ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1180/2564

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1180/2564

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1180/2564

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1180/2564

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1180/2564

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1180/2564
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1180/2564
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1180/2564
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1180/2564
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1180/2564
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี

ความสำคัญของคดี

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ และเพื่อนนักศึกษา/นักกิจกรรมรวม 5 คน ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีประชาชนทั่วไป คือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวโทษ จากการทำกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 โดยแต่งกายชุดครอปท็อป เดินภายในสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ “ยกเลิก112” และยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 เพียงเพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเอง

นอกจากนักกิจกรรม 5 คน กิจกรรมนี้ยังมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 2 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พีระพงษ์ พานิชสุข พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 บรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 2, 6, 25, 31, 45, 50 และ 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาหรือฟ้องร้องมิได้ และผู้ใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ตลอดจนจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดํารงคงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป

นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทยทั้งชาติ และเป็นสถาบันหลักของชาติที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะประมุขของชาติ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ผู้ใดจะนําสถาบันพระมหากษัตริย์มาล้อเลียนมิได้ คนไทยทุกคนต่างล้วนสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ รวมถึงการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี อันเป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปพึงปฏิบัติสั่งสมกันตลอดมา

ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10

วันที่ 14-19 ธ.ค. 2563 ตํารวจฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน และกองบัญชาการตํารวจสันติบาล พบว่าเพจเฟซบุ๊กชื่อ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ได้มีการโพสต์ข้อความประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกันใส่ชุด Crop Top (ครอปท็อป หรือชุดเสื้อกล้ามเอวลอย) เดินที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในวันที่ 20 ธ.ค. 2563

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีจําเลยทั้งห้า กับพวกอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน พนักงานสอบสวนได้แยกสํานวนดําเนินคดีต่างหาก เป็นแกนนําทั้งเจ็ดผู้ร่วมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้

ครั้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 จําเลยทั้งห้า กับพวกอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยการแสดงบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทํา ได้แก่ ร่วมกันแต่งกายใส่ชุด Crop Top (ครอปท็อป หรือชุดเสื้อกล้ามเอวลอย) ร่วมกันเขียนถ้อยคําหรือข้อความตามเนื้อตัวร่างกาย ร่วมกันกล่าวคําพูดหรือถ้อยคํา แสดงบทบาท แสดงกิริยาอาการทางร่างกาย ใบหน้า และวิธีอื่นใดในทํานองเดียวกัน แล้วเดินวนเวียนไปมาที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมขนาดใหญ่ โดยเจตนาแสดงออกและสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าใจว่า กลุ่มจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันแสดงตนหรือบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 พระราชินี และสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนเสื่อมความเคารพ ความศรัทธาต่อกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ โดยมีรายละเอียดการกระทําของจําเลยแต่ละคนดังต่อไปนี้

1. พริษฐ์ซึ่งสวมเสื้อกล้ามเอวลอย เขียนข้อความว่า “ยกเลิก 112” และ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” บริเวณต้นแขนทั้งสองข้าง และมีการเขียนข้อความ “ไอ้บ้ากาม” และ “แม่ผมไม่ได้มีชู้” บริเวณเอวด้านหลังและท้อง นอกจากนี้ขณะที่พริษฐ์และพวกเดินไปยืนอยู่หน้าร้าน “SIRIVANNAVARI” บนชั้นสองของห้างสยามพารากอน พริษฐ์ได้พูดต่อหน้าประชาชนบริเวณดังกล่าวว่า “อันนี้เป็นร้านของลูกสาวเราเอง”
2. ปนัสยาซึ่งสวมเสื้อกล้ามเอวลอย เขียนข้อความว่า “พ่อหนูมีคนเดียว” และ “ว่าไงไอ้ชาย” บริเวณท้องและเอวด้านหลัง รวมทั้งแสดงกิริยาอาการในลักษณะที่ท้าทายเย้ยหยัน
3. เบนจาซึ่งสวมเสื้อกล้ามเอวลอย เขียนข้อความว่า “พ่อไม่ได้ชื่อ…” “บ้าหรือเปล่าไอ้ชาย” บริเวณท้องและเอวด้านหลัง รวมทั้งยังถือพานทองที่มีกระเป๋าวางอยู่บนพาน และเดินตามพริษฐ์และปนัสยา ในลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นข้าราชบริพารเดินถือเครื่องใช้ส่วนพระองค์ในการตามเสด็จ
4. ภวัตเดินร่วมทํากิจกรรมกับพวก พร้อมกับพูดว่า “ทรงพระเจริญๆ” และทําท่าย่อตัวยกมือไหว้และมอบดอกไม้ให้กับพริษฐ์และปนัสยา พร้อมกับพูดคําว่า “ขอบคุณค่ะท่าน” และ “ทรงพระเจริญค่ะท่าน” มีเจตนาแสดงล้อเลียนให้เห็นว่าตนเองเป็นประชาชนที่มาร่วมชมพระบารมีและถวายพระพร
5. ภาณุพงศ์ซึ่งสวมเสื้อกล้ามเอวลอย ได้ร่วมแสดงออกในลักษณะเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มจำเลยคนอื่นๆ และร่วมกันชู 3 นิ้ว ถ่ายรูปต่อหน้าสื่อมวลชน อันเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา อันมีลักษณะเป็นการแสดงออกทางด้านต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อํานาจของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
6. ณัฐ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นเยาวชน ได้สวมเสื้อกล้ามเอวลอยและได้ร่วมแสดงทำกิจกรรมตามฟ้องอยู่ในกลุ่มของจำเลยตลอดเวลา รวมทั้งร่วมชู 3 นิ้ว ถ่ายรูปต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อันมีลักษณะต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อํานาจของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
7. ธนกร ซึ่งเป็นเยาวชน ได้ร่วมแสดงทำกิจกรรมตามฟ้องอยู่ในกลุ่มของจำเลย และชูป้ายกระดาษมีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “ยกเลิก ม.116, ม.112” รวมทั้งร่วมชู 3 นิ้ว ถ่ายรูปต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อันมีลักษณะต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อํานาจของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
8. ในระหว่างที่จําเลยทั้งห้ากับพวกจัดกิจกรรมดังกล่าวและเดินวนเวียนไปมาทั่วห้างสยามพารากอน พริษฐ์ยังได้นําภาพที่ปรากฏในโทรศัพท์มือถือของตน ซึ่งอ้างว่าเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ที่แต่งกายไม่เหมาะสม ออกแสดงแก่ประชาชนทั่วไป และสนทนาตอบโต้กับประชาชนโดยมีข้อความบางตอนเป็นไปในทํานองจาบจ้วงล่วงเกิน ลบหลู่ดูหมิ่น ก้าวร้าวต่อรัชกาลที่ 10 เช่น “...ในรูปนี่ขยะแขยงเหรอพี่”

การกระทําของจําเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าว โดยบริบททั้งหมดแสดงให้เห็นว่า จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันใช้เสรีภาพในทางใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกมีเจตนาร่วมกันที่จะมุ่งหมายทําลายสถาบันกษัตริย์ (รัชกาลที่ 10) ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเสื่อมศรัทธา เสื่อมความเคารพสักการะอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ 1180/2564 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, “ไมค์” ภานุพงศ์ จาดนอก และเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี อีก 2 ราย ได้แก่ ณัฐ (นามสมมติ) และธนกร (สงวนนามสกุล) เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563

    ในช่วงเช้าก่อนที่ทั้งหกจะเข้าด้านใน สน.ปทุมวัน มีการนำป้ายไวนิลข้อความ “ยาไม่จับ บ่อนไม่จับ จับแต่นักเรียน นักศึกษา” ไปติดที่รั้วด้านหน้า แต่ตำรวจ 2 นายพยายามเข้ายึด ทำให้ประชาชนนำป้ายมาถือให้นักข่าวถ่ายรูปแทน ก่อนนำไปติดที่รั้วฝั่งตรงข้าม รวมทั้งมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านมาตรา 112 และการอุ้มหาย

    คดีนี้มีประชาชนคือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งหก

    การแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้แยกเป็น 2 คดี คือ เยาวชน 2 ราย และนักกิจกรรม 4 ราย พ.ต.ท.เจริญศักดิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ในฐานะพนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในทั้ง 2 คดี เหมือนกัน ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ พริษฐ์, ปนัสยา, ณัฐ และภาณุพงศ์ ได้โพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมแต่งชุดครอปท็อป (Crop top) เพื่อมาเดินในศูนย์การค้าสยามพารากอนในวันที่ 20 ธ.ค. 2563

    ต่อมาในวันดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งหมดได้มารวมตัวทำกิจกรรมในที่เกิดเหตุ โดยพริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา, ณัฐ และภาณุพงศ์ ได้แต่งชุดครอปท็อป และมีการแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปว่ากำลังแสดงเป็นรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมด้วยข้าราชบริพาร พริษฐ์และปนัสยายังถือลูกโป่งรูปสุนัข โดยบอกประชาชนทั่วไปว่า ถือสุนัขชื่อ “ฟ่องฟู” และ “ฟูฟ่อง” เพื่อสื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 ที่มีสุนัขทรงโปรดชื่อ “ฟูฟู”

    นอกจากนี้ พริษฐ์, ปนัสยา และเบนจา ได้เขียนข้อความบนร่างกาย เช่น ยกเลิก 112, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งมีความหมายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ มีถ้อยคำหยาบคาย ท้าทาย มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพรัชกาลที่ 10 เบนจายังถือพานทองที่มีกระเป๋าวางอยู่บนพานและเดินตามพริษฐ์และปนัสยาตลอดเวลาในลักษณะเหมือนข้าราชบริพารเดินถือเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ณัฐและภาณุพงศ์ได้ร่วมเดินอยู่ในกลุ่มผู้ต้องหาตลอดเวลาและมีการร่วมชู 3 นิ้วถ่ายรูปร่วมกันที่ลานพาร์ค พารากอน

    ส่วนธนกรได้ร่วมกับกลุ่มผู้ต้องหาแสดงออกในลักษณะเดียวกัน มีการชูป้ายกระดาษมีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” “ยกเลิก ม.116 ม.112” และร่วมเดินกับกลุ่มผู้ต้องหามาร่วมชู 3 นิ้วถ่ายรูป

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหามีเจตนาล้อเลียนรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ จึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งสี่ว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกับเยาวชน 2 ราย

    ทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 17 ก.พ. 2564 นอกจากนี้ พริษฐ์ได้ให้การด้วยว่า ขอให้พนักงานสอบสวนเรียกบุคคลมาสอบเป็นพยานเพิ่มเติมดังนี้

    1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบในประเด็นว่า ร.10 เคยมีพระราชดำรัสไม่ให้ใช้มาตรา 112 จริงหรือไม่ และได้มีพระราชดำรัสเป็นอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่
    2. พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง สอบในประเด็นว่า ร.10 ได้มีพระราชดำรัสกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าวจริงหรือไม่

    สำหรับพริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา และภาณุพงศ์ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการที่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 1 มี.ค. 2564 หลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่มีการควบคุมตัว ทั้ง 4 ราย จึงเดินทางกลับ

    คดีนี้มีข้อสังเกตว่า ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ยังปรากฏชื่อ ‘ป๊อกกี้’ เป็นผู้ต้องหาอีกรายซึ่งร่วมทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุ

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 20 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25370)
  • เวลา 10.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน “ป๊อกกี้” ภวัต หิรัณย์ภณ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน เป็นผู้ต้องหาคนที่ 7
    หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

    เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบตั้งด่านตรวจคัดกรองด้านหน้าเพื่อถามถึงวัตถุประสงค์ของการมาที่ สน. พร้อมขอดูบัตรประชาชน และจดชื่อและเบอร์โทรของผู้ที่มาติดต่อ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ ว่าปัจจุบันมีการตั้งจุดคัดกรองแบบนี้ทุกวันหรือไม่ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการตั้งจุดตรวจทุกวันที่มี “การรับทราบข้อกล่าวหา” ขณะเดียวกัน ตรงข้ามฝั่งถนนของ สน.มีผู้มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

    เวลา 10.30 น. พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน บรรยายพฤติการณ์คดีในลักษะเดียวกันกับผู้ต้องหาคนอื่น โดยระบุว่าขณะผู้ต้องหาคนอื่นกำลังทำกิจกรรมตั้งแต่ในลานพาร์คพารากอนและหน้าร้าน Sirivannavari ภวัตได้เดินกับกลุ่มผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ พูดว่า “ทรงพระเจริญๆ” พร้อมกับทําท่าย่อไหว้และมอบดอกไม้ ให้กับเพนกวินและรุ้งซึ่งสวมเสื้อครอปท็อปอยู่ อันถือว่ามีลักษณะเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นประชาชนที่มาร่วมชมพระบารมีและถวายพระพร เพื่อร่วมแสดงล้อเลียนให้เห็นว่าเป็นการเข้าเฝ้ารับเสด็จพระราชดําเนินของรัชกาลที่ 10

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภวัตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 25 ก.พ. 2564 ด้านพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 1 มี.ค. 2564

    ทั้งนี้ ภวัตไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ลงข้อความ “ขอให้มีความเป็นคน” แทน

    หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ภวัตขอให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันร้องเรียน ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ว่าการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 นี้ถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากผู้แจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ แต่กลับมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับตน ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง สูญเสียรายได้ ได้รับความเสียหาย

    ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ว่า การที่ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ถือเป็นจุดที่ทำให้กฎหมายมาตรา 112 นี้มีปัญหา เปิดช่องให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับใครก็ได้ ถือเป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา

    ส่วนภวัตให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นประชาชนทั่วไปที่มาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลังเห็นความไม่เป็นธรรมในประเทศ ตั้งแต่การดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ “ไมค์” ภาณุพงศ์​ จาดนอก และณัฐชนน พยัฆพันธ์ จากการชูป้ายทวงถามนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดระยองเมื่อปีที่แล้ว

    ภวัตเล่าว่าไม่เคยคิดว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน เพราะตนก็เป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่แกนนำ เมื่อถามถึงความเห็นของการใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ภวัตให้ความเห็นว่ากฎหมายนี้เป็น “กฎหมายฆาตกร” อยากให้ยกเลิกมาตรานี้ เพราะการดำเนินคดีนี้สร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกดำเนินคดีเป็นอย่างมาก

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 8 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25788)
  • พนักงานสอบสวนเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการเป็นวันที่ 10 มี.ค. 2564
  • เบนจาและภวัตเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ส่วนเพนกวิน รุ้ง และไมค์ ถูกขังระหว่างพิจารณาในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยไม่ได้ประกันตัว หลังอัยการรับตัวทั้งสอง ได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • เบนจาและภวัตเข้าพบพนักงานอัยการตามนัด อัยการยังไม่มีคำสั่ง ให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 19 พ.ค. 2564
  • เบนจาและภวัตเข้าพบพนักงานอัยการตามนัด อัยการยังไม่มีคำสั่ง ให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 22 มิ.ย. 2564
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายเพนกวิน รุ้ง ไมค์ มาพบเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไมค์ยังไม่ได้รับการประกันตัวในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และรุ้งยังอยู่ระหว่างกักตัวหลังหายจากโควิด ส่วนเพนกวินติดธุระอื่นที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ทนายความจึงยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: ขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2564)
  • เบนจาและภวัตเข้าพบพนักงานอัยการตามนัด อัยการยังไม่มีคำสั่ง ให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังเบนจาและภวัตเข้าพบตามนัดฟังคำสั่ง อัยการ ขณะที่เพนกวิน, รุ้ง และไมค์ ซึ่งเดิมพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวอัยการในวันนี้ พนักงานสอบสวนได้ยกเลิกนัดก่อนแล้ว จึงไม่ได้เดินทางมาพบอัยการและมาศาลในวันนี้

    ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุให้เป็นดุลพินิจของศาล และขอให้ศาลนับโทษจำคุกของเพนกวิน, รุ้ง และไมค์ ต่อจากโทษจำคุกในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของศาลอาญา

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับฟ้องคดีนี้ไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 และนัดสอบคำให้การต่อไปในวันที่ 2 ส.ค. 2564 เวลา 09.00 น. จากนั้น ทนายความได้ยื่นประกันตัวเบนจาและภวัต โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท

    ต่อมา เวลา 12.22 น. ศาลให้ประกันตัวทั้งสองโดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามกำหนดโดยเคร่งครัด

    สำหรับเพนกวิน, รุ้ง และไมค์ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาตามหมายขังระหว่างพิจารณาคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยได้รับการประกันตัวแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้จะได้ออกหมายเรียกมารับทราบคำฟ้องและพิจารณาคดีนี้ต่อไป

    ในส่วนของเยาวชน 2 คน ที่แยกดำเนินคดี คดียังอยู่ในชั้นอัยการ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31403)
  • ยกเลิกวันนัดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เลื่อนไปวันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น.
  • นัดส่งตัวจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 5 และนัดสอบคําให้การจําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 พริษฐ์ จําเลยที่ 1 แสดงตัวผ่านระบบจอภาพจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ และภวัต จําเลยที่ 4 มาศาล

    ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ปนัสยา จําเลยที่ 2 และเบนจา จําเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อสอบตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยจําเลยทั้งสองมิได้จงใจไม่มาศาลหรือหลบหนีแต่อย่างใด ส่วนภาณุพงศ์ จําเลยที่ 5 ถูกฟ้องเป็นจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อ.2830/2564 ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 โดยศาลอาญาได้ออกหมายขังและไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จําเลยที่ 5 จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ และไม่สามารถเบิกตัวทางจอภาพได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างกักตัวโควิด

    ก่อนหน้านี้ศาลได้ประทับฟ้องจําเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ส่วนจําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยังไม่ได้ประทับฟ้อง เนื่องจากยังไม่มีตัวมาศาล ก่อนประทับฟ้องจําเลยที่ 1 และออกหมายขัง หลังพริษฐ์รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจําเลยที่ 1 ในคดีนี้จริง

    ต่อมาศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดเพื่อสอบว่า ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 5 ในคดีนี้จริงหรือไม่ และสอบคําให้การจําเลยทั้งห้าในวันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564)
  • เวลา 09.00 น. นัดสอบคำให้การนักกิจกรรมทั้ง 5 ราย ศาลเบิกตัวเบนจาจากทัณฑสถานหญิงกลาง และเบิกตัวภาณุพงศ์พร้อมกับพริษฐ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาร่วมสอบคำให้การในวันนี้ด้วย

    ปนัสยาได้เล่าผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองว่า “วันนี้เบนจาเดินตัวเปียกเข้ามาในห้องเวรชี้ บอกว่าลื่นล้มในห้องน้ำ ดีที่ไม่เจ็บอะไร และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังไม่ยอมให้เบนจาใส่รองเท้าเข้ามาอยู่ดีทั้งๆ ที่ฝั่งชายก็ใส่รองเท้าได้ จนเราต้องเดินไปหยิบรองเท้ามาให้เบนจาเอง ถึงจะได้ใส่”

    11.00 น. ศาลนั่งบัลลังก์นัดสอบคำให้การ โดยภายในห้องประกอบด้วยทนายจำเลย จำเลยทั้ง 5 ราย ญาติของจำเลยและผู้ที่มาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก ilaw และเจ้าหน้าที่สถานทูตจากฟินแลนด์และลักเซมเบิร์กเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    ต่อมาศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จําเลยทั้งห้าฟัง ด้านจำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธและจะขอสู้คดีต่อไป จากนั้นศาลได้นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 26 พ.ย. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 13.00 น.

    ปนัสยายังคงต้องนั่งอยู่ในเวรชี้ต่อไป เนื่องจากในคดีนี้ขณะที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ไม่ได้นำตัวมาฟ้องในวันดังกล่าวด้วย ในวันนี้เมื่อศาลประทับฟ้องปนัสยาและภาณุพงศ์แล้วได้ออกหมายขัง ทนายจึงต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาระหว่างพิจารณาเป็นครั้งแรก โดยวางเงินสด จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน ส่วนภาณุพงศ์มีหมายขังในคดีอื่นจึงยังไม่ยื่นประกันในคดีนี้

    ++ไม่ให้ประกันรุ้ง ชี้ ‘เคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี’++

    ต่อมาเวลา 17.00 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยงานชั่วคราวในตําแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยา โดยระบุคำสั่งว่า

    “จำเลยเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี หลังถูกฟ้องในคดีนี้ จำเลยซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวไป จำเลยอาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก กรณีจึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

    ทำให้ในค่ำวันนี้ ปนัสยาถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป ซึ่งเป็นการกลับเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 แล้วของปีนี้ หลังก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยเธอถูกคุมขังนานถึง 60 วัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37832)
  • หลังนัดคุ้มครองสิทธิในคดีสาดสีหน้า สตช.ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ภาณุพงศ์ได้เขียนคำร้องขอประกันตัวเองใน 2 คดี คือคดีสาดสีและคดีนี้ ซึ่งยังไม่เคยยื่นประกัน โดยมีแม่เป็นนายประกัน

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ยื่นต่อศาลนั้น ภาณุพงศ์ได้ระบุเหตุผลหลักๆ ด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่

    1. ทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี จำเลยไม่เคยหลบหนี เดินทางไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยตลอด ในคดีที่มีการให้ประกันตัวก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัดและทุกการแสดงออกก็ยึดหลักสันติวิธีและแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
    2. ปัจจุบันจำเลยยังศึกษาอยู่ระดับชั้นปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความจำเป็นต้องออกไปศึกษาต่อ มิเช่นนั้นจะสูญเสียโอกาสทางการศึกษา
    3. คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง จำเลยไม่ใช่อาชญากร มีความมุ่งหวังอันดีต่อประเทศชาติ ในฐานะคนรุ่นใหม่อาจแสดงออกด้วยความเถรตรงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายแต่อย่างใด
    4. การให้ประกันตัวจำเลยจะทำให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมและสร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยต่อสังคมโลก

    ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ใน 2 คดีดังกล่าว โดยในคดีนี้ให้วางหลักประกัน 200,000 บาท เป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

    อย่างไรก็ตาม ภาณุพงศ์ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากยังคงมีหมายขังในคดีอื่นอีก 6 คดี ซึ่งทนายจะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38173)

  • พริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา และภาณุพงศ์ ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง มาศาล ขณะภวัติ จำเลยที่ 4 และทนายจําเลยทั้งห้ามาศาล

    ศาลอธิบายฟ้องให้จําเลยทั้งห้าฟัง จําเลยทั้งห้าแถลงขอให้การปฏิเสธต่อสู้คดี พริษฐ์, ปนัสยา และภาณุพงศ์ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.287/2564 (คดี 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ของศาลอาญา ด้านทนายจําเลยแถลงว่า พริษฐ์ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และจําเลยที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งสี่ไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างเต็มที่ ขอให้ศาลบันทึกไว้ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ตามที่นัดไว้เดิม หมายเบิกพริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา และภาณุพงศ์ เว้นแต่มีประกัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 26 พ.ย. 2564)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาระหว่างพิจารณาคดี เพื่อให้ปนัสยาได้ออกไปสอบปลายภาค หลังศาลอาญาให้ประกันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

    เวลา 13.04 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า ตามคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ทนายความยื่นต่อศาลว่า ปนัสยาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเรียนการสอน ซึ่งต้องเรียน ทํารายงานรายวิชา และเข้าสอบตามที่มหาวิทยาลัยกําหนด หากจําเลยยังถูกคุมขังย่อมกระทบต่อการศึกษาอันจะทําให้ไม่สําเร็จการศึกษาได้

    แม้ศาลเคยมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย เนื่องจากเกรงว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป จําเลยอาจไปกระทําการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก แต่เมื่อจําเลยมีภาระต้องเรียนและสอบตามคําร้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุจําเป็น จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2565 ตามเหตุจำเป็นที่ต้องไปสอบปลายภาค ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข 5 ข้อ เช่นเดียวกับศาลอาญา ดังนี้

    1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล
    4. ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร
    5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

    หลังทนายความใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกันแล้ว ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาติด EM ภายใน 7 วัน เพื่อขอโอกาสให้ปนัสยาได้เตรียมตัวสอบและตรวจโควิดให้เรียบร้อย แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าว พร้อมเบิกตัวปนัสยามาติด EM ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำให้ปนัสยาได้รับอิสรภาพหลังถูกจองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลางในคดีนี้มาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564 รวมระยะเวลา 17 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38500)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมในคดีนี้ เนื่องจากครบกำหนดคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อไปสอบปลายภาคของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    คำร้องเพิ่มเติมดังกล่าวระบุว่า จำเลยซึ่งเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ 2/2564 จำนวน 6 วิชา โดยแต่ละวิชาจำเป็นต้องเข้าเรียน เข้าสอบ และจัดทำรายการส่งตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

    ทั้งมีรายวิชาการวิจัยรายบุคคล ที่ต้องเก็บข้อมูลภาคสนาม ต้องค้นคว้าข้อมูลจากห้องสมุดและแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ รวมถึงพบอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะ หากจำเลยไม่สามารถทำการศึกษาวิจัยตามกระบวนการ และไม่ผ่านรายวิชาดังกล่าวซึ่งเป็นวิชาบังคับของหลักสูตร จะไม่สามารถจบการศึกษาตามหลักสูตรได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษา และอนาคตของจำเลย

    อีกทั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จำเลยได้พิสูจน์ตนด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยจะไม่ได้ไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นแต่อย่างใด

    คำร้องได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยจำเลยยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งและเงื่อนไขของศาลเช่นเดิมทุกประการ

    (อ้างอิง: คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39506)
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พร้อมครอบครัว และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้เดินทางมาฟังคำสั่งขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    เวลา 14.30 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาต่อไป โดยระบุว่าหลังครบกำหนดเวลาคำสั่งให้ประกันตัว ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ละเมิดเงื่อนไขและข้อห้ามที่ศาลกําหนด

    ทั้งเมื่อพิจารณาถึงเหตุจําเป็นตามคําร้องเห็นว่า หากจําเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีย่อมมีผลกระทบต่อการศึกษาของจําเลย อาจถึงขั้นไม่สามารถสําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรได้ และเมื่อจําเลยยินยอมปฏิบัติคําสั่งและเงื่อนไขเดิมของศาลทุกประการ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยระหว่างพิจารณา โดยถือเอาราคาประกัน หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงกำหนดเงื่อนไขเดิม 5 ข้อ เพื่อไม่ให้จําเลยมีโอกาสไปกระทําการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก อีกทั้งศาลยังคงกำหนดระยะเวลาการประกันในครั้งนี้ จนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันสอบปลายภาควันสุดท้ายของปนัสยา พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้ผู้ประกันหรือผู้กํากับดูแล นําตัวจําเลยมาส่งศาลภายในวันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 12.00 น. ด้วย

    สำหรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนดมี 5 ข้อ ดังนี้

    1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00-06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล
    4. ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร
    5. ให้ติด EM

    นอกจากนี้ ศาลยังได้นัดให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาลเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อห้ามที่ศาลกําหนดในการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ในวันที่ 10 มี.ค. 2565 ด้วย

    ++“รุ้ง” ยันศาลควรคืนสิทธิประกันตัวอย่างเต็มที่ ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขใดๆ พร้อมเปรยมีความหวังมากขึ้นว่า “เบนจา-เพนกวิน” จะได้ออกมาเรียนเช่นตน++

    หลังศาลอ่านคำสั่งดังกล่าว ปนัสยามีใบหน้าที่ยิ้มแย้มและผ่อนคลายมากขึ้น โดยบริเวณด้านหน้าศาลในวันนี้ นอกจากครอบครัวและอาจารย์แล้ว ยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และเพื่อนๆ ของเธอได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วยเช่นกัน

    ปนัสยาได้ให้สัมภาษณ์ถึงการปล่อยตัวในครั้งนี้ว่า เธอไม่คาดคิดว่าจะได้รับการประกันอีก เนื่องจากครั้งก่อนเธอยื่นประกันด้วยเรื่องสอบ แต่ครั้งนี้ยื่นด้วยเหตุผลของการเรียนเพราะอยู่ในช่วงเวลาของการเปิดเทอม

    เธอได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่ศาลได้ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในเรื่องของเวลาที่อยู่ในเคหสถานจากตลอดเวลาเป็นตั้งแต่ 18.00-06.00 น. ว่า หากอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดอย่างที่เป็นช่วงเวลาดังกล่าวที่ถูกกำหนดขึ้นยังไม่มีปัญหาสำหรับเธอ แต่หากมีการเรียนเป็น On-site (การนั่งเรียนในชั้นเรียน) เวลาอาจจะไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากนักศึกษาไม่ได้มาเรียนแล้วกลับห้อง แต่ยังมีงานกลุ่ม หรือกิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะต้องเข้าร่วม เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิตในมหาวิทยาลัย

    เธอมองว่า หากศาลตั้งเงื่อนไขทั้งเรื่องห้ามทำกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามทำกิจกรรมที่สร้างความไม่สงบต่อบ้านเมือง ทั้งยังติด EM สิ่งเหล่านี้น่าจะเพียงพอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกักขังเราไว้ที่บ้านก็ได้

    “เราไม่ได้ไปทำอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าทำก็เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่ดี”

    เธอกล่าวว่า การที่ศาลตั้งข้อกำหนดหรือกำจัดกรอบแบบนี้ เป็นการละเมิดเสรีภาพและในขณะเดียวกันก็เป็นการพรากเสรีภาพของเธอเช่นเดียวกัน

    “เราเครียดนะ” ปนัสยาเล่าถึงความรู้สึกในช่วงเวลากว่า 42 วันที่ต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในห้องพักขนาด 30 ตารางเมตรตลอดเวลา ว่า เธอรู้สึกเครียด แห้งเฉา และรู้สึกว่าตัวเธอเองอยากไปพบจิตแพทย์ เพราะไม่ได้พบปะเพื่อนฝูงและผู้คนบ่อยนัก เนื่องจากที่พักเธออยู่ไกล หากเพื่อนจะมา ต้องขับรถมาหา ซึ่งก็ลำบาก อีกทั้งเธอยังไม่สามารถออกไปเดินเล่นข้างนอกหรือเดินเที่ยวตามปกติได้ รวมถึงการกินอยู่ก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น เพราะเธอต้องสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่ที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการไปทานที่ร้านอาหารปกติ

    แม้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง จะดีกว่าอยู่ในเรือนจำ เพราะปนัสยาสามารถใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คติดต่อกับโลกภายนอกได้ แต่เธอมองว่าไม่ควรมีการตั้งเงื่อนไขแบบนี้ต่อไป และศาลควรคืนสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกำหนดเวลาหรือกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพราะอย่างไรพวกเธอก็ยังเป็น “ผู้บริสุทธิ์อยู่” ยังไม่เคยได้รับคำตัดสินคดีแม้แต่ครั้งเดียว และยืนยันในสิ่งที่เคยกระทำมาตลอดว่ายืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้อยู่เสมอ

    “ตอนนี้เรากำลังคิดถึงเบนจากับเพนกวิน และหวังว่าเพื่อนทั้งสองจะกลับออกมาเรียนด้วยเช่นเดียวกัน” ปนัสนากล่าวว่า หลังจากคำสั่งในวันนี้ ก็คาดหวังว่า “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เบนจา อะปัญ จะได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมและทั้งสองได้ลงทะเบียนเรียนไปแล้วด้วย

    จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ปนัสยาไม่ต้องถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำในวันนี้ นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (13 ม.ค. 2565) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ปนัสยามีนัดฟังคำสั่งในการขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไปอีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว รวมทั้งคดีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็นัดฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้เช่นกัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39506)
  • นัดสอบคําให้การและตรวจพยานหลักฐาน พนักงานอัยการโจทก์ จําเลยทั้งห้า ทนายจําเลยทั้งห้า ทนายจําเลยที่ 1 และทนายจําเลยที่ 3 มาศาล ศาลอ่านอธิบายฟ้องและสอบคําให้การ จําเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ตามคําให้การจําเลยทั้งห้าซึ่งให้การไว้ในชั้นสอบคําให้การ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 โดยจําเลยทั้งห้าให้เหตุแห่งการปฏิเสธว่า การกระทําของจําเลยทั้งห้าไม่เป็นการร่วมกันหมิ่นประมาท
    ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    โจทก์แถลงขอส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบ ตามบัญชีพยานโจทก์ ฉบับลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เป็นเอกสาร 57 ชุด และเป็นพยานวัตถุแผ่นดีวีดีบันทึกภาพแห่งการณ์ในวันเกิดเหตุ 7 แผ่น

    ส่วนทนายจําเลยทั้งห้าแถลงว่ามีเอกสารอ้างเป็นพยาน ตามบัญชีพยานจําเลยอันดับ 17-23 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ขอหมายเรียกเอกสารส่งศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบภายในเวลา 1 เดือนก่อนการสืบพยาน โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาต

    ทั้งสองฝ่ายแถลงว่าไม่มีข้อเท็จจริงที่จะรับกัน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายเสียก่อน

    โจทก์แถลงแนวทางการสืบพยานว่าการกระทําของจําเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันกระทําความตามฟ้อง จะสืบพยานบุคคล 33 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, พยานที่ได้พูดโต้ตอบและถ่ายรูปจําเลยกับพวก 2 ปาก, แอดมินและผู้ติดตามเพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งบันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวของจําเลยกับพวก 2 ปาก, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่และลูกค้าภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน 7 ปาก, อาจารย์ในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นถึงการแสดงออกของจําเลยกับพวก 3 ปาก, ข้าราชการพลเรือนระดับชํานาญการให้ความเห็นต่อข้อความและพฤติกรรมของจําเลยกับพวก 4 ปาก, ผู้สื่อข่าว voice tv ซึ่งรายงานข่าววันเกิดเหตุ 1 ปาก, ตํารวจสืบสวน 6 ปาก, พนักงานสอบสวน 4 ปาก, เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์แผ่นดีวีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ 2 ปาก และเจ้าพนักงานผู้จัดทํารายงานการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ของจําเลยกับพวก 1 ปาก โจทก์ใช้เวลาสืบพยาน 14 นัด

    ส่วนจําเลยทั้งห้าแถลงแนวทางการสืบพยานข้อต่อสู้ตามคําให้การว่า การกระทําของจําเลยไม่เป็นการร่วมกระทําความผิดตามฟ้อง จะสืบพยาน 16 ปาก โดยจําเลยทั้งห้าอ้างตนเองเป็นพยาน, อาจารย์ในสถาบันการศึกษาและนักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระทําของจําเลยกับพวก 5 ปาก, นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะเกิดเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดําเนินคดีใน
    ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และให้ความเห็นเกี่ยวกับพระบรมฉายาลักษณ์ที่จําเลยกับพวกถือมาในที่เกิดเหตุ, กงสุลใหญ่นครมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, เลขานุการพระราชวัง และเอกอัครราชทูตที่เกี่ยวข้องรู้เห็นการเดินทางไปประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ ใช้เวลาสืบพยาน 5 นัด

    นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25-28 เม.ย., 2,3,9,10,16-19,23,24 พ.ค. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 30,31 พ.ค., 1,2,6 มิ.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2565)
  • หลังจากเย็นวันที่ 22 ก.พ. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินและอานนท์ใน 12 คดี โดยวางเงินประกันรวม 2,070,000 บาท ในวันนี้ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ในอีก 2 คดี คือ คดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 และคดีสาดสีหน้า สตช. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 และขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินในคดีนี้ รวมทั้งยื่นคำร้องขอประกันตัวเพนกวินต่อศาลแขวงพระนครใต้ในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา #StandWithMyanmar เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 และศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในคดีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563

    ในเวลา 16.15 น. ศาลมีคำสั่งในคดีนี้ว่า “ให้จำเลยนำหลักฐานตามที่อ้างว่ามีการลงทะเบียนเรียนและตารางการเรียนการสอนในภาคที่ 2 ตามที่กล่าวอ้างมาแสดงให้ชัดเจน โดยให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง แล้วจึงจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1180/2564 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • ทนายความได้ยื่นหลักฐานการศึกษา คือ หนังสือรับรองสถานภาพการศึกษาจากคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่มเติมในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับเดิม

    เวลา 16.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพนกวิน โดยคำสั่งระบุว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยพิเคราะห์จากคำร้อง เอกสารประกอบคำร้องซึ่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกหนังสือรับรองสถานภาพการศึกษา และเงื่อนไขที่จำเลยเสนอต่อศาล เห็นควรอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงเวลาอันจำกัด เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ออกไปศึกษาในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2564 สักช่วงเวลาหนึ่ง มีกำหนด 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 24 พ.ค. 2565) ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท โดยกำหนด 6 เงื่อนไข ดังนี้

    1. ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน
    2. ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    3. ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่นในสื่อโซเชียลมีเดียหรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00-06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
    6. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง

    อนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจำกัด และเมื่อครบกำหนดปล่อยตัวชั่วคราว ให้จำเลย มารายงานตัวต่อศาลและให้นายประกันส่งตัวจำเลยมาศาล ในวันที่ 24 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

    ทำให้เพนกวินได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ หลังถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วรวมทั้งสิ้น 200 วัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40716)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภวัต หิรัณย์ภณ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบนจา อะปัญ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภวัต หิรัณย์ภณ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบนจา อะปัญ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์