ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.286/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม และพวก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.286/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม และพวก

ความสำคัญของคดี

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม อ้างว่า นายสุเทพ ศิลปงาม และนายวราวุธ สวาย ได้ฟังคําปราศรัยของพริษฐ์แล้วได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีพริษฐ์ในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และหลังตำรวจสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมจึงได้ดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย

พริษฐ์ถูกดำเนินคดีนี้ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม และเป็นคดีแรกๆ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามมาตรา 112 หลังไม่มีการใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวมานาน 2 ปี ทั้งยังเป็นคดีแรกที่อัยการเร่งรัดยื่นฟ้องคดีต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างผิดสังเกต พร้อมกับคดีชุมนุม 19 กันยา โดยหลังอัยการยื่นฟ้อง พริษฐ์ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี แม้มีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง ก่อนที่ศาลจะให้ประกันในการยื่นประกันครั้งที่ 10 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 92 วัน อดอาหารเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวรวม 57 วัน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วรชัย ไชยวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องพริษฐ์ใน 4 ข้อหา แยกเป็น 4 กรรม บรรยายฟ้องโดยสรุปดังนี้

1. ตามที่รัฐบาลยังคงประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อมา ระหว่างวันที่ 13 พ.ย. ถึง 14 พ.ย. 2563 จําเลยซึ่งเป็นแกนนํา หรือเป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง ได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ผ่านบัญชี “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โพสต์รูปภาพซึ่งปรากฏข้อความว่า “14 พฤศจิกายน MOB FEST รวมพลบ่าย 2 โมงตรง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (หน้าแมคโดนัลด์)” และการ์ตูนภาพบุคคลจํานวนหลายคนหลากหลายอาชีพชูสามนิ้วหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโพสต์ข้อความตัวอักษรว่า “พรุ่งนี้ไปลุย!!” อันเป็นการเชิญชวน หรือนัดให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นมาเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง

ในวันที่ 14 พ.ย. 2563 ตามเวลาและสถานที่ที่จำเลยนัดหมายข้างต้น มีประชาชนทั่วไปประมาณ 5,000 คน เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจําเลยไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมกิจกรรมิ และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ําลาย อันเป็นการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองที่โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนา (โรคโควิด – 19) ตามที่ทางราชการกําหนด

2. จำเลยยังใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโฆษณากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมการกิจกรรมการรวมกลุ่ม อันกระทำให้ปรากฎข้อความอันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน และกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ในวันนั้นจำเลยได้ใช้เครื่องเสียงขึ้นปราศรัยบนเวทีในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลังออกจากเรือนจำ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยจําเลยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายกษัตริย์รัชกาลที่ 10 อันเป็นการ ปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

เมื่อประชาชนได้รับฟังข้อความคําปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับ กดดันให้รัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้กษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะอันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์

อีกทั้ง ประชาชนที่ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกับจําเลย ด้วยการตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

3. ตามวันเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยมาตรา 5 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

แต่จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทกษัตริย์ อ้างอิงจากข้อความคำปราศรัยขอให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันถือว่าเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย มีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

4. ตามวันและเวลาดังกล่าวจําเลยได้โฆษณาปราศรัยบอกกล่าว แสดงความคิดเห็นต่อประชาชนโดยการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับ
อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ สน.ชนะสงคราม พริษฐ์เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหา พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์ 4 ข้อหา จาก #ม็อบ14พฤศจิกา โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดโดยสรุปว่า

    เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมกิจกรรมทางการเมือง “Mob Fest” “นักเรียนเลว” “ผู้หญิงปลดแอก” ได้จัดกิจกรรมเรื่อยมาทั้งบริเวณถนนด้านหน้าร้านแม็คโดนัลด์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณหน้าด้านหน้าศูนย์ภาษา สี่แยกคอกวัว

    กลุ่มผู้ชุมนุมได้นําผ้าขาวที่เขียนไว้เมื่อช่วงบ่ายน้ำขึ้นไปพันโดยรอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทวงคืนเป็นของประชาชน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปราศรัยสลับกับการแสดงดนตรีเรื่อยมา จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.51 น. ของวันเดียวกัน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องหา ได้ขึ้นเวทีด้านหน้าศูนย์ภาษาเวทีคอกวัว ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าผู้ชุมนุม โดยเนื้อหาปราศรัยได้กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมคล้อยตามและเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 นายสุเทพ ศิลปงาม และนายวราวุธ สวาย ได้ฟังคําปราศรัยของพริษฐ์ จึงได้มาแจ้งความ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลัง สน.ชนะสงครามรับคำร้องทุกข์ไว้ ได้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์รวม 4 ข้อหา ดังนี้

    1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า พริษฐ์มีการกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสม ในลักษณะใส่ความให้ประชาชนที่ได้ฟังหลงเข้าใจผิด เป็นการพูดกล่าวหาพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน และเป็นการพูดในทางที่ทําให้องค์พระมหากษัตริย์อาจได้รับความเสียหาย และมีเจตนาให้ประชาชนผู้ร่วมรับฟังเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์
    2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
    3. ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
    4. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

    พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนบันทึกหมายเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่ขอลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ยอมรับในอำนาจของศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และไม่ยอมรับว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมาย

    พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัว เนื่องจากมาพบตามหมายเรียก

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 30 พ.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/23649)
  • ตัวแทนพริษฐ์เข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีเนื้อหาดังนี้

    1. พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตําแหน่ง เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตที่พึงกระทําได้ตามระบอบประชาธิปไตย และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กรณีจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กล่าวคือ

    สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งเจตจํานงอย่างเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งในทางสากลให้การยอมรับดังถูกบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และรัฐธรรมนูญ

    สําหรับการกล่าวหาว่า ผู้ต้องหากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 คณะพนักงานสอบสวนย่อมทราบดีอยู่ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไม่อาจถูกตีความอย่างกว้างเพื่อนํามาใช้ดําเนินคดีหรือกลั่นแกล้งบุคคลที่ใช้เสรีภาพอย่างสุจริตในการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่ดํารงตําแหน่งในองค์กรของรัฐตามปกติในระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ต้องตีความข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีเข้ากับข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดก่อน

    ประกอบกับศาลยุติธรรมได้วางแนวคําพิพากษาไว้ว่า การที่บุคคลใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แม้จะปรากฏถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมบ้าง หรือแม้จะมีการเรียกร้องหรือชักชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในครั้งต่อไปให้มากขึ้น และการเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการจัดการเลือกตั้งก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และ (3) เพราะเสรีภาพชุมนุมเป็นเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ และการเลือกตั้งเป็นวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    ทําให้การเรียกร้องให้บุคคลอื่นใช้เสรีภาพตามกฎหมายหรือให้รัฐบาลดําเนินการตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ จึงมิได้เป็นการทําให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างเดื่องในหมู่ประชาชนหรือให้ประชาชนทําผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ การกระทําของบุคคลที่มีความรุนแรงจนถึงขนาดที่จะเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ตามแนวคําพิพากษาของศาลยุติธรรมที่วาง แนวไว้ได้แก่ การที่จําเลยปราศรัยเรียกร้องให้บุคคลหลายคนร่วมกันกระทําความผิดตามกฎหมายที่รุนแรงอย่างทําลายทรัพย์สินของทางราชการอันได้แก่ การวางเพลิงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ปรากฏในคําพิพากษาศาล ฎีกาที่ 2038-2041/2527

    ข้อเท็จจริงในคดีนี้ การจัดกิจกรรมชุมนุมตามวันและเวลาที่กล่าวหานั้น ผู้ต้องหาเข้าร่วมมีลักษณะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ข้อเรียกร้องของผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในวันดังกล่าวก็ปรากฏว่าเป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญทั้งหมด

    ประการแรก การที่บุคคลใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรียกร้องต่อองค์กรของรัฐให้มีการปฏิรูป กฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระราชอํานาจต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องมิให้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายและรัฐธรรมนูญใดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอํานาจทรงทําสิ่งใดได้ด้วยพระองค์เองเพียงลําพัง แต่จะต้องกระทําตามคําแนะนําขององค์กรของรัฐอย่างรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่อาจกระทําผิด” (The King can do no wrong) ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทําสิ่งใด แต่ทรงทําตามคําแนะนําของรัฐมนตรี ผู้รับสนองบรมราชโองการเท่านั้น เพื่อให้พระมหากษัตริย์พ้นจากการเมืองและการติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นการเทิดพระเกียรติกษัตริย์ให้สูงเด่นยิ่งขึ้นมิใช่การล่วงละเมิดแต่อย่างใด ดังนั้น การใช้เสรีภาพดังกล่าวของผู้ต้องหาจึงเป็นเรียกร้องที่อยู่ภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญทุกประการ

    ประการที่สอง การเรียกร้องให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีดําเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ก็เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าอํานาจสูงสุดภายในรัฐเป็นของประชาชน ประกอบกับตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้มอบอํานาจให้คณะรัฐมนตรียื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา การที่ประชาชนจะเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการในวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย และใช้อํานาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และ

    ประการที่สาม การเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอํานาจสูงสุดของประเทศได้แสดงเจตจํานงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่จะดํารง ตําแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เป็นการเรียกร้องตามปกติในวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับตาม มาตรา 103 ประกอบด้วยมาตรา 182 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มอบอํานาจให้คณะรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา และยินยอมให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอํานาจตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้

    ดังนั้น การเรียกร้องในข้อเรียกร้องดังกล่าวทั้งสามประการจึงเป็นการกระทําที่อยู่ภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ตามแนวคําพิพากษาของศาลยุติธรรม ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นแสดงออกด้วยวาจาที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 116 ได้ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของผู้ต้องหาผ่านการปราศรัยหรือการร้องเพลงหรือการชูแผ่นป้ายก็เป็นสิทธิของประชาชน ในการตรวจสอบหรือติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย

    เมื่อปรากฎในทางข้อเท็จจริงแห่งคดีว่าการชุมนุมของผู้ต้องหาเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แล้ว การที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาในคดีนี้จึงเป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีโทษอาญาทั้งโทษจําคุกและโทษปรับที่รุนแรง เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจํากัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของผู้ต้องหา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อํานาจให้สอดคล้องกับวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

    2. ผู้ต้องหามีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กําหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐาน ทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ดังต่อไปนี้
    (1) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม
    (2) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ ในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์กร หรือสถาบันทางการเมือง
    (3) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์

    โดยพยานบุคคลทั้งสามดังกล่าวข้างต้น เป็นพยานบุคคลสําคัญซึ่งจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาในประเด็นว่า การชุมนุมและคําปราศรัยของผู้ต้องหาได้กระทําไปโดยสุจริตและ/หรือตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ บนกรอบพื้นฐานข้อเท็จจริงหรือหลักการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์

    เพื่อให้ผู้ต้องหามีโอกาสได้ต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่และเป็นธรรมตามสิทธิของผู้ต้องหาที่ได้รับการรับรองไว้ จึงขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาได้ร้องขอซึ่งจะได้ยื่นรายชื่อต่อท่านต่อไป และพิจารณามีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอไปยังพนักงานอัยการด้วย

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติมของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2563)
  • พริษฐ์เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อส่งตัวให้อัยการ หลังยื่นหนังสือขอเลื่อนจากวันที่ 14 และ 22 ม.ค. 2564 หลังพนักงานสอบสวนส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 แล้ว อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 9 ก.พ. 2564
  • นิพนธ์ ทิพย์ไกรสอน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    ในท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการระบุด้วยว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    หลังศาลอาญารับฟ้องคดี พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดหมายคุ้มครองสิทธิในทั้งสองคดีต่อไปในวันที่ 15 มี.ค. 2564

    ต่อมาเวลา 15.45 น. ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยพริษฐ์ โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายประกัน

    จนเวลา 17.50 น. นายเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

    วันเดียวกันนี้ อัยการยังยื่นฟ้องคดี 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งพริษฐ์เป็น 1 ใน 4 จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จึงถือเป็นสองคดีแรกจากการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112

    ภายหลังคำสั่งไม่ให้ประกัน พริษฐ์ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมอานนท์ สมยศ และปติวัฒน์ ที่ไม่ได้ประกันจากคดี #19กันยา เช่นกัน การคุมขังในครั้งนี้เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คน จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25821)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาพริษฐ์ คำร้องดังกล่าว ศาลอาญาจะส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

    คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลอาญา และขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

    1. การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ไม่อาจพิจารณาเพียงข้อหาหรือฐานความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจำเลยในคดีอื่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันหรือในข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ดังนั้น อาศัยเพียงฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สันนิษฐานว่าเป็นคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูง และไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงไม่อาจรับฟังได้และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

    2. พฤติการณ์แห่งคดีนี้ไม่ใช่พฤติการณ์ร้ายแรงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของตนได้อย่างสันติ อีกทั้งข้อเรียกร้องของจำเลยที่ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงไว้ตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจำเลยจะได้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลต่อไป

    3. ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหลายครานั้น เป็นข้อเท็จจริงอื่นนอกสำนวนคำฟ้องของโจทก์ ที่กล่าวอ้างขึ้นลอยๆ และเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น นอกจากนี้ การกระทำของจำเลยในคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิด และจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาการปล่อยชั่วคราวจากคำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว โดยจำเลยยังไม่ได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย จึงต้องเป็นไปโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยอย่างยิ่ง อีกทั้งการกระทำอื่นที่ซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา ก็ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำความผิดได้

    ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นหัวใจของกฎหมายอาญา จำเลยเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิด แต่ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาโดยที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เสมือนว่าจำเลยได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ทำให้สูญเสียอิสรภาพและได้รับความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการศึกษา ประการสำคัญทำให้จำเลยเสียโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และเสียโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1), ICCPR ข้อ 9 วรรคสาม และข้อ 14 (1) ดังนั้น สิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริงและสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว จึงเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทางสากล โดยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้เคยให้ความเห็นว่าการคุมขังผู้ต้องหาและจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

    5. จำเลยไม่มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แต่อย่างใด กล่าวคือ

    (1) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี คดีนี้จำเลยไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้สั่งให้ควบคุมตัวจำเลยระหว่างการสอบสวน จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยจำเลยที่ 1 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความจำเป็นต้องเข้ารับการศึกษา จำเลยที่ 2 เป็นทนายความ มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ทนายความและมีกำหนดนัดคดีที่รับผิดชอบหลายคดี จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพเป็นนักแสดงพื้นบ้าน ส่วนจำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพรับจ้างและมีอายุมาก มีความจำเป็นต้องดูแลครอบครัว จึงมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนีในระหว่างพิจารณาคดี

    (2) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นและอยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการแล้ว

    (3) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น กล่าวคือ จำเลยเป็นนักศึกษาและประชาชนที่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสันติ ปราศจากอาวุธ การแสดงออกของจำเลยไม่ใช่การกระทำความผิดหรือก่อเหตุอันตรายแต่ประการใด จำเลยไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้าย หรือมีจิตคิดเป็นอาชญากร

    (4) ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ จำเลยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ หากศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลักประกันดังกล่าวไม่เพียงพอ และต้องวางหลักประกันเพิ่ม จำเลยยินดีวางหลักประกันตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด

    (5) การปล่อยชั่วคราวจำเลยคดีนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาคดีแต่อย่างใด เนื่องจากคดีนี้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และจำเลยประสงค์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวของศาลชั้นต้น ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 11 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25880)
  • เวลาประมาณ 16.30 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 ไม่อนุญาตให้ประกันยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น

    คำสั่งศาลอุทธรณ์มีเนื้อความว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน"

    “นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก เมื่อพิจารณาประกอบคำคัดค้านของพนักงานอัยการโจทก์แล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

    ท้ายคำสั่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ โดยไม่ได้พิมพ์ชื่อสกุลกำกับเอาไว้แต่อย่างใด

    พริษฐ์ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 7 วัน หรือ 1 อาทิตย์แล้ว โดยกรณีนี้เป็นการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล จำเลยจะถูกคุมขังจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัว หรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดี

    (อ้างอิง: คำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25971)
  • เวลา 11.20 น. ที่ศาลอาญา ทนายความพร้อมกับนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ เป็นครั้งที่ 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็น 300,000 บาท พร้อมกับใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายประกัน

    ต่อมาเวลา 12.20 น. สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดมีคำสั่งไม่ให้ประกัน ชี้ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยมาก่อนแล้ว คดียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง

    ทั้งนี้ ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งยื่นประกันพร้อมกัน ผู้พิพากษาคนเดียวก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งพริษฐ์, อานนท์, “หมอลำแบงค์” และสมยศ ยังคงถูกจองจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นวันที่ 9 แล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26082)

  • 13.00 น. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทนายความเข้ายื่นประกันพริษฐ์ เป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท จากครั้งที่แล้วที่ยื่นขอประกันด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท

    เวลา 15.15 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

    การที่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเข้าเป็นนายประกันในการยื่นประกันครั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือว่า จำเลยจะไม่หลบหนี หรือผิดสัญญาประกัน แต่ศาลยังไม่คงไม่อนุญาตให้ประกันเช่นเดิม

    นอกจากนี้ เช้านี้ นักวิชาการนานาชาติกว่า 30 ราย และนักวิชาการไทยบางส่วนยังร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมคืนสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรม "ราษฎร" 4 ราย ชี้การปฏิเสธการประกันตัว มีแนวโน้มจะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26224)
  • เวลาประมาณ 13.30 น. ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญา กรณีศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์ หลังทนายความยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 นับเป็นการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญา ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564

    คำร้องอุทธรณ์ครั้งนี้ พริษฐ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม โดยให้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยประกอบการพิจารณาด้วย ระบุเหตุผลโดยสรุปดังนี้

    1. เหตุที่ถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยกระทำโดยเปิดเผยและเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธตามที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยแสดงความคิดอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปตามหลักการพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดโดยตัวเอง เพียงการพูดความคิดเห็นโดยมีเหตุผลประกอบย่อมไม่อาจจะตีความว่าเป็นการก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้

    2. หลักประกันของจำเลยในคราวนี้ เป็นเงินจำนวนที่สูงถึงคนละ 400,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการขอประกันในครั้งก่อน อีกทั้ง นายประกันซึ่งได้ยื่นขอประกันตัวจำเลย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ และอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ โดยนายประกันทั้งสองเป็นอดีตอาจารย์และข้าราชการระดับสูง เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและได้รับความยอมรับนับถือในสังคม จึงประกอบเป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณา

    3. หากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมจะเดือดร้อนอย่างยิ่งและทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย เนื่องจากปัจจุบันจำเลยเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่าง ๆ และเข้าสอบให้ครบตามกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ อันจะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตทางการศึกษาของจำเลยอย่างร้ายแรง ประกอบกับจำเลยมีโรคประจำตัวป่วยเป็นโรคหอบหืด การถูกขังไว้ในเรือนจำซึ่งแออัดอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น และอาจทำให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

    4. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่มาตามกำหนดนัด จำเลยได้ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และปฏิบัติตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด แม้แต่ในวันนัดส่งตัวฟ้องคดีนี้ สำหรับคดีความผิดลักษณะเดียวกันนี้ จำเลยก็เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2563 ในคดีของศาลอาญา และเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยก็ไม่เคยหลบหนีแต่อย่างใด

    5. หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือการที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกติกาดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 สิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227

    สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีขึ้นเพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้ได้ทั้งเพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งรวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ดังนั้น ศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยจึงต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งรวมถึงประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐ

    การควบคุมตัวจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องกระทำโดยได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ทั้งนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และ 108/1 “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” โดย “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” เหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ บทบัญญัติกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลตามที่มาตรา 108/1 กำหนด อันได้แก่การหลบหนี การไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาคดี

    จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้นยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด การที่ศาลให้เหตุผลว่าหากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำในลักษณะที่ถูกฟ้องในคดีนี้อีก เป็นการตีความโดยคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย กล่าวคือ การกระทำในลักษณะที่ถูกฟ้องคดีนี้ไม่ใช่การกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด

    อีกทั้งในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา

    6. การใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้มากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุม จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับ ดังนั้นแล้วประชาชนทั่วไปจึงสามารถใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

    จำเลยเป็นผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ ก็คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมิให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม กลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว

    จำเลยขอให้คำมั่นว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และจะปฏิบัติตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยจะต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเท่าใด ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดกำหนดวงเงินหลักประกันตามควรแก่กรณี และจำเลยยินดีวางหลักประกันตามวงเงินที่ศาลเรียกต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 26 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26336)
  • เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 26 ก.พ. 2564 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี “เพนกวิน” ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว”

    คำสั่งศาลอุทธรณ์ฉบับนี้ ยังมีขึ้นหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัว 8 แกนนำ กปปส. ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 จำคุก 4 ปี 8 เดือน – 9 ปี 24 เดือน กรณีชุมนุมล้มการเลือกตั้ง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ยึดสถานที่ราชการ เพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกัน 800,000 บาท และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 26 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26336)
  • ทนายความเข้ายื่นประกันตัวพริษฐ์อีกเป็นครั้งที่ 4 โดยในครั้งนี้ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 5 แสนบาท โดยมีมารดาเป็นนายประกันด้วยตนเอง หลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 24 วันแล้ว

    สำหรับเนื้อหาในคำร้องขอประกัน ระบุยืนยันว่าการใช้เงินสดเป็นหลักประกันทั้งหมด 500,000 บาท ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี

    คำร้องระบุด้วยว่า แม้ว่าเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน”

    การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ก่อให้เกิดคำถามว่า มีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

    อย่างไรก็ตาม เวลา 12.51 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันพริษฐ์อีกครั้ง โดยระบุว่าคดีนี้ ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าจำเลยจะไปก่อเหตุร้ายอีก ศาลนี้เห็นว่าการที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและได้ให้เหตุผลไว้แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ย่อมเป็นการยุติว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องแล้ว

    แม้กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ได้ แต่การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ซึ่งจะมีผลให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้นั้น ต้องปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าในเหตุลักษณะคดี เช่น มีการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 อนุสอง หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวกับจำเลย อันแสดงว่าจำเลยนั้นจะไม่หลบหนี หรือไม่สามารถไปก่อเหตุร้ายอื่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุผลที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    ทั้งนี้ ศาลหาจำต้องระบุเหตุผลตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ใหม่ไม่ เพราะเท่ากับจะเป็นการคัดลอกข้อความที่ศาลนี้และศาลอุทธรณ์ได้เคยมีคำสั่งไว้แล้ว ยิ่งเมื่อศาลนี้ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง หากศาลจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยไม่มีเหตุย่อมเป็นการวินิจฉัยคดีตามอำเภอใจ ไม่เป็นแนวทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

    ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า จำเลยมีอาการเจ็บป่วยเพราะโรคประจำตัวนั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าถึงขนาดไม่สามารถรักษาพยาบาลภายในเรือนจำได้ ส่วนที่จำเลยเป็นนักศึกษานั้น มีเพียงเหตุผลให้คาดเดาได้ว่าจะไม่สะดวกในการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างชัดเจนร้ายแรงอย่างไร จนถึงขนาดที่จะมีผลเพราะให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง

    คำสั่งลงนามโดยนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26557)
  • เวลา 9.00 น. คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับทนายความ ได้เดินทางไปที่ศาลอาญา เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “รุ้ง” ปนัสยา นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล

    การยื่นประกันตัวในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ของเพนกวิน หลังเขาถูกคุมขังมา 32 วัน แล้ว ส่วนของรุ้งและไผ่ เป็นการยื่นครั้งที่ 2 หลังจากไม่ได้รับการประกันตัวในวันสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564

    การร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ ได้ใช้ตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเป็นหลักประกันทั้งสามคน โดยมี ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ และอาจารย์สิทธิโชค ชาวไร่เงิน ยื่นขอประกันตัวรุ้ง ส่วน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นขอประกันตัวเพนกวิน ในสองคดี ทั้งในคดีชุมนุม 19 ก.ย. 63 และคดีชุมนุม MobFest ส่วน อ.ดร.พัทธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นขอประกันตัวไผ่

    คำร้องยืนยันว่าตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ ว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี

    ทั้งสามคนยังมีเหตุผลความจำเป็นด้านการศึกษา โดยมีการเรียนและสอบกลางภาคที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนี้ การศึกษาค้นคว้า การส่งงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้สอน ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ภายในเรือนจำ จะส่งผลกระทบกับการเรียนของจำเลยอย่างร้ายแรง ถึงขั้นไม่ผ่านวิชาที่ลงทะเบียนเรียน และส่งผลกระทบต่อการเรียนจบตามหลักสูตร นำไปสู่การถูกตัดสิทธิทางการศึกษา

    อีกทั้งทั้งสามคนยังมิได้ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดแต่อย่างใด จึงสมควรได้รับโอกาสให้ได้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อกลับไปศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกติกาสิทธิมนุษยชนสากล ล้วนรับรองหลักการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในคดีอาญา

    สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ในทั้งสองคดีที่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไป โดยระบุว่าคดียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ต่อมาเวลา 16.40 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งรุ้ง ไผ่ และโตโต้ โดยระบุเช่นเดียวกันทั้งหมดว่า “ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” และไม่ได้มีการกล่าวถึงเหตุจำเป็นในคำร้องที่ทั้งสี่คนยื่นขอไป

    คำสั่งทั้งหมดมี เป็นผู้ลงลายมือชื่อ

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26914)
  • ที่ห้องพิจารณา 701 เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวพริษฐ์มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับจำเลยในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีก 7 คน ซึ่งมีนัดพร้อมในวันนี้เช่นกัน

    บรรยากาศของศาลอาญา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ศาล และ รปภ. จำนวนหนึ่ง คอยตรวจตราความเรียบร้อยภายในและภายนอกห้องพิจารณา เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจเดินทางมาเข้าฟังการพิจารณาเป็นจำนวนมาก มีการประกาศให้เว้นระยะห่างจากจำเลยเนื่องจากสถานการณ์โควิด

    ศาลเริ่มพิจารณาคดี เพนกวินแถลงต่อศาลว่า ศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีได้อย่างไร ในเมื่อศาลขังตนมาไว้กว่า 1 เดือนแล้ว ตนจะมีโอกาสรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อการสู้คดีได้อย่างไร ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าอยากจะขอให้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์มีจำนวนมากและทนายจำเลยอีกคนติดว่าความในคดีที่จังหวัดขอนแก่น

    ศาลได้กล่าวกับเพนกวินว่า ศาลไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ หากแต่จำเลยถูกขังระหว่างพิจารณาอยู่ การเลื่อนนัดพิจารณาคดี อาจทำให้การสืบพยานล่าช้าออกไปอีก ขณะนั้นมีเสียงจำนวนหนึ่งของประชาชนในห้องพิจารณาดังขึ้นว่า “ควรให้สิทธิจำเลยในการประกันตัว จึงจะเป็นธรรม”

    จากนั้นศาลจึงได้อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้คู่ความทราบและกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย. 64 เวลา 9.00 น. โดยระบุว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานเป็นเอกสาร 53 รายการ และพยานวัตถุอีก 2 รายการ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 15 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27026)
  • ทนายจำเลยและครอบครัวยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์เป็นครั้งที่ 6 โดยวางเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

    การยื่นประกันครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีมีผู้คุมพยายามจะนำตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ ออกไปควบคุมนอกแดนเมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. 64 โดยมีการพยายามมานำตัวถึง 4 ครั้งในช่วงกลางดึก และมีการอ้างเพียงว่าจะเอาตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดวิสัยโดยปกติในการนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มากลางดึกยังไม่ติดป้ายชื่อ ทำให้เขาเกรงว่าจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต และกัวลเรื่องความปลอดภัยในเรือนจำ

    เวลาประมาณ 19.00 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญายังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ระบุว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลได้แสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้งไว้แล้ว หากได้รับการปล่อยตัว อาจไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27078)
  • ช่วงบ่ายทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท นับเป็นการยื่นประกันในคดีนี้เป็นครั้งที่ 7

    สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา ยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน โดยระบุเหตุผลเช่นเดิมว่า ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ทั้งนี้ เพนกวินถูกขังมาแล้ว 60 วัน ทั้งในคดีนี้และคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้งยังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเป็นวันที่ 26 แล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28209)
  • พริษฐ์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาล ทั้งที่ยังมีอาการอ่อนเพลียและต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เหตุจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 35 วันแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตั้งฉากกั้นเพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพเพนกวินขณะถูกนำตัวมาศาลด้วย

    ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 32 ปาก ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่รับข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ทุกปาก

    หลังจากนั้นโจทก์ได้แถลงว่า เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์ติดใจสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 32 ปาก โดยจะแถลงเกี่ยวกับพยานที่โจทก์จะนำสืบเพื่อขอหมายเรียกมาในภายหลัง ขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์จำนวน 9 นัด

    พริษฐ์จึงแถลงขอให้การปฏิเสธ และปฏิเสธกระบวนการในชั้นศาลนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทําให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พริษฐ์จะให้การยอมรับในกระบวนการยุติธรรมและจะขอต่อสู้คดี พริษฐ์ยังแถลงขอถอนทนายความที่มีอยู่ทั้งสามคน โดยได้เขียนคำร้องต่อศาลความว่า

    “เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่" 

    “ข้าพเจ้ายืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการครั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากได้รับสิทธิการประกันตัวให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ก็จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม”

    ด้านทนายความจำเลยแถลงว่าเมื่อพริษฐ์ขอถอนทนายความ แต่เมื่อศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถอน จึงจะขอทําหน้าที่ทนายความต่อไป และได้เคยยื่นบัญชีระบุพยานไว้ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564  มีพยานบุคคล 4 ปาก และในวันนี้ได้เตรียมบัญชีระบุพยานไว้เพื่อยื่นเพิ่มเติม โดยมีพยานบุคคล 11 ปาก รวมทั้งหมด 15 ปาก เพื่อเป็นการรักษาสิทธิในการต่อสู้คดีของจําเลยในขณะที่ยังทําหน้าที่ทนายความ จึงขอกําหนดวันนัดในส่วนของจําเลยไว้ตามที่ได้แถลง 

    ส่วนจํานวนวันนัดของจําเลยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพยานจะมีการแถลงให้ศาลทราบ 

    ศาลพิเคราะห์ตามคําแถลงของโจทก์และข้อต่อสู้ของจําเลยแล้ว เห็นควรกําหนดนัดสืบพยานโจทก์ 9 นัด นัดสืบพยานจําเลย 5 นัด รวมทั้งหมด 14 นัด พร้อมทั้งอนุญาตให้ถอนทนายความทั้งสามออกได้

    จากนั้นฝ่ายอัยการโจทก์ได้ไปนัดหมายการสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีตัวแทนของฝ่ายจำเลย และได้กำหนดนัดเริ่มสืบพยานโจทก์คดีนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564

    การแถลงขอถอนทนายความของพริษฐ์ในวันนี้ นับเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ด้วยการร้องขอถอนทนายเป็นคดีที่ 2 ของเขา หลังแถลงครั้งแรกในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากยืนยันว่าตนไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม จึงต้องจับตาการต่อสู้คดีของจำเลย ที่ยืนยันปฏิเสธกระบวนการที่เขาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

    ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย หลังการนัดพร้อมคดี นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ได้ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้งทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยได้ยืนยันในคำร้องว่าจากการได้พบลูกชายที่ศาลในวันนี้ พบว่าสุขภาพของเพนกวินมีอาการทรุดโทรมลงอย่างมาก มีอาการหน้ามืด วิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่อาจลุกยืนเดินได้ ในฐานะมารดา เชื่อว่าสุขภาพของจำเลยอยู่ในขั้นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเพนกวินมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด อันอาจทำให้หยุดหายใจได้ 

    นางสุรีย์รัตน์ระบุว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยห้ามออกไปนอกเขตโรงพยาบาลได้ ภายในกำหนดเวลาที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย และเมื่อฟื้นตัวแล้ว ให้มารายงานตัวต่อศาล เพื่อฟังคำสั่งที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ต่อไป

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ลงนามคำสั่งโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ 

    ทั้งนี้การยื่นประกันตัวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว ทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยทุกครั้งศาลยังคงยืนยันไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำร้องของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28457)
  • เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังจากคดีความข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกรณีของพริษฐ์ ได้ยื่นขอประกันตัวทั้งในคดีชุมนุม #MobFest และคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วยหลักทรัพย์คดีละ 200,000 บาท

    บรรยากาศการยื่นประกันตัวเกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่มาติดตามสถานการณ์ที่ศาลอาญาเป็นจำนวนมาก มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และการพยายามยื่นรายชื่อผู้ลงชื่อถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง กว่า 11,035 รายชื่อ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 2 คันรถเข้ามาที่ศาลอาญา

    เวลา 16.00 น. ศาลแจ้งว่าจะยังไม่อ่านคำสั่งเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยจะอ่านคำสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลในวันพรุ่งนี้แทน หากยังมีการชุมนุมรวมตัวอยู่ในพื้นที่ศาล แต่ครอบครัวของผู้ต้องขังและประชาชนที่มารวมตัวยืนยันว่าจะปักหลักรอคำสั่งศาลต่อไป

    จนเวลา 18.00 น. เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด รวมทั้งพริษฐ์ในทั้งสองคดี ระบุเหตุในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    การยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นการยื่นประกันในคดีนี้เป็นครั้งที่ 9 สำหรับเพนกวิน ซึ่งนับว่ามากครั้งที่สุดกว่าผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ โดยเพนกวินถูกขังมาแล้ว 80 วัน อีกทั้งเพนกวินยังคงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเป็นวันที่ 45

    *******************
    คำร้องขอประกันตัวโดยสรุประบุว่า

    1. คดีนี้ศาลได้ทำการตรวจพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จากการตรวจพยานหลักฐานก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีพฤติการณ์ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
    2. ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 (หมอลำแบงค์ – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) จำเลยที่ 4 (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) และจำเลยที่ 7 (ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ พฤติการณ์และรายละเอียดข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่มีความแตกต่างกัน
    3. ศาลได้ทำการนัดตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่เพียงการสืบพยานเท่านั้น จำเลยก็ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาร่วมการพิจารณาคดีต่อสู้คดีตามกฎหมาย หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ขอโปรดกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย จำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับรองและดูแลให้จำเลยปฏิบัติตาม
    4. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
    5. ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งนายชูเกียรติ แสงวงศ์ จำเลยในคดีนี้เองก็ติดเชื้อไวรัส และผู้ต้องขังอีกจำนวนหลายคนก็ติดเชื้อเช่นเดียวกัน ทำให้จำเลยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด จึงขอศาลใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวตามแนวปฏิบัติข้างต้น หากต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศาลอาจออกหมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาไต่สวนประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจ
    6. ปัจจุบันพริษฐ์มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เกิดภาวะขับถ่ายเป็นเลือดและมีเศษบางอย่างคล้ายเนื้อเยื่อออกมาด้วย คาดว่าน่าจะเกิดจากร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหาร ถือเป็นความเจ็บป่วยรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
    7. แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องที่ ปอ 61/2564 โดยให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3 (หมอลำแบงค์) ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน” ซึ่งถ้อยคำลักษณะเดียวกันนั้นยังปรากฏในคำสั่งคำร้องที่ ปอ 62/2564 และ ปอ 63/2564 ที่ศาลได้อ่านในวันเดียวกันด้วย

    การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่ามีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า จำเลยทำจริงหรือไม่? การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่? และ จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่?

    เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29035)
  • ช่วงบ่าย ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวเพนกวินอีกครั้ง เพื่อให้เพนกวินเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาล หลังเพนกวินอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลา 46 วันแล้ว

    ต่อมา พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

    ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้นำตัวเพนกวินออกจากเรือนจำไปยัง รพ.รามาธิบดี เพื่อให้สารอาหารทางหลอดเลือด และส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร เนื่องจากเพนกวินแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าถ่ายเป็นเลือด

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ครอบครัวของเพนกวินเดินทางมายังศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวเพนกวินมาไต่สวนคำร้องขอประกันตัว หลังเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน เนื่องจากเพนกวินยังกักตัวโควิดไม่ครบ 14 วัน กรณีที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งจะครบกำหนด 14 วัน ในวันที่ 7 พ.ค. 2564

    ต่อมา เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในวันที่ 11 พ.ค. 2564 โดยอ้างว่าผลการตรวจโควิด-19 เกิดขึ้นก่อนครบกำหนดกักตัว 14 วัน จึงยังไม่เบิกตัวเพนกวินมาศาลเพื่อทำการไต่สวนในวันนี้ โดยให้รอตรวจโควิดหลังครบกักตัว 14 วัน และทราบผลการตรวจก่อน

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อการไม่เบิกตัวจำเลยหรือผู้ต้องหามาไต่สวนตำร้องขอประกันของศาลอาญา แม้กรณีที่เป็นเหตุเร่งด่วน เช่น การเจ็บป่วยของชูเกียรติ แสงวงค์ และเพนกวิน ทั้งที่หากศาลเกรงว่าจะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ศาลก็สามารถสั่งให้ไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขัง ดังเช่นกรณีการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง และคำร้องขอประกันตัว ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งล่าสุด กรณีการไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ‘ตี้’ วรรณวลี ธรรมสัตยา ของศาลอาญาธนบุรีในวันนี้ 

    ปัจจุบัน ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ รักษาตัวจากอาการป่วยที่สืบเนื่องจากการอดอาหารอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังถูกส่งตัวกลับจากโรงพยาบาลรามาฯ เมื่อเช้าวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเพนกวินอดอาหารเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมาแล้ว 53 วัน และถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 88 วัน ส่วน ‘แอมมี่’ ไชยอมร และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ ถูกขังมาแล้ว 65 และ 61 วัน ตามลำดับ 

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้เบิกตัวจำเลยมาไต่สวน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29401)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เพนกวิน ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไต่สวนคำร้องขอประกัน พร้อมกับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ซึ่งยื่นประกันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีวางเพลิงรูป ร.10 หน้าเรืองจำคลองเปรม

    บรรยากาศที่ศาลอาญา มีการวางลวดหนามบริเวณรั้วหน้าศาล ทางเข้าตั้งจุดคัดกรอง ผู้ที่มาติดต่อเรื่องคดี เจ้าหน้าที่จะให้จดชื่อและถ่ายรูปพร้อมถือบัตรประชาชนไว้ด้วย สำหรับนักข่าวเจ้าหน้าที่จะให้แยกไปลงชื่อในอีกช่อง โดยมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงและรถกระจายเสียงของตำรวจจอดประจำการอยู่ด้านในรั้วศาล

    ภายในห้องพิจารณาคดี อนุญาตให้เข้าเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยจำเลยหรือผู้ต้องหา ทนายความ อัยการ และพยานที่มาเบิกความ โดยเจ้าหน้าที่ให้ทยอยเข้าเมื่อศาลให้เบิกตัวเข้าเบิกความ

    ส่วนผู้ที่สนใจเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปที่ห้อง conference ซึ่งวันนี้จำกัดคนให้เข้าได้เพียง 15 คน คนที่เข้าห้องได้ต้องมีบัตรชั่วคราวระบุว่า “ห้อง conference” โดยมีตัวแทนสถานทูตฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, สเปน และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งผู้สื่อข่าวอีก 3 คน เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลในห้องประกอบด้วยตำรวจศาล 3 นาย มีการชี้แจงถึงระเบียบการปฏิบัติตัวขณะอยู่ในห้องด้วย

    เวลาประมาณ 12.00 น. เทวัญ รอดเจริญ และพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันของเพนกวิน มีพยานเข้าเบิกความรวมทั้งสิ้น 5 ปาก ได้แก่ เพนกวิน, พ่อ, แม่, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพนกวินนั่งรถวีลแชร์ ใส่เสื้อผู้ต้องขังสีน้ำตาลเข้มเข้ามาในห้องพิจารณา ศาลให้เพนกวินเบิกความอยู่ที่ม้านั่งด้านหลัง

    เพนกวินเบิกความตอบทนายจำเลยความว่า ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นมัธยมปลายเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดม เคยได้รับรางวัลเพชรยอดมงกุฎด้านประวัติศาสตร์ และชนะเลิศตอบปัญหารัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพทั้ง 2 ครั้ง

    ก่อนหน้าที่จะถูกดำเนินคดีในคดีนี้พยานไม่เคยต้องจำคุกในคดีอาญาใดๆ ปัจจุบันพยานพักอาศัยกับบิดามารดาซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว โดยมีบิดามารดาเป็นผู้อบรมดูแลตลอดมา

    หากศาลให้ประกันตัวพยานโดยกำหนดเงื่อนไขว่า ไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และมาตามกำหนดนัดของศาลในการพิจารณาคดีทุกครั้ง พยานยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยปัจจุบันนี้พยานได้แต่งตั้งทนายความในคดีนี้เข้ามาแล้ว

    นอกจากนี้ หากได้รับการประกันตัว พยานจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยจะเข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อีกทั้งพยานยินดีที่จะใส่ EM แต่ก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อการเดินทางไปเข้าเรียน

    พยานมีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์เฉพาะทางก็อาจถึงแก่ชีวิตได้

    เพนกวินเบิกความอีกว่า หากได้รับการประกันตัว ยินดีที่จะปฏิบัติตามที่ ดร.อดิศร จันทรสุข และบิดามารดาให้คำแนะนำ

    ต่อมาอัยการถามค้านว่า การที่จำเลยยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวว่า จะไม่กระทำการใดๆ เป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หมายรวมถึงในพื้นที่โซเชียลด้วยใช่หรือไม่ เพนกวินตอบว่า ผมไม่เคยใช้โซเชียลมีเดียทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียเลย

    แม่และพ่อของเพนกวินเข้าเบิกความต่อจากเพนกวินตามลำดับ ระบุว่า ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว มีบุตร 2 คน ก่อนหน้าที่เพนกวินจะถูกขังในคดีนี้เพนกวินอยู่กับพ่อแม่โดยพ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดู

    เพนกวินเป็นคนที่เรียนดีมาตั้งแต่เล็ก ได้ทุนการศึกษาทุกปี เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น และให้ความร่วมมือเวลาครูให้ทำสิ่งใดหรือไปแข่งขันในที่ต่างๆ ที่จะสร้างชื่อเสียงให้สถาบันการศึกษา ถ้าไม่ถูกขังในคดีนี้ ปีนี้เพนกวินจะเรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเกียรตินิยม แม่เพนกวินกล่าวว่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่มาขอให้ศาลให้ประกันตัวเพื่อให้เพนกวินได้กลับไปเรียนให้จบ

    ในฐานะของพ่อและแม่ยืนยันว่า หากศาลให้ประกันตัว จะดูแลให้เพนกวินปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันของศาล และยืนยันว่า เพนกวินจะเชื่อฟังพ่อและแม่อย่างแน่นอน

    ด้าน ดร.อดิศร จันทรสุข เบิกความว่า พยานเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหน้าที่ดูแลความประพฤติของนักศึกษา สำหรับเพนกวินเป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีมาก มีความประพฤติที่ดี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการไม่ได้ประกันตัว ทำให้ต้องหยุดพักการเรียนในภาคเรียนที่ผ่านมา จึงเหลืออีก 2 เทอมในปีหน้า ถึงจะจบการศึกษา พยานเชื่อว่าเพนกวินจะปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาล และในฐานะรองอธิการบดี พยานจะช่วยดูแลความประพฤติของเพนกวินให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

    เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าเบิกความเป็นปากสุดท้าย ระบุว่า พยานมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำและระหว่างเดินทางมาศาล ระหว่างที่เพนกวินถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพนกวินมีความประพฤติเรียบร้อย ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ไม่เคยฝ่าฝืนข้อกำหนดของเรือนจำ

    ต่อมา เวลา 18.27 น. เทวัญ รอดเจริญ และพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ มีคำสั่งให้ประกันเพนกวินในคดีนี้ และคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีประชาชนเขียนคำร้องคัดค้านการให้ประกันตัว แต่ศาลไม่ได้นำมาพิจารณา คำสั่งให้ประกันกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด  ซึ่งเป็นลักษณะกับเงื่อนไขการให้ประกันตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาคดี 112 ก่อนหน้านี้

    ทั้งนี้ ครอบครัวต้องวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    คำสั่งให้ประกันเพนกวินมีขึ้นหลังเพนกวินยื่นประกันเป็นครั้งที่ 10 โดยถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 92 วัน อดอาหารเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวรวม 57 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่งและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 11 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29555)
  • ช่วงเช้าที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจกระเป๋าผ่านเครื่องสแกนโลหะ และก่อนเข้าห้องพิจารณา พบว่ามีรั้วเหล็กสีเหลืองกั้นโถงทางเดินไว้บริเวณชั้น 7 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศาลยังได้ขอเก็บโทรศัพท์มือถือของทนายความ คู่ความ และผู้สังเกตการณ์ทุกคน

    ที่ห้องพิจารณา 703 เจ้าพนักงานตำรวจศาลอนุญาตให้เข้าเฉพาะคู่ความ ทนาย และญาติคู่ความ ส่วนผู้เข้าสังเกตการณ์ ทั้งจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และญาติพยานโจทก์ ให้เข้าฟังการสืบพยานแบบคอนเฟอเรนซ์ ที่ห้องพิจารณา 711 เนื่องจากสถานการณ์โควิด อีกทั้งก่อนเข้าห้อง 711 ต้องฝากมือถือไว้หน้าห้องเช่นกัน

    พนักงานอัยการโจทก์, พริษฐ์, ทนายจําเลย และพยานโจทก์ 2 ปาก มาศาล โดยพยานโจทก์ที่จะเข้าเบิกความในวันนี้ ได้แก่ นายวราวุธ มากมารศรี ผู้ที่เคยกล่าวหา ม. 112 กับ “มายด์” ภัสราวลี เหตุปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ใน #ม็อบ24มีนา และสุเฑพ ศิลปงาม หนึ่งในผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีนี้กับพริษฐ์ มาศาล

    เวลา 10.00 น. ศาลออกพิจารณาคดี ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากในวันกําหนดนัดสืบพยานโจทก์และจําเลย ทนายจําเลยไม่ได้ไปร่วมกําหนดวันนัดด้วย มีเพียงฝ่ายโจทก์เป็นผู้กําหนดวันนัดสืบพยานแต่ฝ่ายเดียว เพราะในนัดนั้น (18 เม.ย. 2564) จําเลยได้ขอถอนทนายจําเลย และศาลได้อนุญาต

    ดังนั้น จำเลยและทนายจึงติดว่าความที่ศาลอื่นและติดนัดพิจารณาคดีอื่นจํานวนหลายนัด ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยที่กําหนดไว้เดิม จึงมีเหตุจําเป็นทำให้ไม่สามารถเดินทางมาพิจารณาคดีที่ศาลนี้ได้

    อีกทั้ง จําเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณา และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลและต้องกักตัวเนื่องจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงทําให้ไม่สามารถปรึกษาคดีหรือเตรียมคดีเพื่อต่อสู้คดีได้ ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยที่นัดไว้เดิมทั้งหมด ส่วนโจทก์ไม่คัดค้าน

    ต่อมา เวลา 11.20 น. ศาลมีคำสั่งเลื่อน และยกเลิกนัดเดิม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันกําหนดนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยนั้น จําเลยและทนายจําเลยไม่ได้ไปกําหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความร่วมกับพนักงานอัยการโจทก์ จึงทําให้มีการนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยซ้อนกับคดีอื่น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทนายจําเลย กรณีมีเหตุอันสมควรจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีและยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยทั้งหมด

    สำหรับการนัดสืบพยาน พนักงานอัยการประสงค์จะสืบพยานโจทก์รวม 32 ปาก ใน 9 นัด กำหนดนัดในวันที่ 23-25 พ.ย. 2564, 27-28 ม.ค., 22-24 ก.พ. และ 23 มี.ค. 2565 ด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 15 ปาก และขอใช้เวลาสืบพยานจําเลยทั้งหมด 5 นัด กำหนดนัดในวันที่ 24, 25 มี.ค., 22, 29 เม.ย. และ 6 พ.ค. 2565

    ทั้งนี้ ศาลกําชับให้จําเลยและทนายจําเลยกําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยไม่ให้ซ้ำซ้อนกับคดีอื่น หากทนายจําเลยขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุที่มีกําหนดนัดคดีซ้อนกับคดีอื่นของศาลนี้หรือศาลอื่นอีก ศาลจะถือว่าจําเลยมีเจตนาประวิงคดีและจะพิจารณาเรื่องการประกันตัวจําเลยต่อไป

    ปัจจุบัน พริษฐ์ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อยถึง 20 คดี โดยมี 2 คดีที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล และอยู่ระหว่างรอสืบพยาน ได้แก่ คดีปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อ 19 ก.ย. 2563 และคดีปราศรัยในการชุมนุม #MobFest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31272)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในคดีนี้ หลังถูกศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 โดยไม่มีการไต่สวน
    รวมทั้งยื่นประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน

    เวลา 15.10 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุเหตุผลว่า คดีนี้ศาลเคยมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเหตุผลชัดแจ้งตามคำสั่งศาลฉบับลงวันที่ 16 ก.ย. 64 กรณีไม่มีเหตุใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ทำให้พริษฐ์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 79 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36989)
  • ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 15 นักกิจกรรมและประชาชน ในคดีทางการเมือง รวมทั้งพริษฐ์ในคดีนี้ด้วย

    เวลา 16.50 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ให้เหตุผลคล้ายกัน โดยในคดีนี้ระบุว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน และเหตุผลอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไม่ไปก่อเหตุอันตรายอีก”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 286/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37463)
  • บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และเจ้าหน้าที่คอยจดชื่อสกุลและเลขบัตรประชาชน สำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการภายในศาล

    ที่ห้องพิจารณา 703 ก่อนเข้าห้องพิจารณา เจ้าพนักงานตำรวจศาลแจ้งว่า ศาลอนุญาตให้เข้าเฉพาะ “คู่ความ ทนาย และญาติคู่ความ” เท่านั้นเข้าฟังในห้องพิจารณา โดยบุคคลอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ทนายแถลงต่อศาลก่อนเริ่มการพิจารณา โดยที่คดีนี้ ศาลไม่ได้สั่งให้มีการพิจารณาลับแต่อย่างใด ภายในห้องพิจารณา ไม่มีข้อกำหนดศาลภายในห้อง มีเพียงกระดาษแปะที่พนักม้าพิงว่าเป็นที่นั่งสำหรับ “ประชาชน”, จำเลย และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

    หลังทางเรือนจำได้แจ้งต่อศาลว่ามีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งตัวจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วย และยังอยู่ในระหว่างวินิจฉัยอาการที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงไม่แน่ชัดว่าจะสามารถสืบพยานในช่วงบ่ายได้หรือไม่ อัยการและทนายความจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรเลื่อนสืบพยานไปในวันพรุ่งนี้ ก่อนศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นควรให้เลื่อนไปสืบพยานไปวันถัดไปได้

    อนึ่ง ปัจจุบันพริษฐ์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทางการเมืองเป็นระยะเวลารวมกว่า 107 วันแล้วหลังไม่ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ในคดี #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณด้านหน้า บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 รวมทั้งถูกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ขณะนี้ถูกย้ายไปกักขังที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีเป็นระยะเวลา 10 วัน หลังถูกศาลธัญบุรีพิพากษาสั่งกักขังในคดีละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 จากนั้นจึงจะถูกนำตัวกลับมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38162)
  • ก่อนเริ่มพิจารณา ทนายจําเลยแถลงว่า ได้รับแจ้งจากมารดาของจําเลยว่า พริษฐ์มีอาการป่วยหอบหืดกําเริบ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย ทําให้ยังไม่สามารถเดินทางมาศาลเพื่อดําเนินกระบวนพิจารณาได้ จึงขอเลื่อนคดี

    ด้านสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจำเลยถูกกักขังอยู่ปัจจุบัน ได้มีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องการส่งตัวจําเลยเช่นกัน โดยระบุว่าจําเลยได้ของดเดินทางมาศาล เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยมีอาการหอบหืดกําเริบ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ขอพักผ่อนอยู่ในห้องขังและงดการเบิกตัวผ่านทางระบบการประชุมจอภาพ จนกว่าสุขภาพของจําเลยจะสมบูรณ์

    ศาลแจ้งต่อทนายถึงความกังวลว่า อยากให้ทนายคุยกับจำเลยหากป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถเดินทางมาศาลได้ ขอให้มา หากคดีล่าช้าไปจะเป็นผลเสียต่อตัวจำเลยเอง พร้อมทั้งอ้างคำวินิจฉัยที่ทางเรือนจำส่งมานั้น ระบุว่าอาการของจำเลยปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ

    ทนายตอบศาลว่า ในคดีอื่นจําเลยซึ่งมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่ก็เดินทางมาศาลตลอด จึงน่าเชื่อว่าในครั้งนี้จําเลยมีอาการป่วยโรคหอบหืดกําเริบจริง โดยแถลงเพิ่มเติมถึงกรณีเคยส่งหนังสือขอให้ย้ายจำเลยไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทางราชทัณฑ์ปฎิเสธ และล่าสุดได้ยื่นคำร้องขอให้แพทย์ที่จำเลยเป็นคนไข้ประจำ ไปตรวจในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ทางเรือนจำปฎิเสธเช่นเดิม

    ศาลตอบทนายว่า ศาลเข้าใจประเด็นที่ทนายห่วงลูกความและเข้าใจทางราชทัณฑ์ พร้อมทั้งระบุว่า เราไม่ใช่หมอ ต้องเชื่อหมอ เพราะหมอมีจรรยาบรรณในการรักษาผู้ป่วย

    พร้อมกันนี้ทนายจําเลยได้แถลงต่อศาลว่า ในนัดหน้าก่อนเบิกตัวจําเลยมาดําเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลขอให้เจ้าหน้าที่เรือนจําที่เกี่ยวข้องตรวจจําเลยเพื่อคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 ด้วยวิธีตรวจแบบ RT-PCR ศาลอนุญาต โดยจะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้เรือนจําทราบอีกครั้ง

    อีกทั้ง ทนายยังแจ้งต่อศาลว่าขณะนี้จำเลยยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนในเรือนจำไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง โดยทนายสอบถามศาลว่าจะสามารถออกคำสั่งให้นำจำเลยมาฉีดวัคซีนที่สั่งจองไว้ในวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ได้หรือไม่ ทั้งยังทิ้งท้ายต่อศาลว่า “นอกจากต้องรักษาคดีแล้ว ยังต้องรักษาชีวิตลูกความที่ต้องการต่อสู้คดีด้วย”

    ด้านศาลย้ำอีกครั้งว่า ศาลไม่ได้มีอำนาจทั้งการดูแลการรักษาและการจัดการวัคซีน ซึ่งเป็นของทางเรือนจำ พร้อมถามเกี่ยวกับ การติดเชื้อโควิด-19 ของจำเลยเมื่อครั้งที่แล้ว โดยกล่าวว่าคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกัน พร้อมถามทนายความจำเลยอีกคนซึ่งเคยติดเชื้อและเข้ารับการรักษามาแล้ว ด้านทนายชี้แจงว่า มีภูมิคุ้มกันขึ้นจริง แต่ก็พบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน

    หลังการพูดคุย ศาลได้สอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดี โดยทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า กรณีไม่แน่ว่าในวันพรุ่งนี้จําเลยจะอาการป่วยดีขึ้นหรือไม่ จึงขอเลื่อนคดีในวันพรุ่งนี้ด้วย

    ต่อมาเวลา 10.40 น. พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันนี้จําเลยไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากมีอาการป่วย และโจทก์ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดี กรณีมีเหตุอันสมควร ให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 ม.ค. 2565 ตามที่นัดไว้เดิม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38162)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในคดีนี้และทุกคดีของศาลอาญาที่มีหมายขัง รวมถึงยื่นประกันแกนนำ "ราษฎร" อีก 3 คนด้วย

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งเหมือนกันในทุกคำร้อง นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยให้เบิกจำเลยไต่สวนทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 286/2564 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2564)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ พริษฐ์, อานนท์, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ และทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าวันนัด ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวทั้ง 4 คน มาไต่สวนที่ศาล

    บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

    ++“เพนกวิน” แถลงอยู่ในคุกเรียนลำบาก ต้องค้นคว้าทำรายงาน หากไม่ส่งอาจไม่จบ พร้อมยินดีรับเงื่อนไขเดียวกับรุ้ง++

    เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยเริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันพริษฐ์เป็นอันดับแรก พริษฐ์เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันตนอายุ 23 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับทุกคดีที่อยู่ในชั้นศาลนั้น ตนได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ซึ่งทุกคดียังไม่มีการตัดสิน

    ส่วนเรื่องสุขภาพขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตนเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นป่วยมาโดยตลอด ทั้งยังมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดและภูมิแพ้ โดยตนถูกคุมขังมานานกว่า 4-5 เดือนแล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แต่อย่างใด

    ด้านคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตนถูกเพิกถอนประกันโดยไม่มีการไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค. 2564 เนื่องจากขณะนั้นตนอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ขณะถูกฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1

    สำหรับเหตุผลที่มีการยื่นขอประกันต่อศาลในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นนักศึกษาปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งการส่งเอกสารการเรียนต่างๆ ออกมาจากเรือนจำทำได้อย่างยากลำบาก และช่วงนี้อยู่ในช่วงสอบปลายภาค อีกทั้งยังมีรายงานที่ต้องเก็บข้อมูลและทำการค้นคว้า แต่ตนไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ รวมไปถึงต้นปี 2565 ตนต้องลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งการอยู่ในเรือนจำจะไม่สามารถจัดตารางเรียน และลงทะเบียนเรียนได้ และหากไม่ลงเรียนก็จะไม่จบตามหลักสูตร

    พริษฐ์แถลงอีกว่า หากศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนยินดีจะปฎิบัติตามเงื่อนไขเดียวกันกับที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เคยได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งย้ำว่า เพื่อให้ศาลมั่นใจว่าตนจะปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะขอให้ศาลตั้ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ตนเรียนอยู่ด้วย เป็นผู้กำกับดูแล

    ด้านอัยการโจทก์ถามค้านพริษฐ์ว่า จำได้หรือไม่ว่าหลังจากได้รับการปล่อยตัวถูกกล่าวหาอีกกี่คดี ด้านพริษฐ์ตอบว่า ไม่แน่ใจ จำไม่ได้ ก่อนถูกถามต่อว่า ทราบถึงเหตุผลที่ถูกถอนประกันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้มีการไต่สวน

    ด้านทนายถามติงว่า หากมีการไต่สวนคำร้องที่ขอเพิกถอนประกัน จำเลยจะอธิบายพฤติการณ์ที่โจทก์อ้างมาเป็นเหตุในการถอนประกันว่าอย่างไร พริษฐ์ระบุว่า จะอธิบายต่อศาลว่า สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเสื่อมเสียเพียงเพราะคำพูดของตนได้ ส่วนคดีที่ถูกฟ้องเข้ามาใหม่นั้น เป็นคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนการปล่อยตัวชั่วคราว

    จากนั้นศาลได้ถามพริษฐ์ว่า มีคดีละเมิดอำนาจศาลกี่ครั้ง ด้านพริษฐ์ตอบศาลว่า มี 2 ครั้ง คือ ที่ศาลาอาญา รัชดา และศาลจังหวัดธัญบุรี โดยคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาสั่งขัง 10 วันแล้ว

    ต่อมาเวลา 11.10 น. รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เข้าเบิกความว่า ตนรู้จักกับพริษฐ์ เนื่องจากจำเลยเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบันจำเลยลงเรียนวิชาการเมืองเปรียบเทียบที่ตนเป็นผู้สอนด้วย

    จำเลยเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูง เกรดเฉลี่ยปัจจุบันยังอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับเกียรตินิยม ตอนนี้เป็นช่วงการสอบเก็บคะแนน โดยจำเลยต้องทำงานเก็บคะแนน และต้องทำรายงานด้วย หากศาลให้ประกันยังมีเวลาพอที่พริษฐ์จะไปทำงาน ซึ่งมีกำหนดส่งวันที่ 12 ม.ค. 2565 ได้ และหากศาลตั้งตนเป็นผู้กำกับดูแล ตนก็ยินดี

    ++อนุญาตอัยการยื่นคำคัดค้าน ก่อนนัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.++

    เวลา 14.45 น. ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยทั้ง 4 คนพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

    นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน

    จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564

    อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้

    ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

    หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

    ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38980)
  • เวลา 13.30 น. ศาลได้เบิกตัวอานนท์, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ รวมทั้งจตุภัทร์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยแต่อย่างใด

    เวลา 14.10 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันทั้งหมด กรณีของ “เพนกวิน” ระบุเหตุผลว่า

    “พิเคราะห์แล้ว ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่าข้อเท็จจริงในการไต่สวนได้ความว่า หลังจากพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ จำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยศาลเคยตักเตือนจำเลยและกำชับจำเลยผ่านผู้กำกับดูแลมาแล้วหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย อีกทั้งจำเลยมีพฤติการณ์กระทำการซ้ำในทำนองเดียวกันกับการกระทำอันเป็นมูลเหตุที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องหลายคดี

    เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะและพฤติการณ์ของจำเลยในการแสดงออกหรือร่วมทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างมาก มีความรุนแรงตลอดมา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้อง หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง”

    ศาลยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอยากให้ประกันมากนะ แต่เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อปล่อยตัวออกมาแล้วก็จึงมีคำสั่งแบบนี้ ขนาดนี้วันนี้ยังมีเลย” และกล่าวต่ออีกว่า “ในชั้นนี้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ครั้งหน้าจะไม่ให้ประกันนะ”

    ++เสียงจากแม่ถึงลูก ในวันที่คงไม่ได้กลับบ้านในเทศกาลปีใหม่เช่นทุกปี++

    หลังผู้พิพากษาเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป แม่ของภาณุพงศ์ จตุภัทร์ และอานนท์ ทยอยเดินไปที่ด้านหน้าของห้องพิจารณาเพื่อสับเปลี่ยนกันพูดคุยกับลูกของตัวเองผ่านจอวิดีโอ

    แม่ของไผ่ จตุภัทร์ เดินเข้าไปพูดกับไผ่เป็นคนแรก “อดทน อดทนนะลูก อดทนๆๆๆ …” เธอพูดประโยคนี้ซ้ำๆ พลางกลั้นน้ำตาอย่างสุดความสามารถไปพร้อมกัน แต่ท้ายที่สุดเธอก็หลั่งน้ำตาแห่งความผิดหวังออกมาจนได้

    “ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ไผ่เรียนกฎหมาย ไผ่คงรู้ดี ต้องอดทนนะลูก” เธอพูดไปเอามือปาดน้ำตาที่อาบแก้มไป ก่อนจะลุกขึ้นให้แม่ของไมค์ ภาณุพงศ์ได้เข้าไปพูดต่อ

    “อีก 2 วันเจอกันนะลูก เดี๋ยวแม่มาหา” แม่ของไมค์พูดอย่างใจเย็นและเบิกยิ้มกว้าง

    “แม่ ผมฝากสั่งซื้อพิซซ่ากับเค้กเข้ามาให้พวกผมกินหน่อยนะ จะได้เอามาฉลองปีใหม่ด้วยกันข้างในนี้กับเพื่อนๆ” ไมค์บอกแม่ เพราะในเทศกาลปีใหม่นี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้จัดรายการเมนูอาหารพิเศษเพื่อให้ญาติได้สั่งให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้ อาทิ กุ้งเผาครึ่งกิโล เป็ดพะโล้ทั้งตัว สเต๊กหมู รวมถึงเมนูพิเศษที่ไมค์ร้องขออย่างพิซซ่าและเค้กช็อกโกแลต ราคาอย่างละ 300 บาทอีกด้วย

    “มันติดวันเสาร์-อาทิตย์นะลูก จะฝากเข้าไปให้ได้เหรอ” อานนท์สวนทันควันว่า “เอากับข้าวอะไรก็ได้ที่อร่อยๆ ครับแม่” “ได้เลย เดี๋ยวแม่จัดการให้ จะหาของอร่อยๆ ให้นะ” แม่ไมค์บอกกับทุกคน

    “เมอร์รี่คริตมาสต์นะทุกคน…” แม่ไมค์พูดทิ้งท้ายก่อนลุกเปลี่ยนให้แม่ของอานนท์มานั่งพูดต่อ

    แม่ของอานนท์พูดเป็นภาษาอีสานใจความว่า “คิดถึงลูกนะ ขอให้เข้มแข็ง”

    ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมจับตาผลการให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย โดยได้นัดหมายมวลชนไปรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญาเพื่อรอรับเพื่อนกลับบ้านตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และจัดกิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” โดยนัดหมายประชาชนให้เริ่มต้นเดินตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอล์ในเวลา 11.00 น. เพื่อเดินไปจนถึงศาลอาญา รัชดาฯ

    ภายหลังมวลชนเดินทางมาถึงหน้าศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.30 น. และต่อมาทราบว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย กลุ่มมวลชนได้จัดกิจกรรมพูดปราศรัยเกี่ยวกับการไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงของศาลและสถาบันตุลาการ รวมไปถึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น เผาชุดครุยผู้พิพากษา เผาหนังสือประมวลกฎหมายอาญา และขีดเขียนพ่นสีสเปรย์ที่ป้ายของศาลอาญา เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรมไทย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39156)
  • พนักงานอัยการโจทก์ จําเลย และทนายจําเลย มาศาล โจทก์นําพยานปาก กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล และกนกชัญ วงศ์วรวรรณ กลุ่ม ศปปส. ซึ่งทั้งสองเป็นพยานคู่ รู้เห็นเหตุการณ์เดียวกัน เข้าเบิกความจนจบคําซักถามของโจทก์ในช่วงเช้า และทนายจําเลยถามค้านพยานทั้งสองปากในช่วงบ่ายจนเสร็จ ระหว่างถามค้านทนายจำเลยอ้างส่งเอกสาร 2 ฉบับ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 286/2564 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2565)
  • พนักงานอัยการโจทก์ จําเลย และทนายจําเลย มาศาล โจทก์นําพยานปาก ยุทธ์ธนา เลิศพร้อม กลุ่ม ศปปส. เข้าเบิกความและทนายจําเลยถามค้านจนจบในช่วงเช้า ระหว่างถามค้านทนายจำเลยอ้างส่งเอกสาร 1 ฉบับ

    ช่วงบ่าย พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ตำรวจสืบสวนนครบาล 1 เข้าเบิกความ แต่โจทก์ยังซักถามไม่เสร็จ ศาลเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 22 ก.พ. 2565 ตามที่นัดไว้เดิม

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 286/2564 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2565)
  • อัยการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากมีความเสี่ยงติดโควิด เพราะทำงานในห้องเดียวกันกับคนติดเชื้อ ศาลอนุญาตเลื่อนจากนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 22-24 ก.พ. 2565 ไปเป็นวันที่ 23 - 25 มี.ค. 2565

    วันเดียวกันนี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ อานนท์ นำภา ในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีหมายขังทั้งหมดของศาลอาญา ในส่วนคดีของเพนกวิน มีการยื่นประกัน 8 คดี ประกอบด้วย คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 63, คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร, คดี #MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563, คดี #ม็อบ17พฤศจิกา63 ที่หน้ารัฐสภา, คดี #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb, คดีชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย, คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว และคดีปราศรัยหน้า สน. บางเขน 21 ธ.ค. 2563

    สำหรับคดีของศาลอาญาข้างต้น เพนกวินเคยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และศาลเคยให้มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาก็ยังยืนกรานไม่ให้ประกัน ‘เพนกวิน-อานนท์-ไมค์-ไผ่’ ในครั้งนั้น อ้างเหตุว่า “เกรงว่าจะกระทำผิดซ้ำ”

    การยื่นประกันในครั้งล่าสุดนี้ เพนกวินได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีของทุกศาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และพร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง รวมถึงยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทั้งยังมีคำร้องเพิ่มเติมเข้ามาว่า

    1. นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมาก ยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ในการสืบพยานโจทก์ที่ผ่านมาให้เห็นถึงความผิดของจําเลย
    2. ในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ของศาลอาญา (คดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ซึ่งมีจําเลยคนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดร่วมกันกับจําเลยทั้งสองนี้ ศาลก็ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้จํานวนหลายคน เช่น ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก โดยศาลได้กําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้จําเลยปฏิบัติตาม ก็ปรากฏว่าจําเลยเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้เคร่งครัดทุกประการ และไม่ได้ผิดเงื่อนไขของศาลเลย ซึ่งจําเลยทั้งสองก็ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือนดังเช่นจําเลยคนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้

    เวลา 16.30 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และเพนกวินในทุกคดี ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้โอกาสจําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกําหนดเวลา 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 22 พ.ค. 2565) กําหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคําสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจําเลยที่เปลี่ยนไป ตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป นอกจากนี้ กรณีครบกําหนดการปล่อยชั่วคราวโดยมีกําหนดระยะเวลาแล้ว หากจําเลยไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม เพนกวินซึ่งถูกขังมาแล้ว 198 วัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันนี้ เนื่องจากยังมีหมายขังของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งจะยื่นประกันต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 286/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • อัยการ, พริษฐ์ พร้อมทั้งทนายจำเลย เดินทางมาถึงศาล โจทก์แถลงว่าวันนี้มีพยานคือ พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี มาศาล 1 ปาก พร้อมสืบ แต่เนื่องจากในช่วงเช้าศาลติดคดีอื่น และช่วงบ่ายทนายจำเลยคิดคดีอื่น ศาลจึงให้เลื่อนคดีวันนี้ โดยให้เปลี่ยนวันนัดสืบพยานจําเลยวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค. 2565) เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่นัดไว้เดิม

    นอกจากนี้ทนายจําเลยยังได้แถลงว่า พยานปาก พ.ต.อ.นิวัตน์ เป็นพยานคู่กับพยานปาก พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ ทนายจําเลยประสงค์จะถามค้านพยานทั้งสองปากไปพร้อมกัน โดยขอให้โจทก์ซักถามพยานทั้งสองปากให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วทนายจําเลยจะถามค้านพยานทั้งสองปากต่อไป โจทก์แถลงว่า พยานทั้งสองปากไม่ได้เป็นพยานคู่ เนื่องจากขณะเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสองปากอยู่ในที่เกิดเหตุคนละจุดกัน

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากพยานทั้งสองปากรู้เห็นเหตุการณ์เดียวกัน แม้จะอยู่คนละจุด เพื่อให้โอกาสจําเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เห็นควรอนุญาตให้ทนายจําเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากพร้อมกัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565)
  • โจทก์นําพยานปาก พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ สูงโคตร เข้าสืบได้จบ 1 ปาก จากนั้นโจทก์แถลงว่า พยานปาก ร.ต.ท.เธียรวิชญ์ สู่สุข ติดโควิดไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ วันนี้โจทก์จึงมีพยานมาศาลเพียงเท่านี้ ขอเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อในวันที่ 25 มี.ค. 2565 แต่เนื่องจากวันดังกล่าวศาลก็ติดนัดพิจารณาคดีอื่น จึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อในวันที่ 22 เม.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.286/2564 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2565)
  • สืบพยานโจทก์ปาก อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้ 1 ปาก ส่วนปากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนได้ โจทก์จึงไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ ทั้งนี้ ในนัดสืบพยานวันที่ 6 พ.ค. 2565 ที่นัดไว้เดิมนั้น ศาลติดนัดคดีอื่น จึงให้เลื่อนวันสืบพยานออกไป โดยคู่ความตกลงวันนัดสืบพยานใหม่ สืบพยานโจทก์ที่เหลือในวันที่ 21 ก.ค., 25 ต.ค., 20 และ 21 ธ.ค. 2565

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์