ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 165/2559 (อ. 3054/2562)

ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท ไพรัช พรมวงศ์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 165/2559 (อ. 3054/2562)
ผู้กล่าวหา
  • พันตำรวจโท ไพรัช พรมวงศ์

ความสำคัญของคดี

ฤาชา ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกอบมีเนื้อหาพาดพิงราชวงศ์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 5 ครั้ง ในเดือนมีนาคม 2559 ในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ฤาชาให้การรับสารภาพ เขาถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 7 เดือน โดยญาติไม่มีเงินในการยื่นขอประกันตัว และถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตก่อนศาลทหารมีคำสั่งจำหน่ายคดี หลังแพทย์วินิจฉัยว่า ฤาชาป่วยเป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารตามคำสั่ง คสช. โดยศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ภายหลังมีการโอนคดีมายังศาลยุติธรรม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 โดยศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาต่อ แม้จิตแพทย์จะยังวินิจฉัยว่า ฤาชายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ก็ตาม ศาลอาญาก็ยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ฟ้องนายฤาชาต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เเสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี และรัชทายาท, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเเห่งราชอาณาจักร, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เเละเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่เเล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เเละเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยบรรยายฟ้องว่า

นายฤาชา จำเลย เป็นนายทหารนอกประจำการ ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร กล่าวคือ เมื่อวันที่ 20, 27 และ 28 มีนาคม 2559 จำเลยได้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์พระราชินี, พระบรมโอรสาธิราชฯ, รูปบุคคลอื่น กับมีภาพของจำเลย พร้อมข้อความประกอบภาพ อันเป็นความเท็จลงในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ประชาชนทั่วไปและบุคคลที่สามสามารถเข้าถึงได้ รวม 5 ครั้ง โดยประการที่น่าจะทำให้พระราชินีเเละรัชทายาท ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เเละทรงถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระราชินี เเละรัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เเละโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เเละความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจำเลยรู้อยู่เเล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เเละความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังจากนายฤาชาถูกทหาร ตำรวจเข้าจับกุมที่อพาร์ทเมนท์ และนำตัวนายฤาชาไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เป็นเวลา 7 วัน ในช่วงบ่ายวันนี้ ทหารได้ส่งตัวนายฤาชาให้ตำรวจดำเนินคดี มีการทำบันทึกจับกุมที่ (มทบ.11) โดยระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ไปรับตัวนายฤาชา ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 22/2559 ลงวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้เเจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับให้ทราบว่า "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือเเสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเป็นอันความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" นายฤาชาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

    จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายฤาชาไปที่ บก.ปอท. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า นายฤาชาเป็นผู้โพสต์ภาพกราฟฟิคที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรูปบุคคลอื่น รวมทั้งรูปจำเลยเอง โดยมีข้อความประกอบมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 20, 27 และ 28 มีนาคม 2559 รวม 5 โพสต์ ชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความที่ไว้วางใจเข้าร่วม นายฤาชาให้การรับสารภาพ ก่อนถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

    ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดี เจ้าหน้าที่มีการประสานให้จิตแพทย์มาพูดคุยเพื่อตรวจสอบอาการทางจิตของนายฤาชา ภายใน มทบ.11 แต่ไม่มีการวินิจฉัย

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม บก.ปอท. ลงวันที่ 4 เมษายน 2559, คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2815)

  • พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนในคดี นำนายฤาชาไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผู้ต้องหา มีกำหนด 12 วัน ระหว่างวันที่ 5-16 เมษายน 2559 โดยระบุความจำเป็นในการฝากขังนายฤาชาไว้ในระหว่างสอบสวนว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานบุคคลจำนวน 7 ปาก อีกทั้งต้องรอผลตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือเเละเเท็บเล็ต ผลการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ เเละประวัติการพิมพ์ลายนิ้วมือของนายฤาชา ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ โดยญาติไม่มีเงินในการยื่นขอประกันตัว นายฤาชาจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    เนื่องจากคดีอยู่เกิดระหว่างที่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เเละประกาศ คสช.ฉบับที่ 38/2557 มีผลบังคับใช้ ศาลทหารกรุงเทพจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของนายฤาชา

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2815)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้องเเละยื่นฟ้องนายฤาชาต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เเสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเเห่งราชอาณาจักร, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เเละเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่เเล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เเละเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า นายฤาชาโพสต์ภาพกราฟฟิคที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรูปบุคคลอื่น รวมทั้งรูปจำเลยเอง โดยมีข้อความประกอบมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 20, 27 และ 28 มีนาคม 2559

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559)
  • หลังอัยการทหารยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหาร ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เพราะมีอาการทางจิต ศาลทหารกรุงเทพจึงมีหนังสือส่งตัวจำเลยไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เพื่อตรวจวิเคราะห์อาการทางจิต เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2559 และเรือนจำได้ส่งตัวนายฤาชาไปตรวจรักษาแบบผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559

    ต่อมา สถาบันกัลยาณ์ฯ ได้ส่งรายงานการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของนายฤาชา ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ต่อศาล มีผลการตรวจวินิจฉัยว่า นายฤาชามีอาการหลงผิด เป็นโรคจิตแบบจิตเภท เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง โดยแพทย์ลงความเห็นว่า นายฤาชายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

    จากนั้นศาลได้นัดไต่สวนจิตแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยอาการของนายฤาชาในวันนี้เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการตรวจรักษา แต่จิตแพทย์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2559

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2815)
  • ญาติและทนายความของนายฤาชาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองร่วมกับกองทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายฤาชาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกันนี้

    (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=2815)
  • นัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยอาการของนายฤาชา พญ.วิชชุดา จันทราษฎร์ เบิกความตอบคำถามศาลว่า รับราชการที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตำแหน่ง แพทย์ชำนาญการพิเศษ ตั้งแต่ปี 2554 มีหน้าที่ตรวจบำบัดรักษาและวินิจฉัยโรคจิตเวช พยานได้ตรวจรักษานายฤาชาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม - 19 พฤศจิกายน 2559 ในฐานะผู้ป่วยใน และต่อมารักษาในฐานะผู้ป่วยนอกจนถึงปัจจุบัน โดยทีมตรวจวินิจฉัยประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรมบำบัด

    พญ.วิชชุดา เบิกความต่อว่า การบำบัดรักษานายฤาชา โดยใช้วิธีให้รับประทานยาต้านโรคจิต และรักษาด้วยไฟฟ้า จากการตรวจสอบประวัติของนายฤาชาทราบว่า นายฤาชามีอาการป่วยทางจิตมาตั้งแต่ปี 2554 เเละเคยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2554 ขณะนั้นนายฤาชามีอาการคิดว่าถูกฝังไมโครชิพไว้ในสมอง

    จิตแพทย์เบิกความถึงผลการตรวจวินิจฉัยที่เข้าร่วมด้วยว่า นายฤาชามีอาการหลงผิดคิดว่ามีพระแม่ธรณีมาสิงร่าง ทำให้มีความสามารถพิเศษ และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามคำสั่งได้ อาการหลงผิดสามารถทุเลาได้หากมีการรักษาโดยต่อเนื่อง อาการดังกล่าวเป็นโรคจิตแบบจิตเภท เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีโอกาสหายขาดได้

    พญ.วิชชุดา ตอบคำถามศาลต่อว่า ตามรายงานการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของนายฤาชา ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ส่งต่อศาล พยานมีความเห็นว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่จากการตรวจวินิจฉัยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 พบว่า อาการหลงผิดและหูแว่วของนายฤๅชาลดลง ประเมินว่า สามารถรับรู้ความจริงได้มากขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ ปรากฎตามรายงานการตรวจฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559

    ศาลเปิดโอกาสให้โจทก์และทนายจำเลยซักถามพยาน อัยการทหารถามว่า อาการของนายฤาชาเกิดจากสาเหตุใด พญ.วิชชุดา ตอบว่า เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สื่อประสาทในสมอง และแสดงออกมาในเชิงความคิด ทำให้เกิดความคิดผิดไปจากความเป็นจริง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตของผู้ป่วย ทนายจำเลยจึงถามว่า อาการของจำเลย ภายใน 2 ปี นี้มีโอกาสที่จะหายหรือไม่ พญ.วิชชุดา ตอบว่า มีโอกาสหายขาดน้อยเพราะนายฤาชาได้ป่วยเรื้อรังมานาน

    หลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้ยกคดีของนายฤาชาขึ้นพิจารณาใหม่ เนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่า อาการของนายฤาชาดีขึ้น สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน โดยขอให้รักษาอาการของนายฤาชาให้หายขาดก่อน ปัจจุบันนายฤาชาได้รับการปล่อยชั่วคราวและอยู่อาศัยกับภรรยาไม่สามารถหลบหนีได้ แต่ศาลเห็นว่า การที่นายฤาชาได้ปล่อยชั่วคราวก็สามารถไปรับการรักษาได้อยู่แล้ว ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลจดคำคัดค้านไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย แต่ศาลให้ทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านมาในภายหลัง จากนั้น ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/709#progress_of_case)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดถามคำให้การจำเลย ซึ่งภายในห้องนอกจากนายฤาชาแล้ว ยังมีญาติของฤาชา นายประกัน พร้อมทั้งทนายจำเลย และผู้สังเกตการณ์คดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อนเริ่มพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า อัยการศาลทหารขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีจึงต้องออกไปนอกห้องพิจารณา และเหลือไว้เพียง นายฤาชากับทนายความเท่านั้นในห้องพิจารณาคดี

    ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยยังไม่พร้อมจะให้การ เนื่องจากก่อนหน้านี้จำเลยเพิ่งไปพบจิตแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยยังต้องรักษาอาการทางจิตด้วยยาอยู่เรื่อย ๆ จึงขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาคดีออกไปก่อน เพื่อให้นายฤาชาได้ไปพบแพทย์และแพทย์ลงความเห็นให้ชัดเจนกว่านี้ว่า นายฤาชามีความสามารถในการต่อสู้คดีหรือไม่ อย่างไร ซึ่งศาลรับคำร้องของทนาย และนัดสอบคำให้การอีกครั้งวันที่ 29 มีนาคม 2560

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/709#progress_of_case)
  • นัดสอบคำให้การซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว จำเลยแถลงว่า ทนายจำเลยไม่มาศาล เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่น จึงขอเลื่อนการสอบคำให้การไปในนัดหน้า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงให้เลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2560)
  • ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลทหารสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับเเละไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในห้องพิจารณาคดี

    ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง แล้วสอบถามคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา ขอต่อสู้คดี โดยได้ยื่นคำให้การต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษรมาในวันนี้ด้วย โจทก์แถลงขอสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงขอให้นัดตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 28 สิงหาคม 2560

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 และ https://freedom.ilaw.or.th/case/709#progress_of_case)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารแถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 11 ปาก ด้านทนายจำเลยแถลงจะสืบพยานบุคคล 3 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 21 ธันวาคม 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560)
  • หลังทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนแพทย์ ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ระบุว่า เนื่องจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 มายังตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ ประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของนายฤาชา จำเลยในคดีนี้ว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงขอให้ศาลเรียกแพทย์มาไต่สวนโดยเร็ว ศาลจึงนัดไต่สวนแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษานายฤาชาในวันนี้ แต่นายฤาชาไม่มาศาล เนื่องจากไม่ได้รับหมายนัด ซึ่งส่งไปยังที่อยู่ที่นายฤาชาไม่ได้อยู่จริง

    ทนายจำเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า นัดนี้เป็นเพียงนัดไต่สวนแพทย์ สามารถไต่สวนลับหลังจำเลยได้ แต่เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งว่า ศาลให้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากวันนี้ช่วงเย็นจะมีการจัดพระราชพิธียกนพปฏลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ มีประกาศปิดการจราจรโดยรอบสนามหลวงตั้งแต่เวลา 14.00 น. จึงเกรงว่าทุกคนจะเดินทางลำบาก

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้ไต่สวนแพทย์ ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 และ https://freedom.ilaw.or.th/case/709#progress_of_case)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการทางจิตของนายฤาชา นพ.อภิชาติ แสงสิน จิตแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

    นพ.อภิชาติเบิกความตอบศาลว่า สถาบันกัลยาณ์ฯ เคยรับตัวนายฤาชาไว้ตรวจรักษาช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2559 แพทย์ที่ตรวจรักษา คือ พญ.วิชชุดา โดยพยานไม่ได้ร่วมตรวจด้วย แต่ทราบผลการวินิจฉัยในครั้งนั้นว่า นายฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้

    นพ.อภิชาติเบิกความต่อว่า ขณะที่ตรวจอาการของนายฤาชานั้น นายฤาชาเป็นผู้ป่วยนอก เเพทย์พิจารณาจากประวัติของฝ่ายเวชระเบียนและให้นายฤาชาทำแบบทดสอบ โดยนายฤาชามาเข้ารับการตรวจต่อเนื่องทุกครั้ง ไม่เคยขาด ทั้งนี้ อาการของนายฤาชามีลักษณะป่วยเรื้อรัง จะมีอาการเป็นช่วงๆ ถ้ารับประทานยาต่อเนื่องจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้ดีขึ้น หลังเข้ารับการรักษาพฤติกรรมของนายฤาชาดีขึ้นแต่ไม่หายขาด ยังมีอาการหลงผิดที่ฝังอยู่ ผลการตรวจนายฤาชาครั้งหลังสุดยืนยันว่า นายฤาชายังมีอาการหลงผิด ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

    นพ.อภิชาติตอบศาลอีกว่า กำหนดไม่ได้ว่าต้องใช้เวลารักษานายฤาชานานแค่ไหน ศาลถามว่า ทางสถาบันฯ จะรับตัวนายฤาชาไว้เป็นผู้ป่วยในได้หรือไม่ นพ.อภิชาติตอบว่า ได้ โดยสถาบันฯ จะรายงานผลให้ศาลทราบทุก 6 เดือน และเมื่อนายฤาชาอาการดีขึ้น จะแจ้งผลให้ศาลทราบ

    จากนั้นศาลเปิดให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยซักถามพยาน อัยการทหารจึงถามว่า เหตุใดผลการตรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 จึงระบุว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้ นพ.อภิชาติ ตอบว่า อาการของนายฤาชาเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการอาจเปลี่ยนแปลงได้ ด้านทนายจำเลยถามว่า อาการของนายฤาชาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ใช่หรือไม่ นพ.อภิชาติ ตอบว่า ใช่

    หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว และให้ส่งตัวนายฤาชาเข้ารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เคยนัดไว้ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 และ https://freedom.ilaw.or.th/case/709#progress_of_case)
  • ศาลได้สอบถามฤาชาว่า จำเลยยังรักษาอาการป่วยอยู่หรือไม่และอาการเป็นอย่างไร จำเลยให้การต่อศาลว่า ยังคงรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ สามเดือนต้องไปรับยาและตรวจเช็คอาการอยู่เสมอ ทนายของจำเลยแถลงว่า แพทย์มีคำวินิจฉัย ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

    จากนั้น ศาลได้มีคำสั่งให้โอนย้ายคดีของฤๅชาไปยังศาลยุติธรรม เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ให้ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนทั้งหมด จึงส่งผลให้คดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารต้องโอนกลับไปอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ทั้งคดีที่เกิดขึ้นก่อนและหลังคำสั่งดังกล่าว

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=13244)

  • ศาลอาญานัดพร้อม หลังรับโอนคดีมาจากศาลทหาร ทนายจำเลยปรึกษาศาลว่า จะขอยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจิตแพทย์มาไต่สวนเพื่อวินิจฉัยว่า อาการป่วยทางจิตของฤาชาดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากผลที่ตรวจล่าสุดที่ได้ยื่นต่อศาลคือตั้งแต่เมื่อปี 2560

    ศาลกล่าวยืนยันว่า ฤาชามีศักยภาพในการต่อสู้คดีแล้ว โดยศาลอ้างว่า ฤาชาสามารถพูดคุยรู้เรื่องตามปกติ เนื่องจากฤาชาสามารถตอบคำถามทั่ว ๆ ไปได้ เช่น มีครอบครัวไหม มีบุตรกี่คน บุตรทำงานหรือยัง ได้อาศัยอยู่กับบุตรของตัวเองไหม ศาลยังกล่าวอีกว่า ควรจะสู้คดีไปเสีย ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากไม่พอใจในคำตัดสินก็ให้ยื่นอุทธรณ์

    อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยยังคงยืนยันต่อศาลว่าจะขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เพื่อขอให้เรียกจิตแพทย์มาไต่สวนถึงผลการวินิจฉัยอาการของฤาชาก่อนที่จะกำหนดนัดสืบพยาน ศาลจึงนัดไต่สวนจิตแพทย์ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3054/2562 ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15732)
  • ศาลอาญานัดไต่สวนจิตแพทย์ประจำสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่ให้การรักษาจำเลยตั้งแต่ปี 2559 และตัวจำเลยเอง

    แพทย์หญิงผู้ให้การรักษาฤาชาได้เบิกความต่อหน้าศาล เท้าความว่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพได้มีหนังสือส่งตัวฤาชามายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์และรักษาอาการทางจิต ในการตรวจรักษาจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 พบว่าจำเลยยังมีอาการจิตเภท หลงผิด คิดว่ามีคนมาสั่ง และจำเลยยังมีอาการร่างกายกระตุก ทำให้จำเลยคิดว่ามีคนมาบังคับร่างกายจำเลยให้กระตุก แม้จำเลยจะมีอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยอยู่ในความดูแลของญาติ แต่แนวความคิดของจำเลยยังมีความผิดปกติ จากนั้นแพทย์หญิงจึงได้สรุปว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังมีอาการจิตเภทหลงเหลืออยู่

    ในส่วนจำเลย ฤาชาเบิกความตอบศาลถึงเหตุที่ถูกดำเนินคดีว่า ถูกทหารจับกุมเนื่องจากโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี โดยเขาได้ให้การกับทหารว่า เขาถูกบุคคลอื่นเข้าสิงให้โพสต์ข้อความดังกล่าว และในการตอบคำถามทนายจำเลย ฤาชาระบุว่า เขาทราบว่าถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบและไม่เข้าใจรายละเอียดในคดี

    ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อหรือไม่ในวันที่ 12 มี.ค. 2563

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3054/2562 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=17728)
  • ศาลได้พิเคราะห์ร่วมกับอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถเบิกความตอบศาลถึงประวัติและข้อมูลส่วนบุคคล สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี และสามารถให้เหตุผลได้ว่า การกระทำใดมีความยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม​ ถือว่าจำเลยไม่เป็นผู้วิกลจริต สามารถต่อสู้คดีได้

    ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า จำเลยยังวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นศาลจึงอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง เมื่อถามคำให้การ​ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ทนายจำเลยยังได้แถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็น และขณะเกิดเหตุจำเลยควบคุมร่างกายตนเองไม่ได้

    จากนั้น โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานโจทก์ทั้ง 11 ปาก ตามบัญชีระบุพยานที่เคยได้ยื่นไว้กับศาลทหารกรุงเทพ เช่นเดียวกับทนายจำเลยที่แถลงสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย ภรรยา และจิตแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลย ตามบัญชีระบุพยานเดิม คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564

    ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาทฯ

    (อ้างอิง: คำสั่งและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 3054/2562 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=17728)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อว่า จำเลยยังป่วยเป็นโรคจิตเภท และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลอาญามีคำสั่งว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์ จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเสียก่อน

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=17728)
  • ทนายจำเลยเดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อดำเนินการทำสัญญาประกันตัวใหม่หลังคดีโอนย้ายมาจากศาลทหาร จากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ต่างจากจำเลยคดี 112 คดีอื่นที่ถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=17728)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายฤาชา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายฤาชา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์