สรุปความสำคัญ

ณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง สมาชิกกลุ่ม Demo วัย 23 ปี, ณัฐพล เหล็กแย้ม วัย 18 ปี และอธิคุณ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ย. 2564 แม้ทั้งสามได้ประกันในชั้นฝากขัง แต่ต้องติด EM และมีเงื่อนไข ห้ามกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น. นอกจากทั้งสามยังมี กันต์ (นามสมมติ) นักกิจกรรมเยาวชนกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทยวัย 17 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลเยาวชนฯ จากเหตุเดียวกันนี้ด้วย

กรณีนี้สะท้อนถึงปัญหาการตีความข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตีความอย่างกว้างขวางครอบคลุมถึงการกระทำต่อวัตถุสิ่งของ อีกทั้งศาลยังออกหมายจับโดยเชื่อพยานหลักฐานของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นศาลยังกำหนดเงื่อนไขประกันที่กระทบต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของผู้ต้องหาอย่างหนักอีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง
    • ณัฐพล เหล็กแย้ม
    • กันต์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • อธิคุณ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

17 ก.ย. 2564 ราว 20.00 น. ณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง สมาชิกกลุ่ม Demo วัย 23 ปี ซึ่งทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ และกำลังเดินทางเข้ามอบตัว แต่ตำรวจมาถึงที่พักก่อนจึงได้มอบตัวหน้าที่พัก ตำรวจได้แสดงหมายจับของศาลอาญาที่ 1531/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และควบคุมตัวไป บช.น. ตำรวจให้เซ็นเอกสารหลายแผ่น ก่อนนำตัวไป สน.ดินแดง

ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ตำรวจ กก.สส.บก.น.1 บุกเข้าจับณัฐพล เหล็กแย้ม วัย 18 ปี จากที่พัก แสดงหมายจับศาลอาญาที่ 1532/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในฐานความผิดเช่นเดียวกับณรงค์ศักดิ์ จากนั้นชุดจับกุมได้เข้าค้นที่พัก และตรวจยึดสิ่งของเป็นของกลางรวม 12 รายการ อาทิ เสื้อ, กางเกง, ผ้าปิดหน้า, รองเท้า, หนังสะติ๊ก 1 อัน, ลูกแก้ว 10 ลูก, ประทัด 3 กล่อง, โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง แล้วนำตัวไป สน.ดินแดง

นอกจากนี้ราว 23.00 น. กันต์ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี สมาชิกกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย ก็ถูกจับกุมที่บ้านพัก โดยไม่ทราบเหตุที่ถูกจับ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เพียงว่า จะนำตัวไป สน.ดินแดง จากนั้นคนใกล้ชิดก็ไม่สามารถติดต่อกันต์ทางโทรศัพท์ได้อีก หลังทนายความสอบถามไปที่พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จึงทราบว่า เป็นการจับตามหมายจับศาลเยาวชนฯ ในข้อหา วางเพลิง และมาตรา 112

ชุดจับกุมได้ทำบันทึกการจับกุมทั้งสามคน โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการ ทั้งยังยึดโทรศัพท์มือถือ โดยณัฐพลให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม

เวลาประมาณ 01.20 น. ทนายความที่ได้รับแจ้งเหตุเดินทางไปถึง สน.ดินแดง และเข้าร่วมกระบวนการในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 23.00 น. ได้มีกลุ่มคนวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ หน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี จนได้รับความเสียหาย หลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียง รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ 3 ราย และขออนุมัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายจับ 1 ราย

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาณรงค์ศักดิ์และณัฐพลว่า ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 217 ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ณัฐพลยังให้การเพิ่มเติมด้วยว่า ในชั้นจับกุมตำรวจพูดชักจูงใจให้รับสารภาพว่า จะได้รับโทษน้อยลง แต่ตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ขณะเกิดเหตุทำหน้าที่เป็นการ์ด ป้องกันมวลชนไม่ให้ปะทะกับ คฝ. ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีกลุ่มคนเผาภาพพระมหากษัตริย์ อีกทั้งตนเองไม่ได้พูดหรือกระทำการใดๆ หมิ่นประมาทกษัตริย์

ทั้งนี้ ทนายความให้ข้อมูลว่า ขณะรอสอบปากคำในช่วงตีสาม ณรงค์ศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ห้องสืบสวน อ้างว่าไปทำบันทึกตรวจยึดของกลาง โดยไม่ให้ทนายความเข้าร่วม กระทั่งตีห้า หลังทนายความพยายามโต้แย้งขอเข้าร่วมกระบวนการในห้องสืบสวน ชุดสืบสวนจึงนำตัวณรงค์ศักดิ์กลับมาให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การ โดยพบว่า ณรงค์ศักดิ์มีอาการตัวเกร็ง ท่าทางหวาดกลัว

หลังเสร็จกระบวนการประมาณ 05.30 น. ณรงค์ศักดิ์และณัฐพลถูกคุมขังต่อที่ สน.ดินแดง เพื่อรอพนักงานสอบสวนส่งฝากขังต่อศาลอาญา ขณะที่กันต์ก็ถูกคุมขังเช่นกัน

ช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. 2564 มีการสอบคำให้การกันต์โดยมีที่ปรึกษากฎหมายและสหวิชาชีพเข้าร่วม เนื่องจากเป็นเยาวชน กันต์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนนำตัวกันต์ไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนฯ พร้อมทั้งขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว และคัดค้านการประกันตัว อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเกรงผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ต่อมา ศาลมีคำสั่งว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบ และให้ควบคุมตัวกันต์ไว้ระหว่างสอบสวน ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยให้วางหลักประกันในวงเงิน 30,000 บาท ญาติของกันต์เดินทางมายื่นประกันตัว เนื่องจากพ่อและแม่อยู่ต่างจังหวัด

ส่วนณรงค์ศักดิ์และณัฐพลพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังครั้งที่ 1 พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพฤติการณ์คดีมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสียหายซึ่งอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวณรงค์ศักดิ์ โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 18,000 บาท พร้อมกับติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าผู้ต้องหาไม่หลบหนี ส่วนณัฐพล เนื่องจากญาติอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางมาประกันตัวได้ ทนายความจึงได้เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท พร้อมติด EM เช่นเดียวกัน

เวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวณรงค์ศักดิ์และณัฐพลตามคำร้อง พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาทั้งสองกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น.

หลังณรงค์ศักดิ์และณัฐพลได้รับการปล่อยตัว มีรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุเดียวกันนี้อีก 1 ราย โดยถูกจับกุมที่บ้านใน จ.อยุธยา เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะควบคุมตัวไปที่ สน.ดินแดง ก่อนได้รับแจ้งต่อมาว่า ถูกนำตัวไปที่ สน.พหลโยธิน

ทนายความที่ติดตามไปที่ สน.พหลโยธิน พบว่า ผู้ถูกจับกุมชื่อ อธิคุณ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาที่ 1533/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ และวางเพลิงเผาทรัพย์ เช่นเดียวกับณรงค์ศักดิ์, ณัฐพล และกันต์ โดยขณะถูกเจ้าหน้าที่ 7-8 นาย เข้าแสดงหมายจับ อธิคุณนอนอยู่ในบ้านที่ อ.บางปะอิน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม อธิคุณให้ข้อมูลด้วยว่า ตนเองกำลังเรียน กศน. พร้อมทั้งทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ

ในชั้นจับกุมและสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีและข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับ 3 คนที่ถูกจับกุมก่อนหน้า อธิคุณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

อธิคุณถูกควบคุมตัวที่ สน.พหลโยธิน รวม 2 คืน ก่อนพนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลอาญาในวันจันทร์ที่ 20 ก.ย. 2564 เนื่องจากศาลอาญาไม่รับฝากขังในวันอาทิตย์

20 ก.ย. 2564 หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นคำร้องขอฝากขังอธิคุณต่อศาลอาญา ทนายความยื่นประกันตัว ต่อมาศาลอาญามีคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอธิคุณ หิรัญตระกูล วางเงินประกัน 18,000 บาท พร้อมติด EM หากผิดสัญญาประกันให้ปรับนายประกัน 90,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 15.00 น. - 06.00 ของวันรุ่งขึ้น
.
ค่ำวันที่ 14 ก.ย. 2564 มีการชุมนุม #ม็อบ14กันยา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำเช่นทุกวัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ โดยมี คฝ.วางกำลังอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบกเช่นเคย และเข้าประจำการบริเวณสะพานลอยหน้ากรมดุริยางค์ฯ หลังเคอร์ฟิว มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับมีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ซึ่งอาจทำให้กล้องและอุปกรณ์บันทึกภาพเสียหายได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งมีการสั่งนักข่าวให้หยุดถ่ายทอดสด และให้แสดงบัตรนักข่าว โดยมีรายงานการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาบริเวณหน้ากรมดุริยางค์ฯ เหมือนทุกวัน ก่อนที่เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35311)

ภูมิหลัง

  • กันต์ (นามสมมติ)
    สมาชิกกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • ณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง
    ทนายความให้ข้อมูลว่า ขณะรอสอบปากคำในช่วงตีสาม ณรงค์ศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ห้องสืบสวน อ้างว่าไปทำบันทึกตรวจยึดของกลาง โดยไม่ให้ทนายความเข้าร่วม กระทั่งตีห้า หลังทนายความพยายามโต้แย้งขอเข้าร่วมกระบวนการในห้องสืบสวน ชุดสืบสวนจึงนำตัวณรงศักดิ์กลับมาให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การ โดยพบว่า ณรงศักดิ์มีอาการตัวเกร็ง ท่าทางหวาดกลัว

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์