ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1021/2564

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1021/2564
ผู้กล่าวหา
  • 3

ความสำคัญของคดี

“นิว” สิริชัย นาถึง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมในช่วงกลางคืน ตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกอีก 1 คน พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด ในคืนวันที่ 9 ม.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม นิวได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี โดยศาลกำหนดเงื่อนไขให้ประกันในชั้นพิจารณาว่า ห้ามกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก

คดีนี้นับเป็นคดีแรกของการมาตรา 112 กลับมาใช้ระลอกใหม่ ที่ศาลออกหมายจับ โดยก่อนหน้านี้ตำรวจออกเป็นหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา นอกจากการออกหมายจับจะก่อให้เกิดการตั้งคำถาม เนื่องจากรูปภาพและข้อภาพไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 อีกทั้งมีการออกหมายจับ "เดฟ" ซึ่งที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ก่อนที่ตำรวจจะไปขอเพิกถอนหมายจับ การเข้าจับกุมนิวในช่วงกลางคืนยังมีการละเมิดสิทธิหลายประการ ทั้งการไม่ให้ติดต่อทนาย ไม่แจ้งต่อเพื่อนหรือญาติว่านิวถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด เข้าข่ายบังคับให้สูญหายไปขณะหนึ่ง การออกหมายค้นให้เข้าตรวจค้นที่พักในยามวิกาล รวมถึงมีการขอเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือและไอแพด ทั้งที่การกระทำที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีบรรยายฟ้องดังนี้

ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนปัจจุบันที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 50 บัญญัติไว้ นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายอาญายังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ไว้แตกต่างจากบุคคลทั่วไป คือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าองค์พระมหากษัตริย์รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อระหว่างคืนวันที่ 9 ม.ค. 2564 จนถึงหลังเที่ยงคืนเข้าวันที่ 10 ม.ค. 2564 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยคือสิริชัยกับพวกอีกหนึ่งคน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการร่วมกันใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความบนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายในหลายจุด ซึ่งทรัพย์สินของเทศบาลเมืองคลองหลวง (ผู้เสียหายที่ 1) และแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวง (ผู้เสียหายที่ 2) ได้แก่

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระนางเจ้าสิริกิติ์ บริเวณหน้าคลินิกแพทย์สมภพ

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระรูปของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระนางเจ้าสิริกิติ์ บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระนางเจ้าสิริกิติ์ บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้าตลาดประทานพร

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งถนนพหลโยธินขาออก จังหวัดปทุมธานี

– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” และข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนแผ่นป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งอยู่ใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระราชินี บริเวณสะพานลอยหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จังหวัดปทุมธานี

การฉีดพ่นข้อความดังกล่าวของจําเลยกับพวกได้แสดงต่อ พันตํารวจตรี สิรภพ บัวหลวง และประชาชนโดยทั่วไป เป็นถ้อยคําเสียดสี เจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ว่าทรงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และทําให้ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่าพระมหากษัตริย์ฯ และสถาบันกษัตริย์ อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะและไม่สมควรได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป โดยต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากประมวลกฎหมายอาญา

และทําให้บุคคลที่เห็นข้อความว่า “ภาษีกู” เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ฯ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงนําเงินภาษีของจําเลยกับพวก รวมถึงภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนทั่วไปมาใช้ประโยชน์เป็นการส่วนพระองค์ หรือใช้ในการติดตั้งรูปหรือป้ายที่จําเลยกับพวกฉีดพ่นสีใส่ แทนที่จะนําเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในกิจการอย่างอื่น โดยประการที่จะทําให้รัชกาลที่ 9, พระนางเจ้าสิริกิติ์, รัชกาลที่ 10, พระราชินี เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี และรัชทายาท รวมถึงสถาบันกษัตริย์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

และเป็นเหตุให้รูปและป้ายซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองดังกล่าวข้างต้นซึ่งถูกฉีดพ่นสีสเปรย์ ได้รับความเสียหาย เสื่อมค่าและไร้ประโยชน์ คิดเป็นค่าเสียหายของผู้เสียหายที่ 1 จํานวน 10,000 บาท และคิดเป็นค่าเสียหายของผู้เสียหายที่ 2 จํานวน 3,000 บาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังการจับกุม “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในเวลา 20.50 น. ของวันที่ 13 ม.ค. 2564 ขณะนิวขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาจากบ้านเพื่อนเพื่อไปทานข้าวถึงบริเวณหมู่บ้านนวลตอง ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยการที่ตำรวจนอกเครื่องแบบราว 10 นาย ขับรถประกบปิดหัว-ท้ายซอยของหมู่บ้านฯ และเข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 14/2564 ลงวันที่ 13 ม.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทําให้เสียทรัพย์ พร้อมทั้งใช้กำลังบังคับลากไปขึ้นรถ นำตัวไปที่ สภ.คลองหลวง ยึดโทรศัพท์และไม่ให้ติดต่อทนายความ จนกระทั่งทำบันทึกจับกุมเสร็จ โดยนิวให้การปฏิเสธข้อหาและไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม แต่เขียนเป็นข้อความ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” แทน

    ตำรวจได้นำตัวนิวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 ราว 10 นาที ก็นำตัวไปค้นห้องพักโดยไม่ได้แสดงหมายค้น โดยมีเพื่อนของนิวมาร่วมรับทราบการตรวจค้นด้วย 1 คน หลังจากตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจค้นได้ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป และให้นิวลงลายมือชื่อ

    ระหว่างนั้น เพื่อนและทนายความได้ขอเข้าพบนิวที่ บก.ตชด.ภาค 1 เจ้าหน้าที่ ตชด. ได้ออกมาชี้แจงว่านิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวมาที่ บก. ตชด. รวมทั้งได้รับแจ้งจากตำรวจ สภ.คลองหลวง ว่านิวไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดให้ข้อมูลว่านิวอยู่ที่ใด กระทั่ง เวลา 01.33 น. กลุ่มเพื่อนจึงได้พบนิวอยู่ในรถตำรวจด้านล่างหอพัก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งขณะนั้นตำรวจได้นำตัวนิวเข้าตรวจค้นที่พักเสร็จแล้ว

    02.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนิวกลับมาที่ สภ.คลองหลวง โดยระหว่างพาตัวเข้าห้องสอบสวน พบว่ามีอาการอ่อนเพลีย มีไข้สูงมาก อีกทั้งยังไม่ได้ทานข้าวและทานยา

    พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง พนักงานสอบสวน ทำการแจ้งข้อกล่าวหานิวในข้อหา “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 358 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด ซึ่งมีนายสิริภัทร กาฬสิงห์ เจ้าหน้าที่เทศบาลคลองหลวงเป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหา ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งตรวจยึดได้ขณะเข้าจับกุมด้วย นิวให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือใน 30 วัน

    ราว 03.03 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกการตรวจค้น โดยระบุรายชื่อสิ่งของที่ตรวจยึดจากห้องพักรวม 15 รายการ ซึ่งสิ่งของดังกล่าวบรรจุใส่ซองพยานวัตถุพยานไว้แล้ว ทนายความไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกับที่ยึดมาจากห้องพักหรือไม่ โดยภายหลังจัดทำบันทึกจับกุม ทนายความขอให้เขียนหมายเหตุว่า เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายก่อนการเข้าตรวจค้น และไม่ได้ทำบันทึกการตรวจยึดสิ่งของ ณ สถานที่ตรวจค้น แต่กลับมาทำที่สถานีตำรวจหลังยึดของกลางใส่ถุงไปแล้วหลายชั่วโมง แต่พนักงานสอบสวนไม่ให้เขียน ทนายความจึงไม่ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดดังกล่าว ขณะที่พนักงานสอบสวนไม่มอบสำเนาบันทึกดังกล่าวให้ฝ่ายผู้ต้องหาด้วย

    04.45 น. เสร็จกระบวนการทั้งหมด พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวนิวไปยื่นคำร้องขอฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรีในตอนเช้า

    ช่วงเช้า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี อ้างว่ายังจำเป็นต้องสอบพยานอีก 8 ปาก ต้องรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา และผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ขณะทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังและขอให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน

    เวลา 11.18 น. ศาลมีคำสั่งให้งดการไต่สวน และอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน ก่อนให้ประกันตัวนิว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์ของสถาบันที่ศึกษาอยู่เป็นผู้ขอยื่นประกัน หากปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด และตำแหน่งอาจารย์รวมมูลค่า 150,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการในทำนองเดียวกันซ้ำอีก

    ขณะทนายความกำลังยื่นคำร้องขอประกันตัว เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ยังได้นำคำสั่งศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 1/2564 ซึ่งสั่งให้สิริชัยให้รหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือและไอแพดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไปเมื่อคืนที่ผ่านมา ทั้งที่การกระทำที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สิริชัยจึงยืนยันไม่ให้รหัสผ่าน และถูกดำเนินคดีฐาน ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และ 27 อีกคดีในวันเดียวกันนั้น

    ทั้งนี้ กรณีการเข้าจับกุมและควบคุมตัวนิว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหลายประการ ดังนี้

    1. ศาลได้ออกหมายจับตามมาตรา 112 แม้ว่ารูปบุคคลที่เสียหายจะไม่เข้าข่ายตามตัวความในมาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ก็ตาม
    2. ศาลออกหมายค้นให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นได้ในยามวิกาล คือตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป ทั้งที่ตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องค้นในเวลากลางวัน โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 ระบุว่า การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นดังนี้ (1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้ (2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้ (3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ซึ่งกรณีนี้ การเข้าค้นเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ไม่ได้เริ่มตั้งแต่ตอนกลางวัน อีกทั้งไม่ได้มีกรณีฉุกเฉินใดๆ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นในเวลากลางคืน อีกทั้งนักศึกษารายนี้ก็ไม่ใช่บุคคลดุร้ายหรือผู้ร้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่นักศึกษาปี 1 เท่านั้น
    3. ตำรวจไม่ให้สิทธิในการเข้าถึงทนายความในชั้นจับกุม ให้ติดต่อเพียงสั้นๆ หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จ ซึ่งยังคุยไม่เสร็จ และภายหลังทนายไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ เนื่องจากผู้ต้องหาถูกยึดโทรศัพท์
    4. ตำรวจไม่ยอมแจ้งสถานที่คุมตัวผู้ต้องหา หลอกล่อไปมาจนเกิดความสับสน อ้างตอนหลังจากพบตัวผู้ต้องหาแล้วว่ากลัวเป็นอุปสรรคในการตรวจค้น ภาวะการณ์เช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะทำให้บุคคลอยู่นอกความคุ้มครองกฎหมาย เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วในขณะหนึ่ง (short term disappearance) เป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง
    5. เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพาตัวผู้ต้องหาไป บก.ตชด.ภาค 1 ได้ เพราะตามกฎหมายต้องควบคุมตัวในที่ทำการพนักงานสอบสวนเท่านั้น
    6. ตำรวจเริ่มตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายค้นก่อนเข้าตรวจค้น แต่แสดงหมายค้นภายหลังตรวจค้นเสร็จแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานไปร่วมตรวจค้นด้วย อีกทั้งไม่ได้ทำบันทึกการตรวจค้น ณ สถานที่ตรวจค้น กลับมาทำที่สถานีตำรวจหลังยึดของกลางใส่ถุงไปแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าของในซองพยานมาจากห้องผู้ต้องหาจริงหรือไม่
    7. คดีนี้นับเป็นการดำเนินคดี 112 คดีแรก ที่ศาลอนุญาตออกหมายจับ ตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์บังคับใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อจัดการผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าในช่วงแรก ตำรวจได้ไปขอศาลออกหมายจับในคดีแกนนำบางคดี แต่ศาลไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 13 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25065)
  • เจษฎา ทองแย้ม พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้อง “นิว” สิริชัย ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์”, พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 242 “นำเข้าหรือส่งออกของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร”, มาตรา 246 “ซ่อนเร้นหรือจำหน่ายของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร”

    ตอนท้ายของคำฟ้อง อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ของศาลนี้ด้วย (คดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ทั้งยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่อัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28189)
  • สิริชัยพร้อมทนายความเดินทางไปที่ศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกัน และพบว่าอัยการได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว เนื่องจากครบฝากขัง 84 วัน ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ขณะเจ้าหน้าที่นำตัวสิริชัยไปที่บริเวณใต้ถุนศาล เพื่อรอฟังคำสั่งศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในห้องดังกล่าว พบว่ามีผู้ต้องหาและจำเลยคดีอื่นอีก 16 ราย และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าฟังคำสั่งด้วย

    คำร้องประกอบเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุเหตุผลว่า จำเลยเคยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนและได้เดินทางมาตามนัดหมายโดยตลอด ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหาในคดี จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับยังมีภาระต้องเข้าเรียน หากถูกควบคุมตัวไว้จะไม่สามารถจัดการภาระทางการศึกษา ย่อมส่งผลเสียหายต่ออนาคตทางการศึกษาของจำเลย

    ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 6 พ.ค. 2564 และนัดพร้อมในวันที่ 8 มิ.ย. 2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28189)
  • จำเลยแถลงต่อศาลว่ามีทนายความแล้วและประสงค์ต่อสู้คดี แต่วันนี้ทนายความติดนัดคดีอื่น ขอยื่นคำให้การในนัดหน้า ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 6 พ.ค. 2564)
  • โจทก์ จำเลย และเสมียนทนายจำเลยมาศาล เสมียนทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจำเลยติดโควิด ต้องเข้ารับการรักษาตัว ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2564 โจทก์ไม่ค้าน ศาลให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564)
  • สิริชัยให้การยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อัยการแถลงต่อศาลว่า จะนำสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 25 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลคลองหลวงที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งคือป้ายรูปสมาชิกราชวงศ์ และเป็นผู้แจ้งความในคดี, เจ้าหน้าที่การทางซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน, พนักงานร้านสะดวกซื้อที่เห็นเหตุการณ์, เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่จำเลยยืมใช้, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่พบเห็นป้ายรูปซึ่งถูกพ่นสี, พยานความเห็นคือ พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์, พยานเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจพิสูจน์หลักฐาน และชุดพนักงานสืบสวนสอบสวน

    อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากพยานดังกล่าว โจทก์ยังแถลงว่าจะขอทำการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญอีก 4 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร, ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

    ด้านทนายจำเลยแถลงว่า สามารถรับข้อเท็จจริงและพยานเอกสารเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ปาก จึงเหลือพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบทั้งหมด 20 ปาก

    ทนายจำเลยแถลงจะนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ ผศ.ดร.สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวจำเลยเอง นอกจากนั้นทนายจำเลยยังได้ยื่นพยานเอกสารอีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย สำเนารายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564 จากสภาผู้แทนราษฎร และรายงานการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 14 ในช่วงปี พ.ศ. 2492

    ศาลจึงได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายรวม 4 นัด ในวันที่ 12 และ 15 ต.ค. 2564 และวันที่ 19-20 ม.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1021/2564 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31830)
  • ++นิติกรเทศบาลคลองหลวง ผู้กล่าวหา เบิกความว่าตำรวจมาแจ้งว่ามีการพ่นสีสเปรย์กับพระรูป 4 จุด ตีมูลค่าความเสียหายรูปละ 2,500 บาท แต่ไม่ได้มีใบเสร็จรับรองราคาไว้

    สิริภัทร กาฬสิงห์ นิติกรชำนาญการ เทศบาลเมืองคลองหลวง ผู้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย เบิกความว่า ตนได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมงานว่า ในเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ลงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีในรัชกาลที่ 9 หรือพระพันปีหลวง พร้อมข้อความใต้ฐานพระรูปดังกล่าวว่า “ยกเลิก ม.112” ซึ่งป้ายเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมืองคลองหลวง

    เมื่อฝ่ายกองช่างของเทศบาลได้ออกไปตรวจสอบ ก็ได้พบว่ามี 4 จุด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลคลองหลวง และใช้งบประมาณของเทศบาล

    พยานเบิกความว่า พระรูปทั้ง 4 จุด เป็นป้ายไวนิล การพ่นสีสเปรย์ทับลงบนพระรูป ทำให้พระรูปเสียหายไม่สามารถแก้ไขหรือทำให้เป็นเหมือนเดิมได้ ลักษณะของข้อความที่พ่นพยานเชื่อว่าเป็นการกระทำจากกลุ่มคนเดียวกัน เพราะมีข้อความเดียวกัน และเหตุเกิดในช่วงคืนวันที่ 9 ม.ค. 2564 ถึงคืนวันที่ 10 ม.ค. 2564

    เมื่อสำรวจความเสียหายแล้ว พยานได้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความร้องทุกข์ ที่ สภ.คลองหลวง โดยประเมินค่าเสียหายตีราคารูปละ 2,500 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท

    อย่างไรก็ตาม สิริภัทรตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นบนพระรูปต่างๆ จึงมาแจ้งที่เทศบาลคลองหลวงให้ทราบไว้ ก่อนที่พยานจะได้รับมอบอำนาจให้มาเป็นผู้แจ้งความในภายหลัง

    พยานรับรู้ว่า ในบริเวณพื้นที่เทศบาลและตามที่สาธารณะต่างๆ มีการพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” อยู่บ่อยครั้งไม่เฉพาะที่พระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพยานไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินของเพจแนวร่วมฯ ตลอดจนพยานไม่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จใดๆ มาแสดงได้ว่า ป้ายพระฉายาลักษณ์ทั้ง 4 จุด ตีราคาความเสียหายอยู่ที่ 2,500 บาท

    ก่อนที่จะตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า มีการพ่นสีสเปรย์ด้วยข้อความดังกล่าวตามพื้นที่สาธารณะในเทศบาลคลองหลวงอยู่บ่อยครั้งจริง แต่บนพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ในคดีนี้เป็นครั้งแรก

    ++หัวหน้าหมวดทางหลวง ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องการแจ้ง ม.112

    ธวัฒชัย แก้วทวี หัวหน้าหมวดทางหลวงนวนคร มีหน้าที่ดูแลถนนทางหลวง ตั้งแต่เชียงกงรังสิต จนถึงทางต่างระดับบางประอิน รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในเขตทางหลวง ทางเท้า และสะพานลอย ในคดีนี้เกี่ยวพันเป็นผู้รับมอบอำนาจแจ้งความ

    พยานได้รับแจ้งจากตำรวจ สภ.คลองหลวง ให้ไปตรวจสอบบริเวณสะพานลอยตรงข้ามทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพันปีหลวง ด้านล่างพระฉายาลักษณ์ทั้งสองมีข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” พ่นลงบนป้ายทรงพระเจริญ สร้างความเสียหายไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ พยานตีมูลค่าความเสียหาย 3,000 บาท

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเองไม่ได้มีหนังสืบมอบอำนาจมาให้แจ้งความแต่อย่างใด และภาพถ่ายที่เกิดเหตุก็ไม่ได้เป็นผู้ถ่ายเอง พยานไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยจริง แต่ไม่ได้เจาะจงว่าให้ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 การกระทำผิดตามข้อกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทำทั้งสิ้น

    ส่วนการตีมูลค่าความเสียหายพระรูปดังกล่าว เป็นการตีมูลค่าตามราคาประเมินเท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานเป็นใบเสร็จมายืนยันได้ ส่วนคำให้การของพยานกับพนักงานสอบสวนที่ระบุว่า มีความเสียหายต่อพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 6 จุดนั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเขตความรับผิดชอบของพยานมีอยู่จุดเดียวคือตรงสะพานลอย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ส่วนเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะมีใครจัดตั้งหรือมีใครอยู่เป็นสมาชิกด้วยบ้าง พยานไม่ทราบ และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53405)
  • ++ชุดสืบสวน 3 ปาก เบิกความถึงการสืบสวนในคดีนี้ ชี้ตัวจำเลยได้จากการติดตามการเดินทางตามกล้องวงจรปิด

    พยานโจทก์ชุดสืบสวนจาก สภ.คลองหลวง 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สารวัตรสืบสวน, พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ ทรงกลด รองผู้กำกับการสืบสวน และ พ.ต.ต.มนูญ สิงหาอาจ รองสารวัตรสืบสวน ซึ่งเป็นคณะผู้สืบสวนคดีและจับกุมจำเลย

    พยานโจทก์ทั้ง 3 คน เบิกความคล้ายคลึงกันว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” จำนวน 6 จุดตามฟ้อง และอีก 2 จุดในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งหมด 8 จุด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สภ.คลองหลวง

    ใน 2 จุดที่อัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยมานั้น เกิดขึ้นในบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟถนนเชียงราก และอีกหนึ่งจุดเกิดขึ้นที่กำแพงรั้วใกล้หมู่บ้านนวลตอง โดยทั้งสองจุดมีการพ่นสีสเปรย์คำว่า “ยกเลิก ม.112” ซึ่งเป็นบล็อกข้อความเดียวกับจุดอื่นๆ ในคดีนี้

    จากการตรวจสอบสถานที่ กลุ่มพยานพบสีสเปรย์ถูกทิ้งไว้จำนวน 2 กระป๋อง ในบริเวณจุดหน้าคลินิกสมภพและบริเวณหน้าสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นพยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และภายหลังผู้บังคับบัญชาจึงได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวน โดยมีพยานร่วมอยู่ด้วย

    พยานทั้งสามและพวกเริ่มสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในคดีนี้จากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ โดยในวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานได้ตรวจกล้องวงจรปิดบริเวณตลาดประทานพร พบชาย 2 คน นั่งและขับรถจักรยานยนต์สีดำ แต่ไม่สามารถมองเห็นป้ายทะเบียนรถได้ชัด โดยชายที่ซ้อนท้ายถือถุงผ้าขนาดใหญ่ลักษณะสี่เหลี่ยม ลงมาพ่นสีสเปรย์ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระพันปีหลวง

    เมื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่จุดเกิดเหตุและก่อนเกิดเหตุ พยานและคณะได้สืบตามเส้นทางที่จำเลยเดินทางต่อ พบว่าจำเลยกับพวกได้เดินทางไปที่แมนชั่นแห่งหนึ่ง จึงทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในแมนชั่นและสอบถามผู้ดูแล พบว่ามีจำเลยเป็นผู้พักอาศัยอยู่ ซึ่งตรงกับลักษณะของชายสองคนที่ก่อเหตุบริเวณตลาดประทานพร

    นอกจากนี้ พยานยังได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟเชียงราก พบชายสองคนถือถุงผ้าลักษณะเดียวกับจุดเกิดเหตุที่ตลาดประทานพร และมีมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อและลักษณะเดียวกัน มีสติ๊กเกอร์สีขาวแปะใต้แผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมองเห็นจากกล้องวงจรปิดได้ชัดเจน

    หลังจากนั้น พยานได้ทำการตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าว พบว่าไม่ได้เป็นของจำเลยในคดีนี้ แต่เป็นของมารดาของ “ชยพล” เพื่อนจำเลย โดยชยพลมักจะมาพบปะกับจำเลยอยู่บ่อยครั้งที่หอพักของจำเลย

    การตรวจสอบกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุตามจุดต่างๆ เช่น บริเวณกำแพงรั้วหมู่บ้านนวลตอง ก็พบว่าคนที่กระทำการพ่นสีสเปรย์เป็นบุคคลเดียวกัน โดยมีลักษณะเสื้อผ้าและกระเป๋าผ้าที่เป็นแบบเดียวกัน และเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าว เพื่อไปพ่นสีตามจุดต่างๆ ก็มีระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน

    เมื่อยืนยันได้แล้วว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์บนพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์หลายจุด พยานและคณะจึงวางแผนไปตรวจสอบร้านเครื่องเขียนบริเวณที่ใกล้เคียงกับหอพักของจำเลย จนไปพบร้านชื่อสมใจ

    พยานได้ร่วมกันตรวจดูกล้องวงจรปิดภายในร้าน ก่อนวันเกิดเหตุคือวันที่ 9 ม.ค. 2564 ก็ได้พบจำเลยได้เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน พบว่ามีการซื้อสีสเปรย์ 6 กระป๋อง และสินค้าหลายรายการ โดยชำระเงินด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของร้าน

    พยานทั้งหมดเบิกความทำนองเดียวกันว่า จากการสืบสวนพบผู้กระทำผิดแค่คนเดียวคือ “นิว สิริชัย” ซึ่งเป็นผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนคนที่นั่งซ้อนท้ายนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และเมื่อได้ร้องขอศาลออกหมายจับในวันที่ 13 ม.ค. 2564 ก็ได้ทำการจับกุมจำเลย พร้อมรถมอเตอร์ไซค์ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านนวลตอง โดยมี พ.ต.ต.มนูญ และ พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ เป็นผู้เข้าจับกุมและตรวจค้น

    หลังจากอ่านข้อความในบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟัง นิวไม่ได้ลงชื่อตัวเอง แต่เขียนข้อความลงไปว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” กลุ่มพยานเบิกความต่อไปว่า หลังจากจับกุมแล้ว ก็ได้ขอหมายค้นหอพักของจำเลยจากศาลจังหวัดธัญบุรี

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.สิรภพ ระบุว่า บริเวณจุดเกิดเหตุไม่ได้มีกล้องวงจรปิดที่เห็นชัดเจน มีเพียงแค่พื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุเท่านั้น และปรากฏว่า พ.ต.ต.สิรภพ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนทั้งหมด

    พ.ต.ต.สิรภพ ยังระบุว่า ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า ในคดีนี้มีผู้กระทำผิด 2 คน แต่พนักงานสอบสวนออกหมายจับชยพลหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พยานทั้งสามตอบคำถามค้านคล้ายกันว่า สีสเปรย์ที่คนร้ายใช้พ่นบนพระรูปตามจุดต่างๆ มีสีเดียวกันคือสีดำ แต่กระป๋องสเปรย์ที่ตรวจยึดได้นั้นเป็นกระป๋องสเปรย์สีขาว และพยานยอมรับว่า ให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าดูที่หอพักของจำเลย เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ก่อเหตุ แต่บุคคลที่เป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่จำเลย

    ทนายจำเลยได้กล่าวกับพยานชุดสืบว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดที่พยานอ้างส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ ไม่สามารถชี้ตัวจำเลยได้ เนื่องจากวันเวลาในภาพ คือวันที่ 12 ม.ค. 2564 แต่เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นคืนวันที่ 9 - 10 ม.ค. 2564 พยานอธิบายว่า วันเวลาในกล้องถูกตั้งค่าไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ได้นำกล้องวงจรปิดไปตรวจสอบว่าวันเวลาที่ตั้งค่าไว้ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

    ต่อมา พยานโจทก์ทั้งสามตอบอัยการถามติงว่า พ.ต.ต.สิรภพ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนด้วยตัวคนเดียว แต่ได้ตรวจสอบเอกสารแล้ว ทั้งหมดสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เบิกความไว้

    ในทางการสืบสวนของคดีนี้ กลุ่มพยานยืนยันว่ามีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน คือจำเลย และบุคคลที่มีลักษณะคล้ายชยพล เพื่อนของจำเลยและเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์

    กระป๋องสเปรย์ที่ตรวจยึดได้ในจุดเกิดเหตุมี 2 กระป๋องเป็นสีดำและสีขาว และภาพคนที่นั่งซ้อนท้ายจำเลยในคดีนี้ในวันเกิดเหตุ ตรวจสอบภายหลังแล้วไม่พบว่าเป็นชยพล

    ++พนักงานสอบสวน ระบุให้นักวิชาการพิจารณาการกระทำของจำเลยร่วมด้วย ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112

    พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ พนักงานสอบสวนในคดี ขณะเกิดเหตุพยานเป็นร้อยเวรสอบสวน เมื่อทราบเหตุว่ามีผู้ใช้สีสเปรย์พ่นใส่พระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ในเขต สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งต่อมามีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีพยานร่วมอยู่ในคณะดังกล่าวด้วย

    ในคดีนี้ พยานได้สอบปากคำระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ในฐานะประชาชนผู้ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ และได้สอบปากคำผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    จากการตรวจสอบพยานเชื่อว่าผู้ที่พ่นสีพระรูปทั้ง 6 จุด เป็นบุคคลเดียวกัน เนื่องจากข้อความและตัวหนังสือมีลักษณะเดียวกันทุกจุด

    พยานได้สอบปากคำพนักงานในร้านสมใจ ซึ่งตามรายงานการสืบสวนเป็นร้านที่จำเลยเข้าไปซื้อสินค้าและสีสเปรย์ และสอบคำให้การพยานนักวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งฟ้อง อาทิเช่น ไชยันต์ ไชยพร, เจษฎ์ โทณะวณิก, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และพลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ไว้ด้วย

    เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมจำเลยไว้ได้แล้ว พยานได้รับตัวจำเลยไว้ โดยในขณะที่สอบปากคำมีบุคคลที่จำเลยไว้ใจทั้งทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ

    ทั้งนี้ พยานให้ความเห็นว่าที่มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนพระฉายาลักษณ์ของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อพระรูปของในหลวงโดยตรง แต่การกระทำที่เกิดขึ้นกับพระราชธิดา ก็ถือเป็นการกระทำที่ส่อว่ากระทำต่อรัชกาลที่ 10 ด้วย

    เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานได้ยอมรับว่า คดีนี้มีการออกหมายจับชยพล เพื่อนของจำเลยด้วย แต่ภายหลังได้เพิกถอนหมายจับ และทราบว่าชยพลได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่พยานไม่ทราบรายละเอียด

    พยานยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามด้วยว่า ในคดีมาตรา 112 มีบัญชีรายชื่อนักวิชาการที่จะเชิญมาให้ปากคำเป็นพยาน โดยคณะพนักงานสอบสวนจะประชุมและพิจารณาร่วมกัน แต่ปฏิเสธว่าตนไม่รู้มาก่อนว่า พยานนักวิชาการที่นำเข้ามาสอบปากคำในคดีนี้มีความคิดเห็นอย่างไร

    พยานยังยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่า ไม่มีตัวแทนจากสำนักพระราชวังของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 (ใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม)

    ผลการตรวจรอยนิ้วมือที่กระป๋องสเปรย์ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ ซึ่งรายงานการตรวจพิสูจน์รอยนิ้วมือแฝงระบุว่า แตกต่างจากลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย และมีการลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือเดียวกัน นอกจากนี้ ในการตรวจพิสูจน์รอยพื้นรองเท้าที่พบในที่เกิดเหตุ พบว่าไม่ตรงกันกับรอยพื้นของรองเท้าที่ตรวจยึดได้จากห้องพักของจำเลย

    ส่วนที่มีการนำป้ายไวนิลไปตรวจพิสูจน์ แต่จะมีการตรวจขนาดของอักษรที่ปรากฏตามที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานไม่ทราบ และจำไม่ได้

    พยานไม่ทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้แล้วหรือไม่ และไม่ทราบว่านักวิชาการทางกฎหมายอย่าง จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และหยุด แสงอุทัย จะเขียนตำราทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 ไว้อย่างไรบ้าง

    นอกจากนี้ ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลจังหวัดนราธิวาส จะมีคำพิพากษาที่เห็นว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ไว้หรือไม่ พยานไม่ทราบ

    เมื่อทนายถามว่า ในคดีนี้มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของพระพันปีหลวง และรัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตไปแล้ว หากมีบุคคลไปพ่นสีสเปรย์บนรูปปั้นพระเจ้าตากสินฯ พยานจะมีความเห็นสั่งฟ้องตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ความเห็นสั่งฟ้องต้องมาจากคณะกรรมการสอบสวน

    ทนายจำเลยได้ถามต่อไปว่า หากมีคนไปพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พยานจะสั่งฟ้องด้วยหรือไม่ พยานได้ตอบทนายว่าต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเช่นเดียวกัน

    ทนายจำเลยถามต่ออีกว่า ถ้าข้อความ “ยกเลิก ม.112” เป็นข้อความที่เข้าข่ายลักษณะดูหมิ่น หากมีคนไปพ่นสีสเปรย์ว่า “ยกเลิก 136” หรือให้ยกเลิกกฎหมายดูหมิ่นเจ้าพนักงาน โดยมีการพ่นใต้รูปผู้กำกับ สภ.คลองหลวง พยานจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ พยานให้ความเห็นว่า ให้อยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐานในคดีและข้อกฎหมาย

    เช่นเดียวกับการพ่นข้อความ “ภาษีกู” บนรูปนายกเทศมนตรีคลองหลวง พยานจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ก็ให้ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายและการรวบรวมพยานหลักฐานเช่นกัน

    นอกจากนี้ พยานได้ตอบทนายว่าในคดีนี้ เทศบาลเมืองคลองหลวงได้มีการมาแจ้งความร้องทุกข์เฉพาะมาตรา 112 ไม่ได้แจ้งทำให้เสียทรัพย์ โดยการร้องทุกข์ดังกล่าวได้มีการให้ดำเนินคดีกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เท่านั้น ไม่ได้ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้

    ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าธวัชชัย ผู้ซึ่งรับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี มีหนังสือรับมอบอำนาจมาหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าแขวงการทางหลวงปทุมธานีจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่

    ในคดีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ฐานทำให้เสียทรัพย์ และพยานยืนยันตามที่ทนายถามว่า จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการดำเนินคดีกับประชาชนกว่า 15 คน

    พยานยืนยันว่าข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” ไม่ได้มีการแจ้งความหมายใดไว้ในจุดเกิดเหตุ และไม่ทราบว่าภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งถูกโพสต์ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นภาพจากพื้นที่ใด

    อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการถามติง พ.ต.ท.ยศวัฒน์ ตอบว่า ในคดีมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องมีผู้มาร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้เลย และการสั่งฟ้องในคดีนี้ พยานได้มีการรวบรวมความเห็นของนักวิชาการมาประกอบการพิจารณา

    พยานยืนยันว่า ในคดีนี้มีคนก่อเหตุ 2 คน ซึ่งคนที่ลงมาก่อเหตุอาจไม่ใช่จำเลย ทำให้รอยรองเท้าของกลางที่ยึดได้กับรอยรองเท้าในที่เกิดเหตุไม่ตรงกัน ส่วนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะมีบัตรสมาชิกหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ส่วนในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 กรณีที่คนกระทำการพ่นสีสเปรย์บนพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้น เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53405)
  • ++พยานโจกท์ปากประชาชน 3 ราย เข้าให้ความเห็นต่อข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112”

    ภูริชนินทร์ กลิ่นบุญ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความว่า พยานจำได้แค่ว่าเหตุในคดีนี้เกิดในช่วงเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากมีผู้บริหารแจ้งมาที่ไลน์กลุ่มของ รปภ. ว่า มีเหตุเกิดขึ้นกับพระฉายาลักษณ์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย พยานจึงออกไปตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความเสียหายต่อพระฉายาลักษณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของพยาน

    แต่พบว่ามีข้อความเป็นสีสเปรย์พ่นคำว่า “ยกเลิก ม.112” ที่ป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ใครจะเป็นผู้พ่นสีดังกล่าว พยานไม่ทราบ และไม่เคยรู้จักกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน

    ภูริชนินทร์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในคดีนี้พยานได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มาเป็นพยาน ตามที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งไปที่มหาวิทยาลัย

    ร.ต.อ.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ทนายความ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้ติดตามเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พบว่ามีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีบุคคลไปพ่นสีสเปรย์ตามฟ้อง การพ่นข้อความดังกล่าว ใช้สีสเปรย์สีดำและสีขาว แต่ส่วนมากเป็นสีดำ

    พยานเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และข้อความว่า “ภาษีกู” ในความเห็นของพยานมีความหมายว่า กษัตริย์ได้นำภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ซึ่งทำให้ประชาชนไม่เคารพ ศรัทธาในตัวพระองค์และสถาบันกษัตริย์ แม้ข้อความดังกล่าวจะไม่ได้อยู่บนพระรูปของรัชกาลที่ 10 ก็ตาม

    ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของรัชกาลที่ 10 ด้วย แต่ตำรวจไม่ทราบว่าเกิดเหตุที่ใด และพยานเองก็ไม่ทราบว่าเป็นที่ใดเช่นกัน ในคดีนี้พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน และไม่สามารถชี้ตัวบุคคลในห้องพิจารณาได้

    จากการติดตามเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พยานทราบว่า จำเลยในคดีนี้เป็นผู้สนใจการเมืองและรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112

    ร.ต.อ.นรินทร์ ยอมรับกับทนายจำเลยขณะตอบคำถามค้านว่า เคยเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง ชื่อกลุ่มไทยภักดี แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว เมื่อทนายจำเลยถามว่ากลุ่มดังกล่าวมีแนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ใช่หรือไม่ พยานขอไม่ตอบในคำถามนี้

    พยานยอมรับว่า เคยเข้าแจ้งความประชาชนในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาก่อน และในคดีนี้พยานมาให้การในฐานะประชาชนและทนายความผู้รู้กฎหมาย แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนไม่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรา 112 มาก่อน

    พยานไม่ทราบว่า ในคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ และในคำให้การของพยานต่อพนักงานสอบสวน ก็ไม่ได้ให้การว่า มีคนไปพ่นสีสเปรย์รูปรัชกาลที่ 10

    เมื่อทนายจำเลยถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในมาตรา 112 ระบุไว้ว่าคุ้มครองถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น พยานตอบว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่าศาลจังหวัดจันทบุรีได้เคยพิพากษาในคดีมาตรา 112 ไว้ว่า คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น และอธิบายเพิ่มเติมในความเห็นส่วนตัวว่า ควรจะคุ้มครองให้ถึงอดีตกษัตริย์ทุกพระองค์ รวมถึงพระราชินี และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย

    พยานทราบว่า มาตรา 112 คุ้มครองไปถึงองค์รัชทายาทด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎมณเฑียรบาล โดยพยานทราบอีกว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน

    ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง บริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเกิดเหตุของคดีนี้ เบิกความว่า ในวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานได้เข้าไปดูเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พบว่ามีการพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” บนรูปของพระพันปีหลวง แต่ใครจะเป็นแอดมินโพสต์ภาพดังกล่าวพยานไม่ทราบ พยานเป็นเพียงประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวในคดีนี้ ก็มีความรู้สึกไม่สบายใจ

    และมีความเห็นต่อคำว่า “ภาษีกู” หมายถึง กษัตริย์นำภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ซึ่งพยานคิดว่าไม่เป็นความจริง และทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยพยานได้บันทึกภาพในที่เกิดเหตุส่งให้พนักงานสอบสวน พร้อมกับเข้าให้การเป็นพยาน และได้เห็นภาพของจำเลยในคดีนี้ หรือ นิว สิริชัยอยู่ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ด้วย

    ระพีพงษ์ยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ที่เบิกความว่า พยานเห็นภาพจำเลยในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้ให้การแบบนี้ และไม่พบว่าจำเลยเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมใดๆ

    ส่วนความเห็นต่อคำว่า “ภาษีกู” เป็นความเห็นของพยานเพียงคนเดียว และรับว่า บนพระรูปของพระพันปีหลวง ไม่ได้มีการอธิบายความหมายของข้อความดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

    พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พ่นข้อความบนพระฉายาลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้พยานปากนี้เป็นสมาชิกของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ด้วย

    ++ตำรวจผู้ตรวจสอบที่เกิดเหตุและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน เข้าตรวจเก็บหลักฐาน โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งใดๆ

    พ.ต.ต.หญิงเกสรา อินทร์รักษาทรัพย์ กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 มีหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุและตรวจเก็บวัตถุพยาน เบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 ช่วงเวลาประมาณ 00.30 น. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ว่าให้ไปเก็บวัตถุพยานที่หอพักของจำเลย เมื่อเดินทางไปถึงพยานได้พบกับพนักงานสอบสวนและจำเลย ผู้เป็นเจ้าของห้อง

    ในการตรวจเก็บพยานหลักฐานในห้องพัก พยานพบกระดาษที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ เสื้อฮู้ดแขนยาว 1 ตัวที่พนักงานสอบสวนคาดว่าเป็นชุดที่ใส่ในวันเกิดเหตุ ถุงผ้าสีแดงภายในมีแผ่นโลหะ 2 แผ่น รองเท้าแตะ 2 คู่ เมื่อพยานทำการบันทึกรายการวัตถุพยาน จำเลยได้ชูสามนิ้วขึ้นมา

    ในการเก็บพยานหลักฐาน พยานได้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนจะกลับไปและส่งบันทึกให้กับพนักงานสอบสวนในวันดังกล่าวทันที และจำเลยที่อยู่ภายในห้องไม่ได้มีข้อโต้แย้งใดๆ

    ต่อมา พ.ต.ต.หญิงเกสรา ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในขณะเกิดเหตุ พยานเข้าเวรอยู่ และไปถึงหอพักของจำเลยในเวลาประมาณเพียง 5 นาที พบพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยจำเลยยืนรออยู่ที่หน้าห้อง แต่ในรายงานตรวจวัตถุพยานไม่ได้มีภาพดังกล่าวตามที่พยานเบิกความไว้

    ในขณะที่ตรวจห้องพัก มีจำเลยเพียงคนเดียว ไม่มีญาติหรือทนายความและบุคคลที่จำเลยไว้ใจอยู่ร่วมด้วย และในการตรวจเก็บพยานหลักฐานต่างๆ เป็นการใช้ดุลยพินิจของพยาน ไม่ได้เกิดจากการชี้นำของจำเลยให้เก็บพยานใดๆ

    ทั้งนี้ พยานตอบอัยการถามติงว่า เหตุที่ไม่มีภาพถ่ายของพนักงานสอบสวนและจำเลยยืนรออยู่ที่บริเวณหน้าห้องพัก เนื่องมาจากลักษณะการทำงานจะเริ่มถ่ายจากตัวตึกไปถึงหน้าห้องที่เกิดเหตุ และบริเวณภายในห้องที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ได้เน้นไปที่ภาพถ่ายของคน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53405)
  • ++พยานโจทก์ปากเพื่อนจำเลย ผู้ถูกออกหมายจับร่วมด้วย แต่ตำรวจเข้าใจผิด ภายหลังตำรวจจึงถอนหมายจับ

    ชยพล ดโนทัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พักอาศัยที่หอพักชื่อเจพาร์ค รู้จักกับจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 2 และทราบว่าจำเลยอาศัยอยู่หอพักบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่จำชื่อหอพักไม่ได้

    พยานมีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกับจำเลย โดยมีความเห็นตรงกันว่า ควรให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันลาออก ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการ พยานและจำเลยเป็นสมาชิกพรรคของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกัน ชื่อพรรคโดมปฏิวัติ

    พยานมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะในการขับขี่ ซึ่งมีมารดาเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยพยานยืนยันตามพยานหลักฐานภาพถ่ายของอัยการว่ารถมอเตอร์ไซค์ในคดีนี้เป็นของพยานจริง

    ในวันที่ 11 ม.ค. 2564 พยานทราบว่าจำเลยถูกจับตามหมายจับมาตรา 112 ของศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งพยานเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับร่วมด้วย โดยตำรวจได้แจ้งกับพยานว่ามีการใข้รถมอเตอร์ไซค์ของพยานในการกระทำผิดในคดีนี้ และภายหลังมีการถอนหมายจับของพยาน และให้มาเป็นพยานโจทก์เบิกความในคดีนี้

    สาเหตุที่พยานทิ้งรถมอเตอร์ไซค์ในคดีนี้ไว้กับจำเลย เนื่องจากช่วงประมาณธันวาคม 2563 พยานได้เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เกรงว่าถ้าทิ้งรถไว้ไม่มีผู้ใช้งานจะเกิดความเสียหายได้ จึงฝากกุญแจรถไว้กับกลุ่มเพื่อนขณะนั่งรับประทานอาหารร่วมกันราว 20 คน และพยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนรับกุญแจรถของพยานไว้

    หลังจากนั้น พยานก็ได้ทราบว่ามีการออกหมายจับร่วมกับจำเลยในคดีนี้ จึงได้เดินทางมาจากบ้านต่างจังหวัด เพื่อเข้ามอบตัว ในระหว่างที่เกิดเหตุนั้นจะมีใครใช้รถมอเตอร์ไซค์ของพยานบ้าง ก็ไม่สามารถระบุตัวได้

    พนักงานสอบสวนเคยแจ้งกับพยานว่า ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่พยานยืนยันว่าตนเองเคยได้รับแจ้งว่าถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 นี้ร่วมด้วย ซึ่งพยานได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนทั้งหมดแล้ว

    ชยพลตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนจะมาเป็นพยานในคดีนี้ พยานได้รับทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ จึงรีบเดินทางมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง แต่ได้รับคำตอบจากพนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้องว่าไม่มีหมายจับของพยาน ซึ่งภายหลังพยานก็ได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า มีการถอนหมายจับของพยานจริง โดยเป็นพนักงานสอบสวนเองที่มาขอเพิกถอนหมายจับพยานที่ศาล

    จากเหตุดังกล่าว พยานได้ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่พยานเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

    ทนายได้ให้พยานดูภาพถ่ายรถมอเตอร์ไซค์และถามว่า วันเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือที่ใด แต่พยานไม่ทราบ และที่ท้ายข้อความมีการระบุว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่หอพักของจำเลยในคดีนี้ พยานก็ไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าหอพักของจำเลยเป็นอย่างไร

    ส่วนสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่ตรงบังโคลนใต้แผ่นป้ายทะเบียนรถของพยาน เป็นสติ๊กเกอร์ที่ร้านจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ติดให้ หากผู้ใดไปซื้อก็จะได้สติ๊กเกอร์ดังกล่าวเหมือนกัน หากดูเพียงสติ๊กเกอร์นั้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารถมอเตอร์ไซค์เป็นของพยานหรือไม่

    จากนั้น ชยพลตอบโจทก์ถามติงว่า เมื่อดูแผ่นป้ายทะเบียนรถจากภาพถ่าย มีภาพที่บอกได้ว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ของพยาน

    ++พนักงานร้านเครื่องเขียนสมใจ ระบุว่าสีสเปรย์ เป็นสินค้าที่มีคนเข้ามาซื้อจากร้านหลายคน

    กัญญา อัมพนันท์ เคยทำงานอยู่ที่ร้านสมใจ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงานรวมทั้งสีสเปรย์ มาประมาณ 20 ปี ก่อนลาออกเมื่อปี 2565 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และสีสเปรย์ภายในร้านจะมีขายยี่ห้อ TVB และยี่ห้อเลแลนด์ ซึ่งสียี่ห้อ TVB เป็นสีสเปรย์ที่จำเลยซื้อไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564

    พยานเบิกความว่ามีชายสวมหน้ากากอนามัย สวมหมวกแก๊ปสีดำมาซื้อสีสเปรย์ 6 กระป๋องและสินค้าชนิดอื่นๆ แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นอะไรบ้าง โดยชายคนดังกล่าวได้ชำระค่าสินค้าเป็นการโอนเงินจากมือถือ โดยในหน้าที่ของพยานจะต้องใช้โทรศัพท์ของทางร้านถ่ายภาพหน้าจอสลิปการโอนของลูกค้าเอาไว้ ซึ่งรูปที่ปรากฏในพยานหลักฐานคือรูปที่พยานได้ทำการส่งมอบให้พนักงานตำรวจ

    พยานยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ร้านสมใจจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยคนที่มาซื้อสีสเปรย์มีจำนวนหลายคน แต่จำได้ว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินสด

    ในช่วงการซื้อสินค้าของจำเลย เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ลูกค้าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้ามาซื้อสินค้าในร้าน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53405)
  • ++พยานจำเลย — นิว สิริชัย ยืนยันไม่ใช่ผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์ใส่พระฉายาลักษณ์ตามจุดต่างๆ

    “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เบิกความว่า ตนไม่เคยถูกพิพากษาหรือต้องโทษจำคุกในคดีใดมาก่อน เกี่ยวกับเพจเฟซบุ๊กธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้น พยานไม่ได้เป็นแอดมินเพจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

    ในรายงานการสืบสวนของพนักงานตำรวจที่ปรากฏภาพว่า มีผู้ร้ายพ่นสีเสปรย์ข้อความนั้น จำเลยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำและไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด เพิ่งได้รับทราบว่าตนถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ตอนที่ถูกจับกุม และในรูปถ่ายดังกล่าวก็ไม่ใช่ภาพของจำเลย อีกทั้งรถที่ใช้ก่อเหตุไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นรถของเพื่อนจำเลย ซึ่งมีการใช้รถร่วมกันกับเพื่อนหลายคน บุคคลที่ขี่รถจักรยานยนต์ตามภาพไม่ใช่จำเลยกับเพื่อนของจำเลยแต่อย่างใด ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

    จำเลยยังให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณกรณ์ บุญมี เป็นพยานทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยจัดทำเป็นเอกสาร อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาล

    ต่อมา อัยการได้ถามค้าน นิวรับว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ไปซื้อของจำพวกสีเสปรย์ที่ร้านสมใจ

    แม้จำเลยจะไม่ได้เป็นแอดมินเพจของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่จำเลยก็ได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มดังกล่าว โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มคือยกเลิกมาตรา 112 และปฎิรูปสถาบันฯ

    จำเลยรับว่าห้องพักเป็นห้องที่จำเลยเคยเช่าพักอาศัยและเป็นห้องเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจค้น

    เมื่อทนายจำเลยถามติง นิวเบิกความว่า ในวันดังกล่าวที่ตนไปซื้อของที่ร้านสมใจ ได้ซื้อของมาหลายอย่าง ไม่ใช่แค่สีเสปรย์อย่างเดียว สาเหตุที่ซื้อมาเพราะต้องใช้ทำงานในคณะ

    พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และไม่เคยเป็นแกนนำเวทีปราศรัยในเวทีของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

    .

    หลังสืบพยานเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53405)
  • ณ ห้องพิจารณาคดี 6 ช่วงเช้าก่อนฟังคำพิพากษา “นิว” ทนายจำเลย นายประกัน และผู้ที่มาให้กำลังใจนิวได้ทยอยมาศาล โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนมาเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย

    เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา และเริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

    พิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พยานโจทก์เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย รวมถึงเบิกความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณหอพักที่จำเลยอาศัย พบว่ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ใช้ร่วมกับเพื่อนได้ขับขี่ออกไปก่อนเกิดเหตุและกลับมายังหอพักหลังเกิดเหตุ

    อีกทั้งจำเลยยังเบิกความว่า ได้ขับรถจักรยานยนต์ออกไปเพื่อซื้อสีเสปรย์ดังกล่าว รวมถึงการแต่งกายและรูปพรรณสัณฐานตามกล้องวงจรปิดใกล้เคียงกับจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยน่าจะเป็นผู้ก่อเหตุตามฟ้องจริง

    ในส่วนเรื่องของข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก112” แม้จำเลยจะไม่ได้พ่นลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่การพ่นบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ศุลกากรฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 246 (เป็นกรณีการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดได้ระหว่างเข้าค้นห้องพักของจำเลยในคืนการจับกุม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

    ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท และกรณีครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ลงโทษปรับ 1,177 บาท

    รวมโทษจำคุก 3 ปี 10 เดือน ปรับ 31,177 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยยังเป็นนักศึกษาอยู่ โทษจำคุกจึงเห็นควรให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

    คำพิพากษาลงนามโดย ทศพรรณ คงเพียรธรรม และจันทร์จิรา น้อยผะ

    .

    “นิว” ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกต่อการฟังคำพิพากษาในวันนี้ รวมถึงความคิดเห็นต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขา

    “ในคำฟ้องที่อัยการกล่าวหาว่าผมไปพ่นสีบนรูปของกษัตริย์องค์เก่าและสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงตรงนั้น ผมเลยคิดว่าจะอุทธรณ์ต่อ”

    “เรารู้สึกว่าไม่ได้มีปัญหาแค่กฎหมาย แต่การบังคับใช้ก็มีปัญหาด้วย มีปัญหาไปหมดเลย มาตรา 112 ก็สมควรจะต้องยกเลิกไป แล้วผมก็รู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษาในวันนี้”

    “ตอนผมโดนคดีช่วงแรกๆ ผมตกใจและทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว มันส่งผลกระทบทั้งเรื่องเรียนและก็เรื่องครอบครัว ผมขาดเรียนบ่อยเพราะไปศาล เกรดผมก็ดร็อปไปเลย พอถูกดำเนินคดีการเมือง ทุกพาร์ทของชีวิตผมดร็อปลงไปหมด และผมก็มีปัญหากับที่บ้าน คุยกันไม่ลงรอย ทุกวันนี้ยังกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้” สิริชัยกล่าว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53560)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิริชัย นาถึง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิริชัย นาถึง

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ทศพรรณ คงเพียรธรรม
  2. จันทร์จิรา น้อยผะ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 15-02-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์