สรุปความสำคัญ

นายฤาชา (สงวนนามสกุล) มีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท ถูกทหารนาวิกโยธินและตำรวจบุกเข้าจับกุมที่อพาร์ทเมนท์ในจังหวัดระยอง พร้อมอุปกรณ์สื่อสาร ก่อนนำตัวไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 รวม 7 วัน แล้วส่งให้ตำรวจดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ออกในระหว่างเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกอบมีเนื้อหาพาดพิงราชวงศ์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 5 ครั้ง ในเดือนมีนาคม 2559 ในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ฤาชาให้การรับสารภาพ

ภายหลังทนายความพบว่า ฤาชามีอาการทางจิตมาตั้งแต่ปี 2554 เขาคิดว่ามีพระเเม่ธรณีมาอยู่ในตัวและคอยบอกให้เขาทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งโพสต์เฟซบุ๊ก ทนายความจึงยื่นคำร้องให้ศาลส่งฤาชาไปตรวจวินิจฉัย แพทย์วินิจฉัยว่า นายฤาชาเป็นโรคจิตเภทจนไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลทหารจึงให้จำหน่ายคดีและส่งตัวฤาชาไปรักษา ต่อมา เมื่อมีการโอนคดีมายังศาลยุติธรรม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อ แม้ว่าจิตแพทย์จะยังวินิจฉัยว่า ฤาชายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ก็ตาม

ภายหลังการรัฐประหารมีผู้ป่วยจิตเวชจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายมาตรานี้เพื่อควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายฤาชา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายฤาชา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

29 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 8.00-9.00 น. เจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย ได้แก่ ทหารจาก มทบ.11, นาวิกโยธินผู้รับผิดชอบพื้นที่บ้านพักของฤาชาในจังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ตำรวจท้องที่ และนายอำเภอโป่งแดง นำกำลังไปที่บ้านของฤาชาเพื่อทำการจับกุม

เจ้าหน้าที่แจ้งฤาชาว่า เขาถูกจับเพราะมีพฤติการณ์หมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าหน้าที่ยังยึดคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก, แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือรวม 6 เครื่อง

ในการจับกุมและยึดสิ่งของฤาชาระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเอกสารให้เขาดูแต่อย่างใด หลังถูกจับกุมฤาชาถูกนำตัวมาที่ มทบ.11 ทันที ทั้งนี้ เเม้ว่าในขณะนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จะมีผลบังคับใช้อยู่ เเต่ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการจับกุม ควบคุมตัว เเละยึดสิ่งของของฤาชา

เจ้าหน้าที่ทหารสอบข้อเท็จจริงเเละควบคุมตัวฤาชาไว้จนกระทั่งถึงวันที่ 4 เม.ย. 2559 รวมเวลา 7 วัน ในวันสุดท้ายของการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้ให้จิตแพทย์เข้ามาตรวจอาการของฤๅชา ก่อนควบคุมตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อเเจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า ฤาชาเป็นผู้โพสต์ภาพกราฟฟิคที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรูปบุคคลอื่น รวมทั้งรูปจำเลยเอง โดยมีข้อความประกอบมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 20, 27 และ 28 มีนาคม 2559 รวม 5 โพสต์ ชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความที่ไว้วางใจเข้าร่วม นายฤาชาให้การรับสารภาพ ก่อนถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เเละนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพในวันรุ่งขึ้น โดยญาติไม่มีเงินในการยื่นขอประกันตัว ฤาชาจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม บก.ปอท. ลงวันที่ 4 เมษายน 2559, คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2815)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 18-11-2016
หลังถูกคุมขังมาเป็นเวลาเกือบ 8 เดือน และระหว่างรอการไต่สวนเเเพทย์ซึ่งตรวจวินิจฉัยอาการจิตเภทของฤาชา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง และเงินจากกองทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ร่วมกัน ก่อนศาลทหารจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
 
วันที่ : 13-11-2017
ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการทางจิตของฤาชา นพ.อภิชาติ แสงสิน แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของฤาชาเข้าเบิกความ กระบวนการไต่สวนเริ่มจากศาลเป็นผู้ถามพยานเอง และพยานตอบคำถามศาลโดยตรง

หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา มีใจความว่า จากการไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของฤาชาพบว่า ยังมีอาการวิกลจริตอยู่ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และให้ส่งตัวจำเลยเข้ารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เคยนัดไว้ วันที่ 21 ธันวาคม 2560
 
วันที่ : 08-08-2019
ศาลทหารมีคำสั่งโอนย้ายคดีของฤๅชา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ที่ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนทั้งหมด จึงส่งผลให้คดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารกลับมาสู่ศาลยุติธรรม ทั้งคดีที่เกิดขึ้นก่อนและหลังคำสั่งฉบับนี้ แต่ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งดังกล่าว คดีนี้ที่อยู่ระหว่างจำหน่ายคดีเนื่องจากตามวินิจฉัยของจิตแพทย์ ฤๅชายังมีอาการของโรคจิตเภทจนทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีในศาลได้
 
วันที่ : 12-03-2020
หลังศาลอาญารับโอนคดีมาจากศาลทหาร และมีการเรียกจิตแพทย์มาไต่สวนเพื่อวินิจฉัยว่า อาการป่วยทางจิตของฤาชาดีขึ้นหรือไม่ ตามที่ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้อง ศาลมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถเบิกความตอบศาลถึงประวัติและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ถือว่าจำเลยไม่เป็นผู้วิกลจริต สามารถต่อสู้คดีได้ แม้แพทย์จะมีความเห็นว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังมีอาการจิตเภทหลงเหลืออยู่

ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน ซึ่งศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นจึงนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564 และมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ

ภูมิหลัง

  • นายฤาชา
    อดีตทหารชั้นประทวน เกษียณราชการก่อนกำหนดในปี 2547 ฤๅชาไม่เคยใช้ยาเสพติดมาก่อนและไม่ดื่มเหล้าเบียร์ ภรรยาเล่าว่าครั้งแรกที่ทราบว่าฤๅชามีอาการทางจิตคือปี 2554 มีอาการพูดคนเดียว คิดว่าตนเองมีร่างทรง จึงได้เข้ารับการตรวจรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จิตแพทย์วินิจฉัยว่า เขาป่วยทางจิตเวช อย่างไรก็ตาม ฤาชาไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถูกจับกุมดำเนินคดี

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์