ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ดำ อ.1265/2564
แดง อ.1472/2565

ผู้กล่าวหา
  • วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1265/2564
แดง อ.1472/2565
ผู้กล่าวหา
  • วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง

ความสำคัญของคดี

จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ถูกแอดมินเพจ #เชียร์ลุง เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ภาษีกู ที่สีลม จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ยังมีข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุม ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ

กิจกรรมเดียวกันนี้ "สายน้ำ" (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ซึ่งแต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึก ก็ถูกแอดมินเพจ #เชียร์ลุง กล่าวโทษในข้อหา 112 อีกราย นับเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องที่ สุธรรม ศรีพิทักษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นต่อศาล มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จําเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 4 กรรม กล่าวคือ

1. จําเลยกับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุม ทํากิจกรรมในสถานที่ที่มีคนแออัดที่บริเวณพื้นผิวจราจรบนถนนสีลม หน้าวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะที่มิได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในการชุมนุมพบว่ามีการทํากิจกรรม ดนตรี และงานแสดง แอบอ้างว่าเป็นงานศิลปะต่อหน้าประชาชนจํานวนมากในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่หรือถนนสาธารณะ

ต่อมา ผู้กํากับ สน. ยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในท้องที่ได้เข้ามาประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 19.00 น. แต่จําเลยกับพวกและผู้ชุมนุมแสดงอาการไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงเลี่ยงออกจากบริเวณชุมนุมเพื่อความปลอดภัย หลังจากถึงกําหนดระยะเวลาที่ประกาศไว้ จําเลยกับพวกและผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมโดยยังร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมต่อจนเจ้าพนักงานไม่อาจเปิดพื้นผิวการจราจรเพื่อให้ประชาชนใช้งานได้ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือคําสั่งของเจ้าพนักงาน หรือกระทำการอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ

2. จําเลยกับพวกได้ร่วมกับผู้จัดการชุมนุม ทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่จัดให้มีจุดบริการล้างมือ และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนของประชาชนในพื้นที่ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป

3. จําเลยกับพวกยังร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้โทรโข่งและเครื่องกระจายเสียงอย่างอื่น โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

4. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยคำว่า “ทรงพระเจริญ” เป็นคําที่ใช้ถวายพระพรกษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง

ภายหลังจากที่จําเลยนี้กับพวกได้กระทําความผิดตามฟ้องในข้อหาก่อนหน้า จําเลยกับ “สายน้ำ” ซึ่งเป็นเยาวชน แยกดําเนินคดีต่างหากแล้ว และพวกของจําเลยอีกหลายคนที่ยังหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันวางแผน เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่างๆ และร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ด้วยการแต่งกาย แสดงกริยาอาการ คําพูด แสดงข้อความด้วยถ้อยคําเขียนตามเนื้อตัวร่างกาย โดยมีเนื้อหาใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี

กล่าวคือจําเลยกับพวกได้ร่วมกันนําพรมสีแดงผืนใหญ่หลายผืนมาปูที่พื้นถนน ทั้งฝั่งสีลมขาเข้าและขาออก มีการนําฉากผ้าใบกั้นด้านหลังฝั่งถนนสีลมขาเข้า เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนฉากผ้าใบฝั่งถนนสีลมขาออก เขียนข้อความบรรทัดบนว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ)” บรรทัดล่างมีข้อความว่า “SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ราชธิดาของรัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้

แล้วจําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้า ๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า และขณะกําลังเดินไปมีพวกของจําเลยซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบน ถือร่มกางให้ ส่วนพวกของจําเลยอีกคนซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ถือพานสีทองเดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดงดังกล่าว และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และจําเลยได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ ในระหว่างนั้นผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครได้กล่าวคําว่า “พระราชินี” และเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งเป็นเพลงประกอบข่าวในพระราชสํานัก ทั้งยังมีผู้ชุมนุมตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ” และ คําว่า “พระราชินี” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลเข้าใจว่า จําเลยนี้เป็นพระราชินีองค์ปัจจุบัน จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สายน้ำ” พวกของจําเลยซึ่งเป็นเยาวชนแยกดําเนินคดีต่างหากได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่ (ชื่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน)” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา พวกของจําเลยซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครซึ่งทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าเยาวชนรายนี้ พวกของจําเลย เป็นพระมหากษัตริย์ จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลและกําลังใจให้พระองค์ และการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบริเวณร่างกาย อเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิบังควร

การแสดงออกของทั้งสองเป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยนี้เป็นพระราชินีและพวกของจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใดๆ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 15 ก.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.ยานนาวา จตุพร แซ่อึง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พร้อมสายน้ำ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี กรณีเข้าร่วมการชุมนุมที่สีลมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 และได้แต่งกายด้วยชุดไทยและชุดเสื้อยืดเอวลอยเดินพรมแดงบริเวณด้านหน้าวัดแขก ถนนสีลม ท่ามกลางมวลชนที่เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจ

    พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ยานนาวา แจ้งการกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีให้จตุพรทราบว่า ในการชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดพระแม่อุมาเทวี (วัดแขก) ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตั้งแต่ราว 17.00 - 20.30 น. จตุพรกับพวก ได้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในระหว่างที่ประเทศกำลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนด โดยขณะที่ทำการชุมนุมได้มีการทำกิจกรรมที่มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ

    โดยจตุพรได้เดินบนพรมแดง สวมเสื้อกระโปรงแบบชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าแบบผู้หญิงขนาดเล็ก และแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบ โดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของพระราชินี พร้อมทั้งมีชายไม่ทราบชื่อแต่งกายด้วยชุดไทย นุ่งโจงกระเบนสีเหลืองทอง เดินตามจตุพร ทำหน้าที่คอยกางร่มให้ และยังมีหญิงไม่ทราบชื่อเดินตามพร้อมถือพานทอง มีปลอกแขนการ์ดอาสาสีเขียว เหลือง วางอยู่บนพาน พร้อมทั้งถือโทรโข่งเปิดเพลงช่วงข่าวพระราชสำนักประกอบการเดิน

    ระหว่างการเดินบนพรมแดง มีผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบที่ชมการแสดงได้แสดงท่าทางคล้ายหมอบกราบ จตุพรได้ก้มลงไปจับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าชมการแสดง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจมีการตระเตรียมกันเป็นกลุ่มจำนวนหลายคนเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระราชินี หรือกรณีไม่ได้มีการกระทำเป็นกลุ่ม จตุพรได้แสดงท่าทางเลียนแบบ จนบุคคลอื่นเข้าใจว่า เป็นการล้อเลียนพระราชินี จนมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชมการแสดงตะโกนว่า “พระราชินี” ตลอดการเดิน จึงเชื่อว่าจตุพรมีเจตนาล้อเลียนราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาจตุพรว่า ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะ, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

    จตุพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 11 ม.ค. 2564 โดยไม่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และเขียนข้อความ "ศักดินาจงแพ้ภัย ชุดไทยจงเจริญ #ยกเลิก112"

    พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 20 ม.ค. 2564 และได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ได้นำตัวไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด

    ในส่วนของสายน้ำได้แยกดำเนินคดีไปเนื่องจากเป็นเยาวชน

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ยานนาวา ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24134)
  • จตุพรมอบหมายให้ตัวแทนเข้ายื่นคำให้การเป็นหนังสือ ความว่า

    1. การชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ

    2. เจตนารมณ์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง แต่การบังคับกฎหมายดังกล่าวกับผู้ชุมนุม เป็นการบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเจตนารมณ์ ซึ่งในวันและเวลาที่มีการจัดการชุมนุมเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนแล้วที่ไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีและ ศบค.ได้ออกข้อกําหนดเพื่อผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามลําดับ จึงไม่ใช่ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การบังคับใช้จึงมุ่งประสงค์จํากัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ

    3. ในการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมที่กล่าวหา ผู้ต้องหารวมถึงผู้ชุมนุมได้มีมาตราการป้องกันผ่านการสวมหน้ากากอนามัยและการรักษาระยะห่างตามสมควร อีกทั้งเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะเปิดโล่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวกจึงไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด

    4. ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหาไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและได้มีมาตรการป้องกันโรคติดต่อตามสมควร เป็นการกระทําซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ผู้ต้องหาจึงไม่ได้กฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

    5. การดําเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซง ยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่าง ๆ อีก

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาและมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอไปยังพนักงานอัยการ

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติมของผู้ต้องหา ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564)
  • ก่อนถึงวันนัดทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาพนักงานอัยการไปเป็นวันที่ 9 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทวีความ รุนแรง อีกทั้งผู้ต้องหามีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตามประกาศคําสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ต้องกักตัว 14 วัน หากผู้ต้องหาเดินทางไปรายงานตัวเพื่อส่งตัวให้อัยการ เมื่อกลับบุรีรัมย์เกรงว่าจะต้องกักตัว แต่ผู้ต้องหาได้ติดภารกิจที่ได้กําหนดนัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว

    (อ้างอิง: หนังสือขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหา ลงวันที่ 19 ม.ค. 2564)
  • ก่อนถึงวันนัดทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการไปเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น.
  • จตุพรเดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ตามนัดหมายส่งตัวให้อัยการ พร้อมทั้งยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ระบุว่า ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับคดีนี้เนื่องจากพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื้อหาคล้ายคลึงคำให้การที่ยื่นเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน โดยมีเหตุเพิ่มเติมดังนี้

    1. การเดินแฟชั่นสวมชุดหรือเครื่องแต่งกายของผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุเป็นเพียงการร่วมกิจกรรมเท่านั้น อีกทั้งการแต่งกายชุดไทยเป็นชุดที่แพร่หลายและประชาชนทั่วไปสวมใส่เป็นปกติ พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาก็ไม่ได้มีถ้อยคําหรือข้อความใดที่เป็นคํากล่าวหรือได้กล่าวพาดพิงต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชกาแทนพระองค์ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

    2. การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ.2554 เนื่องจากการกล่าวหาและดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ทั้งขณะเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏว่าได้ เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด ผู้ต้องหาเพียงแต่ใช้สิทธิเสรีภาพ โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงขอให้พนักงานอัยการพิจารณาให้ความเป็นธรรม และมีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาด้วย

    ทั้งนี้ อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 มี.ค. 2564
  • จตุพรเดินทางเข้าฟังคำสั่ง อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดฟังคำสั่งครั้งถัดไปวันที่ 31 พ.ค. 2564
  • อัยการเลื่อนไปฟังคำสั่งในวันที่ 15 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติม และพนักงานสอบสวนยังไม่ส่งสำนวนคดีกลับมา
  • จตุพรเดินทางไปพบพนักงานอัยการตามนัด อัยการเลื่อนไปฟังคำสั่งในวันที่ 15 ก.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • จตุพรเดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องในคดี หลังจากรับทราบว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี และได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความและจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

    ต่อมาในช่วงราว 11.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการกระทำในลักษณะเดียวกันที่ถูกฟ้องอีก และจะต้องมาตามกำหนดนัดของศาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น.

    สุธรรม ศรีพิทักษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2) ยื่นฟ้องจตุพร ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จําเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 4 กรรม

    ตอนหนึ่งในคำฟ้องบรรยายว่า การแสดงออกของจำเลยกับพวกที่จําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้า ๆ บนพรมแดง โดยมีคนถือร่มกางให้ และถือพานสีทองเดินตามหลัง รวมทั้งมีผู้กล่าวคําว่า “พระราชินี” ทั้งยังตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ”
    ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สายน้ำ” ได้ร่วมเดินบนพรมแดงโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่ (ชื่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน)” โดยมีผู้ชุมนุมตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” เป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยนี้เป็นพระราชินีและพวกของจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใดๆ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

    อัยการระบุในท้ายคำฟ้องว่า การกระทำของจตุพรถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16(1)(7),19(5) และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    ในส่วนของคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดี มีเนื้อความว่า คดีนี้ จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งฐานความผิดดังกล่าว ศาลนี้และศาลอาญาได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลย ในคดีอื่นมาแล้ว จึงขอศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวจําเลยในคดีนี้ด้วย

    พฤติการณ์ต่าง ๆ ตามฟ้อง มีเพียงจําเลยเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การคุมขังตัวจําเลยไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควร และจําเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล จําเลยให้ความร่วมมือในการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการเป็นอย่างดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ

    นอกจากนี้ ทั้งอัยการและพยักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว จําเลยไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งจําเลยไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมใด ๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน

    ตามคําฟ้องไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของจําเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยแม้แต่น้อย ขอศาลโปรดใช้ดุลพินิจพิจารณาคําร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยยังไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจําเลย

    อีกทั้งขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจําทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร หากจําเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของจําเลย จึงขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

    (อ้างอิง: คำฟ้องและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ 1265/2564 ลงวันที่ 15 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32157)
  • นัดสอบคําให้การและตรวจพยานหลักฐานที่เลื่อนมาจากวันที่ 13 ก.ย. 2564 โจทก์ จําเลย และทนายจําเลย มาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การปฏิเสธ ตามคําให้การฉบับลงวันที่ 22 พ.ย. 2564

    โจทก์แถลงขอส่งเอกสารรวม 29 รายการ และแผ่นซีดีบันทึกกิจกรรมเกี่ยวกับการชุมนุมบนถนนสีลม 1 รายการ และแถลงว่า มีพยาน 27 ปาก ตามบัญชีระบุพยานลงวันที่ 27 ก.ค. 2564 ขอใช้เวลาในการสืบพยานโจทก์ 7 นัด

    ทนายจําเลยแถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานบุคคล 4 ปาก ศาลอนุญาตให้นัดสืบพยานโจทก์ 7 นัด และสืบพยานจําเลย 1 นัด โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 14-17, 21-23 มิ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 24 มิ.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564)
  • ก่อนเริ่มการสืบพยาน วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้ชวนจตุพรพูดคุยเกี่ยวกับผลของคดี ในลักษณะที่โน้มน้าวให้เปลี่ยนใจเป็นไม่ต่อสู้คดี แต่จตุพรยืนยันให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลจึงกล่าวในทำนองว่า ผลของคดีจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวจำเลยเอง

    จากนั้นภายหลังสืบพยานโจทก์ปากแรกเสร็จสิ้น ศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีพยานบุคคลเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรให้มีการตรวจพยานหลักฐานเฉพาะในส่วนพยานบุคคลใหม่

    ศาลยังได้แนะนำให้ทนายจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสอบสวน จำนวน 11 ปาก และมีคำสั่งตัดพยานที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถติดตามมาเบิกความต่อศาลได้ 2 ปาก

    ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว คดีนี้มีพยานฝ่ายโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 14 ปาก จากเดิม 27 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีพยานเบิกความ 1 ปาก คือตัวจำเลยเอง แต่ได้ยื่นคำเบิกความของพยานนักวิชาการเป็นเอกสารอีก 1 ปาก

    กล่าวได้ว่า พยานโจทก์เกือบทุกปากมองว่า การกระทำของจำเลยที่แต่งชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ ก้าวเดินอย่างเชื่องช้าบนพรมแดง โดยมีผู้ติดตามชายถือร่มให้ ขณะที่ผู้ติดตามหญิงถือพานเดินตาม ท่ามกลางบริบทการชุมนุมที่พูดถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ การสนับสนุนแบรนด์แฟชั่น SIRIVANNAVARI การเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ และมีการตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของผู้ร่วมชุมนุมขณะที่จำเลยกำลังเดินแบบ เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากพยานโจทก์ตีความไปเองทั้งสิ้นว่า จำเลยเจตนาเลียนแบบราชินีสุทิดา

    ทั้งนี้ บรรยากาศตลอดการสืบพยานใน 5 วัน นั้น ค่อนข้างตึงเครียด โดยศาลไม่จดคำถามในหลายๆ คำถามของทั้งพนักงานอัยการและทนายจำเลย ให้เหตุผลว่า ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี, เป็นความเห็น หรือเป็นข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยเองได้ โดยเฉพาะการถามของทนายจำเลย ซึ่งมักถูกศาลตำหนิอยู่บ่อยครั้ง

    ++แอดมินเพจ #เชียร์ลุง ผู้ตีความการกระทำของจำเลยเป็นการด้อยค่ากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ก่อนรวบรวมหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

    พยานโจทก์ปากที่ 1: วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ (29 ต.ค. 63) ได้ดูไลฟ์สดการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม และได้เห็นจำเลยแต่งชุดไทยเดินแบบ โดยขณะกำลังเดินอยู่ชายคนหนึ่งเดินตามพร้อมถือร่มคันใหญ่คล้ายฉัตร ขณะที่หญิงอีกคนหนึ่งถือพาน ทั้งจำเลยซึ่งใส่ชุดไทยสีชมพูได้เดินหันซ้าย-ขวาทักทายผู้คนทั้งสองข้าง ประกอบกับมีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” และผู้ชุมนุมคนหนึ่งเอื้อมมาคว้าข้อเท้าของจำเลยไว้

    จากทั้งหมด วริษนันท์เบิกความต่อศาลว่า เธอตีความการกระทำของจำเลยเป็นการจำลองการรับเสด็จกษัตริย์และราชินี เพราะมองว่าจำเลยมีท่าทางคล้ายคลึงกับราชินีสุทิดาขณะมีการรับเสด็จที่สนามหลวง ซึ่งเธอจำวันและเวลาที่แน่นอนไม่ได้

    วริษนันท์กล่าวตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เธอเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในฐานะประชาชนคนธรรมดา พร้อมกับยอมรับว่าได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อีกกว่า 5 คดี โดยหนึ่งในคดีดังกล่าวมีจำเลยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี เธอระบุว่า ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เพียงแต่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของทางกลุ่มเท่านั้น และปัจจุบันมีหน้าที่เป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ #เชียร์ลุง, ภาคีปกป้องสถาบัน และศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)

    วริษนันท์เบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ในวันและเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยและพวก (สายน้ำ) ได้แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน แต่เมื่อถูกทนายจำเลยถามซ้ำเธอก็ยอมรับว่า ที่จริงแล้วไม่ทราบว่าทั้งสองได้มีการประชุมกันจริงหรือไม่ ส่วนที่เบิกความตอบไปนั้นก็เนื่องด้วยความเข้าใจของตัวเธอเอง

    จากนั้นวริษนันท์ก็ได้รับว่า ที่เธอให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามที่ปรากฏในคำให้การ เป็นเพราะตีความว่า การกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์เสียเกียรติ เป็นที่เสื่อมศรัทธา แต่ ณ ปัจจุบัน ตนเองก็ยังคงเลื่อมใสและศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ เพราะเธอสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรืออะไรคือการกระทำที่ไม่สมควร

    ต่อมา พนักงานอัยการได้ถามติงว่า การเดินแฟชั่นโชว์นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรจึงได้นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งวริษนันท์ได้ตอบว่า จากการกระทำของจำเลยที่ใส่ชุดไทยเดินทักทายผู้คนสองข้างทาง มีคนถือร่มและพานเดินตาม ขณะที่สายน้ำใส่เสื้อครอปท็อปซึ่งเป็นการเลียนแบบมาจากการแต่งกายของ ร.10 นั้น เป็นการร่วมแสดงล้อเลียนคาแรกเตอร์ของกษัตริย์และราชินี

    ++ผู้กล่าวหาที่ 2 ย้ำจำเลยล้อเลียนกษัตริย์และราชินี ทั้งยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

    พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.ประวิทย์ วงศ์เกษม กองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความว่า ตนเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 ในคดีนี้ โดยในวันที่เกิดเหตุได้ทราบจากผู้บังคับบัญชาและรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งซึ่ง “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ประกาศว่า จะมีการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยเป็นการชุมนุมเกี่ยวกับศิลปะของราษฎร ตนจึงได้ตรวจสอบการขออนุญาตชุมนุม ซึ่งพบว่าไม่มีการขออนุญาตทั้งทางเอกสารและอีเมล จึงแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาและประสานกองกำลังต่างๆ เพื่อสนธิกำลัง

    จากนั้นเบิกความต่อว่าในวันที่เกิดเหตุ ตนเองได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมด้วย โดยได้ปะปนไปกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งตนเองและทีมได้แบ่งงานกันถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมเพื่อนำไปทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชา

    พ.ต.ท.ประวิทย์ กล่าวว่า ทางผู้กำกับ สน. ยานนาวา ได้ออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุม โดยให้รองผู้กำกับเป็นผู้ประกาศ และได้มีการแจกจ่ายสำเนาคำสั่งในที่ชุมนุมด้วย แต่ทางผู้ชุมนุมได้โห่ไล่เจ้าหน้าที่และดำเนินกิจกรรมต่อ โดยบรรยากาศในการชุมนุมมีกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการร้องเพลง เต้น การแสดงภาพวาด แต่ที่น่าสนใจคือการปูพรมแดงเพื่อเดินแฟชั่นโชว์

    สำหรับการนัดแนะกันเพื่อเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยและสายน้ำนั้น พ.ต.ท.ประวิทย์ เบิกความว่า อาจจะมองว่าทั้งสองทำหรือไม่ทำร่วมกันก็ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การแสดงของทั้งสองก็ทำให้คิดและเข้าใจได้ว่าเป็นการล้อเลียนกษัตริย์และราชินี

    จากนั้น พ.ต.ท.ประวิทย์ ยังเบิกความอีกด้วยว่า ตนเองเป็นผู้สรุปรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา โดยในรายงานนั้นมีทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ทั้งยังส่งรายงานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนด้วย

    จากนั้น พ.ต.ท.ประวิทย์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเองมีหน้าที่หาข่าวในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 อีกทั้งรู้จักด้วยว่า จำเลยเป็นการ์ดของกลุ่ม WeVo พ.ต.ท.ประวิทย์ ยังกล่าวอีกว่าสำหรับจำเลยนั้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพราะอยู่ในการชุมนุมที่ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่

    จากนั้นพยานโจทก์ปากนี้ก็เบิกความยอมรับว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีผลบังคับใช้ขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า แล้วพยานทราบหรือไม่ว่า คำสั่งให้ยุติการชุมนุมของผู้กำกับ สน. ยานนาวา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการขัดกันเองของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่ง พ.ต.ท. ประวิทย์ก็เบิกความตอบโดยเลี่ยงว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ข้อกฎหมายแบบเทียบเคียง

    ทั้งนี้ พ.ต.ท.ประวิทย์ ยอมรับว่า การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยในวันเกิดเหตุ ไม่มีชื่อ ภาพ หรือข้อความที่ระบุถึงกษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท ปรากฏอยู่ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ทำการปราศรัยด้วย ในวันนั้นก็มีผู้เดินแฟชั่นหลายชุด ซึ่งในระหว่างที่มีการแสดงก็มีการส่งเสียงเชียร์ในหลายรูปแบบ ทั้งปรบมือ และการตะโกน โดยที่ตัวจำเลยไม่ได้พูดหรือทำอะไรให้มีการตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” เลย รวมทั้งยอมรับด้วยว่าการใส่ชุดไทยไม่ใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 112

    แต่กระนั้นพยานก็ยังกล่าวว่า การกระทำของจำเลยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ การมีผู้ถือร่ม ถือพานเดินตาม ที่ทำให้ตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นประมาทกษัตริย์และราชินี

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ++ตร.สืบสวน สน.ยานนาวา ปะปนกับผู้ชุมนุมเพื่อหาข่าว

    พยานโจทก์ปากที่ 3: ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน ฝ่ายสืบสวน สน. ยานนาวา เบิกความว่า ในวันที่เกิดเหตุ เวลา 17.00 น. ตนเองได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมแล้วเห็นว่ามีการปูพรมแดงยาว 10 เมตรโดยประมาณ จากนั้นมีหญิงคนหนึ่งประกาศผ่านโทรโข่งว่า จะมีการเดินแฟชั่นโชว์ในอีกสักครู่ โดยประกาศเชิญชวนอยู่ประมาณ 20 นาที ซึ่งขณะนั้นตนเองกำลังถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมอยู่ก็ได้เห็นจำเลยใส่ชุดไทยสีชมพูกำลังเดินอยู่ โดยมีชายคนหนึ่งถือร่มและหญิงคนหนึ่งถือพานเดินตามมา ขณะเดียวกันก็มีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภผ่านโทรโข่งด้วย

    อย่างไรก็ดี ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความว่า พบเห็นการเดินแฟชั่นโชว์ชุดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการแสดงของจำเลยด้วย กล่าวคือ ในการชุมนุมนั้นไม่ได้มีแค่การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว

    จากนั้นเบิกความอีกว่า หลังจำเลยเดินแบบแล้ว ตนเองก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้ติดตามถ่ายภาพจำเลย และตนเองก็ได้ติดตามถ่ายภาพไปจนกระทั่งจำเลยเดินออกจากพื้นที่ชุมนุมไปยังซอยสีลม 13 และเมื่อเห็นจำเลยขึ้นรถคันหนึ่งออกไปจึงเลิกติดตาม

    ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเองเป็น ผบ.หมู่ชุดสืบสวน – หาข่าว และไม่รู้ว่าตามรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ทั้งยังระบุว่า จำไม่ได้ว่าได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาตอนไหน เรื่องให้เตรียมตัวรับมือการชุมนุม และไม่รู้ว่าใครคือผู้จัดการชุมนุม ตนเพียงแต่ทำตามหน้าที่

    สำหรับลักษณะการชุมนุม ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า บางคนเอางานศิลปะมาแสดง บางคนร้องรำทำเพลง และแสดงงานศิลปะผ่านทางร่างกาย ซึ่งในวันดังกล่าวตนเองสามารถเดินไปดูการแสดงตามจุดต่างๆ ได้ อีกทั้งระบุด้วยว่ามีการปราศรัยหลายอย่างในการชุมนุม

    จากนั้นพยานได้เบิกความถึงเรื่องการเดินแฟชั่นโชว์ โดยกล่าวว่า ในวันดังกล่าวมีการเดินแบบทั้งหมด 5 ชุด และที่เนื้อตัวร่างกายของจำเลยไม่มีข้อความบ่งบอกว่า ตนเองเป็นใคร และไม่ได้บอกให้ใครเข้ามาหมอบกราบ การแสดงออกด้วยท่าทางต่างๆ ของผู้ชุมนุม เช่น การตะโกนทรงพระเจริญ หรือการหมอบกราบ เป็นการกระทำของผู้ชุมนุมเอง จำเลยไม่ได้เป็นผู้บอกให้ผู้ชุมนุมกระทำหรือแสดงกิริยาเหล่านั้น รวมทั้งเบิกความยอมรับด้วยว่า ผู้หญิงที่ถือโทรโข่งและเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภนั้นได้เปิดเพลงให้ผู้เดินแบบหลายคนด้วยกัน มิใช่แค่จำเลยเพียงคนเดียว

    ทั้งนี้ ส.ต.ท.กรณินทร์ กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบว่าร่มและสายสะพายที่อยู่ในการเดินแบบของจำเลยนั้นเป็นสินค้าที่ระลึกของทางกลุ่ม WeVo และตอบอัยการในเวลาต่อมาว่า ตนเองเห็นร่มดังกล่าวเพียงแค่ตอนที่จำเลยเดินแบบอยู่เท่านั้น

    ++เจ้าของร้านย่านวัดแขก ระบุ การกระทำของจำเลยอาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    พยานโจทก์ปากที่ 4: วีระกร เจริญศรี เจ้าของกิจการซึ่งมีร้านอยู่บนถนนสีลม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเองอยู่ที่ร้านเมื่อเวลา 10.00 น. เพื่อเปิดร้านตามปกติ และเมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ ก็มีพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นพากันมาตั้งร้าน จากนั้นตนก็ทราบจากสื่อออนไลน์ว่าจะมีการชุมนุม และเวลา 16.00 น. ตนเองก็ออกจากร้านเพื่อเดินทางกลับที่พัก โดยใช้วิธีการเดินเท้าผ่านวัดแขกไปทางถนนสีลม เดินไปจนถึง BTS สถานีสุรศักดิ์ ช่วงที่ออกจากร้านนั้นคนยังไม่เยอะมาก จึงใช้เวลาเดินประมาณ 4 – 5 นาที และเมื่อเวลา 18.00 น. ลูกน้องโทรมาบอกว่า มีปัญหาเรื่องระบบประปาที่ร้าน จึงเดินเท้ากลับมา ซึ่งขากลับนี้ใช้เวลา 15 – 20 นาที นับเป็นเวลาที่มากกว่าปกติ และเหตุที่ต้องใช้เวลานานขึ้นเป็นเพราะบริเวณที่ต้องเดินผ่านมีผู้คนหนาแน่นมาก โดยตลอดทางที่เดินผ่านไม่เห็นจุดให้บริการแอลกอฮอล์ และไม่เห็นว่ามีผู้ใส่แมสด้วย

    สำหรับเรื่องการชุมนุม พยานเบิกความตอบว่า ตนเองเห็นว่ามีการจัดกิจกรรม มีการปราศรัย ตนไม่เข้าใจเนื้อหาของงาน แต่ก็สังเกตเห็นว่ามีป้ายผ้าขนาดยาวซึ่งมีข้อความว่า “สถาบันกษัตริย์” โดยตนเห็นวิดีโอในสื่อออนไลน์ในภายหลังว่า เป็นการเดินแฟชั่นโชว์ล้อเลียนสถาบัน พร้อมกับยืนยันด้วยว่าสิ่งที่เห็นจากสื่อออนไลน์เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับวันที่เกิดเหตุในคดีนี้

    นอกเหนือไปจากนี้ วีระกรยังระบุอีกว่า การชุมนุมและการกระทำของจำเลยเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้มองได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร อาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีผลกระทบต่อกิจการของตนเองด้วย ก่อนจะกล่าวว่าในวันและเวลาที่มีการชุมนุม ร้านของตนไม่มีลูกค้าเลย

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน วีระกรเบิกความว่า มาเป็นพยานในคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนมาหาที่ร้าน โดยมาถามว่าเห็นเหตุการณ์หรือไม่ เป็นการถามด้วยวาจา แต่ตนเองก็จำไม่ได้ว่า เข้าไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อไร อีกทั้งจำไม่ได้ว่า ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียนสถาบัน

    ในวันที่มีการชุมนุม ตนเองเห็นว่ามีการเดินแฟชั่นโชว์ผ่านสื่อออนไลน์ แต่เมื่อเห็นว่ามีการแต่งกายคล้ายคนในสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้ดูต่อ ทั้งขณะเดินผ่านที่ชุมนุมก็ไม่ได้หยุดดู

    อย่างไรก็ตาม วีระกรยอมรับว่า คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ และสามารถใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการแต่งกายคล้ายคนในสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งไม่สมควร และสำหรับการเดินแฟชั่นโชว์ในงานชุมนุมนี้ คิดว่าเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ เพราะมีเจตนาแต่งกายล้อเลียนคนในสถาบันกษัตริย์ และเป็นการล้อเลียนการจัดงานแฟชั่นโชว์ของคนในสถาบันกษัตริย์ด้วย

    ++จนท. ฝ่ายทะเบียน ยืนยันว่าคนทั่วไปไม่สามารถตั้งชื่อตนเองตามชื่อกษัตริย์ได้

    พยานโจทก์ปากที่ 5: เชษฐา แก้วขาว เจ้าพนักงานปกครองฝ่ายทะเบียน เขตสาทร เบิกความว่า ตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการขอตั้งชื่อ พร้อมระบุว่าโดยทั่วไปแล้วบุคคลไม่สามารถตั้งชื่อตนเองว่า “วชิราลงกรณ์” ได้ เพราะเป็นชื่อของกษัตริย์ ซึ่งมีข้อห้ามระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำชื่อกษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อของตนเอง

    เมื่อทนายจำเลยถามค้านโดยให้เชษฐาดูภาพของสายน้ำที่มีข้อความเขียนบนแผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แล้วถามว่า บุคคลในภาพเขียนสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงแล้วใช่หรือไม่ เชษฐาตอบว่าใช่ พร้อมยืนยันว่าชื่อ “วชิราลงกรณ์” นั้นไม่สามารถนำมาตั้งชื่อบุคคลทั่วไปได้อยู่แล้ว

    ++นักวิชาการสุขาภิบาล เขตบางรัก ชี้การชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด

    พยานโจทก์ปากที่ 6: ณัฐกานต์ แฟงฟัก นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ ฝ่ายสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เขตบางรัก เบิกความว่า ตนเข้ามาเป็นพยานในคดีได้เนื่องจากตำรวจ สน. ยานนาวา เข้าไปขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่เขตบางรักมาเป็นพยาน และให้การเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้ามาเป็นพยาน และให้ปากคำ พร้อมกับนำประกาศ กทม. มาให้เป็นหลักฐานด้วย โดยประกาศที่นำมานั้นเป็นประกาศฉบับที่ 19, 20, 21, 22, 23 และ 25 ซึ่งเป็นประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    จากนั้นณัฐกานต์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบเรื่องการชุมนุมหน้าวัดแขกจากพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ที่เข้ามาพบ ประกอบกับเห็นภาพข่าวจากสื่อออนไลน์

    ทนายจำเลยถามว่า ตามประกาศ กทม. ฉบับที่ 11 เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ระบุถึงการผ่อนคลายให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค แสดงว่าช่วงการชุมนุมยังอยู่ในช่วงผ่อนปรนใช่หรือไม่ ซึ่งณัฐกานต์ตอบว่าใช่ แต่ศาลไม่บันทึกโดยบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่โจทก์ฟ้อง

    จึงถามต่อว่า ในประกาศ กทม. ไม่ได้พูดถึงการชุมนุมใช่ไหม และณัฐกานต์ตอบว่า ถ้าตามประกาศก็ใช่ แต่ยังยืนยันว่าตามเอกสารแนบท้ายมีคำว่าสถานที่อื่นใด ซึ่งหมายรวมได้ว่าการชุมนุมก็อยู่ในคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวได้ โดยย้ำว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการ และอธิบายว่าทั้งในฐานะประชาชนและผู้จัดกิจกรรมต่างต้องปฏิบัติตามมาตรการ เช่น มีอ่างล้างมือ เป็นต้น โดยตรงนี้ณัฐกานต์ได้อ้างเอกสารประกาศ กทม. ฉบับที่ 11 และ 13

    จากนั้นทนายจำเลยได้ถามว่า ตามคำให้การของณัฐกานต์ในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 – 14 ให้อ้างจาก ประกาศ กทม. ฉบับที่ 9 นั้น หมายความ ประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 ในข้อ 3 ที่ว่าการจัดกิจกรรมกลุ่มของประชาชนสามารถจัดทำได้ แต่คนรับผิดชอบและจัดงานต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการใช่ไหม

    อย่างไรก็ดี ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ พร้อมกับเรียกทนายจำเลยไปตำหนิทำนองว่าไม่ควรถามอย่างที่ต้องการทั้งหมด แบบการถามเช่นนั้นมันทำไม่ได้

    ทนายจำเลยจึงเปลี่ยนไปถามว่า ในชั้นสอบสวนได้ดูทั้งภาพนิ่งและวิดีโอใช่หรือไม่ ซึ่งณัฐกานต์ตอบว่าใช่ แต่มีภาพอะไรบ้างและมีกี่วิดีโอนั้นจำไม่ได้ นอกจากนี้เธอยังบอกว่าได้ทราบข่าวเรื่องการชุมนุมจากสื่อออนไลน์ด้วย จึงได้ให้การไปตามอำนาจหน้าที่

    ทั้งนี้ เมื่อทนายจำเลยถามต่อไปว่า จากภาพที่เห็น ผู้คนในที่ตรงนั้นสามารถเดินผ่านไปมาได้หรือไม่ ศาลก็ได้ตำหนิทนายจำเลยอีกครั้งว่าเป็นการถามที่ดูเหมือนจะบังคับให้พยานตอบ ศาลจึงจะไม่บันทึกคำถามนี้เพื่อให้เป็นการปกป้องพยาน ก่อนจะวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าศาลจะไม่บันทึกในประเด็นนี้อีก

    ในตอนท้าย ณัฐกานต์ได้เบิกความด้วยว่า จากพฤติกรรมของผู้ชุมนุมซึ่งเห็นได้จากเอกสารของพนักงานสอบสวนและภาพข่าวจากสื่อออนไลน์แล้วก็ยังดูเสี่ยงต่อการแพร่โควิด

    ต่อมาอัยการได้ถามติงเกี่ยวกับการรับเรื่องการขอใช้เครื่องขยายเสียง โดยณัฐกานต์ตอบว่า ในวันดังกล่าวไม่มีผู้ใดมายื่นคำร้องของใช้เครื่องขยายเสียงเลย และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อนั้น ซึ่งตามประกาศแล้วถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ++นักวิชาการด้านการแสดงละคร ผู้ระบุว่าการจะดูว่าเหมือนหรือไม่เหมือนนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของคนดู

    พยานโจทก์ปากที่ 7: ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ เอกการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า ด้วยปริญญา 2 ใบ และประสบการณ์ในการทำงานด้านการละคร เช่น เขียนบท กำกับละครเวที ทำให้ตนเองมีความรู้เรื่องการละคร และเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนมาหาเธอถึงที่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือให้เข้ามาเป็นพยานความเห็นในคดี ซึ่งเมื่อมาถึงพนักงานสอบสวนให้ดูวิดีโอเหตุการณ์ในคดีนี้

    ตรีดาวเบิกความต่อไปว่า เมื่อพยานดูวีดิโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูแล้วเห็นว่า เป็นการสื่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ไม่น่ายกย่อง และเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ตั้งใจสื่อสารว่าตนเองคือราชินีสุทิดา

    ตรีดาวระบุว่า พฤติการณ์ของจำเลยนั้นคล้ายกันกับเหตุการณ์รับเสด็จราชินีสุทิดาที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เธอจำไม่ได้ว่าวันที่เท่าไร จากนั้นก็กล่าวว่า จากทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เธอเข้าใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสื่อว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนเกิดความไม่เคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 6 ที่เธอยกมาอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งตลอดการสืบพยาน

    ทั้งนี้ ตรีดาวยังระบุด้วยว่า จากวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู เธอมองว่าเป็นการแสดงที่ด้อยค่า เสียดสี สถาบันหลักของไทย ทำให้คนไทยจำนวนมากเสียใจ และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ที่บัญญัติว่าจะละเมิดสถาบันกษัตริย์มิได้ จากนั้นก็ยืนยันว่าตนเองเบิกความในฐานะนักวิชการและประชาชนที่มีความรู้สึก รวมทั้งได้เห็นการแสดงดังกล่าวของจำเลยแล้ว

    ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านว่า ในการเดินแฟชั่นโชว์จำเป็นต้องมีบทหรือไม่ ตรีดาวเบิกความตอบว่า การเดินแฟชั่นโชว์ไม่จำเป็นต้องมีบท แต่ผู้เดินแบบจะต้องสื่อสารตามวัตถุประสงค์ของผู้จัด เธอย้ำว่าผู้เดินแบบหรือผู้แสดงย่อมรู้ตัวอยู่แล้วว่าตนเองเป็นใคร และกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คำว่า บท นั้น อาจใช้คำว่าวัตถุประสงค์ในการแสดงก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แสดงรู้อยู่แล้วว่าการแสดงนี้ต้องการจะสื่อสารอะไร

    ทนายจำเลยจึงถามว่า การเดินแฟชั่นโชว์เป็นการแสดงสดใช่ไหม เมื่อเปรียบกับละครเวทีก็จะเท่ากับว่าเราไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมได้ ใช่หรือไม่ ตรีดาวยอมรับว่าใช่ ก่อนจะพยายามอธิบายว่า สามารถกำหนดทิศทางได้ โดยยืนยันว่าแม้จะควบคุมปฏิกิริยาคนดูไม่ได้ แต่สามารถกำหนดทิศทางได้ โดยผู้จัดสามารรู้ล่วงหน้าได้ผ่านการกำหนดสาร หรือ Theme

    ทนายจำเลยถามโดยใช้ข้อเท็จจริงจากวันเกิดเหตุ ซึ่งโฆษกในงานประกาศว่า การเดินแฟชั่นนั้นเปิดให้ใครก็สามารถเข้าร่วมเดินได้โดยเสรี แล้วถามว่า ลักษณะแบบนี้จะควบคุมอากัปกิริยาผู้ชมไม่ได้ใช่หรือไม่ ตรีดาวเบิกความตอบว่า ตามศิลปะและรสนิยมชั้นสูงแล้วจะไม่มีการปล่อยให้มีคนเดินแฟชั่นโชว์โดยเสรี แบบไม่มีการซักซ้อมมาก่อน

    เมื่อทนายจำเลยถามต่อว่า การทำให้เหมือนในการแสดงนั้น สามารถทำให้เหมือนได้คล้ายมากที่สุดใช่ไหม ซึ่งตรีดาวตอบว่าใช่ โดยเธออธิบายว่า การทำให้เหมือนขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะมากน้อยแต่ไหน บางครั้งไม่ต้องทำให้เหมือนเป๊ะ แต่สามารถใช้องค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี เธอยืนยันว่าการจะดูว่าเหมือนหรือไม่เหมือนนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของคนดูด้วย

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้เปิดวิดีโอการเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยให้ตรีดาวดูอีกครั้ง พร้อมถามว่า ในวันเกิดเหตุ เมื่อมีผู้ตะโกนเรียกด้วยคำว่า “พระราชินี” จำเลยไม่ได้ตอบรับคำเรียกนั้นใช่ไหม และจากวิดีโอจะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก มีความยาวเพียง 19 วินาที ดังนั้นแล้วอากัปกิริยาของผู้ชมจึงอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้เดินแบบใช่หรือไม่? โดยตรีดาวได้เบิกความยอมรับว่า ใช่ ในทั้งสองคำถาม

    อย่างไรก็ดีเมื่อทนายจำเลยถามความเห็นเฉพาะของตรีดาวว่า โดยส่วนตัวแล้วพยานตีความการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียนราชินีหรือไม่ และการตีความว่าจำเลยกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นั้น ก็เป็นการตีความของพยานเองอีกเช่นกันใช่หรือไม่ ซึ่งตรีดาวตอบว่า ใช่ ทั้งสองคำถาม หากแต่ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ ทนายจำเลยจึงถามใหม่พร้อมให้ตรีดาวดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะมาตรา 6 แล้วถามว่าในรัฐธรรมนูญระบุถึงเพียงแค่กษัตริย์เท่านั้นใช่หรือไม่ ตรีดาวตอบว่า ใช่ ก่อนทนายจำเลยจะอ้างส่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นพยานหลักฐานของจำเลย

    ในตอนท้ายนั้น ตรีดาวเบิกความว่า เธอรู้ว่าคำว่า “ทรงพระเจริญ” นั้นมีไว้ใช้กับทั้งกษัตริย์ ราชินี และเชื้อพระวงศ์ และยืนยันว่า การกระทำทั้งหมดทั้งมวลของจำเลยไม่ได้ทำให้เธอเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ มิหนำซ้ำยังทำให้ให้จงรักภักดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

    ในส่วนการถามติงของอัยการ อัยการถามว่า จากวิดีโอที่มีผู้ตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” นับเป็นองค์ประกอบที่สื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนราชินีหรือเป็นการจัดเตรียมได้หรือไม่ และตรีดาวเบิกความตอบว่า ใช่ โดยอธิบายว่าเธอไม่รู้ว่าการเดินแบบของจำเลยมีการซักซ้อมหรือไม่ แต่การแสดงนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่สื่อถึงสถาบันกษัตริย์ โดยผู้ชุมนุมมีความคิดไปในทางเดียวกัน คือต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทั้งหมดทำให้เธอเข้าใจการแสดงนี้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการแสดงเพื่อล้อเลียนราชินี

    จากนั้นตรีดาวยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนเธอได้ตอบคำถามพนักงานสอบสวนตามหลักวิชาการและตามความเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนที่เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามชี้นำหรือทำให้คำให้การผิดเพี้ยนไป พร้อมทั้งเน้นย้ำอีกครั้งในตอนท้ายด้วยว่า การแสดงของจำเลยมีความต้องการสื่อถึงราชินี ขณะที่การแสดงของสายน้ำเป็นการสื่อถึง ร.10 ซึ่งตรงนี้ทนายจำเลยได้คัดค้านคำถามติงของอัยการ เนื่องจากว่าทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านถึงสายน้ำเลย ศาลจึงไม่บันทึกคำเบิกความขอพยานที่เกี่ยวกับสายน้ำ

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ++พยานนักวิชาการผู้มองว่า งบสถาบันกษัตริย์และภาษีประชาชนนั้นเป็นคนละส่วนกัน

    พยานโจทก์ปากที่ 8: กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง เบิกความว่า ตนเองรับรู้และติดตามข่าวสารการชุมนุมอย่างใกล้ชิดในฐานะของอาจารย์ที่ห่วงใยนักศึกษาของตนเองที่เข้าร่วมชุมนุม พร้อมกับกล่าวว่า ตนเองทราบว่า มีการปราศรัยที่เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และตนเองได้เขียนบทความที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวแล้วตีพิมพ์ลงในสำนักข่าวอิศรา

    ต่อมากิตติพงศ์ได้แจกแจงรายละเอียดว่าใน 10 ข้อเรียกร้องนั้นเป็นการกระทำผิดอย่างไร ซึ่งโดยสรุปแล้วกล่าวได้ว่า กิตติพงศ์มีความเห็นว่ากษัตริย์ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังนั้นเขาจึงเห็นว่า มาตรานี้มีความเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของรัฐ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเท่ากับเครื่องคุ้มครองกษัตริย์หรือประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเฉพาะในประเทศที่มีกษัตริย์ ทั้งนี้เขายังมีความเห็นด้วยว่าการยกเลิกมาตรา 112 มีปัญหา และพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้เป็นการละเมิดสถาบันกษัตริย์ด้วย

    กิตติพงศ์เบิกความถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่า เป็นการทำให้เข้าใจผิดว่ากษัตริย์เอาเงินภาษีไปใช้ เพราะตามหลักการแล้วงบประมาณมีการจัดสรรอยู่แล้ว เป็นคนละส่วนกัน จึงมองว่าการบอกว่า กษัตริย์เอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้เท่ากับการทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันกษัตริย์ เรื่องการเสนอให้ยกเลิกส่วนงานราชการในพระองค์นั้น ก็เป็นเพราะความไม่เข้าใจความเป็นมาของหน่วยงานดังกล่าว และในตอนท้ายเขายังบอกด้วยว่าการบริจาคเงินให้กษัตริย์เท่ากับการกระทำโดยความสมัครใจของผู้บริจาคเงิน การบอกให้ยกเลิกจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ

    อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ศาลได้กล่าวติงว่า ขอให้พยานเบิกความแต่พอสังเขป เพราะแต่ละข้อเรียกร้องไม่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลย ศาลขอว่า “อย่าขยายประเด็น” และบันทึกแต่เพียงว่า พยานได้เบิกความไว้ตามความคิดเห็นที่พยานเขียนเป็นบทความ และตามที่ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเท่านั้น

    จากนั้นกิตติพงศ์จึงเบิกความต่อไปว่า ตนเองเข้ามาเป็นพยานได้เพราะเป็นนักวิชาการและได้เขียนบทความที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น โดยในวันให้การ พนักงานสอบสวนได้เอาภาพนิ่งและวิดีโอมาให้ดู ตนจึงรู้ว่าจำเลยเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม และจากภาพรวมทั้งหมดทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการสื่อถึงในหลวง ร.10 และราชินี พร้อมทั้งระบุด้วยว่าในชั้นสอบสวน ตนเองได้ให้ความเห็นไปว่าการกระทำของสายน้ำถือเป็นการทำที่เข้าข่ายด้อยค่า ร. 10 แต่ศาลจะพิพากษาอย่างไรนั้นให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    กิตติพงศ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเองสำเร็จการศึกษาปริญญาโท โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยตรงในระบบกฎหมายไทย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ตนเคยเขียนบทความเกี่ยวกับมาตรา 112 เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา และเขียนหนังสือเรื่อง “การให้ความคุ้มครองกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และอธิบายต่อด้วยว่า สำหรับเรื่องข้อเรียกร้องทั้ง 10 ประการ มีการถกเถียงกันอยู่โดยทั่วไปทั้งในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว และยอมรับว่ามีนักวิชาการอื่นๆ ที่มีความเห็นตรงข้ามกับตนเอง เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล

    จากนั้นกิตติพงศ์ก็เบิกความถึงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะวิญญูชนทั่วไปสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการกระทำด้วยความเป็นธรรม ไม่ใส่ร้าย และเบิกความเพิ่มเติมว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ผู้ร้องเข้ารับการไต่สวน หรือการที่ไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องทำคำแถลงและยื่นพยานนั้น เป็นเพราะผู้ถูกร้องไม่ยื่นในเวลาที่เหมาะสมซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดปกติ จึงมองว่าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยระหว่างนี้ศาลได้ติงขึ้นอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีการขยายประเด็น

    ทนายจำเลยจึงถามว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การมีเสรีภาพเหนือเนื้อตัวร่างกาย หมายความว่าจะแต่งกายอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ ซึ่งกิตติพงศ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยก็ถามต่อว่า แล้วการแต่งกายที่ว่าเป็นการสื่อความหมายของผู้แต่งกายนั้น ผู้รับสารอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ใช่หรือไม่ ตรงนี้กิตติพงศ์เบิกความตอบว่า โดยทั่วไปคือมีได้ แต่ต้องดูจากภาพรวมด้วย ซึ่งในคดีนี้เมื่อตนเองดูภาพรวมแล้วก็เข้าใจได้ว่า เป็นการสื่อความถึงการรับเสด็จ จากนั้นก็ระบุว่า จากการร้องตะโกนว่า “ราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของกลุ่มผู้ชุมนุม ก็สื่อได้ถึงราชินีมากกว่าจะสื่อถึงฟ้าหญิงสิริวัณณวรี เพราะจากภาพข่าวในพระราชสำนักมักไม่ค่อยเห็นฟ้าหญิงสิริวัณณวรีใส่ชุดไทย แต่จะใส่ชุดแบบตะวันตกมากกว่า ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์

    ต่อมา ทนายจำเลยถามถึงเรื่องการกระทำที่เป็นการ “ดูหมิ่น” ว่า ต้องได้ความหมายว่า ระบุเจาะจงถึงบุคคลใดใช่หรือไม่ พร้อมกับให้กิตติพงศ์อ่านคำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม แล้วถามอีกว่า คำจำกัดความตามที่ทนายกล่าวนั้นตรงตามคำพิพากษานี้ใช่หรือไม่ และกิตติพงศ์ยอมรับว่า ใช่

    ทั้งนี้ในตอนท้าย ทนายจำเลยได้ถามกิตติพงศ์ว่า ประเทศไทยให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือลและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ใช่หรือไม่ ซึ่งกิตติพงศ์ยอมรับว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ โดยบอกว่าเอาแค่รัฐธรรมนูญไทยก็พอ และบอกด้วยว่าศาลบันทึกไปแล้วในตอนแรกและศาลจะไม่บันทึกซ้ำเดิมอีก

    จากนั้น พนักงานอัยการถามติงว่า คำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม ที่ทนายจำเลยนำมาให้ดูนั้น ตัวกิตติพงศ์ไม่ทราบว่า อัยการมีการอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อหรือไม่ ใช่ไหม และในวิดีโอเห็นว่าจำเลยไม่มีการพูด มีข้อความ หรือการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย มาตรา 112 แต่จากภาพแล้วเข้าข่ายกระทำความผิดใช่หรือไม่ ทั้งนี้ื กิตติพงศ์เบิกความตอบว่า ใช่ ทั้งสองคำถาม และอธิบายต่อว่า การกระทำของจำเลยและสายน้ำนั้นเข้าใจได้ว่าต้องการสื่อถึง ร.10 และราชินี แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะตัดสินอย่างไร ซึ่งศาลไม่บันทึกประโยคหลังนี้

    ++ตำรวจสันติบาลผู้อยู่ใกล้พรมแดงเดินแฟชั่นรับ จำเลยไม่ได้ประกาศว่าแสดงเป็นใคร

    พยานโจทก์ปากที่ 9: ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 7 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวผ่านสื่อออนไลน์ในพื้นที่การชุมนุม โดยจะดูเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพื้นที่ชุมนุม และในวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดแขก ทั้งนี้ตนได้แต่งกายเหมือนมวลชนในที่ชุมนุมด้วย

    พยานเบิกความอีกว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าว โดยไม่ได้ติดตามใครเป็นพิเศษ แต่จะอยู่ในจุดที่มีมวลชน หรือมีเสียงดัง และในวันนั้นตนก็ได้อยู่ในจุดที่ห่างจากการแสดงแฟชั่นโชว์ราว 5 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

    ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ระบุว่า ตนเองทราบว่าจำเลยเป็นนักกิจกรรมการเมืองอยู่กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก เมื่อมากรุงเทพฯ ก็มากับกลุ่ม WeVolunteer แล้วบอกด้วยว่า ตนเองได้เข้าไปถ่ายรูปและวิดีโอการเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยเอาไว้ด้วย โดยเข้าไปกับเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

    สำหรับการเดินแฟชั่นของจำเลยนั้น ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความว่า เมื่อเห็นการแสดงของจำเลยแล้วมองออกว่าจำเลยต้องการสื่อถึงราชินีสุทิดา ขณะที่อีกคนหนึ่งคือสายน้ำทำการแสดงแฟชั่นโชว์โดยเขียนข้อความไว้บนตัว แต่ตนเองจำข้อความดังกล่าวไม่ได้แล้ว

    ทั้งนี้ เมื่อพนักงานอัยการนำรายงานการสืบสวนมาให้ดู ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ก็ระบุว่ารายงานฉบับนี้ไม่มีภาพหรือวิดีโอที่ตนเองเป็นผู้ถ่ายรวมอยู่ด้วย พนักงานอัยการยังพยายามให้พยานดู แต่ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ก็ยังยืนยันว่า ไม่มี ศาลจึงได้บอกให้พยานเบิกความตามข้อเท็จจริง ขณะที่ทนายจำเลยค้านขึ้นว่าอัยการพยายามถามนำ แต่ศาลก็บอกเพียงแค่ศาลดูอยู่และอนุญาตให้อัยการสืบต่อไป แต่อัยการไม่ได้ถามคำถามกับ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อีก เพียงอ้างส่งคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้แทน

    ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนทราบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม โดยผู้จัดคือ คณะราษฎร 63 และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นอธิบายลักษณะของพื้นที่ชุมนุมว่าคือถนนสีลมทั้งสาย ซึ่งมีลักษณะเป็นที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนการทำกิจกรรมในที่ชุมนุมก็ถูกแบ่งออกตามจุดต่างๆ โดยผู้ชุมนุมก็จะกระจายตัวกันไปดู และแต่ละกิจกรรมนั้นไม่ได้มีการยืนรวมกลุ่มกันแต่อย่างใด

    สำหรับการเดินแฟชั่นโชว์ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ระบุว่าตนเองได้เข้าไปดูด้วย และเบิกความว่า จำเลยไม่ได้แสดงตัว หรือประกาศว่าตนเองแสดงเป็นใคร อีกทั้งพิธีกรก็ไม่ได้ประกาศให้มีการเตรียมถวายการต้อนรับราชินี หรือให้มีการกล่าวคำว่า “ทรงพระเจริญ” แต่อย่างใด

    จากนั้นทนายจำเลยถามเรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทย โดยนำภาพหญิงแต่งกายด้วยชุดไทยลักษณะเดียวกับที่จำเลยใส่ในวันเกิดเหตุให้ ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ดู ก่อนจะถามว่า ทั้งสองภาพนี้พยานมองว่าเป็นการล้อเลียนหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความตอบว่า การตีความเป็นเรื่องส่วนบุคคล และบุคคลจะตีความอย่างไรก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น แล้วเมื่อทนายจำเลยถามต่อไปอีกว่า เมื่อพิจารณาป้ายฉากหลังที่มีข้อความระบุไว้เรื่องกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์ SIRIVANNAVARI แล้ว การกระทำของจำเลยสามารถมองเป็นการล้อเลียนฟ้าหญิงสิริวัณณวรีแทนราชินีได้หรือไม่ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ เบิกความวกวน ศาลจึงบันทึกไว้แต่เพียงว่า เขาเบิกความว่า จำเลยต้องการให้คนดูเข้าใจว่าเป็นราชินีมากกว่า ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ขอให้ศาลบันทึกเพิ่มเติมด้วยว่า ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ รับรู้เรื่องการสนับสนุนแบรนด์ดังกล่าวด้วย

    อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ เบิกความในตอนท้ายว่า จากที่เห็นในพื้นที่ชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นคนที่กำลังกินอาหาร และเขายังระบุด้วยว่า ผู้ที่มีหน้ารับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตราการควบคุมโรคติดต่อนั้นคือ ผู้จัดการชุมนุม

    ++ผอ.กองกฎหมาย ม.สวนดุสิต ยอมรับว่าคนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ ใส่เดินแฟชั่นโชว์ก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

    พยานโจทก์ปากที่ 10: สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผอ.กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เบิกความว่า พนักงานสอบสวนให้ตนดูภาพถ่ายที่มีการเดินบนพรมแดงซึ่งมีชายแต่งกายด้วยเสื้อเอวลอย หญิงใส่ชุดไทย มีคนทั้งสองข้างทาง เมื่อดูภาพผู้ชายที่บนตัวปรากฏชื่อของ ร.10 นั้น ตนมองว่าเป็น ร.10 ส่วนภาพผู้หญิงเป็นภาพแยก ซึ่งตนมองแล้วไม่เข้าใจเพราะเป็นภาพนิ่ง แต่ถ้าดูจากวิดีโอจะเข้าใจได้ว่าเป็นราชินี ทั้งนี้ พยานระบุด้วยว่า ตนเองเคยเห็นภาพดังกล่าวจากสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่นกัน

    อย่างไรก็ดี สฤษดิ์กล่าวว่า จากภาพนิ่งและวิดีโอ รวมทั้งภาพจากสื่ออื่นๆ ตนเองเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้อเลียนกษัตริย์และราชินี

    ต่อมา สฤษดิ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำไปให้ดูนั้นมีจำนวน 2 วิดีโอ และตนเองไม่ทราบว่ามีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดอื่นๆ ด้วย เพราะตอนพนักงานสอบสวนให้ดูวิดีโอนั้นไม่ได้อธิบายหรือเกริ่นนำอะไร

    สฤษดิ์ตอบทนายจำเลยอีกว่า คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ และสามารถใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ด้วยก็ได้ ไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเมื่อทนายจำเลยให้ดูภาพจากพยานหลักฐานของโจทก์ เขาก็ระบุว่าภาพดังกล่าวเหมือนคนใส่ชุดไทยกำลังเดินอยู่ ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร

    ทั้งนี้ สฤษดิ์ยังยอมรับด้วยว่า คำให้การในชั้นสอบสวนนั้นเป็นการตีความของตนเอง และเกิดจากการตีความโดยมองภาพรวม ซึ่งเขายังยอมรับอีกด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใคร ส่วนเรื่องการตะโกนคำว่า “ราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของผู้ชุมนุมนั้น สฤษดิ์ก็ยอมรับว่า จำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้สั่งแต่อย่างใด อีกทั้ง พิธีกรในงานก็ไม่ได้ประกาศให้ผู้ชมเตรียมการแสดงความเคารพหรือแนะนำว่าจำเลยแสดงเป็นใครด้วยเช่นกัน

    ในตอนท้ายพนักงานอัยการต้องการถามติงในประเด็นที่ทนายจำเลยถามสฤษดิ์ว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นการหมิ่นฟ้าหญิงสิริวัณณวรีหรือไม่ และสฤษดิ์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยไปว่า เหมือนคนใส่ชุดไทยเดินเป็นปกติ หากแต่ศาลกล่าวว่า ได้จดบันทึกไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องถามติง

    ++ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ยอมรับว่าใครก็ใส่ชุดไทยได้ แต่ไม่ยืนยันว่าคนใส่ชุดไทยจะมีเจตนาเช่นไร ขึ้นอยู่กับการตีความ

    พยานโจทก์ปากที่ 11: ภัทร วงศ์ทองเหลือ เบิกความว่า ตนเองจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการจัดการวัฒนธรรม ปัจจุบันรับราชการอยู่กระทรวงวัฒนธรรม และเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนเชิญไปให้ปากคำ

    จากนั้นภัทรได้ตอบคำถามของอัยการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อสถาบันกษัตริย์ตามที่สำนักนายกฯ เป็นผู้กำหนดแล้วเผยแพร่ว่า ให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติ โดยถือเอาสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะกระทำการละเมิดมิได้ โดยอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ให้คำแนะนำในทางเดียวกันกับสำนักนายกฯ

    สำหรับภาพและวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูนั้น ภัทรกล่าวว่า เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ควรเคารพ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการล้อเลียน ซึ่งไม่เหมาะสมตามที่ตนได้เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน

    ภัทรเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองทำงานอยู่กระทรวงวัฒนธรรม และยอมรับว่ารัฐบาลมีการสนับสนุนให้ประชาชนใส่ชุดไทยในฐานะชุดประจำชาติ คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภัทรไม่ยืนยันว่า ผู้สวมใส่ชุดไทยจะมีเจตนาอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตีความ โดยระบุว่าตนเองไม่มีความเห็นในเรื่องเจตนาของผู้สวมใส่ชุดไทย

    ++ทนายความยืนยันแข็งขันว่า การใส่ชุดไทยของจำเลยเป็นการเลียบแบบราชินี อันเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ก่อนรับว่าเป็นการตีความของตนเองเท่านั้น

    พยานโจทก์ปากที่ 12: ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ทนายความ เบิกความว่า ตนเองทราบเรื่องการชุมนุมก่อนที่พนักงานสอบสวนจะเชิญมาให้ปากคำ และเมื่อพนักงานสอบสวนมาพบก็ได้ให้การในฐานะทนายความ โดยระบุว่า เมื่อได้ดูภาพและวิดีโอแล้วรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติสถาบันกษัตริย์ เพราะจำเลยแต่งกายเลียนแบบราชินีในชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ มีคนเดินตามคอยกางร่มให้ ทั้งยังมีผู้ชมตะโกนคำว่า “พระราชินีๆ” อีกด้วย

    จากนั้น ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ตอบทนายจำเลยว่า นอกจากจะมาเป็นพยานในคดีนี้แล้ว ตนเองยังได้ไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจมีมากถึง 10 คดี โดยไปในฐานะพยานผู้ให้ความเห็นต่อการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานเบิกความเรื่องวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู โดยบอกว่าตนเองจำไม่ได้ว่า พนักงานสอบสวนนำวิดีโอมาให้ดูจำนวนกี่ไฟล์ และจำไม่ได้ด้วยว่า ได้ดูวิดีโอตั้งแต่ต้นหรือไม่ แต่กระนั้น นรินทร์ก็เบิกความยอมรับว่า ในการเดินแฟชั่น จำเลยไม่ได้ประกาศตัวว่าตนเองแสดงเป็นใคร แค่เดินแบบเฉยๆ ส่วนการตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” นั้น เป็นการกระทำของผู้ชุมนุมเอง อีกทั้งจำเลยและสายน้ำไม่ได้เดินร่วมกันด้วย

    ต่อมาทนายจำเลยถามว่า ใครก็สามารถใส่ชุดไทยได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์จึงตอบว่า ใช่ พร้อมกับระบุว่า ที่ตนเบิกความว่า จำเลยแต่งกายเลียนแบบราชินีสุทิดานั้นเป็นการตีความของตนเอง

    ต่อมา พนักงานอัยการถามเรื่องที่ว่า เข้าใจได้อย่างไรว่าการแสดงของจำเลยเป็นการล้อเลียนคนในสถาบันกษัตริย์ ซึ่งว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ตอบว่า การกระทำของจำเลยนั้นสามารถเข้าใจความหมายที่จะสื่อได้ถ้าติดตามข่าวสาร เพราะพฤติการณ์กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์และราชินีนั้นมีมาอยู่ตลอด ดังนั้นตนเองในฐานะพยานจึงเข้าใจได้ว่าจำเลยแต่งกายล้อเลียนราชินี ส่วนการกระทำของสายน้ำคือการล้อเลียน ร.10

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ++พนักงานสอบสวนตีความว่า การกระทำของจำเลยเหมือนกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของราชินี

    พยานโจทก์ปากที่ 13: พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เบิกความว่า ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานสอบสวนคดี ซึ่งตอนเข้ามาทำคดีพบว่า มีการสอบสวนผู้กล่าวหาที่ 1, 2 และผู้ต้องหาที่ 1,2 แล้ว จากนั้นก็เบิกความต่อไปว่า ในคดี 112 จะมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยในส่วนของตนเองนั้นมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวนเพิ่มเติม

    อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.คมสัน ระบุว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุตนเองยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เพิ่งจะเข้ามาในตอนหลัง แต่ก็พอได้ทราบข่าวการชุมนุมจากสื่อออนไลน์อยู่บ้าง และได้ดูวิดีโอการชุมนุมจากสื่อดังกล่าวด้วย

    จากนั้นพยานได้เบิกความถึงประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 ซึ่งระบุว่า การชุมนุมกระทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ต้องกำหนดให้มีการเว้นระยะห่าง ส่วนเรื่องการจราจรพยานเบิกความว่า ตนเองทราบว่าในขณะที่เกิดเหตุประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจรได้โดยสะดวก เพราะผู้ชุมนุมปิดถนน โดยไม่มีการขออนุญาต รวมทั้งไม่ขออนุญาตชุมนุมด้วย กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนสามารถชุมนุมได้ แต่ต้องขออนุญาตและเชื่อฟังเจ้าหน้าที่

    จากนั้น พ.ต.ท.คมสัน เบิกความถึงการเดินแฟชั่นโชว์ว่า ก่อนการเดิน พิธีกรได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงที่ตนเองไม่ทราบว่าเป็นชนิดใด มีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ปูพรมแดงบนถนนสีลม และการเดินแบบดำเนินไปตามปกติจนกระทั่งถึงการแสดงของจำเลยที่อยู่ในชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ และมีผู้เดินตามถือร่มและพาน โดยการเบิกความตรงนี้ พ.ต.ท. คมสัน อ้างอิงจากคำให้การของพยานปากอื่นๆ เนื่องจากตนเองไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งได้เบิกความถึงการกระทำของสายน้ำด้วย ก่อนจะตีความจากพฤติการณ์ว่าจำเลยและสายน้ำมีการแบ่งงานกันทำ และการกระทำของจำเลยเหมือนกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของราชินี

    พ.ต.ท.คมสัน เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของสำนวนคดี เพราะในการทำคดี 112 จะมีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งตนเองเป็นหนึ่งในคณะทำงานดังกล่าวที่มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร

    ทั้งนี้ พยานเบิกความต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ตนเองทราบว่าถ้ามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพียงแต่ว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13) มีการระบุให้ ผู้จัดการชุมนุมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ จึงนำเอา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาบังคับใช้ชั่วคราว ซึ่งตรงนี้ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า เหตุที่ต้องถามเรื่อง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ด้วย

    จากนั้นทนายจำเลยได้ถามต่อว่า ตามหลักการของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้กำกับ สน. ในพื้นที่คือผู้ดูแลการชุมนุม แต่ถ้าไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้กำกับฯ จึงไม่เท่ากับเจ้าพนักงานควบคุมดูแลการชุมนุมใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน เบิกความตอบว่า ใช่ ก่อนจะอธิบายว่าเพราะในข้อกำหนด ( ฉบับที่ 13) กำหนดให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังนั้นแล้วจึงถือว่า ผู้กำกับ สน.ยานนาวา มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานดูแลและกำกับการชุมนุมอยู่ดี

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.คมสัน ระบุว่า ตนเองไม่ทราบว่าใครคือผู้จัดการชุมนุม เพราะในคดีนี้ไม่ได้มีการดำเนินคดีผู้จัดการชุมนุม ทั้งยังยอมรับด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือการบุกทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด เป็นเพียงแต่การปราศัรย แสดงศิลปะ และเดินแฟชั่นโชว์เท่านั้น

    ส่วนบรรยากาศของการชุมนุม พ.ต.ท.คมสัน เบิกความว่า มีลักษณะไม่ตรงตามความหมายของคำว่า “แออัด” ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยา, ศาลแขวงอุดรธานี และศาลแขวงลพบุรี ที่ทนายจำเลยให้ดู ซึ่งทนายจำเลยได้อ้างส่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของจำเลย

    จากนั้นทนายจำเลยถามว่า ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีการเชิญพยานที่ทำข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาให้การบ้างหรือไม่? ซึ่ง พ.ต.ท. คมสัน ตอบว่า ไ่ม่เคย เพียงแต่ตนเองเคยเห็นว่า ศบค. ได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตรายวันในช่วงที่มีโรคดังกล่าวระบาด อีกทั้งยอมรับด้วยว่า ตนเองไม่ได้รับรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 หรือไม่

    ทั้งนี้ พ.ต.ท.คมสัน เบิกความว่า ตนเพิ่งได้ทำคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก ในส่วนการเลือกพยานมาให้ปากคำในคดีมาตรา 112 นั้น มี 2 ส่วนคือ พยานนักวิชาการ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีบัญชีรายชื่อพยานระบุไว้ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชิญมาเป็นพยานในคดีของตนเอง อีกส่วนคือพยานผู้ให้ความคิดเห็น ที่ตนเรียกนายวราวุธ สวาย มาเป็นพยานนั้น ตนไม่ทราบมาก่อนว่า วราวุธเป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้อื่นด้วย ทราบเพียงแต่ว่า วริษนันท์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้พามา เช่นเดียวกับว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้สอบคำให้การพยานทั้ง 2 ปากนี้ในชั้นสอบสวน

    ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานพนักงานสอบสวนปากนี้ถึงวิธีการทำบันทึกคำให้การของพยานด้วย โดยทนายจำเลยมีข้อสังเกตว่า พนักงานสอบสวนอาจใช้วิธีการ copy and paste ทำให้คำให้การของพยานหลายปากมีข้อความที่เหมือนกันทุกตัวอักษร ทั้งในส่วนคำถามและคำตอบ ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน พยายามอธิบายว่า เป็นเพราะเป็นการพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงอาจทำให้มีการใช้วิธีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลไม่บันทึกในประเด็นนี้ พร้อมกับตำหนิทนายจำเลยด้วยว่า ในบางประเด็นก็ไม่ต้องนำสืบลงลึกมาก

    ทนายจำเลยถามต่อว่า ในชั้นสอบสวน สายน้ำให้การว่าไม่รู้จักกับจำเลยในคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.คมสัน ตอบว่า ใช่ และยอมรับด้วยว่า จำเลยในคดีนี้ได้ให้การปฏิเสธไว้ในชั้นสอบสวน แต่ตนเองไม่ทราบว่าจำเลยได้ทำหนังสือคำร้องขอความเป็นธรรมไม่ให้สั่งฟ้องคดีด้วย

    ต่อมา อัยการถามว่า ที่สายน้ำให้การในชั้นสอบสวนว่าไม่รู้จักจำเลยในคดีนั้น สายน้ำให้การในฐานะอะไร พ.ต.ท.คมสัน ตอบว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จากนั้นอัยการจึงถามต่อถึงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสามคดีที่ทนายจำเลยยกมาอ้างว่า เป็นแค่เรื่องควาหมายของคำไม่ใช่คำพิพากษาใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน ก็ตอบว่า ใช่ เช่นกัน

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ++พนักงานสอบสวนอีกนายรับ รายงานการสืบสวนถูกส่งมาให้พนักงานสอบสวนภายหลังวันแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย

    พยานโจทก์ปากที่ 14: พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน. ยานนาวา เบิกความว่า ตนได้รับรายงานการสืบสวนหาข่าวจากเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น โดยไม่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมแต่อย่างใด

    จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เบิกความถึงการทำงานของคณะทำงานสอบสวนว่า ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหานั้นได้แจ้งว่าเป็นการกระทำความผิดร่วมกันระหว่างจำเลยและสายน้ำ โดยดูจากวิดีโอและรายงานสืบสวนแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดร่วมกัน คือมีการตระเตรียมกันมาก่อน และมีการแบ่งหน้าที่กันทำว่า ใครแสดงเป็นใครตามที่ได้กำหนดกันไว้

    จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ในการชุมนุมมีการแจกจ่ายแอลกอฮอล์ล้างมือหรือไม่ ที่ตนเบิกความตอบอัยการว่า ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโควิดนั้น ตนเบิกความตามที่สอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ในชั้นตำรวจกำหนดไว้ว่ามีผู้ต้องหา 4 คน แต่พอมาถึงชั้นศาลแล้วเหลือผู้ต้องหาเพียง 2 คน เพราะไม่ทราบชื่อ-นามสกุลของอีก 2 คนที่เหลือ พร้อมกันนั้นยังยอมรับด้วยว่า รายงานการสืบสวนซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้จัดทำขึ้นหลังวันที่รับแจ้งความจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

    นอกจากนั้น พยานตำรวจปากนี้ยังเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า ตนเองทราบข้อเท็จจริงคดีจากคำให้การของ ส.ต.ท.กรณินทร์ ซึ่งเป็นฝ่ายสืบสวนของ สน.ยานนาวา แต่ไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำ ส.ต.ท.กรณินทร์ จึงไม่ทราบว่าเหตุใดจึงส่งมอบภาพนิ่งและวิดีโอให้คณะทำงานสอบสวนในวันที่ 29 ม.ค. 2564 อีกทั้งยอมรับด้วยว่า พ.ต.ท.ประวิทย์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 นั้น ไม่ได้ส่งมอบหลักฐานเป็นวีดิโอและภาพถ่ายให้พนักงานสอบสวนในวันที่สอบคำให้การ แต่ได้ส่งหลักฐานที่เป็นรายงานการสืบสวนมาก่อนหน้านั้นแล้ว

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยพยายามหาเอกสารดังกล่าวปรากฏว่าไม่มีอยู่ในพยานหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล หากแต่ทาง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ยังคงยืนยันว่า ได้นำใส่สำนวนมาให้อัยการแล้ว จากการถามตอบกันสักครู่ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ก็เบิกความใหม่ว่า รายงานการสืบสวนที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นถูกส่งมาให้พนักงานสอบสวนภายหลังวันแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย แต่ยังคงยืนยันอีกว่ามีการรายงานด้วยวาจามาก่อนหน้านั้นแล้ว

    พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ รับกับทนายจำเลยว่า จากการสอบสวน ไม่ปรากฏว่า จำเลยกับพวกได้มีการประชุมวางแผนเพื่อแบ่งหน้าที่ จากนั้นทนายจำเลยได้ถามว่า การจะแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยในข้อหาใดบ้าง เป็นความเห็นของพยานใช่หรือไม่ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ระบุว่า เป็นมติของคณะทำงานซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตนจำได้ว่า ได้นำคำสั่งดังกล่าวส่งมอบให้พนักงานอัยการแล้ว

    ส่วนเรื่องการทำบันทึกคำให้การพยานนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ยอมรับว่า ใช้วิธีคัดลอกข้อความมา ทำให้เกิดข้อความซ้ำกันหลายจุดในบันทึกคำให้การของพยานแต่ละคน แต่กระนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ก็บ่ายเบี่ยงว่า ตนไม่ได้สอบปากคำพยานทั้งหมดด้วยตนเอง ในการสอบพยานบางคน ตนเพียงแต่นั่งอยู่ในบริเวณที่มีการสอบปากคำเท่านั้น

    ทนายจำเลยนำภาพของฟ้าหญิงสิริวัณณวรีและเจ้าคุณพระสินีนาฏ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดไทยให้ พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ดู แล้วถามว่า ในชั้นสอบสวน พยานได้นำภาพถ่ายลักษณะเช่นนี้ให้พยานบุคคลดูแล้วสอบถามว่า จำเลยประสงค์จะแต่งกายเลียนแบบบุคลลทั้งสองนี้หรือไม่ พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยขออ้างส่งภาพถ่ายดังกล่าวต่อศาลเป็นพยานหลักฐานของจำเลย

    ในตอนท้ายทนายจำเลยถามทวนถึงข้อกฎหมายมาตรา 112 ว่า ครอบคลุมแค่บุคคลใน 4 ตำแหน่ง คือ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ตอบว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึก ระบุว่า เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งศาลวินิจฉัยได้เอง

    จากนั้นพนักงานอัยการถามติงในประเด็นการจัดทำบันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ซึ่ง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ได้เบิกความตอบว่า บันทึกคำให้การนั้นจะจัดทำขึ้นด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ หากแต่พยานแต่ละคนได้ลงชื่อรับรองในเอกสารเหล่านั้นแล้ว ทั้งยังตอบในประเด็นที่ตนเบิกความว่า ในชั้นตำรวจกำหนดว่าจะแจ้งข้อหา 4 คน แต่ในชั้นศาลมีจำเลยแค่ 2 คนนั้น เป็นเพราะติดตามตัวอีกสองคนมาแจ้งข้อหาไม่ได้ และในภาพนิ่งและวิดีโอที่เป็นหลักฐานไม่มีบุคคลอื่นๆ นอกเหนือจากจำเลยทั้งสอง

    ++จำเลยระบุ ไม่ได้อยากเป็นใคร แค่อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นชุดไทยเท่านั้น

    จตุพร แซ่อึง จำเลย เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า ปัจจุบันตนช่วยทำธุรกิจของครอบครัว ในชั้นสอบสวนตนเองได้ให้การปฏิเสธ พร้อมกับได้ทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ และในชั้นอัยการก็ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่ออัยการ ขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี

    จากนั้นจตุพรเบิกความต่อไปอีกว่า การเข้าร่วมการชุมนุมของตนเองมีกฎหมายรองรับ อันได้แก่ รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ด้วย และในการชุมนุมในคดีนี้ตนเองไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงแต่ทราบว่าจะมีการชุมนุมจากเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพจเฟซบุ๊กกลุ่มราษฎร 63 ทั้งนี้ ตนเองเข้าร่วมการชุมนุมแทบทุกครั้งที่มีโอกาส โดยจะเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

    สำหรับการแต่งกายด้วยชุดไทยในวันที่เกิดเหตุนั้น ตนเองแต่งออกมาจากที่พักเลย โดยเป็นชุดที่ไปเช่ามาจากร้านแถวพระราม 2 ในราคา 700 บาท ซึ่งตอนแรกตนได้เลือกชุดไทยสีเขียว แต่ชุดที่อยากได้นั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ร้านจึงแนะนำชุดสีชมพูให้ สำหรับเหตุผลที่เลือกใส่ชุดไทยเพราะมองว่าเป็นชุดประจำชาติ ใส่แล้วน่าจะดูดี โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร เพียงแต่ต้องการเป็นตัวเองในรูปแบบที่ใส่ชุดไทย

    ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุพิธีกรไม่ได้ประกาศลำดับการเดินแฟชั่นโชว์ แต่ที่ตนเองได้เดินคนแรกนั้นเพราะอยู่ ณ ที่ตรงนั้นพอดี อีกทั้งพิธีกรไม่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเตรียมทำความเคารพ และไม่ได้บอกว่าตัวพยานแสดงเป็นใคร สำหรับเหตุการณ์ที่มีบุคคลพุ่งตัวมาจับข้อเท้านั้น ตนเองเข้าใจว่าบุคคลนั้นจะเข้ามาขอถ่ายรูป ระหว่างนั้นก็มีผู้ชมตะโกนขึ้นว่า “เจ้าคุณพระ” และ “พระราชินี” ซึ่งทำให้ตนรู้สึกตกใจ และไม่ได้แสดงอาการตอบรับใดๆ เพียงแต่พยายามเดินต่อไปให้จบ โดยใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 วินาที

    ส่วนที่คนเดินแบบด้วยกันนั้น ตนเองรู้จักเพียงคนที่ถือร่ม คนที่ถือพาน คนที่สวมชุดราตรีและสายสะพายสีเขียวซึ่งเดินแบบต่อจากตนเอง โดยเดินคู่กับอีกคนหนึ่งที่สวมชุดสูท ทั้งนี้ ร่มที่ตนถือในการเดินแบบเป็นสินค้าของกลุ่ม WeVo ที่ตนนำมาถือด้วยนั้นก็เพื่อโฆษณาขาย ส่วนปลอกแขนและสายสะพาย เนื่องจากทางกลุ่ม WeVo ต้องการรับสมัครสมาชิกใหม่ จึงได้นำสิ่งของดังกล่าวที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มมาร่วมเดินแบบเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการรับสมัคร

    จตุพรเบิกความอีกว่า ตนเองไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กับใคร มีเพียงแค่ตกลงกันว่า จะไปเดินแบบเท่านั้น จากนั้นต่างคนก็ไปเช่าชุดของตนเอง ทั้งไม่ได้เตรียมการกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เพราะไม่รู้จักใคร รวมทั้งไม่รู้จักกับสายน้ำด้วย โดยระบุว่า ตนเองเพิ่งมารู้จักกับสายน้ำในวันรับทราบข้อกล่าวหา

    จากนั้นจตุพรก็เล่าถึงบรรยากาศและลักษณะของสถานที่เกิดเหตุ โดยทนายจำเลยได้อ้างส่งวิดีโอที่ศาลรับไว้โดยที่อัยการไม่ได้คัดค้าน และจำเลยได้เบิกความต่อไปว่า ตนทราบข่าวที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์แฟชั่น SIRIVANNAVARI จากนั้นก็เล่าถึงสาเหตุที่รู้ว่าตนเองได้รับหมายเรียกจากการที่เห็นบุคคลหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่ามีคนแต่งชุดไทยโดน 112 และเมื่อตนทักไปสอบถามเพิ่มเติมก็ทราบว่าคนที่โดนหมายเรียกคือตนเอง

    ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น จตุพรเบิกความว่า ตนเองรู้ว่ามีคำพิพากษายกฟ้องของศาลทั้ง 3 แห่ง ตามที่ทนายจำเลยได้อ้างส่งเอกสารไปแล้ว ซึ่งความหมายของคำว่า “แออัด” ในความเข้าใจของตนเองนั้น ต้องมีลักษณะอัดกันแน่นจนเหมือนกับปลากระป๋อง คือมีคนอยู่แน่นจนเต็มพื้นที่ ตนยังทราบด้วยว่า ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ นั้นระบุไว้ว่า ผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งรู้ด้วยว่า มีหน่วยงานชื่อ ศบค. คอยทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

    ต่อมา จตุพรเบิกความอีกว่า มีพยานอีกปากหนึ่งที่ทำคำให้การมาเป็นลายลักษณ์อักษร และทนายจำเลยได้อ้างส่งต่อศาล พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ตนเองทราบว่าวราวุธ สวาย เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี 112 คดีอื่นๆ เช่นเดียวกับว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ที่เป็นสมาชิกกลุ่มไทยภักดี และเป็นผู้กล่าวหาผู้อื่นในคดี 112 อีกหลายคดี ซึ่งทนายจำเลยได้อ้างส่งเอกสารที่เป็นข้อมูลเรื่องนี้ให้ศาลรับไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลย

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยพยายามถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อพยานโจทก์ แต่ถูกศาลห้ามไม่ให้ถาม ทนายจำเลยจึงได้ถามถึงผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดีนี้ ซึ่งจำเลยก็ได้เบิกความต่อศาลว่า ตนเองถูกผู้คนในสังคมออนไลน์รวมทั้งเพื่อนบ้านตราหน้าว่าเป็นผู้ชังชาติ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าผู้คนเหล่านั้นนำเกณฑ์ใดมาตัดสิน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการที่หางานทำไม่ได้ ไม่มีใครรับทำงาน ทั้งถูกขู่ทำร้ายจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จตุพรกล่าวในตอนท้ายว่า ตนเองมีรอยสักที่มีความหมายถึง ร.9 ด้วย

    ++ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชุมนุมชี้ จำเลยใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

    พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลย: พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชากฎหมายการชุมนุมสาธารณะและวิชาเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย ให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในฐานะพยานจำเลย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    พยานเห็นว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 13 ที่โจทก์กล่าวหาจำเลย จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่า การชุมนุมที่จำเลยเข้าร่วมเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

    อีกทั้งพยานเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เพราะบรรดากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในช่วงแรก ๆ ของการประกาศฯ ก็อยู่ในระดับต่ำ

    อนึ่ง ภายใต้กรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4(1) ได้วางหลักไว้ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่จะใช้ยกเว้นการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ จะต้องเป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ พยานเห็นว่า เหตุที่ยกขึ้นอ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการต่ออายุแต่ละครั้งนั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นภัยที่รุนแรงถึงระดับคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ

    นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 รับรองเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ เน้นย้ำว่ารัฐไม่ควรอ้างการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจำกัดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วน

    พยานยังเห็นว่า การที่ข้อกำหนดฉบับที่ 13 กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อกำหนดฉบับที่ 13 นี้มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

    หลังเสร็จการสืบพยาน สษลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ก.ย. 2565

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และพยานจำเลย ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 ลงวันที่ 24 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48130)
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ จตุพรปรากฏตัวในชุดไทยสีชมพูคล้ายคลึงกับชุดที่แต่งเดินแฟชั่นโชว์เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยรอบมีสื่ออิสระ และเพื่อนพ้องที่มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง และในบริเวณใกล้ๆ กันก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจศาลยืนสังเกตการณ์อยู่ประมาณ 4-5 นาย

    เมื่อใกล้ถึงเวลาอ่านคำพิพากษา ทั้งจตุพรและผู้ติดตามได้พากันขึ้นมาที่หน้าห้องพิจารณาที่ 402 ทั้งนี้ ผู้ติดตามจำนวนหนึ่งได้เข้าไปนั่งรอภายในห้อง ก่อนที่ตำรวจศาลประมาณ 5-7 นาย จะเข้ามา โดยนายหนึ่งได้แจ้งกับทนายจำเลยว่า “ท่าน” มีคำสั่งอนุญาตให้เพียงแค่จำเลยและทนายจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปฟังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาได้

    ทนายจำเลยสอบถามถึงสาเหตุของคำสั่งดังกล่าวว่าเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่ เมื่อตำรวจศาลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยจึงได้ต่อรองเพื่อขอให้ทีมทนายและผู้สังเกตการณ์จำนวน 5 คน เข้าไปด้วย ซึ่งทางตำรวจก็ยินยอม

    ภายในห้องพิจารณา จตุพรได้แจ้งกับทางตำรวจศาลว่าต้องการผู้ไว้วางใจเข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ถามขึ้นเชิงตำหนิว่า ในเมื่อมีทนายแล้วทำไมจะต้องมีผู้ไว้วางใจอีก ซึ่งจตุพรก็ได้ย้อนถามไปว่า แล้วเหตุใดตนเองจึงจะมีผู้ไว้วางใจไม่ได้

    ต่อมา จตุพรแถลงต่อศาลว่า ต้องการมีผู้ไว้วางใจเข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งศาลก็อนุญาต แต่กำหนดให้เข้าได้เพียง 1 คนเท่านั้น

    วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาระบุเนื้อหาโดยย่อคือ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้ยกทั้งหมด จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท

    คำพิพากษามีใจความโดยสรุปของดังนี้

    1. ยกฟ้องฐานร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด ระบุ ข้อกำหนด ฉบับที่ 13 ผ่อนคลายมาตรการควบคุมดูแลการทำกิจกรรม การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้

    ศาลเห็นว่าแม้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ที่กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัดก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ที่ระบุว่า การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย

    อันแสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมดูแลการทำกิจกรรมของประชาชน โดยยินยอมให้การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหมายถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั่นเอง

    ดังนั้น การห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด ตามข้อ 5 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้างต้น จึงไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยในส่วนนี้

    2. ลงโทษปรับ 1,500 บาท ฐานร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ

    ศาลเห็นว่า แม้การชุมนุมดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งในหมวด 3 เรื่องหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม มาตรา 16 (1) บัญญัติให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร

    แต่ทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมบนถนนสีลมทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก มีการนำแผ่นเหล็กมาปิดกั้นการจราจร เป็นเหตุให้ยานพาหนะของประชาชนไม่สามารถแล่นผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าวได้ ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงวันทำงานกลางสัปดาห์ และเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเวลาเลิกงาน ย่อมต้องมีประชาชนใช้ยานพาหนะบนถนนสีลมเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า การชุมนุมดังกล่าวทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร ประกอบกับภายหลังผู้กำกับ สน.ยานนาวา ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะแห่งท้องที่ ประกาศให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยและผู้ชุมนุมอื่นๆ ไม่ปฏิบัติตาม เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานไม่อาจเปิดการจราจรได้ เป็นการขัดขวางหรือกระทำการใดอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

    ดังนั้นจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ให้ปรับเป็นเงินจำนวน 1,500 บาท แต่ทางนำสืบให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 1,000 บาท

    3. ยกฟ้องฐานร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าฯ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

    ศาลวินิจฉัยว่าคดีนี้จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม มิใช่ผู้จัดการชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แม้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าว

    อีกทั้ง ประกาศกรุงเทพฯ มิได้ออกมาตรการหรือคำสั่งเพื่อบังคับแก่บุคคลธรรมดา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 แต่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 34 (6) และมาตรา 51 ซึ่งเป็นโทษบังคับแก่บุคคลธรรมดาทั่วไปมาด้วย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ให้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้

    4. ยกฟ้องฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    ศาลเห็นว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการชุมนุมที่จำเลยเข้าร่วมไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อเจ้าพนักงาน และระหว่างที่เดินแฟชั่นมีพวกของจำเลยถือโทรโข่งซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตามหลัง แต่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 3 บัญญัติคำว่า “โฆษณา” หมายถึงการบอกกล่าว ชี้แจง แนะนำ แสดงความคิดเห็นกับประชาชน ตามคำนิยามนี้การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่าผู้ที่ใช้โทรโข่งเปิดเพลงใช่พวกของจำเลยหรือไม่

    5. พิพากษาจำคุก 3 ปี ความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชินี ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพ

    ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยกระทำการตามที่โจทก์บรรยายฟ้องคือ แต่งกายด้วยชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีทอง เดินไปบนพรมแดง โดยมีชายสวมชุดไทยราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน ถือร่มในลักษณะบังให้จำเลยเดินตามหลัง และมีหญิงอีกคนหนึ่งสวมชุดลายดอกเดินอยู่ข้างหน้า ในมือข้างหนึ่งถือพานทอง มืออีกข้างถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ขณะที่จำเลยเดินไประหว่างนั้นมีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่า “พระราชินี” “ทรงพระเจริญ” “พระราชินีสวยมาก” ผู้ชุมนุมบางคนที่นั่งอยู่ข้างพรมแดงแสดงอาการหมอบกราบไปกับพื้น และยื่นมือไปจับข้อเท้าของจำเลย

    ต่อมามีพวกของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนแต่งกายด้วยเสื้อยืดกล้าวเอวลอยสีดำ กางเกงยีนส์ขายาว บนแผ่นหลังมีข้อความเขียนด้วยปากกว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” เดินไปบนพรมแดง โบกมือให้ผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นมีผู้ตะโกนว่า “ในหลวงสู้ๆ” “ทรงพระเจริญ” และมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเอื้อมมือไปจับข้อเท้า

    การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องกันในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อนำลักษณะและรูปแบบของการกระทำมาพิเคราะห์ร่วมกับบริบทอย่างอื่นที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์ เชื่อว่าจะต้องมีการซักซ้อมและเตรียมการกันมาก่อน จึงจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สอดรับกันได้เช่นนี้

    ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยและพวกที่เป็นเยาวชนมีเจตนาร่วมกันที่จะสื่อให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า จำเลยแสดงตนเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 และพวกของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนแสดงตนเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูของปวงชนชาวไทย

    การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    นอกจากนี้แล้ว ศาลยังเห็นว่าที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยกระทำโดยไม่มีเจตนานั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยง่ายแก่การยกขึ้นกล่าวอ้าง ขัดแย้งกับบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่เชื่อว่ามีความบังเอิญ จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังและหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

    พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

    เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จตุพรได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยของตนเองไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร ซึ่งผู้พิพากษาได้กล่าวเพียงว่าให้ต่อสู้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไป

    ต่อมาทนายจำเลยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ จำนวน 300,000 บาท ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งส่งคำร้องต่อไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งออกมาในอีก 2-3 วันข้างหน้า และในระหว่างนี้ จตุพรจะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางก่อน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1472/2565 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2565, https://tlhr2014.com/archives/48185 และ https://tlhr2014.com/archives/49521)
  • ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจตุพรระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกันเป็นวงเงินจำนวน 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นเคยกำหนดไว้ คือ ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง, ห้ามกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

    จตุพรจจึงได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเพื่อรอฟังผลการขอปล่อยชั่วคราวเป็นระยะเวลารวม 3 วัน และประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีต่อไป

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 คดีหมายเลขแดง อ.1472/2565 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48251)
  • จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สามารถสรุปได้เป็น 3 ประการ ดังต่อไปนี้

    ประการแรก จำเลยไม่ใช่ผู้จัดเดินแฟชั่น – ไม่ได้เตรียมหรือรู้จักกับสายน้ำมาก่อน – การกระทำของผู้ชมอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย

    ในการสืบพยานคดีนี้ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความตอบโจทก์ซักถามและตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า จำเลยและสายน้ำได้มีการประชุมหารือวางแผนสมรู้ร่วมคิดหรือแบ่งหน้าที่กันทำ การเดินของจำเลยเป็นการเดินแบบแฟชั่นโชว์ ซึ่งจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าบุคคลที่มาเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุจะแต่งกายด้วยชุดแบบใด

    จำเลยกับสายน้ำไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งสายน้ำเคยให้การไว้ตามที่พนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของจำเลยมาถามสายน้ำว่ารู้จักจำเลยหรือไม่ สายน้ำได้เขียนใต้รูปภาพดังกล่าวว่า “ไม่รู้จักกับบุคคลในภาพดังกล่าว”

    นอกจากนี้ไม่ได้มีการเตรียมการว่าบุคคลใดจะเดินก่อนหรือเดินหลัง ซึ่งเป็นรูปแบบใครพร้อมเดินก็เดินก่อน ซึ่งจากพยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวก็ปรากฏว่า จำเลยกับสายน้ำเดินออกมาคนละช่วงเวลา ไม่ได้เดินออกมาต่อเนื่องติดกัน และไม่ได้เดินออกมาพร้อมกัน อีกทั้งผู้ร่วมเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุมีอีกหลายคนที่ร่วมเดินและใส่ชุดเดินแฟชั่นที่มีลักษณะแตกต่างกันไป

    จำเลยไม่ทราบจำนวนของผู้ที่มาชมการเดินแฟชั่นว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ และไม่สามารถควบคุมพฤติการณ์ของผู้ชมได้ว่าเมื่อดูการเดินแล้วจะตอบรับอย่างไร การที่มีผู้ชุมนุมก้มลงกราบและตะโกนเรียกจำเลยว่าพระราชินีนั้น จำเลยก็ไม่ทราบมาก่อนและไม่ได้คาดหมายว่าจะมีผู้ชมแสดงออกต่อการเดินแฟชั่นของจำเลย เช่น การก้มลงกราบ หรือตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” หรือ “พระราชินีสวยมาก” เป็นการกระทำของผู้ชมเอง ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย

    จำเลยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการเดินแฟชั่น เพียงแค่ทราบข่าวจึงอยากมาร่วม ซึ่งการเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุนั้นไม่ได้เป็นการเดินแฟชั่นตามหลักวิชาการแสดง แต่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการชุมนุม ไม่ได้มีการสั่งการผู้ชม ไม่ได้มีการขายบัตรให้ผู้ที่จะเข้ามาชม ใครอยากเดินแฟชั่นหรืออยากชมก็สามารถร่วมได้เลย

    ประการที่สอง ชุดไทยและพรมแดงเป็นเรื่องปกติ บุคคลใดก็สามารถใส่หรือปูได้ – การกระทำจำเลยไม่ได้ล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระราชินี

    การแต่งตัวด้วยชุดไทยของจำเลยในวันเกิดเหตุนั้น จำเลยเพียงต้องการใส่ชุดไทยซึ่งเป็นชุดประจำชาติเพื่อไปร่วมเดินงานแฟชั่นที่จัดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งการใส่ชุดไทย บุคคลใดก็สามารถใส่และหามาใส่ได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

    การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลย ไม่มีลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขันไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยเพียงแค่เดินแฟชั่นปกติ การโบกมือทักทายหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมชมเป็นเรื่องปกติของการแสดง เทียบพฤติการณ์กับศิลปินหรือนักร้อง การจับมือหรือโบกมือทักทายผู้เข้าร่วมถือเป็นเรื่องปกติ

    จำเลยไม่ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระราชินีแต่อย่างใด ไม่มีถ้อยคำหรือข้อความใดที่จำเลยด้อยค่า ด่า หรือดูถูกเหยียดหยาม หรือแสดงว่าสถาบันกษัตริย์ไม่เท่าเทียมในสังคมอย่างไร หรือทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นตัวตลกแต่อย่างใด จำเลยเพียงใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นในการชุมนุม การแสดงงานศิลปะหรือการเดินแฟชั่นนั้นเป็นศาสตร์ของการตีความตามความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสารว่าจะตีความอย่างไร จึงเป็นวิจารณญานของแต่ละบุคคล

    การที่มีพรมแดงในงานแฟชั่นโชว์เป็นเรื่องปกติ จะตีความว่า ตามประเพณีของประเทศไทย พรมแดงใช้ปูสำหรับเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์นั้นไม่ได้

    ที่ศาลพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยกับสายน้ำเป็นการจำลองการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำที่มิบังควร และทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย

    แม้ศาลจะตีความว่าจำเลยจำลองการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรของพระราชินี แต่จำเลยไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่บ่งชี้ให้เกิดการล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นเพียงการเดินแฟชั่น ไม่ได้มีถ้อยคำหรือการแสดงใด ๆ ที่จะทำให้พระราชินีเสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือเชิงตลกขบขันแต่อย่างใด

    ประการที่สาม พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ มีเพียงพยานความเห็น ซึ่งความเห็นแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน – พยานโจทก์ยังรักและเทิดทูนเหมือนเดิม

    พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องนั้น มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระราชินีอย่างไร โจทก์มีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลเป็นพยานความเห็นทั้งสิ้น ซึ่งความเห็นของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกันตามแต่ความรับรู้และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

    การเดินแฟชั่นชุดไทยของจำเลยหาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ หรือทำให้เสื่อมพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพแก่รัชกาลที่ 10 และพระราชินีแต่อย่างใด พยานโจทก์ยังรักและเทิดทูนอยู่เช่นเดิม

    ในตอนท้ายของอุทธรณ์ระบุว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยให้พ้นข้อกล่าวหาไป

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 จตุพรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ตรงกับวันเกิดของแม่ และขณะนี้คุณพ่อมีอาการป่วย ต้องเข้าไอซียูด้วยอาการไข้หวัดใหญ่

    “ไม่ขออะไรมาก 19 นี้ ขอให้ได้ออกมาดูแลพ่อก่อน แค่ 2-3 อาทิตย์ก็ยังดี” จตุพรระบุ

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1265/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1472/2565 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/69221)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุสถานที่ถูกปูพื้นด้วยพรมสีแดง บริเวณนั้นมีป้ายสีดำเขียนคำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ และป้ายข้อความต่าง ๆ จำเลยแต่งกายด้วยชุดไทยสีชมพูและถือกระเป๋าสีทองเดินไปบนพรมแดง โดยมีชายผู้หนึ่งสวมชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังเพื่อกางร่มให้ และมีหญิงอีกคนถือพานทองเดินตามหลังด้วย

    ระหว่างจำเลยเดินบนพรมแดง ผู้คนบริเวณนั้นตะโกนว่า ‘ทรงพระเจริญ’ และ ‘พระราชินี’ ผู้ชุมนุมบางคนยื่นมือไปจับข้อเท้าของจำเลย ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า พระราชินีและทรงพระเจริญอยู่ตลอด จากนั้น “สายน้ำ” ซึ่งสวมเสื้อยืดกล้ามเอวลอยสีดำ และเขียนข้อความบนร่างกายว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” ได้เดินไปบนพรมแดงต่อจากจำเลย และผู้ชุมนุมได้ตะโกนคำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ และ ‘ในหลวงสู้ๆ’ ด้วย

    สำหรับความผิดตามข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 1,500 บาท เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์แก้ต่าง

    ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ เห็นว่า ขณะจำเลยเดินอยู่บนพรมแดงออกผู้คนได้ตะโกนว่า ‘ทรงพระเจริญ’ และ ‘พระราชินี’ โดยผู้ชุมนุมยื่นมือออกไปเพื่อขอจับข้อเท้าและจำเลยก็หยุดให้จับด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าตนเองนั้นแสดงเลียนแบบพระราชินี โดยไม่ทำการปฏิเสธ แม้ว่าจะสามารถทำได้ก็ตาม

    เมื่อพิจารณาดูสถานที่ในขณะเกิดเหตุและผู้คนซึ่งตะโกนโห่ร้อง เสียดสี และล้อเลียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องการแสดงออกว่าตนเองนั้นเป็นพระราชินี และสายน้ำเลียนแบบว่าเป็นพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดในทางใดไม่ได้ ผู้คนให้การเทิดทูนไว้เหนือเกล้าจะกระทำการอันละเมิดไม่ได้

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ยืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และปรับ 1,000 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

    หลังจบการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายความได้ยื่นประกันจตุพรระหว่างฎีกาด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ทำให้ระหว่างรอฟังคำสั่งจตุพรจะต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่จตุพรต้องถูกคุมขังในเรือนจำ

    ต่อมา วันที่ 21 ส.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 20 ส.ค. 2567 ระบุว่า "พิเคราะห์ข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษตามคำพิพากษาไม่สูงมากนัก จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น"

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/69260)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุพร แซ่อึง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุพร แซ่อึง

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วัฒนพล ไชยมณี
  2. สมชาย พฤกษ์ชัยกุล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 12-09-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุพร แซ่อึง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 19-08-2024

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุพร แซ่อึง

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์