ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.517/2551
แดง อ.837/2552

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ศิริวัฒน์ ดีพอ สวป.สภ.เมืองนนทบุรี (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.517/2551
แดง อ.837/2552
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ศิริวัฒน์ ดีพอ สวป.สภ.เมืองนนทบุรี

ความสำคัญของคดี

ชาญวิทย์ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการนำเอกสารที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดไปแจกจ่ายในการปราศรัยที่ท่าน้ำนนท์เมื่อปี 2550 ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับในปี 2552 หลังเขาไม่ไปศาลตามนัด คดีกลับถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งภายใต้บริบทของการรัฐประหารของ คสช. หลังเขาถูกจับกุมเพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในกรณีปาระเบิดใส่บริเวณลานจอดรถศาลอาญา รัชดา เมื่อต้นปี 2558

ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ชาญวิทย์ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดรวม 4 กรรม เนื่องจากข้อความในใบปลิวกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ 4 พระองค์ ชาญวิทย์รับว่าเป็นผู้แจกเอกสาร แต่ไม่มีเจตนาที่จะใส่ร้ายบุคคลที่กล่าวถึงในเอกสาร รวมทั้งต่อสู้ว่า เป็นการกระทำกรรมเดียว และสมเด็จพระเทพฯ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงไม่เป็นบุคคลตามที่มาตรา 112 คุ้มครอง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานพิมพ์ แจกจ่ายสิ่งพิมพ์ที่มีข้อความเป็นการละเมิด กล่าวร้าย เสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยาม ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(1)

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2550 จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
1. พิมพ์ข้อความลงในกระดาษขนาด เอ 4 และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีการปราศรัยของอดีตกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งข้อความดังกล่าว จำเลยมีเจตนาใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อประชาชนที่ได้รับเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

2. พิมพ์ข้อความลงในกระดาษขนาด เอ 4 และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีการปราศรัยของอดีตกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งข้อความดังกล่าว จำเลยมีเจตนาใส่ความพระบรมราชีนีนาถต่อประชาชนที่ได้รับเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในพระราชินี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบรมราชินีนาถ

3. พิมพ์ข้อความลงในกระดาษขนาด เอ 4 และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีการปราศรัยของอดีตกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งข้อความดังกล่าว จำเลยมีเจตนาใส่ความสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รัชทายาท ต่อประชาชนที่ได้รับเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

4. พิมพ์ข้อความลงในกระดาษขนาด เอ 4 และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีการปราศรัยของอดีตกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งข้อความดังกล่าว จำเลยมีเจตนาใส่ความสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รัชทายาท ต่อประชาชนที่ได้รับเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ลงวันที่ 18 ก.พ. 2551)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังชาญวิทย์ถูกจับกุม ตรวจค้น และยึดเอกสารจำนวน 20 ชุด พร้อมทั้งควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ขณะชาญวิทย์นำใบปลิววิเคราะห์สถานการณ์การเมืองประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมคัดค้านคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยที่ท่าน้ำนนทบุรี อีกทั้งมีการควบคุมตัวชาญวิทย์ไปค้นห้องพักและตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก พร้อมหนังสืออีก 2 เล่ม พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาชาญวิทย์ว่า กระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ชาญวิทย์รับว่า เป็นผู้จัดทำเอกสารที่นำไปแจกจ่ายดังกล่าวจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เขาค้นคว้าศึกษามาจากการอ่านตำราโหราศาสตร์ ควบคู่ไปกับการศึกษาศาสนาพุทธและอิสลาม แต่ไม่มีเจตนาที่จะใส่ร้ายบุคคลที่กล่าวถึงในเอกสารให้ได้รับความเสียหาย

    หลังการแจ้งข้อกล่าวหา ชาญวิทย์ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขัง จากนั้น ญาติได้ยื่นประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา สภ.เมืองนนทบุรี ลงวันที่ 26 และ 30 พ.ย. 2550 และ https://prachatai.com/journal/2015/09/61414)
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายชาญวิทย์ไปพบที่ สภ.เมืองนนทบุรี และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ชาญวิทย์โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ในข้อหา พิมพ์ โฆษณา หรือแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายการพิมพ์ที่มีข้อความเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการกล่าวร้าย เสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามพระราชินี หรือรัชทายาท โดยชาญวิทย์ให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าว โดยระบุว่า การกระทำของเขาเป็นการแสดงความเห็นที่เป็นเอกสาร ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ตามกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์

    ทั้งนี้ ข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มดังกล่าว เป็นความผิดตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(1) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท และให้ศาลสั่งทำลายสิ่งพิมพ์นั้นเสีย

    (อ้างอิง: ใบต่อคำให้การของผู้ต้องหา สภ.เมืองนนทบุรี ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2550)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานพิมพ์ แจกจ่ายสิ่งพิมพ์ที่มีข้อความเป็นการละเมิด กล่าวร้าย เสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยาม ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(1)

    อัยการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่า ชาญวิทย์กระทำความผิดรวม 4 กรรม จากการพิมพ์และแจกจ่ายใบปลิวให้กับประชาชน ในการปราศรัยของอดีตกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรีในวันที่ 25 พ.ย. 2550 โดยแยกเป็นข้อความในใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริษ์ 1 กรรม, หมิ่นประมาทพระราชินี 1 กรรม, หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รัชทายาท 1 กรรม และหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รัชทายาท อีก 1 กรรม

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ลงวันที่ 18 ก.พ. 2551)
  • ศาลสอบคำให้การจำเลย ชาญวิทย์ยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตามคำให้การที่ยื่นเป็นหนังสือ โจทก์แถลงขอสืบพยานโจทก์จำนวน 7 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ทนายจำเลยขอสืบพยานจำเลยจำนวน 10 ปาก ใช้เวลา 2 นัด

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2551)
  • โจทก์ นายประกัน ทนายจำเลย มาศาล ส่วนจำเลยไม่มาศาล นายประกันแถลงว่า ได้แจ้งให้จำเลยทราบวันนัดแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีเหตุขัดข้องประการใด ส่วนโจทก์แถลงว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอถอนประกันนี้มีเหตุใด จึงขอเลื่อนคดีเพื่อติดต่อพนักงานสอบสวนก่อน

    ศาลจึงให้เลื่อนไปไต่สวนการขอถอนประกันในวันที่ 17 มี.ค. 2552 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์โดยคู่ความทราบวันนัดไว้ก่อนแล้ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2552)
  • โจทก์มาศาล ส่วนจำเลย นายประกัน และทนายจำเลยไม่มาศาล โดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง ศาลพิเคราะห์แล้วมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีไม่มาฟังการพิจารณา จึงให้ออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกันตามสัญญา จำหน่ายคดีชั่วคราวออกจากสารบบความ เมื่อจับจำเลยได้แล้วจะได้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวกันต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2552)
  • ชาญวิทย์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมายังศาลจังหวัดนนทบุรี โดยคุมขังอยู่ที่ห้องขังใต้ถุนศาล ไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นห้องพิจารณา มีเพียงทนายความที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ

    ต่อมา ศาลใช้การวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขัง สอบถามชาญวิทย์ว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 ซึ่งถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(1) หรือไม่ ชาญวิทย์รับว่า เป็นบุคคลเดียวกัน

    เสร็จสิ้นการยืนยันตัวบุคคล โดยศาลยังไม่กำหนดวันนัดครั้งต่อไป

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/660#circumstance_of_arrest)
  • เนื่องจากผู้พิพากษาที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้เพิ่งทราบว่า จำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และยังไม่มีการเบิกตัวมาศาลในวันนี้ จึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันสืบพยานใหม่ ในวันที่ 27 เม.ย. 2558 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2558)
  • จำเลยแถลงว่า เนื่องจากไม่ทราบกำหนดวันนัดในวันนี้มาก่อน จึงยังไม่ได้ติดต่อทนายความให้มาศาลในวันนี้ จำเลยประสงค์จะปรึกษาทนายความและจะให้การในภายหลัง จึงขอเลื่อนคดีไปอีกสักนัดหนึ่ง ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การใหม่ในวันที่ 11 พ.ค. 2558 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2558)
  • ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เพิ่งได้รับการติดต่อให้ทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยในวันนี้ และยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาสำนวนคดีนี้โดยละเอียด จึงประสงค์จะขอโอกาสจากศาลเลื่อนคดีไปสักนัดหนึ่งเพื่อจะได้ศึกษาสำนวนคดีนี้ ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การใหม่ในวันที่ 8 มิ.ย. 2558 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 11 พ.ค. 2558)
  • ศาลเริ่มกระบวนการพิจารณาในช่วงบ่าย หลังศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามคำให้การเดิมของจำเลยฉบับลงวันที่ 21 มิ.ย. 2551 ซึ่งศาลเคยสอบและรับคำให้การไว้แล้ว

    จำเลยและทนายจำเลยแถลงร่วมกันถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยยอมรับว่า เป็นผู้แจกจ่ายกระดาษอันมีข้อความตามฟ้องจริง แต่เห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว และการกระทำตามฟ้องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใด เนื่องจากต้องพิจารณาความหมายที่แท้จริงของคำว่า รัชทายาท ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

    โจทก์แถลงว่า เมื่อจำเลยรับว่าแจกจ่ายเอกสารจริง หากฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การของนายสุพัฒน์และ น.ส.พยงค์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่ได้รับเอกสารจากจำเลย โจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปากดังกล่าว จำเลยและทนายจำเลยตรวจดูเอกสารแล้วแถลงรับข้อเท็จจริง โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปาก แต่ขออ้างส่งบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองปากเป็นพยานหลักฐาน และโจทก์มีพยานบุคคลที่จะนำสืบอีก 5 ปาก ได้แก่ ตำรวจที่ตรวจสอบเวทีปราศรัย, ตำรวจที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน, ตำรวจที่ไปตรวจค้นห้องพักของจำเลย และพนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบรวม 1 นัด

    ทนายจำเลยแถลงมีพยานบุคคลที่จะนำสืบรวม 3 ปาก ได้แก่ จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน, อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำมาสืบถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาท และนักกฎหมายที่จะนำมาสืบอธิบายถึงลักษณะการกระทำของจำเลยว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเท่านั้น ใช้เวลาสืบครึ่งนัด

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 ก.ย. 2558 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 16 ก.ย. 2558

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2558)
  • ศาลสืบพยานโจทก์ 3 ปาก เป็นตำรวจจาก สภ.เมืองนนทบุรี เกี่ยวข้องในคดีโดยเป็นผู้จับกุม ผู้ตรวจยึดของกลาง และพนักงานสอบสวนตามลำดับ โดยมีข้าราชการสองคนจากสำนักพระราชวังมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดี ในคดีนี้ศาลได้สั่งห้ามจดคำให้การของพยาน แต่ไม่ได้บันทึกลงรายงานกระบวนพิจารณา

    ก่อนเริ่มการสืบพยาน อัยการแถลงว่า ทางสำนักพระราชวังได้ส่งหนังสือมายืนยันว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทตามมาตรา 112

    พยานโจทก์ปากแรก ด.ต.วิเวก กมลวิบูลย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี เบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้แต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปหาข่าวในที่ชุมนุมวันที่ 25 พ.ย. 2550 ที่ท่าน้ำนนทบุรี เนื่องจากช่วงนั้นมีการชุมนุมประท้วงการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ในระหว่างที่สังเกตการณ์อยู่นั้นเขาได้พบจำเลยกำลังแจกใบปลิวอยู่ เมื่อพยานได้รับแจกด้วย 1 ชุด เมื่อได้อ่านข้อความแล้ว เขาเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงได้โทรศัพท์แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นผู้บังคับบัญชาได้เดินทางมาที่เกิดเหตุและได้เชิญตัวจำเลยไป สภ.เมืองนนทบุรี

    พยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ท.ประภาส ถ้ำเหม ขณะเกิดเหตุเป็น รอง สว.(สืบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เบิกความว่า พยานกับพวกร่วมกันไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยตามที่จำเลยให้การว่า จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งเก็บอยู่ที่ห้องพัก จากการตรวจค้นพบหนังสือ 2 เล่ม และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ที่ใช้พิมพ์ใบปลิว จึงได้ยึดเป็นของกลาง

    พยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.ปิยพงศ์ สิงหเทศ พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่า พยานสอบสวนจำเลยและพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุอีก 2 คนที่ได้รับแจกใบปลิว พยานให้การว่าเกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากวันเกิดเหตุเป็นเวรสอบสวนและได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ศิริวัฒน์ ดีพอ ว่า ได้จับกุมจำเลยในคดี 112 ซึ่งจากการสอบสวน จำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้พิมพ์และแจกจ่ายใบปลิวจริง แต่ปฏิเสธว่าข้อความบนใบปลิวไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย

    พ.ต.ท.ปิยพงศ์ เบิกความอีกว่า ต่อมา พยานแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเพิ่มเติม ในข้อหา พิมพ์ โฆษณา หรือแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายการพิมพ์ที่มีข้อความเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการกล่าวร้าย เสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามพระราชินี หรือรัชทายาท จำเลยให้การปฏิเสธเช่นเดียวกัน

    หลังคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องได้เสนอสำนวนการสอบสวนไปยังผู้บังคับบัญชาจนถึง สตช. ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนระดับ สตช.มีความเห็นสั่งฟ้องเช่นเดียวกัน จึงได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี อัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาท พยานได้มีหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง และได้รับหนังสือตอบกลับมาว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียว ตามหนังสือสำนักพระราชวังที่ พว0001/5893 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2558

    พ.ต.ท.ปิยพงศ์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่า เอกสารที่จำเลยแจกมีข้อความเกี่ยวกับความเชื่อทางโหราศาสตร์หรือไม่ แต่จากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนอ้างว่าเป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์

    หลังศาลสืบพยานทั้ง 3 ปาก เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานจำเลยต่ออีก 2 ปากในวันถัดไป

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/15/chanvit_112/)
  • นัดสืบพยานนัดสุดท้าย พยานจำเลยปากที่ 1 จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นเขารับว่าเป็นผู้ทำเอกสารและเผยแพร่จริง แต่ว่าข้อความผิดหรือไม่นั้นเขาไม่แน่ใจเพราะเป็นประเด็นทางกฎหมาย

    จากนั้นเขาเล่าว่าเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งตั้งแต่ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และยังได้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. ปี 2535 เขาเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต่อมาในปี 2539 ก็เข้าร่วมเป็นคณะทำงานรณรงค์รัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2540 เขายังแสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นความหวังของการปฏิรูปทางสังคม แต่การรัฐประหารปี 2549 นั้นเป็นการทำลายความหวังของการปฏิรูปลง

    ชาญวิทย์เบิกความถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำและเผยแพร่เอกสารที่ถูกฟ้องว่า ต้องการทราบแนวคิดว่า ระบบการสืบสันตติวงศ์จะเป็นเช่นไร ประกอบกับมีแถลงการณ์เกี่ยวกับพระสุขภาพของในหลวง ทำให้เขามีความรู้สึกว่าการเมืองและความมั่นคงของประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับวิกฤตเรื่องการสืบสันตติวงศ์

    ชาญวิทย์ยังเบิกความว่า จากการศึกษาของเขา การสืบสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล เขายังเคยอ่านราชกิจจานุเบกษาว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสถาปนาราชอิสริยยศ แต่ไม่ได้รับการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท

    ในประเด็นที่เขาไม่มาตามนัดศาลซึ่งนัดไต่สวนการถอนประกันเมื่อปี 2552 ชาญวิทย์เล่าว่าหลังจากที่ได้ประกันตัวแล้ว ในตอนนั้นชวน หลีกภัยมีการแถลงข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราว เขาจึงได้ตอบโต้ประเด็นในการแถลงข่าวนั้น ซึ่งตำรวจได้นำมาใช้เป็นเงื่อนไขถอนการประกันตัวของเขา ในวันที่ศาลนัดมาฟังว่าจะถอนหรือไม่ถอน เขาก็เลยไม่เข้า เพราะต้องการให้ข้อเท็จจริงที่เขาเผยแพร่ได้พิสูจน์ผ่านกาลเวลา

    ช่วงอัยการถามค้านได้นำเอกสารคำให้การที่ชาญวิทย์เคยให้กับพนักงานสอบสวนในประเด็นการเข้ารักษาโรคทางประสาทเมื่อปี 2518 ดู จากนั้นอัยการถามเขาว่ายังมีอาการป่วยไหม เขารับว่าในตอนนั้นเขามีความเครียดจากการเรียนเทคนิคการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจึงเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลทั้งที่เชียงใหม่และสงขลา อาการของโรคได้หายตั้งแต่ปี 2519 อัยการถามว่าข้อความในเอกสารใบปลิวได้สร้างความเสียหายต่อบุคคลที่อ้างถึงหรือไม่ เขาบอกว่าไม่เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายให้กับคนที่เขาได้กล่าวถึงในเอกสาร ที่เขาจัดทำเอกสารเพราะต้องการให้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์

    หลังจากชาญวิทย์เบิกความเสร็จ ผู้พิพากษาถามจำเลยว่า จะสืบพยานอีกกี่ปาก ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่ามีพยานอีก 2 ปาก คือ รศ.ดร.สุธาชัย จะเบิกความในประเด็นประวัติศาสตร์ และพยานที่จะเบิกความในประเด็นทางกฎหมาย แต่ผู้พิพากษาขอให้ตัดพยานในส่วนข้อกฎหมายออก ทนายจำเลยยืนยันว่าจะสืบพยานทั้งสองปาก แต่ศาลพิจารณาตัดพยานที่จะเบิกความในประเด็นทางกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า ศาลทราบในประเด็นทางกฎหมายแล้ว

    พยานจำเลยปากที่ 2 รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เบิกความในประเด็นความเป็นมาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเหตุผลที่มีการแก้ไขเพิ่มโทษเพราะว่าในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี มีการใช้ ม.112 เพื่อปราบคอมมิวนิสต์ กฎหมายนี้คุ้มครองเพียงแค่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และสยามมกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น และกฎหมายมาตรานี้สมัยก่อนไม่ค่อยได้ใช้ในวันที่พระมหากษัตริย์ต้องเป็นคนกลั่นกรองคดีเอง แต่เขาไม่ทราบว่าทำไมถูกเอามาใช้มากขึ้น

    เสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค. 2558

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/16/chanvit_112-2/)
  • ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาจำคุก 6 ปี ศาลไม่วินิจฉัยประเด็นสมเด็จพระเทพฯ เป็นรัชทายาทหรือไม่เนื่องจากผิดกรรมเดียว

    ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง 2 คนมาร่วมฟังด้วย เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า คำพิพากษาในวันนี้เป็นเพียงตัวร่างเท่านั้น เนื่องจากผู้พิพากษายังทำคำพิพากษาไม่เสร็จ และยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายร่างคำพิพากษา

    เวลา 10.44 น. ศาลเริ่มอ่านสรุปคำฟ้อง ของกลางที่ยึดในคดี รายละเอียดประเด็นที่นำสืบในวันสืบพยานตั้งแต่การพบเห็นการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การจับกุม การยึดของกลางซึ่งรวมถึงหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และการนำสืบของจำเลย และการพิเคราะห์หลักฐานต่างๆ

    ศาลมีคำพิพากษาว่า ข้อความในใบปลิวที่จำเลยแจกจ่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระเกียรติยศ และกล่าวอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง พระมหากษัตริย์ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ จะละเมิดมิได้ และทรงทำคุณเอนกอนันต์ให้แก่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112

    แต่อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวแม้จะมีข้อความกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ แต่ก็เป็นการกล่าวข้อความในเอกสารฉบับเดียวกัน ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว

    ส่วนประเด็นที่ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นรัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการกระทำของจำเลยนับเป็นแค่กรรมเดียว

    พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

    ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ทนายความและญาติได้เข้าเยี่ยมที่ห้องควบคุมตัวผู้ต้องขังใต้ถุนศาล แต่ปรากฎว่านายชาญวิทย์ได้ถูกนำตัวกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปแล้ว

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.837/2552 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/03/chanvit-virdict-112/)

    ต่อมา โจทก์และจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายชาญวิทย์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายชาญวิทย์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายธวัช พงศ์สุธางค์
  2. นายเสริมเผด็จ กรลักษณ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 01-12-2015

แหล่งที่มา : ข้อมูลจากการติดตามในสื่อต่างๆ