ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2788/2557
แดง อ.2962/2557

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท. โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2788/2557
แดง อ.2962/2557
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท. โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

นายเฉลียว ช่างตัดกางเกง ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 และถูกควบคุมตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ รวม 7 วัน โดยนายเฉลียวให้ปากคำในระหว่างเข้ารายงานตัวรับว่า เขาดาวน์โหลดคลิปของผู้ใช้นามแฝงว่า 'บรรพต' เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วนำไปอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ 4shared ในช่วงปี 2554-2555 เจ้าหน้าที่ระบุว่า เนื้อหาในคลิปดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ภายหลังถูกดำเนินคดี นายเฉลียวให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและในศาลชั้นต้น โดยไม่มีทนายความสำหรับต่อสู้คดี และไม่ได้รับการประกันตัว จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และไม่รอการลงโทษ

คดีนี้พิจารณาที่ศาลอาญา เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนประกาศ คสช. ฉบับ ที่ 37-38/2557 ที่ให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร แม้ว่าคดีลักษณะเดียวกันนี้หลายคดีถูกพิจารณาในศาลทหาร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณปลายปี 2554 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2555 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และได้บังอาจนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กล่าวคือ จำเลยได้คัดลอกแฟ้มข้อมูลเสียงชื่อ banpodj 1.mp3 ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า บรรพต ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี มาเก็บไว้ในกล่องเก็บข้อมูล (Hard Disk) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย แล้วนำแฟ้มข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ www.4share.com ในบัญชีผู้ใช้ของจำเลยที่ใช้ชื่อ (Username) ว่า [email protected] ให้มีสถานะใช้ร่วมกัน ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา

คดีนี้มีลักษณะเป็นความผิดอาญาที่มีความซับซ้อน และอาจกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2788/2557 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 และถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน นายเฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการดาวน์โหลดคลิปเสียงของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "บรรพต" เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแล้วนำไปอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ 4shared ในช่วงปลายปี 2554 - 2555 และสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม เฉลียวให้การรับสารภาพ เมื่อสอบปากคำเสร็จ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวกลับ และนัดหมายเฉลียวให้ไปพบที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อฝากขังและยื่นขอประกันตัว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • เฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขังนายเฉลียว ขณะที่ญาติยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาท เพื่อขอประกันตัว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง แต่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการเผยแพร่ต่อข้อมูล เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวจึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายเฉลียวต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

    อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายปี 2554 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2555 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และได้บังอาจนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กล่าวคือ จำเลยได้คัดลอกแฟ้มข้อมูลเสียงชื่อ banpodj 1.mp3 ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า บรรพต ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี มาเก็บไว้ในกล่องเก็บข้อมูล (Hard Disk) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย แล้วนำแฟ้มข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ www.4share.com ในบัญชีผู้ใช้ของจำเลยที่ใช้ชื่อ (Username) ว่า [email protected] ให้มีสถานะใช้ร่วมกัน ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา

    ในตอนท้ายคำฟ้อง อัยการโจทก์ได้ขอให้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องของจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องที่กระทบถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    มีข้อสังเกตว่า คำฟ้องของอัยการไม่ชัดเจน เนื่องจากมีเพียงเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นคำถอดเทปจากไฟล์ที่เฉลียวอัพโหลดไว้บน http://www.4shared.com จำนวน 23 แผ่น โดยไม่มีการระบุหรือยกข้อความขึ้นมาว่า ข้อความส่วนหรือตอนใดที่เป็นความผิด ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.158 (5) ซึ่งระบุว่า คำฟ้องจะต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2788/2557 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • เฉลียวถูกนำตัวจากเรือนจำมาที่ศาลอาญา เพื่อสอบคำให้การ หลังศาลในห้องเวรชี้อ่านและอธิบายฟ้อง เฉลียวให้การรับสารภาพ

    ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกันว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมและสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลางทั้งหมด

    หลังศาลอ่านคำพิพากษา เฉลียวได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้นเอง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีดำที่ อ.2788/2557 คดีแดงที่ อ.2962/2557 ลงวันที่ 1 กันยายน 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)

  • อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยระบุว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วางโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกเพียง 1 ปี 6 เดือน และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี

    โจทก์จึงขอยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ โดยอ้างว่าการที่จำเลยนำคลิปเสียงที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาโพสต์ลงใน http://www.4shared.com โดยการแชร์หรือแบ่งปันคลิปเสียงดังกล่าวมา อันมีผลให้บุคคลอื่นที่เข้าไปใน http://www.4shared.com พบเห็นและเปิดฟังคลิปเสียงดังกล่าวนั้น โดยมีข้อมูลหรือข้อความปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฟ้อง ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนคนไทยแตกความสามัคคี แบ่งพรรค แบ่งพวก เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนคนไทย ทำให้สังคมและประเทศชาติล่มสลาย ถือเป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรง สมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยไม่รอการลงโทษ

    ในคำอุทธรณ์ อัยการยังระบุด้วยว่า โจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงขอศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอาญา คดีดำที่ อ.2788/2557 คดีแดงที่ อ.2962/2557 ลงวันที่ 8 ต.ค. 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • เฉลียวได้ทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อศาล มีใจความว่า จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ และจำเลยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำแก้อุทธรณ์ฉบับนี้ด้วย ซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมายและรอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นั้น ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษและการลงโทษชอบด้วยเหตุผลและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยจำเลยขอแก้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้

    1. อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นแรกที่ว่า “พฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่รอการลงโทษ” นั้น

    จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า ตามการกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องคดีนี้ จำเลยมิได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาของคลิปเสียงดังกล่าวขึ้นเอง จำเลยเป็นเพียงแค่ผู้นำไฟล์เสียงดังกล่าวมานำเข้าขึ้นบนเว็บไซต์โฟรแชร์ดอทคอมเท่านั้น ซึ่งเว็บไซต์โฟรแชร์นั้นการนำเข้ามีลักษณะเป็นการนำข้อมูลเข้าไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งคนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้น ผู้ที่จะเข้าถึงต้องเป็นสมาชิกของเว็บไซต์โฟร์แชร์เท่านั้น คนโดยทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์โฟร์แชร์ต้องใช้คำค้นหาที่ถูกต้องแน่นอนเท่านั้น หากคนที่ต้องการค้นหาข้อมูลแต่ไม่ทราบคำค้นหาที่ถูกต้องแน่นอนก็ไม่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้ ต่างจากการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง ยูทูบ กูเกิ้ล หรือยาฮู ที่ผู้ต้องการค้นหาข้อมูลสามารถระบุคำกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องและระบบของเว็บไซต์จะจัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องมานำเสนอให้โดยง่าย ดังนั้น การอัพโหลดลงบนเว็บไซต์โฟรแชร์จึงเป็นวิธีการที่ไม่ได้ทำให้ข้อมูลเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และถูกเข้าถึงอย่างง่ายดาย คนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกับเนื้อหาชิ้นนี้มาก่อนก็ไม่อาจจะเข้าถึงเนื้อหาด้วยวิธีการค้นหาบนอินเทอร์เน็ตแบบง่ายๆ ได้ จึงไม่ใช่การนำเนื้อหาออกสู่สาธารณะในวงกว้างอันจะเป็นพฤติการณ์การกระทำที่ร้ายแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

    จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน คนไทยที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีย่อมตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ดีอยู่แล้ว จากการรับรู้ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ข่าวพระราชสำนักทางโทรทัศน์ และการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน การเข้าถึงข้อมูลในคลิปเสียงดังกล่าว จำนวนหนึ่งคลิปบนอินเทอร์เน็ต ย่อมเป็นเพียงข้อมูลเล็กๆ ที่ไม่มีน้ำหนักพอจะโน้มน้าวจิตใจของประชาชนชาวไทยที่มีความจงรักภักดี ให้เปลี่ยนความคิดความเชื่อไปในทางอื่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักได้ ดังนั้น การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่ได้เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่รอการลงโทษตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนจึงนี้ไม่อาจรับฟังได้

    2. อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นต่อมาที่ว่า “ศาลชั้นต้นกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยน้อยเกินไปไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลย” นั้น

    จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยนั้น โดยพฤติการณ์เป็นเพียงการ “นำเข้า” ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยหากกล่าวถึงการกระทำของจำเลยที่เพียงแต่นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นบนเว็บไซต์นั้น ในทางทฤษฎีของกฎหมาย เรื่องความผิดอาญานั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย มิได้เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) แต่เป็นการกระทำที่เป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด (mala prihibita) ความผิดเช่นนี้ไม่สามารถมองเห็นหรือรู้สึกว่าเป็นความชั่วร้ายในตัวเอง แต่ที่เป็นความผิดก็เพราะกระทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามเท่านั้น พฤติการณ์ของการกระทำหากเปรียบเทียบกับความผิดอื่นที่มีโทษอย่างเดียวกันแล้ว การกระทำของจำเลยหาได้มีความร้ายแรงถึงขนาดจะต้องลงโทษจำเลยในสถานหนักตามที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ไม่

    จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า หากมองย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์ อัตราโทษที่ถูกกำหนดในการกระทำความผิดที่อาศัยข้ออ้างในการกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยนั้น หาได้มีความร้ายแรงเท่ากับปัจจุบันไม่ โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ.118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2500 ได้มี “ประมวลกฎหมายอาญา” ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และในภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี

    จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ในประเทศต่างๆที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สเปน จอร์แดน เดนมาร์ก ล้วนมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะที่ละเมิดหรือกล่าวโทษไม่ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราโทษแล้ว อัตราโทษของประเทศไทยมีบทลงโทษที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น โดยอัตราโทษที่ต่ำที่สุดของประเทศไทย เท่ากับอัตราโทษที่สูงที่สุดของประเทศจอร์แดน และอัตราโทษขั้นสูงที่สุดของประเทศไทยมากกว่าประเทศส่วนมากในภูมิภาคยุโรปถึงสามเท่า เช่น ประเทศสเปนจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ประเทศนอร์เวย์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำและโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับ ประเทศสวีเดนจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ซึ่งได้เคยมีหนังสือด่วนที่สุด ยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอัตราโทษ ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ในข้อ 3 ถึง 5 ว่า อัตราโทษนั้นควรเบาลง และเสนอให้มีการแก้ไขอัตราโทษเป็นระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราโทษเดิมก่อนอัตราโทษล่าสุด

    จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ในคดีนี้จำเลยเองได้ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน ตลอดจนให้การเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี อันเนื่องด้วยมาจากความสำนึกผิดในการกระทำของตน และได้ถูกกักขังมาแล้วในระยะเวลาที่สมควรแล้ว และในอีกมุมหนึ่งนั้น การกระทำของจำเลยข้างต้น นอกจากการถูกกำหนดโทษในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในสังคมภายนอกเอง จำเลยก็ถูกมาตรการทางสังคมในการลงโทษจำเลยและครอบครัว ให้ต้องรู้สึกผิดบาป และอยู่ในสังคมอย่างลำบากอยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยของศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นั้น จึงเหมาะสมและยุติธรรมที่สุดแล้วกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยน้อยเกินไปและไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีและขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก จึงไม่อาจรับฟังได้

    3. จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงในฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งอ้างถึงคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ตลอดจนเอกสารท้ายอุทธรณ์ที่แนบมา ทั้ง 10 ฉบับ นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารทั้ง 10 ฉบับ ที่ปรากฏท้ายอุทธรณ์ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในคำฟ้องหรือเอกสารท้ายคำฟ้องแต่อย่างใด การที่โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงในส่วนนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวประกอบอุทธรณ์ของโจทก์ได้

    อีกทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการเอาเปรียบจำเลยในการต่อสู้คดี เพราะจำเลยไม่มีโอกาสได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหรือซักค้านพยานบุคคลดังมีรายชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารคำให้การของพยานดังกล่าวได้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้

    4. ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อทุกประเด็นไม่ต้องด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 เพราะอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยกำหนดโทษไว้โดยชอบด้วยเหตุผลและชอบด้วยข้อกฎหมายแล้ว ประกอบกับอุทธรณ์ของโจทก์ล้วนเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระในอันที่จะให้ศาลฎีกาได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลอุทธรณ์จะกลับหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยจึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

    5. ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำเรียนต่อศาลอุทธรณ์โดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะโต้แย้งหรือหักล้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ และไม่อาจทำให้ศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดเป็นนิสัย หรือเป็นอาชญากรโดยสันดาน อีกทั้งความผิดที่จำเลยกระทำมิได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น จำเลยเข็ดหลาบและหลาบจำในความผิดที่จำเลยได้กระทำลงแล้ว หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดี จะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ จำเลยจึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นด้วย

    (อ้างอิง: คำแก้อุทธรณ์ ศาลอาญา คดีดำที่ อ.2788/2557 คดีแดงที่ อ.2962/2557 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยมีคำสั่งอ่านคำพิพากษาลับ ให้เพียงแค่จำเลย ทนายจำเลย ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณา ส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้ออกไปรอที่หน้าห้องพิจารณา

    ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 27 พ.ค. 2558 ใจความว่า

    แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ผลิตและบันทึกเสียงในแฟ้มข้อมูลเองตามที่จำเลยกล่าวแก้ในอุทธรณ์ แต่การที่จำเลยคัดลอกแฟ้มข้อมูลเสียงที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ แล้วเผยแพร่ต่อในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแม้ผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้จะต้องเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ แต่ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกก็สามารถได้ยินได้ฟังจากการเปิดแฟ้มข้อมูลเสียงด้วยเช่นกัน ทำให้ข้อมูลแพร่กระจายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่คนที่ได้ฟังข้อมูลเสียงดังกล่าวขึ้นได้ และเนื้อหาในข้อมูลเสียงตามที่ปรากฏในคำถอดเทปจากแฟ้มข้อมูลเสียงเอกสารแนบท้ายคำฟ้องซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ มีแต่คำกล่าวแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี อันมีเนื้อหาตรงกันข้ามกับพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง

    ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย แต่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดียังไม่สมควรกำหนดโทษในอัตราขั้นสูงสุดตามที่โจทก์อุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

    ทั้งนี้ ญาติได้รอยื่นประกันตัวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและสลากออมสิน มูลค่า 600,000 บาท

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีดำที่ 754/2558 คดีแดงที่ 7504/2558 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/03/chaleaw112/)
  • ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวเฉลียวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท เฉลียวได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในเวลาราว 20.00 น.

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/09/61316)
  • เฉลียวได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้นี้

    1. ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เนื่องจากเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ข้อความในคลิปเสียงที่โจทก์อ้างว่ามีเนื้อหาหมิ่นฯ นั้น มีข้อความอย่างไรบ้าง ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ดี

    2. ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงในคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในคำฟ้อง และไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามไม่ให้หยิบยกขึ้นมาอุทธรณ์ มาพิจารณาพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ถือว่าไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย ทั้งนี้ จำเลยได้คัดค้านแล้วในคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้วินิจฉัย

    3. จำเลยยืนยันว่า แฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวมีเพียงสมาชิกเว็บไซต์เท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ตามที่จำเลยกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า "ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกเว็บไซต์แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลเสียงได้ด้วยวิธีการใดก็ตามก็สามารถได้ยินได้ฟังได้เช่นกัน" เป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงมาสนับสนุน ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่นำแฟ้มข้อมูลเสียงเข้าเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีบุคคลเข้าถึงได้อย่างจำกัด จึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน ตลอดจนให้การเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี อีกทั้งถูกคุมขังในระยะเวลาที่สมควรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ของจำเลย

    จำเลยจึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ หรือพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

    (อ้างอิง: ฎีกาของจำเลย ศาลอาญา คดีดำที่ อ.2788/2557 คดีแดงที่ อ.2962/2557 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2558)

    **หมายเหตุ ศาลฎีกา มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ในวันที่ 25 พ.ค. 2559

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 1700/2560 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2560)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 906 ศาลอาญา ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า ในขณะเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้นำเข้าข้อมูลเสียง ปรากฏข้อความถอดเทปตามเอกสารท้ายฟ้อง ที่จำเลยได้ลงชื่อรับว่า เป็นข้อความที่จำเลยได้อัพโหลดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.4Share.com ผ่านบัญชีผู้ใช้ของจำเลย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงแฟ้มข้อมูลดังกล่าว

    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่ว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อความที่อยู่ในข้อมูลเสียง ว่ามีข้อความอย่างไร ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจฟ้องได้นั้น ศาลเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเข้าข้อมูลเสียง พร้อมทั้งแนบข้อความถอดเทปเป็นเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยลงชื่อรับรอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม และจำเลยรับรู้ข้อความดังกล่าว ไม่หลงต่อสู้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    ฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น มาลงโทษจำเลยโดยไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า แฟ้มข้อมูลเสียงที่โจทก์ถอดเทปแนบมาเป็นเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองอยู่ในคำฟ้อง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงถือว่ามีข้อความตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องดังกล่าว และศาลก็พิจารณาตามเอกสารท้ายคำฟ้องประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยโดยชอบแล้ว อันเป็นข้อความที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    ปัญหาตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า กรณีมีเหตุรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า แฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวมีสมาชิกเข้าถึงได้จำนวนไม่มาก เห็นว่าจำเลยมีแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าว และกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติ ทุ่มเทพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ แฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และใช้ข้อความที่ต่ำช้า หยาบคาย ไม่ควรที่จะใช้แม้กับบุคคลชั้นต่ำ

    จำเลยย่อมต้องรู้ว่าข้อความอันเป็นเท็จที่ใช้ภาษาหยาบคายดังกล่าว ไม่บังควรเผยแพร่ไปยังบุคคลอื่นแม้เพียงบุคคลเดียว แต่จำเลยกลับนำข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะอ้างว่ามีสมาชิกเพียงไม่กี่คน แต่สมาชิกดังกล่าวก็สามารถรับรู้ข้อมูลและนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่จำกัดจำนวนได้

    การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง กระทบองค์พระประมุขของรัฐตามกฎหมาย และเป็นศูนย์รวมของจิตใจคนไทยทั้งชาติตามข้อเท็จจริง ซึ่งผลจากการกระทำของจำเลยอาจส่งผลไม่ดีต่อสาธารณชนได้ไม่รู้จบ สมควรลงโทษในสถานหนัก และไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์กลับลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 5 ปีก่อนลดโทษ นับเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ

    คดีถึงที่สุด และเฉลียวถูกคุมตัวจากห้องพิจารณาไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 1700/2560 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=4364)
  • เฉลียวได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 รวมเวลาที่ถูกคุมขังทั้งหมด 2 ปี 2 เดือน 8 วัน

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เฉลียว

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เฉลียว

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นางอุทัยวรรณ ติปะวาโร
  2. นางวิรา ณ พิกุล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 01-09-2014

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เฉลียว

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายวิโรจน์ ตุลาพันธุ์
  2. นายศักดิ์ชัย รังษีวงศ์
  3. นางอัจฉรา นาถะภักติ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 03-09-2015

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เฉลียว

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายนพพร โพธิรังสิยากร
  2. นายปกรณ์ วงศาโรจน์
  3. นายปกรณ์ สุวรรณพรหมา

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 09-06-2017

แหล่งที่มา : ข้อมูลจากการติดตามในสื่อต่างๆ