ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ ยชอ.109/2564
แดง ยชอ.345/2565

ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.109/2564
แดง ยชอ.345/2565
ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

ธนกร เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีแรก โดยถูกกล่าวหาว่า คำปราศรัยใน #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ ซึ่งกล่าวบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยผู้ที่แจ้งความดำเนินคดีเป็นประชาชนทั่วไป คือ จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) อันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของมาตรา 112 ซึ่งใครก็สามารถกล่าวหาให้ดำเนินคดีผู้อื่นได้

ในชั้นสอบสวน ศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตออกหมายควบคุมตัวธนกรตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ผู้ปกครองจึงต้องใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดประกันตัว ต่อมา อัยการยังยื่นฟ้องธนกรต่อศาลเยาวชนฯ นับเป็นคดีเยาวชนคดีแรกของคดีการชุมนุมนับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112

นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรซึ่งปราศรัยในการชุมนุมครั้งดังกล่าวอีก 2 ราย ที่ถูกจักรพงศ์กล่าวหาให้ตำรวจดำเนินคดีตามมาตรา 112 คือ ชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 บรรยายฟ้องความว่า

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทําการรัฐประหารยึดอํานาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ต่อมาทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 จากนั้นรัชกาลที่ 10 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ เป็นรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 2 และมาตรา 6

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้เข้าร่วมชุมนุมและหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งมาร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณหัวถนนลาดหญ้า แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ กล่าวถึงการปกครองของไทยว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์กับการรัฐประหาร พร้อมกับเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ

คำปราศรัยดังกล่าวเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และที่ได้รับชมรับฟังถ้อยคําปราศรัยดังกล่าวผ่านการถ่ายทอดสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลที่สาม

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ 109/2564 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 11.00 น. ที่ สน.บุปผาราม ธนกร (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 17 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    พ.ต.ท.ปพนณัฏฐ์ สะอาดเอี่ยม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้บรรยายพฤติการณ์ของธนกรในคดีว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.56 น. ได้ขึ้นปราศรัยมีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยสรุปว่า การปกครองของไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกล่าวถึงการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาธนกรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ธนกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังจากสอบสวน ที่ปรึกษากฎหมายของธนกรได้ขอสำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธ กระทั่งที่ปรึกษากฎหมายยืนยันว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหา จึงยินยอมให้บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแก่ธนกร

    ในช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวธนกรจาก สน.บุปผาราม ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการแจ้งข้อกล่าวหา และยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยที่ปรึกษากฎหมายได้แถลงด้วยวาจาคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาลเยาวชนฯ

    อย่างไรก็ดี ศาลอนุญาตตามคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวธนกร พ่อของธนกรจึงยื่นประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 5,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากการช่วยเหลือของกองทุนดาตอร์ปิโด กองทุนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในคดีทางการเมือง

    กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ให้ความเห็นโดยสรุปว่า เนื่องจากผู้ต้องหามีอายุ 17 ปี ขณะนี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และผู้ต้องหามาตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี

    ทั้งนี้สำหรับธนกร ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองแล้วจำนวน 3 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีที่ 2 ที่ถูกส่งตัวมาที่ศาลนี้เพื่อขอออกหมายควบคุมตัว หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ธนกรเคยถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข ครั้งนี้ศาลจึงกำหนดให้วางหลักประกันด้วย

    นอกจากนั้นในวันที่ 20 ม.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายธนกรไปยังสถานพินิจเยาวชนธนบุรี เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะ พินิจประวัติครอบครัว เพื่อประกอบสำนวนของพนักงานสอบสวน และนัดพบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในวันที่ 16 มี.ค. 2564 เพื่อพบที่ปรึกษาคดีเยาวชน และทำแบบสอบถามทางจิตวิทยาต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.บุปผาราม ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24959)
  • ตามที่เจ้าหน้าที่นัดหมายไปสถานพินิจฯ กรุงเทพฯ (ธนบุรี) เพื่อสืบเสาะประวัติ ธนกรได้ขอเลื่อนเนื่องจากตรงกับนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 อีกคดี กรณีเข้าร่วมกิจกรรม ใครๆ ก็แต่งครอปท็อบ เดินสยามพารากอน

  • เวลา 8.30 น. ธนกรเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษาตามนัดด้วยตนเอง โดยไม่มีที่ปรึกษากฎหมายไปด้วย เจ้าหน้าที่แจ้งว่านัดครั้งต่อไปเป็นนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในวันที่ 24 พ.ค. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนกร ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกัน โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    ส่วนในคำขอท้ายฟ้อง อัยการขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้เรียงต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ยชอ 33/2564 ของศาลนี้ด้วย (คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีเข้าร่วม #ม็อบ1พฤศจิกา ที่แยกอุดมสุข / บางนา)

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ 109/2564 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564)
  • เวลา 8.30 น. ธนกรเดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามนัด บรรยากาศที่ศาลเยาวชนฯ วันนี้มีการตั้งจุดคัดกรองตรวจโควิด และวัดอุณหภูมิ ครอบครัวของธนกรเดินทางมาถึงศาลก่อนเวลา

    เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด ในวันนี้ศาลจึงย้ายมาพิจารณาคดีในลานจอดรถ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งโต๊ะวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์และโต๊ะรายงานตัว

    ศาลแจ้งกับธนกรและที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) ว่าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 64 ต่อมาศาลจึงได้อ่านคำฟ้องให้ฟัง ก่อนสอบถามเรื่องการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย จำเลยได้แถลงว่าแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเองแล้ว โดยประสงค์จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ที่ปรึกษากฎหมายแถลงว่าเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา และจำเลยเพิ่งได้รับคำฟ้องในวันนี้ และเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีพยานเอกสารและพยานบุคคลเป็นจํานวนมาก จึงขอเวลาตรวจสอบพยานหลักฐานและพยานเอกสารให้ถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง

    ศาลจึงได้มีคำสั่งให้เลื่อนนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 11 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลเยาวชนฯ ให้ควบคุมตัวธนกร และศาลได้ให้ประกันตัวแล้ว ในชั้นพิจารณาคดีหลังศาลรับฟ้อง ศาลจึงไม่ได้ให้ที่ปรึกษากฎหมายยื่นประกันตัวธนกรใหม่

    หลังจากการรายงานตัวต่อศาลแล้ว ธนกรแสดงความรู้สึกต่อการถูกฟ้องคดีว่า ตนมีความกังวลในเรื่องกระบวนการพิจารณาคดีต่อจากนี้ เพราะที่ผ่านมานั้นได้เห็นความไม่เป็นธรรมและกระบวนการที่นอกเหนือกฎเกณฑ์มาแล้ว สำหรับตน การดำเนินคดีกับผู้แสดงออกทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องยากมากขึ้น

    ด้านพ่อของธนกรบอกถึงความรู้สึกที่ลูกถูกดำเนินคดีว่า “ลูกของผมไม่ควรจะต้องถูกดำเนินคดี เพราะเพียงแค่แสดงความคิดเห็น” และพ่อหวังว่าเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น ทุกคนจะออกมาร่วมขบวนต่อสู้ครั้งนี้กันเยอะมากขึ้น และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเร็ววัน

    ธนกร ซึ่งเป็นเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองแล้วทั้งหมด 5 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 2 คดี คดีตามมาตรา 116 จำนวน 1 คดี และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีของธนกร นับเป็นคดีมาตรา 112 ของเยาวชนคดีแรกที่ถูกยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ ในช่วงเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรานี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา และนับเป็นคดีของกลุ่มเยาวชนที่แสดงออกและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองคดีที่สามที่ถูกฟ้องต่อศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.109/2564 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30060)
  • ศาลเลื่อนไปเป็นวันที่ 22 ก.ค. 2564
  • ก่อนวันนัดศาลแจ้งเลื่อนนัดเป็นวันที่ 30 ส.ค. 2564 เวลา 08.30 น.
  • ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากเป็นนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่จำเลยและผู้ปกครองอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 08.30 น.
  • ก่อนถึงนัดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยติดโควิด-19 โดยแพทย์ให้รักษาถึงวันที่ 14 ต.ค. 2564 และให้กักตัวถึงวันที่ 28 ต.ค. 2564

    ศาลพิจารณาคดีทางวีดิโอคอล ก่อนอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เวลา 08.30 น.
  • เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด และธนกรยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ศาลจึงย้ายการพิจารณาคดีจากห้องพิจารณาลงมายังลานจอดรถของศาล พร้อมทั้งมีการจัดตั้งโต๊ะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และโต๊ะเพื่อตรวจพยานหลักฐาน

    อัยการโจทก์ได้ให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายและจำเลยตรวจดูพยานหลักฐานและบัญชีพยานที่จะนำสืบอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่อัยการโจทก์จะแถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 12 ปาก ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บุปผาราม, กองกำกับการสืบสวน จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 8, นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่ได้รับฟังคำปราศรัยของจำเลย

    ด้านที่ปรึกษากฎหมายแถลงขอนำสืบพยานจำเลยจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย จำเลย, บิดาของจำเลย, ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจาก iLaw และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมจำนวน 2 ราย

    ศาลอนุญาตให้สืบพยานโจทก์ 3 นัด และสืบพยานจำเลย 2 นัด โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 17-19 ส.ค. 2565 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 24-25 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.109/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39038)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดออกจากห้องพิจารณา ให้เหลือไว้เพียงจำเลยและที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ซึ่งในวันดังกล่าวผู้ปกครองของธนกรติดธุระจึงไม่ได้มาร่วมฟังการสืบพยานด้วย ทำให้ตลอดการสืบพยานไม่มีคนอื่นที่นอกเหนือจากธนกร ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมฟังการสืบพยานด้วย

    สำหรับแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ ธนกรและที่ปรึกษากฎหมายยืนยันว่า ถ้อยคำที่ปราศรัยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ที่โจทก์ฟ้อง โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

    1. ถ้อยคำปราศรัยมิใช่การหมิ่นประมาทฯ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่สังคมหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว
    2. ถ้อยคำปราศรัยไม่ได้กล่าวจำเพาะเจาะจงถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระองค์ใด

    ทั้งนี้ ภายหลังการสืบพยาน ศาลเยาวชนฯ กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พ.ย. 2565 ซึ่งจะเป็นคำพิพากษาแรกของศาลเยาวชนฯ ในคดีมาตรา 112 ที่เยาวชนยืนยันต่อสู้คดี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/50795)
  • ที่ห้องพิจารณา 9 เวลาประมาณ 09.30 น. ธนกร, บิดา, ผู้รับมอบฉันทะของทนายความ, ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร และผู้มาให้กำลังใจธนกรอีกส่วนหนึ่ง ทยอยเดินทางมาศาล

    เวลา 11.00 น. ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี องค์คณะผู้พิพากษาศาลเยาวชนได้ชี้แจงว่า คดีนี้เป็นคดีเยาวชน จึงไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือผู้ที่ไม่ใช่คู่ความเข้าฟังคำพิพากษา

    ธนกรได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีที่ตนถูกกล่าวหานี้เป็นคดีเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตนจึงต้องการให้มีบุคคลผู้ไว้วางใจ หรือองค์กรต่างๆ ร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดี รวมถึงเน้นย้ำว่าตลอดการพิจารณาคดีที่ผ่านมา ธนกรแสดงความประสงค์ให้ผู้ไว้วางใจ และตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือตัวแทนสถานทูตต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ได้รับการปฎิเสธทุกครั้ง ทั้งที่ๆ เป็นความต้องการของตน ซึ่งเป็นเยาวชนคนหนึ่ง

    ศาลชี้แจงว่า หากองค์กรภายนอกต้องการเข้าฟังการพิจารณาคดีนี้ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตศาลก่อน เพราะนี่เป็นคดีอาญาที่เกิดขึ้นในศาลเยาวชน ไม่ใช่ศาลผู้ใหญ่ ศาลจึงไม่อนุญาตให้เข้าฟัง หากไม่พอใจให้ทางจำเลยอุทธรณ์

    ด้านเจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แจ้งต่อศาลว่า ได้ทำหนังสือขออนุญาตต่อศาลมาแล้ว พร้อมกับยื่นส่งหนังสือให้องค์คณะผู้พิพากษาหน้าบัลลังก์ตรวจดูอีกรอบ

    อย่างไรก็ตาม ศาลตอบกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่อนุญาต” พร้อมอ้างว่าคดีนี้เป็นคดีชั้นความลับ หากจะเข้าฟังคำพิพากษาก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลใหม่ เพื่อดูว่ามีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือไม่

    นอกจากนี้ ศาลยังชี้แจงอีกว่า หลังเสร็จคำพิพากษาแล้ว จำเลยจะคัดถ่ายคำพิพากษาเพื่อไปเผยแพร่ให้ใครอ่าน ย่อมเป็นสิทธิของจำเลย แต่การจะเอาบุคคลภายนอกมานั่งฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณานี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ศาลได้ใช้ดุลยพินิจแล้ว “เห็นว่าไม่อนุญาต”

    เวลา 11.10 น. ธนกรได้ออกจากห้องพิจารณาคดี และเขียนคำร้องยื่นต่อศาลด้วยตนเอง ระบุโดยสรุปว่า มีความประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเป็นบุคคลและองค์กรที่ตนไว้ใจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ตามกระบวนการพิจารณาคดีเด็กและศาลเยาวชน ตามมาตรา 108 (7) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ และเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

    ต่อมา 11.40 น. ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปในช่วงบ่าย โดยขอหารือกับอธิบดีผู้พิพากษาของศาลเยาวชนฯ ก่อน

    เวลาประมาณ 14.50 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ที่จำเลยร้องขอเข้าร่วมฟังการพิจารณา โดยเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาทันที

    คำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คำปราศรัยของจำเลยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี

    ศาลเห็นว่า จากรายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้วเห็นว่า จำเลยควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยความประพฤติสักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุ ครบ 24 ปีบริบูรณ์

    ส่วนคำขอของโจทก์ให้นับโทษจำคุก หรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้เรียงต่อจากโทษจำคุก หรือระยะการฝึกอบรมของจำเลยในอีกคดีของศาลนี้ และในคดีปราศรัย #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาในคดีทั้งสอง ศาลจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

    หลังฟังคำพิพากษา ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี

    เวลา 16.35 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนกรระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 30,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.109/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.345/2565 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/50825)
  • ที่ห้องพิจารณา 10 เวลาประมาณ 10.00 น. ธนกร, บิดาของธนกร, ผู้รับมอบฉันทะของทนายความ, ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเพื่อนของธนกร ทยอยเดินทางมาศาลเพื่อร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ

    เวลา 12.10 น. หลังจากผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาในคดีอื่นเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ออกมาเรียกธนกร ผู้ปกครอง และผู้รับมอบฉันทะของทนายความ โดยระบุว่ามีเพียงบุคคล 3 คนนี้เท่านั้นที่เข้าห้องพิจารณาได้ ทำให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและเพื่อนของธนกรต้องรออยู่หน้าห้องพิจารณา

    ผู้พิพากษา สุเทพ ภักดิกมล อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

    ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี

    พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้วเห็นว่า ปัจจุบันจำเลยกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ และพักอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง เชื่อได้ว่าผู้ปกครองสามารถดูแลจำเลยได้ ที่อยู่อาศัยปัจจุบันของจำเลยและผู้ปกครองไม่มีเหตุของการมั่วสุม โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชนและครอบครัวของศาลชั้นต้น ปรึกษาและรับคำแนะนำที่เหมาะสมจากนักจิตวิทยา 2 เดือนต่อครั้ง และห้ามจำเลยกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61211)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนกร (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนกร (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สุเทพ ภักดิกมล
  2. โชติพรรณ โชติวงศ์สุโรจน์
  3. วรวดี พฤกษานานนท์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 22-11-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนกร (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 06-11-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์