ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ดำ ยชอ.246/2564
แดง ยชอ.183/2566

ผู้กล่าวหา
  • วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.246/2564
แดง ยชอ.183/2566
ผู้กล่าวหา
  • วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง

ความสำคัญของคดี

"สายน้ำ" (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกแอดมินเพจ #เชียร์ลุง เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึก ร่วมกิจกรรม #ภาษีกู ที่สีลม จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ยังมีข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุม ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ สายน้ำนับเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

ทั้งนี้ ในการเข้ารับข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนได้นำตัวสายน้ำไปให้ศาลเยาวชนฯ ตรวจสอบการจับกุม และขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลอนุญาต ให้ออกหมายควบคุมตัว ทำให้ครอบครัวต้องยื่นประกัน โดยใช้เงินสด 8,000 บาท วางเป็นหลักทรัพย์ ทั้งที่ในกรณีของแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ใช่เยาวชนซึ่งถูกออกหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 และไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ก็ไม่ได้ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 4 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า จําเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี กล่าวคือ

1. จำเลยได้ร่วมกันเข้าร่วมการชุมนุมและจัดทำกิจกรรมกับประชาชนจำนวนมาก บริเวณพื้นผิวจราจรบนถนนสีลม ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามไว้ โดยในการชุมนุมพบว่ามีการทํากิจกรรม ดนตรี และงานแสดงศิลปะสื่อความหมายเสียดสีการเมือง วางอยู่บนท้องถนนในลักษณะกีดขวางทางจราจร

อีกทั้ง มีป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” “หมุดราษฎร 2020” “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ) IRIVANNAVARI 13 ล้าน” “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และมีการเดินแบบแสดงแฟชั่น ซึ่งเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

จําเลยกับพวกได้ร่วมกับผู้จัดการชุมนุม ทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมในการทำกิจกรรม และยังมีการปิดถนนสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ เกิดความเดือนร้อนเกินสมควร

อีกทั้งยังเป็นการขัดขวางและกระทำอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการใช้ที่สาธารณะ อันเป็นการชุมนุมสาธารณะเกินขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป

2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยคำว่า “ทรงพระเจริญ” เป็นคําที่ใช้ถวายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง

ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี กล่าวคือ ปิดการจราจรด้วยป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เพื่อสื่อถึงเฟซบุ๊กของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อความ “หมุดราษฎร 2020” เพื่อสื่อความหมายถึงหมุดคณะราษฎรที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และฝังหมุดที่สนามหลวง จำเลยกับพวกและผู้จัดการแสดงข้อความดังกล่าวมีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในทางที่เสื่อมเสีย

อีกทั้งมีการแสดงรูปกราฟฟิกของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นการแสดงข้อความด้วยคำเขียนและภาพที่มีเนื้อหา ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี

และได้ร่วมกันนําพรมสีแดงผืนใหญ่หลายผืนมาปูที่พื้นถนน ทั้งฝั่งสีลมขาเข้าและขาออก มีการนําฉากผ้าใบกั้นด้านหลังฝั่งถนนสีลมขาเข้า เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนฉากผ้าใบฝั่งถนนสีลมขาออก เขียนข้อความบรรทัดบนว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ)” บรรทัดล่างมีข้อความว่า “SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ราชธิดาของรัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ จำเลยกับพวกต้องการเสียดสีการจัดแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ “SIRIVANNAVARI" ว่าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐถึง 13 ล้าน แสดงถึงอภิสิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์

จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเดินแบบแสดงแฟชั่น โดยพวกของจําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า และขณะกําลังเดินไปมีพวกซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบน ถือร่มกางให้ ส่วนพวกของจําเลยอีกคนซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ถือพานสีทองเดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดงดังกล่าว และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิง ก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และหญิงที่สวมชุดผ้าไหมไทยสีชมพูได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ

ในระหว่างนั้นผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครได้กล่าวคําว่า “พระราชินี” และเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งเป็นเพลงประกอบข่าวในพระราชสํานัก ทั้งยังมีผู้ชุมนุมตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ” และคําว่า “พระราชินี” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลเข้าใจว่า พวกของจําเลยนี้เป็นพระราชินีองค์ปัจจุบัน จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สายน้ำ” จําเลยได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” ซึ่ง "วชิราลงกรณ์" เป็นพระนามของรัชกาลที่ 10 โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าสายน้ำเป็นรัชกาลที่ 10 มีกริยาและการแต่งกายดังกล่าว ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องน่าตลกขบขัน โดยที่ประชาชนทั่วไปจะต้องยึดถือขนบธรรมเนียมที่จะถวายพระเกียรติด้วยความเคารพ

การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ และอาจเกิดความแตกแยกกับกลุ่มประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

3. จําเลยกับพวกยังร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้โทรโข่งและเครื่องกระจายเสียงอย่างอื่น โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.246/2564 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.ยานนาวา สายน้ำ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับจตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ในคดีที่มีวริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้กล่าวหา

    พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ยานนาวา แจ้งการกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีว่า ในการชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดพระแม่อุมาเทวี (วัดแขก) ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ราว 17.00 - 20.30 น. พบว่าสายน้ำได้เข้าร่วมในการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญกับโรคระบาด โควิด 19 ซึ่งในพื้นที่ชุมนุมเองก็ไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนด อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าวยังมีกิจกรรมที่มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ

    ทั้งนี้ สายน้ำแต่งกายด้วยชุดเสื้อกล้ามแบบครึ่งตัวสีดำ สวมกางเกงยีนส์ขายาว บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฏข้อความ “พ่อกูชื่อมานะ” “ไม่ใช่ วชิราลงกรณ์” ซึ่งปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนาให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมสีแดง โดยมีผู้ชุมนุมรอบข้างที่ชมการแสดงอยู่ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ โดยมีเจตนาแสดงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนกษัตริย์

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำว่า ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะ, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

    หลังจากเสร็จกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำแล้ว โดยสายน้ำได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวนได้นำตัวสายน้ำไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมและการแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวสายน้ำ โดยอ้างว่ายังมีพยานบุคคลที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดอีก ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหมายควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่า การแสดงออกของผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

    ต่อมา ศาลให้ออกหมายควบคุมตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษสูงเกิน 10 ปี ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยศาลกำหนดวงเงินประกันที่ 8,000 บาท ครอบครัวได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นหลักทรัพย์ประกันแทนเงินสด ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นนี้ ทำให้สายน้ำได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็น แต่เขายังต้องไปรายงานตัวที่สถานพินิจต่อไปในอนาคตตามที่ศาลกำหนด

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในกรณีของสายน้ำซึ่งเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุมตามหมายจับ และตัวสายน้ำซึ่งเป็นเยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวไว้ในระหว่างสอบสวน เช่นเดียวกับในกรณีของแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ที่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งยังไม่พบว่ามีกรณีใดที่พนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง

    สำหรับในคดีนี้ สายน้ำถือเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และเป็นรายที่ 2 ที่ถูกตั้งข้อหาในหมวดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งเป็นเยาวชนรายที่ 6 ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ สันติ

    ในส่วนของคำร้องคัดค้านการออกหมายควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งที่ปรึกษากฎหมายของสายน้ำได้ยื่นต่อศาล ได้ชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านโดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1. พฤติการณ์และข้อกล่าวหาในคดีเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้ใด อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังได้สอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจําเป็น และอาจกระทบต่อจิตใจของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเพียงเยาวชน
    2. ผู้ต้องหาเป็นนักเรียนซึ่งศึกษาอยู่ชั้น ม. 5 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพบันทึกวีดีโอล้วนอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้ว ส่วนพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ ผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าคือผู้ใด การตรวจสอบประวัติต่าง ๆ ก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรค และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน
    3. เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นเป็นองค์ประกอบหลักของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลและกติกาสากลว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน

    ที่มากไปกว่านั้น การดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหายังขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมอย่างสันติ ทั้งนี้ ไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งทำให้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก อีกทั้งลำพังการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวมิใช่การกระทำความผิดในตัวเอง หากแต่เป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองคุ้มครองไว้ให้ทำได้

    หากพนักงานสอบสวนเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปใช้เสรีภาพทำกิจกรรมใดต่อไปในอนาคตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สามารถใช้อำนาจในการจับกุม ออกหมายเรียก หรือดำเนินการตามกฎหมายเป็นคดีอื่นได้อยู่ ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องนําตัวผู้ต้องหามาขอศาลออกหมายควบคุมหรือหมายขังในคดีนี้แต่อย่างใด

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ยานนาวา ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24134)
  • เวลา 08.30 น. สายน้ำพร้อมผู้ปกครองเข้าพบเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและแนะนำของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่ศาลนัด โดยเจ้าหน้าที่พาไปที่ส่วนมาตรการพิเศษและคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กฎหมายให้ความรู้เกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติเมื่อมาศาล และให้สายน้ำทำแบบประเมินทางจิตวิทยาเพื่อส่งให้นักจิตวิทยาประเมิน อีกทั้งให้ผู้ปกครองกรอกประวัติ และทำแบบประเมินการเข้าพบเจ้าหน้าที่ที่ให้คำปรึกษา นัดครั้งต่อไป วันที่ 8 ม.ค. 2564 เวลา 8.30 น.
  • สายน้ำพร้อมผู้ปกครองเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ กรุงเทพฯ (ธนบุรี) เพื่อสืบเสาะประวัติ
  • เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและแนะนำของศาลเยาวชนฯ กลาง โทรศัพท์ถึงผู้ปกครองของสายน้ำแจ้งว่าไม่ต้องมาที่ศาล แต่เจ้าหน้าที่จะโทรสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นัดครั้งต่อไปวันที่ 1 มี.ค. 2564

  • สายน้ำพร้อมผู้ปกครองเดินทางไปรายงานตัวที่งานรับฟ้อง ศาลเยาวชนฯ เจ้าหน้าที่นัดรายงานตัวครั้งถัดไป วันที่ 29 มี.ค. 2564 เวลา 8.30 น.
  • สายน้ำพร้อมผู้ปกครองเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและแนะนำ ศาลเยาวชนฯ กลาง สายน้ำยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการอื่นแทนการดำเนินคดีอาญาก่อนฟ้อง เจ้าหน้าที่ไม่ได้กำหนดวันนัดครั้งต่อไป

  • เวลา 08.30 น. สายน้ำและผู้ปกครองมาศาลตามนัดรายงานตัวงานรับฟ้องและฟังคำสั่งฟ้อง อัยการยังไม่ฟ้องผู้ต้องหา คดีนี้ครบผัดฟ้องครั้งสุดท้าย วันที่ 16 มี.ค. 2564 ทำให้อัยการต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องภายในอายุความ จึงไม่มีวันนัดครั้งต่อไป
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 4 นัดสายน้ำฟังคำสั่งในคดีนี้ โดยอัยการได้มีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), 35 และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

    ทั้งนี้ อัยการได้บรรยายฟ้องว่า คดีนี้อัยการไม่สามารถยื่นฟ้องจำเลยได้ภายในกำหนด คดีขาดผัดฟ้อง ต่อมารองอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยแล้ว และอัยการไม่ได้คัดค้านปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    จากนั้นที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ในช่วงราว 15.00 น. ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสายน้ำ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดจำนวน 12,000 บาท ซึ่งครอบครัวได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางต่อศาล ศาลกำหนดวันนัดสอบถามในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.246/2564 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37191)
  • นัดสอบถามสายน้ำ ผู้ปกครอง และที่ปรึกษาทางกฎหมาย มาศาล มีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากเยอรมนี ออสเตรเลีย ลักเซมเบิร์ก และอังกฤษ ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยเจ้าหน้าที่สถานทูตได้จัดทำหนังสือแจ้งต่อศาลไว้ล่วงหน้าแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากคดีของสายน้ำเป็นคดีเยาวชน จำเป็นต้องพิจารณาเป็นการลับ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเช่นบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เท่านั้นถึงมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของจำเลย อันเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี

    โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องฉบับลงวันที่ 5 พ.ย. 2564 โดยเพิ่มเติมข้อความว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ ยชอ.238/2564 ของศาลนี้ และขอให้ศาลนับโทษจําคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจําเลยต่อจากโทษจําคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจําเลยในคดีดังกล่าว จําเลยแถลงไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องตามขอ

    หลังศาลอธิบายฟ้อง สายน้ำขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคําให้การจําเลยที่ยื่นต่อศาล ต่อมา ศาลให้สายน้ำอ่านรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจฯ หลังอ่านแล้ว สายน้ำได้แถลงว่า มีข้อคัดค้านบางประการ เนื่องจากพนักงานคุมประพฤติได้บันทึกและสรุปข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ตนและผู้ปกครองได้ให้การไว้ จึงขอยื่นคำคัดค้านภายใน 20 วัน ศาลอนุญาต

    จากนั้นที่ปรึกษากฎหมายจําเลยแถลงขอตรวจพยานหลักฐานตามคําร้องที่ยื่นต่อศาล โจทก์แถลงไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.246/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39038)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังก่อนถามคำให้การ สายน้ำให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากมีพยานหลักฐานจำนวนมาก ศาลจึงให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 16-17, 22 ก.พ., 26-28 เม.ย., 3 และ 10 พ.ค. 2566 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 12 พ.ค. 2566
  • โจทก์นำพยานโจทก์รวม 27 ปาก เข้าเบิกความ อาทิ ผู้กล่าวหา, พนักงานสอบสวน, นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ด้านที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ได้แก่ สายน้ำ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักวิชาการด้านศิลปะการละคร โดยในการพิจารณาคดี นอกจากจำเลย ผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมายแล้ว ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการพิจารณา

    การสืบพยานโดยรวม ทางพยานฝ่ายโจทก์ได้พยายามกล่าวหาว่า พฤติการณ์ของ “สายน้ำ” มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะสวมใส่ครอปท็อปเลียนแบบภาพของในหลวงที่มีการเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ต แม้พยานหลายปากจะรับว่าเป็นที่รู้กันทั่วว่าเป็นภาพตัดต่อก็ตาม รวมทั้งกิจกรรมก็เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่

    ขณะที่ข้อต่อสู้ของทางจำเลยคือ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม ทั้งการชุมนุมไม่ได้ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรค และเป็นไปโดยสงบ ส่วนการใส่เสื้อครอปท็อปก็เป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ไม่ว่าใครก็สามารถสวมใส่ได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งการแต่งกายดังกล่าวจำเลยต้องการเลียนแบบ “จัสติน บีเบอร์” นักร้องชื่อดังเท่านั้น ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีการเตรียมการหรือเป็นการกระทำร่วมกัน

    ++ผู้กล่าวหาแจ้งความ “สายน้ำ” เหตุสวมครอปท็อป-เขียน ‘พ่อกูชื่อมานะฯ’ บนแผ่นหลัง

    วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายและเป็นแอดมินเพจ “ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ”

    เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. พยานดูการถ่ายทอดสดสถานการณ์ชุมนุมทางโซเชียลมีเดีย ปรากฏภาพผู้หญิงสวมชุดไทยสีชมพูชื่อ “จตุพร แซ่อึง” มีคนคอยเดินตามถือพานและกระเป๋าให้ และมีผู้ชุมนุมทำท่าหรือกิริยาเหมือนมารอรับขบวนเสด็จ นอกจากจตุพรก็มีเด็กผู้ชายสวมเสื้อครอปท็อปสีดำกางเกงยีนส์ ซึ่งก็คือจำเลยคดีนี้ ร่วมเดินแฟชั่นโชว์ด้วย

    พยานระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงอยู่ต่างประเทศสวมใส่เสื้อครอปท็อปปรากฏในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกิจกรรมนี้ จำเลยได้แต่งกายเลียนแบบภาพดังกล่าว และมีการเขียนข้อความว่า “พ่อกูชื่อมานะ” ตรงแผ่นหลัง พร้อมกับพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10 ไว้ตรงบริเวณบั้นเอว

    จำเลยได้ร่วมเดินพรมแดงโดยมีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบ ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้เปิดก่อนเข้าข่าวพระราชสำนัก พร้อมกับแสดงกิริยาโบกไม้โบกมือคล้ายในหลวงที่มีประชาชนมารอรับเสด็จ ขณะที่ผู้ชุมนุมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” พร้อมกับคว้าข้อเท้า จับตัว ทำท่าหมอบกราบ โดยจำเลยไม่ได้ปฎิเสธแต่อย่างใด

    พยานเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการล้อเลียนเสียดสีในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงได้บันทึกวิดีโอลงแผ่นซีดีแล้วนำมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน วริษนันท์เบิกความว่า ตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว อาจจะเป็นกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือกลุ่มเยาวชนปลดแอก

    พยานทราบถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของการชุมนุม ได้แก่ นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามพฤติการณ์ของกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ส่วนตัวพยานไม่ชอบการด่าทอ ใส่ร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ชอบให้ใครก้าวล่วงพระองค์ โดยพยานกับพวกในเครือข่ายได้ช่วยกันรวบรวมคลิปที่จำเลยกระทำผิด

    ในสื่อสังคมสื่อออนไลน์ พยานใช้ชื่อว่า “แอดมินเจน” ดูแลเพจภาคีประชาชนปกป้องสถาบันและประชาชนของพระราชา มีผู้ร่วมดูแลประมาณ 10 คน ในการทำหน้าที่แอดมินเพจภาคี พยานก็ยังใช้สิทธิตามกฎหมาย แจ้งความมาตรา 112 กับคนอื่น นอกจากนี้พยานยังเป็นแอดมินเพจ “เชียร์ลุง” อีกด้วย แต่เพจนี้ปิดตัวไปแล้ว

    วริษนันท์เบิกความว่า ไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมใส่ครอปท็อปในที่สาธารณะ รวมถึงไม่เชื่อว่าในหลวงจะแต่งกายในลักษณะดังกล่าว

    ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านว่า หลังพยานเห็นการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว ทำให้รู้สึกหมดศรัทธากับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้รู้สึกหมดศรัทธา แต่รู้สึกโกรธโมโหและเสียใจที่มีคนก้าวล่วงพระองค์ พยานจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของทั้งสองพระองค์

    ++ผู้กำกับ สน.ยานนาวา เบิกความ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ-ไม่มีการจับกุมในวันเกิดเหตุ

    พ.ต.อ.ประเดิม จิตวัฒนาภิรมย์ ผู้กำกับ สน.ยานนาวา เบิกความว่า ทางตำรวจทราบว่าเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้ไปออกโทรทัศน์รายการ “ถามตรงกับจอมขวัญ” และประกาศว่าจะมีการจัดแฟชั่นโชว์ที่สีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563

    ในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ทาง สน.ยานนาวา เตรียมจัดกำลังควบคุมฝูงชน เนื่องจากมีการชุมนุมปิดถนนสีลม โดยแบ่งกำลังไว้ 3 สถานที่ ได้แก่ วัดแขก, แยกสุขสวัสดิ์ และสีลม

    พยานพบกลุ่มผู้ชุมนุมมาบริเวณแยกวัดแขก โดยมายืนออกันเต็มบริเวณถนนสีลม การจราจรไม่สามารถใช้การได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก พร้อมกับโห่ร้องขับไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณนั้น เนื่องจากกลัวเกิดการปะทะ การชุมนุมจึงได้ดำเนินต่อไป จนยุติลงในเวลาประมาณ 20.30 น.

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.ประเดิม เบิกความว่าการแสดงออกและการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 แต่ขณะเกิดเหตุยังมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อยู่ พยานทราบว่าคนที่ประกาศจัดการชุมนุม คือ “มายด์” ภัสราวลี

    พยานเบิกความว่า ตนอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. ในระหว่างนั้น ไม่เห็นตัวจำเลยและไม่ได้เห็นว่า จำเลยมีส่วนร่วมอย่างไรในการจัดเวทีปราศรัย ทั้งรับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และไม่มีการจับกุมในวันที่เกิดเหตุ

    พยานรับว่า สถานที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่เมื่อมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก็เกิดความแออัด เดินไม่สะดวก หลังการชุมนุมพยานไม่ได้ติดโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

    ++เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เลิก ระบุไม่ได้มีการขออนุญาตการชุมนุม

    พ.ต.ท.สมบัติ อำไพพร เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลในการชุมนุมสาธารณะ เบิกความว่าตนได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ สน.ยานนาวา ให้ออกแบบแผนรักษาความปลอดภัย โดยมีฝ่ายป้องกันและปราบปราม และตำรวจนครบาลเข้าร่วมด้วย

    พยานได้ดูแลรับผิดชอบตรงพื้นที่บริเวณแยกวัดแขก มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมาเข้าร่วมตรงบริเวณดังกล่าวจนเต็มถนนและได้ทำการปิดถนน จากการตรวจสอบไม่ปรากฎว่ามีการยื่นคำร้องแจ้งขออนุญาตการชุมนุมล่วงหน้า ผู้กำกับจึงได้สั่งให้พยานแจกจ่ายประกาศให้แก่ผู้ชุมนุม

    พยานได้ขึ้นรถขยายเสียงอ่านประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ถอนกำลังออกไป และหลังการชุมนุมจบลง พยานได้มาให้การต่อพนักงานสอบสวน

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.สมบัติ เบิกความรับว่า ระหว่างการชุมนุมไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงตะโกนโห่ร้องไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ทั้งนี้ พยานเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++สืบสวนระบุเห็นสายน้ำแสดงกิริยาเลียนแบบในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ไม่เคยเห็นในหลวงสวมใส่ครอปท็อปมาก่อน

    พ.ต.อ.ประวิทย์ วงษ์เกษม รองผู้กำกับสืบสวน สน.ยานนาวา เบิกความว่าขณะเกิดเหตุพยานมีหน้าที่วางกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมมีการจัดตั้งเวทีและมีกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งการ์ดใส่ปลอกแขน มีการลงถนนและติดป้ายเกี่ยวกับสถาบันฯ ตรงเวทีแฟชั่นโชว์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    พยานเห็นสายน้ำเดินแฟชั่นโชว์ แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือ ทักทายประชาชน และผู้ชมก็หมอบกราบ หลังจากยุติการชุมนุม พยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนให้ผู้บังคับบัญชา ก่อนที่จะไปแจ้งดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนและสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.ประวิตร เบิกความว่า พยานลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในชุดแต่งกายนอกเครื่องแบบ ในที่เกิดเหตุมีชุดสืบสวนจาก สน.ยานนาวา ราว 10 นาย พยานได้แฝงตัวและปะปนไปกับพื้นที่ชุมนุมบริเวณต่างๆ และคอยดูแลการชุมนุม

    ในการชุมนุมได้มีการกล่าวหาว่าแบรนด์ SIRIVANNAVARI ว่าใช้งบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ แต่ในทางข้อเท็จจริง พยานยังไม่ทราบ นอกจากนี้พยานยังไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าว

    พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมดังกล่าว สายน้ำได้มีการซักซ้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ตะโกน “ทรงพระเจริญ” ก่อนเดินแฟชั่นโชว์หรือไม่ พยานทราบว่า “ทรงพระเจริญ” ไม่มีในพจนานุกรม แต่ทราบว่าใช้กับพระมหากษัตริย์ และใช้ในการแสดงละคร เช่น การเล่นลิเก

    ในสถานที่ชุมนุมมีการกีดขวางทางจราจรและผู้ชุมนุมหนาแน่น มีผู้ชุมนุมทั้งใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ทั้งนี้พยานไม่ได้ติดโควิด-19 หลังการชุมนุมแต่อย่างใด
    .
    ร.ต.อ.กรณินทร์ คุ้มกัน ผู้บังคับหมู่ สน.ยานนาวา ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าว ในวันเกิดเหตุพยานปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 16.00 น. มีผู้ชุมนุมเข้ามาที่ถนนสีลมบางส่วน มีการกางแผ่นไวนิลเขียนว่า “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ฝั่งตรงข้ามวัดแขก ซึ่งป้ายข้อความดังกล่าวเป็นชื่อกลุ่มในเฟซบุ๊ก และสืบทราบมาว่าเป็นกลุ่มของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สร้างขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ มีป้าย “งบกระทรวงพาณิชย์ หนุนกิจการ SIRIVANNAVARI 13 ล้านบาท” และมีข้อความปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับภาพศิลปะล้อเลียนการเมืองวางยาวไปตามถนน

    ระหว่างทำกิจกรรม พยานเห็นจตุพรสวมชุดไทยสีชมพูแสดงกิริยาเลียนแบบพระราชินี ขณะที่จำเลยสวมชุดครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือคล้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ตอนเยี่ยมประชาชน มีผู้ชุมนุม 2-3 รายทำท่าคล้ายหมอบกราบและจับข้อเท้าจำเลย

    ในวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมมีทั้งใส่หน้ากากอนามัยและไม่ได้ใส่ รวมถึงไม่มีการบริการเจลแอลกฮอล์แต่อย่างใด

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ร.ต.อ.กรณินทร์ เบิกความว่า ในการสืบสวนหาข่าวตนใช้มือถือถ่ายภาพและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ใช้กล้องถ่ายภาพ พยานลงพื้นที่กับเพื่อนร่วมงานอีก 10 กว่านาย รวมถึงมีผู้บังคับบัญชาด้วย

    พยานรับว่า ตอนเห็นจำเลยเดินแฟชั่นโชว์ จำเลยเดินแบบในลักษณะที่เป็นสากล พยานไม่ได้สืบสวนหาข่าวคนที่หมอบกราบว่าเป็นใคร และเกี่ยวข้องยังไงกับจำเลย ที่สำคัญพยานไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายด้วยชุดครอปท็อปมาก่อน และการกระทำของจำเลยไม่ได้ทำให้พยานรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังในหลวงรัชกาลที่ 10

    พยานรับว่าสถานที่ชุมนุมดังกล่าวเป็นถนนเปิดโล่ง มีหลายช่องทางจราจร อีกทั้งพยานไม่ได้ติดโควิด-19 จากที่ชุมนุม
    .
    พ.ต.ท.เทอดไท สุขไทย ผู้กำกับฝึกอบรมกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความว่า พยานได้จัดทำรายงานและสืบสวนจำเลย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 พยานได้ปฎิบัติหน้าที่รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ที่วงเวียนใหญ่ ในระหว่างที่เสด็จมีกลุ่มของจำเลยในคดีนี้ ได้กระทำการชู 3 นิ้ว พร้อมกับตะโกน “ยกเลิก 112” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการกระทำในลักษณะนี้ พยานอ้างว่าเกือบทุกครั้งที่มีการเสด็จ สายน้ำจะกระทำการในลักษณะนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความปลอดภัยและถวายพระเกียรติของในหลวง

    ในเรื่องการแสดงออก สายน้ำไม่ได้มีแค่คดีเดียว พยานมองว่าไม่ใช่การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นเรื่องของเจตนา

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.เทอดไท เบิกความว่า ไม่ทราบว่าสายน้ำมีคดี 112 สองคดี โดยมีอีกคดีที่ยกฟ้องไปแล้ว

    พยานทราบความหมายของการชู 3 นิ้ว สื่อถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ คนทุกคนเกิดมาเท่ากัน รวมถึงพยานทราบว่ารัฐธรรมูญมาตรา 25 ได้ระบุเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามที่กฎหมายกำหนด

    สำหรับการชุมนุมดังกล่าว พยานดูรายงานตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่า กลุ่มนี้ไม่มีแกนนำ ทุกคนสามารถเป็นแกนนำได้หมด ดังนั้นจึงถือว่าสายน้ำเป็นแกนนำ รวมถึงจตุพรที่มีคำพิพากษาไปแล้ว อย่างไรก็ตามในรายงานไม่ปรากฎว่าสายน้ำขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด

    ++ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ระบุ ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับสื่อที่เผยแพร่การชุมนุม ด้านกองพิสูจน์หลักฐานไม่ทราบว่าคลิปวิดีโอเหตุการณ์การชุมนุมผ่านการตัดต่อหรือไม่

    พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมออนไลน์ เบิกความโดยสรุปว่า พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าวการเชื่อมโยงทางออนไลน์ จากการสืบสวนพบคลิปในสื่อออนไลน์ 3 ช่องทาง เป็นภาพเคลื่อนไหววิดีโอของจตุพรและจำเลยในคดีนี้ โดยทั้ง 3 สื่อมีการเปิดเป็นสาธารณะ โดยพยานตรวจพบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจตุพรได้เผยแพร่สื่อดังกล่าว แต่ตรวจไม่พบว่าสายน้ำเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวแต่อย่างใด

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า ตนใช้เฟซบุ๊กมาตลอดกว่า 10 ปี ทราบว่าบัญชีเฟซบุ๊กสามารถปลอมแปลงได้ หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่ามาจากภาพที่เผยแพร่มาจากสามสื่อออนไลน์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีกับสื่อดังกล่าว
    .
    ร.ต.อ.เอกภักดิ์ รัตนพันธ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้มีหลักฐานซีดี ซึ่งได้มาจากคลิปวิดีโอของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และไทยรัฐ แผ่นซีดีดังกล่าวพบความไม่ต่อเนื่องของเหตุการณ์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นการตัดต่อหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่แฟ้มต้นฉบับ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++ตำรวจจราจรเห็นว่าการชุมนุมสร้างความเดือดร้อน ปิดกั้นจราจร ไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า

    ร.ต.อ.สมชาย ดีพาชู เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกจราจร เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ สน.ยานนาว าให้ไปควบคุมจราจรที่ถนนนราธิวาสตัดกับสีลม

    ในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมารวมตัวเวลา 14.00 น. โดยมีการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กมากั้นการจราจร พยานได้แจ้งกับทางกลุ่มผู้ชุมนุมว่าให้เอาแผงเหล็กดังกล่าวออก เนื่องจากประชาชนเข้าไปในถนนสีลมซอย 9 ไม่ได้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมยกแผงเหล็กออก

    ในการปิดถนนจราจรครั้งนี้ กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในสีลมซอย 9 มีการร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งพยานทราบจากผู้กำกับว่าการปิดกั้นจราจรดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.สมชาย เบิกความว่า พื้นที่บริเวณวัดแขกมีการจัดพีธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้ง เช่น ขบวนแห่ โปรยดอกไม้ เป็นต้น หากมีการจัดกิจกรรมเมื่อไหร่ก็จะปิดถนน ซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้นเข้าใจได้เพราะเป็นการปิดถนนปีละครั้ง และเมื่อมีการปิดถนนก็สามารถใช้ช่องทางจราจรอื่นสัญจรได้

    พยานรับว่าทางผู้กำกับได้วางแผนการจราจรรับมือกิจกรรมดังกล่าว โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูแลประชาชนที่สัญจร

    ++เจ้าของกิจการระบุการชุมนุมกระทบรายได้หลัก แม้บริเวณนั้นจะมีการจัดกิจกรรมทางศาสนา-ปิดถนนบ่อยครั้ง

    วีระกร เจริญศรี ประชาชนที่เกิดเหตุ เบิกความว่าขณะเกิดเหตุประกอบอาชีพร้านนวดเพื่อสุขภาพที่แขวงสีลม ในวันที่มีการชุมนุมพยานเห็นว่ามีสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีนักข่าวมาสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม

    ช่วงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น พยานเห็นผู้ชุมนุมมายืนเต็มท้องถนน มีการจัดชุมนุมสนุกสนาน มีการปราศรัย ทำให้ลูกค้าของพยานไม่สามารถเข้ามาในร้านได้ การชุมนุมดังกล่าวทำให้รายได้ของพยานขาดหายไป

    พยานเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเดินแฟชั่นโชว์ มีกลุ่มคนแต่งกายเลียนแบบในลักษณะล้อเลียน พยานเห็นแล้วคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นพยานได้มาให้การกับพนักงานสอบสวนไว้

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน วีระกรเบิกความว่า ในช่วงปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจการแย่งลงอย่างมาก ช่วงที่มีการชุมนุมกิจการก็กระทบเพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

    พยานรับว่า ตนไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วนำไปมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบดูว่ารายได้ลดลงจริงหรือไม่ และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบถามถึงบัญชีของพยาน อีกทั้งพยานรับว่า บริเวณหน้าวัดแขกมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้ง

    เท่าที่พยานเห็นการแต่งกายขณะเดินแฟชั่นโชว์เป็นการแต่งกายตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่าผู้หญิงที่แต่งชุดไทยเดินแบบน่าจะล้อเลียนเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
    .
    นีราจ ซัซเดว์ เจ้าของร้านตัดสูท เบิกความว่าร้านตั้งอยู่หน้าปากซอย 20 เยื้องวัดแขก พยานค้าขายกับคนไทยและชาวต่างชาติ เปิดร้าน 11.00-18.00 น. ในวันเกิดเหตุแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ก็เปิดร้าน

    ช่วงตกเย็นพยานเห็นคนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ตอนแรกพยานไม่ทราบว่ามาชุมนุมเรื่องอะไร ในด้านธุรกิจไม่มีต่างชาติเข้าซื้อของ ค้าขายติดลบ และไม่มีคนเดิน การเดินทางค่อนข้างลำบาก โดยปกติไม่ควรจะมีการชุมนุมบนถนน เพราะทำให้การเดินทางไม่สะดวก

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน นีราจเบิกความรับว่า การชุมนุมไม่ได้ส่งผลกระทบกับการค้าขายมากกว่าเดิม

    อีกทั้งโดยปกติแล้วการร่วมพิธีที่บริเวณวัดแขกก็มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่กรณีจัดงานบุญ ถ้ามีการแจ้งกับทางสถานีตำรวจ จะได้มีการหลีกเลี่ยงเส้นทางได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++พยานความเห็นชี้พิจารณาจากบริบทแวดล้อม เสื้อผ้า การแต่งกาย การแสดงแฟชั่นโชว์เจตนาสื่อถึงสถาบันฯ

    ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า หลังได้ดูคลิปเดินแฟชั่นโชว์แล้วเห็นว่า มีการเขียนป้ายข้อความ “ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์” ห้อยแขวนอยู่ ซึ่งระบุเจตนาของผู้เขียนชัดเจนว่าต้องการการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ สื่อว่าสถาบันฯ ที่เป็นอยู่ไม่น่าเคารพยกย่อง สามารถนำมาล้อเลียนได้ เย้ยหยันเพื่อความสนุกสนานได้

    สำหรับป้ายข้อความว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ หนุนกิจการ SIRIVANNAVARI 13 ล้านบาท” พยานเบิกความว่า ช่วงเวลาขณะนั้นเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีจัดแฟชั่นโชว์ที่ต่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงพาณิชย์ ข้อความดังกล่าวต้องการสื่อว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชน เพราะเป็นสมาชิกราชวงศ์และได้รับอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า จึงได้นำมาล้อเลียนเย้ยหยัน ไม่แสดงความเคารพ อีกทั้งยังมีการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบการเดินแบบ

    เมื่อพิจารณาจากเพลง การแต่งกาย และการแสดงแล้ว พยานเข้าใจว่าสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ และแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีค่าควรเคารพตามรัฐธรรมนูญ สามารถนำมาล้อเล่น เย้ยหยันอย่างไรก็ได้

    กรณีของจำเลย พยานเห็นว่าตั้งใจแต่งกายล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันฯ ได้ตัดต่อภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมชุดครอปท็อป นำมาใช้ล้อเลียนและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทั้งนี้ พยานมองว่าการเดินแฟชั่นโชว์ดังกล่าวไม่ใช่งานศิลปะที่มีคุณค่าหรือมีรสนิยม เพราะงานศิลปะต้องทำให้เกิดปัญญาสร้างสรรค์ ไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นประมุขของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ตรีดาวเบิกความว่าในการตีความการละครและการแสดงจะต้องมีองค์ประกอบ เช่น เพศ, วัย, ความรู้, ประสบการณ์, ความเชื่อทางศาสนา และรสนิยมทางเพศ ในความเห็นส่วนตัว พยานตีความได้ว่าการแสดงแฟชั่นโชว์ดังกล่าวสื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

    พยานรับว่า ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรมาตั้งแต่ปี 2563 ทราบว่ามีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 พยานมองว่าหากจะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่การเรียกร้องจะต้องไม่ผิดกฎหมาย

    ในประเด็นเรื่องป้ายเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ ตรีดาวรับว่าข้อมูลดังกล่าวได้มีการพูดถึงในสภาและที่สาธารณะ เพราะมีการขอให้เปิดเผยที่มาในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

    นอกจากนี้พยานรับว่า ไม่เคยเห็นในหลวงใส่ครอปท็อปเดินในที่สาธารณะ แต่เห็นจากสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้พยานไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่าเห็นที่ไหน อย่างไร พยานรับว่า เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกล้า ซึ่งมีนโยบายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน
    .
    สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการกองการกฎหมายศูนย์การศึกษาตรัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เบิกความว่า พนักงานสอบสวนเอาคลิปกับภาพมาให้พยานดู เห็นเป็นภาพผู้หญิงแต่งชุดไทยและมีคนแต่งกายแบบมหาดเล็กเดินตามด้านหลัง มีการหมอบคลานและปูพรมแดงให้เดิน มีเพลงข่าวในพระราชสำนัก พยานมองว่าเป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์ ประกอบกับมีผู้ชมโห่ร้อง มีการร้องว่า "ทรงพระเจริญ" จึงเห็นว่าเป็นการล้อเลียนเสียดสีสถาบันกษัตริย์

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน สฤษดิ์เบิกความโดยสรุปว่า ตนเห็นว่าความเห็นทางกฎหมายสามารถแตกต่างกันได้ แต่ตามหลักอาญาจะต้องตีคความอย่างเคร่งครัดและชัดเจน

    พยานไม่ได้จบปริญญาโทด้านกฎหมายอาญาโดยตรง และไม่ได้ทำวิจัยทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่พนักงานสอบสวนได้ติดต่อให้มาเป็นพยาน โดยนอกจากภาพจตุพรและสายน้ำ พนักงานสอบสวนไม่ได้นำคลิปวิดีโอที่มีกิจกรรมอื่น ๆ มาให้พยานดูประกอบด้วย ในกรณีที่มีภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมใส่เอวลอย เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ จริงเท็จอย่างไรพยานไม่ทราบ

    พยานรับว่า เคยเข้าร่วมคัดค้านการนิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเคยสมัครเข้าไปเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นองค์กรแต่งตั้งโดย คสช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก นอกจากนี้พยานยังเคยเป็นหนึ่งในสภาปฎิรูปแห่งชาติ

    ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านต่อว่าจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ความรู้สึกของพยานที่มีต่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ พยานตอบว่าการกระทำของจำเลย ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในสถาบันฯ ว่าสามารถนำมาล้อเลียนได้
    .
    กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เบิกความว่าในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญพยานมาให้ความเห็นทางวิชาการ โดยพยานได้เขียนบทความที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และศาลก็มีคำสั่งระงับการกระทำดังกล่าว

    ในความเห็นทางวิชาการ พยานเห็นว่าจำเลยในคดีนี้แสดงออกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจว่าตนเป็นตัวแทนในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการแต่งกายเลียนแบบ ซึ่งผู้ชุมนุมก็เข้าใจเช่นนั้น มีการตะโกนว่าในหลวงสู้ ๆ และมีเสียง “ทรงพระเจริญ” ประกอบ มีการจำลองภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ของกลุ่มคนที่ต่อต้านสถาบันฯ ประชาชนทั่วไปที่พบเห็น ย่อมมีความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันฯ และภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริง

    พยานได้เคยไปเบิกความในคดีของจตุพรจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดจริง

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน กิตติพงศ์เบิกความรับว่า คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นยังไม่ถึงที่สุด และมีการเผยแพร่ความเห็นทางวิชาการในลักษณะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษามากมาย

    เกี่ยวกับคดีนี้เท่าที่พยานดู จำเลยไม่ได้มีการแสดงกิริยาท่าทางยื่นเท้าให้คนดูจับรองเท้า หรือก้มลงไปจับมือ แต่มีประชาชนรอบ ๆ พยายามเอื้อมมือไปสัมผัส พยานจำไม่ได้ว่า ในระหว่างกิจกรรมมีการสั่งให้นั่งลงหรือไม่ และท่าทางปฏิสัมพันธ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

    พยานไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าว ส่วนตัวพยานมองว่าเป็นภาพตัดต่อให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ทั้งนี้พยานไม่เคยไปดำเนินการแจ้งความกับคนที่เผยแพร่ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ

    พยานมองว่า กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ควรผลิตซ้ำหรือแต่งกายเลียนแบบ พยานมองว่าคนส่วนใหญ่ดูออกว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ แต่ก็ยังมีการผลิตซ้ำอยู่เพื่อโจมตีสถาบันกษัตริย์ แต่ก็มีบางคนที่เชื่อข้อมูลส่วนนี้

    ในความรู้สึกของพยาน เห็นว่าการกระทำดังกล่างของจำเลยกระทบต่อความรู้สึก ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เพราะโดยหลักแล้วในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่แต่งกายแบบนั้น
    .
    ว่าที่ร้อยตรีนรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ทนายความของกลุ่มไทยภักดี เบิกความว่า ตนถูกเรียกมาเป็นพยานในคดีนี้ในฐานะนักกฎหมาย หลังพยานได้ดูคลิปแล้วรู้สึกว่าเป็นการล้อเลียนหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 การแสดงแฟชั่นโชว์ดังกล่าว เป็นการไม่เคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    ช่วงตอบที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ว่าที่ร้อยตรีนรินทร์เบิกความว่า ตนเคยไปเป็นพยานให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 10 คดี ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้เชิญมา โดยไม่ได้ออกหมายเรียก

    พยานรับว่า ตนเป็นทนายของกลุ่มไทยภักดีมีจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์ และไม่เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร อีกทั้งพยานยอมรับว่าทางกลุ่มเคยมีการแจ้งความกับอานนท์ นำภา กับพวก

    พยานเบิกความว่า การแต่งกายถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะแต่งกายอย่างไรก็เป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่พยานรับว่า ไม่เคยเห็นในหลวงสวมชุดครอปท็อปแต่อย่างใด ทั้งนี้พยานไม่ทราบว่า “จัสติน บีเบอร์” เป็นนักร้องมีชื่อเสียง จึงไม่ทราบว่าการแต่งกายครอปท็อปจะเป็นที่นิยมหรือไม่
    .
    ภัทร วงศ์ทองเหลือง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมวัฒธรรม เบิกความโดยสรุปว่า ตนทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว 12 ปี พนักงานสอบสวนได้เชิญให้พยานมาดูคลิปเหตุการณ์ในคดีนี้

    พยานให้ความเห็นว่า สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพเทิดทูนและการแสดงออกจะต้องถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี หากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะกล่าวถึงสถาบันฯ ก็ไม่สมควร การนำสถาบันฯ มาล้อเลียนไม่ควรกระทำ ทางกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติต่อสถาบันฯ แต่จะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักพระราชวังที่ทำหน้าที่ดังกล่าว

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ภัทรเบิกความว่า ในประเทศไทยมีพหุวัฒธรรม มีหลายเชื้อชาติ มีการรับวัฒนธรรมต่างชาติ เกี่ยวกับเรื่องพรมแดงพยานเบิกความว่า สามารถใช้ในบริบทอื่นได้ ไม่ได้มีกฎหมายห้าม แต่มีธรรมเนียมปฏิบัติและจารีตประเพณี

    พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ดูภาพการแสดงอื่น ๆ พยานรับว่า บอกไม่ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวเจตนาสื่อถึงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แต่หากตั้งใจกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ก็เป็นการไม่สมควร

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)


  • ++นักวิชาการสุขาภิบาลระบุขณะเกิดเหตุ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 0 ไม่ทราบว่าจะเกิดคลัสเตอร์หลังการชุมนุมหรือไม่

    ณัฐกานต์ แฟงฟัก นักวิชาการสุขาภิบาลสำนักงานเขตบางรัก ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และมีประกาศสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวพร้อมออกมาตรการควบคุมและป้องกันโรค

    สำหรับมาตรการป้องกันโรคได้กำหนดไว้ว่า สามารถผ่อนคลายกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด มีจุดล้างมือและจุดให้แอลกอฮอล์ตลอดเวลา และต้องมีการควบคุมไม่ให้คนแออัดเกินไป

    จากการชุมนุมแฟชั่นโชว์ดังกล่าว พยานเห็นว่ามีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก บางส่วนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่บางส่วนไม่ได้สวม อีกทั้งไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่มีบริการเจลแอลกฮอล์ ไม่มีการลงทะเบียนบริเวณทางเข้าและออกของสถานที่ รวมถึงคงไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ณัฐกานต์เบิกความว่าพยานไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง แต่พนักงานสอบสวนได้นำภาพการชุมนุมมาให้พยานดู

    พยานรับว่าศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นจำนวน 0 ราย และหลังจากการชุมนุม พยานก็ไม่ทราบว่ามีคลัสเตอร์โควิด-19 หรือไม่ ทั้งนี้ การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ผู้จัดการชุมนุมจะต้องเป็นคนขออนุญาต

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++เจ้าหน้าที่ตำรวจกรมดุริยางค์ ระบุหากจะนำเพลงราชวัลลภมาใช้-ดัดแปลง ต้องขออนุญาตก่อน ด้าน ผอ.สื่อชี้ เพลงราชวัลลภเป็นเพลงบรรเลง ไม่ใช่เพลงแดนซ์ที่ใช้ในแฟชั่นโชว์

    พ.ต.ท.มนู โห้ไทย เจ้าหน้าที่กองดนตรีฝ่ายสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า มีหน้าที่ดูแลกรมดุริยางค์ตำรวจ พยานได้ดูคลิปการชุมนุมแล้ว พบว่ามีการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งแต่งขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพลงนี้ส่วนมากจะใช้ในการเดินสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ยังไม่มีการใช้ในรัชกาลนี้ และหากจะนำเพลงไปใช้หรือดัดแปลงจะต้องมีการขออนุญาตก่อน
    .
    ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อํานวยการ สํานักกิจการและสื่อสารองค์กรที่บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จํากัด เบิกความว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะได้รับหนังสือจากตำรวจ สน.ยานนาวา สอบถามเกี่ยวกับการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบในการเสนอข่าวในพระราชสํานัก เมื่อได้รับหนังสือพยานได้ทําหนังสือชี้แจงตอบกลับไปที่ผู้กํากับ สน.ยานนาวา

    ช่วงตอบที่ปรึกษากฎหมายจําเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า พยานเคยได้ยินเพลงมาร์ชราชวัลลภที่ใช้เปิดก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานัก เป็นเพลงบรรเลงที่มีเฉพาะเสียงดนตรี ไม่มีเสียงร้อง เสียงคล้ายกับการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ ไม่ใช่ลักษณะของเพลงแดนซ์ที่ใช้ในการเต้นรํา

    พยานไม่ทราบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 5, 7, 9 จะใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภเปิดก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักหรือไม่ เพราะพยานไม่ค่อยได้ดูสถานีโทรทัศน์ช่องเหล่านี้ สําหรับผู้ที่ไม่เคยดูข่าวในพระราชสํานักของช่อง 3 ก็จะไม่ทราบว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้มีการนําเพลงมาร์ชราชวัลลภมาใช้ก่อนที่จะเข้าข่าวในพระราชสํานัก

    อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เปลี่ยนมาใช้เพลงประณตนฤบดินทร์ เป็นเพลงข่าวในพระราชสํานักแทนเพลงมาร์ชราชวัลลภมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 ก.ค. 2564

    ที่ปรึกษากฎหมายจําเลยให้พยานดูคลิปวิดีโอเพลงก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5, 7, 9 แล้วถามพยานว่า สถานีโทรทัศน์ทั้งสามช่องไม่ได้ใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักถูกต้องหรือไม่ พยานดูแล้วเบิกความว่าเป็นไปตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอที่ให้ดู

    นอกจากนี้พยานเบิกความว่า เหตุที่เปลี่ยนเพลงก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักเพราะต้องการให้มีความทันสมัยและมีความเป็นไทย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++คณะพนักงานสอบสวนฯ เห็นว่าจำเลยผิด ม.112 แต่ไม่ได้เรียกพยานที่มีแนวความคิดทางการเมืองหลากหลายมาให้การ

    พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ตนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ให้จําเลยทราบ โดยได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบก่อนแล้ว ในขณะแจ้งข้อกล่าวหามีบิดา มารดา และที่ปรึกษากฎหมายของจําเลยร่วมฟังด้วย

    จําเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน และขอให้การในชั้นศาล เมื่อทําบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนเสร็จ ให้จําเลยลงลายมือชื่อ จําเลยไม่ลงลายมือชื่อของตนเอง แต่เขียนว่า “เสรีภาพ ยกเลิก 112”

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจําเลยถามค้าน พ.ต.ท.อินศรเบิกความโดยสรุปว่า ตนปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้ตามคําสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนและสอบสวน ซึ่งได้ส่งคําสั่งให้พนักงานอัยการประกอบสํานวนคดีนี้แล้ว แต่พนักงานอัยการจะส่งต่อศาลประกอบคดีหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    หลังจําเลยลงข้อความในช่องที่จะต้องลงลายมือชื่อว่า “เสรีภาพ ยกเลิก 112” เจ้าพนักงานตํารวจไม่ได้ดําเนินคดีใด ๆ กับจําเลยในเรื่องนี้
    .
    พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เบิกความโดยสรุปว่า พฤติการณ์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 “มายด์” ภัสราวลี ได้ออกรายการโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมกันที่บริเวณวัดแขก ถนนสีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลาบ่ายโมง

    หลังจากนั้นเมื่อถึงวันเวลานัดหมาย มีกลุ่มประชาชนมาร่วมชุมนุมกันที่ถนนสีลมทั้งขาเข้าและขาออก เมื่อประชาชนเข้ามามากขึ้นทําให้การจราจรติดขัด ไม่สามารถสัญจรได้ ตํารวจ สน.ยานนาวา จึงเข้าไปดูแลพื้นที่ โดยแบ่งกําลังเป็น 3 ชุด มีฝ่ายปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายจราจร โดยได้ขอกําลังไปยังกองบังคับการควบคุมฝูงชนด้วย

    หลังจากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. เมื่อมีผู้มาชุมนุมมากขึ้น เจ้าหน้าที่ได้อ่านประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติตามคําประกาศและได้ตะโกนโห่ร้องและชุมนุมต่อไป ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดการจราจรบริเวณถนนสีลมทั้งขาเข้าและขาออก มีการปูพรมแดงบนถนน ขึงป้ายผ้ามีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนถนนสีลมขาออกมีการปูพรมแดงบนถนนเช่นเดียวกัน มีป้ายผ้าข้อความว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ) SIRIVANNAVARI 13 ล้าน”

    ต่อมาเวลา 18.00 น. ได้มีการจัดเดินแฟชั่นโชว์ พบจําเลยในคดีนี้ออกมาเดินบนพรมแดง โดยแต่งกายชุดครอปท็อปสีดํา นุ่งกางเกงยีนส์ขายาว ที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังของจําเลยเขียนข้อความว่า “พ่อกูชื่อมานะ” ก่อนจําเลยจะออกมาเดิน มีพิธีกรประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบ กราบ” ขณะจําเลยเดินออกมามีผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” และแสดงอาการจะใช้มือจับที่เท้า โดยจําเลยไม่ได้แสดงอาการขัดขืนหรือปฏิเสธไม่ให้กระทําการดังกล่าว

    หลังจากวันเกิดเหตุ วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์จําเลย พยานได้ทำการสอบปากคำไว้ รวมไปถึงพยานที่มาให้ความเห็นคนอื่น ๆ ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้

    ช่วงตอบคำถามที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ เบิกความโดยสรุปว่า คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าก่อน ขณะ และหลังเกิดเหตุ จําเลยได้ไปร่วมประชุมวางแผนหรือตกลงแบ่งทํางานในวันเกิดเหตุกับบุคคลใด มีแต่พยานแวดล้อม และไม่มีภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอว่าจําเลยไปช่วยจัดกิจกรรมหรือซักซ้อมการแสดงแฟชั่นโชว์

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานไม่ได้สอบสวนผู้ทําหน้าที่เป็นพิธีกรและผู้ชุมนุมที่ทําท่าจะจับข้อเท้าในขณะจำเลยเดินแฟชั่นโชว์ ทั้งรับว่าตํารวจได้เคยร้องขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่ได้ออกให้ตามที่ขอ ในส่วนของผู้ที่เดินกางร่มและถือพานขณะที่จตุพรเดินแฟชั่นโชว์ก็ได้มีการขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่ออกหมายจับให้ตามขอเช่นกัน

    ในส่วนของภัสราวลี เจ้าพนักงานตํารวจได้แจ้งข้อกล่าวหาและเรียกมาสอบสวนเป็นอีกคดีหนึ่ง ในการสอบสวนนั้นไม่ได้สอบถามว่าผู้ที่ทําหน้าที่พิธีกร หรือผู้หญิงสองคนที่ใส่ชุดดําที่ทําท่าจะใช้มือจับเท้าของจตุพรและจําเลยนั้นเป็นใคร และไม่ได้สอบสวนว่าผู้ที่เปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ผู้ที่ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” เป็นใคร ซึ่งคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อภัสราวลี คือข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในวันดังกล่าวเท่านั้น

    ในการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้เชี่ยวชาญในด้านแฟชั่นหรือการแต่งกายมาสอบสวนประกอบสํานวนด้วย และพนักงานสอบสวนไม่ได้ทําการสอบสวนว่าชุดครอปท็อปมีจําหน่ายทั่วไปในท้องตลาดและบุคคลทั่วไปใช้ในการสวมใส่ด้วยหรือไม่

    ในเรื่องประเด็นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานไม่ได้ทําหนังสือสอบถามไปถึงศูนย์บริหารแก้ไขสถานการณ์โควิด (ศบค.) ว่าหลังจากมีการชุมนุมในวันเกิดเหตุแล้ว เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไม่

    สำหรับพยานบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น จะเชิญพยานที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นกลุ่มบุคคลจากหลากหลายอาชีพ แต่ไม่ได้เลือกเฉพาะจากบุคคลที่มีแนวคิดปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น พยานไม่ทราบว่า กลุ่มพยานที่มาให้ความเห็นส่วนใหญ่จะมีแนวคิดปกป้องสถาบันฯ รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบแนวคิดทางการเมืองของบุคคลนั้นว่ามีแนวคิดอย่างไร

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ หลังการตรวจสอบไม่พบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

    พ.ต.ท.ชลิต จันทะพันธุ์ สารวัตรทำงานธุรการ สน.ยานนาวา เบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุทำงานธุรการการเงินและวัสดุ มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง หลังวันเกิดเหตุพยานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีคนอนุญาตขอใช้เครื่องขยายเสียงก่อนในกิจกรรมตามฟ้องครั้งนี้

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.ชลิต เบิกความว่า พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมถึงไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ใครจะเป็นผู้ใช้เครื่องขยายเสียงอย่างไร พยานก็ไม่มราบ

    สำหรับตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ นั้น ทางสำนักงานเขตจะเป็นผู้รับผิดชอบ พยานเข้าใจว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตจะมาเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ พยานไม่ได้เข้าไปตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตทางเขตหรือไม่

    ++พยานจากราชบัณทิตยสถานระบุคำว่า “ทรงพระเจริญ” ไม่ปรากฏในพจนานุกรม ด้านเจ้าพนักงานฝ่ายทะเบียนพระนามของสถาบันฯ แจง ประชาชนไม่สามารถตั้งชื่อใกล้เคียงกับพระปรมาภิไธย

    กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร รับราชการที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตำแหน่งนักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่ศึกษาหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย เบิกความว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” นั้นไม่ปรากฎในพจนานุกรม แต่ปรากฏแยกคำกัน ในการแปลความจะต้องอาศัยการตีความของบริบท เป็นการใช้เพื่อถวายพระพรพระมหากษัติรย์และพระบรมวงศานุวงศ์

    ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พยานเบิกความว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการละครและลิเก ทั้งนี้ที่ปรึกษากฎหมายถามว่า ทำไมคำว่า “ทรงพระเจริญ” ถึงไม่มีในพจนานุกรม ในประเด็นนี้พยานได้ตอบว่า ทางราชบัณฑิตยสถานจะมีการรวบรวมคำและเลือกสรรคัดคำ หลักเกณฑ์คือคำ ๆ นั้น จะต้องถูกใช้มาอย่างยาวนานและฟังแล้วเข้าใจ
    .
    เชษฐา แก้วขาว เจ้าพนักงานปกครองฝ่ายทะเบียนของสำนักงานเขตสาทร เบิกความว่า หลักเกณฑ์การตั้งชื่อบุคคลนั้น จะมี พ.ร.บ.ชื่อบุคคลฯ ในมาตรา 6 และมาตรา 8 กำหนดว่า ชื่อบุคคลต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี

    สุธาสินี เชาว์วิศิษฐ กองเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.การค้าฯ ตามอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ เบิกความเกี่ยวกับคำว่า “SIRIVANNAVARI” ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้อื่นจะนำไปใช้ไม่ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ++“สายน้ำ” ยืนยันตั้งใจแต่งกายเลียนแบบ “จัสติน บีเบอร์” ไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมชุดครอปท็อปมาก่อน

    สายน้ำเบิกความว่า ตนได้ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมในคดีนี้ แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วม อีกทั้งไม่ได้เป็นกลุ่มสมาชิกราษฎร 2563 เพียงรู้จักกลุ่มผ่านทางเฟซบุ๊กเท่านั้น ในการจัดเตรียมการชุมนุม สถานที่ การติดป้ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พยานไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมจัดแต่อย่างใด

    สายน้ำทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมทางเฟซบุ๊กที่หน้าวัดแขก แต่จำไม่ได้ว่าเห็นจากช่องทางเพจไหน รวมถึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด ขณะนั้นสถานการณ์การเมืองไม่ดี มีทั้งการสลายการชุมนุม มีประเด็นการแจกจ่ายงบประมาณอย่างไม่เท่าเทียม

    สายน้ำเบิกความว่า ระหว่างการชุมนุมมีประชาชนหลายคนที่แต่งกายหลากหลาย ทั้งชุดไทย ชุดจีน ชุดแฟนตาซี และชุดทั่ว ๆ ไป ส่วนตัวจำเลยใส่เสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนส์ และรองเท้าแตะ เข้าไปร่วมงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งตอนนั้นพยานได้แวะซื้อเสื้อที่ร้านค้า เห็นรูปนักร้อง “จัสติน บีเบอร์” ใส่เสื้อครอปท็อปวางขายอยู่ จำเลยซื้อและเปลี่ยนใส่ตรงนั้น

    กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบในหลวงรัชกาลที่ 10 สายน้ำเบิกความว่าไม่เคยเห็นในหลวงแต่งกายในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่การแต่งกายเลียนแบบแต่อย่างใด ส่วนข้อความด้านหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ” เป็นเพื่อนที่พยานพบเจอในระหว่างร่วมงาน เป็นผู้เขียนให้ เพราะต้องการเลียนแบบจัสตินที่สวมใส่ครอปท็อปและมีรอยสัก ซึ่งพยานไม่ได้ทำการลบข้อความออก เพราะไม่เห็นว่าข้อความเป็นความผิด และก็ไม่มีคำหยาบคาย

    คนที่พยานเดินแบบด้วยกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มีการซักซ้อมก่อนเดิน จำเลยได้ยินเสียงเพลงที่เปิด แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพลงอะไร รวมถึงไม่ได้ยินคนตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” เพราะเสียงรอบตัวดัง

    ทั้งนี้ สายน้ำเบิกความว่า กิจกรรมส่วนมากที่ไปร่วมชุมนุมคือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง พยานเคยไปทำกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขและสถานทูตอเมริกาเพื่อขอวัคซีนให้กับเยาวชนที่ขาดแคลน

    ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน สายน้ำเบิกความโดยสรุปว่า ตนทราบว่าขณะเกิดเหตุมีการประกาศห้ามทำกิจกรรมรวมกลุ่ม เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 พยานเห็นว่าการปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้น

    ขณะเดินแฟชั่นโชว์สายน้ำได้โบกมือให้กับมวลชน และมีบางคนที่พยายามจะจับข้อเท้า แต่ตนได้พยายามชักออกและเดินต่อไป

    ++นักวิชาการนิติศาสตร์ให้ความเห็น การล้อเลียนเสียดสีไม่เท่ากับหมิ่นประมาท-ดูหมิ่น

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่า ได้ทราบพฤติการณ์คดีนี้จากทางสื่อมวลชน เมื่อได้อ่านเอกสารคำฟ้อง และดูคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวแล้ว ในความเห็นของพยานมองว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 จะกำหนดไว้ว่ากษัตริย์อยู่ในสถานะล่วงละเมิดมิได้ แต่ไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด และการแสดงความคิดเห็นเป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย

    เมื่อมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ การตีความบังคับใช้จะต้องไม่ทำลายหลักคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ใช่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ ที่สำคัญมาตรา 112 คุ้มครองแค่ 4 บุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่เป็นเพียงแค่การล้อเลียนเสียดสี จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 112

    สำหรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้การรับรองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่สำคัญ แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การจำกัดเสรีภาพจะต้องเป็นไปตามหลักได้สัดส่วนและจำเป็น

    ก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายคดี เช่น คดีที่ศาลจังหวัดพะเยาและศาลจังหวัดลพบุรีได้วางแนวคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า การชุมนุมหากจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องเป็นสถานที่แออัด หากเป็นสถานที่เปิดโล่งหรือแออัดเฉพาะส่วน จะไม่ถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยยะสำคัญในคดีนี้

    ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน สมชายเบิกความโดยสรุปว่า การใช้สิทธิจะต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นและไม่กระทำผิดกฎหมาย พยานไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แม้จะมีการตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” ขณะเดินแฟชั่นโชว์ แต่นั่นไม่ใช่การกระทำของจำเลย
    .
    ++นักวิชาการชี้เสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นยุค 70 ทุกคนสามารถสวมใส่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

    ภาสกร อินทุมาร นักวิชาการด้านการละคร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเดินแฟชั่นโชว์ นำเสนอเครื่องแต่งกายของแต่ละคน ซึ่งมีหลายคน หลายชุด พยานไม่เห็นคอนเซปต์ใด ๆ ของการแสดงโชว์ชุดนี้ เพราะการแต่งกายของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป สำหรับการตีความ ผู้ชมแต่ละคนมีอำนาจการตีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ วัย การศึกษา ความเชื่อ ศาสนา การเมืองและอื่น ๆ

    ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน ภาสกรเบิกความว่า ในปี 1970 เสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นชนิดหนึ่งที่มีความนิยม กระแสการนิยมขึ้นลงแล้วแต่ช่วงเวลาขณะนั้น ๆ และการที่จำเลยใส่เสื้อครอปท็อปก็อาจถือเป็นความชอบส่วนตัวของจำเลย ซึ่งเสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นที่ทุกคนใส่ได้ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57567)
  • ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตั้งแต่ช่วงเช้า เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจศาล จัดกำลังมาเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยหลายสิบนาย

    ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 สายน้ำ, มารดาของสายน้ำ, ที่ปรึกษากฎหมาย, ผู้ไว้วางใจมารออยู่ที่ห้องพิจารณา นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ติดตามคดีเยาวชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    เวลา 09.43 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 อีกทั้งมาตรา 50 ก็กำหนดให้ชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์ดำรงรักษาไว้ทั้งเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นผู้ใดจะแสดงกิริยาล้อเลียนเสียดสีหรือแสดงพฤติกรรมเลียนแบบว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้

    ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลพิเคราะห์จากบริบท พฤติการณ์ของจำเลย และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ชมในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นโชว์ดังกล่าวมีเจตนาสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ การที่จำเลยแต่งกายสวมครอปท็อป แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือ คล้ายจำลองเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเยี่ยมราษฎร ถือเป็นการล้อเลียนเสียดสี ไม่ใช่การแสดงออกตามความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือการแสดงออกโดยสุจริตแต่อย่างใด และเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ

    สำหรับข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการชุมนุมดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่รัฐบาลได้มีการออกข้อกำหนดและข้อบังคับใช้เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้นการชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนด จึงถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยจึงไม่มีความผิดในข้อหานี้

    พิพากษาว่า ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ปรับ 6,000 บาท

    จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงโทษจำคุก 12 เดือน ปรับ 4,000 บาท คำนึงถึงจากการถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ประกอบกับพิเคราะห์จากนิสัย ความสามารถ และสติปัญญาของจำเลยเห็นว่าจำเลยอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้ จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน, ตั้งใจเรียนหรือประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ และห้ามคบค้าสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี

    หลังอ่านคำพิพากษา สายน้ำได้กล่าวถึงคำพิพากษาวันนี้สั้น ๆ ว่า “รูึสึกว่าคำพิพากษาไม่ได้ยุติธรรมขนาดนั้น แม้จะให้รอลงอาญาผมก็ตาม เพราะเหมือนศาลจะอ้างอิงตามคำพิพากษาในคดีของจตุพรที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมันเป็นคนละคดีกัน”

    “การที่ผมใส่เสื้อครอปท็อป มันไม่ควรมองว่าเป็นการล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 ผมแค่แต่งกายคล้ายจัสติน” สายน้ำกล่าวทิ้งท้าย

    ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงเรียกร้องต่อสถานการณ์การดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อเยาวชนในประเทศไทย “ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีต่อสายน้ำ รวมถึงเยาวชนอีกกว่าร้อยคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่นๆ จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทางการต้องดำเนินการอย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นไว้

    ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ ยังเปิดเผยว่า “สายน้ำ” ไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือลงโทษใดๆ ตั้งแต่แรก กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพไป เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปี การดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาต่อสายน้ำ เน้นย้ำให้เห็นว่าทางการไทยได้พรากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบไปจากเด็กหลายคน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.246/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.183/2566 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2566, https://tlhr2014.com/archives/57517 และ https://tlhr2014.com/archives/57662)
  • ศาลออกหมายเรียกสายน้ำมาไต่สวน หลังพนักงานสอบสวน สน. ยานนาวา ทำหนังสือรายงานความประพฤติถึงศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ระบุว่า สายน้ำฝ่าฝืนเงื่อนไขคุมประพฤติของศาลที่ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี โดยอ้างเหตุการเข้าร่วมชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมและหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 6 และ 7 ส.ค. 2566

    อัยการโจทก์แถลงขอเลื่อนการไต่สวน เนื่องจากศาลไม่ได้ออกหมายเรียกมาร่วมการไต่สวน และเพิ่งทราบจากเจ้าหน้าที่ศาลก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทำให้ไม่ได้เตรียมพยานเข้าเบิกความในวันนี้ โดยโจทก์ต้องการนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก เป็นตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ศาลให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 12 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น.
  • จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

    ++ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ประเด็นแรก จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และการกระทำจำเลยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษ

    คดีฟังได้เพียงว่า จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุม มิใช่ผู้จัดการชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แม้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ในประเด็นไม่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 13)

    นอกจากนี้ ตามประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าว มิได้ออกมาตรการหรือคำสั่งเพื่อบังคับแก่บุคคลธรรมดาทั่วไป แต่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) และมาตรา 51 ซึ่งมีโทษใช้บังคับแก่บุคคลธรรมดาทั่วไป เป็นกรณีที่จำเลยกระทำสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้

    ประเด็นที่สอง ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคฯ ออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามจำเลยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกระทำการใด ๆ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

    ตามทางนำสืบพยานโจทก์ ไม่ปรากฏว่านักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีการลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีการดำเนินการสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุแหล่งที่เกิดและแหล่งแพร่ของโรค และไม่ได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งคำสั่งห้ามจำเลยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบคำสั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปแต่อย่างใด

    ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)

    ประเด็นที่สาม ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งใด ๆ อันเนื่องมาจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ศาลมิอาจนำเอามาวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้

    ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งใด ๆ อันเนื่องมากจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 2563 ได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับวันที่ 29 ก.ย. 2565 แล้ว ซึ่งหมายความว่าองค์ประกอบความผิดทางอาญาตามประกาศและข้อกำหนดตามฟ้องย่อมสิ้นสุดลง เป็นการออกกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า ศาลมิอาจนำเอามาวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้

    ประเด็นที่สี่ กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ระหว่างนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ และทำกิจกรรมในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท

    หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมนั้น เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทย รัฐมีพันธกรณีในการเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยการไม่จำกัดหรือลิดรอนสิทธิ รวมถึงอำนวยให้การใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนเป็นไปได้จริง

    เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ระหว่างจัดการชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศและทำกิจกรรมในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท การทำกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

    ++ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ประเด็นแรก ผู้กล่าวหาและพยานความเห็นฝ่ายโจทก์ไม่ใช่พยานคนกลาง และมีความเห็น ความเชื่อ และอคติทางการเมืองตรงกันข้ามกับจำเลย ศาลพึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง

    แม้ผู้กล่าวหาและพยานความเห็นฝ่ายโจทก์จะเบิกความว่า ไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัวหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่ได้หมายความว่า ผู้กล่าวหาและพยานความเห็นจะไม่กลั่นแกล้งเบิกความหรือแสดงความคิดเห็นปรักปรำให้ร้ายเสมอไป

    การพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานความเห็นที่จะรับฟังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาว่ามีความเป็นกลางปราศจากอคติทั้งจากความโกรธเกลียดชังและความรักใคร่ชอบพออีกด้วย ซึ่งบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่อการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายที่เรียกร้องและฝ่ายที่คัดค้านมีความขัดแย้งและโกรธเคืองเป็นที่ประจักษ์ในสังคม

    พยานโจทก์โดยเฉพาะพยานความเห็นหลายปากไม่เพียงแต่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างจากกลุ่มที่จัดกิจกรรมแล้ว แต่ในทางส่วนตัว พยานความเห็นของโจทก์หลายปากสังกัดกลุ่มและองค์กรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งในการดำเนินการคัดค้านข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ, การแก้ไขมาตรา 112 หรือเป็นตัวแทนดำเนินคดีและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกันกับพยานและพวก

    พยานความเห็นดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานคนกลาง และมีความเห็น ความเชื่อ และอคติทางการเมืองตรงกันข้ามกับกลุ่มคณะราษฎร 2563 และจำเลย และมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ย่อมให้การเป็นโทษแก่จำเลย พยานบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ ศาลพึงรับฟังอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง

    ประเด็นที่สอง รธน. ม.2 และ ม.6 ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้นที่ศาลขยายความหมายและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ รธน. มาพิจารณาประกอบเพื่อลงโทษจำเลย ไม่อาจทำได้

    รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 2 และมาตรา 6 เป็นบทบัญญัติการกำหนดรูปแบบของรัฐและการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์จากการถูกฟ้องร้องทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องหรือสอดคล้องกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด

    รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นไว้ แม้จะสามารถจำกัดการแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการตามกฎหมาย แต่ก็ต้องดำเนินไปอย่างชัดเจนและไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ขัดกับเสรีภาพตามที่รัฐธรรนูญรับรองไว้

    ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นขยายความหมายและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 2, มาตรา 6 และมาตรา 50 (1) และนำบทบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาประกอบเพื่อลงโทษจำเลยนั้น ไม่อาจทำได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความสับสนและคลุมเครือขององค์ประกอบกฎหมายในหมู่ประชาชน

    ประเด็นที่สาม ม.112 ต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทำจำเลยในวันเกิดเหตุตีความได้หลายทาง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.112

    คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยแท้ดังที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากเป็นเพียงกฎหมายใช้คุ้มครองเกียรติยศส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเกียรติยศส่วนบุคคลมิใช่ความมั่นคงของรัฐ

    องค์ประกอบความผิดตามนิติวิธีในกฎหมายอาญาต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด การตีความไม่อาจขยายความหมายให้กว้างขวางหากถ้อยคำไม่มีความชัดเจน โดยชุดเดินแบบและการเดินแบบของจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นการแสดงออกซึ่งต้องอาศัยการตีความ ไม่มีการระบุชื่อบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง และมีการตีความได้หลายทาง จึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งการดูหมิ่น หมิ่นประมาทนั้น การใส่ความจะต้องระบุตัวบุคคลแน่นอนโดยเฉพาะเจาะจง

    ชุดเดินแบบของจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นชุดเสื้อครอปท็อปสีดำ กางเกงยีนส์ รองเท้าแตะ และเขียนลวดลายและข้อความตามร่างกาย เป็นการแต่งกายเลียนแบบนักร้องต่างประเทศ ชื่อ จัสติน บีเบอร์ เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่คนทั่วไปใส่ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียวที่แต่งกายลักษณะนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นในวันเกิดเหตุแต่งด้วย

    ประการสำคัญ พยานโจทก์หลายปากเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านว่า ไม่เคยเห็นรัชกาลที่ 10 ฉลองพระองค์ตามภาพถ่ายและเบิกความว่าเป็นภาพตัดต่อ ประชาชนมีทั้งเชื่อและไม่เชื่อว่ารัชกาล 10 ฉลองพระองค์ตามภาพดังกล่าว

    ประเด็นที่สี่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ไม่ได้วางแผนหรือตระเตรียมการ ไม่ได้แสดงตนเป็น ร.10

    ในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้จงใจและตระเตรียมการวางแผนที่จะมาร่วมเดินแบบ แต่เมื่อมาถึงบริเวณที่ชุมนุม จำเลยได้พบผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่งกายชุดแฟชั่นต่าง ๆ หลากหลายแบบ และมีร้านค้าหนึ่งมีรูป จัสติน บีเบอร์ ใส่เสื้อกล้ามครอปท็อป และมีเสื้อกล้ามครอปท็อปวางขาย จำเลยจึงซื้อและเปลี่ยนใส่แทนเสื้อยืดแขนสั้นสีดำที่หน้าร้าน ซึ่งเสื้อครอปท็อปเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่คนทั่วไปใส่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียวที่แต่งกายลักษณะนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นในวันเกิดเหตุแต่งด้วย

    ส่วนที่แผ่นหลังของจำเลย จำเลยไม่ได้จงใจตระเตรียมการวางแผนที่จะเขียน แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยได้พบเพื่อนที่เคยพบในที่ชุมนุมอื่น แต่ไม่ได้รู้จักคบหาช่วยวาดรูปงูให้ที่แขนขวา และถามชื่อบิดาของจำเลยก่อนที่จะเขียนข้อความว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แม้ตามข้อความจะปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 แต่ข้อความดังกล่าวไม่ใช่คำด่า และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าจำเลยได้แนะนำตนเองต่อบุคคลอื่นหรือเขียนข้อความระบุว่าจำเลยเป็นรัชกาลที่ 10

    อีกทั้ง ทางพิจารณากลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัดกิจกรรม ซึ่งพนักงานสอบสวนเบิกความว่า คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าก่อน ขณะ และหลังเกิดเหตุจำเลยได้ไปร่วมประชุมวางแผนหรือตกลงแบ่งทำงานในวันเกิดเหตุกับบุคคลใด และไม่มีภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอว่าจำเลยไปช่วยจัดกิจกรรมหรือซักซ้อมการแสดงแฟชั่นโชว์ในวันเกิดเหตุ สอดคล้องกับพยานโจทก์ที่ไม่ปรากฏภาพจัดเตรียมการจัดกิจกรรม และปรากฏเพียงภาพที่จำเลยยืนดูการปูพรมแดงจัดสถานที่เดินแบบกับผู้ชุมนุมคนอื่น โดยไม่ได้ช่วยจัดสถานที่แต่อย่างใด

    จำเลยเดินแบบโดยไม่ได้หยุดทักทาย ไม่ได้ยื่นเท้าให้ผู้ที่อยู่บริเวณนั้นกราบ และไม่ได้มีคนเดินถือร่มพานตามหลัง จำเลยใช้เวลาเดินไปกลับไม่ถึงนาที ทั้งขณะอยู่ในที่ชุมนุมจำเลยได้ร่วมเต้นรำกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ บนพรมแดงอย่างสนุกสนาน ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยมิได้แสดงตนเป็นรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    ส่วนที่พิธีกรพูดว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” และที่พิธีกรและผู้ชุมนุมพูดว่า “ทรงพระเจริญ” “ในหลวงสู้ ๆ” และ “กล้ามาก เก่งมาก” เป็นการกระทำส่วนตนของพิธีกรและผู้ชุมนุม หาใช่เป็นการกระทำของจำเลยไม่ พยานของจำเลยที่นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความตามมาตรา 112

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.246/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.183/2566 ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/69913)
  • ไต่สวนพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก และพยานผู้ถูกร้อง 2 ปาก คือ สายน้ำและพ่อ ศาลเลื่อนไปไต่สวนพยานผู้ถูกร้องอีก 1 ปาก ในวันที่ 21 พ.ค. 2567

    ++สืบนครบาลอ้าง เห็นสายน้ำ ‘พ่นสี-ขว้างพลุไฟ’ ระหว่างการชุมนุมกับกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ แต่รับ ‘บุ้ง-ตะวัน’ ที่ร่วมชุมนุม ไม่ใช่บุคคลประพฤติไม่ดี

    พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ น้อมก่อเกิด เจ้าหน้าที่สืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พยานฝ่ายผู้ร้อง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ตนได้รับรายงานว่า มีการก่อเหตุในพื้นที่รับผิดชอบ คือบริเวณหน้ากระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่มทะลุวัง จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งมี “บุ้ง” เนติพร, “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และสายน้ำ เข้าร่วมการชุมนุม

    การชุมนุมดังกล่าว มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมประมาณ 20-30 คน โดยสายน้ำเป็นคนพ่นสีสเปรย์ลงบนพื้น หลังจากนั้น เวลา 18.00 น. ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับ และพยานได้ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้

    ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 กลุ่มทะลุวังได้ชุมนุมที่หน้าพรรคเพื่อไทย เวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์พ่นสีและกล่าวปราศรัย โดยสายน้ำได้จุดและขว้างพลุไฟ ก่อนเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมจะแยกย้าย และพยานได้ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้เช่นกัน

    พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    จากนั้น พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ได้เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยถามค้านว่า ตนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เทียบเท่ากับปริญญาตรีสาขารัฐประศาสนศาสตร์

    พยานรับว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพการชุมนุมเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งรับรองไว้ตั้งแต่ปี 2539

    พยานรับด้วยว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามข้อ 13 ได้ระบุไว้ว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการชุมนุมทางการเมือง”

    พยานไม่ได้เป็นคนถ่ายภาพเหตุการณ์เอง แต่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนอื่นบันทึกภาพเอาไว้ ในภาพถ่ายเป็นชายสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า โดยพยานได้นำภาพดังกล่าวมาเทียบกับใบหน้าของจำเลย

    หน้ากระทรวงวัฒนธรรมและพรรคเพื่อไทยเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ห้วยขวาง และ สน.มักกะสัน พยานไม่ได้มีอำนาจสอบสวนในทั้ง 2 ท้องที่ มีอำนาจแค่สืบสวน ส่วนทั้ง 2 สน.จะดำเนินคดีอย่างไร พยานเองก็ไม่ทราบ แต่ทราบว่าทั้ง 2 คดี ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่

    พยานฝ่ายผู้ร้องตอบที่ปรึกษากฎหมายอีกว่า พฤติการณ์จุดพลุและพ่นสีเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และดอกไม้เพลิงฯ ไม่ใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ช่วงเกิดเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ยกเลิกไปแล้ว

    พยานทราบว่า การชุมนุมดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้ สว. ทำหน้าที่โหวตตามเสียงของประชาชน ซึ่งนอกจากกลุ่มของจำเลยก็มีประชาชนคนอื่นร่วมชุมนุมด้วย อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ ร่วมชุมนุมโดยสงบและสันติ ไม่ได้มีการก่อความวุ่นวาย

    พยานไม่ทราบว่า พรรคเพื่อไทยดำเนินคดีกับสายน้ำหรือไม่

    พยานไม่ใช่พนักงานคุมประพฤติ ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติฯ รวมถึงไม่ได้ทำเรื่องรายงานถึงพนักงานคุมประพฤติเรื่องพฤติการณ์ของสายน้ำ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน

    ผู้ร้องอ้างว่า สายน้ำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติข้อที่ว่า ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า บุคคลที่จำเลยคบหา ได้แก่ เนติพรมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี ครอบครัวเป็นผู้พิพากษา ส่วนทานตะวันได้รับรางวัล People Award จากการใช้สันติวิธีออกมาเรียกร้องสิทธิประกันตัว และได้รับทุนไปเรียนต่อสิงคโปร์ แม้ทั้งสองคนจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองหลายคดี แต่คดีทั้งหมดยังไม่มีคำพิพากษา และทั้งสองคนไม่ได้ปล้นจี้ชิงทรัพย์หรือฆ่าคนตาย

    ++สายน้ำยืนยัน ใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ

    สายน้ำเบิกความว่า กำลังเรียน กศน. เทอมสุดท้าย ก่อนหน้านี้ได้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเป็นประจำ นอกจากนี้ตนยังปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติโดยเคร่งครัด ทั้งในด้านการเรียนและการช่วยเหลือครอบครัว

    เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมหน้ากระทรวงวัฒนธรรม พยานจำไม่ได้ว่าได้ไปร่วมหรือไม่ เพราะไปชุมนุมหลายที่ การชุมนุมที่พยานไปเข้าร่วมส่วนมากก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ส่วนการชุมนุมที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 นั้นพยานได้ไปเข้าร่วมจริง

    พยานรู้จักเนติพรและทานตะวัน โดยรู้จักกับเนติพรในการชุมนุมเมื่อปี 2563 จากนั้นก็ไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัดด้วยกันบ่อย ๆ เช่น กิจกรรมพูดคุยกับผู้ลี้ภัยพม่าที่เข้ามาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน ส่วนตะวันก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วยกันบ่อยครั้ง

    นอกจากนี้ เนติพรยังคอยช่วยเหลือพยานในเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเนติพรเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ส่วนตะวันก็ช่วยพยานในเรื่องของการสอบ IELTS ซึ่งพยานกำลังจะสอบเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคอินเตอร์

    ในวันที่ 7 ส.ค. 2566 พยานไปร่วมชุมนุมหน้าพรรคเพื่อไทยเพราะก่อนหน้านั้นมีการเจรจาเพื่อจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล พยานจึงไปแสดงออกเพื่อย้ำเตือนว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาล พยานไปชุมนุมในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสิ่งที่ทำนั้นเป็นไปตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง

    ++พ่อสายน้ำเบิกความ สายน้ำประพฤติตัวดี ตั้งใจเรียน ไม่ได้คบหาสมาคมบุคคลไม่ไม่ดี

    มานะ (สงวนนามสกุล) บิดาของสายน้ำเบิกความว่า ตนทราบว่าสายน้ำถูกคุมประพฤติ และมารดาก็พาเขาไปรายงานตัวอยู่ตลอด

    พยานประกอบอาชีพทำธุรกิจให้เช่าหอพัก ในแต่ละเดือนหากหอพักมีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า น้ำประปา สายน้ำก็จะช่วยดูแลซ่อมแซม ปัจจุบันสายน้ำเรียน กศน. กำลังจะจบเทอมสุดท้ายแล้ว และยังพยายามฝึกฝนภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัย

    ในส่วนเรื่องการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นนั้น พยานพยายามเตือนไม่ให้สายน้ำเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน และการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ พยานยังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสายน้ำในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองเป็นประจำ เพื่อให้เขาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

    พยานสามารถกำกับดูแลสายน้ำให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติได้เป็นอย่างดี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/67143)
  • หลังจากไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องไปแล้ว 2 ปาก ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนเพียงพอต่อการวินิฉัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานปาก ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก อีก

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทิชาเดินทางมาถึงศาลแล้ว ที่ปรึกษากฎหมายจึงขอให้ทิชาได้แถลงต่อศาลเกี่ยวกับคดีนี้เพื่อที่อาจจะนำความเห็นไปใช้ในคดีอื่น ๆ ต่อไป

    ทิชาแถลงต่อศาลว่า ตนทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมานาน เห็นว่า การตีความว่าเด็กเยาวชนคนใดเป็นคนดีหรือไม่ดี ไม่ควรตีความอย่างแคบ เนื่องจากทุกคนล้วนมีข้อดีและข้อไม่ดี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนล้วนมีความน่ารักเป็นของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการสร้างความตระหนักในสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เคลื่อนไหวทางความคิดตามหลักการที่เป็นสากล และการเคลื่อนไหวดังกล่าวควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสากลเช่นกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปในทิศทางที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการตั้งต้นที่ดีควรถูกมองเห็นและไม่ควรตัดสินโดยผู้ที่มองไม่เห็น

    หลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองกับบุคคลอื่นใน 2 วันดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยไปคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี จึงยังไม่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติ

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้กล่าวตักเตือนสายน้ำว่า การชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองต้องงดเว้นการใช้ความรุนแรง และตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิผู้อื่น พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาและเงื่อนไขคุมประพฤติในคำพิพากษาอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน รวมทั้งกำชับผู้ปกครองให้ควบคุมดูแลสายน้ำ หากมีเหตุขัดข้องต้องรีบแจ้งให้ศาลทราบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/67143)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 เวลา 09.00 น. สายน้ำพร้อมมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครองเดินทางมาที่ศาลเพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจ

    ผู้สังเกตการณ์คดีเข้านั่งจนเต็มห้องพิจารณาคดี เมื่อผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ได้สอบถามสายน้ำว่ารู้จักบุคคลทั้งหมดในห้องหรือไม่ สายน้ำตอบว่ารู้จักทุกคน ผู้พิพากษาจึงอนุญาตให้ทุกคนอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้

    ต่อมา ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยสรุปมีเนื้อหาดังนี้

    ++ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ประเด็นแรก จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และการกระทำจำเลยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษนั้น

    เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังทวีความรุนแรง ดังนั้น แม้จำเลยจะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม มิได้เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมก็ตาม แต่หากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการร่วมกันรวมกลุ่มชุมนุมกันทำกิจกรรมในสถานที่แออัดที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเข้าร่วมชุมนุมถือว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีผลใช้บังคับในเวลาดังกล่าวได้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงกำหนดให้เจ้าของกิจการหรือผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวแต่ประการใด

    พิจารณาว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก สภาพพื้นที่บริเวณที่ชุมนุมมีสภาพแออัดโดยเฉพาะบริเวณที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมแน่นขนัด ผู้ชุมนุมไม่ได้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร จำเลยยอมรับว่าไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าร่วมการชุมนุม

    การกระทำของจำเลยจึงฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งเป็นการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นเหตุให้โรคโควิด-19 แพร่ออกไป ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว

    ประเด็นที่สอง จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคฯ ออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามจำเลยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกระทำการใด ๆ จำเลยจึงไม่มีความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

    เห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือมีกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะต้องเข้าดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อหรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ

    เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจึงมีอำนาจดำเนินการโดยไม่ต้องออกคำสั่งหรือคำเตือนก่อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการดำเนินการหรือออกคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2560 ข้อ 11 คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ชอบแล้ว

    ประเด็นที่สาม จำเลยอุทธรณ์ว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ระหว่างนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ และทำกิจกรรมในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทนั้น

    เห็นว่า คดีนี้เกิดในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงไม่อาจอ้างการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง และการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ในช่วงเวลาสถานการณ์ปกติมาเป็นเหตุยกเว้น เพื่อฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ประเด็นที่สี่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งใด ๆ อันเนื่องมาจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ศาลมิอาจนำเอามาวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้นั้น

    เห็นว่า การประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลเพียงประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่นับแต่วันที่มีผลบังคับใช้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดในประกาศให้มีผลเป็นการยกเลิกหรือถือว่าการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เป็นความผิดต่อไป จึงไม่อาจลบล้างผลการกระทำของจำเลยที่เป็นการฝ่าฝืนและมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้

    อุทธรณ์อื่นของจำเลยนอกจากนี้ ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    ++ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ประเด็นแรก จำเลยอุทธรณ์ว่า รธน. ม.2 และ ม.6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น ที่ศาลขยายความหมายและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ รธน. มาพิจารณาประกอบเพื่อลงโทษจำเลย ไม่อาจทำได้นั้น

    เห็นว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ล้วนรับรองความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่มีมาแต่โบราณกาลว่า สังคมไทยให้ความสำคัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

    หลาย ๆ ครั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมแก้ไขวิกฤติของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือวิกฤติการเมืองพฤษภาทมิฬจนคลี่คลายลงได้ด้วยดี ไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อ บ้านเมืองและสังคมร่มเย็น ประชาชนจึงให้ความสำคัญและยอมรับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชาติไทยที่เทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเสมอมา ประชาชนคนใดจึงใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้ขัดต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีหาได้ไม่

    การที่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาประกอบเพื่อชี้ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ จึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

    ประเด็นที่สอง จำเลยอุทธรณ์ว่า ม.112 ต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทำจำเลยในวันเกิดเหตุตีความได้หลายทาง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.112 นั้น

    เห็นว่า วันเกิดเหตุจำเลยสวมเสื้อกล้ามเอวลอยและมีข้อความบริเวณแผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” มีความหมายเชิงเปรียบเทียบระหว่างมานะกับวชิราลงกรณ์ แม้ไม่ปรากฏคำอธิบาย แต่โดยธรรมชาติย่อมไม่มีมนุษย์คนใดจะด่า ว่า หรือให้ร้ายบิดาของตนว่าไม่ดีหรือไม่เก่งจริง จำเลยทราบว่า “วชิราลงกรณ์” เป็นพระนามของรัชกาลที่ 10 จำเลยเดินบนเวทีที่มีแผ่นป้ายว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ) SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” และมีป้ายว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ในการถามค้านจำเลยยอมรับว่า ต้องการให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

    แม้จำเลยไม่ได้เขียนถ้อยคำดังกล่าวด้วยตนเอง แต่การที่จำเลยเดินแบบแฟชั่นโดยที่ทราบดีว่า มีข้อความดังกล่าวบนแผ่นหลัง ทราบว่ามีประชาชนรายล้อมแน่นขนัด หากจำเลยต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ย่อมกระทำได้ภายใต้บังคับบทกฎหมาย ไม่มีเหตุจำเป็นต้องยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะมาเปรียบเทียบในทางเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว

    ประเด็นที่สาม จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้กล่าวหาและพยานความเห็นโจทก์ไม่ใช่พยานคนกลาง และมีความเห็น ความเชื่อ และอคติทางการเมืองตรงกันข้ามกับจำเลย ศาลพึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวังนั้น

    เห็นว่า เหตุที่จำเลยอ้างเป็นเพียงความคิดเห็นแตกต่างตรงข้ามกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเป็นการส่วนตัวอย่างไร จึงย่อมไม่มีเหตุผลใดที่พยานโจทก์ดังกล่าวจะกลั่นแกล้งเบิกความแสดงความเห็นปรักปรำจำเลยเพื่อให้ต้องได้รับโทษทางอาญา เชื่อได้ว่าพยานโจทก์เบิกความตามจริงโดยสุจริตและเป็นธรรม จึงย่อมรับฟังได้

    ประเด็นที่สี่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ไม่ได้วางแผนหรือตระเตรียมการ ไม่ได้แสดงตนเป็น ร.10 นั้น

    เห็นว่า แม้จำเลยไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ทั้งมิได้ร่วมตระเตรียมหรือวางแผนการกันมาก่อน แต่ลำพังพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกบนเวทีล้วนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อุทธรณ์อื่นล้วนแต่เป็นข้อปลีกย่อยซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

    จำเลยกระทำความผิดขณะยังเป็นเยาวชน มีบิดามารดาคอยดูแลเอาใจใส่ มีโอกาสได้รับการศึกษา ถือได้ว่าเป็นผู้มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีทัศนคติในการดำรงชีวิตที่ถูกที่ควรเป็นไปตามครรลองคลองธรรมพอที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ต่อไป อันจะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือความสงบสุขร่มเย็นของประเทศไทย

    ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและวางโทษจำคุก แต่ให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี กับคุมความประพฤติจำเลยนั้นเพียงพอที่จะทำให้จำเลยหลาบจำ จึงเป็นการเหมาะสมแก่รูปคดี และต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

    ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ได้แก่ เกียรติยศ ไชยศิริธัญญา, ภีม ธงสันติ และแก้วตา เทพมาลี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 2140/2567 ลงวันที่ 20 ส.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69953)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ชาติชาย สุขไสย
  2. นฤพาน สุรำไพ
  3. ดุษฎี เลาหเพียงศักดิ์, อำภา รุ่งปิติ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 20-07-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. เกียรติยศ ไชยศิริธัญญา
  2. ภีม ธงสันติ
  3. แก้วตา เทพมาลี

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 16-09-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์