สรุปความสำคัญ

นักกิจกรรมรุ่นใหม่ 6 ราย พร้อมสื่ออิสระอีก 2 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ", "ยุยงปลุกปั่น" และ "ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน" จากการทำกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยสื่ออิสระทำการถ่ายทอดสดกิจกรรมเท่านั้น บางรายยังถูกดำเนินคดีข้อหา "ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ" และ "ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ" ด้วย ทั้งหมดถูกฝากขังในชั้นสอบสวนแม้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ทำให้ต้องประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท ทั้งยังต้องติด EM และถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ และห้ามโพสต์เชิญชวนหรือเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวาย กิจกรรมครั้งนี้ยังมีเยาวชนอายุไม่ถึง 15 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้อีกรายหนึ่งด้วย

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชนที่เป็นไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ณัฐกรณ์ (นามสมมติ)
    • เนติพร (สงวนนามสกุล)
    • “ไอซ์” (นามสมมติ)
    • ใบปอ (นามสมมติ)
    • ฐากูร (สงวนนามสกุล)
    • แบม (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • วรเวช (สงวนนามสกุล)
    • วรัณยา แซ่ง้อ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

7 มี.ค. 2565 ระหว่าง "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 20 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. หลังถูกจับกุมขณะไลฟ์สดที่หน้า UN ได้มีพนักงานสอบสวนจาก สน.ปทุมวัน เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง จากกิจกรรมทำโพลสอบถามความคิดเห็นว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

จากการตรวจสอบพบว่าตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียกทานตะวันให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 มี.ค. 2565 โดยระบุว่าคดีมี พ.ต.ท.นพดล สินศิริ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา แต่ ร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาก่อนในวันนี้

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยระบุถึงกิจกรรมทำโพล “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยกลุ่มทะลุวัง ที่บริเวณห้างสยามพารากอน ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, “ยุยงปลุกปั่น”, ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยร่วมกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 140 และ 368

ทั้งนี้พฤติการณ์ข้อกล่าวหา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้ทานตะวันไปพบที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันรุ่งขึ้น เพื่อฝากขัง

หลังให้ฝา่กขัง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันทานตะวัน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล รวมถึงให้ติด EM

คดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยังได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนไม่ถึง 15 ปี 1 ราย และเป็นสื่ออิสระที่ไปไลฟ์สดในวันเกิดเหตุอีก 2 ราย ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และมาตรา 116 รวมถึงข้อหาอื่นๆ เช่นเดียวกันทานตะวัน และถูกฝากขังแม้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ทำให้ต้องวางเงินประกันคนละ 200,000 บาท ทั้งยังต้องติด EM และถูกกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายข้อเช่นเดียวกับทานตะวัน

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา บช.ปส. ลงวันที่ 7 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41057)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์