สรุปความสำคัญ

6 ธ.ค. 2563 คณะราษฎรฝั่งธนบุรี ร่วมกันจัดการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณใกล้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ แกนนำซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนสลับกันขึ้นรถกระจายเสียงปราศรัยอย่างต่อเนื่อง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อมาภายหลังผู้ปราศรัยสามคน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี

สำหรับชูเกียรติถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 3 ขณะที่วรรณวลีถูกกล่าวหาเป็นคดีที่ 2 และธนกร เยาวชน ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนกร (สงวนนามสกุล)
    • ชูเกียรติ แสงวงค์
    • วรรณวลี ธรรมสัตยา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

11 ม.ค. 2564 เวลา 11.00 น. ที่ สน.บุปผาราม “จัสติน” หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา และธนกร (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 17 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่

ก่อนหน้านี้ชูเกียรติและธนกรได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีมีนายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ส่วนวรรณวลีไม่ได้รับหมายเรียก แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าถูกออกหมายเรียกในกรณีเดียวกันด้วย

พ.ต.ท.ปพนณัฏฐ์ สะอาดเอี่ยม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาทั้งสามว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เวลา 16.00-21.40 น. มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรฝั่งธน และฟันเฟืองธนบุรี ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ในระหว่างชุมนุม ชูเกียรติ, วรรณวลี และธนกร ต่างขึ้นปราศรัยมีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา กรณีชูเกียรติและวรรณวลี พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้เนื่องจากมาตามหมายเรียก โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไป

ขณะที่ในกรณีของธนกร ซึ่งต้องถูกแยกดำเนินคดี เนื่องจากยังเป็นเยาวชน พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว ต่อมา ศาลอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัวธนกร และให้ประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 5,000 บาท

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.บุปผาราม ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24959)

ภูมิหลัง

  • ธนกร (สงวนนามสกุล)
    นักกิจกรรม LGBTQ+ เยาวชน เพชรแทบจะไม่ได้แตกต่างไปจากเด็ก ๆ คนอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันที่เริ่มสะสมความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลผ่านการติดตามข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย ก่อนแปรเปลี่ยนจากสเตตัสเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เป็นการลงถนนครั้งแรกในฐานะผู้ชุมนุมภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และเริ่มการปราศรัยครั้งแรกในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่หน้า สน.บางเขน ในระหว่างการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทนายอานนท์และไมค์ ระยอง ตามมาด้วยการปราศรัยอีกหลายสิบเวทีนับไม่ถ้วน

    อ่านเรื่องราวของเพชรเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/23805

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์