สรุปความสำคัญ

จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์ จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 แต่องค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองในตำแหน่งดังต่อไปนี้ 1. พระมหากษัตริย์ 2. พระราชินี 3. รัชทายาท 4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบของมาตรานี้

อีกทั้งนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 4 ยืนยันว่าไม่ได้ทราบเรื่องการแอบอ้างดังกล่าว เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชักชวนไปร่วมทำบุญที่จังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้น โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์

หลังการรัฐประหาร 2557 มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากที่ “แอบอ้าง” พระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก กรณีนี้เป็นปัญหาทางกฎหมายในการใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวกับลักษณะความผิดฐานแอบอ้างหาประโยชน์ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ควรที่จะดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยายขอบเขตการตีความมาตรา 112 ออกไปจนเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้ กรณีนี้ยังมีปัญหาด้วยว่า สมเด็จพระเทพฯ เป็นบุคคลตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 หรือไม่

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายวิเศษ
    • นายกิตติภพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายนพฤทธิ์
    • นางอัษฎาภรณ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

[21 สิงหาคม 2558]
กรณีนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 4 ในคดีนี้ เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางเสาธง, กก.สส.ภ.จว.สุโขทัย, สภ.ไทรงาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันจับกุมตัวนายนพฤทธิ์ ที่บริเวณอาคารสำนักงานคิงส์พาวเวอร์ ลานจอดรถอาคารโซน 3 ชั้น 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ที่ 185/2558 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และรัชทายาท, ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้หรืออ้างเอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

ภูมิหลัง

  • นายนพฤทธิ์
    พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี เข้าทำงานเป็นพนักงานขายที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 กลางคืนยังไปทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงในร้านค็อกเทล ส่งรายได้กลับไปดูแลพ่อกับแม่ที่อุบลฯ นพฤทธิ์ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางเมือง หรือร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อสีใดๆ มาก่อน ทั้งไม่ได้สนใจใส่ใจเรื่องการเมือง เขาแต่งงานกับภรรยาสัญชาติญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2558 โดยไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรักเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1 วันก่อนถูกจับกุมดำเนินคดี นพฤทธิ์ยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างในครั้งนี้หรือก่อนหน้านั้น โดยเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมที่บริษัทก็ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน และไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์