สรุปความสำคัญ

18 ก.ค. 2563 #เยาวชนปลดแอก จัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ถือเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ท่ามกลางความพยายามปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ด้วยมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มชุมนุม โดยผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ได้รับการขานรับจากประชาชนจนกระทั่งเกิดการชุมนุมขนานใหญ่ในแทบทุกจังหวัดตามมา เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว

หลังการชุมนุมผู้ปราศรัย ผู้เข้าร่วมชุมนุม ตลอดจนนักดนตรีมีร่วมแสดงบนเวทีปราศรัย ถูกตำรวจออกหมายจับข้อหา ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และจับกุมรวม 14 ราย รวมทั้งออกหมายเรียกในข้อหา มั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 15 ราย แต่ไม่พบว่า รัฐบาลจะตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้ของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    • บารมี ชัยรัตน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • กรกช แสงเย็นพันธ์
    • ธานี สะสม
    • ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์
    • ธนายุทธ ณ อยุธยา
    • ทศพร สินสมบุญ
    • เดชาธร บำรุงเมือง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี
    • ภานุมาศ สิงห์พรม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เนตรนภา อำนาจส่งเสริม หรือ “ไนซ์”
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการรวมกลุ่ม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

18 ก.ค. 2563 กลุ่มนักศึกษาและประชาชน รวมตัวกันชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ถนนราชดำเนิน ในนาม “เยาวชนปลดแอก” (Free Youth) ก่อนการชุมนุมตลอดทั้งวันมีเหตุการณ์สกัดกั้นทั้งด้วยกำลังและกฎหมายจากเจ้าหน้าที่

ช่วงเช้า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความเป็นห่วงเป็นใยกลุ่มบุคคลและเยาวชนที่จะออกมาแสดงความเคลื่อนไหวในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งสิ่งที่นักศึกษาทำอาจถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้

14.15 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏรั้วเหล็กล้อมรอบ เจ้าหน้าที่ กทม. ได้นำต้นไม้มาตกแต่งฐานอนุสาวรีย์จนเต็มพื้นที่ จากนั้นขยายขอบเขตของรั้วเหล็กออกไปเรื่อยๆ เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ประชาชนเข้าใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ ตำรวจนำรถเครื่องขยายเสียงเข้ามาประชิดกับกลุ่มผู้ชุมนุม และเปิดเครื่องเสียงแทรกตลอดกิจกรรม ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบทยอยเสริมกำลังเข้าพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ฯ มีทั้งตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ สืบสวนนครบาล และกลุ่มชายผมเกรียนสวมเสื้อโปโลสีเหลืองมีข้อความ “COMMANDO”

16.40 น. พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.สน. สำราญราษฎร์ ได้อ่านข้อกฎหมายผ่านเครื่องขยายเสียง แจ้งถึงสถานการณ์โควิดที่กำลังแพร่ระบาด ขอให้เว้นระยะห่าง ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท รวมถึงอ่านข้อกฎหมายอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.การจราจรฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ แต่ถูกประชาชนเข้าล้อมรถเครื่องเสียงของตำรวจเพื่อเรียกร้องให้ปิดเครื่องเสียง ส่งเสียงตะโกนโห่ร้อง “ออกไปๆ” ตลอดเวลา บางส่วนยืนชู 3 นิ้ว หน้าแถวของเจ้าหน้าที่ และเข้าไปต่อว่าเจ้าหน้าที่โดยตรง

ช่วงค่ำ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที กล่าวถึง 3 ข้อเรียกร้อง นั่นคือ 1. ประกาศยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน 3. เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุมในครั้งนี้ นักกิจกรรมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย โดยขณะอานนท์ นำภา ปราศรัยอยู่ได้กล่าวแก่ผู้ชุมนุมว่า มีตำรวจอยู่บนอาคารเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา ขอให้ตำรวจรายนั้นลงมา หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้จับตาเจ้าหน้าที่ที่เข้าออกโรงเรียนสตรีวิทยาไว้ตลอดเวลา

ในช่วงค่ำ ปรากฏรถฉีดน้ำควบคุมฝูงชนจอดใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งตำรวจควบคุมฝูงชน ขณะรถเครื่องเสียงของผู้ชุมนุมคันหนึ่งถูกตำรวจยึดไป ปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) อาสาไปเอาเครื่องเสียงคืนจาก สน.ชนะสงคราม โดยมีอาสาสมัครกว่า 20 คน ร่วมเดินทางไปด้วย ก่อนพบรถเครื่องเสียงที่ สน.ตลิ่งชัน คนขับรถแจ้งว่า ตำรวจจะคืนรถให้โดยไม่แจ้งข้อหาใด แต่ห้ามนำรถกลับเข้าพื้นที่ชุมนุม โดยอ้างว่าผิดกฎหมาย

21.24 น. เกิดเหตุความวุ่นวายขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าควบคุมตัวเยาวชนผู้ชูแผ่นป้ายข้อความสุ่มเสี่ยงจากบริเวณใกล้ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ไปเต็นท์บัญชาการใกล้เวที แต่ผู้ชุมนุมโดยรอบเข้าป้องกันเยาวชนคนดังกล่าวออกมาได้สำเร็จ จนสถานการณ์ชุมนุมกลับมาสงบอีกครั้ง ขณะที่บนเวทีปราศรัย แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกประกาศจะชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึง 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

ราว 23.35 น. เริ่มพบรถตู้ตำรวจไม่ต่ำกว่า 20 คัน เข้าสู่พื้นที่และจอดอยู่รายรอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมการแพร่สะพัดของกระแสข่าวเรื่องการสลายการชุมนุมภายในคืนนี้ ตามมาด้วยการประกาศพักเวทีชั่วคราว จนกระทั่งราว 24.05 น. ตัวแทนกลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท. ประกาศยกเลิกการปักหลักค้างคืน โดยประกาศจบกิจกรรม “เพื่อความปลอดภัย” แต่ได้ย้ำเตือนว่ายังคงให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ ในการดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้อง (https://tlhr2014.com/?p=19562)

หลังการชุมนุม ผู้ปราศรัยและผู้เข้าร่วมกิจกรรมของ “เยาวชนปลดแอก” ถูกออกหมายจับและติดตามจับกุมดำเนินคดีรวม 14 ราย

7 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 8 นาย เข้าแสดงหมายจับบริเวณหน้าที่พักในกรุงเทพฯ กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้เข้าแสดงหมายจับที่ 1176/2563 ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 6 ส.ค. 2563 โดยมี พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ขอออกหมายจับ ใน 8 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา

ในเวลาใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง”​ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับออกโดยศาลอาญา เช่นเดียวกับอานนท์ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าเคยมีการออกหมายเรียกให้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนมาก่อน (https://tlhr2014.com/?p=20236)

14 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.20 น. บริเวณย่านเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถเข้าปาดหน้าและเข้าล้อมรถของเขาและเพื่อน ก่อนมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 1 นาย เข้าแสดงตัว นำโดยสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนนครบาล เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับของศาลอาญาที่ 1172/2563 ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 4 นาย อุ้มตัวพริษฐ์ขึ้นรถยนต์ที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ของตำรวจ นำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สน.ปากเกร็ด

จากนั้นเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่นำตัวพริษฐ์มาถึง สน.สำราญราษฎร์ หลังทนายความเดินทางมาถึง ตำรวจได้เริ่มอ่านบันทึกการจับกุม โดยมีการถ่ายวีดิโอเอาไว้ตลอด และยังแจ้งว่าจะย้ายตัวผู้ต้องหาไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ตลิ่งชัน แต่พริษฐ์และทนายความยืนยันที่จะให้แจ้งข้อหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ (https://tlhr2014.com/?p=20395)

19 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 21.36 น. บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศ ตำรวจได้เข้าแสดงหมายจับ “บารมี ชัยรัตน์” เลขาธิการของสมัชชาคนจน หนึ่งในผู้ปราศรัยในการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ก่อนนำตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ทันที จัดทำบันทึกการจับกุม โดยทนายความที่ติดตามมายังไม่สามารถเข้าไปในห้องสอบสวนได้ เมื่อทนายความได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่บารมี ชัยรัตน์ ใน 8 ข้อหา เช่นเดียวกับคนอื่น บารมีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

23.50 น. ประชาชนที่มีรายชื่อถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอก ได้แก่ “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี กลุ่มประชาชนปลดแอก, ภานุมาศ สิงห์พรม นักศึกษา, กรกช แสงเย็นพันธุ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และสุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางมาถึงหน้า สน.สำราญราษฎร์ สุวรรณาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าถ้ามีหมายจับ ก็ขอให้ตำรวจนำมาแสดงดีๆ ไม่ควรแสดงในยามวิกาล อีกทั้งตนก็ไม่ได้คิดหลบหนี จนกระทั่งตำรวจได้เข้ามาแสดงตัวและอ่านหมายจับให้สุวรรณาฟัง และนำตัวเข้าไปใน สน.สำราญราษฎร์ ส่วนอีก 3 คน ตำรวจยังไม่นำหมายจับมาแสดงแต่อย่างใด

เวลา 00.30 น. ตำรวจได้แสดงหมายจับต่อกรกช แสงเย็นพันธุ์ และนำตัวเข้าไปใน สน. ทำบันทึกจับกุมและและแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสามคนได้ยื่นประกันในชั้นตำรวจ แต่ ผกก.สน.สำราญราษฎร์ มีคำสั่งไม่ให้ประกัน ทำให้ทั้งสามถูกควบคุมตัวในห้องขัง 1 คืน โดยพนักงานสอบสวนเตรียมนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในตอนเช้า

เวลา 8.20 น. มีรายงานอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวเดชาธร บำรุงเมือง หรือ “ฮอคกี้” (Hockhacker) แร็ปเปอร์จากวง Rap Against Dictatorship (RAD) ที่หน้าบ้านพัก ขณะกำลังจะออกเดินทางไปส่งภรรยาไปทำงาน และมีลูกเล็กอยู่ด้วยขณะจับกุม ก่อนจะนำตัวเดชาธรไปทำบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ และพาตัวไปยัง สน.สำราญราษฏร์

9.46 น. ทศพร สินสมบุญ ผู้มีรายชื่อการถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” อีกรายหนึ่ง ระบุว่าได้มีชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปที่บ้านพักของตนเพื่อทำการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ขณะเดียวกัน ธานี สะสม ถูกจับกุมที่บริเวณซอยรางน้ำ และณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ถูกเจ้าหน้าที่หลายสิบนายเข้าแสดงหมายจับ ขณะขับรถบนทางด่วน เพื่อไปมอบตัว ทั้งสามถูกควบคุมตัวไป สน.สำราญราษฎร์ โดยในตอนแรกตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความที่ติดตามมาเข้าไปด้านในห้องสอบสวน อ้างว่าผู้ต้องหามีทนายแล้ว และด้านในมีคนเยอะ ก่อนที่ต่อมาจะอนุญาตให้ทนายติดตามเข้าไป

ในขณะที่ “โตโต้” นายปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรม ที่เดินทางพร้อมกับหมายเรียกพยานจากกรณีชุมนุมเยาวชนปลดแอก เช่นกัน ได้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในสถานีตำรวจเช่นกัน โดยหมายเรียกพยานระบุให้มาพบตำรวจวันที่ 21 ส.ค. แต่เนื่องจากเขาไม่ว่าง จึงมาในวันนี้แทน แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานีตำรวจ

พนักงานสอบสวนจะทำบันทึกตรวจยึดโทรศัพท์ทศพรด้วย ผู้ต้องหาแจ้งว่าไม่ยินยอมให้ยึด เนื่องจากตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าหน้าที่ต้องแสดงหมายจากศาลก่อน ขณะเดียวกันธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ “บุ๊ค” แร็ปเปอร์วง Elevenfinger วัย 19 ปี ผู้เติบโตในสลัมย่านคลองเตยและได้ขึ้นแร็ปการเมืองในการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ถูกนำตัวมาถึง สน.สำราญราษฏร์ หลังถูกจับกุมตามหมายจับอีกราย

พนักงานสอบสวนทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุมทั้ง 5 ราย ก่อนนำตัวไปขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญา ทั้งหมดร่วมกันชูสามนิ้ว ประชาชนตะโกนให้กำลังใจว่า “สู้ๆ” (https://tlhr2014.com/?p=20540)

26 ส.ค. 2563 ประมาณ 12.00 น. “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการเยาวชนปลดแอก และ “เจมส์” ภานุมาศ สิงห์พรม นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ร่วมก่อตั้ง “เยาวชนปลดแอก” และ “คณะประชาชนปลดแอก” ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าแสดงหมายจับและจับกุมตัวย่านที่พักในจังหวัดนนทบุรี ในขณะที่ทัตเทพกำลังจะเดินทางไปร่วมงานเสวนาวิชาการ “เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน” ที่มติชนอคาเดมี จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวทัตเทพและภาณุมาศขึ้นรถกระบะเดินทางไป สน.สำราญราษฎร์ โดยทั้งสองมีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กตลอดเวลา

ทัตเทพได้ตั้งข้อสังเกตผ่านไลฟ์ด้วยว่าหลังจากที่ประชาชนซึ่งมีรายชื่อว่าได้ถูกออกหมายจับไปแสดงตัวที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ ภายหลังการชุมนุมประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ตำรวจกลับไม่มีการจับกุมพวกตน แต่กลับมาไล่จับทีละคนในภายหลังแทน ทั้งที่มีหมายจับออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ประมาณ 13.00 น. ทัตเทพและภานุมาศถูกนำตัวมาถึง สน.สำราญราษฎร์ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าได้แค่ทนายความและผู้ช่วยเข้าไปภายในเท่านั้น หลังตรวจร่างกาย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 8 ข้อหา เช่นเดียวกับคนอื่นในคดีนี้ กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนใช้เวลาอย่างรวดเร็วราวไม่ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้น 14.30 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวทั้งสองไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง (https://tlhr2014.com/?p=20857)

1 ก.ย. 2563 ประมาณ 12.50 น. “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับรถมอเตอร์ไซค์ประกบแกร็บแท็กซี่คันที่เธอกำลังจะนั่งไปเรียน สั่งให้รถหยุด และให้เธอลงจากรถ พร้อมแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะพาเธอไปที่ สน.สําราญราษฎร์ ด้วยรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ แต่จุฑาทิพย์ไม่ยินยอมและต่อรองขอนั่งแท็กซี่ไปแทน ตำรวจจึงนั่งควบคุมตัวไปด้วย จุฑาทิพย์ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ่านออกเสียงหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ไปตลอดทาง

ก่อนหน้านี้ จุฑาทิพย์ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตัวใกล้ชิดมาตลอด และเธอยังไปแสดงตัวที่หน้า สน.สำราญราษฏร์ ภายหลังการชุมนุม “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 16 ส.ค. แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมจับกุม เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปถึงย่านที่พัก

หลังถึง สน. สําราญราษฎร์ ตำรวจชุดจับกุมได้ทำบันทึกจับกุม แพทย์ทำการตรวจร่างกายจุฑาทิพย์ ก่อนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 8 ข้อหา ให้เธอทราบ กระบวนเหล่านี้ใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ไม่ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวจุฑาทิพย์ไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังเธอในชั้นสอบสวน ก่อนขึ้นรถ เธอออกมายืนต่อหน้าสื่อมวลชน บริเวณด้านล่าง สน.สำราญราษฏร์ โดยมือหนึ่งชูหนังสือ “สามัญสำนึก” อีกมือหนึ่งชูสามนิ้วพร้อมผูกโบว์สีขาวไว้ที่ข้อมือ (https://tlhr2014.com/?p=21015)

ภูมิหลัง

  • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ผู้รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112
  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และ NDM อีสาน ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น จนถึงเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและ คสช. มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ชลธิศ โชติสวัสดิ์
    สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มทำกิจกรรมตั้งปี 1 โดยร่วมกับเพื่อนพรรคโดมปฏิวัติผลักดันประเด็นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และเคยทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของ สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย)

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/24286)
  • ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี
    จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH)
  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
    เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. โดยค่อนข้างเอนเอียงไปกับ กปปส. แต่ด้วยความที่ที่บ้านมีช่องเคเบิ้ลของทั้งเสื้อแดง ทั้งเสื้อเหลือง ทำให้ณวรรษเริ่มตั้งคำถาม

    ต้นปี 2563 ที่ณวรรษเพิ่งเรียนจบ กำลังรอรับปริญญา ได้รู้จักนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เข้าร่วมกลุ่มตลาดหลวง (Royalist Marketplace) ในเฟซบุ๊ก จนชัดเจนกับตัวเองว่าจะอยู่ฝั่งไหน เวลาผ่านไป 2 ปี ณวรรษเปลี่ยนมาสนใจการเมืองขนาดที่กลายเป็นทุกอย่างในชีวิต มองโลกด้วยมุมมองของคนที่เป็นผู้ใหญ่ เข้าใจว่าหลายอย่างในประเทศมันถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/40629)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 6 คดี อีกทั้งถูกจำคุกในคดี ม.112 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง
  • ไลลา (นามสมมติ)
    ไลลาระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ต้องต่อสู้อยู่กับคดีนี้ราวเกือบ 3 ปี ต้องประสบความเครียดและกังวลอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีคดีนี้เป็นชนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์