คดีถึงที่สุด

    (อ้างอิง: หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 คดีดำที่ 13/2559 คดีแดงที่ 45/2560 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2561)
  • รุ่งเรืองได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำจังหวัดสระบุรีก่อนครบกำหนดโทษ ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 รวมเวลาที่รุ่งเรืองถูกคุมขัง 3 ปี 4 เดือน 15 วัน

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายรุ่งเรือง (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายรุ่งเรือง (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นาวาโท พิทักษ์ พงษ์พันธ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 18-08-2017

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายรุ่งเรือง (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 30-11-2017

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์