สรุปความสำคัญ

นายทะเนช (สงวนนามสกุล) ชาวเพชรบูรณ์ มีอาชีพขายของทางอินเตอร์เน็ต ถูกทหาร ตำรวจ บุกเข้าค้นภายในบ้าน และตรวจยึดแผ่นซีดี แฟลชไดรฟ์ ก่อนที่จะนำตัวทะเนชไปควบคุมไว้ในมณฑลทหารบกที่ 11 รวม 7 วัน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก จากนั้น ทหารได้ส่งตัวทะเนชให้ ปอท. เพื่อดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า เขาส่งอีเมลที่แนบ URL หรือลิงค์ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ให้กับบุคคลที่อยู่ประเทศสเปนในปี 2553 เพื่อให้เผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ stoplesemajeste ของบุคคลดังกล่าว ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความที่ไว้ใจเข้าร่วม ทะเนชรับสารภาพว่า ส่งอีเมลดังกล่าวจริง เเต่ทำเพราะมีเสียงแว่วในหูสั่งให้เขาทำ และเขาไม่รู้ว่าเป็นความผิด คิดว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553

ขณะที่ทะเนชถูกคุมขังระหว่างสอบสวน เขาถูกส่งตัวไปตรวจอาการทางจิต ผลการตรวจระบุว่า เขาเป็นโรคจิตเภทชนิดจิตหวาดระแวงและมีอาการเศร้าร่วมด้วย โดยมีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดข้างหูเป็นระยะๆ ในลักษณะดุด่า บางครั้งบอกให้ฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม หลังถูกดำเนินคดีทะเนชถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตลอดมา โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้ญาติจะยื่นประกันถึง 3 ครั้ง และระบุความจำเป็นในการบำบัดรักษาเขาอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553 แต่การดำเนินคดีเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 โดยอาศัยพยานหลักฐานจากการสอบปากคำในค่ายทหาร ระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย ทะเนชนับเป็นผู้ป่วยทางจิตรายแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางภายหลังการรัฐประหาร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทะเนช
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทะเนช
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
    • ฝ่ายปกครอง

พฤติการณ์การละเมิด

2 กรกฎาคม 2557 เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ขณะนายทะเนชอยู่คนเดียวที่บ้านของพี่สาวใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว ห้องแถวยาว ยังไม่ทันตื่นนอน เขาได้ยินเสียงคนเรียก เมื่อลุกมาเปิดประตู ทะเนชเห็นเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย อาวุธครบมือ 2 คน เป็นหัวหน้า 1 คน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไม่ทราบว่าเป็นทหารหรือตำรวจอีก 6-7 คน รวมแล้วประมาณ 10 กว่าคน ทั้งหมดเข้ามารื้อเเละค้นหาสิ่งของ ประมาณ 30-45 นาที โดยให้ทะเนชเดินนำ มีทหารนายหนึ่งเดินประกบ ภายหลังเจ้าหน้าที่พบซีดีการเมือง จึงสั่งให้ทะเนชเปิดซีดีให้ฟัง เเละสั่งให้เขายืนชี้แผ่นซีดี โดยเจ้าหน้าที่ถ่ายรูป พร้อมทั้งตรวจยึดแฟลชไดรฟ์ จากนั้นให้นายทะเนชเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเชิ้ตขาว กางเกงขายาว แล้วควบคุมตัวโดยใส่กุญแจมือ มีทหารนั่งประกบซ้ายขวา เดินทางด้วยจี๊ปทหารไปที่ สภ.บึงสามพัน เพื่อทำบันทึกตรวจค้น/ตรวจยึด

ทะเนชให้ข้อมูลว่า เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.บึงสามพันประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เอาเอกสารส่งตัวไปกรุงเทพฯ มาให้เขาเซ็น 1-2 ฉบับ ก่อนที่เขาจะถูกควบคุมตัวขึ้นรถส่วนตัว มีตำรวจนอกเครื่องแบบเป็นคนขับ และมีทหาร 2 นายนั่งประกบเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ก็เดินทางถึงมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

ทะเนชเล่าเหตุการณ์ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวใน มทบ.11 ว่า ในวันแรกมีเจ้าหน้าที่มาสอบปากคำเขาประมาณ 20 คน เเละบอกให้เขารับสารภาพ แต่เขานึกไม่ออกให้สารภาพเรื่องอะไร เจ้าหน้าที่ที่นั่งเป็นประธานระบุว่า ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือสีเหลืองสีเเดง เเต่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมา เจ้าหน้าที่นำเอกสารที่ปรินท์หน้าอีเมลมาให้เขาเซ็นรับว่าเป็นผู้ส่งเมลดังกล่าว ทะเนชจึงจำได้ว่า เป็นอีเมลของตน ซึ่งเลิกใช้ไป 4 ปีเเล้ว เจ้าหน้าที่ยังให้เขาเขียนชื่ออีเมล รวมถึงพาสเวิร์ดที่ใช้ทั้งหมด

วันต่อๆ มา ในค่ายทหาร ทะเนชเล่าว่า เขาถูกสอบโดยเจ้าหน้าที่ชุดเดิมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ถามหลายคำถาม โดยถามถึงสาเหตุที่เขาส่งเมลดังกล่าว เเละนำเอกสารหลายฉบับมาให้เขาเซ็น มีบางคนที่ใช้คำพูดหยาบคาย พร้อมทำท่าทางเหมือนจะทำร้ายเขา ซึ่งทำให้เขากลัวมาก อย่างไรก็ตาม ในการสอบปากคำ นายทะเนชไม่ได้เล่าเรื่องที่เขามีอาการหูแว่วให้เจ้าหน้าที่ฟัง รวมทั้งที่มีเสียงมาสั่งให้เขาส่งเมลดังกล่าว

ทะเนชถูกควบคุมตัวใน มทบ.11 จนกระทั่งวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ทหารจึงได้นำตัวเขาส่งให้ ปอท.ดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับศาลอาญาที่ 1157/2557 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2557 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทะเนชว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ยุยงปลุกปั่น เเละนำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) โดยกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้ส่งอีเมลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2553 โดยแนบ URL หรือลิงก์ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไปถึงนายอีลิมิโอ เอสเตแบน เจ้าของเว็บไซต์ “stoplesemajeste.blogspot.com” ซึ่งอยู่ในประเทศสเปน เพื่อให้ช่วยโพสต์ลิงก์ดังกล่าวลงในเว็บไซต์

ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำที่ไม่มีทนายความหรือญาติที่ไว้ใจเข้าร่วมด้วย ทะเนชให้การรับสารภาพว่า เขาเป็นผู้ส่งอีเมลดังกล่าว แต่เขาไม่รู้ว่าผิด ที่ทำไปเพราะได้ยินเสียงแว่วอยู่ในหูสั่งให้เขาส่งอีเมลเพื่อช่วยคนเสื้อแดงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวน ปอท.จึงนำตัวทะเนชไปคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง 1 คืน ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันรุ่งขึ้น และถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ทั้งนี้ ทะเนชเล่าถึงอาการหูแว่วของเขาว่า เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน โดยเขาจะได้ยินเสียงแปลกๆ เป็นเสียงคนมีทั้งหญิงและชาย พูดวิพากษ์วิจารณ์เขา และให้คนรอบข้างคอยกลั่นแกล้งเขา เสียงแว่วยังเคยสั่งให้ฆ่าตัวตายบ่อยๆ แต่เขาไม่เคยแสดงออกให้ใครรู้ ทะเนชคิดว่าเหตุที่เขาถูกจับเพราะหน้าเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในขณะนั้น) จึงถูกข้าราชบริพารกลั่นเเกล้งมาตลอดระยะเวลา 20-30 ปี

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 09-07-2014
พนักงานสอบสวน ปอท. ยื่นคำร้องขอฝากขังทะเนชต่อศาลอาญา รัชดาฯ มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่ 9-20 ก.ค. 2557 ระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอผลตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหา จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ทะเนชจึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยญาติไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์
 
วันที่ : 30-09-2014
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6) ยื่นฟ้องนายทะเนชต่อศาลอาญา โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ทะเนชได้ใช้อีเมลส่งข้อความเป็นภาษาอังกฤษ พร้องทั้งแนบ URL หรือลิงก์ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไปถึงนายอีลิมิโอ เอสเตบาน เจ้าของเว็บไซต์ “stoplesemajeste” ซึ่งอยู่ในประเทศสเปน เพื่อให้ช่วยโพสต์ลิงก์ดังกล่าวลงในเว็บไซต์ การกระทำดังกล่าวของจำเลย มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เเละเเสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์เเละองค์รัชทายาท, ยุยงปลุกปั่น, นำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเเห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 เเละพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3), (5)
 
วันที่ : 25-06-2015
ที่ศาลอาญา รัชดา ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีญาติของนายทะเนชแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว AFP ประชาไท ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะที่ตัวแทนสถานทูตเดนมาร์กมาถึงห้องพิจารณาคดีหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลบอกเลขห้องผิด

ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องอันจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันกระทบต่อความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เเละ (5)

การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยด้วยบทที่หนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากในชั้นพิจารณาจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
วันที่ : 11-08-2015
เว็บไซต์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) เผยแพร่บันทึกถ้อยแถลงของราวีนา ชัมดาซานี โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า สำนักงานข้าหลวงฯ มีความวิตกอย่างมากต่อคำพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลทหารที่ตัดสินจำคุกผู้กระทำความผิดเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ ได้อ้างถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ศาลตัดสินในปี 2558 จำนวน 5 คดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคดีของทะเนช

"จำนวนผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีผู้ที่ถูกจำคุกจากคำพิพากษาหรือถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 40 คน" นางราวีนาระบุ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกหรือถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีโดยทันที พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และไม่ควรใช้กฎหมายนี้จำกัดการถกเถียงในสังคมในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

(อ้างอิง: https://news.thaipbs.or.th/content/4336)
 
วันที่ : 26-09-2016
หลังมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ.2559 ทะเนชอยู่ในเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือน 24 วัน

ภูมิหลัง

  • ทะเนช
    ไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวขายอาหารเสริมบำรุงพืชผลทางการเกษตรทางอินเทอร์เน็ต มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาตลอด ก่อนถูกจับกุมไม่เคยเข้ารับการตรวจอาการทางจิตมาก่อน แต่มีอาการหูแว่วมาหลายปีแล้ว พี่ชายก็เป็นผู้ป่วยวิกลจริต เคยไปรักษาที่ศรีธัญญาอยู่ประมาณ 1-2 ปี ปัจจุบันหายสาบสูญ

แหล่งที่มา : ข้อมูลจากการติดตามในสื่อต่างๆ