สรุปความสำคัญ

นายเฉลียว ช่างตัดกางเกง มีชื่อถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 หลังเขาเข้ารายงานตัว เฉลียวถูกซักถาม นำตัวไปตรวจค้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บ้าน และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารจนครบ 7 วัน จากนั้น ทหารได้ส่งตัวเขาไปดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการดาวน์โหลดคลิปเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วนำไปอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ 4shared ในช่วงปี 2554-2555 โดยถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาของคลิปเสียงเหล่านั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ นายเฉลียวให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและในศาลชั้นต้น โดยไม่มีทนายความสำหรับต่อสู้คดี และไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และไม่รอการลงโทษ

กรณีนี้เป็นอีกกรณีที่ประชาชนที่เห็นต่างถูก คสช.ใช้กฎหมาย มาตรา 112 มาปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก หลังรัฐประหาร คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว โดยจำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่า มีการกระทำเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และใช้ข้อมูลจากการซักถามในช่วงที่ผู้ถูกเรียกรายงานตัวอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร นำไปดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม คดีนี้พิจารณาที่ศาลอาญา ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า คดีตามมาตรา 112 หลายคดีที่การกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดก่อน คสช.ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ถูกพิจารณาในศาลทหาร แม้จำเลยจะโต้แย้งเขตอำนาจศาลก็ตาม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เฉลียว
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

3 มิถุนายน 2557 เฉลียวเข้ารายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 ในระหว่างการเข้ารายงานตัว นายเฉลียวถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนถึงสามครั้ง โดยเป็นการสอบสวนด้วยเครื่องจับเท็จสองครั้ง เฉลียวยอมรับในระหว่างการสอบปากคำว่า เขาดาวน์โหลดคลิปเสียงของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "บรรพต" เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแล้วนำไปอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ โฟร์แชร์ดอทคอม (www.4shared.com) ในช่วงปลายปี 2554 - 2555 เจ้าหน้าที่ยังนำตัวนายเฉลียวไปตรวจค้นที่บ้านและร้านตัดเสื้อ โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 1 เครื่อง, ฮาร์ดิสก์ 9 อัน, ทรัมป์ไดรฟ์ 8 อัน, โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง, เลาเตอร์ 1 ตัว ฯลฯ

9 มิถุนายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน นายเฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม เฉลียวให้การรับสารภาพ เมื่อสอบปากคำเสร็จ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวกลับ และนัดหมายเฉลียวให้ไปพบที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อฝากขังและยื่นขอประกันตัว

10 มิถุนายน 2557 เฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขังนายเฉลียว ขณะที่ญาติยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาท เพื่อขอประกันตัว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง แต่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการเผยแพร่ต่อข้อมูล เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวจึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

(อ้างอิง: บันทึกการตรวจค้น/ตรวจยึด ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 29-08-2014
พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายเฉลียวต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ในตอนท้ายคำฟ้อง อัยการโจทก์ได้ขอให้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องของจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องที่กระทบถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
วันที่ : 01-09-2014
เฉลียวถูกนำตัวจากเรือนจำมาที่ศาลอาญา เพื่อสอบคำให้การ หลังศาลในห้องเวรชี้อ่านและอธิบายฟ้อง เฉลียวให้การรับสารภาพ

ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกันว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี

หลังศาลอ่านคำพิพากษา เฉลียวได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้นเอง
 
วันที่ : 03-09-2015
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการลับ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ ญาติได้รอยื่นประกันตัวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและสลากออมสิน มูลค่า 600,000 บาท
 
วันที่ : 08-09-2015
ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวเฉลียวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท เฉลียวได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในเวลาราว 20.00 น.
 
วันที่ : 25-02-2016
ผู้รายงานพิเศษของ UN มีหนังสือลำดับที่ THA 9/2015 สอบถามรัฐบาลไทยเรื่องการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งหมด 26 คน อาทิเช่น กรณีโอภาส, กรณีเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” รวมถึงกรณีเฉลียว โดยผู้รายงานพิเศษระบุว่าพวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและในที่สาธารณะ รวมทั้งในสื่อออนไลน์เท่านั้น ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=4717)
 
วันที่ : 09-06-2017
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ คดีถึงที่สุด และเฉลียวถูกคุมตัวจากห้องพิจารณาไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
วันที่ : 10-05-2019
เฉลียวได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 รวมเวลาที่ถูกคุมขังทั้งหมด 2 ปี 2 เดือน 8 วัน

ภูมิหลัง

  • เฉลียว
    อาชีพช่างตัดกางเกง ไม่เคยมีประวัติทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มใด

แหล่งที่มา : ข้อมูลจากการติดตามในสื่อต่างๆ