ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
ดำ อ.1020/2564
แดง อ.1494/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตร กองกำกับการกลุ่มงานสนับสนุน บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1020/2564
แดง อ.1494/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตร กองกำกับการกลุ่มงานสนับสนุน บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

“นิว” สิริชัย นาถึง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีฐาน ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และ 27 หลังปฏิเสธให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์และไอแพด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำที่เขาถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชั้นสอบสวนนิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวและได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีของศาล

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สุนัยต์ คงแสงดาว พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี บรรยายคำฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอนุญาตที่ 1/2564 ของศาลจังหวัดธัญบุรี หรือคําสั่งของ พันตํารวจตรีสุรโชค กังวานวาณิชย์ เจ้าพนักงานตํารวจ ตําแหน่งสารวัตร กองกํากับการกลุ่มงานสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม การกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการตามคําสั่งอนุญาตของศาลดังกล่าว ซึ่งได้ขอรหัสเปิดโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ iPhone จํานวน 1 เครื่อง และ iPad จํานวน 1 เครื่อง ที่อยู่ในความครอบครองของจําเลยจากจําเลยเฉพาะที่จําเป็น เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

และเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิดและหาตัวผู้กระทําความผิด เพื่อทําการตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ภายในโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวของจําเลย อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทําความผิด และสั่งให้จําเลยนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จําเป็นให้ด้วย และทําการตามคําสั่งอนุญาตของศาลดังกล่าว แต่จําเลยไม่ยินยอมเปิดเผยรหัสการเปิดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว

ทําให้พันตํารวจตรีสุรโชค กังวานวาณิชย์ ไม่สามารถตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ภายในโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวของจําเลยได้ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ขณะสิริชัยยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องควบคุมของศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างรอทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตรกองกํากับการกลุ่มงานสนับสนุน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้นำคำสั่งศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 1/2564 ซึ่งสั่งให้สิริชัยให้รหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือและไอแพดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไปช่วงคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่า หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ให้ความร่วมมือจะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 27 (ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง)

    สิริชัยยืนยันไม่ให้รหัสผ่าน ทำให้ พ.ต.ต.สุรโชค เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ พ.ต.ท.ภุมเรศ อินทร์คง สว. (สอบสวน) สภ.ธัญบุรี ดําเนินคดีกับสิริชัย หลังจากสิริชัยได้รับการปล่อยตัวจากศาลจังหวัดธัญบุรี จึงได้เดินทางไปที่ สภ.ธัญบุรี พ.ตท.ภุมเรศ แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และ 27

    สิริชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า คดีของ สภ.คลองหลวง ที่เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนขอศาลออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา นอกจากนี้ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี อีกทั้งผู้ต้องหาในคดีอาญาย่อมมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือกระทำการใดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายในวันที่ 5 ก.พ. 2564

    หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวสิริชัยไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ธัญบุรี ลงวันที่ 14 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25090)
  • สุนัยต์ คงแสงดาว พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้อง “นิว” สิริชัย ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 27 “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล หรือเจ้าพนักงานที่สั่งการเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ" อันกำหนดโทษปร้บไม่เกิน 200,000 บาท

    ทั้งนี้ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28189)
  • สิริชัยพร้อมทนายความเดินทางไปที่ศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกันในคดีตามมาตรา 112 และพบว่านอกจากอัยการได้ยื่นฟ้องคดี 112 แล้ว เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ยังได้ยื่นฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดีในวันเดียวกันด้วย

    ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    คำร้องประกอบเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า จำเลยเคยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนและได้เดินทางมาตามนัดหมายโดยตลอด ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหาในคดี จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับยังมีภาระต้องเข้าเรียน หากถูกควบคุมตัวไว้จะไม่สามารถจัดการภาระทางการศึกษา ย่อมส่งผลเสียหายต่ออนาคตทางการศึกษาของจำเลย

    หลังจากยื่นคำร้อง เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสิริชัยไปที่บริเวณใต้ถุนศาล เพื่อรอฟังคำสั่งศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในห้องดังกล่าว พบว่ามีผู้ต้องหาและจำเลยคดีอื่นอีก 16 ราย และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าฟังคำสั่งด้วย

    ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 6 พ.ค. 2564 และนัดพร้อมในวันที่ 8 มิ.ย. 2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28189)
  • จำเลยแถลงต่อศาลว่ามีทนายความแล้วและประสงค์ต่อสู้คดี แต่วันนี้ทนายความติดนัดคดีอื่น ขอยื่นคำให้การในนัดหน้า ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 6 พ.ค. 2564)
  • โจทก์ จำเลย และเสมียนทนายจำเลยมาศาล เสมียนทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจำเลยติดโควิด ต้องเข้ารับการรักษาตัว ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2564 โจทก์ไม่ค้าน ศาลให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564)
  • สิริชัยให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงจะนำพยานบุคคลเข้าสืบ 5 ปาก ทนายจำเลยระบุว่าไม่สามารถขอรับข้อเท็จจริงพยานปากใดได้ ทำให้ต้องสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก

    ด้านทนายจำเลยแถลงขอนำสืบพยานจำเลยทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ ผศ.ดร.สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวจำเลย, และเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากทางมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง นอกจากนี้ยังมีพยานเอกสารอีก 2 ฉบับทึ่ถูกยื่นในวันนี้คือ สำเนากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และสำเนาคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ร้องขอให้ศาลจังหวัดธัญบุรี ออกคำสั่งอนุญาตที่ 1/2564 ขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในมือถือจำเลย

    จากนั้น คู่ความได้ตกลงวันสำหรับนัดสืบพยานในคดีนี้ในวันที่ 27 ต.ค. และ 26 พ.ย. 2564

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31830)
  • โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จําเลยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขได้ตามขอ ก่อนอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1021/2564 ของศาลนี้ ที่โจทก์ขอนับโทษต่อ

    จําเลยแถลงรับว่า ดาบตํารวจฟ้าลั่น ปุ๋ยทอง เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรคลอง 12, ธัชชัย พันธ์คํา เจ้าพนักงานตํารวจศาลจังหวัดธัญบุรี อยู่ในห้องรอประกันในวันเกิดเหตุ และพันตํารวจตรีตฤณ ลีลานุช ไปและอยู่ร่วมกับพันตํารวจโทสุรโชค กังวานวาณิชย์ ในวันเกิดเหตุ และให้การไว้ตามบันทึกคําให้การของพยาน โจทก์จึงแถลงไม่ติดใจสืบพยานทั้ง 3 ปาก

    สืบพยานโจทก์ได้ 2 ปาก โจทก์แถลงหมดพยาน เลื่อนไปสืบพยานจำเลยในวันที่ 26 พ.ย. 2564 ตามที่นัดไว้

    ++พยานโจทก์ปากแรก: พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ บก.ปอท. ผู้กล่าวหา++

    พ.ต.ต.สุรโชค เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตของจำเลย หน่วยงานที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต คือ สภ.คลองหลวง เมื่อจำเลยปฏิเสธการให้เข้าถึง จึงได้มาแจ้งความที่ สภ.ธัญบุรี

    พยานเบิกความว่า ที่ยื่นคำร้องต่อศาลนั้นเพราะมีข้อเท็จจริงว่า มีการโพสต์รูปการพ่นสีสเปรย์ลงบนพระฉายาลักษณ์ผ่านทางเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมบนเฟซบุ๊ก ต้องการตรวจสอบว่าจำเลยเป็นคนโพสต์หรือไม่ จำเป็นต้องขอรหัสเพื่อเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารทั้ง 2 ชิ้น ทั้งนี้ ยังมีการทำบันทึกเหตุอันควรเชื่อไว้ด้วย โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่รายอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่จำเลยปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อ

    อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ถามค้านทวนความจำพยานว่า สำหรับในคดีพ่นสี ไม่มีการบันทึกไว้ในบันทึกจับกุมว่า จำเลยมีพฤติการณ์ไปโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก มีแค่เรื่องการพ่นสี ทั้งในคำขอท้ายฟ้องเองก็ไม่ได้มีข้อกล่าวหาระบุว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของกลางที่ยึดไปก็ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องมือสื่อสาร 2 ชิ้นนี้ ซึ่งจำเลยได้มอบให้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตอนถูกจับกุมในคดีแรกแล้ว

    ทนายยังถามค้านว่า ในส่วนบันทึกเหตุอันควรเชื่อ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพระฉายาลักษณ์ที่ถูกพ่นสี แต่ไม่พบข้อความที่ว่า ผู้ต้องหาเอามือถือไปถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไม่ได้มีหมายเหตุไว้ด้วยว่า ได้อธิบายเรื่องโพสต์ข้อความกับรูปให้จำเลยฟัง ส่วนเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพก็คือเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ใช่เฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย

    ทนายถามต่อไปว่า ปกติแล้ว ในการตรวจสอบข้อมูลต้องมีการทำสำเนาข้อมูลเพื่อไปตรวจพิสูจน์แยกกันไม่ให้ปนเปื้อนกับต้นฉบับ และถ้าจำเลยให้รหัสปลดล็อก อาจทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ พยานตอบกลับว่า หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ย่อมสามารถตรวจดูรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้ และหากมีการลบอีเมล ก็สามารถกู้คืนข้อมูลได้

    ทนายถามพยานว่า ในคำสั่งศาลที่พูดถึงผู้ครอบครอง หมายรวมถึงบริษัทซึ่งถือว่าเป็นผู้ครอบครองตามความหมายด้วยหรือไม่ ศาลได้ระบุว่า คำสั่งศาลหมายถึงตัวผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง พยานตอบว่า เคยมีคดีที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ จึงติดต่อไปทางบริษัทแอปเปิ้ล ประเทศไทย แต่บริษัทแจ้งกลับมาว่า ไม่สามารถรับประกันการเข้าถึงข้อมูลและข้อมูลที่ได้อาจเสียหาย ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง พยานจึงไม่ได้ส่งหนังสือไปสอบถามอีก

    พยานให้ข้อมูลว่า มีวิธีอื่นในการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องปลดล็อครหัส แต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับและอาจทำให้ข้อมูลเสียหาย ทนายยังสอบถามเรื่องข่าวสารที่ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เคยจะสั่งซื้อเครื่องมือเทเลไบรด์สำหรับตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ พยานตอบว่า เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ยังไม่มีการจัดซื้อจริง พยานไม่ยืนยันว่าเครื่องมือดังกล่าวสามารถดึงข้อมูลออกมาได้ เพราะโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันเองก็มีการอัพเดทตลอดเวลา เครื่องมือในตอนนี้อาจจะไม่สามารถเจาะข้อมูลได้เช่นเดิม เครื่องมือบางชนิดสามารถใช้เจาะข้อมูลได้ แม้ไม่มีรหัสผ่าน แต่ไม่สามารถทำสำเนาข้อมูลได้ จึงไม่ได้รับการยอมรับ รหัสผ่านจึงยังจำเป็นอยู่ แม้ว่าจะมีเครื่องมือ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและทำสำเนาได้

    อัยการถามติงว่า สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้แก้ไข หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล พยานตอบว่า รู้เพียงแค่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่จะตรวจว่าใครเป็นคนทำนั้นต้องใช้การสอบสวนอย่างอื่นประกอบ

    ในส่วนของเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อัยการถามว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไร พยานเบิกความตอบว่าจำไม่ได้ ในส่วนบันทึกข้อความที่ทนายบอกว่า ไม่ได้ระบุว่ามีเอกสารแนบท้ายไปด้วย พยานตอบว่า ความจริงพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกการสอบสวนส่งให้พยานแล้ว พร้อมคำร้อง

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.ภุมเรศ อินทร์คง พนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี++

    ก่อนที่จะสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 อัยการนำพยานวัตถุเพิ่มเติมมาด้วยเป็นซีดีบันทึกเหตุการณ์ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 ทนายขอคัดค้านการส่งโดยให้เหตุผลว่า บันทึกวิดีโอนั้นเป็นพยานวัตถุที่อยู่ในครอบครองของโจทก์อยู่แล้ว ดังนั้นโจทก์สามารถมายื่นหรือทำสำเนามาเสนอต่อศาลได้เลยนับแต่วันที่ตรวจพยานหลักฐาน จึงไม่ใช่เหตุที่เพิ่งทราบว่ามีพยานหลักฐานนั้นอยู่ การยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมจึงทำให้จำเลยเสียเปรียบในคดี อัยการกล่าวว่า พนักงานสอบสวนเพิ่งส่งมาให้วันนี้ ตนไม่ทราบมาก่อน ศาลรับวิดีโอไว้พิจารณา

    พ.ต.ท.ภุมเรศ เบิกความด้วยเสียงที่เบามาก ถึงรายละเอียดการเป็นผู้รับแจ้งความจากผู้กล่าวหา

    ต่อมาตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ว่า ในคำให้การไม่ได้มีการบอกว่าจำเลยใช้โทรศัพท์มือถือและไอแพดในการกระทำความผิด พยานตอบว่า ยืนยันตามคำให้การเดิม

    ทนายถามว่า ในคำให้การไม่ได้มีการอ้างถึงเอกสารบันทึกการสอบสวน พยานตอบว่า มีเอกสารอยู่ในสำนวนอยู่แล้ว โดยผู้กล่าวหาเป็นผู้นำมาให้ โดยพยานไม่ได้มีหนังสือสอบถามไปยัง สภ.คลองหลวง หนังสือที่ผู้กล่าวหาเอามาให้ ก็เป็นเพียงสำเนา ไม่ใช่ต้นฉบับ

    ทนายถามค้านต่อว่า พยานทราบไหมว่าใครเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่พยานไม่ได้เบิกความตอบ ส่วนคำถามว่าเพจโพสต์ถึงเนื้อหาประมาณไหน อย่างไร พยานก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันเพราะไม่เห็นเอกสารเนื้อหาโพสต์ของเพจ ทนายถามอีกว่า ในคลิปวิดีโอ ไม่มีช่วงที่ผู้กล่าวหาอธิบายให้จำเลยฟังว่าใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช่หรือไม่ พยานเบิกความยืนยันตามเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในคลิป

    ทนายเท้าความว่า ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 วรรค 2 ต้องเป็นกรณีที่มีการใช้อุปกรณ์สื่อสารหรือคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในการใช้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่จึงจะมีหน้าที่ตามกฎหมาย พยานตอบว่า กฎหมายจะเป็นอย่างไรให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจพิจารณา

    ทนายจำเลยถามทิ้งท้ายว่า ในคดีมาตรา 112 ของ สภ.คลองหลวง เป็นความผิดที่เกิดจากการพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และในบันทึกการจับกุมยังไม่ระบุว่า มีพฤติการณ์การใช้โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตในการกระทำความผิด และพยานวัตถุหรือคลิปวิดีโอก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการตัดต่อหรือไม่อย่างไร พยานรับว่าใช่

    พยานตอบอัยการถามติง ระบุว่า ในคำให้การ ที่ไม่ได้ระบุถึงบันทึกการสอบสวนมาด้วยนั้น เพราะตนอาจจะถามรายละเอียดเรื่องเอกสารไม่ครบ และเหตุที่ดำเนินคดีจำเลยนั้น พยานเบิกความว่า เพราะมีคำสั่งศาลเรื่องการให้เข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จึงเชื่อว่าจำเลยมีความผิด เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว และศาลน่าจะต้องดูรายงานสอบสวนแล้ว จึงเห็นสมควรมีคำสั่งศาลออกมาได้

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 27 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/43245)
  • นัดสืบพยานจําเลย ทนายจําเลยยื่นคําร้องว่าได้รับแจ้งจากจําเลยว่า จําเลยสัมผัสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อโควิค-19 แพทย์ได้ทําการตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูกและให้จําเลยกักตัว สังเกตอาการอีก 14 วัน ตามใบสําคัญความเห็นแพทย์แนบท้ายคําร้อง ขอเลื่อนคดี โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 โดยกำชับให้จําเลย ทนายจําเลย พร้อมพยานมาศาลให้ครบ หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมาศาลได้ ก็ให้ใช้วิธีการพิจารณาผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 26 พ.ย. 2564)
  • นัดสืบพยานจําเลย ผู้รับมอบอำนาจทนายจําเลยยื่นคําร้องว่าทนายจําเลยสัมผัสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อโควิค-19 ต้องกักตัวสังเกตอาการอีก 14 วัน ขอเลื่อนคดี โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปในวันที่ 30 มี.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2564)
  • นัดสืบพยานจำเลยที่เลื่อนมาจากนัดก่อน นิว สิริชัย เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียว คดีจบการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    ++สืบพยานจำเลย: ยืนยันว่าเหตุคดี มาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือสื่อสาร จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้รหัสเพื่อเข้าถึง ประกอบกับมีข้อมูลส่วนตัวสำคัญ จึงไม่ให้++

    สิริชัยเบิกความว่า ตนถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 โดยในบันทึกการจับกุมก็ไม่ปรากฏข้อความว่า พยานได้ใช้โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตในการกระทำความผิด อีกทั้งยังไม่มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีดังกล่าว

    สิริชัยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนถูกจับกุมว่า ตนถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 เมื่อเวลาราว 21.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค. 2564 ตำรวจได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง กุญแจรถจักรยานยนต์ และกระเป๋าสะพายข้าง 1 ใบ โดยพยานยินยอมให้ตรวจยึดสิ่งของทั้งหมดแต่โดยดี หลังถูกจับกุมพยานถูกพาตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จากนั้นตำรวจได้พาตัวพยานกลับมาที่หอพัก ก่อนทำการตรวจยึดกระป๋องสีสเปรย์, แท็บเล็ต และเสื้อผ้า โดยจำเลยยินยอมให้ตรวจยึดไปแต่โดยดี

    วันต่อมา ตำรวจได้นำตัวพยานไปยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในระหว่างที่พยานถูกควบคุมตัวในห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่ามีตำรวจ บก.ปอท. นำคำสั่งศาลมายื่นและอ่านให้พยานฟัง โดยได้ร้องขอรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ที่ตรวจยึดไป โดยตำรวจ บก.ปอท. ไม่ได้อธิบายว่าการขอรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาอย่างไร

    พยานเบิกความยืนยันว่า คำสั่งศาลที่ตำรวจ บก.ปอท. นำมาอ่านให้ฟังไม่ได้ระบุว่า จะต้องมอบรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร พยานจึงไม่ได้ให้รหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารกับตำรวจไป แต่ก่อนหน้านั้นได้ยินยอมให้ตำรวจตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารไปแล้ว อีกทั้งในคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไม่ได้มีการกล่าวหาถึงการใช้อุปกรณ์สื่อสารร่วมด้วย และเมื่อถูกตั้งข้อกล่าวหา บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้การหรือกระทำการที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

    พยานยังเบิกความอีกว่า อุปกรณ์สื่อสารของตนมีข้อมูลส่วนตัวมากมาย ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันนี้ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ประชาชนทั่วไปก็มักจะเก็บไว้ในมือถือ เพราะอยู่ในยุคออนไลน์แล้ว

    พยานเบิกความตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า คดีนี้ที่พยานถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญา ในกรณีเดียวกัน หากว่าในอนาคตมีคดีขับรถชนคนตาย ซึ่งเป็นคดีอาญาเช่นเดียวกัน ผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวจำเป็นจะต้องถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือด้วยหรือไม่ การขับรถชนเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบนโทรศัพท์มือถือ จะถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและขอรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ด้วยหรือไม่

    หลังได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ในวันเดียวกันนั้น ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้นำตัวจำเลยไปยัง สภ.ธัญบุรี ต่อมาทราบว่าตำรวจ บก.ปอท. ชุดเดียวกันที่ไปขอรหัสพยานเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร ได้เดินทางไปแจ้งความในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไว้เป็นคดีนี้ โดยในชั้นสอบสวน จำเลยได้ให้การปฏิเสธและได้ให้การไว้ตามที่ได้เบิกความต่อศาลนี้

    ทั้งนี้ แม้พยานจะไม่ได้บอกรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารของพยานในวันนั้น แต่ตำรวจก็ได้ตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารเป็นโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตไปแล้วตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม โดยตำรวจสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างอื่นเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องร้องขอรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร

    ต่อมา อัยการถามค้าน โดยจำเลยเบิกความตอบว่า ในคดีนี้ ตามที่ได้ให้การในชั้นสอบสวน จำเลยเข้าใจข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดีแล้ว ขณะตำรวจ บก.ปอท. นำคำสั่งศาลจังหวัดธัญบุรีมาอ่านให้ฟัง ในตอนแรก จำเลยเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของศาลอาญา เนื่องจากตำรวจได้อ่านคำสั่งดังกล่าวและได้อ่านว่าเป็น “คำสั่งของศาลอาญา” แต่ภายหลังทราบว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี และคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าพยานจะต้องให้รหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร แต่ตำรวจมีการร้องขอรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารด้วย ในระหว่างที่ตำรวจนำคำสั่งศาลมาอ่านให้ฟังนั้น ทนายจำเลยอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

    ตั้งแต่วันเกิดเหตุในคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จนถึงปัจจุบัน พยานได้ติดตามและดูข่าวสารจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีการโพสต์ภาพเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์และพระรูปซึ่งถูกพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความ “ยกเลิก 112” และ “ภาษีกู” ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นอีกคดีหนึ่ง

    พยานเบิกความว่า เห็นภาพที่เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ แต่ไม่ได้เห็นในวันที่โพสต์ทันที โดยเห็นภาพดังกล่าวในภายหลัง ตั้งแต่เกิดเหตุในคดีที่ถูกกล่าวหาตามข้อหามาตรา 112 จำเลยได้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งสองเครื่องที่ถูกตรวจยึดไป และจำไม่ได้ว่าได้ไปล็อกอินบัญชีบัญชีโซเชียลอื่นๆ ไว้ในอุปกรณ์ของบุคคลใดบ้าง

    ทนายจำเลยถามติง พยานตอบทนายว่า ในคดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหา พยานได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี โดยเอกสารที่อัยการโจทก์ประสงค์นำส่งต่อศาล ก็เป็นพยานเอกสารที่อัยการโจทก์ใช้นำสืบในคดีตามมาตรา 112 และจำเลยรวมถึงทนายก็ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงไปจนสิ้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่อัยการโจทก์จะนำส่งศาลและให้จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงอีก

    สุดท้ายพยานเบิกความยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และขณะที่ตำรวจ บก.ปอท. นำคำสั่งศาลไปอ่านให้ฟังและร้องขอรหัสเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร ตำรวจก็ไม่ได้แจ้งว่าพยานมีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวอย่างไร

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1020/2564 ลงวันที่ 30 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43245)
  • ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า คดี 112 ที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องการพ่นสี ไม่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ เห็นว่า จากรายงานของเจ้าพนักงานตำรวจ หลังจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด จำเลยมีการโพสต์ภาพขณะกระทำการในระบบคอมพิวเตอร์ ตำรวจจึงจำเป็นต้องตรวจข้อมูลในอุปกรณ์สื่อสารของจำเลย

    ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า ภายในโทรศัพท์มีแอพพลิเคชั่นและข้อมูลส่วนตัวสำคัญ เช่น แอพพลิเคชั่นธนาคาร ไม่อาจให้เข้าถึงได้ เห็นว่า แอพพลิเคชั่นสำคัญจะกำหนดให้ต้องเข้ารหัสไว้อยู่แล้ว จำเลยเรียนปริญญาตรี ย่อมต้องรู้วิธีเข้าไปเปลี่ยนรหัส เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจแล้วก็สามารถเปลี่ยนรหัสได้ ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้น

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 27 ลงโทษปรับ 40,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 100 บาท นับจากวันที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจนกว่าจะกระทำการให้ถูกต้อง

    ต่อมา ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ พร้อมทั้งขอผ่อนจ่ายค่าปรับ ศาลอนุญาตตามคำขอ ให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยให้สาบานตน หลังจากก่อนหน้านี้เคยวางหลักทรัพย์ประกันในชั้นพิจารณาไปแล้วเป็นเงิน 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อคำพิพากษาว่า ศาลไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยมีข้อต่อสู้ว่า จำเลยอยู่ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ย่อมมีสิทธิไม่ให้การ หรือกระทำการใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอรหัส เป็นการขอให้จำเลยกระทำการที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายที่จำเลยจะปฏิเสธ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43245)
  • ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หลังสิริชัยและทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในประเด็นการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนบรรดาความผิดอาญาซึ่งได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้จัดเก็บคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด หรือมีข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นเท่านั้น

    รวมถึงคำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุให้จำเลยส่งรหัสผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือไอแพด (iPad) ให้แก่เจ้าหน้าที่ การตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ iPad จะทำให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของจำเลยซึ่งควรจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย

    เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาที่ 17 ชั้นที่ 4 ศาลออกพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีรายละเอียดโดยสรุปว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว เพราะศาลชั้นต้นออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจที่จะสั่งให้จำเลยถอดรหัสลับหรือขอความร่วมมือในการถอดรหัสลับได้ จำเลยจะอ้างว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้

    หากจำเลยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายส่วนหนึ่งส่วนใด หรือหากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำโดยมิชอบ จำเลยก็สามารถที่จะดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ แต่ไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมให้รหัสลับเพื่อเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ พิพากษายืน

    ลงนามคำพิพากษาโดย วิชาญ เทพมาลี, กำจัด พ่วงสวัสดิ์ และรุ่งเรือง ลำพองชาติ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

    หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ นิวได้เดินทางกลับออกจากศาลไป โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกาอีก เพราะโทษปรับยุติไปตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว เนื่องจากหลังศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาก็ได้ยกเว้นโทษปรับให้กับจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษาและไม่ได้ประกอบอาชีพมีรายได้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54981)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิริชัย นาถึง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิริชัย นาถึง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 03-05-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิริชัย นาถึง

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิชาญ เทพมาลี
  2. กำจัด พ่วงสวัสดิ์
  3. รุ่งเรือง ลำพองชาติ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 30-01-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์