ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561

ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น (ประชาชน)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561

ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น (ประชาชน)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561

ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น (ประชาชน)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561

ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561
ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561
ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561
ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1330/2559
แดง อ.523/2561
ผู้กล่าวหา
  • นายพรเทพ จันทร์ต้น

ความสำคัญของคดี

จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์ จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 แต่องค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองในตำแหน่งดังต่อไปนี้ 1. พระมหากษัตริย์ 2. พระราชินี 3. รัชทายาท 4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบของมาตรานี้

อีกทั้งนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 4 ยืนยันว่าไม่ได้ทราบเรื่องการแอบอ้างดังกล่าว เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชักชวนไปร่วมทำบุญที่จังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้น โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์

หลังการรัฐประหาร 2557 มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากที่ “แอบอ้าง” พระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก กรณีนี้เป็นปัญหาทางกฎหมายในการใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวกับลักษณะความผิดฐานแอบอ้างหาประโยชน์ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ควรที่จะดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยายขอบเขตการตีความมาตรา 112 ออกไปจนเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย และส่งผลต่อการให้ประกันตัวของศาล โดยนพฤทธิ์ไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะยื่นประกันหลายครั้ง ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำรวม 2 ปี 6 เดือน จนกระทั่งศาลยกฟ้องในที่สุด นอกจากนี้ กรณีนี้ยังมีปัญหาด้วยว่า สมเด็จพระเทพฯ เป็นบุคคลตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 หรือไม่

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

1. เมื่อระหว่างวันที่ 8 ส.ค.56 เวลากลางวัน ถึง มี.ค.58 วันใดไม่ปรากฏชัด ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการทั้งฉบับ โดยปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพฯ จำนวน 8 ฉบับ อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สมเด็จพระเทพฯ ผู้เสียหายที่ 1 วัด ผู้เสียหายที่ 2 เจ้าอาวาส ผู้เสียหายที่ 3

2. หลังจากจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันนำหนังสือเอกสารราชการที่ร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับดังกล่าวไปใช้หรืออ้างแสดงต่อเจ้าอาวาส กรรมการวัด (ผสห.ที่ 4) หัวหน้าสนง.ปลัดเทศบาล ต.ไทรงาม (ผสห.ที่ 5) นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ไทรงาม (ผสห.ที่ 5) และประชาชนเพื่อให้ประชาชนผู้เสียหาย เชื่อว่าเป็นหนังสือเอกสารราชการที่แท้จริงที่ออกโดย สำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพฯ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1-6 และประชาชน

3. นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 8 ส.ค.56 ถึงวันที่ 26 เม.ย.58 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ได้กล่าววาจาหมิ่นประมาท และดูหมิ่น สมเด็จพระเทพฯ ต่อเจ้าอาวาส (ผสห.ที่ 3) ถึงนายกเทศมนตรีฯ (ผสห.ที่ 6) และประชาชน โดยนำเอกสารหนังสือราชการปลอม จำนวน 8 ฉบับ แสดงต่อผสห.ที่ 3 ถึงที่ 6 และประชาชนว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาเป็นประธานตัดลูกนิมิต โดยมีการเรียกค่าใช้จ่ายต่างๆ

โดย จำเลยที่ 1 นางอัษฎาภรณ์ กล่าวอ้างว่ารู้จักข้าราชการที่ทำงานใน สน.ราชเลขานุการฯ รับอาสาติดต่อเจ้าอาวาส กับ สน.ราชเลขานุการฯ

จำเลยที่ 2 นายกิตติภพ กล่าวอ้างว่าทำงานเป็นข้าราชการใน สน.ราชเลขานุการฯ จะดำเนินงานต่างๆ

จำเลยที่ 3 นายวิเศษ กล่าวอ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายการเงินทุนการกุศลของสมเด็จพระเทพฯ และเป็นตัวแทนของสมเด็จพระเทพฯ ประสานงานกับเจ้าอาวาส และไปร่วมงานสวดศพมารดาของเจ้าอาวาส

จำเลยที่ 4 นายนพฤทธิ์ กล่าวอ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภา อาภากร เป็นประธานที่ปรึกษารองราชเลขานุการฯ ในสมเด็จพระเทพฯ ผู้ดูแลวังสระปทุมฯ และเป็นตัวแทนของสมเด็จพระเทพฯ ไปร่วมงานทำบุญอายุวัฒนะครบ 51 ปี ของเจ้าอาวาส (ผสห.ที่ 3)

4. เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ผู้ไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานฯ ได้สวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานฯ มาร่วมงานสวดศพมารดาเจ้าอาวาส (ผสห.ที่ 3)

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.1330/2559 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรยื่นฟ้องนางอัษฎาภรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ ต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร ในฐานความผิด ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม, และไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ

    ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,112, 146, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4
  • ในการนัดสมานฉันท์คดี จำเลยทั้งสี่ได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานพร้อมกัน ในวันที่ 21 ธ.ค.58 เวลา 9.00 น.

    สำหรับคดีนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างทนายความส่วนตัว ขณะที่จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้ทนายความขอแรงจากศาลช่วยเหลือทางกฎหมาย

    (อ้างอิง: 'ศาลกำแพงเพชรนัดสอบคำให้การคดี 112 เหตุแอบอ้างสถาบันฯ 21 ธ.ค.นี้' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/03/112kampangpetch/)
  • จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นคำให้การต่อศาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้องของโจทก์ และคู่ความได้ขอตรวจพยานหลักฐานในนัดต่อไป ศาลจึงได้นัดหมายตรวจพยานหลักฐานวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น.

    นอกจากนั้นในส่วนของจำเลยที่ 4 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร และการกระทำตามฟ้องของโจทก์เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ โดยระบุถึงหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหลัก “ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” คำร้องได้ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ในความผิดนี้ และให้จำเลยที่ 4 พ้นข้อหาไป

    ในคำร้องยังได้แนบเอกสารกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ รวมทั้งพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย

    แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุสั้นๆ ว่า “ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ตามคำร้องของจำเลยที่ 4”

    ภายหลังการพิจารณาของศาล ญาติของจำเลยที่ 4 ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ใช้หลักประกันเป็นที่ดินราคาประเมินจำนวน 1.4 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ครั้งนี้ถือเป็นการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ของจำเลยที่ 4

    (อ้างอิง: 'คดีแอบอ้าง “สมเด็จพระเทพฯ” ที่ศาลกำแพงเพชร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหา' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/22/112kampangpetch_2/)
  • ศาลได้สอบข้อเท็จจริงที่คู่ความสามารถรับกันได้ แต่ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่คู่ความรับกันได้ จากนั้นทางฝ่ายโจทก์ได้แถลงจะนำพยานเข้าสืบจำนวน 23 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 16-18 สิงหาคม 2559 รวม 6 นัด

    ขณะที่จำเลยที่ 1 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 20 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 30-31 สิงหาคม 2559 และวันที่ 1-2 และ 6 กันยายน 2559 รวม 5 นัด

    ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 7 กันยายน 2559 รวม 1 นัด

    ส่วนจำเลยที่ 4 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 8-9 กันยายน 2559 รวม 2 นัด รวมแล้วนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมดจำนวน 14 นัด

    (อ้างอิง: 'ศาลกำแพงเพชรนัดสืบพยานคดีม.112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. รวม 14 นัด' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/05/112kampangpetch_3/)
  • ในการสอบคำให้การใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แถลงต่อศาล ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 และให้จำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด หากโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่กำหนด

    ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พ.ค. 59 เวลา 9.30 น. โดยศาลระบุว่าต้องส่งร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ตรวจสอบก่อน

    (อ้างอิง: 'สองจำเลยคดีม.112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ด้านอีกสองจำเลยยืนยันปฏิเสธข้อหา' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/04/23/112kampangpetch_4/)
  • พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีนางอัษฎาภรณ์เป็นจำเลยที่ 1 และนายนพฤทธิ์เป็นจำเลยที่ 2 ในคดี โดยคำฟ้องในคดีใหม่นี้เขียนในลักษณะเดียวกันกับคำฟ้องในคดีเดิม แต่ไม่ได้มีการฟ้องในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146 เหมือนในคดีแรก โดยศาลได้นัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีใหม่นี้ ในวันที่ 6 มิ.ย. 59

    (อ้างอิง: 'ศาลพิพากษาสองจำเลยคดี 112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ จำคุก 7 ปี 4 เดือน' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/30/112kampangpetch_5/)
  • ศาลได้อ่านคำพิพากษาในส่วนของนายกิตติภพและนายวิเศษ โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน

    ในการอ่านคำพิพากษา ศาลได้อ่านเฉพาะเรื่องการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสอง แต่ไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ แต่อย่างใด

    (อ้างอิง: 'ศาลพิพากษาสองจำเลยคดี 112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ จำคุก 7 ปี 4 เดือน' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/30/112kampangpetch_5/)
  • นางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจำเลยทั้งสองได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี ศาลจึงให้คู่ความนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ส.ค.59 เวลา 9.00 น.

    นอกจากนั้นนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 และทนายความ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ใช่บุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าการขอให้ศาลขี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบความผิดมาตรา 112 เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ แม้จะวินิจฉัยก็ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ โจทก์ยังคงต้องนำสืบพยานในข้อหาอื่นอีก จึงเห็นควรให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นก่อน และรอวินิจฉัยพร้อมกับคำพิพากษา

    ภายหลังการสอบคำให้การ ญาติของนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 1.7 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และมีหลายข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี โดยนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่จำเลยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: 'ศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 จำเลยคดี 112 แอบอ้าง ‘พระเทพฯ’ ขณะนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 ส.ค.' เว็บไซต์ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/06/07/112kampangpetch_6/)
  • ก่อนเริ่มพิจารณา ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมาย ปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยื่นคำร้องขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนคำร้องขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น ศาลให้ทนายจำเลยที่ 2 หาข้อมูลเพื่อยืนยันว่า พยานที่จำเลยจะส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น ปากนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้อย่างไร

    ในช่วงบ่าย โจทก์แถลงขอสืบพยานบุคคล 23 ปาก ระยะเวลา 6 นัด และทนายจำเลยแถลงสืบพยานบุคคลจำนวน 8 ปาก ใช้เวลาที่ศาลนี้ 2 นัด และพยานลำดับที่ 9 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ศาลอื่น จำเลยที่ 2 ประสงค์จะสืบพยานปากนี้ในประเด็นโดยตรงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามป.อาญา มาตรา 112 พยานดังกล่าวรับราชการ ไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลนี้ได้ จึงขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น หรือสืบพยานโดยการประชุมผ่านจอภาพ ณ ศาลที่เป็นภูมิลำเนาของพยาน

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสอง จึงอนุญาตให้สืบพยานจำเลยที่ 2 โดยผ่านการประชุมทางจอภาพ แต่ต้องประสานกับศาลที่มีภูมิลำเนาของพยานก่อน จึงต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เสร็จก่อน แล้วจึงกำหนดวันนัด

    ศาลอนุญาตสืบพยานโจทก์ จำนวน 6 นัด (22-24 พ.ย. 59, 15-16 ธ.ค. 59 และ 26 ม.ค. 60) สืบพยานจำเลยที่ 1 จำนวน 5 นัด (16-17 ก.พ. 60, 23-24 ก.พ. 60 และ 14 มี.ค. 60) และสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่ศาลนี้ 2 นัด (27-28 เม.ย. 60)

    หลังการพิจารณาคดี ญาติของจำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 เป็นครั้งที่ 5 แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีหลายข้อหา และมีพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยที่ 2 อาจหลบหนี หรืออาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน"

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2559)
  • จากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ว่าสิ่งที่จำเลยกระทำตามฟ้องนั้นไม่ได้เป็นความผิดตามป.อาญา มาตรา 112 นอกจากนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ด้วย

    (อ้างอิง: อุทธรณ์คัดค้านคำสั่ง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 7 กันยายน 2559)
  • ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจาก "พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และกระทำเป็นกระบวนการ จึงย่อมปกปิดมิให้บุคคลอื่นซึ่งไมไ่ด้เกี่ยวข้องรู้เห็นหรือร่วมในการกระทำด้วย มิฉะนั้นการกระทำผิดอาจถูกเปิดเผย การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในกลุ่มบุคคลซึ่งแอบอ้างดังกล่าว ย่อมส่งให้เป็นพิรุธน่าสงสัย ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูงและมีหลายข้อหา หากปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาไปแล้ว เกรงว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้ว ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: ที่ ศย.306.002/9710 ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ถึง ผู้บัญชาการเรือนจำกำแพงเพชร ลงวันที่ 12 กันยายน 2559)
  • ญาติและทนายความของนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยร้องเรียนว่าคดีนี้มูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยนั้น หารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาทไว้แล้วเพียงพระองค์เดียว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงมิใช่บุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามความหมายแห่งมาตรา 112 การกระทำตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112

    ทางจำเลยจึงได้ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรไทรงาม สอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาท และขอให้ถอนฟ้องคดีในความผิดตามมาตรา 112 ด้วย

    (อ้างอิง: 'ยังไม่เริ่มสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ – ด้านญาติหนึ่งในจำเลยยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=3072)
  • พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้ยื่นฟ้องจำเลยสี่คนในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตนเป็นคนอื่นเข้ามาเพิ่มเติม อัยการโจทก์ได้แถลงศาลถึงเหตุที่เพิ่งมีการฟ้องคดีเพิ่มเติม ว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อผู้ต้องหาทั้งสี่คนมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้ว แต่การทำสำนวนในข้อหาดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้ส่งฟ้องคดี แต่เมื่อได้มีการสอบพยานชาวบ้านเพิ่มเติมอีกหลายปากแล้ว และได้พยานหลักฐานเพียงพอ จึงได้มีการสั่งฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชนเข้ามา

    อีกทั้ง อัยการโจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรวมการพิจารณาคดีในข้อหามาตรา 112 และข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่ฟ้องเข้ามาใหม่เข้าด้วยกัน เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน และพยานหลักฐานที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวพันกันและเป็นพยานชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาคดี

    (อ้างอิง: 'เลื่อนสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ เหตุอัยการฟ้องคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มอีก' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=2863)
  • จากที่มีการเพิ่มเติมฟ้อง ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลจึงได้สอบถามจำเลยสองคนที่ถูกนำตัวมาศาลในนัดนี้ คือนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ทั้งคู่ได้ยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่คัดค้านการรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน ด้านนายนพฤทธิ์ ยังได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาล ว่าตนไม่คัดค้านในการรวมการพิจารณาคดี แต่ตนติดคุกมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือนแล้ว โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีการฟ้องมา ตนพร้อมจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ขอให้ศาลได้ให้ประกันตัวออกไปต่อสู้คดีและจัดการภาระส่วนตัว โดยตนโดนจับกุมมาขณะอยู่ในชุดทำงาน ไม่มีหมายเรียกมาก่อน งานก็ไม่ได้กลับไปทำอีก และตนก็เพิ่งจะแต่งงานก่อนหน้าโดนจับกุม

    ภายหลังการสอบถามจำเลย ศาลได้ขอเข้าไปปรึกษากับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ก่อนจะมีความเห็นว่าเพื่อไม่ให้เสียวันนัดความ ที่มีการนัดสืบพยานไว้แล้วในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. 59 จึงให้เบิกตัวนายกิตติภพและนายวิเศษ จำเลยที่ถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมด้วย มาสอบคำให้การในวันต่อมา ขณะที่การสืบพยานให้ยกเลิกนัดในเดือนพ.ย.ไปก่อน

    (อ้างอิง: 'เลื่อนสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ เหตุอัยการฟ้องคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มอีก' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=2863)
  • มีการเบิกตัวจำเลยทั้งสี่คนมาศาล โดยศาลได้มีการแจ้งสิทธิ์ต่อจำเลย และให้อัยการโจทก์ชี้แจงถึงคดีใหม่ข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่มีการฟ้องเพิ่มเข้ามา จากนั้น นางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาใหม่นี้ ขณะที่นายกิตติภพได้ขอเวลาติดต่อกับมารดาที่ไม่ได้มาศาลก่อน เพื่อขอคำปรึกษา ส่วนนายวิเศษได้ขอปรึกษากับทนายความ เนื่องจากทั้งคู่เพิ่งทราบว่ามีการฟ้องร้องคดีใหม่เข้ามา แต่เนื่องจากยังไม่มีทนายความ ศาลจึงได้แต่งตั้งทนายความขอแรงเพื่อได้ให้คำปรึกษากับนายวิเศษ และให้เวลาจำเลยได้พิจารณาตัดสินใจ

    จนการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย จำเลยทั้งสองคนก็ได้แถลงต่อศาลขอเวลาในการตัดสินใจ ปรึกษาทนายความ และพิจารณารายละเอียดในคดีต่างๆ ก่อนจะให้การ ศาลจึงให้เลื่อนการสอบคำให้การในคดีฉ้อโกงประชาชนไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.59 ขณะที่คดีมาตรา 112 ของนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานในเดือน พ.ย.และธ.ค.59 ที่นัดไว้เดิม และเลื่อนการวินิจฉัยเรื่องการรวมการพิจารณาคดีไปในวันที่ 15 ธ.ค. 59 เช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: 'เลื่อนสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ เหตุอัยการฟ้องคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มอีก' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=2863)
  • ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมในคดีของนางอัษฎาภรณ์ และพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

    ในการถามคำให้การในข้อหาฉ้อโกงประชาชนนี้ นายกิตติภพ และนายวิเศษ จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้การรับสารภาพ โดยทนายขอแรงของจำเลยทั้งสองได้แถลงประกอบคำรับสารภาพว่าฟ้องใหม่ของโจทก์นี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีเดิม ขณะที่นางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 1 และ 4 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นคดีใหม่ เข้ามาภายใน 7 วัน ขณะที่ในคดีมาตรา 112 เดิม ยังต้องรอการฟ้องของอัยการในคดีใหม่นี้มา ศาลจึงได้นัดหมายสอบคำให้การและฟังคำสั่งเรื่องการรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน ในวันที่ 26 ม.ค. 60 โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานในเดือน ธ.ค. 59 และม.ค. 60 แต่คงวันนัดหลังจากนั้นไว้

    ในช่วงบ่าย ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีฉ้อโกงประชาชน ของนายกิตติภพและนายวิเศษ โดยพิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำผิดในคดีนี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และจำเลยทั้งสองได้รับสารภาพในคดีเดิม พร้อมกับที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เรื่องการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก ให้ยกฟ้องคดีนี้

    ในนัดนี้ ทนายของนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ยังได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นอีกครั้ง ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 โดยยื่นเอกสารประกอบทั้งกฎมณเฑียรบาล เอกสารในคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศต่างๆ ในราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเรื่องการอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยยกคำร้องตามเดิม โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้

    (อ้างอิง: 'ยังไม่เริ่มสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ – ด้านญาติหนึ่งในจำเลยยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=3072)
  • ศาลได้นัดถามคำให้การในคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน จำเลยทั้งสองคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และทนายความของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคำฟ้องในคดีนี้ เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีมาตรา 112 ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคำฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนหรือไม่ ส่วนอัยการโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีนี้กับคดีมาตรา 112 โดยที่ศาลที่นั่งบัลลังก์ให้รอพิจารณาคำร้องต่างๆ ในนัดวันนี้

    ในนัดนี้ ศาลได้สอบถามฝ่ายจำเลยทั้งสองคนเรื่องการรวมการพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้าน ศาลจึงวินิจฉัยให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน เนื่องจากเห็นว่าคดีเกี่ยวข้องและมีมูลคดีเดียวกัน คู่ความเดียวกัน และพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ในส่วนคำร้องขอวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นของฝ่ายจำเลยทั้งสองคน เรื่องการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน ศาลเห็นว่าคดีทั้งสอง ยังไม่มีการสืบพยานและพิพากษาคดี จึงให้รอฟังการสืบพยานให้เสร็จสิ้นก่อน โดยศาลจะสั่งในคำพิพากษา

    ขณะเดียวกัน อัยการยังแถลงว่าด้วยเหตุที่ญาติของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งถอนฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 โจทก์จึงได้รับการประสานให้ส่งสำนวนคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดผ่านสำนักงานอัยการภาค 6 จึงยังไม่พร้อมที่จะให้มีการตรวจพยานหลักฐานในขณะนี้ ทำให้ฝ่ายจำเลยทั้งสองแถลงขอให้โจทก์ขอสำเนาเอกสารกลับคืนมา เพื่อจะใช้ตรวจพยานหลักฐานและสืบพยานต่อไป ขณะที่เรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน ศาลจึงให้อัยการโจทก์เร่งติดตามสำนวนคดีมา และกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ก.พ.60 โดยให้ยกเลิกวันสืบพยานที่กำหนดไว้เดิม

    (อ้างอิง: '“ผมเป็นแค่คนที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกปฏิบัติราวกับนักโทษ”: เสียงจากจำเลยคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ หลังการสืบพยานยังไม่เริ่ม' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=3393)
  • ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพิจารณาในคดีของนางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกผลประโยชน์ โดยในนัดนี้ศาลให้รวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่ฟ้องเข้ามาใหม่ตามคำร้องของอัยการโจทก์ และยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนหรือไม่

    (อ้างอิง: '“ผมเป็นแค่คนที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกปฏิบัติราวกับนักโทษ”: เสียงจากจำเลยคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ หลังการสืบพยานยังไม่เริ่ม' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=3393)
  • ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานแบบต่อเนื่อง โดยให้กำหนดวันนัดติดต่อกันวันละ 4 ปาก สำหรับโจทก์ 6 นัด ที่ศาลนี้ และผ่านจอภาพอีก 2 นัด สำหรับจำเลยที่ 1 มี 20 ปาก กำหนดให้ 6 นัด ตามที่ขอ สำหรับจำเลยที่ 2 นัดสืบพยานที่ศาลนี้ 1 นัด และนัดสืบพยานผ่านจอภาพอีก 7 นัด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2560)
  • ศาลจังหวัดกำแพงเพชรออกหมายเรียกพยานวัตถุ ส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งพยานวัตถุดังกล่าวคือ ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 281/2532 เรื่องการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาทมาตรา 112 และในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

    เอกสารดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ โดยทางกรมตำรวจ (ขณะนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัยถึงสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ โดยบันทึกฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าทางกรมตำรวจเคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังในเรื่องนี้ และสำนักพระราชวังได้เคยแจ้งว่าในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า “สยามบรมราชกุมารี” ในท้ายพระนามของพระเทพฯ ซึ่งแปลว่าลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น “สยามมกุฏราชกุมารี” จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่อย่างใด

    ครั้งนั้น ทางกรมตำรวจได้สอบถามมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (1) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ และ (2) หากไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะทำอย่างไร

    คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่สำนักพระราชวังเคยตอบต่อกรมตำรวจ กล่าวคือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้

    ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 326 ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้ ดังนั้น ในกรณีสมเด็จพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ท่านซึ่งเป็นผู้เสียหาย ทรงสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ และฟ้องคดีอาญาแทนได้

    (อ้างอิง: คำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และ "สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต ก่อนเริ่มสืบพยานคดีแอบอ้างที่กำแพงเพชร" เว็บไซต์ https://www.tlhr2014.com/?p=4680 )


    นอกจากนี้ นายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมให้ถอนฟ้องคดี ต่ออัยการสูงสุด ผ่านอัยการจังหวัดกำแพงเพชร ระบุว่า คำฟ้องของพนักงานอัยการในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 3434/2559 เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และขัดต่อหลัก "บุคคลไม่ควรถูกพิจารณาในมูลคดีเดียวกัน 2 ครั้ง" เนื่องจากพนักงานอัยการได้ฟ้องนายนพฤทธิ์เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ต่อศาลกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 และต่อมา 20 ธันวาคม 2559 พนักงานอัยการฟ้องนายนพฤทธิ์เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3434/2559 ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งคู่ความทั้งสองคดีเป็นคู่ความเดียวกัน การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดตามที่พนักงานอัยการกล่าวหาทั้ง 2 คดี เป็นการกระทำผิดในคราวเดียวกัน และมีเจตนาเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีที่สอง ขณะที่คดีแรกยังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์จำเลย การฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 3434/2559 จึงเป็นการฟ้องซ้อน จึงขอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องใคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3434/2559

    (อ้างอิง: หนังสือร้องขอความเป็นธรรม นายนพฤทธิ์ ดุจดา ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560)
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบกลับผู้พิพากษาหัวหน้่าศาลจังหวัดกำแพงเพชร หลังจากที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดส่งเอกสารความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 281/2532

    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารลับ และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่สามารถจัดส่งเอกสารตามหมายเรียกได้

    ก่อนหน้านี้ เอกสารดังกล่าวเคยเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ก่อนแล้ว กระทั่งมีการขอให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวมา จึงมีการนำลงจากเว็บไซต์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้อีก

    (อ้างอิง: ที่ นร 0910/221 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ นายพรเทพ จันทร์ต้น ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

    นายพรเทพเบิกความว่า ทำบุญที่วัดไทรงามมาตลอด 20 ปี เคยเห็นจำเลยที่ 1 (นางอัษฎาภรณ์) มาทำบุญที่วัดตั้งแต่ปี 2556 พยานได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดไทรงามให้เป็นประธานกรรมการวัด

    ในปี 2557 วัดไทรงามได้มอบหมายให้นางสุมาลี อินทอง เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตอัญเชิญสมเด็จพระเทพฯ ตามขั้นตอนของราชการ ซึ่งต่อมาพบปัญหาอุปสรรค จึงมีการประชุมคณะกรรมการ โดยจำเลยที่ 1 มาร่วมประชุมด้วย และมีผู้ชายอีก 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น จำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นหลานชาย ทำงานอยู่ในวัง เป็นกองงานของสมเด็จพระเทพฯ สามารถช่วยดำเนินการทางด้านเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้องได้ และแนะนำผู้ชายอีกคนว่าว่าเป็นหม่อมหลวงจิรเทพ ทำงานอยู่ที่กองงานสมเด็จพระเทพฯ จากนั้นจำเลยที่ 1 จึงรับว่าจะไปดำเนินการเกี่ยวกับการอัญเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาตัดหวายลูกนิมิต

    หลังจากนั้นเจ้าอาวาสได้นำหนังสือของสมเด็จพระเทพฯ ที่มีเนื้อความว่า ยินดีจะเสด็จไปพบกับราษฎรในจังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาปลายปี 2557 มารดาของเจ้าอาวาสถึงแก่กรรม มีผู้นำพวงหรีดจากสมเด็จพระเทพฯ หม่อมหลวงจีรเทพ และหม่อมหลวงอีกท่านมาทำความเคารพศพ งานสวดอภิธรรมศพถูกยืดออกไปอีก 1 วัน เพราะจะมีตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ มาเป็นเจ้าภาพ จึงมีการจัดเตรียมการต้อนรับใหญ่โต ซึ่งมีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ และหม่อมหลวงจักราภา แต่งชุดปกติขาว ประดับเครื่องหมายสังกัด ซึ่งมีการเชิญหม่อมหลวงดังกล่าวเป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียน

    ต่อมา ก่อนถึงวันครบรอบฉลองอายุครบ 51 ปี ของเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสได้นำหนังสือที่จะมีตัวแทนของสมเด็จพระเทพฯ คือ หม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพมาร่วมงาน ต่อมานางสุมาลีเกิดสงสัยในหนังสือดังกล่าว จึงได้นำเรื่องไปปรึกษานายอำเภอ และนายอำเภอนำเรื่องไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จากนั้นทราบว่ามีการตรวจสอบ จึงรู้ว่าเป็นหนังสือปลอม นายอำเภอจึงเรียกพบและแจ้งพยานว่าเป็นหนังสือปลอม ให้วัดไทรงามไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และพวก แต่เจ้าอาวาสต้องการรอให้ถึงวันงานว่าจะมีบุคคลจริงหรือผู้แอบอ้างมาในงาน

    26 เมษายน 2558 วันงาน มีการจัดงานต้อนรับอย่างเป็นทางการ เวลานั้นมีบุคคล 4 คน มานั่งบริเวณที่จัดไว้เป็นที่นั่งสำหรับประธานในพิธี ได้แก่ จำเลยที่ 1 บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ หม่อมหลวงจักราภา และอีกคนซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นั้นเป็นคนใดคนหนึ่งระหว่างหม่อมหลวงจีรเทพและหม่อมหลวงจักราภา

    หลังเกิดเหตุ พยานมาดูหลักฐานที่วัด พบว่าค่าเสียหายเป็นจำนวนประมาณ 1,000,000 บาท โดยส่วนใหญ่โอนให้จำเลยที่ 1 และเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้พยานไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ไทรงาม เพื่อดำเนินคดี


    พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า เจ้าอาวาสเคยให้พยานไปถอนคำร้องทุกข์ แต่พยานได้บอกว่าจะถอนคำร้องทุกข์ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมาคืน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการ พยานไม่ทราบว่าเจ้าอาวาสจะมอบอำนาจใครไปถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ ต่อมาทราบว่าเจ้าอาวาสมอบอำนาจให้ทนายความมาถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น

    ที่พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 มาทำบุญที่วัดตั้งแต่ปี 2556 เพราะดูจากรายชื่อ จำเลยที่ 1 ทำบุญเป็นประจำทุกปี เป็นเงินจำนวนมากตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมของวัดโดยสำรองเงินจ่ายไปก่อน ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และชาย 2 คนมาร่วมด้วย พยานไม่ทราบว่าเจ้าอาวาสจะเคยติดต่อกับคนเหล่านั้นมาก่อนหรือไม่ ส่วนบุคคลที่รับว่าจะดำเนินการอัญเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาตัดหวายลูกนิมิตให้เสร็จภายใน 2 เดือน คือบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ ไม่ใช่จำเลยที่ 1

    พยานตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ตามเอกสารดังกล่าวไม่มี ข้อความใดลบหลู่สมเด็จพระเทพฯ พยานไม่เคยพูดคุยสนทนากับจำเลยทั้งสอง รวมถึงนายกิตติภพและนายวิเศษมาก่อน ในงานสวดพระอภิธรรมศพ ได้มีการจัดที่นั่งต่างหากจากบุคคลอื่นสำหรับผู้อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงทั้งสอง หลังจากสวดพระอภิธรรมเสร็จ ผู้อ้างตัวเป็นหม่อมหลวงทั้งสองก็ขึ้นรถกลับทันที ในงานอายุวัฒนะ เมื่อผู้แอบอ้างเดินทางมาถึง บรรดาแขกในงานไม่ได้ลุกขึ้นยืนต้อนรับ การจัดที่นั่งก็จัดให้นั่งรวมกับแขกอื่นๆ ในงาน แต่เป็นจุดเด่นกว่า การแต่งกายก็เป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงสแล็คดำ

    พยานตอบถามติงอัยการโจทก์ว่า หนังสือตอบกลับจากรองราชเลขาธิการ เมื่อเห็นครั้งแรกก็รู้สึกผิดสังเกต เพราะมีแค่ย่อหน้าเดียว แตกต่างจากระเบียบงานสารบัญ แต่มาทราบว่าเป็นหนังสือภายใน จึงคิดว่าอาจมีรูปแบบแตกต่างจึงไม่ได้ติดใจ ในงานอายุวัฒนะ มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรท้องถิ่นและตำรวจมาร่วมงานด้วย แต่พยานไม่ได้ดำเนินการ เพราะเจ้าอาวาสเคยบอกก่อนแล้วว่า จะขอดูว่าเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม


    หลังการสืบพยานโจทก์ปากนี้ ศาลได้กำชับให้สืบพยานของแต่ละฝ่ายให้เสร็จตามกำหนดนัดของตัวเอง ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นพิเศษ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชรก่อนด้วย โจทก์แถลงว่ายังมีพยานอีก 2 ปากที่นำมาสืบด้วย แต่เนื่องจากหมดเวลาราชการแล้ว จึงขอเลื่อนไปสืบในวันพรุ่งนี้

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายพรเทพ จันทร์ต้น และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 นางสุมาลี อินทอง

    นางสุมาลีเบิกความว่า ตนเองอาศัยอยู่ที่อำเภอไทรงามมาตั้งแต่เกิด และทำบุญกับวัดไทรงามตั้งแต่เริ่มมีวัด แต่ไม่ได้เป็นกรรมการวัด เมื่อปี 2556 พระครูโสภณวชิรกิจ เจ้าอาวาสวัดไทรงามมีดำริว่าจะกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ตัดหวายลูกนิมิตที่วัด ต่อมาช่วงปี 2557 พยานได้รับมอบหมายให้จัดทำหนังสือทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ พยานจึงไปประสานกับวัฒนธรรมจังหวัด

    10 มกราคม 2558 เจ้าอาวาสบอกกับพยานว่า จะมีตัวแทนสำนักพระราชวังจะมาวัดในวันที่ 11 มกราคม 2558 เพื่อประชุมและขอเอกสารทูลเชิญฯ ไปทำเอง เมื่อถึงวันดังกล่าว พยานได้ร่วมประชุมกับตัวแทนสำนักพระราชวัง คือนางอัษฎาภรณ์ ซึ่งแนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนของวัดไปประสานงานกับสำนักพระราชวัง และแนะนำผู้ชาย 2 คน ว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นตัวแทนของสมเด็จพระเทพฯ และชายอีกคนชื่อ นายกิตติภพ สิทธิราช เลขาของหม่อมหลวงจีรเทพ

    ระหว่างประชุม จำเลยที่ 1 ได้ขอเอกสารทั้งหมด พยานได้ให้เอกสารของทางวัดไป โดยบอกว่าเอกสารแบบอื่นสำนักพระราชวังทำได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังขอเอกสารทั้งหมด รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือโต้ตอบกับสำนักพระราชวังที่พยานปรินท์จากอินเทอร์เน็ต ก็ขอไปเป็นต้นแบบด้วย

    ต่อมา 24 มกราคม 2558 มารดาของเจ้าอาวาสถึงแก่กรรม มีตัวแทนนำพวงหรีดจากหม่อมหลวงจักราภา อาภากร, หม่อมหลวงจีรเทพ, นายกิตติภพ และของจำเลยที่ 1 มาเคารพศพ มีการขึ้นป้ายที่ทางเข้าหน้าวัดว่า ในวันที่ 30 ม.ค. 58 สมเด็จพระเทพฯ มอบหมายให้หม่อมหลวงจีรเทพเป็นตัวแทนมาสวดอภิธรรมศพและจะเป็นประธานในพิธี ต่อมา มีโทรศัพท์จากกองงานสมเด็จพระเทพฯ ให้ประดับธงของสมเด็จพระเทพฯ และธงชาติ เพื่อต้อนรับผู้แทน และทราบว่าทางวัดไทรงามได้ประสานมาให้ข้าราชการแต่งชุดปกติขาวต้อนรับในงานด้วย และให้พยานติดต่อให้มีรถตำรวจนำขบวนในวันที่ 30 ม.ค.

    จากนั้นวันที่ 30 มกราคม พยานสอบถามจำเลยที่ 1 ว่าเหตุใดต้องจัดให้มีรถตำรวจนำขบวน และให้ข้าราชการแต่งชุดปกติขาว จำเลยที่ 1 บอกว่า ตัวแทนพระองค์ก็เสมือนพระองค์เสด็จเอง พยานได้สอบถามทะเบียนรถเพื่อจะได้ไปนำขบวนได้ถูก แต่จำเลยที่ 1 ไม่บอกเลขทะเบียนรถ อ้างว่าเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย และได้บอกให้รถตำรวจไปรับที่วงเวียนต้นโพธิ์ในตัวเมือง แต่พยานบอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องมีหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นการเสด็จส่วนพระองค์ พยานจึงต่อรองให้ไปรับที่บริเวณตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอไทรงาม

    เมื่อถึงเวลา พยานได้แต่งชุดปกติขาวมาต้อนรับ พร้อมข้าราชการระดับสูงอื่นๆ ด้วย จากนั้นมีบุคคลอ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ บิดามารดาของจำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ เดินทางมาในรถยนต์คันเดียวกัน โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยืนเป็นสองแถวรอต้อนรับ เมื่อถึงเวลา พิธีกรได้เชิญหม่อมหลวงจีรเทพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ในฐานะประธานในพิธี

    ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2558 เจ้าอาวาสได้ให้นายพรเทพอ่านหนังสือที่ได้รับมาจากสมเด็จพระเทพฯ ว่าจะมอบหมายให้ผู้แทนคือหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพมางานวันเกิดเจ้าอาวาสที่จะจัดวันที่ 26 เม.ย. 58 เจ้าอาวาสให้พยานเชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมงาน แต่เมื่อพยานเห็นหนังสือดังกล่าวแล้วไม่เชื่อว่าจะเป็นหนังสือมาจากสำนักพระราชวังจริง

    เบื้องต้นเห็นว่าตัวหนังสือและตราประทับน่าจะไม่ใช่ของสำนักพระราชวัง จึงท้วงติงเจ้าอาวาส แต่เจ้าอาวาสไม่เชื่อ ยังคงให้นายพรเทพนำหนังสือเชิญข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งพยานได้บอกนายพรเทพว่าอย่าส่งหนังสือ แต่นายพรเทพไม่เชื่อ ได้ส่งหนังสือออกไป จนเมื่อนายอำเภอไทรงามทักท้วงและให้รีบเก็บหนังสือดังกล่าวโดยด่วน แต่ไม่สามารถเก็บได้ทัน เพราะหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ ได้สั่งให้วัฒนธรรมจังหวัดตรวจสอบเอกสาร ปรากฏว่าไม่ใช่เอกสารที่แท้จริงจากสำนักพระราชวัง เพราะถ้าเป็นเอกสารจริง จะต้องผ่านมาทางผู้ว่าฯ เสมอ

    หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พยานได้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเอกสารเท็จที่ห้องของนายอำเภอ ยังไม่ทันเริ่มประชุมก็มีโทรศัพท์ของนายกิตติภพเข้ามา พยานจึงเปิดลำโพงให้คนในที่ประชุมฟัง นายกิตติภพต่อว่าเรื่องโทรศัพท์เข้าสถานที่ราชการไม่ได้ และต่อว่านายอำเภอว่าไม่สนใจจัดการจะต้องเจอดี และจากการพูดคุยในที่ประชุม ได้แจ้งให้วัดไทรงามไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานได้ไปบอกเจ้าอาวาสให้แจ้งความ แต่เจ้าอาวาสเชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่หลอก จึงยังไม้่ได้ไปแจ้ง

    เมือ่ถึงวันงานอายุวัฒนะ พยานได้ไปร่วมงานด้วย มีรถตู้สีขาวมาจอดที่วัด ผู้ที่ลงจากรถมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภา หม่อมหลวงจีรเทพ จำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ ขณะทำพิธี พิธีกรกล่าวเชิญประธานขึ้นจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จำเลยที่ 1 ได้สะกิดจำเลยที่ 2 และมีเจ้าหน้าที่มาเชิญจำเลยที่ 2 ไปจุดธูปเทียน เมื่อเสร็จพิธี บุคคลทั้งหมดเดินไปที่รถตู้ โดยพิธีกรได้กล่าวขอบคุณหม่อมหลวงจักราภาที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี

    หลังจากที่วัดไทรงามแจ้งความแล้ว พยานทราบว่ามีค่าเสียหายประมาณ 1,000,000 บาท


    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ไม่เคยเห็นหน้าจำเลยที่ 1 หม่อมหลวงจีรเทพ และนายกิตติภพมาก่อน คนที่แนะนำบุคคลทั้งหมดคือเจ้าอาวาส โดยแนะนำจำเลยที่ 1 ว่าเป็นตัวแทนของวัดประสานงานกับสำนักพระราชวัง และจำเลยที่ 1 ก็บอกว่าตัวเองเป็นผู้แทนของวัดไปประสานกับสำนักพระราชวัง และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ที่พูดเกี่ยวกับขั้นตอนการทูลเชิญในรายละเอียด ส่วนนายวิเศษและนายกิตติภพไม่ได้พูดอะไรมาก

    ในวันงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาส มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก และคนในงานเข้าใจว่าประธานในพิธีเป็นตัวแทนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ จริง พยานเองก็เข้าใจเช่นนั้น

    ในวันงานอายุวัฒนะ พยานไม่ได้บอกใครว่าเป็นเอกสารปลอมเพราะไม่กล้าเผยแพร่ พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเอกสารปลอมหรือไม่ ปัจจุบันนี้พยานก็ไม่แน่ใจว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ปัจจุบันพยานยังไม่ได้จ่ายค่าลูกนิมิต 100,000 บาท รวมถึงเงินทูลเกล้า 10,000 บาท ซึ่งจะได้เข็มที่ระลึกก็ยังไม่ได้จ่าย และความจริงแล้วทางวัดจะเสียหายถึง 1,000,000 บาทหรือไม่ พยานไม่ทราบ และไม่ทราบว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีเงินที่มีคนประสงค์จะทำบุญรายละ 10,000 หรือไม่ พยานทราบว่ามีคนทำบุญมาบ้างแล้ว ส่วนจะก่อนหรือหลังจากที่วัดจ่ายเงินไปหรอืไม่นั้น พยานไม่ทราบ

    หลังเกิดเหตุ พยานไม่เคยทราบว่า ทางวัดได้ประกาศว่าเงินที่ถูกฉ้อโกงไปนั้นเป็นเงินของวัด ไม่ใช่เงินที่บริจาคทำบุญรายละ 10,000 บาท แต่ส่วนนั้นทางวัดได้นำไปสร้างหลังคาวัดหรือศาลาหมดแล้ว หากใครต้องการเงินคืนให้มาขอหลังจากมีการทอดกฐิน แต่มีคนมาเล่าให้ฟังว่าเงินส่วนนี้บางคนได้ขอเงินคืน บางคนก็ถือว่าบริจาคให้วัดไป และเจ้าอาวาสไม่เคยเล่าใหัพยานฟังว่าในจำนวนนี้ มีเงินของจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาทด้วย

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ก่อนวันงานอายุวัฒนะ 26 เม.ย. 58 พยานไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 มาก่อน และไม่มีการประสานจากผู้อ้างว่าเป็นตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ ให้เทศบาลนำเจ้าหน้าที่ไปต้อนรับ ไม่มีการขึ้นป้ายใหญ่ว่า หม่อมหลวงทั้งสองจะมาร่วมงาน การจัดที่นั่งก็จัดคล้ายกับที่จัดในงานศพมารดาเจ้าอาวาส แต่ไม่ปูพรมแดง และก่อนที่จำเลยทั้งสองจะมาถึง ทางที่จัดงานก็ไม่มีการประกาศว่าจะมีหม่อมหลวงทั้งสองมา เมื่อมาถึงเจ้าอาวาสก็ไม่ได้ลุกไปต้อนรับคณะของจำเลยทั้งสอง

    พยานทราบอยู่แล้วว่าน่าจะเป็นเอกสารปลอม จึงสนใจบุคคลที่กำลังเดินเข้ามานั่งในที่ประธานในพิธี ซึ่งจำเลยที่ 2 แต่งกายโดยนุ่งกางเกงสแล็คสีดำและเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวหรือฟ้า โดยไม่มีการแต่งกายใช้เครื่องประดับที่แสดงสถานะเป็นพิเศษ นอกจากนี้ คณะของจำเลยก็ไม่ได้มีช่อดอกไม้หรือสิ่งของที่จะเป็นลักษณะของกำนัลหรือของพระราชทานมาให้แก่ทางวัด รวมทั้งไม่มีสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นตัวแทนของสมเด็จพระเทพฯ และตอนที่พิธีกรประกาศเชิญประธานขึ้นจุดธูปเทียน ก็ไม่ได้ระบุว่า ประธานชื่ออะไร และไม่ได้ระบุถึงความเป็นตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ ด้วย

    พอพิธีกรประกาศเชิญประธาน จำเลยที่ 2 ก็ยังคงนั่งนิ่ง เมื่อประธานเชิญอีกครั้ง จำเลยที่ 1 จึงสะกิดหม่อมหลวงจีรเทพ แล้วหม่อมหลวงจีรเทพก็สะกิดหม่อมหลวงจักราภา และในระหว่างพิธี จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้บอกกล่าวหรืออ้างตนว่าตนเองคือหม่อมหลวงจักราภา หรือผู้แทนสมเด็จพระเทพฯ จนกระทั่งเสร็จพิธี จำเลยที่ 2 เดินไปที่รถตู้ พิธีกรจึงได้กล่าวขอบคุณโดยเอ่ยชื่อหม่อมหลวงจักราภา


    หลังจบการสืบพยานโจทก์ปากนี้ เป็นเวลา 18.20 น. ยังมีพยานรอเบิกความอีก 1 คน คือ นางภณัชษา บุญมี และพยานอีกสองปาก ซึ่งได้กลับไปแล้ว จึงขอเลื่อนไปสืบพรุ่งนี้ ศาลกำชับคู่ความให้ควบคุมเวลาในการสืบพยาน เพราะจะกระทบหน่วยงานอื่น เช่น เรือนจำ และการใช้เวลาถามค้านมาก ทำให้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานได้ทัน หากจำเป็น ศาลต้องเลื่อนเวลาสืบพยานโจทก์ออกไปอีก

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางสุมาลี อินทอง และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 น.ส.จุรีพร พันธุ์เขตร์กิจ ข้าราชการสำนักงานเทศบาลตำบลไทรงาม

    น.ส.จุรีพรเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 57 นางสุมาลีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้พยานเข้าร่วมประชุมที่วัดไทรงาม เพื่อให้จดรายงานการประชุม ซึ่งเรื่องดังกล่าวคือ ที่ประชุมต้องการให้นางสุมาลีทำหนังสือทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ จากนั้นได้มีการร่างหนังสือทูลเชิญฯ แล้วเสนอผู้เกี่ยวข้องลงนาม จนเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 58 นางสุมาลีได้ให้พยานเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนจากสำนักพระราชวังที่วัดไทรงาม เมื่อไปถึงพบผู้แทนจากสำนักพระราชวัง 3 คน คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งนางสุมาลีเรียกว่าเจ๊พร หม่อมหลวงจีรเทพ และชายอีกคนเป็นผู้ติดตาม

    เมื่อเริ่มประชุม พยานนั่งฟังและถ่ายภาพ จำเลยที่ 1 ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ประสานงานจากสำนักพระราชวัง และบอกว่าเรื่องทูลเชิญ จำเลยที่ 1 ขอเป็นผู้ดำเนินการเรื่องเอกสารทูลเชิญฯ และเรื่องรับเงินบริจาคเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ก็จะให้ทางสำนักพระราชวังดำเนินการเอง ระหว่างประชุม จำเลยที่ 1 ได้ขอบันทึกเสียงเพื่อนำไปทูลสมเด็จพระเทพฯ ให้ทราบว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว พยานลุกขึ้นถ่ายภาพประมาณ 3-4 ภาพ จำเลยที่ 1 ได้เข้ามาห้ามถ่ายภาพ และไม่ให้เผยแพร่ภาพที่ถ่ายไปแล้ว

    ต่อมานางสุมาลีสั่งให้พยานประดับธงพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพฯ และธงชาติตลอดแนวถนนตั้งแต่เทศบาลถึงวัดไทรงาม และให้จัดทำป้ายต้อนรับผู้แทนพระองค์ที่จะมาวันสวดพระอภิธรรมศพ 30 ม.ค. 58

    พยานไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 มาก่อน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ภาพถ่ายประกอบรายงานการประชุม พยานเพิ่งลงลายมือชื่อภายหลัง หากดูเฉพาะภาพถ่ายจะไม่ทราบว่าใครถ่าย พยานเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประสานงานจากสำนักพระราชวัง และวันที่มีการประชุม เจ้าอาวาสไม่ได้พูดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของวัดประสานงานกับสำนักพระราชวัง

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า พยานไม่ทราบว่าทางวัดมีการประชาสัมพันธ์เรื่องบริจาคเงิน 10,000 บาท เพื่อเข้าเฝ้าฯ หรือไม่ แต่ทราบจากคนในวัดว่าหาจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ จะต้องบริจาคเงินด้วย

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางสาวจุรีพร พันธุ์เขตร์กิจ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560)



    สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 นางภณัชษา บุญมี หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลไทรงาม และกรรมการวัดไทรงาม

    นางภณัชษา เบิกความว่า เป็นกรรมการวัดไทรงาม งานอายุวัฒนะของเจ้าอาวาสวัดไทรงามในปี 2558 จะจัดขึ้นเป็นพิเศษ เพราะทราบจากกรรมการวัดว่าก่อนหน้านี้ทางวัดประกาศวาจะมีผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ มาร่วมงานด้วย ในงานครั้งนี้ทางวัดจึงต้องการเชิญแขกผู้ใหญ่มาร่วมงาน จึงได้จัดทำหนังสือเรียนเชิญแขกผู้ใหญ่ และให้นายพรเทพช่วยดู เมื่อดูแล้วเห็นว่าถ้อยคำไม่สละสลวย นายพรเทพจึงมาให้พยานช่วยจัดพิมพ์หนังสือเชิญประชุม โดยจะต้องมีต้นเรื่องแนบไปด้วย ภายหลังพยานได้รับต้นเรื่อง จึงได้ดำเนินการส่งหนังสือเชิญไป แต่นางสุมาลีระงับการส่งหนังสือเชิญดังกล่าว พยานจึงตรวจดูพบว่า หนังสือต้นเรื่องที่ส่งจากสำนักพระราชวังไม่เหมือนกับรูปแบบของหนังสือจากสำนักพระราชวังที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ โดยพยานสังเกตเห็นว่าลักษณะตีนครุฑของสำนักพระราชวังต้องชี้ขึ้น และเป็นครุฑดุล แต่หนังสือต้นเรื่องไม่ใช่ครุฑดุล อีกทั้งไม่ปรากฏวันที่ในหนังสือต้นเรื่อง และการตัดคำ ตัดบรรทัด วรรคตอน ในการพิมพ์ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบงานสารบรรณ ทั้งถ้อยคำก็ไม่สละสลวย แตกต่างจากที่เคยมีมาจากสำนักพระราชวังที่ใช้ถ้อยคำเป็นทางการ ต่อมา พยานทราบว่านายอำเภอไทรงามเรียกนายพรเทพและนางสุมาลีไปพบ เพื่อแจ้งว่าหนังสือต้นเรื่องเป็นเอกสารปลอม จากนั้นทางวัดมีการพูดคุยกันว่าจะรอวันที่ 26 เม.ย. 58 เพื่อต้องการทราบว่าจะมีผู้แทนพระองค์ฯ มาจริงหรือไม่

    วันงานอายุวัฒนะ นอกจากบุคคล 3 คนนั้นแล้ว ก็มีชายที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภามาเป็นประธานในพิธี ซึ่งภายหลังจากงานไม่นาน นายสมพงษ์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินมาร่วมงานและนั่อยู่ด้านหลังประธานในพิธี แจ้งต่อนางสุมาลีว่า เคยรู้จักหม่อมหลวงจักราภามาก่อน บุคคลที่มางานไม่ใช่หม่อมหลวงจักราภา และพยานได้ไปคุยกับเจ้าอาวาส ต้องการทราบว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภาจริงหรือไม่ จึงได้ช่วยกันค้นหารูปทางอินเทอร์เน็ต จนพบภาพของหม่อมหลวงจักราภาองค์จริง ซึ่งหน้าตาไม่เหมือนกับคนที่มาในงาน

    เมื่อรู้ว่าบุคคลที่มางานไม่ใช่หม่อมหลวงจักราภา ทางวัดจึงพูดคุยเพื่อหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร และได้มอบอำนาจให้นายพรเทพไปแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพยานได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสให้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบว่าวัดได้เสียเงินไปกับการครั้งนี้หรือไม่ พยานจึงติดต่อแม่ชีพิมพาขอดูเอกสาร พบว่ามีหนังสือตอบรับการโอนเงินจากสำนักพระราชวัง แต่หลักฐานการโอนไม่ได้เข้าบัญชีสำนักพระราชวัง แต่โอนในบัญชีชื่อของจำเลยที่ 1 บ้าง หจก.สิทธิชัยก่อสร้างบ้าง และนายสิทธินันท์บ้าง ซึ่งจำนวนเงินที่โอนก็สอดคล้องกับจำนวนที่มีการตอบรับเป็นหนังสือจากสำนักพระราชวัง ซึ่งหนังสือเหล่านั้นก็มีลักษณะผิดสังเกตเช่นกัน นอกจากนี้ บุคคลที่ลงนามในหนังสือตอบรับก็ไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ทั้งที่มาจากองงานเดียวกัน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทูลเชิญฯ แต่แรก แต่เพิ่งมาเกี่ยวข้องตอนที่มาช่วยทำหนังสือปะหน้า โดยเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และวัฒนธรรมจังหวัด แต่หนังสือดังกล่าวนั้นมีการส่งไปที่อำเภอไทรงามที่เดียว และเจ้าอาวาสไม่เคยบอกว่าหนังสือดังกล่าวนั้นเป็นหนังสือภายในของสำนักพระราชวัง หลังจากที่นางสุมาลีทราบจากนายสมพงษ์ว่าไม่ใช่หม่อมหลวงจักราภาตัวจริงแล้ว ในวันดังกล่าวก็ไม่มีผู้มาดำเนินการอย่างไรกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภา

    ตามเอกสารการโอนของวัด มีเพียง 600,000 กว่าบาท เงิน 1,000,000 กว่าบาทที่วัดเสียหายไปนั้น เป็นเงินโอนจากบัญชีวัด ส่วนเงินที่ราษฎรจะทูลเกล้าคนละ 10,000 บาท จะมีการจ่ายให้วัดก่อนหรือหลังแม่ชีพิมพาโอนไปแล้ว พยานไม่ทราบ พยานไม่ได้ติดตามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบว่าหนังสือที่ปลอมนั้นจะมีผลอย่างไร แต่ที่พยานเข้าใจว่าปลอมนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของพยานเอง

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ในวันงานอายุวัฒนะ ไมได้มีการติดตั้งธงเพิ่ม แต่เป็นธงที่ประดับตั้งแต่วันงานศพมารดาเจ้าอาวาส และในวันดังก่าว จำเลยที่ 2 สวมเสื้อเชิ้ต ไม่ได้ใส่ชุดปกติขาว และผู้มาร่วมงานก็ไม่ได้ใส่ชุดปกติขาว รถที่พามาก็เป็นรถตู้ธรรมดา ไม่มีรถตำรวจนำขบวน พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะอ้างว่าตัวเองเป็นหม่อมหลวงหรือไม่ และไมได้ยินว่าจำเลยที่ 2 พูดอะไรไว้บ้าง และในหนังสือต้นเรื่องก็ไม่มีข้อความดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเทพฯ

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางภณัชษา บุญมี ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560)


    สืบพยานมาถึงเวลา 18.20 น. โจทก์แถลงขอเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ตามที่นัดไว้ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ส่วนพยานอื่นโจทก์จะนำมาสืบภายหลัง ศาลให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าว เริ่มจากสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพจากศาลอาญา ปากนางสาวสิยากร พูนพนิช แล้วจึงเป็นพยานตามหมายเรียกที่ศาลนี้

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 5 น.ส.สิยากร พูลพนิช อดีตผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงานราชเลขาธิการ เบิกความในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ผ่านสัญญาณโทรคมนาคมระหว่างศาลจังหวัดกำแพงเพชรกับศาลอาญา

    น.ส.สิยากรเบิกความว่า เจ้าพนักงานตำรวจสภ.ไทรงามเคยส่งเอกสารซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับวัดไทรงามมาให้พยานตรวจสอบว่าเป็นเอกสารที่ออกโดยสำนักราชเลขาธิการหรือไม่ พยานตรวจสอบดูแล้วพบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้ออกโดยสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งทางสำนักฯ ได้ส่งหนังสือตอบกลับสภ.ไทรงาม พร้อมตัวอย่างลายมือชื่อของรองราชเลาธิการ ตัวอย่างหนังสือกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ และตัวอย่างกระดาษครุฑดุลนูน

    นอกจากนี้พนักงานสอบสวน สภ.ไทรงามยังได้ให้ตรวจสอบบุคคล 4 คน ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในสำนักราชเลขาธิการหรือไม่ พยานตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่บุคลากรในสำนักราชเลขาธิการหรือกองราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพฯ และไม่เคยรับมอบหมายงานให้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ในเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อของผู้ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนของสำนักราชเลขาธิการ หรือกองงานในสมเด็จพระเทพฯ พยานไม่ได้ส่งรายชื่อบุคลากรของสำนักราชเลขาธิการให้แก่สภ.ไทรงาม

    พนักงานสอบสวนสภ.ไทรงามไม่เคยมีหนังสือให้สำหนักราชเลขาธิการตรวจสอบว่าสมเด็จพระเทพฯ เป็นรัชทายาทหรือไม่ พยานไม่แน่ใจว่าการสืบราชสันตติวงศ์จะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.2467 หรือไม่ พยานทราบว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์บัญญัติให้อำนาจแก่พระมหากัตริย์ โปรดเกล้าสถาปนารัชทายาท โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เป็นรัชทายาทตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2518 พยานไม่แน่ใจว่ามีการประกาศราชกิจจานุเบกษาสถาปนารัชทายาทองค์อื่นหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าเคยมีการให้ตรวจสอบสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าเป็นรัชทายาทหรือไม่

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางสาวสิยากร พูลพนิช ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560)


    สืบพยานโจทก์ปากที่ 6 นายสุรชัย ศาสนโสภณ คนขับรถตู้

    นายสุรชัยเบิกความว่า ในวันที่ 25-26 เมษายน 2558 พยานได้รับการว่าจ้างให้ไปส่งผู้โดยสารที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยไปรับชาย 2 คน ที่ซอยรางน้ำ และชายอีกคนที่สุทธิสาร ซึ่งพยานจำไม่ได้ว่าชายสามคนนั้นอยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือไม่ โดยตลอดทาง พยานไม่ได้ยินว่าบุคคลทั้งสามพูดคุย จนมาถึงจังหวัดกำแพงเพชร และมาถึงบ้านหลังหนึ่ง หลังจากผู้โดยสารลงจากรถ จำเลยที่ 1 ก็เรียกให้พยานกินข้าว และพูดว่า "รู้หรือเปล่าว่าเดินทางมากับหม่อม" พยานได้ตอบไปว่าไม่รู้

    จากนั้น พยานก็ได้ขับรถพาชายทั้งสามและจำเลยที่ 1 ไปที่วัดไทรงาม ซึ่งขณะนั้นมีรถยนต์ขับนำไปที่วัด พยานจอดรออยู่ 2 ชั่วโมง ก็มีคนเดินมาบอกว่า งานเสร็จแล้ว ให้ขับรถกลับได้เลย

    ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ที่พยานเคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่าระหว่างเดินทางจากบ้านไปวัดไทรงามนั้น พยานได้ยินผู้โดยสาร 4 คน พูดคุยกันและเรียกกันว่าหม่อม เป็นความจริงหรือไม่ พยานเบิกความว่า จำได้ว่าจำเลยที่ 1 พูถึงหม่อมเพียงครั้งเดียวตอนที่กินข้าว พยานไม่รู้ว่าบุคคลทั้งสี่กระทำความผิด และไม่ทราบจุดประสงค์การไปกำแพงเพชรของผู้โดยสาร

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตอนที่ไปรับชายคนที่สามที่แยกสุทธิสาร ไม่เห็นว่าชายคนดังกล่าวถือสูทขึ้นรถด้วย หลังจากรับแล้วชายคนที่สามก็นั่งอยู่ในรถตลอดเวลา พยานไม่ได้ยินชายคนดังกล่าวพูดคุยอยู่ในรถ และตอนที่จำเลยที่ 1 บอกว่าเดินทางมากับหม่อม ชายทั้งสามก็ไม่ได้ยืนอยู่บริเวณนั้น

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายสุรชัย ศาสนโสภณ คนขับรถตู้ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560)


    สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 นางธัญศญา เหล่ารบ คณะกรรมการวัดไทรงาม

    นางธัญศญาเบิกความว่า เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวัดเรื่องจะมีการตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถ โดยมีการแจ้งในที่ประชุมว่า หากบุคคลใดต้องการรับของที่ระลึกจากฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ ให้แจ้งความประสงค์และบริจาคเงิน 10,000 บาท พยานได้แจ้งความประสงค์โดยนำบัตรประชาชนไปยื่นแต่ยังไม่ได้บริจาคเงิน

    ในวันงานสวดพระอภิธรรม พยานเข้าร่วมและเห็นว่ามีชายคนหนึ่งเดินไปจุดธูปเทียนที่พระพุทธรูป อัยการโจทก์ถามว่าเคยเห็นจำเลยทั้งสองหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคยเห็น อย่างไรก็ตาม พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวัดไทรงาม พยานไม่ทราบว่าใครบริจาคเงินบ้าง และไม่ทราบว่าตัวเองและบุคคลใดได้รับความเสียหายในเรื่องนี้

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางธัญศญา เหล่ารบ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560)


    สืบพยานโจทก์ปากที่ 8 นายลาด บางวิเศษ

    นายลาดเบิกความว่า เคยทราบเรื่องบริจาคเงิน 10,000 บาท ให้กับวัดไทรงาม แต่จำไม่ได้ว่าเป็นการบริจาคเงินในงานใด และจะได้สิ่งใดตอบแทน พยานได้แจ้งความประสงค์ แต่ยังไม่ได้บริจาคเงินดังกล่าว พยานไมได้เป็นผู้เสียหายจากคดีนี้

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายลาด บางวิเศษ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 9 ร้อยตำรวจโทรอน อินทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.ไทรงาม

    ร้อยตำรวจโทรอนเบิกความว่า ตนไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของพระครูโสภณวชิรกิจที่วัดไทรงาม เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 เมื่อไปถึงก็พบจำเลยที่ 1 จัดการนำพวงหรีด 4 พวงมาวาง ซึ่งเป็นของหม่อมหลวงจักราภา หม่อมจีรเทพ จำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ จากนั้น จำเลยที่ 1 บอกโฆษกให้ประกาศว่าวันที่ 30 มกราคม 2558 หม่อมหลวงจีรเทพจะมาร่วมงานสวดพระอภิธรรมในฐานะเป็นตัวแทนองค์สมเด็จพระเทพฯ

    พอถึงวันที่ 30 มกราคม นางสุมาลีให้พยานช่วยจัดรถนำขบวน พยานจึงติดต่อสารวัตรจราจรของสภ.ไทรงาม และแจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาหานางสุมาลีจะเป็นผู้ประสานงานการจัดรถนำขบวน หลังจากนั้น รองสารวัตรจราจรได้โทรศัพท์มาแจ้งพยานว่า ผู้รับโทรศัพท์ไม่ยอมบอกหมายเลขทะเบียนรถที่จะให้นำขบวน แต่สุดท้ายก็จัดให้มีการนำขบวนตั้งแต่เขตตำบลบ่อทอง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำภอไทรงาม พยานไม่ได้เข้าร่วมงาน แต่ทราบจากนางสุมาลีว่าหม่อมหลวงจีรเทพมางานจริง

    ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2558 นางภนัชษา บุญมี และน.ส.ณัฐกาญจน์ คงสิทธิ์ กรรมการวัด มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า ได้รับหนังสือเรื่องเกี่ยวกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพฯ ว่าจะมอบหมายให้หม่อมหลวงจักราภา และหม่อมหลวงจีรเทพ มาร่วมงานวันเกิดพระครู พยานจึงได้รับมอบหมายให้สืบสวนว่า หม่อมหลวงทั้งสองเป็นหม่อมหลวงจริงหรือไม่ และเป็นหนังสือจริงหรือไม่

    พยานได้ทำการสืบสวนและรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามรายงาน ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า จากการสอบถามนางภนัชษา รวมถึงญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดไทรงาม ได้ความว่า จำเลยที่ 1 รับว่าจะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาตัดถวายลูกนิมิตประมาณปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเสด็จมา แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 มาเลิกค่าใช้จ่ายจากวัด ทำให้วัดเสียค่าใช้จ่าย 1,000,000 บาทเศษ ต่อมาอาจารย์พรเทพได้มาแจ้งความที่สภ.ไทรงามว่า จำเลยที่ 1 ฉ้อโกงเงินวัด

    นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพนั้นที่จริงคือ นายวิเศษ พุทธษา และคนที่อ้างว่าทำงานในสำนักงานเลขานุการกองงานในสมเด็จพระเทพฯ คือ นายกิตติภพ สิทธิราช ซึ่งทั้งสองทำงานอยู่ที่คอนโดมิเนียมบ้านเจ้าพระยา และในวันที่ 30 มกราคม 2558 ทั้งสองมาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาสได้แต่งชุดปกติขาว

    ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันทำบุญครบรอบวันเกิดเจ้าอาวาส พยานไปร่วมงานด้วย และนั่งอยู่บริเวณหลังที่นั่งประธานในพิธี จากนั้นมีรถตู้หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร มาจอด มีบุคคล 4 คนลงจากรถ ได้แก่ หม่อมหลวงจีรเทพ จำเลยที่ 1 นายกิตติภพ และหม่อมหลวงจักราภา ทราบภายหลังว่าชื่อ นายนพฤทธิ์ ดุจดา ทั้งสี่คนเดินไปนั่งที่นั่งที่จัดให้สำหรับประธานในพิธี ต่อมาพิธีกรเชิญประธานในพิธีไปจุดธูปเทียนบูชาพระ ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราลุกขึ้นไปจุดธูปเทีบน เสร็จแล้วกลับมานั่งที่เดิม เมื่อเสร็จพิธี ทั้งสี่คนก็ไปขึ้นรถตู้คันเดิม ระหว่างนั้นพิธีกรปประกาศขอบคุณโดยเอ่ยชื่อหม่อมหลวงจักราภา หม่อมหลวงจีรเทพ ที่มาร่วมงาน

    พยานได้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ต่อมาจึงออกหมายจับบุคคลทั้งสี่ โดยพยานมีส่วนร่วมในการจับกุมจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ในข้อหาตามมาตรา 112, ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ต่อมาได้จับกุมตัวนายกิตติภพและนายวิเศษในวันเดียวกัน แจ้งข้อหาเหมือนกัน แต่เพิ่มเติมข้อหาทั้งสองคนเรื่องไม่มีสิทธิสวมเครื่องแบบราชการ

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น ไม่มีภาพถ่ายของพยานที่ไปร่วมงานเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 และเมือ่ไปถึงก็เห็นพวงหรีดวางอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เห็นว่าจำเลยที่ 1 นำมาติด แต่มีคนเล่าให้ฟัง นอกจากนี้ก็ยังมีพวงหรีดของคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน ซึ่งการนำพวงหรีดมาเคารพศพเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชาวพุทธ และโฆษกเป็นผู้ประกาศว่าจะมีหม่อมหลวงจีรเทพมาเป็นตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ พยานไม่ได้เห็นว่าจำเลยที่ 1 บอก และไม่ทราบว่าบอกหรือไม่ ก่อนที่จะทราบเรื่องต่างๆ จากการสืบสวน พยานไม่ทราบเรื่องผิดปกติมาก่อน มีแต่บุคคลอื่นเล่าให้ฟัง

    ตอนที่พยานทราบเรื่องขอรถนำขบวนจากนางสุมาลี และพยานได้โทรศัพท์บอกสารวัตรจราจร แม้ว่าจะยังไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ รวมถึงในเบื้องต้นพยานเชือว่าอาจจะมีตัวแทนจากสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมงานจริง เหตุที่พยานสงสัยเป็นเพียงไม่มีหนังสือเท่านั้น จึงไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบ และตอนที่นางภนัชษาและนางณัฐกานต์มาแจ้งความเป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 พยานไม่ได้อยู่ด้วย แต่มาทราบเรื่องภายหลังจากที่อาจารย์พรเทพมาแจ้งความร้องทุกข์แล้ว

    ชุดปกติขาวของพนักงานตำรวจแตกต่างจากชุดปกติขาวของข้าราชการพลเรือนทั่วไป ซึ่งพยานและนางสุมาลีเคยใส่ไปต้อนรับข้าราชการระดับสูง สำหรับพ่อค้าคหบดีก็สามารถแต่งชุดปกติขาวได้ ตามที่มีการออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหานายกิตติภพและบุคคลที่อ้างตัวเป็นหม่อมหลวงจีรเทพที่ทั้งสองแต่งชุดปกติขาวมาร่วมงานนั้น จากการสืบสวน พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าชุดปกติขาวที่ทั้งสองสวมใส่นั้นมีสิทธิ์แต่งหรือไม่

    ช่วงตั้งแต่รับแจ้งความเมื่อ 20 เมษายน จนถึงงานอายุวัฒนะเจ้าอาวาส 26 เมษายน พยานได้ร่วมสืบสวนมาก่อนแล้วว่า บุคคลที่จะมาร่วมงานเป็นหม่อมหลวงจริงหรือไม่ ซึ่งมีการหารือกันว่า หากมีคนปลอมตัวเป็นหม่อมหลวงมาร่วมงานจริงจะมีการจับกุมหรือไม่ ซึ่งพยานไม่ได้เข้าร่วมประชุม

    ขณะพยานนั่งร่วมงานอายุวัฒนะ นายสมพงษ์ อดีตอธิบดีกรมที่ดินได้กระซิบพูดขึ้นลอยๆ ให้คนที่นั่งใกล้กันคือ ผู้กำกับ ตัวพยาน และนางสุมาลีภรรยาของพยาน ได้ยินว่า คนที่มาใช่ตัวจริงหรือไม่ หลังจากนายสมพงษ์ตั้งข้อสงสัยดังกล่าวแล้ว พยาน ผู้กำกับสภ.ไทรงาม รวมถึงนางสุมาลี ก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลทั้งสองเป็นหม่อมหลวงจริงหรือไม่

    ขณะที่บุคคลทั้งสี่กลับขึ้นรถตู้ ไม่มีใครลุกขึ้นยืนส่ง และพยานไม่ทราบว่าจะมีคนอื่นหรือไม่ เพราะมีคนอยู่จำนวนมาก พยานขอเบิกความใหม่ว่า หลังจากเสร็จพิธีก่อนเที่ยง พยานเห็นบุคคลทั้งสี่เดินออกจากงานไป แต่ไม่เห็นว่าขึ้นรถตู้ไปหรือไม่ พยานไม่ได้เล่าถึงข้อสังเกตที่นายสมพงษ์ตั้งให้โฆษกของงานพิธี

    พยานสืบสวนโดยสอบถามนางภนัชษา นางสาวณัฐกานต์ และอาจารย์พรเทพ 3 คน เท่านั้น และญาติโยมคนอื่นโดยไม่ได้บันทึกถ้อยคำไว้ ไม่ได้สอบถามเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 และไม่ได้สอบถามรายละเอียดกับนางภนัชษาเรื่องเงิน 1,000,000 บาทที่ถูกหลอกไป

    ในเบื้องต้น พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนก่อน แต่หลังจากพนักงานสอบสวนไปสอบถามสำนักพระราชวังแล้วจึงทราบว่ามีการแอบอ้าง จึงตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและขอศาลออกหมายจับ พยานไม่เคยศึกษาว่าบุคคลตามมาตรา 112 ได้แก่บุคคลใดบ้าง รวมทั้งไม่ได้สอบถามพนักงานสอบสวนที่ขอศาลออกหมายจับ

    ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานว่า ตามภาพถ่ายที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 แอบอ้างว่ารู้จักคนในสำนักพระราชวังนั้นเป็นเพราะพยานปรักปรำจำเลยที่ 1 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ ตามภาพถ่ายดังกล่าว หากไม่มีคำบรรยายภาพ บุคคลอื่นมาดูย่อมไม่ทราบข้อมูลตามที่บรรยาย และก่อนที่เรื่องจะแดงขึ้นมา พยานไม่ทราบว่าบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงทั้งสองคือใคร และจากคำบรรยายดังกล่าว พยานไม่ได้สอบถามได้ความมาจากเจ้าอาวาสวัดไทรงาม

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า งานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาสวันที่ 30 มกราคม 2558 ซึ่งมีผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมงานได้มีการจัดทำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ส่วนงานฉลองอายุวัฒนะเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 ไม่ได้มีป้ายประชาสัมพันธ์ว่าผู้มาร่วมงานคือหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ

    วันดังกล่าวรถตู้มาถึงตอนเช้าโดยไม่มีรถนำขบวน ซึ่งมีลูกศิษย์เจ้าอาวาสใส่เสื้อสีม่วง 5- 6 คน ตั้งแถวรอรับ รถตู้ที่มาไม่มีตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงเกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ เลย เมื่อมาถึง พิธีกรในงานก็ไม่ได้ประกาศว่าผู้ที่มาถึงเป็นตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ รวมทั้งไม่ได้เป็นหม่อมหลวงจักราภาหรือหม่อมหลวงจีรเทพด้วย

    เมื่อถึงเวลา พิธีกรก็เชิญประธานไปจุดธูปเทียนโดยไม่ได้ระบุว่าชื่อว่าเป็นหม่อมหลวง รวมถึงไม่ได้ระบุว่าเป็นตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ ด้วย เมื่อประกาศเชิญประธานไปจุดธูปเทียนแล้ว จำเลยที่ 2 ยังคงนั่งเฉย จนกระทั่งพิธีกรประกาศเชิญอีกครั้ง คนที่นั่งข้างจำเลยที่ 2 ได้สะกิด แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ลุก จนพิธีกรเดินเข้ามาเชิญเอง จำเลยที่ 2 จึงลุกไปจุดธูปเทียน การแต่งกายของจำเลยที่ 2 ในวันดังกล่าวใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว ไม่มีเครื่องประดับมีค่าอันแสดงฐานะว่าเป็นบุคคลพิเศษ และพยานไม่เห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีดอกไม้หรือพานพุ่มมาด้วยเพื่อแสดงว่าเป็นผู้แทนพระองค์ รวมทั้งจำเลยที่ 2 และคนที่มาด้วย ก็ไม่ได้แนะนำว่าจำเลยที่ 2 เป็นหม่อมหลวงจักราภา เมือ่เสร็จพิธี คณะที่มาด้วยกันทั้งสี่คนเดินไปที่รถตู้ ระหว่างนั้นเองพิธีกรได้ประกาศขอบคุณหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ

    ตามภาพถ่ายที่ระบุคำบรรยายที่ภาพของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจักราภา ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ ขณะนั้นพยานยังไม่ทราบชื่อบุคคลดังกล่าวแต่ต้องระบุไว้ เนื่องจากก่อนวันดังกล่าวนั้นได้มีประกาศของทางวัดว่าจะมีผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ มาร่วมงาน

    พยานตอบถามติงอัยการโจทก์ว่า ในงานอายุวัฒนะ ที่นายสมพงษ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะไม่ใช่หม่อมจริง พยานไม่ได้ดำเนินการอะไร เพราะในวันเดียวกันนั้น เจ้าอาวาส ผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่าเป็นหม่อมหลวงจริง จึงไม่ได้ดำเนินการจับกุม

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ ร้อยตำรวจโทรอน อินทอง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560)



    สืบพยานโจทก์ปากที่ 10 ร้อยตำรวจตรีวสันต์ ธรรมสังวาลย์ เจ้าหน้าที่สืบสวน

    พยานเบิกความตอบอัยการโจทก์ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาไปสืบหาชายไทยไม่ทราบชื่อซึ่งปรากฏในภาพถ่ายที่มีนางอัษฎาภรณ์อยู่ด้วย โดยยืนอยู่ใกล้รถตู้ในวัดไทรงาม

    พยานได้สืบสวนหาเจ้าของรถตู้ที่อยู่ในภาพ พบว่าเจ้าของคือนางงามนิตย์ จำนามสกุลไมได้ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรถตู้ โดยมีนายสุภาพ จำนามสกุลไม่ได้ เป็นผู้จัดการของบริษัท พยานโทรศัพท์หานายสุภาพ นายสุภาพให้การว่า เมื่อ 25 เมษายน 2558 นายกิตติภพโทรมาขอเช่ารถตู้ไปจังหวัดกำแพงเพชร พยานได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของคนขับรถตู้คันดังกล่าว

    ต่อมาทราบว่าชื่อนายสุรชัย นายสุรชัยให้การว่า นายสุภาพแจ้งให้ไปรับผู้โดยสารที่พญาไทอพาร์ทเม้นต์ เวลา 1.30 น. จนเวลา 2.00 น. มีชายสองคนขับรมาจอดแล้วมาสอบถามว่าใช่รถที่จะพาไปกำแพงเพชรหรือไม่ นายสุรชัยตอบว่า ใช่ ชายสองคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลานัด แล้วขอขึ้นไปนอนพักผ่อน กระทั่งเวลา 3.15 น. ชายทั้งสองมาขึ้นรถตู้ ระหว่างอยู่บนรถชายทั้งสองโทรศัพท์หาเพื่อน เมื่อขับมาถึงบริเวณสี่แยกสน.สุทธิสาร นายสุรชัยจอดรถรับชายอีกคนหนึ่งแล้วจึงมุ่งหน้ามาที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อถึงกำแพงเพชร ผู้โดยสารทั้งสามได้พบกับนางอัษฎาภรณ์ โดยนายสุชัยได้ยินทั้งสามเรียกว่า "คุณพร" ต่อมาชายทั้งสามได้เข้าไปอาบน้ำในบ้าน แล้วขึ้นรถเดินทางไปวัดไทรงาม

    ต่อมา พยานโทรศัพท์ไปที่พญาไทอพาร์ทเม้นต์ เพื่อสอบถามว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 1.00 น. ได้มีรถตู้สีขาวมาจอดรับคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นต์แห่งนี้หรือไม่ ทางสำนักงานของพญาไทอพาร์ทเม้นต์แจ้งว่า บุคคลที่รถไปนั้นพักอยู่ที่อพาร์ทเม้นต์นี้จริง แต่ไม่ใช่เจ้าของห้อง คนหนึ่งชื่อนายวิเศษ อีกคนไม่ทราบชื่อ

    ข้อมูลดังกล่าวนี้ พยานได้มาจากเจ้าของอาพร์ทเม้นต์ดังกล่าว ซึ่งเธอเล่าว่า เคยบอกให้ชายทั้งสองเปลี่ยนชื่อคนที่เข้าพัก แต่ชายทั้งสองก็ยังไม่ดำเนินการ เจ้าของหอยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเฟซบุ๊กของเจ้าของห้อง พยานได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กดังกล่าวและเห็นรูปแต่งงานรูปหนึ่ง พยานเห็นว่าเจ้าบ่าวมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับชายไทยที่กำลังสืบหาอยู่ จึงบันทึกรูปภาพและสืบสวนหาข้อมูลต่อไป โดยเชื่อว่าชายไทยไม่ทราบชื่อเป็นคนเดียวกับเจ้าบ่าวที่ปรากฏในภาพ พยานสังเกตเห็นป้ายชื่อของบ่าวสาวในรูปดังกล่าว ปรากฏว่าเจ้าบ่าวชื่อ โกมินทร์ และภาพถ่ายดังกล่าวมีข้อความบรรยายว่า "รุ่นพี่ชมรมมวย มศว. พี่โกมินทร์"

    จากนั้น พยานโทรศัพท์ติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เพื่อสอบถามข้อมูลของนายหน่อง แต่พบว่านายหน่องไม่ใช่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่เชื่อว่านายโกมินทร์เป็นนักศึกษาอยู่ชมรมมวย พยานจึงติดต่อไปยังชมรม ได้ความว่าอาจารย์วรวิทย์ไปงานแต่งงานดังกล่าว พยานได้พูดคุยกับอาจารย์ จึงทราบว่าบุคคลที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ชื่อนายโกมินทร์ แต่ชื่อนายนพฤทธิ์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เป็นนักกีฬานักมวยของมหาวิทยาลัย

    พยานได้นำชื่อนายนพฤทธิ์ มาตรวจสอบในข้อมูลทะเบียนราษฎร์ พบว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี พยานได้นำภาพถ่ายจากข้อมูลทะเบียนราษฎณ์มาเปรียบเทียบกับภาพในงานแต่งงานที่อยู่ในเฟซบุ๊ก และภาพที่ปรากฏในวัดไทรงาม วันที่ 26 เมษายน 2558 พยานจึงเชื่อว่าบุคคลในภาพทั้งสามภาพเป็นบุคคลคนเดียวกัน

    ต่อมา พยานเคยอ่านรายงานการสืบสวนของ ร.ต.ท.รอน อินทอง จึงได้ทราบชื่อนางอัษฎาภรณ์เป็นผู้เกี่ยวข้อง จึงลองค้นหาชื่อในเฟซบุ๊ก เมื่อพบพยานจึงได้ขอเป็นเพื่อนกับนางอัษฎาภรณ์ในเฟซบุ๊ก ต่อมานางอัษฎาภรณ์รับพยานเป็นเพื่อน พยานจึงเข้าไปดูรูปภาพและข้อมูลของนางอัษฎภรณ์ พยานเห็นซองเอกสารราชการ 1 ซอง น่าจะออกมาจากสำนักราชเลขาธิการ นางอัษฎาภรณ์ได้ลงข้อความแสดงความดีใจ พยานจึงบันทึกภาพดังกล่าวมาพูดคุยกับพวกของพยานว่าซองจดหมายดังกล่าวเป็นของจริงหรือปลอม

    พยานได้ตรวจสอบเกี่ยวกับที่มาของซองจดหมายดังกล่าว โดยโทรศัพท์ไปที่สำนักราชเลขาธิการ พยานได้ระบุเลขที่หนังสือดังกล่าวเพื่อขอให้ตรวจสอบ ทางสำนักราชเลขาธิการตรวจพบหนังสือเลขที่ดังกล่าว แล้วบอกว่าซองจดหมายดังกล่าวเป็นของจริง โดยซองจดหมายดังกล่าวมีที่มาจากบุคคลที่นำสิ่งของทูลเกล้าถวายพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งหากบุคคลนั้นได้ให้เบอร์ติดต่อทางสำนักราชเลขาธิการจะมีหนังสือตอบกลับผู้ที่ทูลเกล้าถวายส้มแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พยานจึงให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือขอสำเนาหนังสือดังกล่าวจากสำนักราชเลขาธิการ

    ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ศาลได้ออกหมายจับนางอัษฎาภรณ์ และตำรวจได้เข้าไปตรวจสอบบ้านของนางอัษฎาภรณ์ที่นนทบุรี แต่ไม่พบ ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2558 สายลับได้โทรมาแจ้งพยานว่า นางอัษฎาภรณ์อยู่ที่บ้านจังหวัดกำแพงเพชร พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และเข้าจับกุมนางอัษฎาภรณ์ โดย ร.ต.ท.รอน เป็นผู้แสดงหมายจับให้นางอัษฎาภรณ์ดู

    ในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 พยานทราบว่านายกิตติภพ หรือบิ๊ก เคยถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์นายจ้างในกรุงเทพฯ พยานจึงโทรศัพท์ไปยังศาลอาญาธนบุรี ทราบว่านายกิตติภพจะมาที่ศาลในวันนี้ พยานจึงโทรศัพท์ประสานงานไปยังกองปราบปรามเพื่อจับกุม กองปราบปรามจึงดำเนินการจับกุมนายกิตติภพที่ศาลอาญาธนบุรี

    พนักงานตำรวจของกองปราบปรามอีกชุดหนึ่งได้จับกุมนายนพฤทธิ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากทราบว่าเขาทำงานอยู่ที่บริษัทหนึ่ง แต่ในวันดังกล่าวนายนพฤทธิ์ไม่ได้มาทำงาน ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2558 กองปราบปรามได้โทรศัพท์มาแจ้งว่านายนพฤทธิ์มาทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ให้พยานเดินทางไปร่วมจับกุม ตอนที่พยานไปถึงกรุงเทพฯ พนักงานตำรวจชุดกองปราบปรามได้จับกุมนายนพฤทธิ์ก่อนแล้ว และนำตัวส่งให้พยาน ณ จุดที่นัดหมาย

    เมื่อสืบพยานมาถึงตอนนี้ ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่า ขณะนี้หมดเวลาราชการช่วงบ่ายแล้ว และมีคำถามค้านเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยที่ 1 มีอาการป่วยไข้หวัดใหญ่ จึงขออนุญาตเลื่อนถามค้านไปเป็นวันที่ 19 กันยายน 2560 ตามนัดเดิม

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ ร้อยตำรวจตรีวสันต์ ธรรมสังวาลย์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560)



    สืบพยานโจทก์วันนี้ เสร็จสิ้นไป 1 ปาก ส่วนพยานปาก ร.ต.ต.วสันต์ โจทก์ได้ถามจนจบ จำเลยที่ 1 แถลงว่ามีคำถามที่จะถามค้านเป็นจำนวนมาก และทนายจำเลยที่ 1 สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่พร้อมที่จะถามค้านต่อในวันนี้ได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 19 กันยายน 2558 เวลา 09.00 นง ตามนัดเดิม

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560)
  • ทนายความของนายนพฤทธิ์ได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องที่ญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับทางอัยการสูงสุดไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยร้องเรียนว่ามูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อัยการฟ้องจำเลยนั้น หารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 การกระทำตามฟ้องไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด จึงได้ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้อัยการจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาทและขอให้ถอนฟ้องคดีในความผิดตามมาตรา 112

    แต่หนังสือตอบกลับของอัยการสูงสุดระบุว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบและพิจารณา คำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรนั้นเป็นการชอบแล้ว คดีไม่มีเหตุสอบสวนเพิ่มเติมหรือถอนฟ้อง มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการขอความเป็นธรรม

    (ข้อมูลจาก 'สืบพยานคดีแอบอ้างพระเทพฯ ยังไม่พบการกระทำผิดจำเลยที่ 2 – อัยการสูงสุดชี้ฟ้องคดีชอบแล้ว' เว็บไซต์ http://www.tlhr2014.com/th/?p=5230)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 10 ร้อยตำรวจตรีวสันต์ ธรรมสังวาลย์ ต่อจากนัดที่แล้ว

    ร้อยตำรวจตรีวสันต์เบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า พยานได้รับคำสั่งให้สืบสวนในคดีนี้ ตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 6 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ปรากฏรายชื่อของพยานและร้อยตำรวจโทรอน อินทอง และไมได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่มีรายชื่อในคำสั่งมอบหมายให้คนอื่นดำเนินการสืบสวนแทน พยานร่วมสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับนางอัษฎาภรณ์จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ สืบค้นหาข้อมูลจาเฟซบุ๊ก พยานไม่ทราบว่านางอัษฎาภรณ์เคยกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่

    พยานขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับนางอัษฎาภรณ์ก่อนที่จะมีการออกหมายจับและปัจจุบันก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ จากการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก พยานสามารถเห็นข้อมูลของนางอัษฎาภรณ์ว่าเดินไปทางไปที่ไหน หรือประกอบอาชีพอะไร พยานไม่ทราบมาก่อนว่ามีการออกหมายจับนางอัษฎาภรณ์ และเมื่อมีหมายจับออกมาแล้ว พยานก็ไม่ได้ส่งข้อความไปหานางอัษฎาภรณ์ทางเฟซบุ๊กว่าประสงค์ขอพบตัว

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า พยานเคยส่งภาพถ่ายของนางอัษฎาภรณ์ นายนพฤทธิ์ นายกิตติภพ และนายวิเศษ ให้นายสุรชัยดูทางไลน์ว่าคนในภาพมีใครบ้างที่เป็นผู้โดยสารที่ไปรับที่พญาไทอพาร์ทเมนต์ และได้ส่งภาพถ่ายนายนพฤทธิ์ให้นายวรวิทย์ดูว่าคนในภาพงานแต่งงานใช่นายนพฤทธิ์หรือไม่

    เมื่อพยานได้รับมอบตัวนายนพฤทธิ์จากตำรวจกองปราบฯ ระหว่างเดินทางไปกำแพงเพชร นายนพฤทธิ์เล่าให้ฟังว่ารู้จักกับนายวิเศษ เพราะเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ส่วนนายกิตติภพเขาไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว นายนพฤทธิ์เจอนายวิเศษที่มหาวิทยาลัย เพราะนายวิเศษไปแจกการ์ดแต่งงานให้นายวรวิทย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย นายวิเศษชวนนายนพฤทธิ์ไปทำบุญ เขาคิดว่าหลังแต่งงานตัวเองยังไม่ได้ทำบุญ จึงตอบตกลงไป

    นายนพฤทธิ์ได้เล่าให้พยานฟังว่าได้ไปร่วมงานทำบุญอายุวัฒนะครอบรอบ 51 ปี ที่วัดป่าไทรงาม เมื่อเขาไปถึงเห็นหลายคนมายืนรอ เขานึกว่านายวิเศษเป็นบุคคลไม่ธรรมดา จึงมีคนมารอรับจำนวนมาก เมื่อลงจากรถตู้เขาถูกดันให้ไปนั่งข้างหน้า เมื่อถึงพิธีที่ต้องจุดเทียน นายวิเศษก็สะกิดให้เขาไปจุดเทียน หลังจากเสร็จพิธี นายนพฤทธิ์เดินไปที่โรงทาน ได้ยินเสียงคนประกาศว่า ขอขอบคุณหม่อมหลวงจักราภา อาภากร และหม่อมหลวงจีรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขาได้ยินคนเรียกชื่อตนเป็นหม่อมหลวงก็ถามนายวิเศษว่าทำไมถึงประกาศเรียกตนว่าเป็นหม่อม แต่นายวิเศษบอกว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวเคลียร์ได้ ขำๆๆ" พยานจึงได้ถามนายนพฤทธิ์ว่า ได้แจ้งความเรื่องนี้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ได้แจ้งความ แต่เล่าให้เพื่อนฟัง

    จากการสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับนายนพฤทธิ์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเขาเกี่ยวข้องกับการปลอมเอกสาร การใช้เอกสารปลอมดังกล่าว หรือได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดดังกล่าว

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ ร้อยตำรวจตรีวสันต์ ธรรมสังวาลย์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2560)


    สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พระครูโสภณวชิรกิจ (สง่า จันทร์ศิริ) เจ้าอาวาสวัดไทรงาม

    พยานเบิกความตอบคำถามอัยการโจทก์ว่า พยานเป็นเจ้าอาวาสวัดไทรงามตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2554 นางอัษฎาภรณ์มาปฏิบัติธรรมและทำบุญที่วัดไทรงาม พยานจึงรู้จักกับนางอัษฎาภรณ์และครอบครัว รวมถึงนายกิตติภพ หรือบิ๊ก หลานของเธอ โดยนางอัษฎาภรณ์เคยซื้อที่ดินบริจาควัด สร้างโคมไฟ และสร้างกุฏิมาโดยตลอด

    พยานเคยเล่าให้นายสิทธิราชฟังว่า เมื่อปี 2550 วัดไทรงามเคยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตที่วัด แต่ไม่สำเร็จ นายกิตติภพบอกกับพยานว่ารู้จักผู้ใหญ่ในสำนักพระราชวัง พยานจึงให้ดำเนินการแทน

    พยานได้จัดการประชุมคณะกรรมการวัดเกี่ยวกับการกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตที่วัด ซึ่งก่อนการประชุมดังกล่าว นายกิตติภพได้นำหนังสือการตอบตกลงจากสมเด็จพระเทพฯ โดยนายกิตติภพบอกว่าเป็นเอกสารภายใน ไม่สามารถเผยแพร่ทางสาธารณะได้ พยานให้นายกิตติภพส่งมาทางโทรสาร แต่เครื่องโทรสารของวัดเสีย จึงให้นางอัษฎาภรณ์รับมอบเอกสารดังกล่าวมา

    นายกิตติภพเล่าให้พยานฟังว่า หม่อมหลวงจักราภา อาภากร โทรศัพท์ไปที่วัฒนธรรมจังหวัด พยานได้สอบถามวัฒนธรรมจังหวัดทราบว่ามีบุคคลโทรมาจริง พยานจึงได้บอกวัตถุประสงค์การกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ไป

    การดำเนินการของวัฒนธรรมจังหวัดในการจัดทำหนังสือกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เกิดความล่าช้า พยานจึงให้ทางเทศบาลจัดทำเอกสารแทน โดยมีเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด และเทศบาล มาร่วมลงชื่อด้วย แต่เจ้าคณะจังหวัดเห็นหนังสือแล้วแย้งว่าแบบฟอร์มของหนังสือน่าจะผิด ให้แก้ไขใหม่ พยานจึงโทรศัพท์หานายกิตติภพ ซึ่งเขารับปากว่าจะทำหนังสือให้ใหม่ พยานจึงเชิญนายกิตติภพ นายวิเศษ และนางอัษฎาภรณ์ร่วมประชุมด้วย

    ไม่แน่ชัดว่าปี 2557 หรือ 2558 นายกิตติภพบอกว่าหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพจะเป็นประธานในงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของพยาน โดยนายกิตติภพให้ทำป้ายต้อนรับ แต่พยานไม่ทราบว่าจะใส่ข้อความอะไรในป้าย นายกิตติภพจึงเป็นผู้เรียบเรียงข้อความมา ในวันงาน มีรถตู้มาส่งหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ โดยทั้งสองแต่งกายชุดขาว โดยมีนางอัษฎาภรณ์เดินตามหลัง ทั้งสองมานั่งเป็นประธานในงานสวดพระอภิธรรมศพ

    สำหรับการจัดงานทำบุญอายุวัฒนะครบรอบ 51 ปี ของพยาน นายกิตติภพบอกว่าจะมีการส่งตัวแทนคือหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพมาในงานแสดงมุฑิตาจิต โดยหนังสือดังกล่าวส่งผ่านมาทางนางอัษฎาภรณ์ แล้วส่งมาให้บุตรสาวของเธอ จากนั้นก็ส่งต่อมายังวัดผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือโทรสาร พยานจำไม่ได้ พยานจึงให้เทศบาลตำบลไทรงามดำเนินการ

    ต่อมานายอำเภอเรียกนายพรเทพ จันทร์ต้น ไปสอบถาม เนื่องจากสงสัยว่าเป็นเอกสารปลอม ข้อความในเอกสารก็ไม่ชัดเจน พยานจึงโทรหาบุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพเพื่อสอบถาม นายกิตติภพและหม่อมหลวงจีรเทพแจ้งว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือภายใน พยานได้บอกทั้งสองว่าทางอำเภอได้ตรวจสอบชื่อของหม่อมหลวงจีรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ไม่มีอยู่จริง มีแต่นายจีรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา บุคคลที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพก็บอกกับพยานว่า "ไม่เป็นไร ในวันที่ 26 เมษายน 2558 จะกระจ่างขึ้นเอง" หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว พยานก็ยังไม่ได้บอกเล่าเรื่องนี้แก่ใคร

    ส่วนที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การที่โจทก์ให้ดู ซึ่งระบุว่า "เมื่ออาตมาทราบเรื่องได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัดเพื่อหาทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงหมอบหมายให้นางภนัชษา กรรมการวัดกับพวกไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้..." ข้อความดังกล่าวพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทำขึ้นมา พยานได้อ่านและเห็นว่าไม่ถูกต้อง และได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่พนักงานสอบสวนแจ้งพยานว่าต้องเป็นแบบนี้

    ในวันงานทำบุญอายุวัฒนะฯ นางอัษฎาภรณ์ คนที่อ้างตัวว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ และหม่อมหลวงจักราภาได้มาร่วมงาน ได้มีการเชิญให้หม่อมหลวงจักราภาเป็นประธานจุดธูปเทียนและถวายภัตตาหาร พยานยังคงให้ดำเนินการตามพิธีไปก่อน แม้จะไม่ทราบว่าหม่อมหลวงจักราภาเป็นหม่อมหลวงที่แท้จริงหรือไม่

    พยานมอบเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่นายกิตติภพ วัดไทรงามเคยโอนเงินให้นายกิตติภพเพื่อบริจาคเข้ามูลนิธีของสมเด็จพระเทพฯ ในช่วงนั้นวัดไม่มีเงิน พยานจึงขอให้จำเลยที่ 1 สำรองจ่ายเงินจำนวน 490,000 บาท โดยโอนเงินให้นายกิตติภพไปก่อน โดยเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินบริจาค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับราชพิธี และภาษีสนามบิน นอกจากนี้ทางวัดเคยโอนเงินให้นายกิตติภพรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,706,000 บาท โดยให้นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายบางส่วนและวัดจ่ายเองบางส่วน โดยโอนเงินตรงให้แก่นายกิตติภพเป็นบางครั้ง

    พยานเคยลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายพรเทพเป็นผู้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับนางอัษฎาภรณ์ นายกิตติภพ นายวิเศษกับพวก ซึ่งพยานลงชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความในหนังสือมอบอำนาจ ความจริงแล้วพยานประสงค์จะดำเนินคดีกับนายกิตติภพและนายวิเศษเท่านั้น

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ตามที่พยานเห็นนางอัษฎาภรณ์ทำบุญให้กับวัดนั้น นางอัษฎาภรณ์ไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตเงินของวัด ในช่วงที่นายกิตติภพเสนอตัวดำเนินการติดต่อผู้ใหญ่ในสำนักพระราชวัง นางอัษฎาภรณ์ไม่เคยเสนอตัวดำเนินการดังกล่าว และเมื่อปี 2557 พยานเริ่มต้นดำเนินการให้มีการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ พยานได้ประกาศสอบถามว่ามีบุคคลใดรู้จักคนในสำนักพระราชวังหรือไม่ พยานได้สอบถามนางอัษฎาภรณ์ แต่นางอัษฎาภรณ์บอกพยานว่าไม่รู้จักใคร

    นอกจากนี้นางอัษฎาภรณ์ก็ไม่เคยบอกว่านายกิตติภพรู้จักผู้ใหญ่ในสำนักพระราชวัง พยานเป็นคนถามนายกิตติภพเอง ซึ่งนายกิตตภพบอกพยานว่าเป็นนักเรียนทุนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ รู้จักคนในสำนักพระราชวัง และรายละเอียดการทูลเชิญต่างๆ พยานก็ทราบมาจากนายกิตติภพ ไม่ใช่จากนางอัษฎาภรณ์ และคนที่อ้างถึงหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ ก็คือนายกิตติภพและนายวิเศษ โดยนายวิเศษอ้างตัวเองเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ

    นางอัษฎาภรณ์ไม่เคยประกาศให้ชาวบ้านร่วมทำบุญทูลเกล้าถวายเงินสมเด็จพระเทพฯ นางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนของวัดและสำรองจ่ายเงินทูลเกล้าถวายเงินแก่สมเด็จพระเทพฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการฉ้อโกงคดีนี้

    พยานไม่ได้เล่าให้นายพรเทพฟัง นายพรเทพจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ บันทึกคำให้การที่พยานให้ไว้กับพนักงานสอบสวน พยานได้อ่านและแย้งไปแล้วว่าข้อความไม่ถูกต้อง แต่พนักงานสอบสวนบอกว่า ให้พิมพ์ตามนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำให้การของนายพรเทพ พยานได้แจ้งพนักงานสอบสวนว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนางอัษฎาภรณ์ พนักงานสอบสวนบอกว่าหากมีการสอบสวนแล้ว นางอัษฎาภรณ์ไม่ได้กระทำความผิด ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องเอง เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ยอมแก้ไขบันทึกคำให้การตามที่พยานได้แจ้งไว้ พยานจึงทำบันทึกคำให้การเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยส่งไปที่สภ.ไทรงาม

    นายพรเทพ นางภนัชษา นางสุมาลี และร้อยตำรวจโทรอน ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีบุคคลใดลงชื่อถวายเงินแก่สมเด็จพระเทพฯ และจำนวนเงินที่ถวายเป็นจำนวนเท่าใด

    พยานเป็นผู้อนุมัติสั่งจ่ายเงินให้แก่นายกิตติภพ เงินจำนวน 490,000 บาท ที่พยานเคยให้นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่าย ภายหลังนางอัษฎาภรณ์ไม่ได้เรียกเงินคืน และบอกว่าเงินจำนวนนี้ให้เป็นเงินร่วมทำบุญในการถวายเงินแก่สมเด็จพระเทพฯ ในการโอนเงินสำรองจ่าย นางอัษฎาภรณ์มีหลักฐานมาแสดงทุกครั้ง และได้มอบไว้ให้กับพยาน ซึ่งหลักฐานดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของแม่ชีพิมพา พี่สาวของพยาน ซึ่งพนักงานตำรวจไม่เคยสอบปากคำแม่ชีพิมพาซึ่งเป็นบุคคลที่รู้เรื่องการเงินของวัดดี

    เงินที่พยานโอนให้นายกิตติภพไม่ใช่เงินของชาวบ้านที่แสดงความประสงค์จะขอทูลเกล้าถวายฯ พยานได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ทางวัดจะออกเงินจ่ายให้นายกิตติภพไปเอง ส่วนเงินที่ชาวบ้านบริจาคเพื่อเป็นเงินทูลเกล้าถวายฯ นั้น ทางวัดได้นำเงินไปก่อสร้างศาลา และได้แจ้งว่าหากผู้ใดประสงค์จะขอเงินคืนให้มาแจ้งที่วัด ต่อมามีชาวบ้านมาขอรับคืนบางส่วน และบางส่วนได้ขอถวายเงินให้วัด

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ พระครูโสภณวชิรกิจ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2560)


    การสืบพยานในวันนี้ ทนายจำเลยที่ 1 ยังถามค้านพยานโจทก์ปาก พระครูโสภณวชิรกิจ ไม่จบปาก โดยทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่ายังมีอาการป่วยไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถถามค้านพยานต่อไปได้ จึงขออนุญาตให้โจทก์สืบพยานในวันนัดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะพิจารณาตัดพยานของตัวเองเพื่อไม่ให้กระทบกับวันนัดที่ศาลกำหนดไว้ สอบโจทก์แล้วไม่ค้าน

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พระครูโสภณวชิรกิจ (สง่า จันทร์ศิริ) ต่อจากนัดที่แล้ว

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า เอกสารที่นายกิตติภพได้ส่งให้พยาน พยานก็จะส่งให้นางอัษฎาภรณ์ ในฐานะที่พยานมอบหมายให้นางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนของวัดในกิจการเกี่ยวกับการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิต เนื่องจากนายกิตติภพแจ้งว่าหนังสือที่ส่งให้เป็นเอกสารภายใน ไม่ต้องการให้เผยแพร่ พยานจึงกำชับนางอัษฎาภรณ์ทุกครั้งให้ทราบและให้บรรจุซอง ทุกครั้งที่พยานได้รับเอกสารจากนางอัษฎาภรณ์จะเป็นเอกสารบรรจุในซองปิดผนึกทุกฉบับ ในการที่พยานจะให้นายพรเทพประกาศข้อความต่างๆ จากหนังสือ ก็ต้องสอบถามก่อนว่าจะเผยแพร่ได้หรือไม่ ถ้านายกิตติภพยินยอม พยานก็จะจดข้อความตามเอกสารดังกล่าวส่งให้นายพรเทพประกาศ โดยไม่ได้ส่งมอบเอกสารนั้นให้นายพรเทพ

    หนังสือที่นายกิตติภพส่งมาให้วัดเป็นฉบับสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ ให้หม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพเป็นตัวแทนมาร่วมงานทำบุญอายุวัฒนะในวันที่ 26 เมษายน 2558 ซึ่งนายกิตติภพบอกให้พยานมีหนังสือจัดส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พยานจึงให้นายพรเทพติดต่อเทศบาลตำบลไทรงามเพื่อช่วยจัดส่ง

    หลังจากที่นางอัษฎาภรณ์โอนเงินสำรองจ่ายแทนวัดไปให้นายกิตติภพ พยานได้สอบถามนายกิตติภพก็แจ้งว่า ได้รับแล้ว พยานจึงให้นายกิตติภพทำหนังสือตอบรับเงิน 300,000 บาท ที่นางอัษฎาภรณ์โอน ส่งมาทางโทรสารของวัด แต่เครื่องรับโทรสารเสีย พยานจึงให้ส่งมาทางนางอัษฎาภรณ์

    ต่อมา นายกิตติภพได้ขอเบิกค่าใช้จ่ายจากทางวัด โดยบางครั้งวัดไม่มีเงิน พยานก็ขอให้นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งปรากฏหลักฐานการโอนเงินไปให้นายกิตติภพ หลังจากนั้น นายกิตภพจึงส่งหนังสือให้กับวัดแจ้งค่าใช้จ่ายที่ขอเบิกไปนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง เอกสารดังกล่าวนั้นระบุว่าถึงนางอัษฎาภรณ์ เนื่องจากพยานได้แจ้งให้นายกิตติภพทราบแต่แรกแล้วว่า ได้มอบหมายให้นางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนของวัดไทรงาม

    ในการที่วัดจ่ายเงินให้นายกิตติภพ นางอัษฎาภรณ์ไม่เคยสนับสนุนให้วัดจ่ายเงิน และยังเคยถามพยานว่า มั่นใจหรือไม่ที่จะจ่ายเงินให้ไป พยานได้บอกนางอัษฎาภรณ์ว่าไม่เป็นไร

    นางอัษฎาภรณ์บอกว่าไม่เคยรู้จักคนในสำนักพระราชวัง พยานจึงให้นางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนพยานในการติดต่อกับนายกิตติภพและนายวิเศษเท่านั้น และพยานไม่เคยได้ยินว่านางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนของสำนักพระราชวัง

    เงินทูลเกล้าถวายฯ จำนวน 625,000 บาท เป็นเงินของวัดที่สำรองออกไปก่อน ไม่ใช่เงินของญาติโยมที่ทูลเกล้าถวาย เมื่อพยานได้รับเงินที่ประสงค์จะทูลเกล้าถวายฯ จากชาวบ้านคนละ 10,000 บาท พยานได้แจ้งว่าจะนำเงินจำนวนนี้มาสร้างศาลาปฏิบัติธรรมก่อน แล้วต่อมาเมื่อทางวัดได้เงินกฐินมาจะนำไปใช้เป็นเงินทูลเกล้าต่อไป

    ในวันประชุมที่มีนายกิตติพภพกับนายวิเศษมาร่วมประชุมนั้น พยานได้แนะนำนายวิเศษแกที่ประชุมว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ แนะนำนายกิตติภพว่าเป็นผู้ประสานงานหรือผู้ทำงานกับหม่อมหลวงจีรเทพ แนะนำนางอัษฎาภรณ์ว่าเป็นตัวแทนของวัดประสานงานกับนายกิตติภพและนายวิเศษ ในตอนนั้นนางสุมาลียังไม่รู้จักทั้งสามคนนี้ จากการประชุม นายวิเศษรับว่าจะนำหนังสือทูลเชิญกลับไปให้กองงานดำเนินการ ระหว่างประชุม นางอัษฎาภรณ์ไม่ได้อ้างว่ารู้จักกับคนในสำนักพระราชวัง ไม่ได้อ้างว่าสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มีเพียงนายวิเศษและนายกิตติภพเป็นผู้พูด

    พยานไม่ได้มอบหมายให้นางภนัชษาและนางสาวณัฐกานต์ไปลงบันทึกประจำวัน แต่ทั้งสองคนไม่ต้องการให้วัดมีสวนเกี่ยวข้องจึงไปแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้

    หลังงานอายุวัฒนะ นางภนัชษาได้นำภาพถ่ายของหม่อมหลวงจัดราภาตัวจริงมาให้พยานดู พยานได้ดูเปรียบเทียบกับคนที่มางานแล้ว ไม่ใช่คนเดียวกัน

    ต่อมานางภนัชษา นางณัฐกานต์ และนายพรเทพ ประสงค์จะไปแจ้งความดำเนินคดีนายกิตติภพและนายวิเศษที่มีหนังสือปลอมมา ตอนนั้นพยานยังไม่ได้ให้อำนาจนายพรเทพไปแจ้งความ และได้บอกว่านางอัษฎาภรณ์เป็นเพียงคนมาทำบุญ

    วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 วัฒนธรรมจังหวัดมาสอบถามเกี่ยวกับหนังสือที่มีปัญหาเรื่องปลอมหรือไม่ ตอนเย็นวันเดียวกันพยานประชุมคณะกรรมการวัด พยานได้ให้ความเห็นว่านางอัษฎาภรณ์เป็นผู้มาทำบุญ ควรจะดำเนินคดีกับนายกิตติภพและนายวิเศษ ก่อนเลิกประชุม นางภนัชษาและนางณัฐกานต์นำเอกสารที่จัดทำไว้ก่อนแล้วมาให้พยานลงลายมือชื่อ โดยบอกว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินคดี พยานจึงลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่านเนื้อความ

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ พระครูโสภณวชิรกิจ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560)


    การสืบพยานวันนี้ ก่อนเริ่มศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมในการสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่ายังเหลือคำถามค้านอีกมาก จึงขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในวันพรุ่งนี้ ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่าจะถามค้านพยานปากนี้ไม่มาก โจทก์แถลงขอถามติงพยานปากนี้โดยใช้เวลาครึ่งวัน ซึ่งจะหมดเวลาราชการพอดี โจทก์จึงจะไม่ขอนำพยานโจทก์เข้าเบิกความวันพรุ่งนี้อีก แต่จะขอสืบในวันถัดไป

    ศาลให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันพรุ่งนี้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พระครูโสภณวชิรกิจ (สง่า จันทร์ศิริ) ต่อจากนัดที่แล้ว

    พยานเบิกความถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การ ซึ่งให้การไว้เมื่อ 8 พฤษภาคม 2558 พยานเห็นว่ามีบางส่วนไม่ถูกต้อง เนื่องจากพยานไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนางอัษฎาภรณ์ แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าต้องทำอย่างนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำให้การของนายพรเทพ

    เมือ่พนักงานสอบสวนไม่แก้ไขให้ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 พยานจึงทำบันทึกคำให้การเพิ่มเติมโดยสรุปแล้วไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนางอัษฎาภรณ์ ในบันทึกคำให้การมีส่วนที่พยานไม่ได้ให้การไว้ แต่พนักงานอสอบสวนเป็นผู้พิมพ์ขึ้นเอง ที่กล่าวว่า "อาตมาเกิดความสงสัยในพฤติการณ์ของนางอัษฎาภรณ์กับพวกจึงไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการหน่วยงานอื่นเพื่อตรวจสอบ ซึ่งทุกฝ่ายสรุปและตรวจสอบแล้วว่า นางอัษฎษภรณ์กับพวกได้สร้างเรื่องขึ้นมาหลอกลวง" นั้น พยานไม่ได้ให้การไว้ ในคำให้การเพิ่มเติมของพยานระบุว่า "จึงขอถอนนายพรเทพ จันทร์ต้น จากการเป็นผู้รับมอบอำนาจของวัดไทรงาม" ข้อความดังกล่าวเป็นความประสงค์ของพยานที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนคนเดิมไม่ยอมแก้ไขคำให้การของพยาน

    ตามบันทึกคำให้การของนายพรเทพ มีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่พยานไม่ได้ให้ไว้กับนายพรเทพ ไม่ทราบว่านายพรเทพนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากที่ใด เรื่องเอกสารที่นายพรเทพให้การ นายพรเทพก็ไม่เคยเห็นต้นฉบับทั้งหมดมาก่อน ยกเว้นฉบับสุดท้าย นอกจากนี้เอกสารทั้ง 8 ฉบับที่มีปัญหา ไปอยู่ที่พนักงานสอบสวนได้เนื่องจากนางภนัชษามาขอจากแม่ชีพิมพาแล้วส่งมอบให้พนักงานสอบสวน นอกจากนี้เกี่ยวกับเรื่องเอกสาร ยังมีคำให้การของนางสุมาลี นางสุมาลีไม่เคยเห็นเอกสารทั้ง 8 ฉบับ นอกจากฉบับสุดท้าย ซึ่งเป็นเอกสารที่นางสุมาลีส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    เอกสาร 8 ฉบับ ที่สอบเพิ่มเติมที่สำนักงานอัยการ พยานให้การว่าได้มาปี 2556 ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องได้มาปี 2557 นายกิตติภพ นายวิเศษ และจำเลยที่ 1 มาเกี่ยวข้องในปี 2557 โดยนายกิตติภพรับว่าจะทูลเชิญ ตามคำให้การเพิ่มเติมของพยานที่ให้ไว้เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่สำนักงานอัยการกำแพงเพชร ที่จริงแล้วพยานจำได้แต่เพียงว่า มีหนังสือหนึ่งในแปดฉบับนั้น ฉบับแรกเข้ามาปี 2557 ไม่ใช่ 2556 เหตุที่พยานจำวันที่ได้รับหนังสือแต่ละฉบับได้และตอบทนายจำเลยที่ 1 ไปนั้น เพราะได้รับหนังสือแต่ละฉบับที่นายกิตติภพแจ้งค่าใช้จ่ายต่างๆ และวัดได้โอนเงินคืนในแต่ละครั้ง

    พยานเบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2557 ในวันที่นายพรเทพประกาศให้ชาวบ้านทูลเกล้าถวายเงินเป็นพระราชกุศลนั้น ได้ประกาศก่อนมีการประชุมครั้งที่สอง

    นายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้มาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของพยาน นายนพฤทธิ์เพิ่งมาร่วมงานอายุวัฒนะ พยานเพิ่งรู้จักและเห็นนายนพฤทธิ์ ในงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 ก่อนนั้นไม่เคยเห็นและไม่เคยติดต่อนายนพฤทธิ์มาก่อน

    ในวันงานอายุวัฒนะไม่ได้มีการปิดป้ายประกาศต้อนรับผู้แทนสมเด็จพระเทพฯ ขณะทำพิธี พิธีกรกล่าวเชิญประธานจุดธูปเทียนโดยกล่าวเพียงว่าขอเชิญประธาน ไม่ได้ระบุว่าเชิญหม่อมหลวงจักราภา ซึ่งเมื่อพิธีกรกล่าวเชิญแล้ว พยานได้สะกิดเชิญนายนพฤทธิ์ขึ้นจุดธูปเทียนและประเคนถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แต่หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พิธีกรจึงกล่าวขอบคุณหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ ซึ่งขณะนั้นนายนพฤทธิ์เดินออกจากศาลาไปแล้ว และในวันดังกล่าว นายกิตติภพและนายวิเศษที่มาร่วมงานก็ไม่ได้เรียกร้องเงินใดๆ จากพยาน

    เมื่อถึงช่วงอัยการโจทก์ถามติง อัยการโจทก์ขออนุญาตศาลถามอย่างปรปักษ์ เนื่องจากพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนในการกระทำความผิด และอ้างว่าไมได้อ่านหนังสือมอบอำนาจที่มอบให้แก่นายพรเทพเพื่อแจ้งความดำเนินคดี ศาลให้โจทก์ใช้คำถามพยานอย่างปรปักษ์เท่าที่จำเป็น

    พยานเบิกความตอบถามติงอัยการโจทก์ว่า พยานอ่านหนังสือภาษาไทยออกและสามารถเขียนได้เป็นอย่างดี จะสามารถอ่านหนังสือได้แต่ต้องสวมแว่นตา พยานไม่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถพิมพ์งานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

    นายพรเทพ จันทร์ต้น เป็นประธานกรรมการวัด ซึ่งนายพรเทพเป็นบุคคลที่คนในท้องที่ให้ความนับถือและเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการมาแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 พยานได้พูดคุยกับนางภณัชษา บุญมี และนางสาวณัฐกานต์ คงสิทธิ์ ถึงการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี โดยที่พยานเลือกนายพรเทพเป็นผู้แจ้งความ ที่เลือกเพราะเห็นว่านายพรเทพเป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่าทั้งสอง

    หนังสือมอบอำนาจมีข้อความเพียง 15 บรรทัด ก่อนถึงช่องผู้มอบอำนาจ หนังสือดังกล่าวระบุให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อรวม 3 คน สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย และวันที่ของหนังสือมอบอำนาจเป็นวันที่ 6 ซึ่งเป็นตัวพิมพ์เหมือนกับข้อความอื่นๆ ไม่ใช่ตัวเลขเขียนเติมภายหลัง และชื่อบุคคลที่ต้องการให้ดำเนินคดีทั้ง 3 คน แม้ไม่ตรงกับเจตนาของพยาน ที่ต้องการดำเนินคดี 2 คน ไม่รวมจำเลยที่ 1 เนื่องจากขณะนั้นดึกแล้ว ขณะที่พยานลงลายมือชื่อมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจนั้นยังไม่ได้ประทับตราวัด

    ในชั้นสอบสวน พยานได้ให้การไว้ 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2558 พนักงานสอบสวนคือพันตำรวจโทนิรุทร์มาสอบคำให้การพยานที่วัดไทรงาม พยานได้อ่านข้อความในบันทึกคำให้การแล้วเห็นว่ามีข้อความบางส่วนไม่ถูกต้องและได้ทักท้วงไป แต่พนักงานสอบสวนขอให้พยานลงลายมือชื่อ แต่ไม่ได้มีการข่มขู่ ต่อมาพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนที่สภ.ไทรงามเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เป็นการให้การครั้งที่สอง พร้อมนำบันทึกคำให้การเพิ่มเติมที่พยานเห็นว่ามีส่วนไม่ถูกต้องมามอบให้แก่พนักงานสอบสวนด้วย ตอนที่พยานให้มีการถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 นั้น พนักงานสอบสวนก็ให้ถอนคำร้องทุกข์ได้แต่โดยดี

    ตามที่พยานมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ช่วยประสานงานกับนายกิตติภพและนายวิเศษนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยงหรือปฏิเสธที่จะไม่รับทำ เพราะโดยปกติแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะรับทำงานตามที่พยานให้ช่วยเหลือทุกงาน

    วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ให้การต่อพนักงานสอบสวนครั้งที่ 3 ที่สำนักอัยการ พยานไปพบอัยการเพื่อพูดคุยเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่พนักงานอัยการสอบถามถึงหนังสือทั้ง 8 ฉบับ ว่าได้รับมาเมื่อใด พยานไม่ได้เตรียมรายละเอียดมา จึงดูจากเอกสารทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งหัวกระดาษสำหรับฉบับที่รับจากโทรสารจะระบุวันเดือนปี หมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ส่งและเวลาไว้ ซึ่งปรากฏวันที่ 05 บ้าง 03 บ้าง 08 บ้าง เดือน 08 ปี 2013 ซึ่งเมื่อคิดเป็นปีพุทธศักราชจะตรงกับปี 2556 เอกสารส่วนที่ส่งมาทางโทรสาร จำเลยที่ 1 นำมาให้พยานเมื่อปี 2557

    เหตุที่พยานโอนเงิน 625,000 บาท ให้นายกิตติภพโดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการนั้น เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่นายกิตติภพบอก แต่การสร้างศาลาปฏิบัติธรรมให้เสร็จเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับรองลงมา และวัดไม่มีเงินสดคงเหลือ

    ตั้งแต่ 20 เมษายน 2558 พยานกับกรรมการวัดเริ่มรู้แล้วว่ามีการแอบอ้างเบื้องสูง และพยานได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ แต่พยานบอกว่าให้รอดูในวันงานอายุวัฒนะที่จะจัดขึ้นวันที่ 26 เมษายน 2558 เมื่อถึงวันงาน มีนายกิตติภพ นายวิเศษ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เดินทางมาด้วยรถตู้คันเดียวกัน โดยโฆษกในงานไม่ได้มีการกล่าวต้อนรับหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ ระหว่างงานโฆษกก็ไม่ได้กล่าวถึงชื่อหม่อมหลวงทั้งสองคน แต่เพิ่งมากล่าวเมื่อเสร็จงานแล้ว

    แม้พยานจะพอทราบว่ามีการแอบอ้างเบื้องสูงแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าผู้ที่เดินทางมานั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ จึงได้เชิญขึ้นจุดธูปเทียนตามที่โฆษกประกาศเชิญ ขณะที่พยานผายมือเชิญจำเลยที่ 2 ลุกขึ้นไปเป็นประธานจุดธูปเทียนนั้น จำเลยที่ 2 นั่งคู่อยู่กับนายวิเศษ

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ พระครูโสภณวชิรกิจ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 12 นายไพโรจน์ อิ่มอินทร์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลไทรงาม

    นายไพโรจน์เบิกความว่า ไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้วที่วัดไทรงามดำเนินการจัดงานฝังลูกนิมิต โดยตั้งใจว่าจะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิต ประมาณปลายปี 2558 มีการจัดประชุมคณะกรรมการวัดหลายครั้ง แต่พยานไม่ได้เข้าร่วมทุกครั้ง ต่อมาทราบว่าหากชาวบ้านสนใจจะถวายเงินทูลเกล้าจำนวน 10,000 บาท จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ

    เมื่อถึงวันงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของเจ้าอาวาส ช่วงเดือนมกราคม 2558 พยานได้นำเงินจากนางสะอาด แม่ยายของพยาน 10,000 บาท ใส่ซองขาวเขียนชื่อนางสะอาดหน้าซองไปมอบให้กับเจ้าอาวาสกับมือ และแจ้งว่าเป็นเงินทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพฯ

    30 มกราคม 2558 พยานได้รับแจ้งให้แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ไว้ต้อนรับตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ ที่จะมาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพในตอนค่ำ พยานได้แต่งชุดปกติขาวไปถึงที่วัดประมาณ 18.00 น. ก็เห็นเพื่อนสมาชิกสภาเทศบาลฯ แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ด้วย พยานนั่งรออยู่จนใกล้เวลา 20.00 น. โฆษกในงานประกาศให้พยานกับพวกไปเข้าแถวรอรับผู้แทนฯ ที่ด้านหน้าทางเข้าศาลา จากนั้นมีรถตู้สีขาวแล่นมาจอด มีผู้ชายสองคนในชุดปกติขาวลงจากรถ และผู้หญิง 1 คน แต่งชุดดำ พยานไม่แน่ใจว่าผู้หญิงคนดังกล่าวใช่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เพราะตอนนั้นเป็นเวลากลางคืนมืดแล้ว

    บุคคลทั้งสามเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานในงาน พิธีกรได้ประกาศแนะนำบุคคลทั้งสาม พยานจำได้เพียงว่า ชายคนหนึ่งคือหม่อมหลวงจีรเทพ และผู้หญิงที่มาด้วยว่าชื่ออัษฎาภรณ์

    หลังจากเสร็จสิ้นงานสวดพระอภิธรรมศพแล้ว พยานมาทราบภายหลังว่ากลุ่มคนดังกล่าวร่วมกันหลอกลวงเอาเงินวัดไป เสียหายประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งรวมเงิน 10,000 บาท ของนางสะอาดที่พยานมอบให้เจ้าอาวาสด้วย

    พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน ซึ่งในตอนนั้นพยานสามารถให้รายละเอียดเหตุการณ์ได้ดี เพราะยังจำได้ แต่การเบิกความวันนี้ห่างจากวันเกิดเหตุมากจึงจดจำรายละเอียดไม่ได้ โจทก์ให้พยานดูภาพถ่ายวันงานที่พยานไปร่วม พยานยืนยันว่าภาพถ่ายเหล่านี้เป็นภาพถ่ายในวันงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของเจ้าอาวาส

    สำหรับเงิน 10,000 บาทนั้น นางสะอาดไม่ได้ติดใจที่จะเรียกร้องคืน และตั้งใจยกถวายแก่วัดไทรงามไป

    พยานเบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า พยานทราบข้อเท็จจริงเรื่องการโกงวัดไทรงามเฉพาะในวันที่พยานไปร่วมงานเท่านั้น ข้อเท็จจริงอื่นๆ พยานไม่ทราบด้วยตนเอง ตอนที่ไปตั้งแถวรอรับ นางสุมาลีเป็นคนสั่ง นางสุมาลีเป็นนายกฯ เทศบาล ซึ่งหากเป็นคำสั่งเกี่ยวกับงานก็จะต้องปฏิบัติตาม ที่พยานเบิกความได้ในวันนี้เพราะได้อ่านคำให้การในชั้นสอบสวนของตัวเองที่โจทก์นำมาให้ดู ไม่อย่างนั้นคงจำไม่ได้เพราะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว

    รถตู้สีขาวที่มารับส่งบุคคลทั้งสาม พยานมองไม่เห็นว่ามีตราสำนักพระราชวัง จำนวนเงินที่ถูกโกงไป 1,000,000 บาท จะรวมเงิน 10,000 บาทของนางสะอาดด้วยหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ช่วง 4 ปีก่อนที่นางสะอาดจะมาพูดเรื่องเงินบริจาค 10,000 บาท ทางวัดไทรงามไม่เคยบอกบุญเพื่อร่วมกันทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพฯ มาก่อน และพยานไม่ได้แจ้งความว่าตนเองถูกโกงเงิน แต่พนักงานสอบสวนเรียกไปสอบเอง

    พยานตอบถามติงอัยการโจทก์ว่า ปัจจุบันพยานอายุ 66 ปี มีความจำไม่ค่อยแม่นนัก และเพิ่งเคยขึ้นศาลครั้งแรก ส่วนนางสะอาดปัจจุบันอายุ 88 ปี มีความจดจำตามแบบคนชรา นางสะอาดมีความศรัทธาต่อวัดไทรงามมาก เคยทำบุญกฐินทุกปี ปีละ 10,000 บาท ซึ่งไม่เคยเรียกขอใบอนุโมทนาบัตรจากวัดไทรงาม

    ในวันที่พยานใส่ชุดปกติขาวไปร่วมงาน เมื่อต้อนรับแล้วก็กลับมาเข้ามานั่งเก้าอี้ที่จัดไว้ โดยนั่งแถวหลังในกลุ่มเดียวกับชุดปกติขาว แต่อยู่บริเวณซ้าย ขวา หรือตรงกลาง ของเก้าอี้ประธาน พยานจำไม่ได้

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายไพโรจน์ อิ่มอินทร์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560)



    สืบพยานโจทก์ปากที่ 13 นายวิสิษฎ์ สกุลยืนยง นายอำเภอไทรงาม

    นายวิสิษฎ์เบิกความว่า พยานเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอไทรงาม ตั้งแต่พฤษภาคม 2555 - พฤศจิกายน 2559 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่ง พยานทราบว่าวัดไทรงามยังไม่ได้ฝังลูกนิมิต และทราบว่าเจ้าอาวาสวัดไทรงามประสงค์จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตที่วัดไทรงาม ซึ่งต้องจัดทำเอกสารทูลเชิญให้เป็นไปตามระเบียบเถรสมาคม ซึ่งจะต้องผ่านนายอำเภอก่อนจะเสนอเจ้าคณะจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ ปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558 ไม่แน่ใจ เจ้าอาวาสเสนอมาถึงพยาน เมื่อตรวจสอบแล้วจึงลงชื่อ เพื่อให้วัดนำกลับไปเสนอตามระเบียบต่อไป

    สำหรับงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาส วันที่ 30 มกราคม 2558 นางสุมาลีประสานพยานมาว่าจะมีผู้แทนพระองค์สมเด้จพระเทพฯ มาร่วมงาน จึงประสานพยานให้ช่วยเคลียร์เส้นทางและปักธงในเส้นทางที่ผู้แทนพระองค์ฯ จะใช้ผ่านมา ซึ่งเป็นเส้นทางสายกำแพงเพชร-พิจิตร ในวันงานดังกล่าว พยานติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ปลัดอำเภออาวุโสไปร่วมงานแทน

    อัยการนำต้นฉบับหนังสือจากสำนักพระราชวังให้พยานดู พยานเบิกความว่า เห็นเอกสารครั้งแรกเมื่อตอนที่นางสุมาลีบอกว่า ผู้แทนพระองค์ฯ จะมาร่วมงานอายุวัฒนะของเจ้าอาวาส วันที่ 26 เมษายน 2558 เมื่อได้ดูแล้วมีความมั่นใจว่าเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากรูปแบบผิดแปลกไปจากหนังสือราชการทั่วไป ตรายางครุฑที่ลงท้ายหนังสือเป็นตรายางแบบครุฑที่ใช้กันทั่วๆ ไป รวมทั้งชื่อเจ้าของหนังสือที่ระบุว่า "ท่านผู้หญิงบุตรตรี วีระไว" นั้น พยานทราบว่าที่ถูกต้องแล้วต้องมีชื่อสกุล วีระไวทยะ ดังนั้น หากพิมพ์ชื่อสกุลผิดจึงไม่น่าใช่หนังสือราชการที่ถูกต้อง พยานจึงแจ้งให้นายพรเทพและนางสุมาลีทราบ และขอให้เรียกคืนหนังสือที่แจกจ่ายไปแล้วกลับคืนมา และบอกให้นายพรเทพแจ้งพระครูฯ ด้วย

    ต่อมาการเรียกคืนหนังสือไม่น่าจะทัน เพราะหนังสือไปถึงศาลากลางจังหวัดแล้ว ผู้ว่าฯ จึงมีหนังสือให้พยานในฐานะนายอำเภอไทรงามตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าหนังสือฉบับที่อ้างถึงเป็นฉบับจริงและตัวแทนดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ พยานจึงมอบหมายให้สภ.ไทรงามและปลัดอาวุโสสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น

    พยานไม่ได้ไปร่วมทั้งงานสวดพระอภิธรรมศพฯ และงานอายุวัฒนะฯ

    สำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทูลเกล้าถวายเงินให้สมเด็จพระเทพฯ นั้น พยานไม่ทราบเรื่องมาก่อน โดยหลักปฏิบัติแล้ว หากมีการทูลเชิญ ถ้าพระองค์ยังไม่ตอบรับ ห้ามทำการประชาสัมพันธ์ก่อน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนที่จะย้ายมาเป็นนายอำเภอไทรงาม ไม่ทราบว่าวัดมีการกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตมาก่อนแล้วหรือไม่

    ในวันที่นางสุมาลีบอกว่าจะมีผู้แทนพระองค์มาร่วมงานทำบุญอายุวัฒนะ วันดังกล่าวทางอำเภอไทรงามยังไม่ได้รับหนังสือที่ทางเทศบาลจัดพิมพ์ พยานขอดูหนังสือจากสำนักพระราชวังเนื่องจากเป็นงานในหน้าที่ที่จะต้องถวายความปลอดภัยหากมีการเสด็จโดยพระองค์เองหรือผู้แทนพระองค์ ตอนที่พยานเห็นเอกสารแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารปลอม แต่ก็ไม่ได้สอบถามไปทางสำนักพระราชวัง เพราะยังไม่เกิดคดีขึ้นและไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของพยาน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตอนที่สั่งงานให้ปลัดอาวุโสทำการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นนั้น พยานสั่งด้วยวาจาเนื่องจากอยู่หน่วยงานเดียวกันตามสายบังคับบัญชา โดยไม่ทราบว่าปลัดอาวุโสได้มอบหมายให้ใครทำเรื่องดังกล่าวต่อ และปลัดฯ ไม่ได้รายงานพยานว่าไปถามผู้ใดมาบ้าง สภ.ไทรงามหลังจากสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วก็ทำเป็นหนังสือส่งให้พยาน ส่วนปลัดอำเภออาวุโสเพียงแต่ทำบันทึกภายในบ้าง บอกกล่าวด้วยวาจาบ้าง

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายวิสิษฎ์ สกุลยืนยง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560)



    สืบพยานโจทก์ปากที่ 14 นางสาวพชรพรรณ ชุ่มเปี่ยม นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

    นางสาวพชรพรรณเบิกความตอบอัยการโจทก์ว่า เมื่อต้นปี 2558 พระครูโสภณวชิรกิจมาพร้อมกับผู้หญิงคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ มาแจ้งความประสงค์ว่าวัดไทรงามจะทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ตัดถวายลูกนิมิตที่วัดไทรงาม จึงขอทราบระเบียบการทูลเชิญ พยานจึงมอบเอกสารเกี่ยวกับระเบียบของมหาเถรสมาคมว่าด้วยการขอพระราชทานราชูปถัมภ์ พ.ศ.2539 และเจ้าอาวาสได้ยื่นเอกสารที่มีข้อความทำนองว่าเป็นการตอบรับของสมเด็จพระเทพฯ ว่าจะเสด็จจังหวัดกำแพงเพชร แต่ให้พยานดูไม่นานก็ดึงกลับไป

    ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2558 พระครูโสภณธนาพร โทรศัพท์แจ้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรให้มารับหนังสือไปตรวจสอบ วัฒนธรรมจังหวัดจึงมอบหมายให้พยานตรวจสอบข้อเท็จจริง พยานจึงนำหนังสือดังกล่าวไปสอบถามเจ้าอาวาสวัดไทรงาม ได้รับแจ้งว่าทางวัดแจ้งความดำเนินคดีแล้ว จึงกลับมารายงานวัฒนธรรมจังหวัดทราบ และวัฒนธรรมจังหวัดได้ทำหนังสือรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า หนังสือที่เจ้าอาวาสวัดไทรงามนำไปให้พยานดูช่วงต้นปี 2558 ไม่ใช่หนังสือตามหลักฐานเอกสาร เพียงแต่มีข้อความคล้ายกัน พยานไปวัดไทรงามวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ผู้ที่ให้รายละเอียดการแจ้งความเป็นผู้หญิง 2 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และประธานวัฒนธรรมอำเภอไทรงาม ซึ่งขณะนั้นคือนายเกเทศมนตรีอำเภอไทรงาม คือ นางสุมาลี อินทอง นอกจากนี้มีเจ้าอาวาสวัดไทรงามด้วย ซึ่งได้ให้การอ้างอิงไว้ว่า ได้ไปแจ้งความเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เมื่อสอบถามวัดไทรงาม ได้รับแจ้งว่ามีการแจ้งความ 2 ครั้ง ในวันที่ 20 เมษาบย 2558 และวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 โดยนำเอกสารให้ดู แต่ไม่ยอมให้ถ่ายเอกสารไว้ จึงไม่ทราบว่าเป็นการแจ้งความไว้ให้ดำเนินคดี หรือแจ้งไว้เป็นหลักฐาน

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางสาวพชรพรรณ ชุ่มเปี่ยม ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 15 พันตำรวจโทนิรุทร์ สมบุญโภชน์ พนักงานสอบสวน

    พันตำรวจโทนิรุทร์เบิกความตอบคำถามอัยการโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ช่วงเย็น นายพรเทพ จันทร์ต้น ผู้รับมอบอำนาจจากวัดไทรงาม มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนางอัษฎาภรณ สิทธิราช กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาฉ้อโกง พยานจึงรับคำร้องทุกข์ไว้ และสอบคำให้การนายพรเทพในฐานะผู้กล่าวหา พยานได้สอบสวนพระครูโสภณวชิรกิจ เจ้าอาวาสวัดไทรงามไว้ในฐานะพยาน ซึ่งให้การโดยสรุปว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ร่วมกันมาหลอกลวงโดยอ้างว่าสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จดัตถวายลูกนิมิตพระอุโบสถวัดไทรงามในปลายปี 2558 ได้ จากการหลอกลวงทำให้วัดไทรงามเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,076,000 บาท

    ระหว่างสอบสวน จำไม่ได้ว่านายพรเทพหรือนางภนัชษาได้มอบเอกสารปลอม 8 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 11 แผ่น ซึ่งเป็นลักษณะหนังสือของกองงานในสมเด็จพระเทพฯ พยานได้ถ่ายสำเนาเอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับ ส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง เพื่อสอบถามว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และได้รับคำตอบว่าเป็นเอกสารปลอมทั้งหมด

    ต่อมาพยานได้ให้การแก่พันตำรวจโทศุภศักดิ์ พิลา พนักงานสอบสวน ในส่วนที่พยานมีฐานะเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 ในส่วนที่ตรวจสอบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม และพยานเป็นผู้ตรวจสอบโดยละเอียด เอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับนั้นมีข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากมีการอ้างว่า นำเงินทูลเกล้าทูลกระหม่อมในพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. จำนวน 110,000 บาท

    ต่อมาคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้มีมติให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสี่ และมีการจับกุม โดยจับกุมนางอัษฎาภรณ์ได้ก่อน โดยแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งนางอัษฎาภรณ์ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม และไม่รู้เรื่องในการหลอกลวงครั้งนี้ ต่อมาจึงจับนายกิตติภพและนายวิเศษ ข้อหาเดียวกับนางอัษฎาภรณ์ แต่เพิ่มข้อหาแต่งเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายโดยไม่มีสิทธิ ทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยบอกว่าทั้งสองถูกหลอกลวงโดยนางอัษฎาภรณ์ชวนมาทำบุญ ต่อมาจับกุมนายนพฤทธิ์ แจ้งข้อหาเหมือนนางอัษฎาภรณ์ ซึ่งให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนว่า มาร่วมงานวันเกิดเจ้าอาวาส แต่ไม่ได้แอบอ้างเป็นหม่อม

    เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 6 มีความเห็นร่วมกันเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า หลังจากที่วัดได้มอบอำนาจให้มาดำเนินคดีแจ้งความแล้ว ได้มีผู้หญิงที่อ้างตัวว่าเป็นนางอัษฎาภรณ์โทรศัพท์มาหาพยาน บอกว่า "หากจะออกหมายเรียกหรือหมายจับให้โทรศัพท์แจ้งตนก่อน" และยังข้อความให้ทางไลน์ด้วย

    พยานเป็นผู้สอบสวนนางอัษฎาภรณ์ ไม่ได้ถามนางอัษฎาภรณ์ว่า ได้เป็นผู้แอบอ้างว่าเป็นผู้ประสานงานกับสำนักพระราชวังหรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบการจ่ายเงินว่าสอดคล้องกับเอกสารทั้ง 8 ฉบับหรือไม่ พยานไม่ทราบว่านางอัษฎาภรณ์ได้จ่ายเงินแทนวัดไปก่อน แล้ววัดจึงจ่ายเงินคืนแก่นางอัษฎาภรณ์จริงหรือไม่

    พยานสอบสวนเจ้าอาวาส เกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ว่าได้รับมาจากผู้ใดบ้าง แต่ไม่ได้สอบถามนางอัษฎาภรณ์ และยังได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ นางอัษฎาภรณ์ได้มาทำบุญที่วัดเป็นเวลาหลายปีแล้ว และบางครั้งก็ทำบุญเป็นเงินจำนวนมาก

    จากการสอบสวนได้ความว่า นายกิตติภพเป็นผู้นำเอกสารมาให้เจ้าอาวาส และนางอัษฎาภรณ์ก็เป็นผู้รับเอกสารมาจากนายกิตติภพแล้วนำมาให้เจ้าอาวาส เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว เจ้าอาวาสประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์ที่จะดำเนินคดีแก่นางอัษฎาภรณ์ นอกจากนี้เจ้าอาวาสยังแจ้งว่า นางอัษฎาภรณ์ก็เป็นผู้เสียหาย เพราะได้สูญเงินจำนวน 490,000 บาท

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า จากการสืบสวนสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีพยานบุคคลปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับ และไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 นำเอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับ มาแสดงต่อวัดไทรงาม จำเลยที่ 2 เพิ่งมาเกี่ยวข้องเฉพาะมาร่วมทำบุญในงานอายุวัฒนะเจ้าอาวาสวัดไทรงาม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 เท่านั้น มีการโอนเงินจำนวนสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้ามาเกี่ยวข้อง จากการสอบสวนพยานบุคคลและเส้นทางการเงิน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยอื่น

    จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำใดนอกเหนือจากที่มาเกี่ยวข้องในวันที่ 26 เมษายน 2558 การแจ้งข้อกล่าวหาก็ระบุวันเกิดเหตุวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2558

    พยานไม่เคยเห็นประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตามที่มีประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ที่ทนายจำเลยที่ 2 ให้ดู พยานทำงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนมา 6 ปี ทราบว่าการแต่งตั้งรัชทายาทเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล พยานเคยทราบมาก่อนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีการประชุมและลงความเห็นว่า สมเด็จพระเทพฯ มีพระนามาภิไธยว่าสยามบรมราชกุมารี ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น สยามมกุฏราชกุมารี จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาท แต่พยานและคณะกรรมการมีความเห็นว่าศาลนครสวรรค์เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาว่า สมเด็จพระเทพฯ เป็นองค์รัชทายาท ทนายความให้พยานดูคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครสวรรค์หมายเลขดำที่ 548/2547 ซึ่งมีคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 6 และคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวด้วย พยานดูแล้วเบิกความว่า ใช่คดีที่พยานเบิกความถึง

    พยานตอบถามติงอัยการโจทก์ว่า เอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับ จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้รับมาจากนายกิตติภพแล้วนำมาให้เจ้าอาวาสวัดไทรงาม นายกิตติภพอ้างว่าไม่ได้ทำ ไม่เคยพบเห็นเอกสารดังกล่าว ส่วนนายวิเศษอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จัดทำและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ พันตำรวจโทนิรุทร์ สมบุญโภชน์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560)


    หลังการสืบพยาน โจทก์แถลงว่ายังติดใจสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก 5 ปาก ขอนำสืบในนัดหน้าเนื่องจากเวลาล่วงเลยมาถึง 17.00 น. จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน ศาลจึงหใเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00-16.30 น.

    ศาลกำชับโจทก์ให้จัดเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในวันนัดดังกล่าว มิฉะนั้นศาลจะพิจารณาตัดพยานโดยเคร่งครัด จากนั้นจะให้สืบพยานจำเลยทั้งสองต่อเนื่องไปตามกำหนดที่นัดไว้ล่วงหน้าโดยเคร่งครัด กำชับทนายทั้งสองให้จัดเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 16 นางสมใจ เทียนสัน กรรมการวัดไทรงาม

    นางสมใจเบิกความว่า พยานไปทำบุญที่วัดไทรงามประมาณ 10 ปี และเข้าทำหน้าที่เป็นกรรมการวัดไทรงาม พยานทราบจากเพื่อนที่มาประชุมกรรมการวัดว่า จะมีการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตที่วัดไทรงาม ผู้ที่ประสงค์ทูลเกล้าถวายเงิน 10,000 บาท จะได้เข้าเฝ้า พยานจึงตกลงจะถวายเงิน 10,000 บาทดังกล่าวด้วย

    พยานเข้าร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาส 1 คืน ในวันดังกล่าวนายกเทศมนตรีให้แต่งชุดปกติขาวไว้ทกุข์ เห็นชายสองคนแต่งชุดปกติขาวเหมือนกับข้าราชการลงจากรถตู้คันเดียวกัน และยังมีจำเลยที่ 1 ด้วย

    สำหรับเงิน 10,000 บาท พยานลงชื่อไว้ว่าจะร่วมถวาย แต่จนบัดนี้ยังไม่มีใครเรียกเก็บ และพยานยังไม่ได้จ่ายให้ใคร

    พยานไม่ได้ไปร่วมงานอายุวัฒนะของเจ้าอาวาสวัดไทรงาม พยานเคยเห็นจำเลยที่ 1 มาทำบุญที่วัดไทนงาม ไมได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เคยทักทายกันเท่านั้น ไม่เคยพูดคุยกัน พยานไม่รู้จักและไม่เคยเห้นจำเลยที่ 2 มาก่อน

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า พยานไม่เคยทราบเกี่ยวกับความเป็นมาในคดีนี้ และไม่เคยทราบว่ามีการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาแล้วกี่ครั้ง ในฐานะที่เป็นกรรมการวัด พยานไม่เคยถูกทางวัดเรียกเข้าประชุมเกี่ยวกับการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาก่อน พยานเพียงแต่เคยเห็นจำเลยที่ 1 ไปทำบุญ ส่วนใหญ่แล้วพยานจะไปร่วมงานที่วัดไทรงามเฉพาะงานกฐินและวันพระใหญ่ เมือ่ไปทำบุญที่วัดไทรงาม พยานเคยได้ยินประกาศถึงการทำบุญของจำเลยที่ 1 และเคยเห็นจำเลยที่ 1 ออกโณงทานที่วัดในงานวัดใหญ่ๆ และเป็นผู้ร่วมสร้างห้องน้ำใหม่ของวัด

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตอนที่พยานทราบว่าจะมีการทูลเกล้าถวายเงิน 10,000 บาท เพื่อเข้าเฝ้านั้น พยานจำไม่ได้ว่าเป็นเมื่อใด จะเป็นช่วงก่อนงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาสหรือไม่ ก็จำไม่ได้ ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ให้การว่าได้ลงชื่อบริจาคเงินเพื่อเข้าเฝ้า

    ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่มีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น พยานมาทราบทีหลังจากที่ชาวบ้านที่ตลาดสดเทศบาลไทรงามพูดคุยกัน พยานไม่ทราบว่า พนักงานสอบสวนได้พิมพ์คำตอบดังกล่าวแล้วมาถาม หรือฟังที่พยานตอบแล้วพิมพ์ไป

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นางสมใจ เทียนสัน ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560)


    สืบพยานโจทก์ปากที่ 17 นายภพภณ แก้วเกิด ชาวบ้านตำบลไทรงาม

    นายภพภณเบิกความตอบคำถามอัยการโจทก์ว่า พยานไม่ได้ทราบโดยตรง แต่ทราบจากชาวบ้านที่ไปทำบุญว่า สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จตัดถวายลูกนิมิตที่วัด หากมีผู้ประสงค์ทูลเกล้าถวายเงิน 10,000 บาท จะได้รับเข็มที่ระลึกและได้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ซึ่งพยานได้ลงชื่อร่วมบริจาคด้วย และได้มอบเงินบริจาค 10,000 บาท ให้กับกรรมการวัด ซึ่งขณะนี้พยานจำชื่อไม่ได้แล้ว

    พยานไม่ได้ไปร่วมทั้งงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาส และงานทำบุญอายุวัฒนะ ต่อมา พยานทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า สมเด็จพระเทพฯ ไมได้เสด็จที่วัดไทรงาม และกรรมการวัดคนที่รับเงินจากพยานไป ก็นำเงินมาคืน

    พยานเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน ซึ่งมาสอบปากคำที่ร้านของพยาน อัยการนำบันทึกคำให้การให้พยานดู ถามให้พยานทบทวนในวันที่ให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการเข้าร่วมประชุม โดยให้พยานอ่านบันทึกคำให้การ พยานเบิกความว่า อ่านหนังสือออก แต่ไม่ได้นำแว่นสายตามา โจทก์จึงขออ่านให้ฟังว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2558 พยานได้รับหนังสือเชิญจากทางวัดให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพยานได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวด้วย แล้วพยานเบิกความว่า ไม่ได้รับหนังสือเชิญและไม่ได้เข้าประชุม ความจริงเป็นไปตามที่เบิกความไปข้างต้น ส่วนเงิน 20,000 บาทนั้น เป็นเงินของพยาน 10,000 บาท และเงินของภรรยาพยานอีก 10,000 บาท ก็ได้คืนครบทั้งหมด

    พยานตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ไม่เคยบอกพนักงานสอบสวนว่าบริจาคเงินเพียง 5,000 บาท ในช่วงเดือนมกราคม 2558 พยานไม่เคยเข้าประชุมกับทางวัดไม่ว่าจะเรื่องใด ในวันที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้รับเงินคืน

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานโจทก์ นายภพภณ แก้วเกิด ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560)
  • สืบพยานจำเลยที่ 1 ปากที่ 1 นางอัษฎาภรณ์ เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

    นางอัษฎาภรณ์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อปี 2554 มารดาของตนเป็นศิษย์วัดป่าไทรงาม ตนและมารดาจึงมาทำบุญที่วัดเป็นประจำ และร่วมกิจกรรมกับทางวัดเสมอ นางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนจำหน่ายคอนกรีตสำเร็จรูป ทำในรูปของห้างหุ้นส่วนจำกัด ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2539 โดยตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขณะถูกดำเนินคดีนี้ มีผู้ดำเนินการแทนอยู่

    ในการทำบุญร่วมกับวัด หากวัดมีงานบุญ นางอัษฎาภรณ์จะออกค่าใช้จ่ายตั้งโรงทานแก่ผู้มาร่วมงาน และได้ปวารณาตัวขอช่วยเหลือวัดโดยออกเงินสำรองจ่าย กรณีที่วัดยังไม่มีปัจจัยเพียงพอ เมื่อได้สำรองจ่ายออกไปก็ไม่เคยทวงถามให้วัดคืนเงินที่สำรองจ่ายไป แต่เมื่อวัดมีเงินเมื่อใดจึงจะคืนให้ เงินทำบุญและค่าใช้จ่ายออกโรงทานนั้น นางอัษฎาภรณ์ต้องการทำบุญให้กับวัด จึงไม่ได้เรียกคืน

    เมื่อปี 2556 ขณะไปทำบุญที่วัดไทรงาม เจ้าอาวาสได้ประกาศหาผู้ที่รู้จักและสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จตัดถวายลูกนิมิตวัดได้ เพื่อจะได้ให้ติดตามเรื่องที่ทางวัดได้ทูลเชิญไปแล้ว ช่วงกลางปี 2556 ก่อนช่วงเข้าพรรษา นางอัษฎาภรณ์ บิดา มารดา นางเสาวนีย์ และนายกิตติภพ บุตรของนางเสาวนีย์ ไปงานบุญที่วัดไทรงาม หลังจากทำบุญเสร็จ ได้พบเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสได้พูดคุยว่าวัดได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาตัดถวายลูนิมิต ซึ่งได้เดินเรื่องไว้แล้ว มีใครพอจะรู้จักบ้างหรือไม่ จากนั้นนายกิตติภพได้บอกว่า พระองค์โสมสวลีฯ เสด็จที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นประจำ และได้มีโอกาสเข้าเฝ้า เพราะตนทำงานที่นั่น นอกจากนี้นายกิตติภพยังรู้จักกับหม่อมหลายคน และรับว่าจะไปสอบถามให้

    หลังจากนั้น เมษายน 2557 บิดาของนางอัษฎาภรณ์เล่าให้ฟัง เจ้าอาวาสสอบถามนายกิตติภพเกี่ยวกับความคืบหน้าที่ให้ไปดำเนินการ นายกิตติภพแจ้งว่ารู้จักหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพ ซึ่งทำงานอยู่ในวัง และรับปากว่าจะช่วยติดตามเรื่องให้ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เจ้าอาวาสวัดไทรงามแจ้งนางอัษฎาภรณ์ว่า ได้พูดคุยกับนายกิติตภพแล้ว และนายกิตติภพแจ้งว่าได้ไปตรวจสอบในวังแล้ว ปรากฏว่าไม่มีเรื่องทูลเชิญของวัดป่าไทรงาม จึงให้เจ้าอาวาสทำเรื่องเข้าไปใหม่ แต่นางอัษฎาภรณ์ไม่เคยเห็นหนังสือทูลเชิญดังกล่าว

    ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2557 เจ้าอาวาสโทรศัพท์มาบอกให้นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ให้นายกิตติภพ ต่อมาเจ้าอาวาสแจ้งให้นางอัษฎาภรณ์ทราบว่า นายกิตติภพจะส่งเอกสารเกี่ยวกับการทูลเชิญมาให้ทางวัด แต่เครื่องโทรสารของวัดเสีย จึงให้นายกิตติภพส่งเอกสารมาให้นางอัษฎาภรณ์ นอกจากนี้เจ้าอาวาสยังแจ้งว่า เป็นเอกสารภายใน ห้ามเผยแพร่ เมือ่ได้รับเอกสารแล้วให้ใส่ซองปิดผนึกไว้ ตอนที่ได้รับเอกสาร นางอัษฎาภรณ์เพียงแต่มองผ่านๆ ไม่ได้อ่าน

    ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคม 2557 เจ้าอาวาสแจ้งว่านายกิตติภพต้องการให้โอนเงินอีกจำนวน 110,000 บาท เพื่อเป็นค่าทูลเกล้าถวาย โดยให้โอนเข้าบัญชีของนายกิตติภพ หลังจากโอนเงินแล้ว วันรุ่งขึ้นเจ้าอาวาสแจ้งว่า นายกิตติภพขอเบิกเงินเพิ่มอีก 79,999 บาท โดยก่อนที่นายกิตติภพจะขอเบิกเงินจำนวนนี้เพิ่ม นายกิตติภพได้ส่งเอกสารมาอีกทางโทรสาร นางอัษฎาภรณ์ได้แจ้งต่อเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาสบอกให้เก็บใส่ซองไว้ รวมแล้วเงินที่นางอัษฎาภรณ์โอนแทนเจ้าอาวาสประมาณ 190,000 บาท

    ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2557 นางอัษฎาภรณ์ได้โอนเงินจำนวน 70,000 บาทเข้าบัญชีเดิม เจ้าอาวาสได้แจ้งว่านายกิตติภพจะส่งเอกสารมาอีกให้ช่วยเก็บไว้ รุ่งขึ้น นายกิตติภพส่งเอกสารมาทางโทรสาร 1 ฉบับ เป็นอสารมีตราครุฑ นางอัษฎาภรณ์นำเอกสารใส่ซองปิดผนึกและแจ้งเจ้าอาวาสทราบ

    ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2557 นางอัษฎาภรณ์ได้โอนเงินอีก 50,000 บาท และแจ้งเจ้าอาวาส นางอัษฎาภรณ์เบิกความว่า มีความตั้งใจแต่แรกว่าเงินที่จ่ายแทนวัดไป 300,000 บาท กับ 190,000 บาทนั้นจะไม่ขอรับคืนจากวัด จึงได้เรียนให้เจ้าอาวาสทราบ จึงไม่มีหลักฐานปรากฏว่าทางวัดโอนเงิน 490,000 บาทมาให้

    วันที่ 8 มิถุนายน 2557 เจ้าอาวาสแจ้งว่า นายกิตติภพขอเบิกเงินค่ายานพาหนะ 150,000 บาท ขอให้นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายไปก่อน วันที่ 9 มิถุนายน 2557 นางอัษฎาภรณ์จึงโอนเงินสดไปยังบัญชีกิตติภพ และแจ้งเจ้าอาวาสทราบเหมือนทุกครั้ง

    ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2557 แม่ชีพิมพาโทรศัพท์มาแจ้งนางอัษฎาภรณ์ว่า ได้โอนเงินคืน 150,000 บาท นางอัษฎาภรณ์เห็นว่าเงินจำนวนนี้เป็นคนละจำนวนกับเงิน 490,000 บาท ที่ตั้งใจจะทำบุญให้วัด จึงยอมรับคืน หลังจากนั้น 2-3 วัน เจ้าอาวาสแจ้งว่านายกิตติภพจะส่งเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายแทนวัดไทรงามให้ทางโทรสาร แต่ปรากฏว่าไม่มีการส่งเอกสารมา

    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 นางอัษฎาภรณ์เดินทางมาจังหวัดกำแพงเพชร และวันรุ่งขึ้นได้นำเอกสารที่ได้รับจากนายกิติตภพมอบให้เจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสเปิดซองเอกสารตรวจดูแล้วไม่มีเอกสารรายละเอียดที่นายกิตติภพแจ้งว่าจะส่งผ่านทางนางอัษฎาภรณ์ จากนั้นเจ้าอาวาสก็ให้ดูเอกสารทุกฉบับ นางอัษฎาภรณ์ดูเพียงผ่านๆ มีที่ดูละเอียดเฉพาะเอกสารที่ระบุถึงเงินจำนวน 300,000 บาท ตามที่ตั้งใจทำบุญ เอกสารที่ได้รับทางโทรสารและส่งมอบให้เจ้าอาวาสแล้วนั้น มีข้อสังเกตถึงเอกสารฉบับที่ไม่ได้ลงวันที่ หลังจากคืนเอกสารให้เจ้าอาวาสแล้ว นางอัษฎาภรณ์โทรศัพท์ถามนายกิตติภพถึงเอกสารฉบับดังกล่าว ได้รับแจ้งว่าเป็นเอกสารภายใน

    หลังจากนั้นนายกิตติภพได้มาบวชที่ไทรงามอยู่ 10 วัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 หลังจากที่นายกิตติภพลาสิกขาแล้ว เจ้าอาวาสแจ้งนางอัษฎาภรณ์ว่า นายกิตติภพขอเบิกเงินค่าทำกล่องบรรจุเหรียญจำนวน 299 กล่อง เพื่อบรรจุเหรียญที่วัดจ่ายค่าเหรียญไปแล้ว โดยนายกิตติภพขอเบิกเงิน 151,500 บาท ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 นางอัษฎาภรณ์จึงสำรองจ่ายโดยเช็ค ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2557 แม่ชีพิมพาโทรศัพท์มาแจ้วว่าได้โอนเงินของวัดไทรงามจำนวน 246,960 บาท ซึ่งเป็นการโอนชดใช้คืนเงินที่นางอัษฎาภรณ์สำรองจ่ายไปก่อน

    ก่อนกลางเดือนธันวาคม 2557 เจ้าอาวาสแจ้งว่านายกิตติภพขอเบิกเงินค่าทูลเกล้าถวายคนละ 10,000 บาท เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ จำนวน 125 คน โดยขอเบิกครึ่งหนึ่งก่อน เป็นเงิน 625,000 บาท โดยเจ้าอาวาสแจ้งว่านายกิตติภพให้จ่ายเป็นเช็คเงินสด และเจ้าอาวาสแจ้งว่านายกิตติภพจะส่งเอกสารค่าใช้จ่ายมาทางอีเมล์ ขณะนั้นทางวัดมีเงินสดแต่ไม่มีเช็ค จึงขอให้นางอัษฎาภรณ์ออกเช็คแทน

    วันที่ 24 ธันวาคม 2557 เจ้าอาวาสโทรศัพท์มาถามว่าจะสะดวกออกเช็คให้หรือไม่ นางอัษฎาภรณ์จึงออกเช็คเงินสดพร้อมกับปรินท์เอกสารจากนายกิตติภพที่ได้รับทางอีเมล์ โดยไม่ได้อ่านข้อความ และนำไปมอบให้ ต่อมาวันรุ่งขึ้น แม่ชีพิมพาโทรศัพท์มาแจ้งว่าได้โอนเงินวัดจำนวน 740,540 บาท ซึ่งเงินจำนวนประกอบด้วยเงินตามเช็ค 625,000 บาท ส่วนที่เกิดกว่านั้นเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่สำรองจ่ายแทนวัด ได้แก่ ค่าปูนถุง และค่าใช้จ่ายไหว้ระ 9 วัด เช็คเงินสดจำนวน 625,000 บาทนั้นมีการฝากเข้าบัญชีนายวิเศษและนายกิติตภพ การสำรองจ่ายในครั้งนั้นเป็นการสำรองจ่ายครั้งสุดท้าย

    ในกิจการต่างๆ ที่เบิกความ เจ้าอาวาสได้แจ้งนายกิตติภพว่านางอัษฎาภรณ์เป็นตัวแทนของวัดไทรงามในส่วนที่เกี่ยวกับการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ในการติดต่อประสานงานกับนายกิตติภพ

    เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2557 วัดไทรงามได้จัดกิจกรรมไหว้พระ 9 วัน ในกรุงเทพฯ นางอัษฎาภรณ์ไปร่วมด้วย เมื่อรถบัสของวัดเดินทางถึงกรุงเทพฯ ได้พบกับนายกิตติภพ นายกิตติภพได้แนะนำชายคนหนึ่งว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีการนำรถเก๋งสีขาวแบบมีไฟไซเรนบนหลังคา มานำขบวนเพื่อให้ทันไหว้พระ 9 วัดได้ทัน นอกจากนี้ได้เข้าไปกราบนมัสการวัดพระแก้ว นายกิตติภพและหม่อมหลวงจีรเทพได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในเขตหวงห้าม ซึ่งมีแผงเหล็กกั้นจนสามารถให้คณะวัดไทรงามเข้าในเขตหวงห้ามได้ รวมทั้งเขตที่เป็นฐานบุษบกที่รองรับพระแก้วมรกต นางอัษฎาภรณ์จึงเชื่อว่าชายที่นายกิตติภพแนะนำเป็นหม่อมหลวงจริง รวมทั้งเจ้าอาวาสและคณะที่ไปต่างก็เชื่อเช่นเดียวกัน

    ต่อมาเดือนมกราคม 2558 นางอัษฎาภรณ์ได้รับแจ้งจากเจ้าอาวาสว่ามีเอกสารการทูลเชิญไม่ถูกต้องถูกส่งกลับมาแก้ไข เจ้าอาวาสจึงเรียกหน่วยงามที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม โดยขอให้นางอัษฎาภรณ์ไปในฐานะตัวแทนของวัดด้วย และเจ้าอาวาสได้แจ้งให้นายกิตติภพและหม่อมหลวงจีรเทพเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีกำหนดประชุมวันที่ 11 มกราคม 2558 นางอัษฎาภรณ์เข้าร่วมประชุม

    เมื่อเริ่มประชุม เจ้าอาวาสแนะนำชายที่มากับนายกิตติภพว่าคือหม่อมหลวงจีรเทพ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อประสานงานในการกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ และแนะนำนายกิตติภพว่าเป็นหลานของนางอัษฎาภรณ์ และเป็นผู้ประสานงาน ทำงานอยู่กับหม่อมหลวงจีรเทพ หลังจากแนะนำบุคคลต่างๆ แล้ว เจ้าอาวาสได้ชี้แจงถึงเหตุที่มีการประชุมว่า นางสุมาลีทำหนังสือทูลเชิญฯ จนมีการเสนอไปถึงเจ้าคณะจังหวัด แต่หนังสือถูกตีกลับมา โดยอ้างว่ามีคำบางคำไม่ถูกต้อง จึงไม่ลงลายมือชื่อให้ โดยไม่แจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร

    หลังประชุมเสร็จ หม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพเป็นผู้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของหนังสือทูลเชิญ และหม่อมหลวงจีรเทพได้ขอเอกสารจากนางสุมาลีเพื่อนำไปแก้ไข เสร็จแล้วจะนำมาส่งคืนวัดภายหลัง หลังจากนั้น เจ้าอาวาสได้เชิญหม่อมหลวงจีรเทพไปเดินชมบริเวณพระอุโบสถของวัดไทรงาม

    ตามภาพถ่ายประกอบคดีซึ่งเป็นภาพระหว่างประชุมและภาพที่เจ้าอาวาสพาหม่อมหลวงจีรเทพชมพระอุโบสถ ระบุว่านางอัษฎาภรณ์รู้จักคนในสำนักพระราชวังนั้นไม่เป็นความจริง เพราะนางอัษฎาภรณ์ไม่ได้บอกให้ใครทราบเลย และไม่เคยพูดว่าสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ

    ต่อมา 24 มกราคม 2558 ขณะนั้นนางอัษฎาภรณ์อยู่ที่บางบัวทอง เจ้าอาวาสวัดไทรงามโทรศัพท์มาแจ้งว่ามารดาเสียชีวิตแล้ว แต่ยังมีภารกิจอยู่ จึงตั้งใจว่าจะมาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพในวันที่ 25 มกราคม 2558 ก่อนที่จะเดินทางไปกำแพงเพชร ได้โทรศัพท์หานางอรพรรณ น้องสาวที่อยู่กำแพงเพชร ให้ช่วยสั่งพวงหรีด ไปแสดงความเสียใจต่อเจ้าอาวาส และต่อมาเวลา 15.00 น. ขณะเดินทางไปกำแพงเพชร นายกิตติภพโทรศัพท์มาขอให้ช่วยสั่งพวงหรีดให้ นางอัษฎาภรณ์จึงโทรไปบอกน้องสาวแทน เมื่อมาถึงวัด พบพวงหรีดในนามนางอัษฎาภรณ์ และยังมีพวงหรีดในนามของหม่อมหลวงจีรเทพ และหม่อมหลวงจักราภา และของนายกิตติภพ

    วันที่ 28 มกราคม 2558 เจ้าอาวาสวัดไทรงาม โทรศัพท์มาแจ้งว่า นายกิตติภพแจ้งว่าสมเด็จพระเทพฯ มอบหมายให้หม่อมหลวงจีรเทพมาเป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรมมารดาเจ้าอาวาส ในวันที่ 30 มกราคม 2558 ขอให้นางอัษฎาภรณ์มาร่วมงานด้วย เมื่อถึงเวลานายกิตติภพโทรศัพท์มาถามว่าเดินทางไปถึงวัดหรือยัง และบอกว่าหม่อมหลวงจีรเทพประสงค์จะให้ไปพร้อมกัน นางอัษฎาภรณ์จึงยอมให้มารับ จากนั้นจึงมีรถตู้มารับ ส่วนนายกิตติภพและหม่อมหลวงจีรเทพใส่ชุดปกติขาว บนรถตู้นอกจากคนขับแล้วก็ไม่มีใครอื่นอีก

    ระหว่างทางนายกิตติภพติดต่อบิดาของนางอัษฎาภรณ์ เพื่อจะรับไปร่วมงานที่วัดพร้อมกัน ก่อนจะถึงบ้านบิดามารดาของนางอัษฎาภรณ์ ต้องผ่านวัดก่อน นายกิตติภพจึงขอแวะตรวจความเรียบร้อยในวัดก่อนเริ่มพิธี เมื่อถึงวัด แม่ชีพิมพามารอรับ นายกิตติภพและนางอัษฎาภรณ์ลงจากรถ ส่วนหม่อมหลวงจีรเทพนั่งรอในรถ แม่ชีพิมพาได้พาไปในศาลาที่ตั้งศพ นายกิตติภพเห็นพวงหรีดสามพวง แขวนอยู่ที่ลูกกรงด้านหลังบอกไม่สมพระเกียรติ จึงให้หาขาตั้งเพื่อให้สมเกียรติตัวแทนพระองค์ ระหว่างนั้นเจ้าอาวาสกลับมา และประสงค์จะคุยกับหม่อมหลวงจีรเทพ จึงเชิญมาคุยที่กุฏิของเจ้าอาวาส คุยอยู่พักหนึ่งก็กลับมารับบิดาของนางอัษฎาภรณ์มาร่วมงาน

    เมื่อถึงงาน รถตู้จอด นางอัษฎาภรณ์มองออกไปเห็นมีบุคคลแต่งเครื่องแบบปกติขาว สวมปลอกแขนไว้ทุกข์สีดำยืนตั้งแถวรอรับ จากนั้น หม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพลงก่อน จากนั้นตามด้วยบิดานางอัษฎาภรณ์ ตามด้วยนายอัษฎาภรณ์ มารดา และน้องชาย ขณะเดินไป ก็เห็นมีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาเชิญหม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพไปนั่งที่โต๊ะที่จัดไว้สำหรับประธานในพิธี

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลย นางอัษฎาภรณ์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560)


    การเบิกความพยานจำเลยปากนี้ล่วงเลยมาจนเวลา 16.30 น. แต่ทนายจำเลยที่ 1 ยังมีคำถามอีกมาก จึงขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า ศาลให้เลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อในวันที่ 19 ธันวาคม 2560

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560)

  • สืบพยานจำเลยที่ 1 ปากที่ 1 นางอัษฎาภรณ์ เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง ต่อจากนัดที่แล้ว

    นางอัษฎาภรณ์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อนางอัษฎาภรณ์และบิดามารดาไปนั่งที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไปในศาลา นายกิตติภพบอกว่าหม่อมหลวงจีรเทพต้องการให้ไปนั่งด้วยกัน นางอัษฎาภรณ์ไม่กล้าขัด เมื่อถึงเวลาเริ่มสวดพระอภิธรรมศพ ได้เชิญหม่อมหลวงจีรเทพเป็นประธานจุดธูปเทียนบูชา โดยนายกิตติภพตามไปด้วย เมื่อเสร็จงานจึงเดินทางกลับ โดยหม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพไปส่งบิดามารดาของนางอัษฎาภรณ์ที่บ้าน จากนั้นนางอัษฎาภรณ์ได้เดินทางมากับรถตู้ดังกล่าว

    ต่อมา 22 มีนาคม 2558 เจ้าอาวาสแจ้งว่า นายกิตติภพต้องการส่งเอกสารด่วนมาที่อีเมล์ของนางอัษฎาภรณ์ แต่ขณะนั้น นางอัษฎาภรณ์อยู่กรุงเทพฯ ไม่สะดวกไปส่งเอกสารให้ นางอัษฎาภรณ์จึงแจ้งเจ้าอาวาสว่า ให้บุตรสาวของตนรับอีเมล์ต่อ หลังจากนั้น เจ้าอาวาสได้แจ้งว่าบุตรสาวของนางอัษฎาภรณ์ปรินท์ให้แล้ว หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า สมเด็จพระเทพฯ จะส่งตัวแทนมาร่วมงานอายุวัฒนะของเจ้าอาวาสในวันที่ 26 เมษายน 2558 เจ้าอาวาสบอกว่าให้มาช่วยต้อนรับด้วย

    จากนั้นเจ้าอาวาสได้นำหนังสือดังกล่าวไปที่สำนักงานเทศบาลตำบลไทรงามเพื่อออกหนังสือเชิญหน่วยงานต่างๆ มาร่วมงาน และก่อนถึงวันงานอายุวัฒนะประมาณ 1 สัปดาห์ เจ้าอาวาสแจ้งว่าหนังสือที่ให้นางอัษฎาภรณ์รับทางอีเมล์นั้น น่าจะเป็นเอกสารปลอม เป็นลักษณะการแอบอ้างเบื้องสูง นางอัษฎาภรณ์จึงโทรศัพท์หานายกิตติภพแจ้งว่าหนังสือนั้นน่าจะปลอม แต่นายกิตติภพยืนยันว่าเป็นเอกสารจริง

    ต่อมานางอัษฎาภรณ์ทราบจากเจ้าอาวาสว่า ทางวัดอาจจะเสียหายได้ จึงให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว และเจ้าอาวาสแจ้งว่าถ้าเป็นเอกสารปลอม และนายกิตติภพกับหม่อมหลวงจีรเทพมาร่วมงานอายุวัฒนะ ทางตำรวจจะดำเนินการจับกุม ซึ่งนางอัษฎาภรณ์ได้แจ้งนายกิตติภพ แต่นายกิตติภพบอกว่าจะมาร่วมงาน

    วันที่ 21 เมษายน 2558 นายกิตติภพโทรศัพท์มาบอกตนว่าถูกตำรวจจับกุมตัวในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง เนื่องจากถูกกลั่นแกล้ง นางอัษฎาภรณ์จึงเดินทางไปที่สน.สมเด็จเจ้าพระยาเพื่อประกันตัว เมื่อได้ประกัน นายกิตติภพแจ้งว่าจะไปขอเคลียร์เรื่องงาน และยืนยันว่าจะไปร่วมงานอายุวัฒนะ

    ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2558 เวลา 7.00 น. มีรถตู้สีขาวมาจอดที่บ้านของบิดามารดานางอัษฎาภรณ์ นายกิตติภพลงมา ตามด้วยหม่อมหลวงจีรเทพ และชายอีกคนที่ตนไม่รู้จักมาก่อน นายกิตติภพแนะนำว่าคือหม่อมหลวงจักราภา จากนั้นหม่อมหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพก็รับประทานอาหาร ส่วนคนขับรถตู้ เพื่อนของตนพาไปรับประทานอาหารที่บ้านอีกหลังหนึ่ง เสร็จแล้วหม่อมหลวงจีรเทพจึงชวนตนขึ้นรถตู้ไปด้วยกัน ส่วนคนอื่นขับรถตามไป

    เมื่อมาถึงวัด ไม่มีการต้อนรับ มีเพียงเจ้าอาวาสมารับและพาไปนั่ง นางอัษฎาภรณ์จะไปนั่งข้างหลัง แต่หม่อมหลวงจีรเทพและนายกิตติภพบอกให้ตนมานั่งแถวที่สองด้านหลังหม่อมหลวงจีรเทพ เมื่อ่ถึงเวลาเริ่มงาน พิธีกรได้ประกาศเชิญประธานจุดธูปเทียน จากนั้นเจ้าหน้าที่ของวัดได้ถือเทียนชนวนมาเชิญผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานในพิธี ซึ่งเจ้าอาวาสได้ยกมือในลักษณะผายเชิญหม่อมหลวงจักราภา และพิธีกรได้นำชายคนดังกล่าวไปจุดธูปเทียน

    หลังจากเสร็จงาน เจ้าอาวาสยังไม่ว่าง จึงให้นางอัษฎาภรณ์ช่วยพาหม่อมหลวงจีรเทพและหม่อมหลวงจักราภาไปชมโรงทานและพระอุโบสถ เสร็จแล้วขึ้นรถตู้ไปกราบลาเจ้าอาวาส แล้วเดินทางไปบ้านบิดามารดาของนางอัษฎาภรณ์ และได้เชิญหม่อมทั้งสองรับประทานอาหารที่บ้าน

    จากนั้นนายกิตติภพได้คุยกับคนขับรถตู้ให้ออกจากบ้าน โดยนายกิตติภพบอกว่า กองงานสมเด็จพระเทพฯ ต้องการใช้รถด่วน ตนจึงถามว่า แล้วหม่อมทั้งสองจะกลับอย่างไร นายกิตติภพบอกขอใช้รถยนต์ของนางอัษฎาภรณ์ไปส่ง แต่นางอัษฎาภรณ์ต้องใช้รถเช่นกัน นายกิตติภพบอกว่าหม่อมทั้งสองคนมีฤกษ์ในการเดินทางกลับ จำเป็นต้องใช้รถ ขณะนั้นนางอัษฎาภรณ์คิดในใจว่า ตามที่ทราบจากเจ้าอาวาสว่าหากเป็นหม่อมปลอม ตำรวจจะจับ แต่ก็ยังไม่มีการจับ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นหม่อมจริงหรือปลอม จึงไม่กล้าขัดใจ เพราะกลัวมีปัญหา

    ต่อมาอีก 1 ชั่วโมง เจ้าอาวาสและพระณัฐวุฒิเลขาเจ้าอาวาสมาที่บ้าน บอกว่านายกิตติภพและหม่อมหลวงจีรเทพให้ท่านมาพบเพื่อรับหนังสือเกี่ยวกับการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ตามที่หม่อมหลวงจีรเทพเคยรับว่าจะนำไปแก้ไขและนำมาคืน ซึ่งขณะนั้นหม่อมทั้งสองเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ยังไม่ได้กลับ เจ้าอาวาสมาได้ครึ่งชั่วโมงก็กลับไป

    ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 19.30 น. นางอัษฎาภรณ์ได้รับโทรศัพท์จากคนขับรถตู้ มาทวงค่าแก๊ส 700 บาท จึงสอบถามได้ความว่ายังไม่ได้รับค่าแก๊ส คนขับรถตู้คันดังกล่าวเป็นรถตู้รับจ้างทั่วไป ไม่ใช่รถของสำนักพระราชวัง ที่กลับไปก่อนเพราะนายกิตติภพไล่ให้กลับ ที่โทรมาทวงกับนางอัษฎาภรณ์เพราะติดต่อผู้ว่าจ้างไม่ได้ และนางอัษฎาภรณ์ได้ถามคนขับรถตู้ว่า ทราบหรือไม่ว่าคนที่มาด้วยเป็นหม่อม คนขับรถบอกว่าไม่ทราบ นางอัษฎาภรณ์จึงบอกให้คนขับรถพยายามติดต่อผู้ว่าจ้าง นางอัษฎาภรณ์ได้โทรศัพท์ติดต่อนายกิตติภพ แต่ติดต่อไม่ได้

    วันรุ่งขึ้น เพื่อนของนางอัษฎาภรณ์ขับรถไปส่ง ระหว่างทางได้โทรศัพท์หานายกิตติภพ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งถึงบ้าน ในช่วงบ่ายจึงติดต่อได้ และให้นายกิตติภพนำรถยนต์ของตนมาคืน จากนั้น 1 ชั่วโฒง นายกิตติภพนำรถยนต์มาคืน จึงสอบถามว่าเหตุใดรถตู้จึงทวงค่าแก๊ส 700 บาท นายกิตติภพบอกว่า กองงานสมเด็จพระเทพฯ เมื่อมีรถไม่พอใช้ ก็จะจ้างรถจากบุคคลภายนอก ส่วนค่าแก๊สจะไปเคลียร์เอง

    ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว นอกจากทราบเรื่องเอกสารปลอมแล้ว ยังทราบว่าหม่อมทั้งสองน่าจะเป็นตัวปลอม แต่ขณะนั้นเจ้าอาวาสยังไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด จากการที่นายกิตติภพถูกดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และมีการจ้างรถตู้ซึ่งไม่ใช่ของสำนักพระราชวังมาใช้งาน จึงสงสัยพฤติกรรมของนายกิตติภพ โดนตนเข้าใจว่าถูกหลอก รวมถึงวัดไทรงามก็ถูกหลอกด้วยเช่นกัน

    ต่อมานางอัษฎาภรณ์ไปพบพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อสอบถามคดีลักทรัพย์ และขอหมายเลขโทรศํพท์ของสำนักงานนิติบุคคลบ้านเจ้าพระยา จึงโทรไปสอบถามได้ความว่า นายกิตติภพซึ่งเป็นอดีตพนักงาน รับเงินจากลูกค้าแล้วไม่นำส่ง ซึ่งทำเช่นนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาทเศษ ขณะนั้นนิติบุคคลได้ทำหนังสือเลิกจ้างแล้ว จึงขอให้ส่งมาให้ตนทางโทรสาร

    จากนั้น นางอัษฎาภรณ์โทรศัพท์ไปปรึกษาพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะนายประกัน พนักงานสอบสวนแจ้งว่านายกิตติภพถูกดำเนินคดีอีก 1 คดี จึงแนะนำให้ถอนประกัน จึงแจ้งนายกิตติภพว่าจะเคลียร์คดี ให้มาพบที่สน.สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อนายกิตติภพมาถึง นางอัษฎาภรณ์ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนและถอนประกัน

    เมื่อถอนประกัน นายกิตติภพโกรธและต่อว่า นางอัษฎาภรณ์บอกว่าในคดีลักทรัพย์ นายกิตติภพไม่พูดความจริง ตนโทรถามนิติบุคคลถึงได้รู้ความจริง และถามนายกิตติภพว่าเอกสารก็เป็นเอกสารปลอม และหม่อมที่มาวัดก็เป็นหม่อมปลอม นายกิตติภพรับว่าใช่ จากนั้นพนักงานสอบสวนนำตัวนายกิตตภพไปฝากขังที่ศาลอาญาธนบุรี เมื่อพนักงานอัยการฟ้อง นายกิตติภพให้การรับสารภาพ ต่อมาเจ้าอาวาสแจ้งว่าหม่อหลวงจักราภาและหม่อมหลวงจีรเทพไม่ใช่ตัวจริง ทางวัดจึงให้นายพรเทพแจ้งความดำเนินคดีนายวิเศษกับนายกิตติภพ

    ต่อมา นางอัษฎาภรณ์ทราบจากเจ้าอาวาสว่า ตนถูกดำเนินคดีด้วย เจ้าอาวาสบอกว่า นางอัษฎาภรณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับฟัง ต่อมาเจ้าอาวาสแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ เพิ่มเติม และกล่าวหานางอัษฎาภรณ์ด้วย นางอัษฎาภรณ์จึงติดต่อพันตำรวจโทนิรุทร์ บุสมโภชน์ พนักงานสอบสวนว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยตนไมได้หลบหนี หากจะให้ตนไปพบก็ให้ติดต่อมา ตนพร้อมจะเข้าพบ จากนั้น นางอัษฎาภรณ์ก็ติดต่อพนักงานสอบสวนเป็นประจำ

    ช่วงวันแม่ปี 2558 นางอัษฎาภรณ์เดินทางมาพาบิดามารดาไปไหว้พระที่จังหวัดกาญจนบุรีและอุทัยธานี แล้วจึงเดินทางมาที่กำแพงเพชรพาบิดามารดากลับบ้าน วันรุ่งขึ้นจะเดินทางกลับ ก็มีพนักงานตำรวจ สภ.ไทรงาม 4 คน มาจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชทายาท ฉ้อโกง ปลอมและใช้เอกสารปลอม ในชั้นจับกุมนางอัษฎาภรณ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นางอัษฎาภรณ์ถูกออกหมายจับโดยไม่ถูกออกหมายเรียกก่อน นอกจากนี้ ในวันที่ถูกจับกุม เจ้าอาวาส พระเลขาของเจ้าอาวาส แม่ชีพิมพา และคณะกรรมการวัดไทรงามบางคน มาช่วยยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่าตนไมได้มีส่วนในการกระทำความผิด นอกจากนี้ตนได้สำรองจ่ายเงินแทนวัด และยังเป็นผู้ได้รับความเสียหายด้วย แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับฟัง

    ในชั้นสอบสวน มีการแจ้งข้อหานางอัษฎาภรณ์เหมือนกับชั้นจับกุม ตนให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว บอกให้มาประกันในชั้นศาล แต่ในชั้นศาลนางอัษฎาภรณ์ก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

    นางอัษฎาภรณ์ไม่เคยพูดหรือบอกใครว่าเป็นผู้ประสานงานกับสำนักพระราชวัง ไม่เคยเป็นเพื่อนกับหม่อมหลวงจีรเทพ ไม่มีเคยมีเพื่อนอยู่สำนักพระราชวัง ไม่เคยมีหลานทำงานในสำนักพระราชวัง นอกจากนี้ก็ไม่เคยพูดว่าตนรู้เห็นเกี่ยวข้องในลักษณะที่รู้จักคนในสำนักพระราชวังใดๆ ทั้งสิ้น ตามที่พยานโจทก์เบิกความปรักปรำตน

    นางอัษฎาภรณ์เบิกความว่า ในวันที่ 26 มกราคม 2558 ตนไม่ได้มาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาส ที่นางสุมาลี พยานโจทก์ให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้นไม่เป็นความจริง ตนไมได้กระทำตามที่พยานโจทก์กล่าวหา ทุกงานทีเกี่ยวข้องนั้น ตนได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดไทรงามให้มาดำเนินการ

    ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันว่าเงินของตนติดลบ เนื่องจากเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งจะมีวงเงินตามที่ธนาคารอนุมัติจำนวน 5,500,000 บาท ที่มียอดติดลบ 260,000 บาทเศษนั้น ยังสามารถติดลบได้หากยังไม่เกินวงเงิน

    บิดาของนางอัษฎาภรณ์เคยเล่าให้นางอัษฎาภรณ์ฟังว่า นายกิตติภพเคยอ้างว่าได้รับทุนน็อตติ้งแฮม แต่เมื่อตนตรวจดูแล้วสังเกตดูพบว่ามีลักษณะปะต่อลายมือชื่อ ตนจึงเข้าใจว่าเป็นเอกสารปลอม


    ทนายจำเลยที่ 2 ขอถามอย่างปรปักษ์ เนื่องจากพาดพิงจำเลยที่ 2 นางอัษฎาถรณ์เบิกความตอบคำถามว่า วันที่ 26 เมษายน 2558 เมื่อรถตู้จอดแล้ว มีนายกิตติภพลงมากับนายวิเศษ นายกิตติภพได้บอกว่าชายที่มาด้วยเป็นหม่อมหลวงจักราภานั้น ชายคนดังกล่าวกำลังก้าวลงจากรถ ซึ่งขณะนั้น รถจอดอยู่ห่างจากจุดที่นายกิตติภพบอกตนประมาณ 8 เมตร ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินที่นายกิตติภพบอกตนหรือไม่ และขณะที่ตนพาจำเลยที่ 2 ชมโรงทานอยู่นั้น จำเลยที่ 2 ไมได้แอบอ้างว่าเป็นหม่อม

    จำเลยที่ 1 ตอบถามค้านอัยการโจทก์ว่า ตนเคยโอนเงินเข้าบัญชีชื่อพระครูโสภณวชิรกิจ ส่วนวัดไทรงามจะมีบัญชีชื่อวัดหรือไม่ ตนไม่ทราบ และตนเพียงมีการติดต่อโอนเงินให้แม่ชีพิมพาและผ่านทางเอทีเอ็ม นอกจากนี้ ตนไม่เคยเห็นเจ้าอาวาสนำบัญชีที่ตนโอนสำรองจ่ายมาให้ดู มีเพียงแม่ชีพิมพานำมาให้ดู

    นายกิตติภพเป็นหลานของตน ถ้าไม่นับเรื่องถอนประกัน ก็ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน

    จำเลยที่ 1 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติงว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้ลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ส่วนผู้ทำบัญชีและการเงินของวัดไทรงามคือแม่ชีพิมพา ซึ่งเป็นพี่สาวเจ้าอาวาส ก่อนที่วัดจะคืนเงินที่สำรองจ่ายไปนั้นจะต้องมีการตรวจสอบหลักฐาน โดยนางอัษฎาภรณ์ตรวจสอบหลักฐานกับแม่ชีพิมพา เพราะกว่าวัดจะคืนเงินที่สำรองจ่ายให้นั้น เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จึงต้องจัดทำบัญชีกันไว้

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลย นางอัษฎาภรณ์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560)


    หลังจบการสืบพยานจำเลยวันนี้ ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าติดใจจะสืบพยานอีก 2 ปาก คือ แม่ชีพิมพา จันทร์ศิริ ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นการรับเงินจากญาติโยม และอีก 1 ปาก คือ พระณัฐวุฒิฐิตธัมโม ซึ่งเป็นพระเลขาของวัดไทรงาม ส่วนอีก 2 ปากไม่ติดใจสืบแล้ว ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่าใกล้หมดเวลาราชการช่วงบ่าย ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยที่ 2 พรุ่งนี้

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560)
  • สืบพยานจำเลยที่ 2 ปากที่ 1 นายนพฤทธิ์ เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง

    นายนพฤทธิ์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามที๋โจทก์ฟ้องทุกข้อกล่าวหา รวมถึงกล่าวหาว่าแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น ตนก็ไม่ได้กระทำ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ตนไม่เคยรู้จักและไม่เคยไปวัดป่าไทรงามมาก่อน ไม่เห็นเอกสารคดีทั้ง 8 ฉบับมาก่อน เพิ่งเห็นตอนพนักงานสอบสวนสอบปากคำและนำมาให้ดู

    นายนพฤทธิ์จบเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวทิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าศึกษาปี 2549 และจบการศึกษาปี 2552 เข้าทำงานที่บริษัท ตั้งแต่ปี 2556 กระทั่งถูกดำเนินคดี ปัจจุบันบริษัทคงสถานภาพการเป็นพนักงานไว้อยู่เพื่อรอให้คดีจบสิ้นเสียก่อน และช่วงกลางคืน นายนพฤทธิ์ก็ทำงานที่ร้านค็อกเทลย่านรัชดา โดยทำหน้าที่เป็นผู้เปิดเพลงหรือดีเจ

    นายนพฤทธิ์ไม่เคยรู้จักนางอัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 มาก่อน เพิ่งพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 ในวันที่มาทำบุญที่วัดป่าไทรงาม ไม่รู้จักนายกิตติภพ หรือหน่อง มาก่อน เพิ่งพบนายกิตติภพในวันแต่งงานของตน ซึ่งนายวิเศษ เป็นผู้พามาพบ และบอกว่าเป็นเพื่อนที่ทำงานเดียวกันกับนายวิเศษ แต่ตอนนั้นตนไม่ได้พูดคุยกับทั้งสองคน

    นายนพฤทธิ์เบิกความว่า รู้จักกับนายวิเศษมาตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งเรียนคนละคณะ แต่เป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นของมหาวิทยาลัยและอยู่ในชมรมมวยสากลสมัครเล่นของมหาวิทยาลัยด้วยกัน รวมทั้งระหว่างอยู่ในโปรแกรมการแข่งขัน นายวิเศษจะเป็นพี่เลี้ยงและคู่ซ้อมของตน และตนยังนับถือนายวิเศษเนื่องจากมีอายุมากกว่า และเห็นว่าเป็นรุ่นพี่เนื่องจากชกมวยเก่ง หลังจากตนจบการศึกษา ก็ได้พบนายวิเศษปีละ 1-2 ครั้ง จากชุมนุมศิษย์เก่า

    เดือนมกราคม 2558 นายนพฤทธิ์ทยอยแจกการ์ดแต่งงาน และแจ้งให้ทราบทางเฟซบุ๊ก ต่อมานายวิเศษได้โทรศัพท์มาคุย ตนจึงเชิญนายวิเศษมาร่วมงานแต่งงาน เมื่อถึงวันงาน นายวิเศษมาร่วมงาน และแนะนำว่านายกิตติภพเป็นเพื่อนเท่านั้น ไม่ได้บอกชื่อให้ทราบ เมื่อเสร็จสิ้นงานแต่งงาน ก่อนกลับ นายวิเศษมาแสดงความยินดีและบอกว่า ว่างๆ จะชวนไปทำบุญ โดยยังไม่ได้บอกรายละเอียด

    หลังเสร็จงานแต่งงาน 2 สัปดาห์ นายวิเศษโทรศัพท์มาชวนนายนพฤทธิ์ไปออกโรงทานที่จังหวัดกำแพงเพชร นายนพฤทธิ์ปฏิเสธเพราะต้องไปจัดพิธีแต่งงานที่ญี่ปุ่น เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่นแล้ว หลังจากนั้นก็โทรบอกนายวิเศษว่าจะไปร่วมงานขึ้นบ้านใหม่เพื่อนวันที่ 26 เมษายน 2558

    แต่ต่อมาวันที่ 24 เมษายน ขณะทำงานอยู่ร้านค็อกเทล นายวิเศษมาเที่ยวที่ร้านและมาชวนนายนพฤทธิ์ไปออกโรงทานที่กำแพงเพชรอีกครั้ง ซึ่งตนยังคงยืนยันว่าจะไปงานขึ้นบ้านใหม่เพื่อน วันที่ 25 เมษายน นายวิเศษมาพร้อมกับนายกิตติภพ ยังคงมาชวนตนไปออกโรงทานอีก ตนเกรงใจเพราะมาชวนติดต่อกัน 2 วัน จึงตอบตกลงไปร่วมงานด้วย ประกอบกับหลังแต่งงานมาแล้วยังไม่มีโอกาสไปทำบุญ และบอกว่าจะขอเดินทางกลับมาให้ทันร่วมงานขึ้นบ้านใหม่เพื่อนในตอนเย็น ซึ่งนายวิเศษนัดมารับตนช่วงเวลา 3.00 น. ที่แยกห้วยขวาง จากนั้นเมื่อเลิกงานที่ร้่านค็อกเทลเวลา 2.00 น. แล้วจึงกลับห้องพักเปลี่ยนเสื้อเชิ้ต

    จากนั้น นายนพฤทธิ์ไปขึ้นรถตู้ไปกับนายวิเศษ ซึ่งในรถยังมีนายกิตติภพด้วย ระหว่างเดินทางไม่ได้พูดคุยอะไรกัน เดินทางถึงกำแพงเพชรเวลา 7.00 น. และได้แวะที่บ้านญาติของนายกิตติภพ จากนั้นนายวิเศษและนายกิตติภพลงจากรถไปพูดคุยกับคนที่มาที่รถ ตนนั่งรออยู่สักพักจึงลงไปสวัสดีและขอเข้าห้องน้ำ นายวิเศษบอกว่า จะเรียกตนว่า หม่อมฤทธิ์ ตนจึงพูดว่า "ตลก อย่ามาเรียกอย่างนั้น" และมีความสงสัยว่าเหตุใดจึงจะเรียกตนว่า หม่อมฤทธิ์ ระหว่างที่อยู่บ้านหลังดังกล่าว นายวิเศษบอกว่าจะพาไปทำบุญที่วัดป่าไทรงาม จากนั้น ตนก็ได้ขึ้นรถตู้คันเดิมแล้วเดินทางไปพร้อมกับนายวิเศษ นายกิตติภพ และจำเลยที่ 1

    ไปถึงวัดป่าไทรงามเวลาประมาณ 8.00 น. เมื่อรถตู้จอด มีพระและญาติโยมมารอรับ และพาตนกับคนที่มาในรถทั้งหมดยกเว้นคนขับไปนั่งในศาลา บริเวณเก้าอี้ประธานที่จัดไว้ด้านหน้า นายกิตติภพและนายวิเศษพาตนไปนั่งที่เก้าอี้ประธาน แล้วบอกว่าให้ตนเป็นเจ้าภาพร่วมกับนายวิเศษ จากนั้นไม่นาน พิธีก็เริ่มขึ้น พิธีกรประกาศเชิญประธานขึ้นจุดธูปเทียนบูชาพระ แต่ไม่มีใครลุกขึ้น พิธีกรจึงประกาศอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ถือเชิงเทียนเดินตรงมายังโต๊ะเก้าอี้ประธาน จากนั้นนายวิเศษสะกิดให้ตนไปจุดเทียน และบอกวิธีจุดเทียนให้ทราบด้วย ขณะเดียวกันพระที่นั่งอาสนสงฆ์ฝั่งตรงข้าม ทราบภายหลังว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดไทรงาม ผายมือเป็นทำนองเชิญให้ลุกขึ้นไปจุดธูปเทียน ตนจึงลุกเดินตามเจ้าหน้าที่ไป จากนั้นพิธีสงฆ์ได้เริ่มขึ้นและเสร็จสิ้นในเวลา 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้น ตนไม่ได้พูดคุยกับใครและไม่มีใครแนะนำว่าตนคือหม่อมหลวงจักราภา

    หลังเสร็จพิธีสงฆ์ นายนพฤทธิ์ นายวิเศษ นายกิตติภพ และจำเลยที่ 1 ไปเดินชมโรงทาน และพระอุโบสถ เดินชมประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วจึงไปขึ้นรถตู้คันเดิมซึ่งจอดรออยู่หน้าโบสถ์ ก่อนขึ้นรถได้ยินที่ศาลาประกาศขอบคุณหม่อมอะไรสักอย่าง ซึ่งไม่ใช่ชื่อของตน จากนั้นรถตู้ได้พาไปที่บ้านหลังคาสีแดง ที่แวะเมื่อเช้า ตนกับนายวิเศษรับประทานอาหารที่บ้านหลังนั้น ระหว่างรับประทานอาหาร ตนได้สอบถามนายวิเศษว่า "ได้ยินประกาศว่าขอบคุณหม่อมนั้น ขอบคุณใคร และอะไรหรือเปล่า" นายวิเศษตอบว่า "ไม่มีอะไร"

    ก่อนจะรับประทานอาหารเสร็จและเดินทางกลับ เจ้าอาวาสมาพร้อมกับพระเลขา เจ้าอาวาสได้ให้พระเลขาพูดคุยกับนายวิเศษ ซึ่งตนไม่ได้ร่วมพูดคุยด้วย ก่อนกลับนายกิตติภพบอกว่า รถตู้มีงานต้องรีบกลับ จากนั้นตนเดินทางกลับพร้อมนายกิติตภพและนายวิเศษ โดยใช้รถเก๋ง กลับตั้งแต่เวลา 13.00 น.

    หลังจากวันนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ นายนพฤทธิ์ได้โทรศัพท์คุยกับนายจักรกฤษณ์ ชัยวิราช ซึ่งเป็นคนรู้จักและสนิทกัน ตนได้เล่าเรื่องที่วัดป่าไทรงามให้ทราบด้วย และยังได้ถามนายจักกฤษณ์ว่า จะมีอะไรหรือเปล่า นายจักรกฤษณ์บอกว่า ถ้ามีคงมีไปแล้ว และเตือนว่าถ้ามาชวนอีกคราวหน้า ไม่ต้องไป

    นายนพฤทธิ์ถูกจับกุมขณะอยู่ระหว่างฝึกอบรมงานที่ศูนย์อบรมของบริษัท นายนพฤทธิ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปที่สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เพื่อทำบันทึกการจับกุม ซึ่งตนไม่ได้หลบหนีไปที่ใด ยังคงทำงานอยู่ตลอดมาตั้งแต่กลับจากวัดป่าไทรงาม โดยตนไม่เคยได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนมาก่อน และพนักงานผู้จับกุมก็ไม่ได้ให้อ่านบันทึกการจับกุมก่อน โดยให้ลงลายมือชื่อเลย

    จากนั้นตำรวจกองปราบฯ นำตัวนายนพฤทธิ์จากสภ.บางเสาธงไปส่งมอบให้แก่ตำรวจสภ.ไทรงาม ที่บริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต นายนพฤทธิ์ถูกนำตัวมาถึงสภ.ไทรงามเวลาประมาณ 23.00 น. ถูกควบคุมตัวไว้ แล้ววันรุ่งขึ้นคือ 22 สิงหาคม 2557 พนักงานสอบสวนจึงสอบคำให้การ ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา ซึ่งนายนพฤทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้การด้วยว่า ไมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารคดีทั้ง 8 ฉบับ ส่วนคดีในส่วนข้อหาฉ้อโกงนั้น พนักงานสอบสวนไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ

    นายนพฤทธิ์เบิกความว่า ตนทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาท นอกจากประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2515 แล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีการประกาศสถาปนาสมเด็จพระองค์ใดขึ้นเป็นองค์รัชทายาทอีก

    นอกจากนี้ตนทราบว่ามีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทฯ ต่อองค์รัชทายาทต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ จึงขอคัดเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยาน และสำเนาภาพถ่ายหนังสือสำนักพระราชวังเอกสารของศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งอ้างเป็นเอกสารในคดีนี้ด้วย ซึ่งหนังสือของสำนักพระราชวังดังกล่าวมีเนื้อความตรงกันกับเอกสารที่ทนายจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลออกหมายเรียกมาจากสำนักพระราชวัง โดยส่งมาตามหนังสือพระราชวังด่วนที่สุด พว 0001/12119 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2560 โดยมีเนื้อความสรุปว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียว"

    นายนพฤทธิ์ทราบว่าปัจจุบันหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต มีการทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่่งป็นองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป

    จำเลยที่ 2 ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ว่า วันที่พบกับจำเลยที่ 1 เมื่อ 26 เมษายน 2558 นั้น ระหว่างพาชมโรงทานและพระอุโบสถด้วยกัน จำเลยที่ 1 ไม่เคยแนะนำว่าตนและนายวิเศษเป็นหม่อม และจำเลยที่ 1 เองก็ไม่ได้แนะนำว่าตัวเองเป็นตัวแทนสำนักพระราชวัง

    ในวันที่ 26 เมษายน 2558 เมื่อเดินทางมาถึงบ้านญาตินายกิตติภพแล้ว ก็ไม่มีใครเปลี่ยนเสื้อผ้า ส่วนที่จำเลยที่ 1 พาไปเดินชมโรงทานและอุโบสถนั้น เพราะเจ้าอาวาสให้ไปเดินชม

    ก่อนที่จะกลับ ที่เจ้าอาวาสและพระเลขามาที่บ้านญาตินายกิตติภพและได้มาคุยกับนายวิเศษนั้น ตนทราบภายหลังจากนายวิเศษว่า คุยเรื่องการส่งเอกสาร ซึ่งขณะคุยตนไม่เห็นว่ามีการส่งเอกสารใดๆ และทราบจากนายวิเศษภายหลังว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับการทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ

    จำเลยที่ 2 ตอบถามค้านอัยการโจทก์ว่า หลังจากที่ตนแปลกใจที่นายวิเศษบอกว่าจะเรียกตนว่า หม่อมฤทธิ์ ตั้งแต่อยู่ที่บ้านญาตินายกิตติภพแล้ว แต่ต่อมาเมื่อขึ้นรถตู้จะไปวัดไทรงาม ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ขึ้นมาด้วยนั้น นายวิเศษยังคงแนะนำว่าตนเป็นหม่อมฤทธิ์ ขณะนั้นตนรู้สึกตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ไม่คิดว่าจะมีเรื่องเกิดขึ้น

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลย นายนพฤทธิ์ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560)
  • พยานจำเลยที่ 1 ปากที่ 2 พระณัฐวุฒิฐิตธัมโม

    พระณัฐวุฒิฐิตธัมโมเบิกความว่ารู้จักจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2552 เพราะจำเลยที่ 1 และมารดา มาทำบุญที่วัดไทรงามบ่อย พยานกลับจากการเป็นพระธรรมทูตที่ประเทศอินเดียช่วงปลายปี 2557 และช่วงเดือนมกราคม 2558 ทางวัดจัดประชุมเรื่องทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ นางสุมาลี เป็นผู้จัดทำเอกสารและได้ส่งไปที่วัฒนธรรมจังหวัด แต่ถูกส่งกลับมาเพราะมีบางคำไม่ถูกต้อง จึงเกิดการประชุมนี้ขึ้น

    เมื่อเริ่มประชุมเจ้าอาวาสแนะนำตัวนายวิเศษว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ ว่าจะมาช่วยเรื่องทูลเชิญ และแนะนำนายกิตติภพว่าทำงานอยู่กับหม่อมในวัง แนะนำจำเลยที่ 1 ว่าเป็นกรรมการวัดและผู้ประสานงานของวัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้พูดอะไรและไม่ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นตัวแทนจากสำนักพระราชวัง จากการประชุมสรุปได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเอกสารที่เสนอไปยังเจ้าคณะจังหวัด นายวิเศษได้ขอดูเอกสารทูลเชิญแล้วขอนำกลับไปแก้ไขและนำกลับมาให้ ระหว่างประชุม นายกิตติภพขอบันทึกเสียง โดยอ้างว่าจะนำไปให้หม่อมฟัง และนางจุรีพรซึ่งมากับนายกสุมาลีได้ทำการถ่ายรูป แต่นายกิตติภพห้ามไม่ให้ถ่าย

    จำเลยที่ 1 มาร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาเจ้าอาวาสในวันที่ 25 มกราคม 2558 โดยมีพวงหรีดของจำเลยที่ 1 มาประดับที่ศาลาตั้งศพ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเดินทางมาถึงก็มีพวงหรีด 4 พวงมาแขวนไว้อยู่แล้ว เป็นของหม่อมหลวงจีรเทพ หม่อมหลวงจักราภา นายกิตติภพ และของจำเลยที่ 1 โดยแขวนไว้ที่ลูกกรงฝาผนังด้านข้างที่ตั้งศพทั้ง 2 ฝั่ง และจำเลยที่ 1 ได้มาในวันที่ 30 มกราคม 2558 โดยมาร่วมฟัง ไม่ได้เป็นผู้จัดการงานต่างๆ

    วันที่ 30 มกราคม 2558 เวลา 19.30 น. มีรถตู้สีขาวมาจอด มีการตั้งแถวรอรับโดยคณะครูและคณะเทศบาลตำบลไทรงาม จากนั้นหม่อมหลวงจีรเทพในชุดปกติขาวลงจากรถตู้เป็นคนแรก ตามด้วยนายกิตติภพซึ่งแต่งชุดปกติขาวเช่นกัน ถัดมาเป็นบิดาจำเลยที่ 1 ตามด้วยจำเลยที่ 1 มารดาและน้องชายจำเลยที่ 1 ตามลำดับ จากนั้นหม่อมหลวงจีรเทพไปนั่งที่โต๊ะที่จัดไว้ตรงกลางศาลาและจุดธูปเทียน เมื่อเสร็จพิธีแล้วหม่อมหลวงจีรเทพกลับขึ้นรถ โดยคณะที่แต่งชุดปกติตั้งสองแถวเพื่อรอส่งขึ้นรถ

    ต่อมาช่วงที่มีการปรับปรุงมุงหลังคาวัด เจ้าอาวาสได้แจ้งให้พยานทราบว่างานวันอายุวัฒนะ วันที่ 26 เมษายน 2558 จะมีหม่อมหลวงจักราภา และหม่อมหลวงจีรเทพมาเป็นตัวแทนพระองค์ร่วมงานดังกล่าว ทางวัดจึงขอให้เทศบาลทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาต้อนรับและร่วมงาน เมื่อหนังสือไปถึงนายอำเภอไทรงาม นายอำเภอแจ้งกลับมาว่าหนังสือน่าจะเป็นของปลอม และหม่อมน่าจะเป็นหม่อมปลอม เจ้าอาวาสจึงแจ้งนายกิตติภพ แต่นายกิตติภพตอบว่าจับก็จับ และยืนยันว่าจะมาร่วมงานจริง เจ้าอาวาสบอกว่าอยากจะรู้เหมือนกันว่าเป็นหม่อมจริงหรือไม่ จึงจัดงานต่อไป

    เมื่อถึงวันงาน งานดำเนินไปจนจบ ก็ไม่มีการจับกุมบุคคลใด หลังเสร็จงาน นายกิตติภพโทรศัพท์มาบอกเจ้าอาวาสว่า แก้ไขหนังสือทูลเชิญเสร็จแล้วให้ไปรับ เจ้าอาวาสจึงชวนพยานไปด้วย โดยไปที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อไปถึง นายวิเศษได้นำเอกสารที่แก้ไขแล้ว รวมทั้งเอกสารอื่นอีก 3 ฉบับ ซึ่งเป็นรายละเอียดค่าเข็ม ค่ากล่อง สำเนาบัตร และใบรับเงิน เอกสารที่แก้ไขแล้วมี 3 แผ่น เมื่อได้มา พยานก็รีบแก้ไขวันที่ในใบปะหน้าแล้วแนบตัวเอกสารเดิมที่มีนายอำเภอลงลายมือชื่อไว้แล้ว แล้วเสนอเจ้าคณะจังหวัด เมื่อเจ้าคณะจังหวัดตรวจดูแล้วบอกว่า ไม่ลงลายมือชื่อ เพราะทางวัดมีเรื่องอยู่

    วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 พยานทราบจากเจ้าอาวาสว่าวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรมาสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และได้แนะนำให้ทางวัดแจ้งความไว้ เจ้าอาวาสจึงประชุมคณะกรรมการวัด ซึ่งจัดขึ้นในเวลา 20.00 น. จากการประชุมสรุปว่าให้ดำเนินคดีกับนายวิเศษที่อ้างว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ การดำเนินคดีทั้งสองคนนั้นเป็นจุดประสงค์ของเจ้าอาวาส พอประชุมเสร็จ เวลาประมาณ 22.00 น. นางภนัชษาได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าอาวาสลงชื่อ พยานรับมาแต่ไม่ได้อ่าน และส่งให้เจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสก็ไม่ได้อ่าน แต่ลงลายมือชื่อไป เช้าวันรุ่งขึ้น พยานได้โทรสอบถามนางณัฐกานต์ ว่าแจ้งความว่าอย่างไร แต่ได้รับการตอบมาว่า "ทางวัดไม่มีสิทธิ์รู้" พยานจึงย้อนถามว่า "วัดเป็นผู้เสียหาย เหตุใดจึงรู้ไม่ได้" นางณัฐกานต์บอกว่า "เกรงจะเสียรูปคดี"

    ต่อมา วันใดจำไมได้ พันตำรวจโทนิรุทธ์ พนักงานสอบสวนมาสอบปากคำเจ้าอาวาส ซึ่งพยานอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะดำเนินคดีกับนายกิตติภพ นายวิเศษ และจำเลยที่ 1 พยานและเจ้าอาวาสท้วงว่าต้องการดำเนินคดีกับนายกิตติภพและนายวิเศษเท่านั้น จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือและทำบุญกับวัดมาตลอด ทั้งยังสูญเงิน 490,000 บาทจากเรื่องนี้ และเป็นผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนบอกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำให้การของนายพรเทพที่ได้แจ้งความไว้แล้ว เจ้าอาวาสจึงมอบให้ทนายความถอนแจ้งความ ไม่ให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1

    พยานตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า ตามประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ ระบุชื่อนายนิกรเป็นรองประธานดำเนินงาน ไมได้ระบุเป็นไวยาวัจกรของวัด วัดไทรงามมีบัญชีธนาคารเป็นของวัดเอง เกี่ยวกับเรื่องคดีนี้ พยานไม่เคยติดต่อจำเลยที่ 1 เรื่องการสำรองจ่ายเงิน มีแต่แม่ชีพิมพาเป็นผู้ติดต่อ

    พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติงว่าตามเอกสาร นายนิกรเป็นกรรมการเฉพาะการทูลเชิญ แต่ยังคงเป็นไวยาวัจกรของวัดอยู่จนปัจจุบัน บัญชีธนาคารของวัดจะใช้ชื่อวัดไทรงาม แต่ผู้มีอำนาจเบิกถอนคือเจ้าอาวาส และกรรมการวัดอีก 2 คน คนใดคนหนึ่งลงชื่อร่วมกัน ผู้ดูแลการเงินคือแม่ชีพิมพา แต่ผู้อนุมัติจ่ายเงินคือเจ้าอาวาส

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลยที่ 1 พระณัฐวุฒิฐิตธัมโม ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560)



    สืบพยานจำเลยที่ 1 ปากที่ 3 แม่ชีพิมพา จันทร์ศิริ

    แม่ชีพิมพาเบิกความตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ว่าพยานเป็นผู้ดูแลการเงินของวัด รู้จักจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจำเลยที่ 1 มาบวชชีพราหมณ์ที่วัด และทำบุญที่วัดทุกปี ปีละหลายรายการ และยังช่วยสำรองเงินจ่ายไปก่อนในช่วงที่วัดไม่มีเงิน การสำรองจ่ายนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 จ่ายไปแล้ว ก็จะส่งหลักฐานให้กับเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสก็จ่ายเงินคืนจำเลยที่ 1 โดยสั่งให้พยานดำเนินการ ซึ่งก่อนคืนเงิน จำเลยที่ 1 ก็จะตรวจสอบหลักฐานต่างๆ และบางครั้งเมื่อคืนเงินจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะคืนบางส่วนให้วัดเป็นการร่วมทำบุญ ในการคืนเงินของวัดให้จำเลยที่ 1 ปกติจะนานประมาณ 3-4 เดือน แต่ถ้าวัดได้เงินมาเร็ว ก็จะจ่ายคืนไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ทุกครั้งที่จำเลยที่ 1 สำรองจ่าย จำเลยที่ 1 ไม่เคยทวงถามจากทางวัดและไม่เคยคิดดอกเบี้ยจากวัด

    วัดไทรงามจะจ่ายเงินได้ต่อเมื่อลงชื่อสั่งจ่าย โดยพยานไม่เคยสั่งจ่ายโดยพลการ วัดไทรงามมีบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเบิกถอนคือเจ้าอาวาส โดยจะลงลายมือชื่อเบิกถอนร่วมกับไวยาวัจกรอีก 2 คน คนใดคนหนึ่ง ซึ่งต้องมีเจ้าอาวาสเป็นองค์หลัก เมื่อวัดได้รับเงินทำบุญจำนวนมาก เช่นวันทอดกฐิน จะฝากธนาคารไว้ โดยไม่เห็บไว้ที่วัดเพราะเกรงจะเกิดอันตราย แต่ถ้าได้รับเงินจำนวนไม่มากก็จะเก็บไว้ที่พยานเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน

    เงินที่จะทูลเกล้าครึ่งหนึ่งจำนวน 625,000 บาท นั้น ทางวัดสำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งผู้ที่มาจองจะทูลเกล้าไว้ยังไม่ได้ชำระเงินในขณะนั้น โดยมาจองเมื่อธันวาคม 2557 แต่เพิ่งมาทยอยจ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งขณะนั้น วัดยังปรับปรุงศาลาไม่แล้วเสร็จ เจ้าอาวาสจึงแจ้งให้ผู้ที่นำเงินมาจ่ายทราบว่าวัดได้สำรองจ่ายเงินที่แต่ละคนจะทูลเกล้าถวายคนละ 10,000 บาท ไปก่อนแล้ว จึงขอนำเงินที่ญาติโยมทยอยจ่ายมาไปสร้างศาลาก่อน ซึ่งชื่อผู้จองจะทูลเกล้าถวายบอกให้เจ้าอาวาสทราบว่าเงินที่จ่ายแล้วนั้น ก็แล้วแต่ทางวัดจะนำไปทำอะไรก่อนก็ได้

    ในเดือนธันวาคม 2557 ที่วัดจัดไหว้พระ 9 วัด พยานจึงรู้จักนายวิเศษที่นายกิตติภพแนะนำว่าเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ ซึ่งนายวิเศษได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของวัดพระแก้ว จนสามารถให้เข้าไปในเขตหวงห้ามบางเขตได้ นอกจากนี้นายวิเศษยังจัดรถเก๋งที่มีไฟสัญญาณกะพริบเป็นรถนำขบวน ทำให้พยานเชื่อสนิทว่านายวิเศษเป็นหม่อมหลวงจีรเทพ รวมทั้งคนอื่นก็เชื่อเช่นเดียวกัน

    เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ก่อนที่ผู้แทนพระองค์จะมาร่วมงานศพมารดาเจ้าอาวาส นายกิตติภพและจำเลยที่ 1 มาตรวจดูความเรียบร้อยที่ศาลาสวดศพ พบว่ามีการตั้งพวงหรีดของหม่อมหลวงจีรเทพและหม่อมหลวงจักราภาไม่สมเกียรติ จึงให้ดำเนินการตั้งบนขาตั้งแล้วนำผ้ามาพัน

    นางภณัชษาและนางณัฐกานต์มาขอเอกสารจากพยานเพื่อไปตรวจสอบยอดเงิน โดยไม่ได้ถามรายละเอียด ทั้งสองคนไม่เคยรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของวัด จึงไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาทั้งสองนำเอกสารการเงินดังกล่าวไปจากวัดแต่ไม่ได้คืน ต่อมาถึงทราบว่าทั้งสองนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้พนักงานตำรวจ

    หลังจากทราบข่าวว่าเป็นหม่อมปลอม ทางวัดได้ประกาศให้ผู้ที่จองถวายเงินคนละ 10,000 บาท มารับเงินคืนไป ซึ่งมีบางคนที่ทราบว่าวัดสำรองไปก่อนและนำเงินที่ชาวบ้านจ่ายมาไปปรับปรุงศาลาวัดก็ไม่ติดใจเอาคืน และถวายทำบุญกับวัดไป ส่วนคนที่ประสงค์ขอรับคืน ทางวัดก็คืนให้ และได้คืนให้หมดแล้วเท่าที่มีผู้ประสงค์ขอรับเงินคืน

    หลังจากจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม พยานได้ไปเยี่ยมและสอบถาม จำเลยที่ 1 บอกว่า นายกิตติภพไม่เคยโอนเงินคืนมาให้จำเลยที่ 1 หลังได้ยินข่าวและก่อนจะถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ก็ยังมาทำบุญที่วัดเป็นประจำ ไม่ได้หลบหนีไปที่ใด แต่เมื่อถูกจับกุมแล้ว พยานไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจและบอกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เท่าที่รู้จัก จำเลยที่ 1 ไม่มีนิสัยเป็นคนฉ้อโกง นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยเรียกพยานไปสอบปากคำ

    พยานเบิกความตอบถามค้านอัยการโจทก์ อัยการโจทก์ถามว่า เอกสารที่นางภนัชษาขอรับมาจากพยานนั้น พยานได้ให้ไปทั้งหมดโดยไม่มีบัญชีของวัดมอบให้ไปด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้มอบบัญชีรับจ่ายของวัด รวมทั้งไม่ได้มอบบัญชีที่จำเลยที่ 1 สำรองจ่ายให้วัดและที่วัดโอนเงินคืน นางภนัชษาเป็นหลานของพยานและเจ้าอาวาส จะมาช่วยงานเป็นบางครั้งเฉพาะงานใหญ่ๆ

    พยานเบิกความตอบถามติงทนายจำเลยที่ 1 ว่า เอกสารที่มอบให้นางภนัชษานั้นเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินจากวัดให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โอนเงินให้นายกิตติภพ แต่ตามตารางบัญชีสรุปจำนวนเงินที่วัดโอนทั้งหมดนั้น ไม่มีรายการที่จำเลยที่ 1 โอนให้นายกิตติภพ 490,000 บาท

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลยที่ 1 แม่ชีพิมพา จันทร์ศิริ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560)
  • สืบพยานจำเลยที่ 2 ปากที่ 1 นายจักรกฤษณ์ ไชยวิราช

    นายจักกฤษณ์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า รู้จักกับนายนพฤทธิ์ จากการที่เคยไปใช้บริการลานสเก็ตน้ำแข็งที่จำเลยที่ 2 เคยทำงานอยู่ จนต่อมาได้ติดต่อกันตลอด โดยเฉพาะเรื่องภรรยาชาวญี่ปุ่น ซึ่งพยานเป็นผู้ให้คำแนะนำกับจำเลยที่ 2 เพราะตนก็มีภรรยาชาวญี่ปุ่นเช่นกัน กระทั่งจำเลยที่ 2 แต่งงาน พยานก็ทำหน้าที่เป็นญาติฝ่ายหญิง

    ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 2 มาปรึกษาว่าตนเองไม่สบายใจเนื่องจากไปร่วมงานบุญที่จังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นงานใหญ่มาก และเพื่อนให้จำเลยที่ 2 ขึ้นจุดธูปเทียน รู้สึกอยู่ในสถานการณ์บังคับ จำเลยที่ 2 ถามพยานว่าจะเป็นอะไรหรือไม่ พยานก็ให้ความเห็นไปว่า เวลาผ่านมานานแล้ว ถ้ามีอะไรคงเกิดขึ้นไปแล้ว เป็นเพียงงานบุญคงไม่มีปัญหาอะไร

    ต่อมา 21 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 2 โทรศัพท์มาหาพยานว่าถูกตำรวจกองปราบฯ เชิญตัวไป ตอนนั้นพยานกำลังบินไปสิงคโปร์ เมือ่ถึงสิงคโปร์แล้วติดต่อหาจำเลยที่ 2 จึงทราบว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่กำแพงเพชร ในข้อหาเกี่ยวกับมาตรา 112 พยานจึงถามว่าได้พูดอะไรไม่ดีไปหรือไม่ จำเลยที่ 2 ตอบว่าไม่ได้พูดไม่ดีอะไรไป

    พยานตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า ช่วงที่จำเลยที่ 2 ปรึกษาว่าไปร่วมงานบุญแล้วมีการเชิญจุดธูปเทียนนั้น ขณะนั้นเป็นการคุยธรรมดา พยานจึงไม่ได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความ

    (อ้างอิง คำเบิกความพยานจำเลยที่ 2 นายจักรกฤษณ์ ไชยวิราช ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560)


    คดีเสร็จการพิจารณา ทนายจำเลยทั้งสองขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 เดือน ให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330, 3434/2559 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560)
  • ทนายความจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงเป็นคนอื่น แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักหักล้างทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ มีรายละเอียดดังนี้

    1. พยานหลักฐานขอโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น

    จำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตนหรืออ้างว่าเป็น หม่อมหลวงจักราภา อาภากร ตัวแทนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ ไม่เคยรู้มาก่อนว่านายวิเศษและนายกิตติภพแจ้งต่อคนอื่นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหม่อมหลวงจักราภา จำเลยที่ 2 ไม่เคยมาที่วัดป่าไทรงามมาก่อนและเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2558 เพื่อทำบุญตามที่นายวิเศษชักชวน จำเลยที่ 2 เกรงใจนายวิเศษจึงตกงเดินทางมาร่วมทำบุญกับนายวิเศษและนายกิตติภพ โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญอายุวัฒนะของเจ้าอาวาสวัดไทรงาม การจัดงานไม่มีการติดป้ายต้อนรับตัวแทนสมเด็จพระเทพฯ ไม่มีคนมายืนตั้งขบวนต้อนรับ ไม่มีการถือตราสัญลักษณ์ดอกไม้หรือพานพุ่มมาด้วยเพื่อแสดงว่าเป็นตัวแทนพระองค์ และไม่มีการประกาศต้อนรับหม่อมหลวงจีรเทพและหม่อมหลวงจักราภา

    สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้อ้างตนหรือแสดงตนเป็นหม่อมหลวงจักราภา ปรากฏตามข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลย คือจำเลยที่ 2 ถูกเชิญไปนั่งที่ประธานกับนายวิเศษ เมื่อถึงเวลาพิธีสงฆ์ พิธีกรประกาศเชิญประธานขึ้นจุดธูปเทียนโดยไม่ได้ระบุชื่อ และจำเลยที่ 2 ยังนั่งเฉย จนพิธีกรประกาศอีกครั้ง และนายวิเศษสะกิดจำเลยที่ 2 จึงลุกไปจุดธูปเทียน การแต่งกายของจำเลยที่ 2 ในวันดังกล่าวเป็นการใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว ไม่มีเครื่องประดับอันมีค่าแสดงฐานะว่าเป็นบุคคลพิเศษ อีกทั้งนายวิเศษได้ให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการให้การทันทีหลังถูกจับกุม จึงไม่มีเวลาและโอกาสคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2

    นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากผู้เสียหาย หรือจากนายวิเศษ หรือจากนายกิตติภพ หรือจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุ 26 เมษายน 2558 จำเลยที่ 2 ไปวัดป่าไทรงาม วันดังกล่าวไม่ได้มีการเรียกค่าใช้จ่ายใดๆ จากวัด

    2. พยานหลักฐานขอโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยที่ 2 ไม่เคยเห็นเอกสารท้ายฟ้องทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมมาก่อน และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมทำและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวต่อผู้ใด จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เบิกความสอดคล้องกันว่า เอกสารดังกล่าวไม่ไม่เคยนำเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และไม่มีใครเห็นเอกสารเหล่านั้นมาก่อน และจากการคำเบิกความของพ.ต.ท.นิรุทร์ ที่ว่าจากการสอบสวนไม่ปรากฏพยานบุคคลปากใดยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารปลอมทั้ง 8 ฉบับ สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2

    3. ตามทางนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่เบิกความยืนยันว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และไม่ได้เบิกความถึงเอกสารท้ายฟ้องทั้ง 8 ฉบับ ว่ามีข้อความใดที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นใส่ร้าย ใส่ความ ทำลายพระเกียรติ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเทพฯ ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ให้พระองค์ได้รับความมัวหมองแต่อย่างใด

    4. สมเด็จพระเทพฯ มิได้ดำรงสถานะองค์รัชทายาท ฟ้องของโจทก์จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิจารณาเอกสารซึ่งสำนักพระราชวังได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2558 เรื่องขอทราบพระองค์รัชทายาท ถึงผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรนนทบุรี หนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อความยืนยันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียว และเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความจำเลยที่ 2 และพยานเอกสารจำเลยที่ 2 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาท ตั้งแต่พ.ศ.2515 ตามประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาท พ.ศ.2515 นอกจากประกาศดังกล่าวก็ไม่มีประกาศตั้งองค์รัชทายาทฉบับอื่นอีก และหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคต ได้มีการอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์พระรัชทายาท เป็นพระมหากษัตริย์

    5. ฟ้องโจทก์ในคดีดำหมายเลขดำที่ 3434/2559 ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1330/2559

    (อ้างอิง คำร้องแถลงการณ์ปิดคดี ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 ลงวันที่ 18 มกราคม 2561)
  • จังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดี “แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ” ซึ่งมีจำเลยที่ต่อสู้คดีสองราย ได้แก่ นางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามมาตรา 112, ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน

    ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า สำหรับจำเลยที่ 2 แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมทำบุญในวันที่ 26 เม.ย. 2558 และได้ไปร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นไปเพราะได้มีผู้จัดงานทำการเชิญและผายมือเชิญให้ขึ้นไป ไม่ปรากฏว่าได้มีการแสดงตัวว่าเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด และแม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมงานพร้อมกับนายกิตติภพและนายวิเศษ ซึ่งให้การรับสารภาพในคดีก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ได้อ้างและแสดงตัวเป็นหม่อมหลวง สำหรับจำเลยที่ 1 ก็ยังมีเหตุสงสัยตามสมควรเช่นกัน ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน

    การอ่านคำพิพากษาเป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนช่วงเวลา 9.00 น. ทำให้ทนายความและผู้สังเกตการณ์ในคดีไปไม่ทันรับฟัง โดยจำเลยทั้งสองคนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเย็นวันนี้

    (อ้างอิง : https://www.tlhr2014.com/?p=8688)
  • เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้ออกหนังสือรับรองว่าคดีถึงที่สุด ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน

    ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย

    ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองคน โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐานยังมีเหตุแห่งความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง จึงให้ยกฟ้อง และคดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก

    ในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลพิเคราะห์ว่าแม้พยานหลักฐานของโจทก์จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมทำบุญในวันที่ 26 เม.ย. 2558 และได้ไปร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นไปเพราะได้มีผู้จัดงานทำการเชิญและผายมือเชิญให้ขึ้นไป ไม่ปรากฏว่าได้มีการแสดงตัวว่าเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด และแม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมงานพร้อมกับนายกิตติภพและนายวิเศษ ซึ่งให้การรับสารภาพในคดีก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ได้อ้างตัวและแสดงตัวเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด

    ต่อมาหลังพิพากษา ทางอัยการโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีออกไปทุกๆ 30 วัน จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ก็ไม่ได้มีการยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก ทำให้ไม่ได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์อีก ศาลจังหวัดกำแพงเพชรจึงได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดดังกล่าวให้ และถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว

    (อ้างอิง : https://www.tlhr2014.com/?p=8688)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายนพฤทธิ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายวิเศษ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายกิตติภพ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางอัษฎาภรณ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายนพฤทธิ์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 22-02-2018
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายวิเศษ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 30-05-2016
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายกิตติภพ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 30-05-2016
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางอัษฎาภรณ์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 22-02-2018

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์