ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน (มาตรา 368)
ดำ อ.695/2565

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ พ.ต.ต.สุพัฒน์ ดิสระ สวป.สน.ดุสิต (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน (มาตรา 368)

หมายเลขคดี

ดำ อ.695/2565
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ พ.ต.ต.สุพัฒน์ ดิสระ สวป.สน.ดุสิต

ความสำคัญของคดี

“ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) นักกิจกรรมอายุ 18 ปี พร้อมเยาวชน อายุ 14 ปี ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมบริเวณแยกพระบรมรูปทรงม้าช่วงค่ำวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ขณะจะทำกิจกรรมชูป้าย แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า จะมีขบวนเสด็จผ่านมา ทั้งสองถูกควบคุมตัวไป สน.ดุสิต และถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" หลังทั้งสองแสดงป้ายผ้าให้ตำรวจตรวจสอบบริเวณด้านหน้า สน.ดุสิต โดยตำรวจกล่าวหาว่า ข้อความบนป้ายผ้ามีลักษณะอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ภายหลังตำรวจยังแจ้งข้อกล่าวหา "ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน" เพิ่มเติมอีกด้วย

ภูมิถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ก่อนหน้านี้ ขณะยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ภูมิเคยถูกดำเนินคดีข้อหานี้จากกรณีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างการติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” ที่หน้า สภ.คลองหลวง เมื่อคืนวันที่ 14 ม.ค. 2564

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กชพรพรรณ วณิชยาชัยสิริ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า

ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 จำเลยกับพวก ซึ่งแยกดำเนินคดี ได้กระทำความผิดรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. ขณะ ด.ต.เพียรชัย ขะบุญรัมย์ เจ้าพนักงานตำรวจ สน.ดุสิต ปฏิบัติหน้าที่เตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยในเส้นทางขบวนเสด็จรัชกาลที่ 10 บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ได้พบจำเลยกับพวกอยู่บริเวณทางเดินเท้า ป้ายรถประจำทางตรงข้ามประตูสนามเสือป่า จึงได้สั่งงให้ออกจากบริเวณดังกล่าว เนื่องจากใกล้เวลาขบวนเสด็จผ่านบริเวณดังกล่าว

จําเลยกับพวกได้ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอํานาจที่มีกฎหมายให้ไว้แล้ว แต่ได้ร่วมกันฝ่าฝืนไม่ออกจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร

2. จำเลยกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยการแสดงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ไอ้ษัตริย์ ปล่อยเพื่อนกู” ทําให้เข้าใจความหมายได้ว่า เป็นการแสดงความอาฆาดมาดร้าย และไม่เคารพสักการะในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.695/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าควบคุมตัว “ภูมิ หัวลำโพง” และ “ไอซ์” เยาวชน อายุ 14 ปี ไปที่ สน.ดุสิต ขณะรวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 จะผ่านมา จนทำให้ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บบริเวณมือและข้อมือ

    หลังทนายความติดตามไปถึงประมาณ 22.00 น. พบภูมิ ไอซ์ และตำรวจหลายนายที่หน้า สน.ดุสิต โดยตำรวจยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนแต่อย่างใด และพยายามเชิญตัวพวกเขากลับเข้าไปใน สน.ดุสิต เพื่อตรวจสอบป้ายผ้าดังกล่าว นอกจากนี้ยังแจ้งว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

    อย่างไรก็ตาม ภูมิยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ขัดคำสั่ง เนื่องจากตำรวจใช้คำว่า “เชิญ” ซึ่งเขามีสิทธิที่จะทำตามหรือไม่ก็ได้ ในส่วนของป้ายผ้าก็ขอให้ตรวจสอบที่ถนนได้เลย ก่อนคลี่ป้ายผ้าออกต่อหน้าประชาชนและสื่อมวลชนอิสระ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายรีบเข้าไปฉุดกระฉากป้ายผ้าอย่างรุนแรง

    ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะยื้อแย่งป้ายผ้าจากภูมิ ประชาชนที่มาติดตามการจับกุมได้เข้าช่วยกันห้ามปรามเจ้าหน้าที่ จนเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหัวไหล่หลุด 1 ราย

    ภายหลังที่ภูมิและไอซ์ยินยอมเข้าไปใน สน.ดุสิต พร้อมด้วยทนายความ เพื่อเสียค่าปรับข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามที่ผู้กำกับ สน.ดุสิต แจ้งแต่แรก แต่ผู้กำกับกลับแจ้งใหม่ว่า ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ดำเนินคดีมาตรา 112

    ต่อมา เวลาประมาณ 23.55 น. หลังทำบันทึกการจับกุมเสร็จ ตำรวจได้แจ้งกับทนายความว่า จะพาผู้ต้องหาทั้งสองไปสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) แทน เนื่องจากกลัวประชาชนและสื่อมวลชนไลฟ์สดแล้วจะเกิดความวุ่นวาย ส่วนประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บอีก 1 รายดังกล่าว ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเพื่อรับการรักษาต่อไป

    บันทึกจับกุมระบุว่า เวลาประมาณ 20.20 น. ขณะ ด.ต.เพียรชัย ขะบุญรัมย์ ผู้บังคับหมู่การจราจร สน.ดุสิต ปฏิบัติหน้าที่เตรียมความพร้อมในเส้นทางขบวนเสด็จ บริเวณแยกพระรูป ได้พบภูมิกับไอซ์ ซึ่งเป็นบุคคลเฝ้าระวัง โดยหนึ่งในนั้นใส่เสื้อยืดสีขาวข้อความสีแดงว่า “หมดเวลา112” จึงได้แจ้งให้ออกจากบริเวณดังกล่าว เนื่องจากใกล้เวลาขบวนเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากนั้นได้วิทยุแจ้งให้สายตรวจ สน.ดุสิต เข้าตรวจสอบผู้ต้องหาทั้งสองราย

    เมื่อสายตรวจมาถึงได้เข้าตรวจสอบภูมิและไอซ์ที่กำลังเดินไปยังบริเวณป้ายรถประจําทาง ตรงข้ามประตูสนามเสือป่าฝั่งธนาคารทหารไทยธนชาติ พบว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวังที่มีประวัติและพฤติกรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง จึงได้ควบคุมตัว ภูมิและไอซ์มายัง สน.ดุสิต เมื่อถึง สน.ดุสิต ทั้งสองได้เดินหนีออกมายังบริเวณปากซอยสุคันธาราม พร้อมแสดงป้ายผ้าที่มีข้อความ “ไอ้ษัตริย์ ปล่อยเพื่อนกู” ซึ่งมีลักษณะอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ในชั้นสอบสวน ภูมิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 31 ม.ค. 2565 รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมข้างต้น กรณีไอซ์ซึ่งเป็นเยาวชนถูกแยกทำบันทึกจับกุมโดยยังไม่มีการสอบปากคำ

    นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดป้ายผ้าไว้เป็นของกลาง รวมถึงยึดโทรศัพท์มือถือของทั้งสองไว้และจะให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มาตรวจสอบต่อไป

    ทั้งสองคนถูกคุมขังที่ บช.ปส.ตลอดคืน เพื่อเตรียมส่งฝากขังในวันรุ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ภูมิถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 ก่อนหน้านี้ เขาเคยถูกกล่าวหาในกรณีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” ที่หน้า สภ.คลองหลวง โดยคดีนั้นเขาถูกกล่าวหาในขณะยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ดุสิต ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39352)
  • เวลา 08.30 น. พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้นำตัวภูมิไปที่ศาลอาญาฯ เพื่อขอฝากขัง โดยทนายความได้ยื่นประกันตัว ก่อนศาลอาญาฯ อนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 17 ก.พ. 2565

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39352)
  • ภูมิพร้อมแม่และทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สน.บางซื่อ ตามที่พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต นัดหมาย โดย พ.ต.ท.พิชัย มีอัฐมั่น และ ร.ต.อ.วราช บุญยืน ได้แจ้งพฤติการณ์คดีตามที่เคยได้แจ้งในวันจับกุม จากนั้นแจ้งข้อกล่าวหาภูมิเพิ่มเติมว่า “ร่วมกัน" หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

    ภูมิให้การปฏิเสธเช่นเดิม และไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา หลังลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวภูมิกลับ

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา (เพิ่มเติม) สน.บางซื่อ ลงวันที่ 4 ก.พ. 2565)
  • ภูมิเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน เจ้าหน้าที่นัดให้ไปรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 25 มี.ค. 2565
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายภูมิพร้อมทั้งไอซ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยนัดหมายที่ สน.บางซื่อ เช่นเดิม ครั้งนี้ พ.ต.ท.พิชัย และ ร.ต.อ.วราช แจ้งพฤติการณ์คดีเพิ่มเติมด้วย ระบุว่า วันเกิดเหตุ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบภูมิและไอซ์บริเวณแยกพระรูป และพบว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวังที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง ได้แจ้งให้ทั้งสองคนทราบว่า เส้นทางดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 ผ่าน และขอให้ออกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อเป็นการรักษาเส้นทางเสด็จผ่านและถวายความปลอดภัยฯ แต่ทั้งสองคนยังคงฝ่าฝืนคําสั่ง เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวมายัง สน.ดุสิต เมื่อถึง สน.ดุสิต ภูมิและไอซ์ได้เดินหนีออกมายังบริเวณปากซอยสุคันธาราม พร้อมแสดงป้ายผ้า

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองเพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา คือ ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ภูมิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา (เพิ่มเติม) สน.บางซื่อ ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565)
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องภูมิต่อศาลอาญา ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

    ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ นอกจากขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว อัยการยังขอให้สั่งริบป้ายผ้าของกลาง และขอให้นับโทษของภูมิในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีชุมนุม #ตามหานาย หน้าประตูทางเข้า ม.พัน 4 รอ. ของศาลเยาวชนฯ ด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.695/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42006)
  • ภูมิเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน เจ้าหน้าที่แจ้งภูมิว่า อัยการยื่นฟ้องแล้ว และให้ภูมิไปที่ห้องเวรชี้ ต่อมา ศาลให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมที่ให้ประกันในชั้นสอบสวน พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.695/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42006)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25-26 เม.ย. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 27 เม.ย. 2566

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ภูมิ หัวลำโพง”

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ภูมิ หัวลำโพง”

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์