ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.372/2564
แดง อ.869/2566

ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.372/2564
แดง อ.869/2566

ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.372/2564
แดง อ.869/2566
ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.372/2564
แดง อ.869/2566
ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

ชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา ผู้ปราศรัยใน #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงสถาบันกษัตริย์ โดยผู้ที่แจ้งความดำเนินคดีเป็นประชาชนทั่วไป คือ จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) อันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของมาตรา 112 ซึ่งใครก็สามารถกล่าวหาให้ดำเนินคดีผู้อื่นได้

หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันวรรณวลีในระหว่างพิจารณาคดี ทำให้วรรณวลีถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรีเป็นเวลา 11 วัน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ และห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยในรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุในมาตราที่ 1 ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 จําเลยที่ 1 (ชูเกียรติ) ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยขึ้นกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งเป็นบุคคลผู้เข้าร่วมชุมนุม บริเวณวงเวียนใหญ่ มีเนื้อหาคำปราศรัย เช่น กล่าวถึงเหตุการณ์การยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นของราชวงศ์ในปัจจุบัน, การที่รัฐใช้มาตรา 112 เนื่องจากกลัวว่าประชาชนจะเอาความจริงมาพูด เลยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปิดปาก ประเทศไทยแม้จะบอกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง มีการส่งมือที่ 3 เข้ามาลอบทำร้ายผู้ชุมนุม

คำปราศรัยของชูเกียรติยังกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกล่าวหาว่า การแต่งกายของเขานั้นเข้าข่ายหมิ่นฯ ทั้งๆ ที่เป็นการแต่งกายเลียนแบบนักร้องในต่างประเทศ และคำปราศรัยที่กล่าวถึงภาวะของสถาบันกษัตริย์ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ และพูดถึงความจำเป็นที่ผู้ชุมนุมต้องออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการใช้อำนาจหลายอย่างที่เกินขอบเขต แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นๆ

ในส่วนของวรรณวลี (จำเลยที่ 2) ได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ทรงมีอำนาจที่จะชี้นำกองทัพและมีส่วนในการเซ็นรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี

การกระทำของทั้งสองมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง มีเจตนาที่จะทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ 372/2564 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 11.00 น. ที่ สน.บุปผาราม “จัสติน” หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมกลุ่มคณะราษฎร, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังชูเกียรติได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ส่วนวรรณวลีไม่ได้รับหมายเรียก แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าถูกออกหมายเรียกเช่นเดียวกัน

    พ.ต.ท.ปพนณัฏฐ์ สะอาดเอี่ยม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้บรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เวลา 16.00-21.40 น. มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรฝั่งธน และฟันเฟืองธนบุรี ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ในระหว่างชุมนุม ชูเกียรติ, วรรณวลี และธนกร ต่างขึ้นปราศรัยมีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    ทั้งชูเกียรติและวรรณวลี ต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวไว้เนื่องจากมาตามหมายเรียก โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไป

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.บุปผาราม ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24959)
  • เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนนัดชูเกียรติและวรรณวลี ส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 จากนั้น พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 เม.ย. 2564 เวลา 09.30 น.
  • ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 วรรณวลีเดินทางมาฟังคำสั่งอัยการตามนัดหมาย ขณะที่ชูเกียรติถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในอีกคดีหนึ่ง และอยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังพบว่าติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้เดินทางมาด้วย

    พนักงานอัยการแจ้งวรรณวลีว่า อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีชูเกียรติและวรรณวลี ก่อนพาตัววรรณวลีไปที่ศาลอาญาธนบุรี และเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่ห้องเวรชี้ ระหว่างที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

    ศาลอาญาธนบุรีได้รับฟ้องไว้ แต่ให้เลื่อนอ่านฟ้องและสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น. เนื่องจากจำเลยที่ 1 คือชูเกียรติ ยังไม่ได้ถูกนำตัวมาศาล

    ทั้งนี้ คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุในตอนท้ายว่า หากจำเลยทั้งสองขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยของศาลอาญาในคดีที่มีความผิดฐานเดียวกันและมีคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเดียวกันนี้โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจำเลยทั้ง 2 จะหลบหนี

    ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลี โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว และจำเลยที่ 2 ที่ถูกกล่าวหายังอยู่ระหว่างการสอบสวนในข้อหาความผิดเดียวกับคดีนี้อีก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” ลงนามโดยนายวิระพล เทียนขก

    ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว วรรณวลีได้ถูกนำตัวไปยังทัณฑสถานหญิงธนบุรีเพื่อคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีทันที

    ++คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว: จำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ไม่คิดหลบหนี การคุมขังจำเลยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสในเรือนจำ++

    คำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวของวรรณวลี ระบุเหตุผลดังต่อไปนี้

    1. จำเลยที่ 2 ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา มีภาระทางการศึกษาที่ต้องรับผิดชอบ หากจำเลยถูกฝากขัง จะกระทบกับการเรียนของจำเลยอย่างร้ายแรง
    2. จำเลยให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนและอัยการเป็นอย่างดี เดินทางมาตามที่เจ้าพนักงานนัดหมายทุกครั้งที่ได้รับหมายเรียก ไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น คดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและมีความประสงค์ที่จะสู้คดีต่อไปอย่างเต็มที่
    3. จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ปัจจุบันจำเลยมีอายุ 21 ปี เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับพยานเอกสาร พยานวัตถุและพยานบุคคลก็อยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งหมดแล้ว
    4. จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อเหตุอันตรายอื่นใด ทั้งจำเลยยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ประกอบกับคดีนี้ยังมีการวางหลักประกันที่น่าเชื่อถือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ของศาล ดังนั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด
    5. นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในสถานที่คุมขังหรือเรือนจํา การปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ข้อ 7 กําหนดว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจําอันอาจนําไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ผู้ต้องหาหรือจําเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจําเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกําหนดเงื่อนไขก็ได้
    คดีนี้โจทก์เพียงยื่นฟ้องจําเลยต่อศาล ยังไม่ได้สืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของจําเลย หากขังจําเลยไว้ระหว่างพิจารณา จําเลยย่อมได้รับความเดือดร้อน

    (อ้างอิง: คำฟ้องและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ 372/2564 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28913)
  • ศาลอาญาธนบุรีนัดอ่านฟ้องและสอบคำให้การ ชูเกียรติและวรรณวลีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำ ทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลกำหนดวันนัดต่อไป เป็นนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 25 พ.ค. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ที่ศาลอาญาธนบุรี ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลีเป็นครั้งที่ 2

    เวลา 13.00 น. ศาลมีคำสั่งให้เบิกตัววรรณวลีมาไต่สวนคำร้องขอประกันตัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากทัณฑสถานหญิงธนบุรี โดยในระหว่างการไต่สวน วรรณวลีได้แถลงรับเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับแกนนำกลุ่มราษฎร ในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร คือ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งชี้แจงว่า ตนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทั้งนี้ อัยการโจทก์ไม่ได้แถลงคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว

    ต่อมาเวลา 16.05 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลทุกนัด

    จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้วรรณวลีจะได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงธนบุรี หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 รวมระยะเวลาทั้งหมด 11 วัน และได้ยื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 2 ครั้ง รวมทั้งอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวเป็นเวลา 5 วัน

    ทั้งนี้ เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลีของศาลอาญาธนบุรีมีลักษณะเช่นเดียวกันกับเงื่อนไขที่ศาลอาญาให้ประกันตัว “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยกำหนดให้จำเลย “ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย” เพิ่มมาจากกรณีของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ 372/2564 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2564, https://tlhr2014.com/archives/29389 และ https://tlhr2014.com/archives/29173)
  • เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งก่อนวันนัดว่า ศาลให้เลื่อนนัดคุ้มครองสิทธิไปเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งชูเกียรติถูกขังอยู่ในคดีอื่น ทำให้เรือนจำงดการเบิกตัวผู้ต้องขังไปศาล
  • เวลา 10.00 น. ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันชูเกียรติต่อศาลอาญาธนบุรี โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังวานนี้ ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีตามมาตรา 112 ของศาลอาญา

    คำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ระบุเหตุผลว่า ชูเกียรตินั้นมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จำเลยยังถือว่าเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด

    อีกทั้งวานนี้ ศาลอาญา รัชดาได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอประกันในคดีมาตรา 112 และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกำหนดเงื่อนไข และแต่งตั้งให้ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ให้เป็นผู้กำกับดูแล หากศาลจะกำหนดเงื่อนไข ขอให้ถือเอาคำให้การของชูเกียรติในคดีดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า จำเลยจะยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนี้เช่นกัน

    นอกจากนี้ คำร้องยังยกเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของชูเกียรติ และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ชูเกียรติ เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว

    ต่อมา เวลา 13.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ชูเกียรติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกับในคดีของศาลอาญา ได้แก่ ห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลตามนัดที่กำหนดโดยเคร่งครัด

    ศาลยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด หากพบพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเป็นการผิดเงื่อนไขให้รายงานศาลโดยเร็ว

    ศาลนัดคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 6 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ ภายในเย็นนี้ ชูเกียรติจะได้รับปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกขังเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 72 วัน หากนับการถูกขังระหว่างพิจารณาของคดีนี้นับตั้งแต่ศาลรับฟ้อง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 จะนับเป็นเวลารวม 37 วัน

    หลังจากการปล่อยตัวของชูเกียรติ ยังคงมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองระหว่างต่อสู้คดีอีก 2 รายที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ได้แก่ แซม สาแมท และศุภากร (สงวนนามสกุล) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รายงานของกรมราชทัณฑ์สถานการณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะสมรวมกว่า 1,802 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,964 คน

    จนถึงปัจจุบัน ชูเกียรติถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้ว รวมทั้งสิ้น 12 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 ถึง 4 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ 372/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30443)
  • ชูเกียรติพร้อมทนายความเดินทางมาศาล ขณะที่วรรณวลีไม่ได้เดินทางมาศาล เนื่องจากมีอาการป่วย โดยศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ชูเกียรติยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมในนัดหน้า คือในนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งศาลกำหนดนัดไว้ในวันที่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    ทนายจำเลยยังได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 ก.ค. 64 ขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลี ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดี

    พนักงานอัยการระบุว่า ในการประกันตัว ศาลได้กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยที่ 2 กระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

    แต่อัยการได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 เวลาประมาณ 17.00 - 20.30 น. จำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมในกิจกรรมชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่ มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 700 คน การบริหารจัดการผู้ร่วมชุมนุมแออัดใกล้ชิด ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยวรรณวลีได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกฎหมายมาตรา 112 อันเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัว อัยการจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2

    ทั้งนี้ อัยการยังได้ส่งบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยในการชุมนุมวันดังกล่าว ซึ่งถอดโดย พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ประกอบการพิจารณาของศาลด้วย

    แต่เนื่องจากวรรณวลีไม่ได้มาศาลในวันนี้ ศาลจึงเลื่อนไปไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวของอัยการดังกล่าว ในวันเดียวกับวันนัดตรวจพยานหลักฐาน คือ วันที่ 12 ก.ค. 2564

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ศาลได้แจ้งเลื่อนนัดพร้อมและไต่สวนถอนประกันวรรณวลีไปเป็นวันที่ 21 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.372/2564 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564, คำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ 372/2564 ลงวันที่ 2 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31795)

  • เวลา 10.00 น. ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน พร้อมทั้งนัดไต่สวนคำร้องที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 ขอให้ศาลเพิกถอนประกันวรรณวลี โดยอ้างเหตุว่า วรรณวลีได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน”

    ที่ห้องพิจารณาคดี 6 ชูเกียรติ พร้อมกับพี่สาว วรรณวลีและเพื่อน ผู้ร่วมมาให้กำลังใจ เดินทางมาถึง ขณะที่ในวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตสวีเดนเดินทางมาสังเกตการณ์การไต่สวนด้วย แต่เจ้าหน้าที่หน้าศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเข้าห้องพิจารณาคดีเท่านั้น ทำให้ตัวแทนสถานทูตไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีได้

    ทนายความได้ยื่นคำให้การของ ชูเกียรติ (จำเลยที่ 1) และวรรณวลี (จำเลยที่ 2) โดยทั้งสองให้การปฏิเสธ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า สิ่งที่ทั้งสองปราศรัยนั้นไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ด้านโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยาน และแถลงขอสืบพยานบุคคลทั้งหมด 11 ปาก ขณะที่ทนายจำเลยแถลงขอนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก โดยศาลได้กำหนดให้สืบพยานโจทก์ทั้งหมด 3 นัด และสืบพยานจำเลย 2 นัด ในวันที่ 8-10 ก.พ. และ 18, 22 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

    หลังเสร็จกระบวนการสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้เริ่มไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันวรรณวลี ทนายจำเลยแถลงว่า วรรณวลีได้ปราศรัยในการชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 จริง แต่คำถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลีที่พนักงานสอบสวนได้นำมายื่นประกอบคำร้องนั้นมีข้อความบางส่วนไม่ถูกต้อง เช่น “ที่มึงเย็ดเด็กอายุสิบสี่” แต่ความเป็นจริงแล้ววรรณวลีพูดว่า “ยัดเด็กอายุสิบสี่” เท่านั้น นอกจากนี้ วรรณวลียังเผยอีกว่า ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

    ด้านโจทก์ได้แถลงว่าที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันตัววรรณวลีต่อศาลนั้น เป็นเพราะพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้มีหนังสือถึงพนักงานอัยการ โดยในวันนี้ ร.ต.อ. วสันต์ดิลก คำโสภา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.บุปผาราม ได้เดินทางมาศาลเพื่อให้ปากคำด้วย

    ร.ต.อ.วสันต์ดิลก เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มีหนังสือถึงอัยการขอให้ยื่นคำร้องขอถอนประกันวรรณวลีต่อศาล สำหรับบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลีนั้นผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ถอดเทป และ ร.ต.อ.วสันต์ดิลก ไม่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมในวันดังกล่าว และหลังจากการชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ก็ไม่ทราบว่า วรรณวลีได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ใดอีก

    ด้านวรรณวลีเบิกความตอบศาลว่า ตนได้ปราศรัยตามข้อความในบันทึกถอดเทปว่า “แล้วหนูใส่เสื้อเหลืองแล้วเดินไปถวายตัวเองกับกษัตริย์ หนูก็จะไม่โดนคดี” จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองเท่านั้น

    ทั้งนี้ วรรณวลีได้รับต่อศาลว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจะไม่กล่าวถ้อยคำหรือกระทำการใด อันเป็นลักษณะดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

    ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน ใจความว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าวรรณวลีได้กระทำผิดเงื่อนไขของสัญญาประกันซ้ำอีก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้โอกาสวรรณวลีต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ศาลจึงได้กล่าวตักเตือนให้วรรณวลีปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด

    จากคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน ทำให้วรรณวลียังคงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี หลังเสร็จการไต่สวน วรรณวลีเผยความรู้สึกว่า ก่อนศาลมีคำสั่งไม่ถอนประกัน ตนได้เผื่อใจไว้แล้วอาจต้องเข้าเรือนจำ แม้จะคาดหวังลึกๆ ว่าจะได้รับการปล่อยตัว

    “พอศาลมีคำสั่งไม่ถอนประกัน รู้สึกดีใจมากเลย เหมือนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนไต่สวน ศาลได้ยกประโยคที่ว่า ‘แล้วหนูใส่เสื้อเหลืองแล้วเดินไปถวายตัวเองกับกษัตริย์ หนูก็จะไม่โดนคดี’ มาแล้วบอกว่า ประโยคนี้เข้าข่ายหมิ่นประมาทนะ แล้วบอกให้ทนายคุยกับลูกความ ก่อนท่านเดินลงจากบัลลังก์ไป และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลว่า ไม่ให้เราออกจากห้องพิจารณา"

    “เราคุยกับทนาย เราบอกว่า เราไม่ได้หมิ่น เราพูดถึงกลุ่มเสื้อเหลือง ทนายเลยบอกให้เราอธิบายให้ศาลฟัง พอเราอธิบายศาลว่า จริงๆ แล้วมันไม่หมิ่นกษัตริย์เลย ประโยคนี้เราพูดถึงกลุ่มคนเสื้อเหลือง เรากำลังเปรียบเทียบถึงกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เขารักสถาบันกษัตริย์ หรือโหนสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันดูแย่ลง ไม่ได้บอกว่ากษัตริย์ใส่เสื้อเหลือง ศาลเขาก็รับฟังและพิจารณา”

    “จริงๆ แล้วคำปราศรัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถอดเทปมามีส่วนที่ผิดเยอะมาก บางส่วนที่ถอดผิดเหมือนทำให้เราถูกกล่าวหาว่า นอกจากหมิ่นกษัตริย์แล้ว ยังไปกล่าวหาว่าไปว่าคนอื่นด้วย เช่น ตอนปราศรัยเราพูดถึง แน่งน้อย อัศวกิตติกร ที่แจ้งความเด็กอายุ 14 ปี แต่เจ้าหน้าที่ถอดเทปเป็นคำที่แปลว่ามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเราไม่พูดคำนี้ในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ”

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.372/2564 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35447)
  • การพิจารณาคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 16 ชั้น 4 สำหรับการสืบพยานวันแรก “ชูเกียรติ-วรรณวลี” ได้มาปรากฎตัวที่ห้องพิจารณา พร้อมกับทนายความ ในขณะเดียวกันสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) จำนวน 3-4 คน ก็มาร่วมเข้าฟังการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามตำรวจศาลไม่อนุญาตให้สมาชิก ศปปส. เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในขณะนั้น การสืบพยานจึงมีเพียงคู่ความในคดีเท่านั้นที่อยู่ในห้องพิจารณาได้

    สำหรับการพิจารณาคดีนี้ใช้เวลามากกว่า 1 ปี กว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้น เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งในช่วงเดือน ก.ค. 2565 ในนัดสืบพยานโจทก์ วรรณวลีมีอาการป่วย จนต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ทำให้การพิจารณาคดีเลื่อนออกมา

    อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 9 ปาก ประกอบด้วย จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหา, นักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่ได้ยินคำปราศรัยรวม 5 ปาก และตำรวจฝ่ายต่าง ๆ อีก 3 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสอง และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

    เกี่ยวกับประเด็นข้อต่อสู้ อัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การกระทำของทั้งสองไม่ใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจใส่ร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ การปราศรัยดังกล่าวสื่อถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และการออกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหาร สภาที่มาจากการรัฐประหาร ที่มีการออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์จนอาจเกินขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ รวมไปถึงชวนถกเถียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ยังไร้ข้อสรุป

    ++ผู้กล่าวหาอดีตแกนนำ ศปปส. เบิกความการปราศรัยของจำเลยทั้งสองจาบจ้วงสถาบันฯ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

    จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว อดีตแกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 พยานตรวจพบคลิปวิดีโอในยูทูบซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ คลิปดังกล่าวเป็นการชุมนุมปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ขึ้นปราศัยจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันกษัตริย์

    พยานจึงได้โหลดคลิปชุมนุมดังกล่าวใส่แผ่นดีวีดีแล้วนำไปแจ้งความ โดยเนื้อหาคำปราศรัยของชูเกียรติได้กล่าวในลักษณะโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าใช้อำนาจเกิดขอบเขต ไม่โปร่งใส และตรวจสอบไม่ได้ซึ่งเป็นการใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10

    ในส่วนของวรรณวลีได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย และใส่ร้ายว่าทรงมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร ซึ่งการปราศัยดังกล่าวไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน จักรพงศ์เบิกความโดยสรุปว่า ตนเคยเป็นอดีตแกนนำกลุ่ม ศปปส. ช่วงปี 2563-2564 ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นโฆษกพรรคไทยภักดี

    พยานรับว่า เคยมีการร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลต่างๆ ในข้อหามาตรา 112 ตามที่เห็นว่ามีการแสดงความคิดเห็นจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มคณะราษฎรที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา

    ในปี 2557 พยานเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ที่เวทีแจ้งวัฒนะ แต่ไม่เคยไปขัดขวางการเลือกตั้ง โดยส่วนตัวพยานเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งที่ผ่านมา

    ที่ผ่านมาพยานทราบว่ามีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หลายฉบับ เช่น การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, การโอนย้ายกำลังพลส่วนพระองค์ รวมถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านการลงประชามติแล้ว

    อีกทั้งพยานทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระประสงค์ไม่ให้ใช้มาตรา 112 พร่ำเพื่อ แต่ภายหลังในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ทำให้ตนตัดสินใจมาแจ้งความมาตรา 112 กับผู้ชุมนุม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • ++พยานนักวิชาการให้ความเห็น การปราศรัยของจำเลยบิดเบือนประวัติศาสตร์-ดูหมิ่นใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10

    พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ เบิกความว่า เคยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ในกองทัพเรือ มีหน้าที่อบรมศีลธรรมในกองทัพเรือ ปัจจุบันเกษียณแล้ว

    เกี่ยวกับคดี พนักงานสอบสวนได้ถอดเทปคำปราศัยของจำเลยทั้งสอง แล้วส่งให้พยานเพื่อขอความเห็น โดยพยานเห็นว่าข้อความปราศรัยของชูเกียรติข้อความแรกที่ปราศรัยว่า “นายด้วงแย่งอำนาจพระเจ้าตากมา” ประชาชนย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 1 แย่งอำนาจพระเจ้าตากมา ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ ในส่วนข้อความที่กล่าวถึงการค้ายาเสพติดในประเทศไทย เมื่ออ่านแล้วทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

    ส่วนของวรรณวลีที่ปราศรัยเรื่องจอมทัพไทย คำว่า “จอมทัพไทย” หมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตามระเบียบประเพณีแล้วพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ถ้อยคำปราศรัยจึงมีนัยยะสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    วิฆนาย ดีสุวรรณ อาจารย์สอนภาษาไทย เบิกความว่า จบการศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ในตำแหน่ง อาจารย์ภาษาไทย มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานวิจัยเรื่องความเข้าใจคำผวนของเด็กไทย และบทความวิชาการเรื่อง การเจริญอานาปานสติที่มีต่อผลสัมฤทธิ์แห่งการปฏิบัติธรรม อันนำความพัฒนายั่งยืนสู่มหาชน

    ในคดีนี้พยานได้รับการติดต่อมาจากพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เพื่อให้ความเห็นด้านภาษา โดยพนักงานสอบสวนได้ให้ดูวิดีโอการปราศรัยของจำเลย และให้อ่านคำถอดเทปจากคำปราศรัยดังกล่าว

    การปราศรัยของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เรื่องกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพยานได้ให้ความเห็นใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความหมายประจำรูปศัพท์, ความหมายตามบริบท และความหมายเฉพาะตัว

    พยานเห็นว่า ลักษณะของคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เป็นการโน้มน้าวและให้ข้อมูลบางส่วน หากผู้ฟังไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาจคล้อยตามได้ง่าย เนื่องจากผู้คนในอดีตไม่ได้จดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งข้อมูลตามประวัติศาสตร์ล้วนบันทึกขึ้นภายหลังจากคนใกล้ชิดที่แวดล้อม และล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า การครองราชย์ของรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรีไม่ใช่การปล้นชิงตำแหน่งจากพระเจ้าตากสิน แต่เป็นเพราะความวุ่นวายในปลายรัชสมัยของพระเจ้าตากสิน และการปราบดาภิเษกก็มีการทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว จากคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าการครองราชย์ของรัชกาลที่ 1 ไม่มีความชอบธรรม มีการอ้างถึงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 10 เป็นหลัก

    จำเลยที่ 1 มีการกล่าวอ้างเป็นรายพระองค์ เช่น รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีการกล่าวอ้างโดยรวม เช่น คำว่า ราชวงศ์จักรีหรือครอบครัว คำปราศรัยโดยรวมพูดด้วยถ้อยคำที่สนุกและสะใจ การตีความจึงเป็นไปในทิศทางที่รู้สึกไม่ชอบและรู้สึกไม่พอใจ

    ส่วนจำเลยที่ 2 ข้อความปราศรัยหนักไปที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยใช้รัฐบาลเป็นตัวพาดพิง เนื้อหาโดยรวมสอดคล้องกับจำเลยที่ 1 เช่น ปราศรัยในทำนองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และมีการใช้ถ้อยคำที่มีความรุนแรง ซึ่งแสดงถึงความเกลียดชัง

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน วิฆนายเบิกความว่า ไม่เคยไปฟังการปราศรัยในที่ชุมนุมหรือดูการถ่ายทอดชุมนุมในคดีนี้ พยานไม่ทราบว่าผู้จัดการชุมนุมมีการจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณพระเจ้าตากสินเพื่อปราบเผด็จการ และพยานไม่ทราบว่าประเด็นชุมนุมปราศรัยในคดีนี้ คือ “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ”

    พยานเห็นด้วยว่า การปราศรัยบางส่วนของจำเลยมีการโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย ถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ

    ในส่วนของคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 พยานได้ดูคลิปวิดีโอการปราศรัยก่อน แล้วจึงค่อยดูถอดเทปคำปราศรัยภายหลัง จากนั้นจึงได้ให้ความเห็นว่าข้อความใดบ้างที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท โดยพยานเห็นว่ามีประมาณ 6-8 ข้อความด้วยกัน

    พยานเห็นว่า ไม่มีข้อความส่วนใดที่มีการระบุหรือเอ่ยถึงพระนามโดยตรง ข้อความปราศรัยไม่ชัดเจนคลุมเครือ จึงต้องอาศัยการตีความ แต่โดยบริบทแล้วไม่จำเป็นต้องตีความ แต่ถ้าอ่านแบบผ่าน ๆ ไม่ตั้งใจอ่าน จะต้องตีความ โดยเห็นว่าไม่สามารถตีความต่างกันได้ เพราะเป็นการพูดเรื่องเดียวกัน อ่านซ้ำก็เข้าใจแบบเดิม

    พยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเล่นว่า “จัสติน” เพราะแต่งกายชุดครอปท็อปคล้ายจัสติน บีเบอร์ ทนายจึงให้พยานดูเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแฟชั่นชุดครอปท็อป

    นอกจากนี้ พยานเห็นว่าประวัติศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชสมัยของพระเจ้าตากสินสู่รัชกาลที่ 1 นั้น ในแวดวงวิชาการยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แนวคิดอื่น ๆ นอกจากที่พยานเบิกความไปนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ

    พยานยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ตีความจากคำปราศรัยของจำเลย แต่เป็นการอ่านและเชื่อมโยงกับบริบทของเนื้อหาที่จำเลยปราศรัยอยู่ก่อนหน้านั้น แม้คำฟ้องอัยการจะยกคำปราศรัยของจำเลยมาเพียงบางส่วน แต่เวลาพยานจะให้ความเห็น พยานได้อ่านคำปราศรัยทั้งหมด

    พยานเห็นด้วยว่า จำเลยที่ 1 พูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้มีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วยว่าประมุขของต่างประเทศ สามารถถูกตรวจสอบได้และเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่า “ปฏิรูป” หมายถึง เปลี่ยนแปลงจากเดิม มีความหมายเป็นกลาง ไม่ได้มีความหมายว่าทำให้ดีขึ้นจากเดิม

    ต่อมา ในส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 พยานเห็นด้วยว่า “ตำแหน่งจอมทัพไทย” หมายถึง พระมหากษัตริย์ เมื่อมีการแต่งตั้งทหารต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เคยเป็นผู้บังคับบัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) มาก่อนและเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ในปี 2557 แต่พยานไม่ทราบว่า คสช. มีการยับยั้งการใช้รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนมาใช้ฉบับชั่วคราว

    ยุทธศักดิ์ ดีอร่าม เบิกความว่า จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในด้านกฎหมายมหาชน ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี โดยทำงานมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว

    พยานเห็นว่าประเทศไทยนั้นปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คดีนี้พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า สน.บุปผาราม ต้องการขอความเห็นด้านวิชาการ จากนั้นมีพนักงานสอบสวนโทรมานัดหมายให้ไปให้การที่ สน.บุปผาราม ในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 โดยได้ดูเทปวิดีโอและคำถอดเทปการปราศรัยของจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ ซึ่งโดยรวมพยานให้ความเห็นว่าจำเลยทั้งสองปราศรัยดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และในหลวงรัชกาลที่ 10

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ยุทธศักดิ์เบิกความว่า พยานไม่ได้เข้าร่วมฟังการปราศรัยในวันเกิดเหตุด้วยและไม่ทราบหัวข้อในวันปราศรัยว่าเป็นเรื่องอะไร ขณะเข้าพบพนักงานสอบสวน ได้ดูคำถอดเทปของจำเลยทั้งสองคนแล้วพยานจึงให้ความเห็นไป

    จำเลยไม่ทราบว่าชูเกียรติได้ปราศรัยโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ เพราะพยานได้ดูเฉพาะข้อความที่ให้ความเห็นเท่านั้น ไม่ได้ดูข้อความอื่น ๆ

    พยานเห็นด้วยว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองไม่ได้เอ่ยถึงพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็สามารถใช้วิธีแปลความหมายด้วยการอนุมานได้ ไม่ต้องใช้การตีความเนื่องจากข้อความชัดเจนอยู่แล้ว การจะอนุมานได้อาจขึ้นอยู่กับแต่ละคนต่างกันไป แต่มีส่วนน้อยมากที่จะอนุมานต่างออกไปจากพยาน

    พยานไม่ทราบว่า มีข้อกฎหมายระบุไว้ว่า ข้อความที่ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงให้ใช้เป็นการตีความ

    ในหัวข้อที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่า “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ พยานไม่ทราบว่า ตามประวัติศาสตร์มีการพูดถึงในหลวงรัชกาลที่ 1 ว่าได้สังหารพระเจ้าตากสินมหาราช รู้เพียงแต่ว่าเกิดเหตุจลาจลจนพระเจ้าตากถูกสำเร็จโทษ

    พยานพอจะทราบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลายฉบับ พยานเห็นด้วยว่า เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติจะบังคับใช้กฎหมายใดจะต้องให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยก่อน และทราบว่าภายหลังรัฐประหาร 2557 พลเอกประยุทธ์ยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น และได้เปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • สืบพยานโจทก์วันที่ 3 lวรรณวลีมาศาล แต่ชูเกียรติ จำเลยที่ 1 ไม่ได้มา ทนายจําเลยที่ 1 แถลงประกอบคําร้องขอเลื่อนคดีพร้อมใบรับรองแพทย์ที่แนบว่า ภายหลังจากที่ชูเกียรติท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษเมื่อวานนี้ ช่วงเช้าวันนี้ก็ยังคงมีอาการอ่อนเพลียไม่สามารถมาศาลได้ จึงขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาไปก่อน

    ทนายจําเลยที่ 2 แถลงว่า เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายแทนทนายจําเลยทั้งสอง และในวันนัดสืบพยานจําเลยในวันที่ 18 และ 22 ก.พ. 2565 ติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว จึงขอให้ศาลยกเลิกนัดสืบพยานทั้งสองวันดังกล่าวด้วย

    โจทก์แถลงว่า โจทก์ยังเหลือพยานที่จะต้องสืบอีก 9 ปาก ขอให้ศาลกําหนดวันนัดใหม่ 3 นัด เนื่องจากฝ่ายจําเลยทั้งสองมีคําถามค้านพยานโจทก์ค่อนข้างมาก ส่วนทนายจําเลยทั้งสองยังคงติดใจสืบพยานจําเลยรวม 2 นัดเช่นเดิม

    ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดี และยกเลิกวันนัดสืบพยานที่เหลือ กําหนดนัดสืบพยานโจทก์อีกในวันที่ 19, 20 และ 26 ก.ค. 2565 สืบพยานจำเลยในวันที่ 27 ก.ค. และ 2 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.372/2564 ลงวันที่ 10 ก.พ. 2565)
  • ++ประชาชนทั่วไปให้ความเห็นถ้อยคำปราศรัยใส่ร้าย-หมิ่นประมาทในหลวง ร.10 กระทบจิตใจคนไทย

    มะลิวัลย์ สุวรรณาพิสิทธิ์ เจ้าของกิจการร้านถ่ายรูป เกี่ยวข้องกับคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 พยานได้ไปส่งป้ายโฆษณาให้กับ สน.บุปผาราม ตำรวจจึงได้เรียกพยานมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปราศรัยในคดีนี้

    หลังพยานอ่านถ้อยคำปราศรัยแล้วพบว่าข้อความดังกล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์ทำนองว่าในหลวงรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ปล้นอำนาจพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งกระทบกับในหลวงรัชกาลที่ 1-10 เพราะล้วนเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรี

    นอกจากนี้ พยานเบิกความว่าในฐานะที่เป็นประชาชนเติบโตอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้รู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด

    เท่าที่ทราบคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีการสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และก้าวล่วงเรื่องการแต่งกาย อันเป็นการว่าร้ายสถาบันฯ และไม่น่าจะเป็นความจริงแต่อย่างใด ด้านคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ก็มีการพูดในลักษณะว่า ในหลวงเป็นจอมทัพไทยมีอำนาจทางการทหาร ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพไทย รวมไปถึงใส่ร้ายว่าพระองค์ขยายขอบเขตพระราชอำนาจ

    หลังพูดคุยกับเจ้าพนักงานแล้ว พยานได้ให้การไว้ทั้งในชั้นสอบสวนจนมาถึงชั้นศาล

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน มะลิวัลย์เบิกความโดยสรุปว่า ตนไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. หรือองค์กรอื่นแต่อย่างใด ทั้งนี้ พยานได้ทำธุรกิจกับ สน.บุปผาราม มา 1 ปี และนี่เป็นคดี 112 คดีแรกที่พยานมาให้การในชั้นศาล

    ในความรู้สึกส่วนตัวของพยาน พยานรู้สึกไม่ดีในฐานะประชาชนคนไทยที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่ชอบให้คนก้าวล่วงหรือล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ แม้พยานจะทราบว่าการชุมนุมปี 2563 เป็นการชุมนุมเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

    พยานรับว่าไม่ได้ไปอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ได้ดูคลิปกับข้อความปราศรัยย้อนหลังที่พนักงานสอบสวนเปิดให้ดู อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดการชุมนุมและปราศรัยเรื่องอะไร ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินมหาราชที่ถูกยึดอำนาจ

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในการปราศรัยมีการกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน แต่ไม่ได้ระบุว่าพูดถึงบุคคลใด ซึ่งการจะตีความว่าเป็นบุคคลใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละคน พยานรับว่า ใช่

    ทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้ที่จะเอากฎหมายมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ คือฝ่ายบริหารใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องจอมทัพไทยนั้น พยานทราบว่าหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

    วิไลวรรณ วงศ์วิสุทธิศิลป์ ประกอบอาชีพค้าขาย เกี่ยวกับคดีนี้ ตำรวจจาก สน.บุปผาราม ได้มาขอความเห็นพยานในเรื่องมาตรา 112 เนื่องจากตนไปทำธุระส่วนตัวที่สถานีตำรวจเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563

    พยานได้อ่านข้อความปราศรัยของจำเลยทั้งสอง เห็นว่ามีการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พูดถึงราชวงศ์ในลักษณะใส่ร้ายว่ามีการปล้นอำนาจ ออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน วิไลวรรณเบิกความว่าตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การปราศรัยในม็อบดังกล่าว แม้พยานจะไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แต่หากมีใครพูดพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ก็จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการหมิ่นประมาท พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมช่วงปี 2563 จะพูดถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แต่พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มคณะราษฎร ทั้งนี้ พยานไม่เคยเป็นพยานในคดีมาตรา 112 มาก่อน

    พยานรับว่า ในคำปราศรัยของจำเลย มีการกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ และปัญหาสังคมอื่น ๆ และไม่มีการเอ่ยชื่อพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงจำเป็นต้องตีความ และการตีความของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน

    ++สองตำรวจสืบสวนระบุเห็นจำเลยปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

    ว่าที่ พ.ต.ต.ชนิสรณ์ ก๊วยสินทรัพย์ ชุดสืบสวน สังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 6 มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคง การชุมนุม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย

    หลังผู้บังคับบัญชามอบหมายให้สืบสวน พยานพบเห็นว่ามีการโพสต์เชิญชวนทางโซเชียลมีเดียให้มาชุมนุมวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่วงเวียนใหญ่ พยานได้เข้าไปที่เกิดเหตุ เวลา 15.00 น. และต่อมาในช่วงเวลาประมาณสองทุ่ม ก็พบเห็นชูเกียรติและวรรณวลีขึ้นปราศรัย

    ขณะปราศรัยมีผู้ร่วมชุมนุม 300 คน เวทีที่ใช้คือรถยนต์ให้คนขึ้นปราศรัยพร้อมกับใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยทั้งสองมีการกล่าวโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถาบันกษัตริย์ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ชูเกียรติสวมเสื้อกล้ามเอวลอยสีเหลือง และวรรณวลีใส่เสื้อยืดสีดำ พยานได้ถ่ายรูปจำเลยทั้งสองไว้ การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณสามทุ่ม หลังจากนั้นพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวน ก่อนไปให้การที่ สน.บุปผาราม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ว่าที่ พ.ต.ต.ชนิสรณ์ เบิกความโดยสรุปว่า พยานเป็นฝ่ายสืบสวนด้านความมั่นคงตั้งแต่ปี 2558-2564 ในส่วนของฝ่ายสืบสวนนั้นมีเจ้าหน้าที่หลายคนช่วยกันรวบรวมข้อมูลและถอดเทปปราศรัย ทั้งนี้ในการปราศรัยของจำเลยทั้งสอง พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำแต่อย่างใด

    พยานรับว่าข้อความปราศรัยที่ถอดเทปออกมาตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏในคดีนี้ พยานไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการถอดเทปปราศรัย ดังนั้น พยานจึงไม่แน่ใจว่าคำพูดของจำเลยในวันที่ปราศรัยตรงกับข้อความในเอกสารหรือไม่ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม

    พยานรับว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม คือการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

    ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส รองสารวัตรสืบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่ สน.บุปผาราม ตามวันเวลาเกิดเหตุเมื่อ 5 ธ.ค. 2563 ฝ่ายสืบสวนทราบว่ามีการนัดหมายชุมนุมทางการเมือง ที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช

    เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เวลา 16.00 น. พยานได้รับมอบหมายให้เฝ้าติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีหน้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและสืบสวนหาข่าวในที่เกิดเหตุ ในระหว่างการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปที่วงเวียนใหญ่ ด้วยรถยนต์ส่วนหนึ่งกับประชาชนรวมอีก 200 คน เดินตามรถเครื่องขยายเสียง

    ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิกและสลับกันหมุนเวียนขึ้นปราศรัย

    เวลา 19.00 น. พยานพบเห็นชูเกียรติขึ้นปราศรัย สวมเสื้อกล้ามและกางเกงวอร์มสีแดงบนรถเครื่องขยายเสียง โดยมีหลายคนขึ้นพูดสลับกันปราศรัย ขณะที่วรรณวลีขึ้นปราศรัยต่อมาในเวลา 20.00 น. เนื้อหาการปราศรัยพูดถึงการทำงานของรัฐบาลและพาดพิงสถาบันกษัตริย์ พยานได้ส่งภาพขณะจำเลยทั้งสองขึ้นปราศรัย และสื่อสารเหตุการณ์การชุมนุมผ่านช่องทางวิทยุกับชุดสืบสวน

    หลังเสร็จสิ้นการชุมนุม พยานได้มีส่วนร่วมในการถอดเทปจำเลยทั้งสอง ก่อนส่งบันทึกการสืบสวนและรายละเอียดคำปราศรัยให้พนักงานสอบสวน

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.จักรพงศ์ เบิกความว่าจากพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหรือแกนนำ

    ระหว่างการปราศรัย ชูเกียรติได้กล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ และการบริหารของรัฐบาล พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน เรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ โดยไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงขณะชุมนุมแต่อย่างใด

    พยานเคยติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรมาก่อน ทราบว่ามีการเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ในการถอดเทปคำปราศรัย พยานไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีการแบ่งหน้าที่กันกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ก่อนนำข้อมูลมารวมกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • ++พนักงานสอบสวนระบุ มีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 การปราศรัยของจำเลยเป็นการดูหมิ่น แสดงอาฆาดมาดร้ายต่อกษัตริย์

    ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรสอบสวน สน.บุปผาราม มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาตามกฎหมาย

    พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2563 จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ได้มาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองคนในความผิดตามมาตรา 112 ก่อนที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยมีพยานอยู่ในคณะทำงานดังกล่าว

    พยานได้ร่วมกันสอบสวนพยานทุกคนที่มาให้การในชั้นศาลของคดีนี้ โดยการสอบปากคำนักวิชาการภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้ความว่า การปราศรัยของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาท รวมถึงประชาชนทั่วไปที่พบเห็นถ้อยคำดังกล่าวก็มองว่าเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์เช่นกัน

    ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 พยานได้เรียกจำเลยทั้งสองมาเพื่อสอบปากคำ โดยมีทนายเข้าร่วมในกระบวนการ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ได้ลงมือลายชื่อเอาไว้ จากการรวบรวมพยานหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.วสันต์ดิลก เบิกความโดยสรุปว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่า จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. หรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

    ส่วนพยานบุคคลทั่วไปอีก 2 คน ที่พนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น จะเป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หรือมีความเชื่อทางการเมืองอย่างไรนั้น พยานไม่ทราบ อีกทั้งจักรพงศ์จะเป็นผู้มอบซีดีและเอกสารให้คณะพนักงานสอบสวนหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้สอบสวนเอง

    พยานรับว่ามีการดึงข้อความปราศรัยที่เน้นย้ำไว้บางข้อความ โดยจักรพงศ์เป็นผู้ขีดเน้นข้อความด้วยตัวเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นคำพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการเอ่ยพระนาม แต่มีการใช้คำว่า “ท่าน” ที่แสดงถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องมีการตีความ ทั้งนี้ พยานคนอื่นไม่ได้มอบหลักฐานใด ๆ ไว้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • ++“ตี้” เบิกความ การวิจารณ์ทรัพย์สินงบประมาณสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ย้ำ
    รัฐบาล-กลุ่มศปปส. ไม่ควรดึงสถาบันลงมายุ่งเกี่ยวการเมืองให้เสื่อมเสีย

    วรรณวลี ธรรมสัตยา นักศึกษาสาขาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยพะเยา และยังศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

    เกี่ยวกับคดีนี้ วรรณวลีเบิกความว่าเมื่อปี 2563 ได้มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และทางนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาจัดม็อบดาวกระจายในชื่อ ‘กลุ่มฟ้ามุ่ยไม่เอาเผด็จการ’ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตนได้เข้าไปเข้าร่วมเนื่องจากสนใจในทางการเมือง

    วรรณวลีเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร และมีวุฒิสภา 250 เสียง ที่มาจากการแต่งตั้งเอง มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ ซึ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรเป็นเช่นนั้น ส่วนในประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตนมองว่า “การปฏิรูป” หมายถึงทำให้ดีขึ้น เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่กับประชาชนคนไทย

    เกี่ยวกับถ้อยคำปราศรัยจากการที่พยานติดตามข่าวการเมืองมาพบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สร้างหน่วยงานพิเศษที่ตรวจสอบไม่ได้ในส่วนราชการในพระองค์ และออกพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.ฎ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ) ซึ่งจะกระทบกับสถาบันกษัตริย์

    ช่วงต้นของการปราศรัย พยานได้พูดถึงเรื่องจอมทัพไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมที่แยกเกียกกาย เกิดเหตุปะทะของกลุ่มราษฎรและกลุ่มคนเสื้อเหลือง เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงและฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มราษฎร วันนั้นพยานไปร่วมชุมนุมแล้วเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ด้านกลุ่มเสื้อเหลืองไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายแต่อย่างใด

    ในวันดังกล่าว พยานเห็นคนใส่เสื้อเหลืองและเจ้าหน้าที่อ้างว่าตนทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ทำให้พยานเข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้ต้องการจะดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวกับการเมืองและความขัดแย้ง ที่สำคัญก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งทางการทหาร โดยมักอ้างว่าจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ คำพูดนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าไม่ว่าจะกระทำความผิดใดก็คือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาให้เสื่อมเสีย

    วรรณลียืนยันว่า การปราศรัยคือต้องการส่งเสียงไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท และมั่นใจว่าไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ที่พูดออกไปเพราะคิดว่าสามารถพูดได้

    ส่วนประเด็นเรื่องการรับรองการรัฐประหาร พยานมองว่าคือการยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เพราะมี คสช. และรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เซ็นรับรอง หากพระมหากษัตริย์ไม่ลงนาม การรัฐประหารก็จะไม่สำเร็จ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยนั้น กษัตริย์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นที่เคารพสักการะ

    พยานเห็นว่า การรัฐประหารหมายถึงการล้มล้างการปกครอง และมีการมัดมือชกให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย พยานมองว่า กษัตริย์ไม่ควรลงพระปรมาภิไธย เพราะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นได้

    นอกจากนี้ วรรณวลีเบิกความว่าในระบอบประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถพูดถึงได้ และบอกให้ผู้ที่มีอำนาจไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ถือว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เท่าที่พยานศึกษามาทั่วโลกสามารถพูดถึงภาษีและงบประมาณสถาบันได้

    วรรณวลีเบิกความต่ออีกว่า กลุ่มคนที่อ้างว่าปกป้องสถาบันฯ มีตรา สวมเสื้อเหลือง กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะมักจะกระทำความผิดโดยอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์

    ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน วรรณวลีเบิกความโดยสรุปว่า ตามหลักแล้วกษัตริย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และพยานก็ไม่ได้ต้องการให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย อย่างไรก็ตามในความเห็นของพยาน อดคิดไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย

    เหตุผลที่พยานต้องพูดเพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้มาตรา 112 ตั้งใจจะดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา ทำให้เข้าใจได้ว่าสถาบันกษัตริย์กำลังชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่ความจริงคือประยุทธ์แอบอ้างสถาบันกษัตริย์ ในถ้อยคำปราศรัยของพยานหมายถึงสิ่งนี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • ++“จัสติน” เบิกความเห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้อง สาเหตุที่ขึ้นปราศรัยเพราะต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ได้พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

    ชูเกียรติ แสงวงค์ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว รับซื้อของเก่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อกลางปี 2563 มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน จัดชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่พยานเข้าร่วมด้วยเพราะครอบครัวได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

    พยานได้เข้าร่วมชุมนุมในฐานะมวลชนอิสระ ซึ่งกลุ่มราษฎรเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งพยานเห็นด้วย ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เพราะมาจากการทำรัฐประหารและบริหารเศรษฐกิจบ้านเมืองทำให้ประชาชนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เดือดร้อนทั้งเรื่องปากท้องและสวัสดิการ

    ในประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พยานเห็นด้วยเพราะเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรนูญที่เป็นอยู่ ที่มาจากการรัฐประหาร โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสู่สภา

    ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเรื่องการโยกย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ และมีการแก้กฎหมายกำลังพล โดยโอนกำลังพลไปในส่วนพระองค์ รวมไปถึง พ.ร.ฎ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ ซึ่งทำให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังมี พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ลงนามนั้น ถือเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตย

    ในวันที่ 6 ธ.ค. 2563 พยานเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่ผู้จัดได้เชิญพยานร่วมปราศรัยด้วยในหัวข้อ #ใครฆ่าพระเจ้าตาก พยานจึงได้ขึ้นปราศรัยในเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19, การทหาร, รัฐสวัสดิการ รวมถึงมีการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยพยานอยากให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สามารถตรวจสอบได้

    ในการปราศรัยใครฆ่าพระเจ้าตาก เป็นการปราศรัยจากเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่พยานศึกษาและยังมีการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันว่าพระเจ้าตากสินเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด

    ต่อมาในประเด็นเรื่องยาเสพติด มีข่าวออกมาว่ามีการขนยาเสพติดผ่านถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน พยานจึงปราศรัยโดยมีเจตนาต้องการสื่อว่า มีครอบครัวใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ นำสถาบันกษัตริย์มาอ้างในเรื่องที่ไม่ดี อาจจะเป็นตำรวจหรือนายทหารที่เข้ามาพัวพันยาเสพติด โดยมีการปั๊มเม็ดยาเสพติดตรา 999 เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงว่าเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับสถาบันฯ และนำมาแอบอ้าง เมื่อถูกจับกุมแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี ในที่นี้พยานไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    ต่อมา เรื่องการส่งมือที่สามมาทำร้ายผู้ชุมนุม พยานหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมหน้ารัฐสภาแยกเกียกกาย และมีการจัดม็อบชนม็อบ ในส่วนของม็อบราษฎรไม่สามารถไปยังรัฐสภาได้ เนื่องจากถูกปิดกั้นทางเข้า ผู้ชุมนุมโดนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา

    ในส่วนที่พยานวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งกาย พยานต้องการสื่อว่าชุดครอปท็อปนั้นสามารถใส่ไปเดินที่ไหนก็ได้ ใครก็สามารถใส่ได้ ที่พยานพูดปราศรัยเพราะมีเยาวชนอายุ 17 ปี ถูกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนฯ จากการใส่ชุดครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ที่ถนนสีลม

    โดยภาพรวมทั้งหมดที่พยานปราศรัย ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 10 จำเป็นต้องพิจารณาโดยรวม ไม่ใช่ดึงแค่เนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งออกมากล่าวหาพยาน

    ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน ชูเกียรติเบิกความถามค้านโดยสรุปว่า ก่อนจะมีการชุมนุม ตนทราบหัวข้อการชุมนุมอยู่แล้ว โดยไปร่วมกิจกรรมในฐานะผู้ชุมนุมปกติ และถ้อยคำปราศรัย คือการหาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และยังไม่ได้ข้อสรุป

    นอกจากนี้พยานได้ปราศรัยโจมตีรัฐบาลจากการรับรู้ข้อมูลแหล่งข่าวต่าง ๆ ซึ่งพยานเห็นว่าสื่อเหล่านั้นผ่านการคัดกรองมาแล้ว และตรงกับข้อเท็จจริงที่สัมผัสได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • ++ผู้จัดการ iLaw ชี้ยุค สนช. ออกกฎหมายขยายขอบเขตพระราชอำนาจกษัตริย์ ไม่สามารถตรวจสอบได้-ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

    ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความว่า ตนจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนทำงานที่ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนโดยไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

    งานของ iLaw คือการติดตามกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ข้อมูลกฎหมายสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ให้ความเห็นในทางกฎหมาย เช่น การใช้ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอื่นๆ

    จากการติดตามดังกล่าว iLaw พบว่ามีการทำประชามติรัฐธรรมนูญในปี 2560 ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้มีการประกาศใช้

    ทั้งนี้ ยิ่งชีพเบิกความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีช่องทางตามกฎหมายใดที่สามารถทำได้ โดยไม่ผ่านประชามติ ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญ ก็บอกไว้ว่า โดยหลักการแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ มีการแก้ไขในหลายประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน

    ตัวอย่างเช่น มาตรา 16 เดิมซี่งฉบับผ่านประชามติ ระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

    แต่ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ มีการแก้ไขว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

    และมาตรา 5 ที่เดิมกำหนดไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    “เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

    “ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

    “การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดคำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

    อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ฉบับแก้ไขและประกาศใช้ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

    หลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว สนช. ยังได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเปลี่ยนการบริหารงานในราชการส่วนพระองค์ด้วย โดยหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 สนช.ได้ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 พร้อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับในเรื่องดังกล่าว

    โดยสรุปคือ กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 15, พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 และ พ.ร.ฎ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์และบริหารงานบุคคล ให้แต่งตั้งบุคคลตามพระราชอัธยาศัย ไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐหรือสามารถตรวจสอบได้

    นอกจากนี้ทาง iLaw ได้เขียนบทความเปรียบเทียบ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้ง 4 ฉบับ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินได้มากขึ้น และไม่ชัดเจนว่าตรวจสอบได้หรือไม่

    ทั้งนี้ สนช. ที่ตั้งโดยรัฐบาลประยุทธ์ ได้ใช้ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ กำหนดอัตรากำลังพลบางส่วน การออกกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้กองทหารขนาดใหญ่ คือ กรมทหารราบที่ 1, กรมมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นราชการในส่วนพระองค์ เป็นหน่วยงานพิเศษตรวจสอบไม่ได้ ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งราชการก็เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยทั้งหมด กล่าวคือทำให้มีกองกำลังทหารขึ้นตรงกับองค์พระมหากษัตริย์ แต่ไม่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม

    จากการติดตามทำข้อมูล การที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไปที่หน่วยงานใด ต้องมีการออกเป็น พ.ร.บ. เสมอ ในยุคของ สนช. พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การทำงานของ สนช. เป็นไปในทางการขยายพระราชอำนาจให้กษัตริย์ แตกต่างจากยุคอดีต น่ากังวลว่าจะทำให้เกินขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

    ในปี 2563 จึงส่งผลให้เกิดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    นอกจากนี้ ในส่วนการบังคับใช้มาตรา 112 พบว่าสถิติคดีแปรผันตามสถานการณ์การเมืองขณะนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการชุมนุมและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และก็มีการหยุดใช้ไปในช่วงปี 2561

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา จึงได้พบว่าเริ่มมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้กล่าวหา สถิติคดีพุ่งสูงทันทีและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบว่าเป็นช่วงที่มีจำนวนคดีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่บันทึกมา
    .
    หลังเสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มิ.ย. 2566

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56890)
  • เวลา 09.00 น. ที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 17 จำเลยทั้งสองได้ทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนและครอบครัวเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้ขอตรวจบัตรประชาชนของทุกคนเทียบกับรายชื่อที่ทนายความแจ้งไว้

    ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลอาญาธนบุรีว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจะประกาศเขตควบคุมบริเวณศาล โดยให้แจ้งรายชื่อบุคคลทุกคนที่จะเข้าฟังคำพิพากษาในคดีนี้ล่วงหน้า

    ต่อมาเวลา 10.30 น. เมื่อจำเลยเดินทางมาครบทั้งสองคน ผู้พิพากษาได้ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดี รวมทั้งอัยการ ทนายความ และประชาชนที่มาในคดีอื่นด้วย โดยแจ้งว่าคดีนี้มีคำพูดที่อ่อนไหว ต่อมาผู้พิพากษาได้เรียกชื่อของชูเกียรติและวรรณวลีให้ลุกขึ้นรายงานตัวต่อศาล และให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปใส่กุญแจมือของจำเลย

    เวลา 11.00 น. ผู้พิพากษาได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ศาลอ่านฟ้องให้จำเลยฟัง ก่อนอ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

    พิเคราะห์พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 6 ธ.ค. 2563 มีการปราศรัยในประเด็น “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ” มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บุปผาราม สังเกตการณ์ตลอดการชุมนุม จำเลยที่ 1 ปราศรัยในหัวข้อ “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ”, การที่รัฐใช้มาตรา 112 ปิดปากประชาชน, การทำร้ายผู้ชุมนุม และเรื่องการค้ายาเสพติดในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 2 กล่าวปราศรัยเรื่องงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ อำนาจที่จะชี้นำกองทัพและการทำงานของคณะรัฐมนตรี และการเซ็นรับรองรัฐประหาร มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

    ศาลได้บรรยายไล่เรียงความเห็นของพยานฝ่ายโจทก์ ทั้ง พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์, วิฆนาย ดีสุวรรณ อาจารย์สอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, วิไลวรรณ วงศ์วิสุทธิศิลป์ และมะลิวัลย์ สุวรรณาพิสิทธิ์ พยานผู้ให้ความเห็น, ยุทธศักดิ์ ดีอร่าม อาจารย์สอนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี รวมทั้ง ว่าที่ พ.ต.ต.ชนิสรณ์ ก๊วยสินทรัพย์ และ ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส ที่ให้ความเห็นไปในลักษณะเดียวกันว่าข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จักรีในทางเสียหาย

    เห็นว่า บุคคลหลายอาชีพมีความเห็นตรงกันว่า การปราศรัยของจำเลยเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ด้วยการใส่ความหรือพาดพิงถึงรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 รวมถึงสถาบันกษัตริย์ และราชวงศ์จักรี พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน พยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความโดยสุจริต สามารถรับฟังได้

    จำเลยที่ 1 เจตนาพาดพิง โจมตี และให้ร้ายพระมหากษัตริย์ แม้ไม่ได้กล่าวโดยตรงว่ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ใดบ้าง แต่เมื่อฟังแล้ว เข้าใจได้ว่า หมายถึง รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามาตรา 112 คุ้มครองแค่กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่หรือไม่

    เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ลักษณะ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำจะกระทบกษัตริย์พระองค์เดียว ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย การขึ้นครองราชย์สืบทอดทางสายโลหิต ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้นเมื่อมาตรา 112 มิได้บัญญัติว่าต้องเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ก็เป็นความผิดตามกฎหมาย

    การกระทำของจำเลยที่ 1 ต้องพิจารณาความรู้สึกของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ จำเลยที่ 1 ปราศรัยต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ร้าย และยืนยันข้อเท็จจริง โดยปราศจากมูลความจริง อันเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์และให้ร้ายต่อรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้ฟังปราศรัยเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์

    เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่สามารถรับฟังได้ ขัดแย้งกับคำปราศรัย พยานไม่มีน้ำหนัก เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ครบองค์ประกอบมาตรา 112

    จำเลยที่ 2 ปราศรัยถึงจอมทัพไทย และเอ่ยพระนามว่า “วชิรา” หมายถึง รัชกาลที่ 10 พิจารณาถ้อยคำจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยมีเจตนากล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ มุ่งโจมตีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้อื่นที่ได้ฟังดูหมิ่นเกลียดชังรัชกาลที่ 10

    จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ตนกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพื่อให้ท่านทราบว่ามีผู้แอบอ้างใช้พระนามในทางที่มิชอบ โดยจำเลยที่ 2 พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

    เห็นว่า เมื่ออ่านคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 แล้ว วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยกล่าวให้ร้ายรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่เหตุผลอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถรับฟังได้ การกระทำของจำเลยทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ครบองค์ประกอบมาตรา 112

    พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน เนื่องจากคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อยังไม่พิพากษา ไม่สามารถนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

    ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ ไตรรัตน์ เกื้อสกุล

    หลังศาลมีคำพิพากษา ชูเกียรติและวรรณวลีถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    เวลา 13.40 น. ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวนคนละ 300,000 บาท หลังจากก่อนหน้านี้เคยวางหลักทรัพย์ในชั้นสั่งฟ้องคดีไว้คนละ 200,000 บาท ทำให้ต้องวางเพิ่มอีกคนละ 100,000 บาท โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.372/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.869/2566 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57002)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชูเกียรติ แสงวงค์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
วรรณวลี ธรรมสัตยา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชูเกียรติ แสงวงค์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ไตรรัตน์ เกื้อสกุล
  2. บุญลอง นรจิตต์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-06-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
วรรณวลี ธรรมสัตยา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ไตรรัตน์ เกื้อสกุล
  2. บุญลอง นรจิตต์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-06-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชูเกียรติ แสงวงค์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
วรรณวลี ธรรมสัตยา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์